วชิราวุธวิทยาลัย
วชิราวุธวิทยาลัย | |
---|---|
ที่ตั้ง | |
![]() | |
ข้อมูล | |
ประเภท | โรงเรียนประจำชายล้วน โรงเรียนเอกชน |
ผู้ก่อตั้ง | พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว |
ผู้บังคับการ | นายเกียรติคุณ ชาติประเสริฐ |
เพลง | เพลงมหาวชิราวุธราชสดุดี |
เว็บไซต์ | http://www.vajiravudh.ac.th |
วชิราวุธวิทยาลัย เป็นโรงเรียนประจำชายล้วน สถาปนาขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้มีพระบรมราชโองการให้รวมโรงเรียนมหาดเล็กหลวง กรุงเทพ และโรงเรียนราชวิทยาลัยเข้าด้วยกัน โดยให้นักเรียนย้ายมาเรียนรวมกันที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงกรุงเทพ พร้อมทั้งได้พระราชทานนามโรงเรียนขึ้นใหม่ว่า “วชิราวุธวิทยาลัย” เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
วชิราวุธวิทยาลัยมีตึกที่พักนักเรียน เรียกว่า "คณะ" เป็นเสมือนบ้านของนักเรียน แบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง คือ คณะเด็กโต สำหรับนักเรียนชั้นมัธยม แบ่งออกเป็น ๖ คณะ คือ คณะผู้บังคับการ คณะดุสิต คณะจิตรดา คณะพญาไท คณะจงรักภักดี คณะศักดิ์ศรีมงคล ส่วนคณะเด็กเล็กสำหรับนักเรียนชั้นประถม แบ่งออกเป็น ๓ คณะ คือ คณะสนามจันทร์ คณะนันทอุทยาน และ คณะสราญรมย์ นอกจากนี้ ทางโรงเรียนยังส่งเสริมให้นักเรียนได้เล่นกีฬาต่าง ๆ เช่น รักบี้ฟุตบอล แบดมินตัน นอกจากนี้ ยังมีการจัดการแข่งขันรักบี้ประเพณีกับมาเลย์ คอลเลจ (Malay College Kuala Kangsar) จากประเทศมาเลเซีย เป็นประจำทุก ๆ ปี
ปัจจุบัน ดำเนินการสอนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ตั้งอยู่ที่ ถนนราชวิถี แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร
ประวัติ[แก้]
พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานกำเนิดโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้น เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2453 เพื่อให้โรงเรียนแห่งนี้เป็นสถาบันที่ให้การศึกษาอย่างแท้จริงแก่กุลบุตรชาวไทย และเป็นเสมือนพระอารามหลวงประจำรัชกาล ซึ่งมิได้โปรดฯ ให้สร้างขึ้น เพราะมีพระราชดำริว่า ในรัชสมัยของพระองค์พระอารามหลวงต่างๆ มีอยู่มากแล้ว หากจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระอารามหลวงขึ้นอีกก็จะเป็นพระราชภาระในการปฏิสังขรณ์อีกโดยมิควร ประกอบกับในรัชสมัยของพระองค์นั้นการศึกษาได้เปลี่ยนแปลงไป มิได้อยู่กับวัดดังเช่นกาลก่อน นักเรียนต้องการครูบาอาจารย์ที่เป็นคฤหัสถ์ เพื่อทำการอบรมสั่งสอน[1] ดังนั้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนขึ้นตามแบบโรงเรียนรัฐบาลของประเทศอังกฤษ และพระราชทานนามโรงเรียนแห่งนี้ว่า "โรงเรียนมหาดเล็กหลวง"[2]
ในการสถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวง พระองค์ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดสร้างอาคารเรียนชั่วคราวเป็นเรือนไม้ หลังคามุงจากขึ้นก่อนในที่ดินส่วนพระองค์ที่สวนกระจัง ริมคลองเปรมประชากร ตำบลสวนดุสิต แล้วโปรดฯ ให้ย้ายนักเรียนมหาดเล็กหลวงซึ่งเปิดการสอนเป็นการชั่วคราวจากโรงเรียนราชกุมาร (เก่า) ใกล้หอพิธีพราหมณ์ในพระบรมมหาราชวัง มาดำเนินการสอนในสถานที่ซึ่งพระราชทานให้ใหม่นี้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2454 ต่อมาใน พ.ศ. 2458 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้กรมศิลปากรมาดำเนินการก่อสร้างอาคารถาวรของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ซึ่งประกอบด้วยหอประชุมและอาคารที่พักของนักเรียนที่มุมโรงเรียนอีก 4 หลัง[3] และได้ทรงพระมหากรุณาเสด็จพระราชดำเนินมาทรงวางศิลาพระฤกษ์สร้างอาคารโรงเรียนเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2458[1] ครั้นเมื่อ พ.ศ. 2459 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โอนโรงเรียนราชวิทยาลัยจากกระทรวงยุติธรรมมาไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่อีกแห่งหนึ่งใน พ.ศ. 2459
การดำเนินการศึกษาในโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ให้กว้างขวางยิ่งขึ้นตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จำต้องยุติลง เนื่องจากพระองค์ได้ด่วนเสด็จสู่สวรรคาลัย เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 ในรัชสมัยต่อมา ประเทศสยามต้องประสบสภาวะฝืดเคืองทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง จึงทำให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจำต้องทรงตัดทอนรายจ่ายส่วนพระองค์ลง ทั้งนี้เพื่อให้การเงินในประเทศเข้าสู่สมดุล ดังนั้น ใน พ.ศ. 2469 ได้มีพระบรมราชโองการให้รวมโรงเรียนมหาดเล็กหลวงกรุงเทพฯ และ โรงเรียนราชวิทยาลัยเข้าด้วยกัน โดยให้ย้ายนักเรียนมาเรียนรวมกันที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงกรุงเทพ และได้พระราชทานนามโรงเรียนให้ใหม่ว่า “วชิราวุธวิทยาลัย” เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้พระราชทานกำเนิดโรงเรียนสืบต่อไป[4]
ในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเมื่อพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีและสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระราชธิดาพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จนิวัติประเทศไทยเป็นการถาวรในปี พ.ศ. 2502 ทั้งสองพระองค์ทรงมีพระประสงค์จะสนองพระเดชพระคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวผู้ทรงเป็นพระบรมชนกนาถ และ พระราชสวามี จึงทรงต้องพระประสงค์จะอุปถัมภ์กิจการที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงริเริ่มไว้ ดังนั้นพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีและสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี จึงทรงรับวชิราวุธวิทยาลัยไว้ในพระอุปถัมภ์ โดยจะทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อบำรุงวชิราวุธวิทยาลัย และทรงเสด็จพระดำเนินมาบำเพ็ญพระกุศลถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้เมื่อพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี จะเสด็จสิ้นพระชนม์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ก็ยังทรงพระราชทานเงินเพื่อบำรุงไว้เช่นเดิมจนถึงปัจจุบัน
อาคารเรียน[แก้]
อาคารเรียน พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานกำเนิดโรงเรียนมหาดเล็กหลวง โดยพระราชทานที่ดินและพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อใช้ในการก่อสร้างอาคารต่าง ๆ ซึ่งลักษณะของหอประชุม หอนาฬิกา อาคารจิตรลดา และตึกขาว เป็นอาคารที่มีรูปแบบของสถาปัตยกรรมไทย ผสมผสานสถาปัตยกรรมตะวันตก โดยได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ในปี พ.ศ. 2525 [5]
กิจกรรมนักเรียน[แก้]
กีฬา[แก้]
วชิราวุธวิทยาลัยส่งเสริมให้นักเรียนได้เล่นกีฬา รวมทั้ง มีการจัดการแข่งขันกีฬาภายในทุกปี โดยมีการแบ่งประเภทกีฬาออกเป็นภาคการศึกษา ดังนี้
- ภาควิสาขะ : รักบี้ฟุตบอล สควอช ไฟฟ์
- ภาคปวารณา : บาสเกตบอล ฟุตบอล ว่ายน้ำ
- ภาคมาฆะ : เทนนิส กรีฑา แบดมินตัน ระเบียบแถว
( ระเบียบแถว ) เป็น กีฬาที่ไม่ใช้แรงในการเล่นแต่เป็นการใช้ความอดทนการฝึกฝนที่ได้มาอย่างเป็นระเบียบ
โดยกีฬาแต่ละประเภทที่แข่งขัน คณะที่ชนะเลิศจะได้รับถ้วยรางวัลซึ่งแต่ละถ้วยรางวัลจะเป็นถ้วยรางวัลที่ได้รับพระราชทาน อาทิ ถ้วยชนะเลิศรักบี้ฟุตบอลรุ่นใหญ่ เป็นถ้วยพระราชทานของ กีฬาหลักของโรงเรียน คือ รักบี้ โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่ารักบี้นั้นจะเป็นกีฬาที่สอนให้นักเรียนรู้จักแพ้ ชนะ และอภัย และจะฝึกให้นักเรียนเป็นสุภาพบุรุษอย่างสมบูรณ์แบบ รักบี้ประเพณีกับมาเลย์ คอลเลจ (Malay College Kuala Kangsar) จากประเทศมาเลเซียจะถูกจัดขึ้นเป็นประจำทุก ๆ ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 และรักบี้ประเพณีกับ Saad foundation school ประเทศมาเลเซีย[6]
หอพัก หรือคณะ[แก้]
วชิราวุธวิทยาลัยมีหอพัก หรือที่เรียกว่า "คณะ" เพื่อให้นักเรียนใช้เป็นที่พักอาศัยในช่วงระหว่างที่อยู่โรงเรียนสองอาทิตย์ คณะหนึ่งนั้นจะมีนักเรียนประมาณ 80 คน แต่ละคณะนั้นจะแบ่งกระจายนักเรียนของแต่ละชั้นเรียนให้เท่า ๆ กัน แบ่งเป็นสองฝั่ง คือ คณะเด็กใน และ คณะเด็กเล็ก โดยที่คณะเด็กในจะใช้เป็นที่พักพิงของนักเรียนตั้งแต่ชั้น ม.1 ถึง ม.6 ทั้งนี้ มีด้วยกันอยู่ 6 คณะ คือ คณะผู้บังคับการ คณะดุสิต คณะจิตรดา คณะพญาไท คณะจงรักภักดี คณะศักดิ์ศรีมงคล ส่วนคณะเด็กเล็กนั้นจะใช้เป็นที่พักของเด็กนักเรียนชั้น ป.4 ถึง ป.6 เมื่อนักเรียนแต่ละคนเข้าเรียนชั้น ม.1 แล้วจะทำการย้ายเข้าไปอยู่เด็กในกับรุ่นพี่ คณะของคณะเด็กเล็ก ได้แก่ คณะสนามจันทร์ คณะนันทอุทยาน และคณะสราญรมย์ การปกครองของคณะเด็กใน และเด็กเล็กนั้นจะต่างกันเพียงเล็กน้อย โดยคณะเด็กเล็กนั้นจะมีหัวหน้าครูคณะ และครูคณะมาช่วยดูแล และควบคุมเด็ก ๆ ส่วนคณะเด็กในนั้นจะมีเพียงผู้กำกับคณะคอยดูแล และหน้าที่ควบคุมเด็กในคณะนั้นจะตกอยู่กับรุ่นพี่หัวหน้าคณะโดยมีผู้กำกับคณะเป็นที่ปรึกษา การปกครองในคณะเด็กในนั้นจะเป็นระบบรุ่นพี่ รุ่นน้อง โดยจะเน้นอยู่ว่า "การจะเป็นผู้นำที่ดีได้ ต้องเคยเป็นผู้ตามที่ดีมาก่อน" ดังนั้น ก่อนที่นักเรียนแต่ละคนจะมาเป็นหัวหน้าคณะปกครองรุ่นน้อง ก็จะเคยเป็นผู้ตามถูกปกครองโดยรุ่นพี่มาก่อน และเรียนรู้การปกครองนั้นมาปกครองรุ่นน้องถัด ๆ ไป
ประเพณีโรงเรียน[แก้]
เพลงโรงเรียน[7][แก้]
หนึ่งในประเพณีของวชิราวุธวิทยาลัย คือ การร้องเพลงในงานสำคัญต่างๆ รวมถึงเพลงเชียร์กีฬา โดยเพลงที่มักจะได้ยินบ่อยๆ มีดังนี้
- เพลงมหาวชิราวุธราชสดุดี ประพันธ์โดยท่านผู้หญิงดุษฎี มาลากุล ณ อยุธยา และทำนองโดย โฉลก เนตรสูตร เป็นเพลงประจำโรงเรียนมักถูกขับร้องในงานพิธีสำคัญ เพื่อเทิดทูนพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้สถาปนาโรงเรียน
- เพลง Graduates Song Goodbye เป็นเพลงภาษาอังกฤษทำนองและเนื้อร้องโดย F.Rico ถูกขับร้องในงานพระราชทานประกาศนียบัตรนักเรียนเก่า โดยนักเรียนปัจจุบันที่กำลังจะจบการศึกษา เนื้อหาของเพลงนั้นเพื่อนึกถึงอนาคตเมื่อออกไปจากโรงเรียน และรำลึกถึงชีวิตในโรงเรียน
- เพลงอีกสี่สิบปี ประพันธ์โดยท่านผู้หญิงดุษฎี มาลากุล ณ อยุธยา ทำนองนั้นคัดมาจาก Forty Years On ของโรงเรียนแฮร์โรว ในอังกฤษ มักถูกร้องในงานราชพิธีสำคัญ เนื้อหาในเพลงเพื่อรำลึกถึงชีวิตในโรงเรียน
- เพลงเราเด็กในหลวง พระราชนิพนธ์โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำนอง สิงโตเล่นหาง เป็นเพลงกลอนบรรเลงโดยวงดนตรีไทย เป็นเพลงปฏิญาณนึกถึงความสำคัญของนักเรียนมหาดเล็ก ดังมีตัวอย่างท่อนจบว่า "รักษาชาติศาสนากว่าจะตาย เป็นผู้ชายชาติไทยไม่ลืมเอย"
- เพลงเชียร์กีฬา มักถูกขับร้องในการแข่งขันรักบี้ระหว่างโรงเรียน นอกจากนั้นสำหรับการแข่งขันภายใน แต่ละคณะก็จะมีเพลงเชีย์กีฬาของตัวเองอีกด้วย
- เพลงจรรยานักกีฬา เป็นเพลงกลอนมักถูกขับร้องก่อนการแข่งขันกีฬาระหว่างคณะ เพื่อนึกถึงจรรยาของนักกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย
ผู้บังคับการ[แก้]
ผู้บังคับการ เป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบสูงสุดในการดูแลจัดการวชิราวุธวิทยาลัย เป็นทั้งหัวหน้าฝ่ายบริหาร และครูใหญ่ รวมทั้งผู้รับใบอนุญาตผู้จัดการโรงเรียน ทั้งนี้ เมื่อตำแหน่งผู้บังคับการว่างลง คณะกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัย จะดำเนินการสรรหาผู้ที่สมควรดำรงตำแหน่งผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย และนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อขอพระบรมราชานุมัติ จึงจะสามารถดำรงตำแหน่งผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยโดยสมบูรณ์
อาจารย์ใหญ่/ผู้บังคับการ | |||
ลำดับ | ชื่อ | ตำแหน่ง | ระยะเวลา |
---|---|---|---|
1 | พระยาโอวาทวรกิจ (เหม ผลพันธิน) | อาจารย์ใหญ่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง | 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2454 - 8 กันยายน พ.ศ. 2455 |
2 | พระยาบริหารราชมานพ (ศร ศรเกตุ) | อาจารย์ใหญ่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง ผู้บังคับการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง |
8 กันยายน พ.ศ. 2455 - 11 เมษายน พ.ศ. 2458 11 เมษายน พ.ศ. 2458 - 26 มีนาคม พ.ศ. 2460 |
3 | พระยาบรมบาทบำรุง (พิณ ศรีวรรธนะ) | ผู้บังคับการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย |
26 มีนาคม พ.ศ. 2460 - 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2469 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2476 - 1 สิงหาคม พ.ศ. 2478 |
4 | พระยาปรีชานุสาสน์ (เสริญ ปันยารชุน) | ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย | 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2469 - 16 เมษายน พ.ศ. 2476 |
5 | อำมาตย์เอก พระพณิชยสารวิเทศ (ผาด มนตธาตุผลิน) | ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย | 1 สิงหาคม พ.ศ. 2478 - 1 มกราคม พ.ศ. 2486 |
6 | มหาอำมาตย์ตรี พระยาภะรตราชา (ม.ล.ทศทิศ อิศรเสนา) | ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย | 1 มกราคม พ.ศ. 2486 - 28 ธันวาคม พ.ศ. 2518 |
7 | ศาสตราจารย์ ดร.กัลย์ อิศรเสนา ณ อยุธยา | ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย | 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2519 - 30 มิถุนายน พ.ศ. 2539 |
8 | ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช | ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย | 30 มิถุนายน พ.ศ. 2539 - 28 มิถุนายน พ.ศ. 2550 |
9 | ดร.สาโรจน์ ลีสวรรค์ | ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย | 28 มิถุนายน พ.ศ. 2550 - 8 มิถุนายน พ.ศ. 2559 |
10 | ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุรวุธ กิจกุศล | ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย | 9 มิถุนายน พ.ศ. 2559 - 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 |
11 | นายเกียรติคุณ ชาติประเสริฐ | ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย | 1 มีนาคม พ.ศ. 2564 - ปัจจุบัน |
รายพระนามและรายนามนักเรียนเก่าที่มีชื่อเสียง[แก้]
ดูเพิ่ม[แก้]
อ้างอิง[แก้]
- ↑ 1.0 1.1 ราชกิจาจานุเบกษา, การก่อพระฤกษ์โรงเรียนมหาดเล็กหลวง , เล่ม ๓๒, ตอน ง, ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๘, หน้า ๒๒๖๔
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ส่วนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง ย้ายโรงเรียนมหาดเล็กข้าหลวงเดิม, เล่ม ๒๘, ตอน ๐ง, ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๔, หน้า ๑๕
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระแสพระบรมราชโองการ ซึ่งบรรจุไว้ในศิลาพระฤกษ์โรงเรียนมหาดเล็กหลวง, เล่ม ๓๒, ตอน ง, ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๘, หน้า ๒๒๖๖
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศ วางรูปการและพระราชทานนามโรงเรียนมหาดเล็กหลวง, เล่ม ๔๓, ตอน ๐ก, ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๙, หน้า ๙๕
- ↑ สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ : อาคารอนุรักษ์ ประจำปี 2525 อาคารเรียน โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย
- ↑ วชิราวุธาสาส์น : รายงานประจำปี 2548 หน้า 52 จาก โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย
- ↑ วชิราวุธวิทยาลัย. (2543). เพลงโรงเรียน. ม.ป.ท.: ม.ป.พ.
- ↑ วรชาติ มีชูบท. (2561). ราชสำนักรัชกาลที่ 6. กรุงเทพฯ: มติชน, หน้า 82-83
- ↑ วิวัฒนไชย : ผู้ว่าการธนาคารชาติคนแรก
- ↑ ชีวิตและงาน ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล
- ↑ ประวัติศิลปินแห่งชาติ (หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล)
- ↑ สายสัมพันธ์นักเรียนเก่าวชิราวุธ
- ↑ วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนมหาดเล็กหลวงที่ถอดแบบการศึกษาจากอังกฤษ
- ↑ นักเรียนเก่าที่มีชื่อเสียง : หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล
- ↑ คุณชายอดัม'มองเรื่องโค้ชเช ชี้เรียนวชิราวุธเจอหนัก
- ↑ ประวัติย่อ หม่อมราชวงค์เกษมสโมสร เกษมศรี
- ↑ วรชาติ มีชูบท. (2561). ราชสำนักรัชกาลที่ 6. กรุงเทพฯ: มติชน, หน้า 82-83
- ↑ ปิ่น มาลากุล - ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง
- ↑ สายสัมพันธ์นักเรียนเก่าวชิราวุธ
- ↑ นักเรียนเก่าที่มีชื่อเสียง : จุลนภ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา
- ↑ ประวัติพลากร สุวรรณรัฐ
- ↑ ประวัติเชาวน์ ณ ศีลวันต์
- ↑ สายสัมพันธ์นักเรียนเก่าวชิราวุธ
- ↑ ข้อมูลศิลปิน (จักรพันธุ์ โปษยกฤต)
- ↑ ประวัติศิลปินแห่งชาติ (นิธิ สถาปิตานนท์)
- ↑ ประวัติศิลปินแห่งชาติ (วิจิตร คุณาวุฒิ)
- ↑ ชมรมสายสกุลบุนนาค
- ↑ ลูกเสือคนแรกแห่งสยามประเทศ
- ↑ ข่าวการถึงแก่อนิจกรรม ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช
- ↑ สายสัมพันธ์นักเรียนเก่าวชิราวุธ
- ↑ ประว้ติสุเมธ ตันติเวชกุล
- ↑ ประวัติย่อ ดร.อดิศัย โพธารามิก (ครม.ชุดพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร)
- ↑ พล.ต.อ.เภา สารสิน อดีตรองนายกฯ-อธิบดีกรมตำรวจ ถึงแก่อนิจกรรมด้วยวัย 83
- ↑ พล.ต.อ.อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช
- ↑ ประวัติประสพสุข บุญเดช
- ↑ ประวัติจุลสิงห์ วสันตสิงห์
- ↑ โปรดเกล้าฯพระนายนั่งปลัดมท.-มีผล7ต.ค.
- ↑ รองศาสตราจารย์ วุฒิชัย กปิลกาญจน์
- ↑ ประวัติชีวิตและผลงานพชร อิศรเสนา ณ อยุธยา
- ↑ ดุสิต นนทะนาคร นายกสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย
- ↑ สายสัมพันธ์นักเรียนเก่าวชิราวุธ
- ↑ เปิดบันทึกความเก่ง 'พรเพชร วิชิตชลชัย' ประธานวุฒิสภามีมาตั้งแต่เด็ก
- ↑ ประวัติพล.ต.ท.จักรทิพย์ ชัยจินดา
- ↑ ชีวิตที่พลิกผันของ ดุษฎี อารยวุฒิฯ
- ↑ ประวัติวินธัย สุวารี
- ↑ ชีวิตที่มีแบบแผนของดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ
- ↑ ผู้ว่าอุดรใหม่ “สิงห์ดำ” หนุ่มวัย 47 ปี
- ↑ OPTIMISE - Aim to Be The Best : เปิดปรัชญาที่หล่อหลอม บรรยง พงษ์พานิช
- ↑ ดีกรีนักเรียนนอก “ต๊ะ พิภู” ผู้ประกาศข่าวหนุ่มหล่อ “ข่าวเช้า MONO 29”
- ↑ ประวัติธนากร โปษยานนท์
- ↑ ประวัติณัฏฐ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา
- ↑ ธราวุธ นพจินดา สิ้นใจกะทันหัน อาการเดียวกับพี่ชาย
- ↑ บีเจ - ปรัชฌา สนั่นวัฒนานนท์ องค์ดำตอนเด็ก
- ↑ แด่ อาจารย์วรชาติ มีชูบท หอสมุดวชิราวุธานุสรณ์เคลื่อนที่ผู้จากลา
- ↑ สายสัมพันธ์นักเรียนเก่าวชิราวุธ
- ↑ หอเกียรติยศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ↑ สายสัมพันธ์นักเรียนเก่าวชิราวุธ
- ↑ เว็บไซต์กรมกิจการผู้สูงอายุ : นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา
- ↑ 'สยาม สังวริบุตร' ชกต่อย มะเร็ง และวงการบันเทิง
- ↑ สายสัมพันธ์นักเรียนเก่าวชิราวุธ
- ↑ ชวลิต เสริมปรุงสุข
แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]
- โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย
- สมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยฯ
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ วชิราวุธวิทยาลัย
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากมัลติแมป หรือโกลบอลไกด์
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์
พิกัดภูมิศาสตร์: 13°46′32″N 100°31′08″E / 13.775497°N 100.518785°E