โรงเรียนสตรีพัทลุง
โรงเรียนสตรีพัทลุง Satri Phatthalung School | |
---|---|
ที่ตั้ง | |
ข้อมูล | |
ชื่ออื่น | ส.พ.ท. (S.P.T) |
ประเภท | โรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ |
คำขวัญ | สามัคคี มีวินัย ใจรักเรียน เพียรทำดี |
สถาปนา | 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2477 |
ผู้ก่อตั้ง | พระยาโสภณพัทลุงกุล (สว่าง ณ พัทลุง) |
หน่วยงานกำกับ | กระทรวงศึกษาธิการ |
ผู้อำนวยการ | นันทรัตน์ ไพรัตน์ |
ภาษาที่ใช้เป็นสื่อการสอน | ภาษาที่มีการเรียนการสอนในโรงเรียน ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน (เลือกเรียน) ภาษาฝรั่งเศส (เลือกเรียน) ภาษาญี่ปุ่น (เลือกเรียน) |
สี | น้ำเงิน ขาว |
เพลง | มาร์ชสตรีพัทลุง |
เว็บไซต์ | www.spt.ac.th |
โรงเรียนสตรีพัทลุง (อังกฤษ: Satri Phatthalung School) อักษรย่อ (ส.พ.ท.) เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ ประเภทสหวิทยาในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 12 (พัทลุง นครศรีธรรมราช) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 250 ตำบลคูหาสวรรค์ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง เปิดสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายแบบสหศึกษา และเป็นโรงเรียนสตรีประจำจังหวัดพัทลุงคู่กับโรงเรียนพัทลุง
ประวัติ
[แก้]โรงเรียนสตรีพัทลุงมีรากฐานมาจากโรงเรียนประชาบาลคือโรงเรียนโสภณพัทลุงกุล ก่อตั้งเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2474 จัดตั้งชั้นมัธยมศึกษาปีละชั้น จนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4
โรงเรียนโสภณพัทลุงกุล พระยาโสภณพัทลุงกุล (สว่าง ณ พัทลุง) ได้สร้างอุทิศให้เป็นโรงเรียนประชาบาล โดยความเห็นชอบของพระครูกาแก้ว เจ้าอาวาสวัดภูผาภิมุข (สมัยนั้นเรียก วัดต่ำ) ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือหันหน้าไปทางทิศเหนือสู่ถนนราเมศวร์ (เดิม ชื่อถนน พัทลุง-ตรัง) สร้างเมื่อ พ.ศ. 2474 ตรงกับเดือนเมษายน นายฝั้นชาวจีนเป็นผู้รับเหมา ก่อสร้างด้วยทุนทรัพย์ของพระยาโสภณพัทลุงกุล สร้างเสร็จเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2474 เป็นเรือนไม้ 2 ชั้น ยกพื้นสูง 4 เมตร 3 ห้องเรียน ทาสีภายนอกด้วยสีเทา ภายในสีเขียวแก่ มีมุขด้านหน้า บันได 2 ข้าง มีนักเรียน 150 คน เริ่มเปิดเรียนวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2474
การจัดชั้นเรียน ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 มีครูประจำชั้นครบชั้น กระทรวงธรรมการได้สั่งให้จัดชั้นเรียนมัธยมศึกษาสำหรับนักเรียนหญิง ขึ้นตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 4 นับเป็นครั้งแรกที่ชาวจังหวัดพัทลุง ได้ส่งบุตรหญิงเข้าเรียนในชั้นมัธยมศึกษา โรงเรียนนี้เป็นต้นตระกูลของโรงเรียนสตรีพัทลุง รับเฉพาะนักเรียนสตรีทั้งชั้นประถมและชั้นมัธยมศึกษา
กระทรวงธรรมการได้แยกโรงเรียนออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายประถมศึกษาเป็นโรงเรียนประชาบาล มีนายจรัล ดิศรา เป็นครูใหญ่ ฝ่ายมัธยมศึกษามีนางสาวปริก เด่นดาวเสือ เป็นครูใหญ่ และทางอำเภอได้ดัดแปลงกั้นฝาอาคารชั้นล่างเป็นห้องเรียนอีก 3 ห้อง
พ.ศ. 2482 กระทรวงธรรมการได้อนุมัติงบประมาณสร้างโรงเรียนมัธยมศึกษาประจำจังหวัดพัทลุง ฝ่ายหญิง ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือตรงกันข้ามกับโรงเรียนหลังนี้ และย้ายนักเรียนมัธยมไปเรียนในอาคารของโรงเรียนสตรีพัทลุงทั้งหมดจนถึงปัจจุบัน
พ.ศ. 2528 โรงเรียนสตรีพัทลุงได้เปลี่ยนฐานะจากโรงเรียนหญิงล้วนมาเป็นสหวิทยา โดยเริ่มรับนักเรียนชายเข้าเรียนในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
ข้อมูลพื้นฐาน
[แก้]ที่ตั้ง
[แก้]โรงเรียนสตรีพัทลุงตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองพัทลุง มีเนื้อที่ 18 ไร่ 1 งาน มีอาณาเขตดังนี้
- ทิศเหนือ : จรด วิทยาลัยสารพัดช่างพัทลุง
- ทิศใต้ : จรด ถนนราเมศวร์และคลอง
- ทิศตะวันออก : จรด ถนนเทศบำรุง
- ทิศตะวันตก : จรด บริเวณบ้านพักผู้พิพากษาศาลจังหวัดพัทลุง
- พิกัดภูมิศาสตร์ จากวิกิเมเปีย 7°37'1"N 100°4'41"E
ความหมายสีประจำโรงเรียน
[แก้]- น้ำเงิน : หมายถึง ความเป็นนักรบ นักสู้ มีจิตใจเด็ดเดี่ยว กล้าหาญ เสียสละ
- ขาว : หมายถึง ความสะอาด บริสุทธิ์ มีจิตใจถึงพร้อมด้วยคุณธรรม
อาคารเรียน
[แก้]เมื่อ พ.ศ. 2482 กระทรวงศึกษาธิการได้ให้งบประมาณก่อสร้างอาคารโรงเรียนสตรีพัทลุงหลังแรก สมัยขุนวิจารณ์จรรยาเป็นศึกษาธิการจังหวัดพัทลุงงบประมาณก่อสร้าง 6,000 บาท ลักษณะอาคารเป็นอาคารไม้สองชั้นไม่ทาสี จำนวน 12 ห้องเรียน นักเรียนในระดับมัธยมจึงได้ย้ายมาอยู่ ณ สถานที่แห่งใหม่ คือ สถานที่ในปัจจุบัน เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2482 มีนักเรียนหญิงทั้งหมด 70 คน เปิดสอนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 6 ห้องเรียน (ในปัจจุบันอาคารเรียน 1 หมดสภาพการใช้งานและได้รื้อถอนแล้วเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2529)
โรงเรียนสตรีพัทลุงได้เจริญขึ้นเป็นลำดับจนถึง
พ.ศ. 2502 โรงเรียนได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารเรียนจำนวน 120,000 บาท ก่อสร้าง อาคารเรียนหลังที่ 2 และต่อเติมอีก 4 ห้องเรียน ทาสีเสร็จเรียบร้อยเมื่อ พ.ศ. 2506 จำนวน 1 หลัง
พ.ศ. 2509 ได้สร้างหอประชุมและโรงอาหาร 1 หลัง
พ.ศ. 2514 โรงเรียนได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารเรียน1หลังคืออาคารเรียน 318 ก งบประมาณ 2,100,000 บาท ก่อสร้างเสร็จและเปิดใช้เมื่อ พ.ศ. 2516 และได้รับงบประมาณก่อสร้าง บ้านพักครู 2 หลัง เป็นเงิน 100,000 บาท
พ.ศ. 2519 โรงเรียนได้ รับงบประมาณก่อสร้างหอประชุมแบบ 005 อีก 1 หลัง งบประมาณ 900,000 บาท และได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารเรียนแบบ 318 ก ครึ่งหลัง เป็นเงิน 1,500,000 บาท
พ.ศ. 2539 โรงเรียนได้รับงบประมาณ ก่อสร้างอาคารเรียนถาวรแบบพิเศษ 5 ชั้นพร้อมลิฟท์ 2 ชุด เป็นเงิน 33,450,000 บาทจำนวน 1 หลังเปิดใช้เมื่อเดือน พฤษภาคม 2542
แผนการเรียน ม.ต้น จะมีห้องพื้นฐาน ห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม (SMTE) และห้องภาษาอังกฤษ (Mini English Program) ม.ปลาย จะมีแผนการเรียนต่าง ๆ ห้อง 1 เป็นห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม (SMTE) ห้อง 2 แผนการเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ (วิทยาศาสตร์สุขภาพ) ห้อง 3 แผนการเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ (วิศวกรรม-สถาปัตยกรรม) ห้อง 4-5 แผนการเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ ห้อง6 แผนการเรียนคณิตศาสตร์-ภาษาอังกฤษ ห้อง 7 แผนการเรียนศิลป์-คำนวณ (นิติศาสตร์-รัฐศาสตร์) ห้อง 8 แผนการเรียนศิลป์-คำนวณ (ทหาร-ตำรวจ) ห้อง 9 แผนการเรียนศิลป์-ภาษาต่างประเทศ (ญี่ปุ่น-ฝรั่งเศส-จีน) ห้อง 10 เป็นห้องส่งเสริมความสามารถด้านภาษาอังกฤษ (English Special Class) ห้อง 11 แผนการเรียนศิลป์-ภาษาอังกฤษ ห้อง 12 ห้องศิลป์-ทั่วไป
รายนามผู้บริหาร
[แก้]โรงเรียนสตรีพัทลุงเป็นโรงเรียนที่แยกมาจากโรงเรียนโสภณพัทลุงกุล พระยาโสภณพัทลุงกุล (สว่าง ณ พัทลุง) หรือโรงเรียนเทศบาลวัดภูผาภิมุขในปัจจุบัน โรงเรียนโสภณพัทลุงกุล พระยาโสภณพัทลุงกุล (สว่าง ณ พัทลุง) ได้สร้างอุทิศให้เป็นโรงเรียนประชาบาล โดยความเห็นชอบของพระครูกาแก้ว เจ้าอาวาสวัดภูผาภิมุข (สมัยนั้นเรียก วัดต่ำ)
ต่อมา ใน พ.ศ. 2474 กระทรวงธรรมการได้แยกโรงเรียนออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายประถมศึกษา เป็นโรงเรียนประชาบาล มีนายจรัล ดิศรา เป็นครูใหญ่ ฝ่ายมัธยมศึกษามีนางสาวปริก เด่นดาวเสือ เป็นครูใหญ่
ต่อมาใน พ.ศ. 2482 กระทรวงธรรมการอนุมัติงบประมาณสร้างโรงเรียนมัธยมศึกษา ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือตรงกันข้ามกับโรงเรียนเดิม และย้ายนักเรียนมัธยมไปเรียนในอาคารของโรงเรียนสตรีพัทลุงจนถึงปัจจุบัน โรงเรียนสตรีพัทลุงจึงมีความเป็นมาด้วยกัน 2 สมัย คือ สมัยที่เป็นฝ่ายมัธยมศึกษาของโรงเรียนโสภณพัทลุงกุล พระยาโสภณพัทลุงกุล (สว่าง ณ พัทลุง) และสมัยที่เป็นโรงเรียนสตรีพัทลุง
ทำเนียบครูใหญ่ ในขณะที่ยังเป็นฝ่ายมัธยมศึกษาของโรงเรียนโสภณพัทลุงกุล พระยาโสภณพัทลุงกุล (สว่าง ณ พัทลุง) | ||
รายชื่อ | ระยะเวลาอยู่ในตำแหน่ง | |
---|---|---|
1. นางสาวปริก เด่นดาวเสือ | พ.ศ. 2474 - พ.ศ. 2482 | |
ทำเนียบครูใหญ่โรงเรียนสตรีพัทลุง (พ.ศ. 2482-2519) | ||
รายชื่อ | ระยะเวลาอยู่ในตำแหน่ง | |
1. นางสาวปริก เด่นดาวเสือ | พ.ศ. 2482 - 2485 | |
2. นางบรรยง สุขขจร | พ.ศ. 2485 - 2487 | |
3. นางเอื้องพันธ์ คุ้มหล้า | พ.ศ. 2487 - 2490 | |
4. นางสาวส่องแสง คุ้มหล้า | พ.ศ. 2490 - 2492 | |
5. นางสาวพูนพิตร พิตรสาธร | พ.ศ. 2492 - 2494 | |
6. ดร.อุบล เรียงสุวรรณ | พ.ศ. 2494 - 2495 | |
7. นางสาวสงบ ชลายคุปต์ | พ.ศ. 2495 - 2497 | |
8. นางพจนา สุคนธวิท | พ.ศ. 2497 - 2502 | |
9. นางสารภี คชภักดี (ครั้งที่ 1) | พ.ศ. 2502 - 2508 | |
10. นางสารภี คชภักดี (ครั้งที่ 2) | พ.ศ. 2508 - 2519 | |
ทำเนียบผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีพัทลุง (ตั้งแต่ พ.ศ. 2519) | ||
รายชื่อ | ระยะเวลาอยู่ในตำแหน่ง | |
1. นางสารภี คชภักดี | พ.ศ. 2519 - 2528 | |
2. นางกนิษฐา อ่อนเปี่ยม | พ.ศ. 2528 - 2537 | |
3. นางประภาพรรณ ภูมิสิงหราช | พ.ศ. 2537 - 2546 | |
4. นายขวัญชัย ชูไฝ | พ.ศ. 2546 - 2549 | |
5. นายจำเนียร รักใหม่ | พ.ศ. 2549 - 2554 | |
6. นายสาวิทย์ บุญประเสริฐ | พ.ศ. 2554 - 2558 | |
7. นายจบ แก้วทิพย์ | พ.ศ. 2558 - 2560 | |
8. นางมาลี แก้วละเอียด | พ.ศ. 2561 - 2566 | |
9. นางสาวนันทรัตน์ ไพรัตน์ | พ.ศ. 2566 - ปัจจุบัน |
MOU
[แก้]โรงเรียนสตรีพัทลุงทำบันทึกความเข้าใจ จัดการเรียนการสอนร่วมกันระหว่างโรงเรียนสตรีพัทลุงกับโรงเรียนเหงียนบินท์เคียม เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2550 เพื่อพัฒนาความเป็นเลิศทางวิชาการ ด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษา ตลอดจนศิลปวัฒนธรรมไทย - เวียดนาม (พัทลุง - ฮานอย) เป็นปฐมบทความร่วมมือของโรงเรียนสตรีพัทลุงกับประเทศในอาเซียน
ศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง
[แก้]- วิภูแถลง พัฒนภูมิ - อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
- โชติกา วงศ์วิลาศ (เนย) - นางแบบ/ดารานักแสดง
- วรวงษ์ พงษ์พานิช (จูน) - นักเทควันโดหญิงทีมชาติไทย
- ชนาธิป ซ้อนขำ - นักกีฬาเทควันโดทีมชาติไทย
- ชุติมา คชพันธ์ - สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร