ข้ามไปเนื้อหา

องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย
Dairy Farming Promotion Organization of Thailand
ตราสัญลักษณ์
ภาพรวมหน่วยงาน
ก่อตั้ง16 มกราคม พ.ศ. 2505
ผู้ก่อตั้งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
สำนักงานใหญ่160 หมู่ 1 ถนนมิตรภาพ ตำบลมิตรภาพ อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี 18180
บุคลากร1200
งบประมาณต่อปีเงินนอกงบประมาณ
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน
  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกรียงไกร เจริญผล, ประธานกรรมการ
  • สมพร ศรีเมือง, ผู้อำนวยการ
  • ชัยณรงค์ เปาอินทร์, รองผู้อำนวยการ
  • เทอดไชย ระลึกมูล, รองผู้อำนวยการ
ต้นสังกัดหน่วยงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เอกสารหลัก
เว็บไซต์http://www.dpo.go.th

องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) เป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดิมจัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2504 ในชื่อ ฟาร์มโคนมและศูนย์อบรมไทย–เดนมาร์ก ตามความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลเดนมาร์ก ต่อมาจึงโอนมาเป็นรัฐวิสาหกิจเมื่อ พ.ศ. 2514 ปัจจุบันมีอธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เป็นประธานกรรมการ

ประวัติ

[แก้]

ในการเสด็จประพาสยุโรปโดยเฉพาะการเสด็จประพาสประเทศเดนมาร์กเมื่อ พ.ศ. 2503 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงสนพระทัยในการเลี้ยงโคนมแบบเดนมาร์ก และได้ขอความช่วยเหลือจาก Danish Agricultural Organization จากนั้นรัฐบาลไทยได้ลงนามความร่วมมือช่วยเหลือทางวิชาการกับรัฐบาลเดนมาร์กเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2504 โดยเดนมาร์กให้การช่วยเหลือเป็นเงิน 4.33 ล้านโครเนอร์ (ประมาณ 23.5 ล้านบาท) ก่อนหน้านั้น นายชอนเดอร์การ์ด ชาวเดนมาร์ก ได้จัดตั้งฟาร์มโคนมและศูนย์ฝึกอบรมการเลี้ยงโคนมในประเทศไทยเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2504 ณ อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระเจ้าเฟรเดอริกที่ 9 แห่งเดนมาร์ก ทรงประกอบพิธีเปิดฟาร์มโคนมและศูนย์อบรมไทย–เดนมาร์กอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2505[1] และรัฐบาลไทยกำหนดให้วันที่ 17 มกราคม ของทุกปี เป็นวันโคนมแห่งชาติ และใน พ.ศ. 2509 รัฐบาลเดนมาร์กจัดส่งผู้เชี่ยวชาญมาร่วมดำเนินการพร้อมสนับสนุนเงินงบประมาณจำนวน 2.87 ล้านโครเนอร์

ต่อมาในปี พ.ศ. 2514 รัฐบาลไทยรับโอนกิจการฟาร์มโคนมและศูนย์อบรมไทย–เดนมาร์กมาจัดตั้งเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2514[2] มีชื่อว่า "องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.)" สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 160 ถนนมิตรภาพ ตำบลมิตรภาพ อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี เพื่อดำเนินบทบาทในการส่งเสริมการเลี้ยงโคนมและพัฒนาอุตสาหกรรมนม โดยมีนายยอด วัฒนสินธุ์ เป็นผู้อำนวยการคนแรก

โรงงานนม

[แก้]

อ.ส.ค. มีโรงงานนมจำนวน 5 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ต่าง ๆ ดังนี้

  1. สำนักงาน อ.ส.ค. ภาคกลาง (โรงงานนมสระบุรี) ถนนมิตรภาพ ตำบลมิตรภาพ อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี
  2. สำนักงาน อ.ส.ค. ภาคใต้ (โรงงานนมประจวบคีรีขันธ์) ถนนเพชรเกษม ตำบลหนองตาแต้ม อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
  3. สำนักงาน อ.ส.ค. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (โรงงานนมขอนแก่น) ตำบลท่าพระ อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น
  4. สำนักงาน อ.ส.ค. ภาคเหนือตอนล่าง (โรงงานนมสุโขทัย) ตำบลคลองมะพลับ อำเภอศรีนคร จังหวัดสุโขทัย
  5. สำนักงาน อ.ส.ค. ภาคเหนือตอนบน (โรงงานนมเชียงใหม่) ถนนห้วยแก้ว ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

ผลิตภัณฑ์

[แก้]
โยเกิร์ตของไทย–เดนมาร์ค

อ.ส.ค. ผลิตผลิตภัณฑ์นมหลายรูปแบบ เช่น นมยูเอชที นมพาสเจอร์ไรส์ นมเปรี้ยว โยเกิร์ต โดยใช้ชื่อทางการค้าว่า "ไทย–เดนมาร์ค"[3] รวมทั้งมีการฝึกอบรมการเลี้ยงโคนม การท่องเที่ยวฟาร์มโคนม บริการบ้านพักตากอากาศ ผลิตน้ำดื่มตรา "ไทย-เดนมาร์ค" และผลิตวารสารโคนม

การเดินทาง

[แก้]

กรณีต้องการเดินทางไปยัง อ.ส.ค. สำนักงานใหญ่ และหากเดินทางมาจากฝั่งกรุงเทพเมื่อมาถึง รร.มวกเหล็กวิทยาให้เตรียมยูเทิร์นในมวกเหล็ก และลอดใต้สะพาน เดินทางมาสู่ถนนมิตรภาพอีกฝั่ง และตรงไป เลี้ยวซ้ายเข้าฟาร์มได้เลยเช่นกัน

อ้างอิง

[แก้]
  1. "ประวัติความเป็นมา กำเนิดฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ก".
  2. พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2514ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 88 ตอนพิเศษที่ 96ก วันที่ 6 กันยายน 2514
  3. องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย ประวัติความเป็นมา