โรงเรียนมัธยมวานรนิวาส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

โรงเรียนมัธยมวานรนิวาส (อังกฤษ: Mattayomwanonniwat School) เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ ประจำอำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสกลนคร สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ มีชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า "มัธยมวานร"

โรงเรียนมัธยมวานรนิวาส
Mattayomwanonniwat School
ตราโรงเรียน
ที่ตั้ง
400 หมู่ 4 ถนนเดื่อเจริญ บ้านวานรนิวาส ตำบลวานรนิวาส อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร 47120

ข้อมูล
ชื่ออื่นว.น. / M.W.N. (อักษรย่อ)
มัธยมวานร (ไม่ทางการ)
ประเภทโรงเรียนสังกัด สพฐ.
โรงเรียนประจำอำเภอ
โรงเรียนประเภทสหศึกษา
โรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ
คำขวัญวิชาจ จริยาจ สมฺปวตฺตนฺติ
(ผู้ถึงพร้อมด้วยวิชาและจรรยา)
ก่อตั้ง8 มีนาคม พ.ศ. 2509 (58 ปี)
ผู้อำนวยการโรงเรียนนายกิตติศักดิ์ สุวรรณชัยรบ[1]
ประธานคณะกรรมการสถานศึกษาว่าที่ร้อยตรี ชัยเดช บุญรักษา[2]
ครู/อาจารย์134 คน[3]
ปีการศึกษา 2566
ระดับปีที่จัดการศึกษามัธยมศึกษาตอนต้น - มัธยมศึกษาตอนปลาย
จำนวนนักเรียน3,042 คน[4]
ปีการศึกษา 2566
ภาษาที่ใช้เป็นสื่อการสอนภาษาที่มีการเรียนการสอนในโรงเรียน
ไทย ภาษาไทย
สหราชอาณาจักร ภาษาอังกฤษ
จีน ภาษาจีน
ห้องเรียน84 ห้อง[5]
สี   เทา-แดง
เพลงมาร์ชมัธยมวานรนิวาส[6]
อำลามัธยมวานรนิวาส
ต้นไม้อินทนิลน้ำ
เว็บไซต์mwn.ac.th

ประวัติโรงเรียน[แก้]

โรงเรียนมัธยมวานรนิวาส ตั้งอยู่ ณ บ้านเลขที่ 400 ถนนเดื่อเจริญ บ้านวานรนิวาส ตำบลวานรนิวาส อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร ก่อตั้งเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2509 โดยประชาชนชาวอำเภอวานรนิวาสมีความประสงค์อยากให้มีโรงเรียนมัธยมศึกษาประจำอำเภอ เพื่อบุตรหลานได้ศึกษาเล่าเรียนในโรงเรียนที่ใกล้บ้าน ซึ่งประชาชน และข้าราชการในอำเภอวานรนิวาส ได้ร่วมกันสมทบทุนจำนวน 26,000 บาท เพื่อร่วมกันก่อตั้งโรงเรียน

ต่อมาทางโรงเรียน ได้รับคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการ ที่ 0704/5861 ลงวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2509 โดยให้มีการจัดการเรียนการสอนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น

ในช่วงแรกโรงเรียนมัธยมวานรนิวาสยังขาดอาคารเรียน โดยได้ใช้อาคารเรียนของโรงเรียนวานรนิวาส ที่ตั้งอยู่ฝั่งทิศเหนือ (ครึ่งหนึ่งของพื้นที่ฝั่งทางทิศเหนือของพื้นที่โรงเรียนในปัจจุบัน) เมื่อปี พ.ศ. 2510 อาคารเรียนก็แล้วเสร็จ (อาคารอำนวยการปัจจุบัน) นายบุญยรัตน์ เชาวนวีระกุล ครูโรงเรียนสกลราชวิทยานุกูล ดำรงตำแหน่ง ครูใหญ่ ต่อมาได้เลื่อนตำแหน่งเป็นอาจารย์ใหญ่ และผู้อำนวยการ ตามลำดับ จนถึงปี พ.ศ. 2519

พ.ศ. 2521 โรงเรียนวานรนิวาส ที่ตั้งข้างเคียงทางทิศเหนือโรงเรียนวานรนิวาส ได้ถูกยุบรวมกับโรงเรียนมัธยมวานรนิวาส จนถึงปัจจุบัน ด้วยการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2520[7]

พ.ศ. 2561 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด "อาคารเฉลิมพระเกียรติในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558" เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2561 ซึ่งในขณะนั้น มีว่าที่ ร้อยตรี ชัยเดช บุญรักษา เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน พร้อมด้วยคณะครู บุคลาการ นักเรียน และส่วนราชการต่าง ๆ เฝ้ารับเสด็จ[8]

สัญลักษณ์[แก้]

  • ตราประจำโรงเรียน
  • ต้นไม้ประจำโรงเรียน
ต้นอินทนิลน้ำ

ทำเนียบผู้บริหารโรงเรียน[แก้]

ผู้บริหารโรงเรียนมัธยมวานรนิวาส[แก้]

ทำเนียบผู้บริหารโรงเรียนมัธยมวานรนิวาส
ลำดับ ชื่อ วุฒิการศึกษา ระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง
1 นายบุณยรัตน์ เชาวนวีระกุล พ.ม., กศ.บ. พ.ศ. 2509 - 2519
2 นายบุญเลิศ สาขามุละ ค.บ. พ.ศ. 2519 - 2523
3 นายคำสิงห์ ศรีสำราญ พ.ม., ศศ.บ. พ.ศ. 2523 - 2528
4 นายแสง ชานัย พ.ม., กศ.บ. พ.ศ. 2528 - 2533
5 นายฉลอง บาลลา ค.บ. พ.ศ. 2533 - 2535
6 นายวิโรจน์ ศรีพรหมทัต ค.บ. พ.ศ. 2535 - 2539
7 นายถาวร บุตรธนู พ.ม., ค.บ. พ.ศ. 2539 - 2542
8 นายศิริ สาระนันท์ ศษ.ม. พ.ศ. 2542 - 2547
9 นายวันชัย วิเศษโพธิศรี ค.ม. พ.ศ. 2547 - 2554
10 นายประยงค์ บุญมา กศ.ม. พ.ศ. 2554 - 2554
11 นายประเสริฐ สวัสดิ์จิตร กศ.ม. พ.ศ. 2554 - 2559
12 ว่าที่ร้อยตรี ชัยเดช บุญรักษา กศ.ม. พ.ศ. 2559 - 2562
13 นายเกษา โคตรชมภู กศ.ม. พ.ศ. 2562 - 2564
14 นายกิตติศักดิ์ สุวรรณชัยรบ กศ.ม. พ.ศ. 2564 - ปัจจุบัน

คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน[แก้]

รายชื่อคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
ลำดับ ชื่อ ตำแหน่ง
1 ว่าที่ร้อยตรี ชัยเดช บุญรักษา ประธานกรรมการ
2 นางศุจิกา อ้วนละมัย กรรมการผู้แทนผู้ปกครอง
3 นางรุ้งตะวัน นาสพัส กรรมการผู้แทนครู
4 พระครูปัญญาสรคุณ (ถ่าน สุตปญฺโญ) กรรมการผู้แทนพระภิกษุหรือองค์กรศาสนา
5 นายมนตรี นิลรัตนกุล กรรมการผู้แทนพระภิกษุหรือองค์กรศาสนา
6 นางสาวนริศรา ศรีกุลวงศ์ กรรมการผู้แทนศิษย์เก่า
7 นายปรีชา สุวรรณพรม กรรมการผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
8 นายฐิติรัชต์ วิภาวิน กรรมการผู้แทนองค์กรชุมชน
9 นายวสันต์ สาระนันท์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
10 นายสัญชัย พัฒนเพ็ญ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
11 นายสมศักดิ์ อินทรสิทธิ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
12 นายศักดิพัฒน์ ปัญญาพวน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
13 นางพรรณี แสนสา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
14 นางระจิรา ล้อศรีสกุล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
15 นายกิตติศักดิ์ สุวรรณชัยรบ กรรมการและเลขานุการ

แผนการเรียน[แก้]

ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น[แก้]

  • โครงการห้องเรียนพิเศษ Mini English Program (MEP)[9]
  • โครงการห้องเรียนพิเศษ English for Integrated Studies (EIS)[10]
  • โครงการห้องเรียนดนตรี (ดนตรีไทย, ดนตรีสากล, ดนตรีพื้นบ้าน)[11]
  • ห้องเรียนปกติ

ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย[แก้]

  • โครงการห้องเรียนพิเศษ หลักสูตรส่งเสริมวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี Science Mathematics and Technology (SMT)[12]
  • โครงการห้องเรียนพิเศษ English for Integrated Studies (EIS)
  • โครงการห้องเรียนดนตรี (ดนตรีไทย, ดนตรีสากล, ดนตรีพื้นบ้าน)
  • ห้องเรียนปกติ แผนการเรียนเน้นความสามารถทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ (วิทย์ - คณิต)
  • ห้องเรียนปกติ แผนการเรียนเน้นความสามารถทางภาษาอังกฤษและภาษาจีน (ศิลป์ - จีน)
  • ห้องเรียนปกติ แผนการเรียนเน้นความสามารถทางภาษาไทยและสังคมศึกษา (ศิลป์ - สังคม)

กิจกรรม[แก้]

ปฐมนิเทศ[แก้]

หลังจากทางโรงเรียนได้รับสมัครนักเรียนเพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ในวันแรกของการเปิดภาคเรียนที่ 1 ของทุกปีการศึกษา คณะกรรมการสภานักเรียนพร้อมด้วยงานกิจการนักเรียนได้มีการจัดกิจกรรมปฐมนิเทศนักเรียนใหม่ถึงเรื่องกฎเกณฑ์และข้อปฏิบัติต่าง ๆ ในโรงเรียน ซึ่งคณะผู้บริหารและครูที่ปรึกษาของแต่ละห้องจะขึ้นมาพบปะนักเรียนใหม่ทุกคน โดยจะมีการแบ่งนักเรียนเป็นสายเพื่อเยี่ยมชมและแนะนำสถานที่ต่างๆ ในโรงเรียนให้รู้จักโดยทั่วกัน

พิธีไหว้ครู[แก้]

พิธีไหว้ครู ปีการศึกษา 2566

โรงเรียนมัธยมวานรนิวาสได้มีการจัดพิธีไหว้ครูขึ้นในทุกเดือนมิถุนายน ของทุกปีการศึกษา ณ โดมร่วมใจสานสายใยครบรอบ 53 ปี เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียน ร่วมแสดงมุฑิตาคุณขอขมาลาโทษต่อครูบาอาจารย์ที่เคยได้ล่วงเกินทั้งต่อหน้าและลับหลัง ตลอดจนสร้างความตระหนักและภาคภูมิใจในเกียรติยศศักดิ์ศรีการเป็นนักเรียนของโรงเรียนมัธยมวานรนิวาส

พิธีมอบเข็มเกียรติยศวายุบุตร[แก้]

พิธีมอบเข็มเกียรติยศวายุบุตร ปีการศึกษา 2566

ประวัติความเป็นมา[แก้]

พิธีมอบเข็มเกียรติยศวายุบุตร เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 เมื่อครั้ง นายวันชัย วิเศษโพธิศรี ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน ในขณะนั้น โดยมีวัตถุประสงค์ในการมอบ ดังนี้

1. เป็นสัญลักษณ์ของโรงเรียนมัธยมวานรนิวาส มอบให้นักเรียนในระดับชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่เข้ารับการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย อันจะเป็นพื้นฐานในการนำไปสู่ความเป็นต้นกล้าทางวิชาการและความประพฤติที่ดีงามต่อไป

2. เพื่อให้นักเรียนที่เข้าเป็นสมาชิกใหม่ มีสิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจ ภาคภูมิใจ มีความสามัคคี และมีความรักในสถาบันของตน

3. เพื่อเป็นวัฒนธรรมอันดีงามที่จะถ่ายทอด ไปยังศิษย์ในรุ่นต่อ ๆ ไป ทำให้สถาบันการศึกษาแห่งนี้เจริญรุ่งเรืองและก้าวหน้าต่อไป

ซึ่งรูปลักษณ์ของเข็มเกียรติยศ ออกแบบโดย นายวีระวัฒน์ รสานนท์ หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ ในขณะนั้น ลักษณะของเข็มมีลักษณะคล้ายหยดน้ำ 5 แฉก และมีหนุมานอยู่เหนือชื่อโรงเรียนสถิตไว้ตรงกลาง (หนุมานเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นอมตะ คือไม่มีวันตาย เนื่องจากเป็นบุตรของพระพาย (ลม) กับนางสวาหะ ด้วยเหตุนี้เมื่อมีอันตรายถึงตายแล้ว แค่มีลมพัดมาหนุมานก็จะฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่ ด้วยอำนาจของพระพายผู้เป็นบิดา)

การประดับเข็มเกียรติยศวายุบุตร[แก้]

การประดับเข็มเกียรติยศจะทำในรูปแบบของพิธีการ เพื่อให้มีความศักดิ์สิทธิ์และความ ภาคภูมิใจแก่ผู้ที่ได้รับ ส่วนใหญ่จะทำพิธีมอบในภาคเรียนที่ 1 ของปีการศึกษานั้น

การประดับหรือกลัดเข็มเกียรติยศ จะกลัดบนเสื้อนักเรียนด้านขวามือ เหนืออักษรย่อของโรงเรียน “ว.น.” ทุกครั้งที่สวมใส่ชุดนักเรียน และหากประดับหรือกลัดเข็มเกียรติยศนี้แล้วจะไม่นิยมให้ใส่เข้าไปในแดนอโคจร หรือแหล่งอบายมุข เพราะจะไม่เป็นมงคลแก่ผู้นั้น

กีฬาภายในเทาแดงเกมส์[แก้]

พิธีเปิดกีฬาภายในเทาแดงเกมส์ ปีการศึกษา 2565

โรงเรียนมัธยมวานรนิวาสได้มีการจัดการแข่งขันกีฬาภายในขึ้นในเดือนธันวาคม ของทุกปีการศึกษา ซึ่งมีระยะเวลาให้แต่ละคณะสีได้ทำการฝึกซ้อมและเตรียมความพร้อม ในการแข่งขัน 2 เดือน ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงทักษะความสามารถและศักยภาพที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำให้เกิดความสามัคคีในคณะสี เกิดกระบวนการคิดบริหารจัดการงบประมาณในการใช้จ่ายของแต่ละคณะสีอย่างคุ้มค่าและเหมาะสม

ซึ่งในการแข่งขันกีฬาภายในเทาแดงเกมส์นี้ ทางกลุ่มสาระสุขศึกษาและพลศึกษาได้แบ่งเป็น 6 คณะสี ดังนี้

  •   คณะอินทนิล (สีม่วง)
  •   คณะกระดังงา (สีเขียว)
  •   คณะเฟื่องฟ้า (สีชมพู)
  •   คณะชัยพฤกษ์ (สีเหลือง)
  •   คณะราชาวดี (สีฟ้า)
  •   คณะทองกวาว (สีแสด)

โดยได้มีการแบ่งชนิดกีฬาที่ใช้ในการแข่งขันได้ดังนี้ ฟุตบอล ฟุตซอล วอลเลย์บอล บาสเกตบอล เซปักตะกร้อ เปตอง อีสปอร์ต กรีฑา และกีฬาพื้นบ้าน (คณะครู)

พิธีทำบุญตักบาตร[แก้]

เป็นพิธีที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีหลังจากหยุดโรงเรียนในเทศกาลปีใหม่ โดยกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม เพื่อให้คณะครูอาจารย์และนักเรียนได้ร่วมกันทำบุญเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ให้เกิดความเป็นสิริมงคลและอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลแก่เจ้ากรรมนายเวร รวมไปถึงผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งทางโรงเรียนจะนิมนต์พระภิกษุสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ และร่วมกันทำบุญตักบาตร

M.W.M. Open House[แก้]

เป็นกิจกรรมเปิดบ้านวิชาการของโรงเรียนมัธยมวานรนิวาส ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ซึ่งถือได้ว่าเป็นกิจกรรมที่ทุกกลุ่มงานและทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมนี้ขึ้นมา จุดประสงค์เพื่อการประชาสัมพันธ์ แสดงความสามารถด้านต่าง ๆ ของนักเรียนโรงเรียนมัธยมวานรนิวาส ให้ผู้ที่มาร่วมในงานได้รับชม ภายในงานจะมีการจัดซุ้มขายของ ซุ้มกิจกรรมนันทนาการต่าง ๆ ให้ได้ร่วมสนุกกัน

ปัจฉิมนิเทศ[แก้]

พิธีบายศรีสู่ขวัญ ในกิจกรรมปัจฉิมนิเทศ ปีการศึกษา 2565

เป็นกิจกรรมของโรงเรียนที่จัดขึ้นโดยกลุ่มงานแนะแนว มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่กำลังจะจบการศึกษา มีขวัญและกำลังใจในการเรียน การใช้ชีวิตต่อไปในอนาคต ในกิจกรรมหน้าเสาธงจะมีการมอบของที่ระลึกแสดงความยินดีจากคณะผู้บริหารให้แก่นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่ได้เข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา เมื่อเสร็จสิ้นแล้วต่อมาจะได้เชิญให้นักเรียนทั้ง 2 ระดับขึ้นสู่หอประชุมในขั้นของพิธีบายศรีสู๋ขวัญ ซึ่งจะมีการแสดงดนตรีพื้นบ้านโดยนักเรียนของชุมนุมวงโปงลางและการฟ้อนบายศรีสู่ขวัญของนักเรียนชุมนุมนาฏศิลป์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ โดยในพิธีจะมีการนำตัวแทนนักเรียนของทั้ง 2 ระดับชั้น 2 คู่ อัญเชิญมาลัยกรกราบขอขมาครูผู้ที่จะเกษียณอายุราชการในปีการศึกษาถัดไป ต่อมาทางพิธีกรจะเชิญประธานรุ่น (ประธานคณะกรรมการสภานักเรียนในปีการศึกษาก่อน) มากล่าวความรู้สึกและอำลาสถาบัน หลังจากเสร็จสิ้นพิธีบายศรีสู่ขวัญก็จะเป็นการผูกแขนให้นักเรียนโดยพราหมณ์ คณะผู้บริหาร และคณะครู ในช่วงบ่ายจะมีการแสดงคอนเสิร์ตโดยคณะครูและนักเรียนวงสตริง เพื่อให้เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลินแก่นักเรียนผู้ที่เข้าร่วมในงาน

พิธีมอบประกาศนียบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา[แก้]

เป็นกิจกรรมของโรงเรียนจัดขึ้นโดยกลุ่มงานทะเบียน เพื่อมอบประกาศนียบัตรแก่นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่สำเร็จการศึกษาในแต่ละปีการศึกษา โดยคณะผู้บริหาร และคณะครูอาจารย์ที่มาร่วมในพิธีจะแต่งกายด้วยชุดครุยจากสถาบันที่ตนเองสำเร็จการศึกษามาเพื่อเป็นแรงบันดาลใจและแรงผลักดันให้นักเรียนอยากเข้าศึกษาต่อในสถาบันนั้น ๆ ซึ่งทางโรงเรียนจะมีการนิมนต์พระภิกษุสงฆ์มาสวดเจริญพระพุทธมนต์ให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่นักเรียนและบุคลากรของโรงเรียน ในขณะที่พิธีกำลังดำเนินไปทางก็จะมีการบรรเลงดนตรีไทยของนักเรียนชุมนุมวงดนตรีไทย กลุ่มสาระการเรียนเรียนรู้ศิลปะอีกด้วย

อาคารสถานที่[แก้]

  • อาคารอำนวยการ

เป็นอาคารแบบ 108 ล. สูง 2 ชั้น ซึ่งเป็นอาคารเรียนหลังแรกของโรงเรียน สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2509 ภายหลังได้ปรับปรุงมาเป็นอาคารอำนวยการ สำหรับฝ่ายบริหารของโรงเรียน โดยชั้นแรกมีห้องผู้อำนวยการ และห้องกลุ่มบริหารงานงบประมาณ ชั้น 2 มีห้องประชุมบุณยรัตน์ มีการต่อเติมห้องประชุมสัมนาคารโดยการสนับสนุนของนายองุ่น สุทธิวงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร ในขณะนั้น ห้องรองผู้อำนวยการกลุ่มบริหารงานทั่วไป ห้องรองผู้อำนวยการกลุ่มบริหารงานงบประมาณ ห้องงานประชาสัมพันธ์ และห้องงานพัสดุ

  • อาคาร 1

เป็นอาคารแบบ 216 สูง 2 ชั้น มีใต้ถุน สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2521 ประกอบด้วยห้องกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ ห้องปฏิบัติการเคมี ห้องปฏิบัติการชีววิทยา ห้องปฏิบัติการดาราศาสตร์ และห้องเรียนโครงการห้องเรียนพิเศษ หลักสูตรส่งเสริมวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี Science Mathematics and Technology (SMT)

  • อาคาร 2

เป็นอาคาร สูง 3 ชั้น ประกอบด้วยห้องกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ห้องกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ห้อง Isolate Room ห้องกลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ห้องปฏิบัติการคณิตศาสตร์ ห้องเรียน ม. 1 และ ม.6

  • อาคาร 3

เป็นอาคารแบบ 316 ล. สูง 3 ชั้น สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2526 ประกอบด้วยห้องกลุ่มบริการงานวิชาการ ห้องกลุ่มงานวัดผลและประเมินผล ห้องมาตรฐานสากล ห้องเกียรติยศ ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ 5 ห้องเรียนโครงการห้องเรียนพิเศษ English for Integrated Studies (EIS) ม.ต้น ห้องภูมิปัญญา ห้องจริยธรรม ห้องสังคม ห้องเรียน ม.3 และห้องอาเซียน

  • อาคาร 4

เป็นอาคารชั้นเดียว ประกอบด้วย ห้องเรียน ม.3 ห้องธนาคารโรงเรียน ห้องสมุด EIS ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ EIS ห้องปฏิบัติการชีววิทยา ห้องปฏิบัติการเคมี และห้องปฏิบัติการฟิสิกส์

  • อาคาร 5

เป็นอาคารชั้นเดียว ประกอบด้วย ห้องกลุ่มงานส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม ห้องกลุ่มงานกิจการนักเรียน ห้องพยาบาล ห้องสภานักเรียน และห้องแนะแนว

  • อาคาร 7

เป็นอาคารชั้นเดียว ประกอบด้วย ห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ ห้องปฏิบัติการชีววิทยา ห้องปฏิบัติการคณิตศาสตร์ EIS ห้องเรียนโครงการห้องเรียนพิเศษ English for Integrated Studies (EIS) ม.ปลาย และห้องปฏิบัติการเคมี

  • อาคาร 8

เป็นอาคารแบบ 324 ล สูง 4 ชั้น สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2551 ประกอบด้วยห้องกลุ่มงานบริการและกลุ่มงานโรงเรียนกับชุมชน ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ 1 - 4 ห้องกลุ่มบริหารงานบุคคล ห้องกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ ห้องเรียนโครงการห้องเรียนพิเศษ Mini English Program (MEP) ห้องเรียน ม. 2 - 3 และห้องเรียน ม.6

  • อาคารเฉลิมพระเกียรติในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 (อาคาร 9)
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด "อาคารเฉลิมพระเกียรติในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558"

เป็นอาคารแบบ 324 ล/55 – ก ซึ่งได้รับงบประมาณการก่อสร้างจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นเงินจำนวน 24,100,000 บาท เป็นอาคารสูง 4 ชั้น ใต้ถุนสูง ใช้เป็นอาคารเรียนรู้สู่ศตวรรษที่ 21 ประกอบด้วยห้องเรียนจำนวน 24 ห้อง และได้รับพระราชทานนามอาคารจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ว่า “อาคารเฉลิมพระเกียรติในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558” สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2561 ซึ่งเรียกเป็นชื่อโดยย่อว่า อาคาร 9

  • อาคารอุตสาหกรรมศิลป์
  • อาคารดนตรี
  • โรงอาหาร
  • อาคารอเนกประสงค์

เป็นอาคารแบบ 002 สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2525 ซึ่งถือว่าเป็นอาคารหอประชุมที่ได้มีการใช้งานมาเป็นระยะเวลาอย่างยาวนาน มีสนามกีฬาวอลเลย์บอล และสนามกีฬาแบดมินตัน

  • ห้องสมุดเฉลิมพระเกียรติ
  • หอประชุมชั้น 2
  • โดมร่วมใจสานสายใยครบรอบ 53 ปี
  • สนามวิเศษโพธิศรีกอล์ฟคลับ
  • สนามฟุตบอล
  • สนามฟุตซอล
  • สนามเทนนิส
  • สนามบาสเกตบอล
  • สนามฟุตบอล (หญ้าเทียม)

เกียรติประวัติ[แก้]

  • พ.ศ. 2548

- ผ่านการประเมินให้เป็นโรงเรียนต้นแบบ 1 อำเภอ 1 โรงเรียนในฝัน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

  • พ.ศ. 2549

- ผ่านการประเมินให้เป็นโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพดีเด่น ระดับทอง ในปีการศึกษา 2549

  • พ.ศ. 2554

- ได้ยกระดับเป็นโรงเรียนมาตรฐานสากล (World Class Standard School)

  • พ.ศ. 2555

- ได้รับรางวัลนักเรียนพระราชทาน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ประจำปีการศึกษา 2555

  • พ.ศ. 2556

- ได้รับรางวัลสถานศึกษาพระราชทาน โรงเรียนขนาดใหญ่ ประจำปีการศึกษา 2556[13]

  • พ.ศ. 2559

- ผ่านการประเมินการบริหารจัดการด้วยระบบคุณภาพ ระดับองค์กร (School Quality Awords : AcQA) ปีการศึกษา 2557 - 2558[14]

  • พ.ศ. 2561

- ได้รับรางวัลสถานศึกษาที่มีระบบและกลไกบริหารจัดการคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาเพื่อการประกันคุณภาพ (IQA AWARD) ระดับดีเด่น ประเภทสถานศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ ประจำปี 2561 จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

- ได้รับรางวัลการนำเสนอผลงานการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง (Independent study : IS) ระดับดี (OBECQA) ปีการศึกษา 2561 จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน [15]

  • พ.ศ. 2562

- ได้รับรางวัลศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา ระดับประเทศ ปี 2562 จากมูลนิธิยุวสถิรคุณ

  • พ.ศ. 2563

- ได้รับรางวัลองค์กรคุณธรรมต้นแบบ ระดับจังหวัด ประจำปีการศึกษา 2563 จากจังหวัดสกลนคร

  • พ.ศ. 2566

- ได้รับรางวัลสถานศึกษาปลอดภัยดีเด่น ประจำปี 2566 เป็นปีที่ 7 ติดต่อกัน จากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน

- ได้รับรางวัลสถานศึกษาปลอดภัย ระดับดีเด่น จากสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสกลนคร

- ได้รับการรับรองคุณภาพโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. ระดับ 3 ดาว ในกิจกรรมโรงเรียนดีต้องมีที่ยืน โครงการโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. ปีงบประมาณ 2566 ระดับเขตตรวจราชการ จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

อ้างอิง[แก้]

  1. โรงเรียนมัธยมวานรนิวาส, ผู้อำนวยการโรงเรียน, 2565, สืบค้นเมื่อ 16 กันยายน 2566
  2. โรงเรียนมัธยมวานรนิวาส, คณะกรรมการสถานศึกษา, 2565, สืบค้นเมื่อ 22 ตุลาคม 2566
  3. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสกลนคร, ข้อมูลครู/บุคลากร โรงเรียนมัธยมวานรนิวาส, 2566, สืบค้นเมื่อ 16 กันยายน 2566
  4. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสกลนคร, ข้อมูลนักเรียน โรงเรียนมัธยมวานรนิวาส ปีการศึกษา 2566, 10 มิถุนายน 2566, สืบค้นเมื่อ 16 กันยายน 2566
  5. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสกลนคร, ข้อมูลสิ่งก่อสร้าง (B-OBEC) โรงเรียนมัธยมวานรนิวาส, 6 พฤศจิกายน 2564, สืบค้นเมื่อ 16 กันยายน 2566
  6. โรงเรียนมัธยมวานรนิวาส, เพลงมาร์ชประจำโรงเรียนมัธยมวานรนิวาส (ว.น.) จังหวัดสกลนคร, 19 สิงหาคม 2555, สืบค้นเมื่อ 16 กันยายน 2566
  7. สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ, หลักสูตรการศึกษาตอนต้น พุทธศักราช 2521,19 กันยายน 2521, สืบค้นเมื่อ 15 กันยายน 2566
  8. กระทรวงศึกษาธิการ, อาคารเฉลิมพระเกียรติ มัธยมวานรนิวาส, 25 มิถุนายน 2561, สืบค้นเมื่อ 15 กันยายน 2566
  9. โรงเรียนมัธยมวานรนิวาส, ห้องเรียน MEP โรงเรียนมัธยมวานรนิวาส, 11 มีนาคม 2562, สืบค้นเมื่อ 16 กันยายน 2566
  10. โรงเรียนมัธยมวานรนิวาส, โครงการห้องเรียนพิเศษ EIS - M.W.N, 5 กุมภาพันธ์ 2563, สืบค้นเมื่อ 16 กันยายน 2566
  11. โรงเรียนมัธยมวานรนิวาส, MWN Marching band, 18 สิงหาคม 2565, สืบค้นเมื่อ 16 กันยายน 2566
  12. โรงเรียนมัธยมวานรนิวาส, โครงการห้องเรียนพิเศษ SMT โรงเรียนมัธยมวานรนิวาส, 8 กุมภาพันธ์ 2565, สืบค้นเมื่อ 16 กันยายน 2566
  13. สำนักตรวจราชการและติดตามประเมินผล สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงศึกษาธิการ, ผลการคัดเลือกนักเรียน นักศึกษา และสถานศึกษาเพื่อรับรางวัลพระราชทาน ประจำปีการศึกษา 2556, 2556, สืบค้นเมื่อ 15 กันยายน 2566
  14. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ, ประกาศสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เรื่อง รายชื่อโรงเรียนมาตรฐานสากลที่ผ่านการประเมินการบริหารจัดการด้วยระบบคุณภาพ ระดับองค์กร (School Quality Awords : AcQA) ปีการศึกษา 2557 - 2558, 11 สิงหาคม 2559, สืบค้นเมื่อ 11 ธันวาคม 2566
  15. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ, สรุปผลการนำเสนอผลงานการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง (Independent study : IS) เวทีศักยภาพผู้เรียนโรงเรียนมาตรฐานสากล ระดับชาติ ปีการศึกษา 2561, 12 ธันวาคม 2561, สืบค้นเมื่อ 15 กันยายน 2566

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]