โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย
โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย Bangkok Christian College | |
---|---|
ที่ตั้ง | |
ข้อมูล | |
ชื่ออื่น | ก.ท / BCC |
ประเภท | โรงเรียนเอกชน |
คำขวัญ | อย่าให้ความชั่วชนะเราได้ แต่จงชนะความชั่วด้วยความดี (โรม 12:21) |
นิกาย | โปรแตสแตนท์ |
สถาปนา | 30 กันยายน พ.ศ. 2395 (172 ปี 36 วัน) |
ผู้ก่อตั้ง | คณะมิชชันนารีอเมริกันเพรสไบทีเรียน |
ผู้อำนวยการ | อาจารย์วราภรณ์ ทรัพย์สมบูรณ์ ปฏิบัติหน้าที่ ผู้อำนวยการ และ ผู้จัดการ[2] |
ระดับปีที่จัดการศึกษา | ประถมศึกษาปีที่ 1-6 มัธยมศึกษาปีที่ 1-6 |
เพศ | โรงเรียนชายล้วน |
จำนวนนักเรียน | 6,000 คน |
ภาษาที่ใช้เป็นสื่อการสอน | ภาษาที่มีการเรียนการสอนในโรงเรียน ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่น ภาษาจีนกลาง |
สี | ม่วง ทอง |
เพลง | ม่วงทองผ่องอำไพ มาร์ชกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย มาร์ช บีซีซี |
สังกัด | กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน [1] |
ดอกไม้ประจำโรงเรียน | ดอกชงโค |
ต้นไม้ประจำโรงเรียน | ต้นกล้วยพัด |
เว็บไซต์ | www |
โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย (อังกฤษ: Bangkok Christian College ย่อ: ก.ท, BCC) เรียกอย่างย่อว่า กรุงเทพคริสเตียน หรือ คริสเตียน เป็นโรงเรียนเอกชนชายล้วนขนาดใหญ่ ได้รับการสถาปนาขึ้นโดยคณะมิชชันนารีอเมริกันเพรสไบทีเรียน เมื่อปี พ.ศ. 2395 ปัจจุบันโรงเรียนมีอายุ 172 ปี โดยเป็นโรงเรียนราษฎรแห่งแรกและเป็นโรงเรียนที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย เป็นโรงเรียนโปรแตสแตนท์ที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย และเป็นโรงเรียนเพียงแห่งเดียวในปัจจุบันที่ก่อตั้งขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4
ปัจจุบันโรงเรียนอยู่ภายใต้การควบคุมของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน หรือ ส.ช. [3] โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยตั้งอยู่ที่ เลขที่ 35 ถนนประมวญ แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร[4] โรงเรียนมีศิษย์เก่าเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงหลายคน ทั้งองคมนตรี 4 คน นายกรัฐมนตรีไทย 2 คน รัฐมนตรีหลายกระทรวง นักร้อง นักแสดง ผู้จัดรายการหลายคน โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยเป็นโรงเรียนในเครือจตุรมิตร ซึ่งประกอบด้วย โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย, โรงเรียนเทพศิรินทร์, โรงเรียนอัสสัมชัญ และโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย
ประวัติ
การก่อตั้งโรงเรียน
ในช่วง พ.ศ. 2394 คณะมิชชันนารีอเมริกันเพรสไบทีเรียน (American Presbyterian) ได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ให้สามารถซื้อที่ดิน 2 แปลงที่ตำบลกุฎีจีน ใกล้วัดแจ้ง โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย เปิดสอนหนังสือให้แก่เด็กผู้ชายครั้งแรก บริเวณหมู่บ้านชาวมอญ เมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2395 โดยแหม่มมะตูน ในขณะนั้น ยังไม่มีการตั้งเป็นโรงเรียน จนกระทั่งวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2395 หมอเฮาส์ ได้เริ่มก่อตั้งโรงเรียนที่ตำบลกุฎีจีนแห่งแรก โดยเปิดโรงเรียนประจำในบริเวณสำนักงานคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียน ซึ่งเป็นที่ดินที่ได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ข้างวัดแจ้ง โดยใช้ชื่อโรงเรียนว่า "โรงเรียนคริสเตียนบอยสกูลที่กุฎีจีน" ในเวลานั้น ถือว่าเป็นโรงเรียนประจำแห่งแรกของประเทศสยาม ซึ่งได้ใช้เทคโนโลยีการสอน และแบบแผนตามประเทศตะวันตก มีการตรวจสุขภาพของเด็กนักเรียนทุกคนก่อนที่จะรับเข้าเป็นนักเรียน เพื่อป้องกันโรคติดต่อ โดยหมอเฮาส์ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ทันสมัยมากในสมัยนั้น นอกจากจะมีการสอนให้อ่านและเขียน ยังมีการสอนวิชาคณิตศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ วิทยศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และศาสนา โดยมีซินแสกีเอ็ง ก๊วยเซียน เป็นอาจารย์ผู้สอน มีเยาวชนชาวจีนเพียง 8 คน ที่เข้ามาสมัครเป็นนักเรียน [5]
ในขณะนั้น เด็กส่วนใหญ่เกิดจากครอบครัวที่ไม่มีกำลังมาก ส่วนใหญ่จึงมีการเรียนการสอนเกิดขึ้นโดยพระสงฆ์ ภายในวัด โรงเรียนจึงได้เริ่มจ้างนักเรียนให้เข้ามาเรียน ด้วยเงิน 1 เฟื้อง (ปัจจุบัน อยู่ที่ประมาณ 0.125 บาท) โรงเรียนได้ให้สิ่งอำนวยความสะดวกแก่นักเรียนที่เข้ามาเรียน เช่น ที่พักอาศัย และในพ.ศ. 2399 ได้เริ่มมีนักเรียนไทยกลุ่มหนึ่ง เข้ามาเรียนที่โรงเรียน และมีบันทึกนักเรียนไทยไว้ทั้ง 5 คน ได้แก่
- นร. เลขประจำตัว 1 พระยาอุตรกิจฯ
- นร. เลขประจำตัว 2 หลวงวิจิตรฯ
- นร. เลขประจำตัว 8 หลวงขบวนฯ
- นร. เลขประจำตัว 29 ครูยวญ เตียงหยก
- นร. เลขประจำตัว 31 นายเทียนสู่ กีระนันทน
ใน พ.ศ. 2405 คณะมิชชันนารี ได้ย้ายโรงเรียนจากกุฎีจีน ไปที่สำเหร่ ซึ่งอยู่ทางใต้ในฝั่งธนบุรี และมอบให้ศาสนทูตแมตตูน เป็นผู้อำนวยการ ในขณะเดียวกัน รัฐบาลไทยได้เปิดโรงเรียนของรัฐบาลแห่งหนึ่งที่ตำบลสวนอนันต์ ได้เชิญท่าน เอส.จี.แมคฟาแลนด์ หรือคุณพระอาจวิทยาคมเป็นผู้อำนวยการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การศึกษาเฉพาะบุคคลชั้นเจ้านาย ลูกท่านหลานเธอและบุตรข้าราชการผู้ใหญ่ในราชสำนักเท่านั้น ท่านผู้อำนวยการเห็นว่าภารกิจที่ได้รับมอบหมายนั้น ลำพังท่านเพียงผู้เดียวนั้นยากที่จะดำเนินไปสู่จุดมุ่งหมายได้ จึงเรียนเชิญอาจารย์จอห์น เอ. เอกิ้น เข้ามาร่วมงาน กิจการของโรงเรียนราษฎร์แห่งแรกก็ได้ก้าวหน้าไปด้วยดี [6]
การรวมตัวของทั้งสองโรงเรียน
ใน พ.ศ. 2431 หลังจากที่อาจารย์จอห์น เอ. เอกิ้น ร่วมงานกับอาจารย์เอส.จี.แมคฟาแลนด์ ได้ระยะหนึ่ง อาจารย์จอห์น เอ. เอกิ้น ก็ลาออกจากตำแหน่งครูรัฐบาลแต่ด้วยใจรักการศึกษา ท่านก็ได้จัดตั้งโรงเรียนส่วนตัวขึ้น ณ ตำบลวัดกุฎีจีน โดยใช้ชื่อโรงเรียนว่า บางกอกคริสเตียนไฮสกูล อีกทั้งยังได้เชิญอาจารย์และแหม่มเจ.บี.ดันแลป พร้อมด้วยน้องสาวของท่าน เข้ามาร่วมเป็นอาจารย์ในโรงเรียน ในปีนั้นอาจารย์จอห์น.เอ.เอกิ้น และคณะทั้งสามของท่านได้สมัครเข้าสังกัดของคณะเพรสไบทีเรียนแล้ว ศาสนทูตเอส.อาร์เฮ้าส์ ท่านศาสนทูตเจ.เอม.คัลเบริ์ทซัน ท่านศาสนทูตเอน.เจ.แมคโดนัล และท่านศาสนทูต เจ.แวนได๊ก์ ได้เดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดของท่าน ณ สหรัฐอเมริกา ทำให้ทางฝ่ายมิชชันในกรุงเทพมหานคร ขาดผู้บริหารด้านการศึกษา ที่ประชุมจึงได้มีมติให้อาจารย์จอห์น เอ.เอกิ้น เป็นผู้ที่จะบริหารงานด้านการศึกษาของมิชชันต่อไป ดังนั้นท่านต้องแบกภารกิจเป็น 2 เท่าคือทั้งงานส่วนตัวที่"บางกอกคริสเตียนไฮสกูล" และโรงเรียนของคณะมิชชันที่สำเหร่ [7]
ใน พ.ศ. 2435 ท่านอาจารย์จอห์น เอ. เอกิ้น ไม่ประสบความสำเร็จในการบริหารทั้งสองอย่างในเวลาเดียวกัน จึงตัดสินใจยกเลิกกิจการโรงเรียนบางกอกคริสเตียนไฮสกูล และมุ่งหน้าปรับปรุงกิจการส่วนรวมของคณะมิชชัน คือดำเนินการบริหารที่สำเหร่แต่เพียงอย่างเดียว เพื่อสร้างงานใหม่ที่ตำบลสำเหร่ โดยได้สร้างอาคารใหม่ใช้เป็นสถานศึกษาสำหรับนักเรียนชาย โรงเรียนบางกอกคริสเตียนไฮสกูล จึงรวมกับ โรงเรียนสำเหร่บอยสกูล เป็น "โรงเรียนสำเหร่บอยส์คริสเตียนไฮสกูล" ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ที่คริสตจักรที่ 1 สำเหร่ [8]
การย้ายโรงเรียนมาบนถนนประมวญ
ใน พ.ศ. 2443 ทางคณะมิชชันนารีเล็งเห็นว่า หากจะขยายการศึกษาให้กว้างไกลออกไปแล้ว ที่ดินตรงตำบลสำเหร่ไม่เหมาะสม จึงมุ่งหมายไปยังที่ดินแปลงใหม่ ณ ฝั่งชายแม่น้ำเจ้าพระยาอันเป็นฝั่งกรุงเทพฯ ปัจจุบันและในที่สุดก็ได้ซื้อที่ดินแปลงหนึ่งที่บริเวณ ถนนประมวญ ตำบลสีลม อำเภอบางรัก จากเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ด้วยราคา 17,500 บาท แต่ได้รับการลดราคาเนื่องจากถือว่าเป็นการบริจาคในการสร้างโรงเรียนจากพระยาสุรศักดิ์มนตรี 2,500 บาท และสร้างสถาบันการศึกษาขึ้นใหม่เรียกนามว่า "กรุงเทพคริสเตียนไฮสกูล" เปิดทำการสอนเป็นปฐมฤกษ์เมื่อ พ.ศ. 2466 [9]
ใน พ.ศ. 2456 มติจากบอร์ดนอกให้เปลี่ยนชื่อโรงเรียน จึงได้สั่งให้เปลี่ยนจากไฮสกูล เป็นคอลเล็จ (College) โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนไฮสกูล จึงเปลี่ยนมาเป็น "กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย" หรือ "Bangkok Christian College" มีชื่อย่อว่า "BCC" [10]
ใน พ.ศ. 2463 โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย เป็นโรงเรียนเอกชนแห่งแรกในประเทศไทย ที่ได้รับเกียรติในการรับรองวิทยฐานะ เทียบเท่าโรงเรียนรัฐบาลจากกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งครบ 100 ปี ใน พ.ศ. 2563
ใน พ.ศ. 2484 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ย้ายไปเปิดการเรียนการสอน ในซอยพร้อมพงษ์ บนถนนสุขุมวิท บนที่ดินของคุณดำรงค์ จ่างตระกูล โดยไม่คิดค่าเช่า และยังเปิดรับนักเรียน ม.6 พิเศษ แบบสหศึกษาอีกด้วย ในช่วงนี้ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "โรงเรียนกรุงเทพสเถียรวิทยาลัย" เป็นการชั่วคราว [11]
ผู้อำนวยการ
ลำดับ | รายนาม | ระยะเวลาดำรงตำแหน่ง [12] |
---|---|---|
1 | ศาสนาจารย์จอห์น แอนเดอร์สัน เอกิ้น | พ.ศ. 2446-2451 |
2 | ศาสนาจารย์ ดับบลิว. ยี. แมคครัวร์ | พ.ศ. 2451-2462 |
3 | ศาสนาจารย์ อาร์.โอ.แฟรงคลิน | พ.ศ. 2462-2463 |
4 | ศาสนาจารย์ เอ็ม. บี. ปาล์มเมอร์ | พ.ศ. 2463-2481 |
5 | อาจารย์มิส แอนนาเบล กอล์ท | พ.ศ. 2451-2476 |
6 | ดร. อี. เอ็ม. เท็ตต์ | พ.ศ. 2481-2484 |
7 | อาจารย์เจริญ วิชัย | พ.ศ. 2484-2503 |
8 | ศาสนาจารย์เล็ก ไทยง | พ.ศ. 2503-2506 |
9 | อาจารย์อารีย์ เสมประสาท | พ.ศ. 2506-2521 |
10 | ดร.สิงห์โต จ่างตระกูล | พ.ศ. 2521-2535 |
11 | อาจารย์บุญยเกียรติ นิลมาลย์ | พ.ศ. 2535-2542 |
12 | อาจารย์ประกอบ พรหมบุตร | พ.ศ. 2542-2543 |
13 | ดร.จารีต องคะสุวรรณ | พ.ศ. 2543-2546 |
14 | ดร.วรนุช ตรีวิจิตรเกษม | พ.ศ. 2546-2559 |
15 | อาจารย์ศุภกิจ จิตคล่องทรัพย์ | พ.ศ. 2559-2562 |
16 | อาจารย์วราภรณ์ ทรัพย์สมบูรณ์ | พ.ศ. 2562-ปัจจุบัน
|
สถานที่ภายในโรงเรียน
อาคารสามหลังแรก (พ.ศ. 2445)
อาคารสามหลังแรกของโรงเรียน ประกอบไปด้วย อาคารเหนือเดิม ออฟฟิซ และอาคารใต้เดิม โดยเรียงเป็นรูปตัว U มีอาคารออฟฟิซอยู่ตรงกลาง ปัจจุบันคือที่ตั้งของหอธรรม และลานหน้าอาคารอารีย์ เสมประสาท โดยอาคารทั้งสามหลังแรกได้ถูกรื้อถอนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว [13]
- อาคารเหนือเดิม เป็นอาคารสองชั้น ชั้นล่างเป็นห้องเรียน ชั้นบนเป็นอาคารพักอาศัยของอาจารย์ชาวต่างชาติ อาจารย์เกลอร์ดนอกซ์ และห้องพักนักเรียนประจำ
- อาคารออฟฟิซ เป็นอาคารสองชั้น เป็นชื่อเรียกที่ทำการหลักของโรงเรียนในสมัยนั้น โดยใช้ภาษาอังกฤษในการเรียน ชั้นล่าง เป็นห้องขายหนังสือ มีครัวอยู่ด้านหลัง ห้อง ม.7, ม.8 และชั้นบนเป็นที่พักของอาจารย์ใหญ่ อาจารย์เอ็ม. บี. ปาล์มเมอร์
- อาคารใต้เดิม เป็นอาคารสองชั้น ชั้นล่างเป็นห้องเรียน, โรงสวด (หรือที่เรียกกันว่า Chapel) ชั้นบนเป็นอาคารพักอาศัยของอาจารย์ฝรั่ง มิส เอ. กอล์ต และห้องพักนักเรียนประจำ
อาคาร เอ็ม บี ปาล์มเมอร์ หรือ อาคาร 2 (พ.ศ. 2508)
อาคารเอ็ม. บี. ปาล์มเมอร์ เป็นอาคารเรียนสมัยใหม่ สูง 4 ชั้น โดยได้นำงบประมาณการก่อสร้าง มาจากที่ดินบ้านกล้วย โดยอาคารนี้ เป็นการสร้างอาคารทั้งหมด 4 อาคาร ติดต่อกันเป็นทางยาว เมื่อสร้างเสร็จ ถูกขนานนามว่า เป็นอาคารเรียนที่มีความสวยงาม และทันสมัยที่สุดในประเทศไทย [14] เมื่อปี พ.ศ. 2552 ได้มีการเปลี่ยนชื่อจาก อาคาร 2 ซึ่งเป็นชื่อเรียกอาคารแบบเก่า เป็น อาคารเอ็ม. บี. ปาล์มเมอร์ เนื่องจากการทุบอาคาร 1 และการมาของอาคารจอห์น เอ. เอกิ้น และในปัจจุบัน อาคารเอ็ม. บี. ปาล์มเมอร์เป็นที่ตั้งของห้อง 00, ห้องส่งเสริมระเบียบวินัยมัธยมศึกษาตอนต้น, โรงอาหาร, ห้องเรียนของนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 1-3, ห้องเรียนโครงการ IEP , ห้องพักครูม.1-3, ห้องทดลองวิทยาศาสตร์ 3 ห้อง, ห้องกิจกรรม และห้องแนะแนว อีกทั้งยังมีสวนสวนพฤกษศาสตร์ที่ชั้น 2 ซึ่งอาจารย์ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เยี่ยมชมในโครงการ BCC Model อีกด้วย
หอธรรม (พ.ศ. 2514)
เป็นหอประชุมที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดของโรงเรียน และยังเป็นสัญลักษณ์ของโรงเรียนอีกด้วย หอธรรมเริ่มการสร้างเมื่อปี 2511 จากดอกเบี้ยที่โรงเรียนได้รับจากการขายที่ดินบ้านกล้วย ถูกออกแบบโดย Dr. Amos Chang เปิดใช้งานครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2514 เพื่อใช้ในศาสนพิธีของโรงเรียน ซึ่งเป็นแบบคริสต์ศาสนานิกายโปรแตสแตนท์ และการประชุมสำคัญต่างๆ ของโรงเรียน รูปร่างของหอธรรมนั้น ผู้ออกแบบใช้แนวคิด "เรือโนอาห์" ซึ่งเป็นเรือที่ปรากฏอยู่ในพระคัมภีร์ทางคริสต์ศาสนาในส่วนพันธสัญญาเดิม ว่าด้วยเหตุการณ์น้ำท่วมโลก ที่พระผู้เป็นเจ้าบันดาลให้เกิดเพื่อล้างบรรดาความชั่วร้ายบนโลกอันเกิดขึ้น และพระผู้เป็นเจ้าได้สั่งให้โนอาห์ต่อเรือใหญ่สำหรับตนและครอบครัว อีกทั้งสัตว์น้อยใหญ่ อาศัยเรือนี้ในยามน้ำท่วมโลก เมื่อน้ำลด ผู้อยู่บนเรือโนอาห์จึงเป็นผู้รอดชีวิต และสืบเผ่าพันธุ์มาจนถึงทุกวันนี้ [15] หอธรรมสามารถจุคนได้กว่า 1,500 คน ด้านหลังของหอธรรมเป็นที่ตั้งของห้องศาสนกิจ ห้องธนาคารความดี (BCC Spirit Bank) และห้องประชุม 5
อนึ่ง ไม้กางเขนของฝ่ายโปรแตสแตนท์ จะไม่มีรูปพระเยซูถูกตรึงบนกางเขน ต่างจากไม้กางเขนของฝ่ายโรมันคาทอลิก ด้วยฝ่ายโปรแตสแตนท์ถือเรื่องการไม่นับถือรูปเคารพใดๆ มีเพียงไม้กางเขนที่เป็นสัญลักษณ์ถึงการไถ่บาปของพระเยซูแก่ผู้คนชาวโลกเท่านั้น
อาคารอารีย์ เสมประสาท (พ.ศ. 2525)
อาคารอารีย์ เสมประสาท หรือที่เรียกกันว่า "อาคารอารีย์" เป็นอาคารสูง 6 ชั้นครึ่ง ซึ่งสร้างมาเพื่อรองรับนักเรียนที่เพิ่มมากขึ้น และทดแทนอาคารเหนือ ซึ่งอยู่ต่ำกว่าถนน ทำให้น้ำท่วมเข้ามาในห้องเรียนได้ง่าย โดยอาคารอารีย์ เสมประสาทเป็นอาคารแห่งแรกในโรงเรียน ที่มีลิฟต์โดยสารสำหรับอาจารย์และบุคลากร ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของห้องเรียนของนักเรียนประถมศึกษาปีที่ 1 และ 2, ห้องพักครู, ห้องทดลองวิทยาศาสตร์, ห้องลูกเสือ, ห้องดนตรีไทย และห้องคอมพิวเตอร์
อาคารสิรินาถ (พ.ศ. 2537)
อาคารสิรินาถ หรือ อาคารศูนย์วิทยบริการ เป็นอาคารเรียนยุคใหม่ ซึ่งมีความสูง 16 ชั้น เป็นที่ตั้งห้องเรียนของนักเรียนโครงการใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อการสอน (EIP) ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6, ห้องพักครู, ห้องทดลองวิทยาศาสตร์ ซึ่งประกอบไปด้วยห้องทดลองฟิสิกส์ ห้องทดลองเคมี ห้องทดลองชีววิทยา ห้องเก็บสารเคมี และห้องเพาะเนื้อเยื้อ, ห้องคอมพิวเตอร์, ห้องชุมนุมดนตรี, ลานกิจกรรม, ห้องสมุด ดร.สิงห์โต จ่างตระกูล(ห้องสมุดกลาง) และนอกจากนี้ ยังเป็นที่ตั้งของ ห้องฝ่ายบริหารโรงเรียน, ห้องประชาสัมพันธ์, ห้องการเงิน, ห้องทะเบียน , ห้องอัดเสียง , ห้องประชุมทั้ง 4 แห่ง, สระว่ายน้ำประจำโรงเรียน, ชุดพักอาศัย และห้องพักผู้บริหาร อาคารนี้ เป็นอาคารเรียนเดียวในโรงเรียน ที่ใช้ระบบเดินเรียน ซึ่งนักเรียนที่มีห้องภายในอาคารเรียนนี้ จะไม่มีห้องเป็นของตัวเอง แต่จะมีล๊อกเกอร์เพื่อเก็บหนังสือเรียนและสัมภาระ เพื่อเดินไปเรียนในห้องของอาจารย์ประจำวิชาที่ตนเองเลือกหรือตามตารางที่กำหนดไว้ โดยภายในอาคาร มีลิฟต์โดยสารทั้งหมด 4 ตัว โดยอาคารนี้สร้างขึ้นในช่วงเฉลิมฉลองพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ พุทธศักราช 2535 โดยได้รับพระราชทานชื่อ "สิรินาถ" จาก สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
อาคารบีซีซี 150 ปี (พ.ศ. 2545)
อาคารบีซีซี 150 ปี เป็นอาคารสูง 18 ชั้น ชั้นใต้ดิน 2 ชั้น ซึ่งสร้างขึ้นบนที่ดินสำนักงานสภาคริสตจักรในประเทศไทยเดิม โดยเป็นอาคารเดียวที่แยกตัวจากบริเวณโรงเรียน มีการสร้างสะพานลอยข้ามถนนประมวญ เพื่ออำนวยความสะดวกกับนักเรียน อาคารนี้ เป็นที่ตั้งของห้องเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6, ห้องเรียนโครงการ IEP, ที่ทำการมัธยมศึกษา (ห้องประชาสัมพันธ์มัธยม), ห้องแนะแนวมัธยมศึกษา, ห้องส่งเสริมระเบียบวินัยมัธยมปลาย, ห้องพักครูของกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆ, ห้องสมุดมัธยม, ห้องประชุม 6-7, ห้องทดลองวิทยาศาสตร์ ซึ่งประกอบไปด้วยห้องทดลองฟิสิกส์ ห้องทดลองเคมี ห้องทดลองชีววิทยา, ห้องสถานีดาวเทียมภาคพื้นดิน (สถานีโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย HS0AW), ห้องคอมพิวเตอร์, ห้องศูนย์วิทยาการ, ห้องเรียนของกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ, ที่จอดรถใต้ดิน, ห้องเก็บอุปกรณ์สำหรับเชียร์และแปรอักษร และหอพักนักเรียนประจำ มีลิฟต์โดยสารทั้งหมด 6 ตัว ซึ่งเป็นลิฟต์โซนต่ำ 4 ตัว และลิฟต์โซนสูง 2 ตัว
อาคารจอห์น เอ. เอกิ้น (พ.ศ. 2552)
อาคารจอห์น เอ. เอกิ้น หรือที่เรียกสั้นๆกันว่า "อาคารเอกิ้น" ตั้งชื่อตามมิชชันนารีชาวอเมริกัน จอห์น แอนเดอร์สัน เอกิ้น ผู้ย้ายโรงเรียนจากสำเหร่ มาที่ประมวญ เป็นอาคารเรียนสูง 16 ชั้น (รวมชั้นลอย หรือ ชั้น M) และชั้นใต้ดิน 2 ชั้น ซึ่งเป็นที่ตั้งของห้องเรียนนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่3-6 เปิดใช้ส่วนของห้องเรียนเมื่อ ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2552 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดป้ายอาคารเมื่อวันจันทร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2553 อาคารนี้ถูกออกแบบมาให้มีความทันสมัย และสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างครบถ้วน มีห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์และห้องทดลองวิทยศาสตร์ ที่ชั้น 7, ห้องสมุดปัญญาจารย์ ซึ่งตั้งอยู่ที่ชั้น 8, ห้องปฏิบัติการศิลปะและนาฎศิลป์ ตั้งอยู่ที่ชั้น 9, ห้องประชุมใหญ่ ห้องภาพยนตร์ และโถงประชุมที่ชั้น 10 และ 11, โครงการหอประวัติศาสตร์โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย (BCC Inspiration Hall) ที่ชั้น 12, และ สนามฟุตซอล,สนามฟุตบอล, สนามบาสเกตบอล ตั้งอยู่ที่ชั้น 13-15 ตามลำดับ โดยอาคารนี้มีลิฟต์โดยสารทั้งหมด 6 ตัว และลิฟต์บริการ (Service Lift) 1 ตัว และมีทางเชื่อมไปยังอาคาร เอ็ม บี ปาล์มเมอร์
สถานที่ และสิ่งอำนวยความสะดวกภายในโรงเรียน
ห้องสมุด
ห้องสมุดโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ปัจจุบันมีสามแห่ง ได้แก่ อาคารจอห์น เอ.เอกิ้น (ห้องสมุดปัญญาจารย์), อาคารสิรินาถ (ห้องสมุด ดร.สิงห์โต จ่างตระกูล) และอาคารบีซีซี 150 ปี (ห้องสมุดมัธยม) ภายในแยกหมวดหมู่หนังสืออย่างชัดเจน รวมทั้งหนังสือพิมพ์และนิตยสารต่างๆ สำหรับนักเรียนเพื่อให้รับรู้ข่าวสารต่างๆ พร้อมด้วยระบบยืม-คืน คอมพิวเตอร์พร้อมอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสำหรับนักเรียนเพื่อใช้สืบค้นหาข้อมูลและหาความรู้ระหว่างช่วงเวลาพักและหลังเลิกเรียน ห้อง Conference Room ซึ่งจะเปิดสารคดีและภาพยนตร์ต่างๆในระหว่างเวลาพักและหลังเลิกเรียน มุมยืมซีดีภาพยนตร์และโปรแกรม มุมถ่ายเอกสาร พร้อมกล้องวงจรปิดภายในห้องสมุดเพื่อรักษาความปลอดภัยและป้องกันการขโมยหนังสือ สถานที่ที่เคยเป็นห้องสมุดโรงเรียนเก่า ได้แก่ อาคาร 1 และ อาคารมูลนิธิสภาคริสตจักรในประเทศไทยเดิม ซึ่งอาคารทั้งสองแห่ง ได้ถูกรื้อถอนเป็นที่เรียบร้อย
สนามฟุตบอล
สนามฟุตบอลเดิม มีความยาวขนานกับถนนสาทรเหนือ ตั้งฉากกับถนนประมวญ ซึ่งอยู่ระหว่างอาคารเหนือ อาคารวิทยศาสตร์ และตึกใต้เดิม แต่หลังจากที่มีการสร้างอาคารเอ็ม. บี. ปาล์มเมอร์ สนามฟุตบอล ได้เปลี่ยนทิศทางมาตั้งฉากกับถนนสาทรเหนือ ขนานกับถนนประมวญ โดยเมื่อปี พ.ศ. 2553 โรงเรียนได้ปรับปรุงสนามฟุตบอลครั้งใหญ่ โดยเปลี่ยนจากสนามหญ้าดิน เป็นสนามหญ้าเทียม เนื่องจากสนามฟุตบอลดินเมื่อฝนตกสนามจะเต็มไปด้วยดินและโคลน เมื่อนักเรียนเข้าไปทำกิจกรรม หญ้าบางส่วนอาจมีความเสียหาย และใช้เวลานานในการปลูกหญ้า
ลานชงโค
เป็นลานอเนกประสงค์ ตั้งอยู่ระหว่างอาคารเอ็ม บี ปาล์มเมอร์ และอาคารสิรินาถ ร่มรื่นด้วยต้นไม้ มีโต๊ะและเก้าอี้ไม้สำหรับนั่งพักและรับประทานอาหาร พร้อมด้วยเวทีเล็ก ซึ่งในเวลาพักจะมีการจัดกิจกรรมสำหรับนักเรียน มีสนามเปตองเล็กๆ ข้างๆลานชงโค ภายในลานชงโค มีสถาปัตยกรรมเซรามิค โดยอาจารย์แสงอรุณ รัตกสิกร ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งในสามผลงาน ที่ยังเหลืออยู่ในภายในโรงเรียน
โรงอาหาร
โรงอาหารโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน เคยตั้งอยู่ตรงข้ามหอพักนักเรียนประจำเก่าเมื่อก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ก็ได้ย้ายไปใต้อาคาร 2 เมื่อมีการรื้อถอนอาคารเดิมทิ้ง และหลังจากอาคาร 2 ได้สร้างเสร็จ ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ชั้น 1 อาคารเอ็ม. บี. ปาล์มเมอร์ เป็นโรงอาหารเปิดโล่ง มีร้านอาหารร่วม 20 ร้าน ซึ่งมีทั้งข้าว, ก๋วยเตี๋ยว, เบเกอร์รี่, ผลไม้, เครื่องดื่ม และไอศกรีม พร้อมโต๊ะรับประทานอาหารซึ่งมีการนำแผ่นพลาสติกใสมากั้นแบ่งโต๊ะเป็น 4 ส่วนในช่วงสถานการณ์โควิด 19
สวนน้ำตก
เป็นสวนสวยที่ร่มรื่นด้วยต้นไม้และดอกไม้นานาชนิด ซึ่งถูกปรับปรุงจากบริเวณรกเดิม ให้มีความสวยงาม ตั้งอยู่ระหว่างโรงอาหาร และ Book Store
Book Store
ร้านขายเครื่องเขียน และอุปกรณ์ประกอบการเรียนต่างๆ ตั้งอยู่ในลานชงโค
สะพานลอยเชื่อมอาคารบีซีซี 150 ปี
เป็นทางเดินยกระดับซึ่งเชื่อมระหว่างอาคารเอ็ม. บี. ปาล์มเมอร์ ไปสู่อาคารบีซีซี 150 ปี โดยเป็นสะพานลอยข้ามถนนประมวญ ซึ่งมี 3 ทางขึ้น-ลง เพื่อความปลอดภัย และอำนวยความสะดวกนักเรียน ที่จะสามารถเดินเปลี่ยนห้องไปทุกอาคารได้ โดยที่ไม่ต้องลงไปเดินบนชั้นพื้นดิน
ศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง
พระบรมวงศานุวงศ์
- พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมศึกยุคล
- หม่อมเจ้านิพัทธ์พันธุ์ดิศ ดิศกุล
นายกรัฐมนตรี
องคมนตรี
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
- ศาสตราจารย์ ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์
อัยการสูงสุด
สมาชิกวุฒิสภา
- พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ
- พล.ต.อ.อิสระพันธ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา
- ยศ เอื้อชูเกียรติ
- พล.อ.จรัล กุลละวณิชย์
- อมเรศ ศิลาอ่อน
- เฉลิม เชี่ยวสกุล
- สุประดิษฐ์ หุตะสิงห์
- วิทย์ รายนานนท์
- พิทักษ์ อินทรวิทยนันท์
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
- หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล อดีตปลัดกระทรวงการคลัง
- ดร.วิจิตร สุพินิจ
ทหาร
- พล.อ.อ. แอร์บูล สุทธิวรรณ อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ กองทัพอากาศ[16]
ด้านวิชาการ
- แก้ว อัจฉริยะกุล ผู้จัดละครเวที
- ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต
- ดร.เด่น อยู่ประเสริฐ คณบดีวิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต
- ดร.ชวลิต วิทยานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านปลาน้ำจืด
- ณัฐ ยนตรรักษ์ นักประพันธ์เพลงระดับนานาชาติ
- ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักการทูต
นักธุรกิจ
- เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ นักธุรกิจและผู้ก่อตั้งโรงเรียนศรีวิกรม์
- บุญชัย เบญจรงคกุล ผู้ก่อตั้งบริษัท ดีแทค
- กฤษดา สุโกศล แคลปป์ นักธุรกิจและนักแสดง
- โชคชัย บูลกุล ผู้บุกเบิกกิจการ ฟาร์มโชคชัย
นักการเมือง
- พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล
- พานทองแท้ ชินวัตร
- อัมรินทร์ สิมะโรจน์ นักธุรกิจ,นักแสดง,นักการเมือง
- สมชาย เบญจรงคกุล
- อาทิตย์ อุไรรัตน์
- ผดุง ลิ้มเจริญรัตน์
นักกีฬา
- อดิศักดิ์ ไกรษร นักฟุตบอลทีมชาติไทย
- ธีรเทพ วิโนทัย นักฟุตบอลทีมชาติไทย
- ศิวกรณ์ เตียตระกูล นักฟุตบอลทีมชาติไทย
- โชคทวี พรหมรัตน์ นักฟุตบอลทีมชาติไทย
- สุริยะ อมตเวทย์ นักฟุตบอลทีมชาติไทย
- ธฤติ โนนศรีชัย นักฟุตบอลทีมชาติไทย
- สุธี สุขสมกิจ นักฟุตบอลทีมชาติไทย
- เจนรบ สำเภาดี นักฟุตบอลทีมชาติไทย
- ธนา ชะนะบุตร นักฟุตบอลทีมชาติไทย
- ณัฐวีร์ กล่อมพงษ์ นักเทควันโดทีมชาติไทย
- รวิพล สง่าวรวงศ์ นักกีฬาว่ายน้ำทีมชาติไทย
บุคคลในวงการบันเทิง
- เจตริน วรรธนะสิน นักร้อง - นักแสดง
- วิศาล ดิลกวณิช ผู้ประกาศข่าว
- ทรงสิทธิ์ รุ่งนพคุณศรี นักแสดง
- สหรัถ สังคปรีชา นักร้อง - นักดนตรี - นักแสดง
- ดร.ตระการ พันธุมเลิศรุจี นักแสดง
- ฌอห์น จินดาโชติ นักแสดง
- รณเดช วงศาโรจน์ นักร้อง - นักแสดง
- ชนกันต์ รัตนอุดม นักร้อง นักดนตรี นักแต่งเพลง
- เจษฎ์พิพัฒ ติละพรพัฒน์ นักแสดง
- ชินวุฒิ อินทรคูสิน นักร้อง - นักแสดง
- ชานน สันตินธรกุล นักแสดง
- จักริน กังวานเกียรติชัย นักร้อง - นักแสดง
- วศิน อัศวนฤนาท นักแสดง - ผู้ประกาศข่าว
- กพล ทองพลับ ดีเจ - พิธีกร
- วรุฒ วรธรรม นักแสดง
- เพ็ญเพชร เพ็ญกุล นักแสดง
- พีระ เทศวิศาล นักร้อง
- ยุกต์ ส่งไพศาล นักแสดง
- หฤษฎ์ ชีวการุณ นักแสดง
- สาริน รณเกียรติ นักแสดง
- ศักดิ์สิทธิ์ เวชสุภาพร นักร้อง - นักแสดง
- จิรวิชญ์ พงษ์ไพจิตร นักร้อง
- เผ่าเพชร เจริญสุข นักร้อง - นักแสดง
- ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ นักร้อง
- ชนกันต์ พูนศิริวงศ์ นักแสดง
- วิเชียร กุศลมโนมัย ดีเจ - พิธีกร
- เตชธร จามิกรณ์ นักแสดง
- สุรเกียรติ บุนนาค นักแสดง
- ศดานนท์ ดุรงคเวโรจน์ นักแสดง
- ตรัย นิ่มทวัฒน์ นักแสดง
- ภรภัทร ศรีขจรเดชา นักแสดง
- เอกวรัญญู อัมระปาล พิธีกรช่อง VoiceTV, โฆษกผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
- ธนวินท์ ผลเจริญรัตน์ นักแสดง
- ณัฐธวัช อิงควิธาน ผู้ประกาศข่าว
อ้างอิง
- ↑ https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=2924063597626779&id=557771550922674
- ↑ ผังองค์กร โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย
- ↑ https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=2924063597626779&id=557771550922674
- ↑ "โรงเรียนเก่าแก่ที่สุดของไทย ชาย-หญิง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-11-17. สืบค้นเมื่อ 2014-11-08.
- ↑ สุขุม, ประสงค์ (2003). 150 ปี จากกุฎีจีนถึงประมวญ มิชชันนารีกับการศึกษาไทย. สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. p. 49-53.
- ↑ สุขุม, ประสงค์ (2003). 150 ปี จากกุฎีจีนถึงประมวญ มิชชันนารีกับการศึกษาไทย. สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. p. 58-59.
- ↑ สุขุม, ประสงค์ (2003). 150 ปี จากกุฎีจีนถึงประมวญ มิชชันนารีกับการศึกษาไทย. สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. p. 77.
- ↑ สุขุม, ประสงค์ (2003). 150 ปี จากกุฎีจีนถึงประมวญ มิชชันนารีกับการศึกษาไทย. สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. p. 78-79.
- ↑ สุขุม, ประสงค์ (2003). 150 ปี จากกุฎีจีนถึงประมวญ มิชชันนารีกับการศึกษาไทย. สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. p. 98-104.
- ↑ สุขุม, ประสงค์ (2003). 150 ปี จากกุฎีจีนถึงประมวญ มิชชันนารีกับการศึกษาไทย. สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. p. 114-115.
- ↑ สุขุม, ประสงค์ (2003). 150 ปี จากกุฎีจีนถึงประมวญ มิชชันนารีกับการศึกษาไทย. สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. p. 154.
- ↑ "ทำเนียบผู้บริหารโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-09-29. สืบค้นเมื่อ 2014-11-08.
- ↑ สุขุม, ประสงค์ (2003). 150 ปี จากกุฎีจีนถึงประมวญ มิชชันนารีกับการศึกษาไทย. สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. p. 105-106.
- ↑ อรรฆภิญญ์, พิษณุ (2001). 150 ปี คบเพลิงบีซีซี. โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย. p. 160.
- ↑ หนังสืออนุสรณ์โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย รุ่น 132 ปี - BCC 132 Anniversary Year Book
- ↑ "BCC ดีเด่น รางวัล "อารีย์ เสมประสาท"". สมาคมศิษย์เก่ากรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย (BCCAA).
ดูเพิ่ม
- หอประวัติศาสตร์โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย
- สปิริตบีซีซี เก็บถาวร 2023-11-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- จตุรมิตรสามัคคี
- BCC Boys' Choir
- สโมสรฟุตบอลกรุงเทพคริสเตียน
แหล่งข้อมูลอื่น
- โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย
- สมาคมศิษย์เก่ากรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย
- สโมสรฟุตบอลกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย เก็บถาวร 2014-03-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Jaturamitr.com เว็บไซต์อย่างเป็นทางการ เก็บถาวร 2011-07-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- รายละเอียด รูปภาพ ฯลฯ เกี่ยวกับโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์