โรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
โรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช Kanlayaneesithammarat School | |
---|---|
ที่ตั้ง | |
พิกัด | 8°25′48.143″N 99°57′48.464″E / 8.43003972°N 99.96346222°E |
ข้อมูล | |
ชื่ออื่น | ก.ณ. / K.N. |
ประเภท | โรงเรียนรัฐบาล สังกัด สพฐ. - โรงเรียนประจำจังหวัดของรัฐ - โรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ |
คำขวัญ | ปญฺญา โลกสฺมิ ปชฺ โชโต (ปัญญาเป็นแสงสว่างในโลก) เรียนดี ฝีมือเยี่ยม เปี่ยมคุณธรรม นำสังคม |
สถาปนา | 1 มิถุนายน พ.ศ. 2461 (106 ปี) |
ผู้ก่อตั้ง | พระครูเหมเจติยานุรักษ์ (ห้องกิ้ม วุฑฺฒิงฺกโร) |
หน่วยงานกำกับ | สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 12, สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, กระทรวงศึกษาธิการ |
รหัส | 1080210775 - รหัส Smis 8 หลัก : 80012002 - รหัส Obec 6 หลัก : 210775 |
ผู้อำนวยการ | นายสมพงษ์ ปานหงษ์ |
ระดับปีที่จัดการศึกษา | ช่วงชั้นที่ 3 และ 4 (มัธยมศึกษาตอนต้นและปลาย) |
สี | ขาว น้ำเงิน |
เพลง | |
ต้นไม้ | ต้นจัน ต้นราชพฤกษ์ ต้นสน |
เว็บไซต์ | www.kanlayanee.ac.th |
โรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช เป็นโรงเรียนประจำจังหวัดนครศรีธรรมราชประเภทโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษเปิดสอนทั้งในระดับ มัธยมศึกษาตอนต้น และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ เปิดสอนครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2461 ณ วัดท่ามอญ (ศรีทวี) โดยมี[1] พระครูเหมเจติยานุรักษ์ (ห้องกิ้ม วุฑฺฒิกโร) สมณศักดิ์เดิมคือ “พระครูศรีสุธรรมรัต” เจ้าอธิการวัดท่ามอญเป็นผู้อุปการะ ต่อมาได้ยกระดับเป็น โรงเรียนสตรีประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช และย้ายมายังที่ปัจจุบันเมื่อ พ.ศ. 2478 มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช ในปัจจุบัน โรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราชยืนหยัดอยู่อย่างสง่างามคู่นครศรีธรรมราชมามากกว่า 106 ปี สร้างสรรค์คุณประโยชน์อันยิ่งใหญ่ต่อเยาวชน สังคม ประเทศชาติ มาจนถึงปัจจุบันและยังเป็นโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสอบเข้าสูงที่สุดเป็นอันดับ1ในจังหวัดนครศรีธรรมราช
ประวัติโรงเรียน
[แก้]เดิมโรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราชแห่งนี้เป็นโรงเรียนหญิงล้วนซึ่งอยู่คู่กับโรงเรียนเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช (ซึ่งเป็นโรงเรียนชายล้วน) เป็นเวลามาช้านาน ประจำ มณฑลนครศรีธรรมราช หลังจากนั้นได้ปรับเปลี่ยนเป็นโรงเรียนสหศึกษา
จากอดีตถึงปัจจุบัน ตั้งแต่ พ.ศ. 2461 ถึงปัจจุบัน โรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช ยืนหยัดอยู่คู่กับจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นเวลายาวนานกว่า 100 ปี เป็นเวลาแห่งความองอาจ สง่างาม และการบำเพ็ญกรณีย์ที่ก่อให้เกิดประโยชน์อันยิ่งใหญ่ต่อการสร้างสรรค์ และพัฒนาประเทศชาติ
หากจะแบ่งช่วงของประวัติศาสตร์และความเจริญก้าวหน้าของโรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช สามารถแบ่งได้เป็น 3 ยุคคือ
ยุคบุกเบิก
[แก้]ก่อนจะมาเป็นโรงเรียนสตรีประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช และ โรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช ในปัจจุบันโรงเรียนได้เริ่มก่อตั้ง และมีวิวัฒนาการมาตามลำดับดังนี้
พ.ศ. 2461 แผนกสตรีของโรงเรียนประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้เปิดสอนอยู่ที่วัดท่ามอญ (วัดศรีทวี) ตำบลท่าวัง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีพระครูศรีสุธรรมรัต (ห้องกิ้ม วุฑฺฒิงกโร) เจ้าอธิการวัดเป็นผู้อุปการะหรือเรียกอีกนัยหนึ่งว่าเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียน เปิดสอนตั้งแต่ชั้นมูลชั้นประถมปีที่1 ถึง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ดังที่ปรากฏข้อมูลในประวัติวัดศรีทวีว่า "พระครูศรีสุธรรมรัต หรือ พระครูเหมเจติยานุรักษ์ (ห้องกิ้ม วุฑฺฒึงกโร) ในสมัยของท่านนี้ ท่านได้พัฒนาสร้างความเจริญให้กับวัดท่ามอญ เช่น อุโบสถ กุฎีที่พักสงฆ์ และที่สำคัญได้สร้างโรงเรียนวัดท่ามอญเพื่อให้เด็กผู้หญิงได้ศึกษาเล่าเรียนเช่นเดียวกับเด็กผู้ชาย ซึ่งเด็กผู้ชายได้เรียนที่วัดท่าโพธิ์ และโรงเรียนวัดท่ามอญในครั้งนั้นเป็นที่มาของโรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราชในปัจจุบันนี้ โรงเรียนวัดท่าโพธิ์ในครั้งนั้นเป็นที่มาขอโรงเรียนเบญจมราชูทิศในปัจจุบันนี้ "
พ.ศ. 2468 เริ่มเปิดสอนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และได้ขยายถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในปีต่อๆมา ในระดับนี้รับเฉพาะนักเรียนหญิง
พ.ศ. 2473 มีใบบอก (หนังสือราชการ) ที่219/1550 ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2473 จากรองอำมาตย์เอกขุนดำรงเทวฤทธิ์ (เรือง โรจนหัสดิน) ถึงมหาอำมาตย์ตรีพระยาศรีธรรมราช ชาติเดโชชัย มไหศุริยาธิบดี พิริยพาหะ (ทองคำ กาญจนโชติ) สมุหเทศภิบาลสำเร็จราชการมณฑลนครศรีธรรมราช เรื่องการแยกโรงเรียนรัฐบาลประจำจังหวัดออกเป็น 3 โรงเรียน และมีครูใหญ่ 3 คน สาระสำคัญของใบบอกนี้มีว่า โรงเรียนรัฐบาลประจำจังหวัด นครศรีธรรมราชตามทำเนียบในขณะนั้น มีอยู่ 3 แผนก คือ แผนกชาย แผนกสตรี และแผนกช่างถม แต่มีครูใหญ่เพียงคนเดียว ทำให้การควบคุมดูแลไม่ทั่วถึง มีความบกพร่องเกิดขึ้นในทางราชการ ดังนั้น จึงขอเสนอเพื่อแยกโรงเรียนรัฐบาลประจำจังหวัดออกเป็น 3 โรงเรียนคือ
1. โรงเรียนรัฐบาลประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช (เบญจมราชูทิศ) ให้รองอำมาตย์ตรีมี จันทร์เมือง เป็นครูใหญ่
2. โรงเรียนสตรีประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช ให้นายคลิ้ง ขุนทรานนท์ เป็นครูใหญ่
3. โรงเรียนประถมวิสามัญประจำจังหวัดนครศรีธรรมราชให้นายกลั่น จันทรังษี เป็นครูใหญ่
ในวันที่ 29 พฤษภาคม 2473 คำเสนอขอแยกโรงเรียนนี้ ได้รับอนุมัติจากอำมาตย์โทพระยาวิฑูรย์ดรุณกร (วารี ชิตวารี) ธรรมการมณฑลนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2473 (ตามตราสิงห์ยืนแท่นที่ 64/382 ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2473) ส่งผลให้แผนกสตรีของโรงเรียนประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้แยกเป็น “โรงเรียนสตรีประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช” นับแต่นั้นมา โดยมีนายคลิ้ง ขุนทรานนท์ เป็นครูใหญ่
พ.ศ. 2478 โรงเรียนได้แยกชั้นเรียน คือชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6ให้ย้ายมาเรียนยังเลขที่ 660 ถนนราชดำเนิน ตำบลคลัง อำเภอเมือง ตรงข้ามสนามหน้าเมือง ใกล้กับบริเวณจวนผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงเรียนในปัจจุบัน โดยใช้เรือนไม้ 3 หลังเรียกว่า "พลับพลา" เป็นสถานที่เรียน (พลับพลานี้คือ ที่พักของผู้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อคราวเสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต
ยุคก่อร่างสร้างตัว
[แก้]พ.ศ. 2480 เริ่มก่อสร้างอาคารเรียนหลังแรก พระยาสุราษฎร์ธานีศรีเกษตรนิคม (เต่า ศตะกุรมะ) ข้าหลวงประจำจังหวัด พร้อมด้วย ขุนบูรณวาท (พร้อย ณ นคร) ธรรมการจังหวัด และหลวงอถรรปกรณ์โกศล อัยการจังหวัด ได้ขอความอนุเคราะห์จากคหบดีเจ้าของเหมืองแร่ที่อำเภอร่อนพิบูลย์ ชื่อนายอึ่งค่ายท่าย แซ่อึ่ง บริจาคเงินเพื่อสร้างอาคารเรียนให้โรงเรียนสตรีประจำจังหวัด ซึ่งท่านได้บริจาคเป็นจำนวน 30,000 บาท สมทบกับเงินงบประมาณของกระทรวงธรรมการ 12,000 บาท รวมค่าก่อสร้าง 42,000 บาท การก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2482 อาคารเรียนหลังนี้ชื่อว่า "อาคารอึ่งค่ายท่าย" เป็นอาคารเรียนหลังแรกของโรงเรียนที่ภูมิฐานสง่างาม มาตราบจนปัจจุบัน
พ.ศ. 2490 โรงเรียนได้ขยายชั้นเรียนเปิดรับนักเรียนชั้นเตรียมอักษรศาสตร์ ปีที่ 1 และ ปีที่ 2 ในปีถัดมา สมัยนั้น เรียกว่า ม.7 และ ม.8
พ.ศ. 2495 กระทรวงศึกษาธิการได้อนุมัติให้เปลี่ยนชื่อจาก“โรงเรียนสตรีประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช” เป็น “โรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช” เปิดสอนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-8
พ.ศ. 2503 ได้สร้างอาคารเรียนหลังที่ 2 พ.ศ. 2505 เริ่มรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 (ม.ศ.1) ตามหลักสูตรพุทธศักราช 2503
ยุคก้าวไกล
[แก้]พ.ศ. 2511 ได้รับพิจารณาให้เป็นโรงเรียนในโครงการปรับปรุงโรงเรียนมัธยมในชนบท (คมช.)
พ.ศ. 2519 รับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 (ม.1) รับแบบ สหศึกษา และได้ที่ดินอันเป็นที่ตั้งของ โรงเรียนเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราชเดิม เป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียน จึงแยกออกเป็น 2 บริเวณ เรียกว่า กณ.1 และ กณ.2
หลังจากนั้นโรงเรียนก็ได้รับงบประมาณปรับปรุง สร้างอาคารเรียนหลายอาคารเพิ่มขึ้น
ขนาดโรงเรียน
[แก้]โรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราชตั้งอยู่ ณ 660 ถ.ราชดำเนิน ต.คลัง อ.เมืองนครศรีธรรมราช จ.นครศรีธรรมราช
- ทิศตะวันตกอยู่ตรงข้ามกับสนามหน้าเมืองนครศรีธรรมราช
- ทิศตะวันออกติดกับถนนศรีปราชญ์
- ทิศเหนืออยู่ตรงข้ามกับ โรงเรียนอนุบาลนครศรีธรรมราช "ณ นครอุทิศ"
- ทิศใต้ ติดกับศาลาประดู่หก
โรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช แบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง
- ฝั่งก.ณ.1 มีเนื้อที่ 10 ไร่ 2 งาน 28 ตารางวา
- ฝั่งก.ณ.2 มีเนื้อที่ ประมาณ 5 ไร่เศษ
ทำเนียบผู้บริหาร
[แก้]นับแต่ปี พ.ศ. 2466 เป็นต้นมา โรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช มีผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารมาแล้ว ดังนี้
ลำดับ | ตำแหน่ง | รายนามผู้บริหาร | วาระการดำรงตำแหน่ง |
---|---|---|---|
1. | ครูใหญ่ | นายเลื่อน ทองธวัช | พ.ศ. 2466 |
2. | ครูใหญ่ | นายมี จันทร์เมือง | (พ.ศ. 2467 - พ.ศ. 2473) |
3. | ครูใหญ่ | นายคลิ้ง ขุนทรานนท์ | พ.ศ. 2473 |
4. | ครูใหญ่ | นางสาวอัมพร เผื่อนพงษ์ | (พ.ศ. 2474 - พ.ศ. 2476) |
5. | ครูใหญ่ | นางสาวซ่วนจู้ อุ่ยสกุล | (พ.ศ. 2476 - พ.ศ. 2477) |
6. | อาจารย์ใหญ่ | นางภูเก็ต อาจอนามัย | (พ.ศ. 2477 - พ.ศ. 2483) |
7. | อาจารย์ใหญ่ | นางนวลละออ ลีละพันธ์ | (พ.ศ. 2483 - พ.ศ. 2512) |
8. | อาจารย์ใหญ่ | นางสุวนีย์ ตันตยาภรณ์ | (พ.ศ. 2513 - พ.ศ. 2518) |
9. | ผู้อำนวยการ | นางสาวเสาวลักษณ์ ศรีวัชรินทร์ | (พ.ศ. 2518 - พ.ศ. 2526) |
10. | ผู้อำนวยการ | นางกรองทอง ด้วงสงค์ | (พ.ศ. 2526 - พ.ศ. 2535) |
11. | ผู้อำนวยการ | นางอรุณ นนทแก้ว | (พ.ศ. 2535 - พ.ศ. 2536) |
12. | ผู้อำนวยการ | นายสวงค์ ชูกลิ่น | (พ.ศ. 2536 - พ.ศ. 2541) |
13. | ผู้อำนวยการ | นายวิญญู ใจอารีย์ | (พ.ศ. 2541 - พ.ศ. 2543) |
14. | ผู้อำนวยการ | นายอนันต์ สุนทรานุรักษ์ | (พ.ศ. 2543 - พ.ศ. 2547) |
15. | ผู้อำนวยการ | นายอุส่าห์ ศิวาโมกข์ | (พ.ศ. 2547 - พ.ศ. 2552) |
16. | ผู้อำนวยการ | นายสุพจน์ อภิศักดิ์มนตรี | (พ.ศ. 2552 - พ.ศ. 2557) |
17. | ผู้อำนวยการ | นายประดับ แก้วนาม | (พ.ศ. 2558 - พ.ศ. 2559) |
18. | ผู้อำนวยการ | ดร.ส.สมบัติ มีสุนทร | (พ.ศ. 2559 - พ.ศ. 2563) |
19. | ผู้อำนวยการ | นายสง่า นาวารัตน์ | (พ.ศ. 2563 - พ.ศ. 2567) |
20. | ผู้อำนวยการ | นายสมพงษ์ ปานหงษ์ | (พ.ศ. 2567 - ปัจจุบัน) |
โบราณสถานสำคัญประจำโรงเรียน
[แก้]บทความนี้หรือส่วนนี้ของบทความต้องการปรับรูปแบบ ซึ่งอาจหมายถึง ต้องการจัดรูปแบบข้อความ จัดหน้า แบ่งหัวข้อ จัดลิงก์ภายใน และ/หรือการจัดระเบียบอื่น ๆ คุณสามารถช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้โดยการกดที่ปุ่ม แก้ไข ด้านบน จากนั้นปรับปรุงหรือจัดรูปแบบอื่น ๆ ในบทความให้เหมาะสม |
อนุสรณ์สถานศรีปราชญ์
[แก้]อนุสรณ์สถานศรีปราชญ์ ตั้งอยู่ภายในโรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช ฝั่งก.ณ.1 ประกอบด้วยสระล้างดาบศรีปราชญ์และอนุสาวรีย์ศรีปราชญ์
สระล้างดาบศรีปราชญ์ถือกันตามตำนานว่าเป็นอนุสรณ์การตายของศรีปราชญ์ ผู้เป็นกวีเอกในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา แต่ถูกเนรเทศมาอยู่ ณ เมืองนครศรีธรรมราช ต่อมาเกิดมีความขัดเคืองใจแก่เจ้านครศรีธรรมราช จึงถูกสั่งประหาร หลังจากประหารศรีปราชญ์แล้วเพชฌฆาตได้นำดาบมาล้างที่สระแห่งนี้ เล่ากันว่าแต่เดิมสระล้างดาบมีขนาดใหญ่มากคือตั้งแต่บริเวณหลังจวนผู้ว่าราชการจังหวัดปัจจุบัน จนถึงหลังโรงเรียนอนุบาลนครศรีธรรมราช แต่ต่อมาเกิดความตื้นเขิน และบางส่วนทางเทศบาลจำเป็นต้องถมเพื่อตัดถนน จึงเหลือให้เห็นเพียงสระที่อยู่ในเขตโรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราชเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ขุนอาเทศคดี ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเมืองนครได้แย้งว่า สระดังที่กล่าวนั้นหาใช้สระล้างดาบศรีปราชญ์ไม่ หากเป็นสระที่ขุดขึ้นใหม่ใน พ.ศ. 2448 เพื่อให้เจ้านายฝ่ายในที่ยังทรงพระเยาว์ได้พายเรือเล่น ทั้งยังได้ยืนยันว่า สระล้างดาบศรีปราชญ์แท้จริงนั้น อยู่บริเวณหลังศาลาประดู่หก แต่ในปี พ.ศ. 2476 ถูกถมเพื่อสร้างที่ทำการและที่พักข้าหลวงภาค 8 ซึ่งในปัจจุบันเป็นที่ตั้งบ้านพักประมงจังหวัด และศูนย์จักรกลขององค์การบริหารส่วนจังหวัด
ด้วยความที่สระล้างดาบศรีปราชญ์บริเวณโรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช เป็นเพียงสถานที่เดียวในจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่บ่งบอกถึงเหตุการณ์การประหารชีวิตศรีปราชญ์ในครั้งนั้น ประกอบกับการที่ชาวกัลยาณีศรีธรรมราชและชาวเมืองนครศรีธรรมราช ให้ความเคารพสักการะศรีปราชญ์ ว่าเป็นบรมครูแห่งกานท์กลอนคนหนึ่งของประเทศ จึงทำให้ทุกองค์กรในโรงเรียน และจังหวัด เห็นพ้องต้องกันว่าสมควรสร้างอนุสาวรีย์ศรีปราชญ์ จึงร่วมกันประสานงานเพื่อจัดสร้างอนุสาวรีย์ศรีปราชญ์โดยกรมศิลปากรเป็นผู้ออกแบบรูปหล่อโลหะ และ ทำพิธีทางศาสนา พราหมณ์และพุทธ โดยประดิษฐานอนุสาวรีย์ ณ ทิศหรดีแห่งสระล้างดาบศรีปราชญ์ ซึ่งอนุสรณ์ศรีปราชญ์ ได้ดำเนินการแล้วเสร็จในสมัยผู้อำนวยการอนันต์ สุนทรานุรักษ์
ในวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอนุสาวรีย์ศรีปราชญ์ ยังความปลาบปลื้มแก่ชาวกัลยาณีศรีธรรมราชและชาวนครศรีธรรมราชเป็นล้นพ้น
พระวิหารสูง หรือ หอพระสูง
[แก้]หอพระวิหารสูง หรือชาวกัลยาณีศรีธรรมราชเรียกกันว่า ”พระสูง” นั้นประดิษฐานอยู่ในโรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช ฝั่งก.ณ.2
เป็นปูชนียสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของเมืองนครศรีธรรมราช ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองโบราณนครศรีธรรมราชด้านทิศเหนือในบริเวณสนามหน้าเมือง ใกล้สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ถนนราชดำเนิน เรียกชื่อตามลักษณะของการก่อสร้างของพระวิหารซึ่งสร้างบนเนินดินที่สูงกว่าพื้นปกติถึง 2.10 เมตร ไม่ปรากฏหลักฐานแสดงประวัติอย่างแท้จริง แต่สามารถสันนิษฐานจากลักษณะของสถาปัตยกรรม และจิตรกรรมฝาผนังว่าสร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ภายในพระวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นแกนดินเหนียว สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพุทธศตวรรษที่ 23–24 หรือในสมัยอยุธยาตอนปลาย
ยังไม่ปรากฏหลักฐานทางเอกสารแน่ชัดเกี่ยวกับประวัติการสร้างหอพระสูงแห่งนี้ แต่มีเรื่องเล่าของชาวบ้านที่บอกเล่าต่อ ๆ กันมาว่า เนินดินขนาดใหญ่เป็นที่ประดิษฐานหอพระสูงนั้น ชาวบ้านได้ช่วยกันขุดดินจากบริเวณคลองหน้าเมืองมาถมเป็นเนินขนาดใหญ่เพื่อใช้ตั้งปืนใหญ่ในการสกัดกั้นทัพพม่า ในคราวที่ได้มีการยกทัพใหญ่ลงมาตีหัวเมืองหน้าด่านต่าง ๆ ทางภาคใต้ ตั้งแต่มะริด ถลาง ไชยา จนถึงนครศรีธรรมราช บริเวณสนามหน้าเมืองน่าจะเป็นสนามรบและตั้งทัพตามกลยุทธ์ในการจัดทัพออกศึก เพื่อต่อสู้ประจัญบาน ต่อมาบริเวณแห่งนี้กลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ได้มีการก่อสร้างพระพุทธรูปเพื่อเป็นที่เคารพสักการบูชา และได้สร้างวิหารครอบองค์พระพุทธรูปในเวลาต่อมา
รูปแบบสถาปัตยกรรม เป็นอาคารทรงไทยรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่ออิฐถือปูนขนาดกว้าง 5.90 เมตร ยาว 13.20 เมตร สูง 3.50 เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันออก หลังคาเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้องดินเผาผนังด้านข้างเยื้องมาทางด้านหน้าทั้งสองด้านเจาะเป็นกรอบหน้าต่าง ทำช่องรับแสงในกรอบเป็นรูปกากบาท ฐานชั้นล่างก่อด้วยอิฐเป็นตะพัก 4 ชั้น ด้านหน้าทางขึ้นเป็นบันไดต่อจากเนินเข้าไปยังพระวิหาร
รูปแบบประติมากรรม ได้แก่ องค์พระพุทธรูปประธาน ปางมารวิชัย แกนพระพุทธรูปทำด้วยดินเหนียวโบกปูนปั้น องค์พระภายนอกขนาดหน้าตักกว้าง 2.40 เมตร สูง 2.80 เมตร ลักษณะอวบอ้วน พระพักตร์เป็นรูปสี่เหลี่ยม พระขนงโก่ง พระนาสิกงุ้ม พระโอษฐ์เป็นรูปคันศร พระศอเป็นริ้ว พระกรรณห้อยต่ำอยู่ใต้พระศก พระเกศาเกล้าเป็นมวย เม็ดพระศกเป็นขมวดปนเล็ก ยอดพระเกตุมาลาอาจหักหายไปครองผ้าสังฆาฏิเฉียงจากพระอังสาซ้ายมาจรดพระนาภี ศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงวินิจฉัยว่าควรจัดอยู่ในสมัยพุทธศตวรรษที่ 23 - 24 สมัยอยุธยาตอนปลาย หรือรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ทางด้านหลังขอหอพระสูงพบพุทธรูปหินทรายแดง ปางมารวิชัย เศียรหักหายไป ส่วนฐานมีจารึกภาษาขอม รูปแบบจิตรกรรมฝาผนัง เขียนเป็นรูปดอกไม้ห้อยลง กลีบดอกเขียนด้วยสีน้ำตาลจำนวน 8 กลีบ ด้านดอกเขียนสีน้ำเงินหรือสีคราม ส่วนก้านเกสรเป็นลายไทย ดูอ่อนช้อยสวยงาม ส่วนใต้ฐานพระพุทธรูปเป็นลายจีน เข้าใจว่าคงเขียนขึ้นภายหลัง รูปแบบของจิตรกรรมฝาผนังคล้ายงานเขียนในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นที่มีอิทธิพลจีนเข้ามาปะปนผสมกับลวดลายไทย
อาคารของโรงเรียน
[แก้]โรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช แบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง
ฝั่งกัลยาณี 1
[แก้]มีเนื้อที่ 10 ไร่ 2 งาน 28 ตารางวา มีอาคารดังนี้
- อาคาร 1 หรือเรียกว่า อาคารอึ่งค่ายท่าย เป็นอาคาร 2 ชั้น
- อาคาร 2 (อาคาร EP) เป็นอาคารพิเศษ 4 ชั้น สีส้ม ซึ่งติดตั้งเครื่องปรับอากาศทั้งอาคาร
- อาคาร 3 อาคาร 7 ชั้น
- อาคาร 4 หรือเรียกกันว่า อาคารกวีศรีปราชญ์ เป็นอาคาร 2 ชั้น
- อาคาร 5เป็นอาคาร 4 ชั้น ที่ติดตั้งเครื่องปรับอากาศทั้งอาคาร
- อาคาร 6 (อาคารวิทย์) เป็นอาคาร 3 ชั้น
- อาคาร 7 (อาคาร SMGP) เป็นอาคาร 7 ชั้น
ฝั่งกัลยาณี 2
[แก้]มีเนื้อที่ ประมาณ 5 ไร่เศษ มีอาคารดังนี้
- โรงฝึกงานเกษตร
- โรงฝีกงานคหกรรม และ ห้องดนตรีสากล วงโยธวาฑิต
- โรงฝึกงานอุตสาหกรรม และ ห้องดนตรีไทย
- โรงฝึกวิชาพลศึกษา (โรงยิมส์) และ ห้องพักครูกลุ่มสาระการเรียนรู้พลศึกษา
- เรือนเพาะชำ
- อาคารสมาคมฯ กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ (นาฏศิลป์)
รวมอาคารเรียนทั้งหมด 7 หลัง โรงฝึกงาน 4 หลัง
หลักสูตรที่เปิดสอน
[แก้]ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น
[แก้]- โครงการห้องเรียนพิเศษ
- โครงการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการเป็นภาษาอังกฤษ (English Program : EP) ระดับชั้นละ 2 ห้อง (60 คน)
- โครงการพัฒนานักเรียนความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (Science and Mathematics Gifted Program : SMGP) ระดับชั้นละ 2 ห้อง (72 คน)
- โครงการห้องเรียนปกติ
- ห้องเรียนปกติ ระดับชั้นละ 8 ห้อง (320 คน)
- ห้องเรียนภาษาอังกฤษเพื่อการศึกษาแบบบูรณาการ (English for Integrated Studies : EIS) ระดับชั้นละ 1 ห้อง (40 คน)
ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย
[แก้]- โครงการห้องเรียนพิเศษ
- โครงการพัฒนาประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาค (Education Hub)
- แผนการเรียนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ สองภาษา (Science and Mathematics Bilingual Program : Hub-SMBP) ระดับชั้นละ 1 ห้อง (25 คน)
- แผนการเรียนพหุภาษา (Multilingual Program : Hub-MP) ระดับชั้นละ 1 ห้อง (25 คน)
- โครงการพัฒนานักเรียนความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (Science and Mathematics Gifted Program : SMGP) ระดับชั้นละ 1 ห้อง (30 คน)
- โครงการห้องเรียนพิเศษด้านภาษาญี่ปุ่น (Japanese Program : JP) ระดับชั้นละ 1 ห้อง (30 คน)
- โครงการห้องเรียนพิเศษด้านภาษาจีน (Chinese Program : CP) ระดับชั้นละ 1 ห้อง (30 คน)
- โครงการพัฒนาประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาค (Education Hub)
- โครงการห้องเรียนปกติ
- แผนการเรียนวิทยาศาสตร์ - คณิตศาสตร์ ระดับชั้นละ 4 ห้อง (160 คน)
- แผนการเรียนศิลป์ - คณิตศาสตร์ ระดับชั้นละ 2 ห้อง (80 คน)
- แผนการเรียนศิลป์ - ภาษาไทย - สังคมศึกษา ระดับชั้นละ 2 ห้อง (80 คน)
กิจกรรมประจำโรงเรียน
[แก้]- พิธีสักการะพระพุทธรูปประจำโรงเรียน พิธีบูชาพระวิหารสูง พิธีเคารพยุวกษัตริย์ พิธีสดุดีครูกวีศรีปราชญ์ และพิธีรำลึกคุณคหบดีอึ่งค่ายท่าย
- งานคืนสู่เหย้าชาวกัลยาณีฯ เรียกว่า"งานคืนสู่ร่มจัน กัลยาณีฯ" โดยสมาคมศิษย์เก่ากัลยาณีศรีธรรมราช และ ศิษย์เก่าทุกรุ่น
- งานศิลปหัตถกรรมนักเรียน
และมีอีกหลายกิจกรรมซึ่งบูรณการเข้ากับ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้
ศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง
[แก้]- สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- สุพัตรา มาศดิตถ์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาล นายชวน หลีกภัย
- สุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ DSI กระทรวงยุติธรรม
- พวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน
- รัชนก ศรีโลพันธุ์ เจ้าของผลงานเพลง "เขียนฝันไว้ข้างฝา"
- พะเยาว์ พัฒนพงศ์ นักพูดผู้ที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย
- จำลอง ฝั่งชลจิตร นักเขียนอิสระเจ้าของฉายา"ลอง เรื่องสั้น"
- จำรัส ฤทธิเดช นักกรีฑาทีมชาติไทย
- ฟิล์ม ณรินทิพย์ นักร้องค่าย อาร์สยาม
- ทราย อาร์สยาม (นววรรณ นนทโชติ) นักร้องค่าย อาร์สยาม
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- เว็บไซต์โรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช เก็บถาวร 2007-03-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- เว็บไซต์สมาคมศิษย์เก่ากัลยาณีศรีธรรมราช เก็บถาวร 2013-04-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Facebook โรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช https://www.facebook.com/KANLAYANEE.SI.THAMMARAT.SCHOOL/
- โครงการพัฒนาประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาค เก็บถาวร 2022-01-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-12-11. สืบค้นเมื่อ 2019-12-11.