โรงเรียนวาปีปทุม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โรงเรียนวาปีปทุม
Wapipathum School

Wapipathum School
ตราประจำโรงเรียนวาปีปทุม
ที่ตั้ง
แผนที่
303/25 ถนนมหาสารคาม-วาปีปทุม ตำบลหนองแสง อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม 44120
พิกัด15°50′57″N 103°22′34″E / 15.849276°N 103.376155°E / 15.849276; 103.376155พิกัดภูมิศาสตร์: 15°50′57″N 103°22′34″E / 15.849276°N 103.376155°E / 15.849276; 103.376155
ข้อมูล
ชื่ออื่นว.ท. (W.T.)
ประเภทโรงเรียนรัฐบาล - โรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ
คำขวัญลูกเขียวเหลืองเป็นคนดี น้องพี่ผูกพัน
กลฺยา ณ การี กลฺยานํ ปาปการี จ ปาปกํ
(ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว)
สถาปนา17 พฤษภาคม พ.ศ. 2492 (74 ปี 307 วัน)
หน่วยงานกำกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ สหวิทยาเขต 4 พุทธมณฑลเทพปทุม
รหัส1044410618
ผู้อำนวยการดร.ไพทูล พรมมากุล
ระดับปีที่จัดการศึกษามัธยมศึกษา
ภาษาที่ใช้เป็นสื่อการสอนภาษาที่มีการเรียนการสอนในโรงเรียน ไทย ภาษาไทย
สหราชอาณาจักร ภาษาอังกฤษ
จีน ภาษาจีน
เวียดนาม ภาษาเวียดนาม
ญี่ปุ่น ภาษาญี่ปุ่น
พื้นที่42 ไร่ 40 ตารางวา
สี██████ เขียว - เหลือง
ดอกไม้ดอกบัว
เว็บไซต์www.wpt.ac.th

โรงเรียนวาปีปทุม (อักษรย่อ: ว.ท., W.T.) เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาของรัฐบาลแห่งแรกของอำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม (ซึ่งในขณะนั้นมีโรงเรียนเอกชนที่เปิดทำการคือโรงเรียนเรืองวิทยา) ปัจจุบันจัดอยู่ในประเภทโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ รูปแบบสหศึกษา ทำการเรียนการสอนตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับช่วงชั้นที่ 3 และช่วงชั้นที่ 4 เป็นโรงเรียนระดับอำเภอที่จัดเป็นโรงเรียนยอดนิยม และเป็น 1 ใน 3 โรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงของจังหวัดมหาสารคาม[1]มีบุคคลสำคัญทางการศึกษาที่เคยศึกษาคือ ดร.อัมพร พินะสา อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ประวัติโรงเรียน[แก้]

โรงเรียนวาปีปทุมตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2492 เปิดทำการเรียนการสอนครั้งแรก เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2492 โดยอาศัยสถานที่โรงเรียนบ้านหนองแสง (วาปีวิทยาคม) ซึ่งเป็นโรงเรียนประชาบาลประจำอำเภอ (ปัจจุบันคือ โรงเรียนอนุบาลวาปีปทุม) เปิดทำการสอน 1 ห้องเรียน มีนักเรียน 45 คน โดยมีนายจำนง ภวภูตานนท์ เป็นครูใหญ่

ต่อมากระทรวงศึกษาธิการได้จัดสรรงบประมาณ ให้ก่อสร้างอาคารเรียนถาวร จำนวน 1 หลัง มีลักษณะ เป็นอาคารไม้ใต้ถุนสูง จำนวน 6 ห้องเรียน เป็น งบประมาณทั้งสิ้น 150,000 บาท บนเนื้อที่ 42 ไร่ 40 ตารางวา ติดถนนวาปีปทุม-มหาสารคาม เปิดใช้อาคารเรียน เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2493

ในปีการศึกษา 2503 ได้เปิดทำการสอนตามหลักสูตรวิชาสามัญพุทธศักราช 2503 หลังจากนั้น ในปีการศึกษา 2504 ได้เปลี่ยนแปลงหลักสูตรใหม่ตามแผนการศึกษาชาติ จากชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4,5,6 เป็นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1,2,3 ออกปีละชั้น จนกระทั่งสิ้นสุดในปีการศึกษา 2506

ในปีการศึกษา 2521 โรงเรียนเปิดทำการสอนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ตามหลักสูตรมัธยมศึกษา ตอนต้น พุทธศักราช 2521 และเปิดทำการสอนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ตามหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย พุทธศักราช 2524 โดยเปิดทำการสอนตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6

ปีการศึกษา 2545 โรงเรียนวาปีปทุมเป็นโรงเรียนเครือข่ายการใช้หลักสูตรขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4

ปีการศึกษา 2546 ได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระดับกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีการกำหนดเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ 175 เขต สำหรับโรงเรียนวาปีปทุม สังกัดเขตพื้นที่การศึกษามหาสารคาม เขต 2

ปีการศึกษา 2547 โรงเรียนวาปีปทุมมีห้องเรียน 61 ห้องเรียน โดยจัดเป็นช่วงชั้นที่ 3 จำนวน 29 ห้องเรียน และช่วงชั้นที่ 4 จำนวน 30 ห้องเรียน แยกเป็นนักเรียนชาย 1,109 คน นักเรียนหญิง 1,551 คน รวมทั้งสิ้น 2,827คน และครู-อาจารย์อีก 120 คน

ปีการศึกษา 2552 โรงเรียนวาปีปทุมได้รับคัดเลือกจากกระทรวงศึกษาธิการให้รับรางวัลโรงเรียนพระราชทาน ประเภทโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่ เข้ารับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี เมื่อ พ.ศ. 2552 ซึ่งมีนางสุมาลย์ สุรมณี เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน นับเป็นเกียรติประวัติสูงสุดของสถานศึกษา

ปีการศึกษา 2553 โรงเรียนวาปีปทุม ได้รับคัดเลือกเข้าโครงการโรงเรียนมาตรฐานสากล (World-Class Standard School) ซึ่งเป็น 1 ใน 500 โรงเรียนทั่วประเทศ[2]

ที่มาและความหมายของชื่อ[แก้]

ดูเพิ่มเติมที่หัวข้อ ประวัติอำเภอวาปีปทุม

โรงเรียนวาปีปทุม เป็นโรงเรียนประจำอำเภอวาปีปทุม จึงใช้คำว่าวาปีปทุมตามชื่ออำเภอ โดยคำว่าวาปีปทุมมีที่มาจากคำว่า วาปี เป็นคำบาลี[3] หมายความว่า หนองน้ำ สระน้ำ หรือบึง[4] และคำว่า ปทุม (หรือ ปทฺม ในภาษาสันสกฤต) มีความหมายว่า ดอกบัว บัวหลวง[5] เมื่อนำคำทั้งสองมาสมาสกันแล้วจะได้คำว่า วาปีปทุม ซึ่งมีความหมายว่า เมืองหนองน้ำที่มีบัวขึ้นอยู่ [6]

การจัดการศึกษา[แก้]

ในปีการศึกษา 2562 โรงเรียนได้แบ่งห้องเรียนออกเป็นชั้นละ 14 ห้อง ตั้งแต่มัธยมศึกษาปีที่ 1-2 และ 4-5 รวมทั้งสิ้น 56 ห้องเรียน

และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และ 6 มีชั้นละ 12 ห้อง รวมทั้งสิ้น 24 ห้องเรียน รวมทั้งหมดเป็น 80 ห้องเรียน

และในปีการศึกษา 2566 โรงเรียนได้เพิ่มจำนวนห้องเรียนเป็นชั้นละ 14 ห้องเรียน ในทุกระดับชั้น รวมทั้งสิ้น 84 ห้องเรียน

หลักสูตร[แก้]

  • โรงเรียนวาปีปทุมเปิดให้การศึกษาขั้นพื้นฐานระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 (ช่วงชั้นที่ 3-4) ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน แผนการศึกษาแห่งชาติ
  • ปัจจุบัน องค์กรหลักของสถานศึกษาที่มีหน้าที่จัดการเรียนรู้ ได้แก่ กลุ่มสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ รวมแปดกลุ่ม คือ
    • กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย
    • กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ
    • กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์
    • กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
    • กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม
    • กลุ่มสาระการเรียนรู้พลศึกษาและสุขศึกษา
    • กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ
    • กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพ

แผนการเรียน[แก้]

ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น[แก้]

  • แผนการเรียนห้องเรียนทั่วไป จำนวน 12 ห้องเรียน
  • แผนการเรียนโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ ตามแนวทาง สสวท. และ สอวน. จำนวน 1 ห้องเรียน
  • แผนการเรียนโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และคณิตศาสตร์ (SEM) จำนวน 1 ห้องเรียน

ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย[แก้]

  • แผนการเรียนทั่วไป จำนวน 2 ห้องเรียน
  • แผนการเรียนวิทยาศาสตร์ - คณิตศาสตร์ จำนวน 10 ห้องเรียน
  • แผนการเรียนโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี จำนวน 2 ห้องเรียน

ระบบการคัดเลือกเข้าศึกษา[แก้]

สำหรับการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อยังโรงเรียนวาปีปทุม มีอยู่ 2 ประเภทคือ

1. ประเภทโครงการห้องเรียนพิเศษ เป็นการสอบคัดเลือกโดยอิงข้อสอบจากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้ได้นักเรียนเข้าสู่โครงการห้องเรียนพิเศษทั้ง 3 โครงการ โดยแบ่งเป็น

  • ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ ตามแนวทาง สสวท.และ สวอน. และโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ (SEM) รวมทั้ง 2 โครงการ ประมาณ 70 คน
  • ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ ตามแนวทาง สสวท.และ สวอน. อีกประมาณปีละ 65 - 70 คน

โดยจะจัดสอบพร้อมกับโครงการห้องเรียนพิเศษโรงเรียนอื่นๆทั่วประเทศ ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม เป็นประจำทุกปี

2. ประเภทห้องเรียนทั่วไป เป็นการรับนักเรียนรูปแบบปกติ ดำเนินการรับนักเรียนโดยโดยแบ่งได้ดังนี้

  • ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 รับนักเรียนด้วย 3 ระบบคือ การสอบคัดเลือกทั่วไป การจับสลากสำหรับนักเรียนในเขตพื้นที่บริการ และนักเรียนความสารถพิเศษ รวมแล้วประมาณปีละ 500 คน
  • ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 รับนักเรียนด้วย 3 ระบบคือ การใช้โควตานักเรียนโรงเรียนเดิม การสอบคัดเลือกทั่วไป และนักเรียนเงื่อนไขพิเศษ รวมแล้วประมาณปีละ 500 คน[7]

อาคารและสถานที่ภายในสถานศึกษา[แก้]

สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำโรงเรียน[แก้]

  • พระพุทธวาปีศรีปทุม ประดิษฐาน ณ บริเวณลานพระพุทธรูป หลังประตูทางเข้าโรงเรียน เป็นพระพุทธปฏิมา ปางสมาธิ ประจำโรงเรียนวาปีปทุม

อาคารเรียน[แก้]

  • อาคาร 1 หรือ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา เป็นอาคารเรียนแห่งแรกของโรงเรียน เดิมมีลักษณะเป็นอาคารไม้ 2 ชั้น ปัจจุบันได้มีการปรับปรุงใหม่เป็นอาคารผสมโดยมีชั้นล่างเป็นคอนกรีต จัดเป็นห้องสมุดประจำโรงเรียน มีส่วนที่จัดแสดงเพื่อเทิดพระเกียรติแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี และชั้นบนเป็นไม้ จัดเป็นห้องปฏิบัติการทางคอมพิวเตอร์ 1,2 และ 3
  • อาคาร 2 เป็นอาคารคอนกรีต 3 ชั้น ในอดีตอาคารไม้หลังเก่ามี 2 ชั้น เดิมเป็นอาคารหมวดวิชาภาษาต่างประเทศและห้องปฏิบัติการทัศนศิลป์ และมีสภาพอาคารชำรุด ทรุดโทรมและมีปัญหา จึงปิดใช้งานและไม่อนุญาตให้เข้าใช้งานอาคารหลังนี้ตั้งแต่ พ.ศ.2554 จนถึงปี 2563 ทางโรงเรียนได้รับการจัดสรรค์งบประมาณให้ก่อสร้าอาคารหลังใหม่โดยเป็นอาคารสูงสามชั้นใต้ถุนโล่ง และทางโรงเรียนจัดให้อาคาร 2 เป็นอาคารของโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม (SMTE)
  • อาคาร 3 เป็นอาคารศูนย์อำนวยการ 3 ชั้น ลักษณะเป็นอาคารไม้ผสมคอนกรีต ตั้งทางฝั่งขวาของเสาธง ภายในประกอบด้วย
    • ชั้น 1 เป็นศูนย์ประชาสัมพันธ์ ห้องกลุ่มบริหารกิจการนักเรียน ห้องสภานักเรียน และมีบริเวณที่เป็นใต้ถุนโล่งใช้สำหรับพักผ่อนและเป็นลานจอดรถ
    • ชั้น 2 ประกอบด้วยสำนักผู้อำนวยการ สำนักงานอำนวยการฝ่ายต่างๆ และห้องสิริบงกช เป็นห้องประชุมสำหรับคณะครู และเป็นห้องที่จัดแสดงเกียรติประวัติ เกียรติยศของโรงเรียน
    • ชั้น 3 เป็นห้องเรียนของนักเรียนเดินเวียน
  • อาคาร 4 เป็นอาคาร 3 ชั้น เป็นอาคารแฝดกับอาคาร 3 ตั้งอยู่ทางฝั่งซ้ายของเสาธง ภายในประกอบด้วย
    • ชั้น 1 เป็นห้องสำนักงานวิชาสุขศึกษาและพลศึกษา ห้องเรียนในรายวิชาพลศึกษา ห้องพยาบาล สำนักงานอนามัยโรงเรียน ธนาคารโรงเรียนและสหกรณ์ร้านค้าโรงเรียน
    • ชั้น 2-3 เป็นห้องสำนักงานวิชาคณิตศาสตร์ ห้องเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ และศูนย์จิตวิทยาแนะแนว
    • ปัจจุบันอยู่ระหว่างงดใช้อาคารเพื่อการเรียนการสอน เนื่องจากอยู่ระหว่างขออนุญาตในการรื้อถอน
  • อาคาร 5 เป็นอาคารคอนกรีต 3 ชั้น อยู่ทางฝั่งทิศเหนือ จัดเป็นสำนักงานและห้องเรียนกลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ห้องศูนย์อาเซียนและห้องจริยธรรม
  • อาคาร 6 หรือ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 30 เป็นอาคารคอนกรีต 3 ชั้น
    • ชั้น 1 ประกอบด้วย ห้องพิลาศปทุมมาลย์ เป็นห้องประชุมปรับอากาศ และห้องศูนย์สื่อนวัตกรรม
    • ชั้น 2-3 จัดเป็นสำนักงานกลุ่มสาระภาษาไทย ห้องหมอภาษา ห้องแพทย์แผนไทย และห้องเรียนกลุ่มสาระภาษาไทย
  • อาคาร 7 เป็นอาคารคอนกรีต 3 ชั้น เป็นอาคารที่อยู่ด้านหลังสุดของโรงเรียน
    • ชั้น 1 ประกอบด้วย สำนักงานกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ ห้อง Resource Center ซึ่งใช้สำหรับการสืบค้นหาข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตและสื่อวิดีทัศน์ และมีห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ 3 ห้อง (Lab 1-3)
    • ชั้น 2-3 จัดเป็นห้องเรียนสาระวิทยาศาสตร์ ห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ ห้องปฏิบัติการเคมีและห้องปฏิบัติการชีววิทยา
  • อาคาร 8 หรือ อาคาร 66 ปี ศรีปทุม เป็นอาคารคอนกรีต 3 ชั้น สร้างขึ้นในวาระที่โรงเรียนมีอายุครบ 66 ปี เปิดใช้งานเมื่อ พ.ศ. 2558 และใช้เป็นอาคารหลักของกลุ่มสาระภาษาต่างประเทศจากเดิมที่อยู่บริเวณชั้น 2 ของอาคาร 3
    • ชั้น 1 เป็นสำนักงานกลุ่มสาระภาษาต่างประเทศ และมีใต้ถุนโล่งใช้สำหรับจัดงาน นิทรรศการ ลานสำหรับงานนันทนาการ ประชุมเชียร์และซักซ้อมกิจกรรมต่างๆ
    • ชั้น 2-3 จัดเป็นห้องเรียนกลุ่มสาระภาษาต่างประเทศ
  • อาคารศิลปะ ประกอบด้วยห้องสำนักงานกลุ่มสาระศิลปะ ห้องปฏิบัติการทางดนตรี ทัศนศิลป์ และนาฏศิลป์
  • อาคารอุตสากรรม จำนวน 2 หลัง ประกอบด้วย ห้องสำนักงานอุตสาหกรรมและห้องเรียนที่ใช้สำหรับการเรียนการสอนในรายวิชาอุตสาหกรรม
  • อาคารคหกรรม ประกอบด้วยสำนักงานคหกรรมและห้องปฏิบัติการในรายวิชาคหกรรม

สิ่งปลูกสร้างอื่นๆ[แก้]

  • อาคารหอประชุมอเนกประสงค์ สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2528 ใช้สำหรับจัดประชุมนักเรียน ประชุมผู้ปกครอง จัดกิจกรรม นิทรรศการ การแข่งขัน และพิธีการต่างๆภายในโรงเรียน และใช้เป็นสนามกีฬาวอลเลย์บอลในร่ม
  • อาคารบุณฑริกา เป็นอาคารพลศึกษา สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2557 เดิมเป็นสนามบาสเกตบอลคอนกรีตกลางแจ้ง มีลักษณะเป็นอาคารหลังคาโค้ง ทาด้วยสีขาว ตามชื่อของ "บุณฑริกา" ซึ่งเป็นดอกบัวที่มีสีขาวล้วน ภายในอาคารประกอบด้วยสนามฟุตซอล และสนามบาสเกตบอล ใช้ในการเรียนการสอนวิชาพลศึกษา และการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น กิจกรรมลูกเสือ ประชุมระดับชั้น งานอบรม งานนิทรรศการ งานเลี้ยงฉลองทั้งที่จัดเฉพาะภายในโรงเรียนและงานที่หน่วยงานภายนอกมาขออาศัยสถานที่ เป็นอาคารที่มองเห็นได้เป็นอันดับแรกเมื่อเข้าสู่ตัวโรงเรียนทางบริเวณประตูหลัก
  • โรงอาหาร ประกอบด้วยโรงอาหาร 2 แห่ง โรงอาหารแห่งที่ 1 ตั้งอยู่บริเวณด้านหลังอาคาร 4 เดิมเป็นอาคารหอประชุมหลังแรก ต่อมาได้ปรับให้เป็นโรงอาหาร ใช้เป็นที่รับประทานอาหารกลางวันสำหรับนักเรียน คู่กับโรงอาหารแห่งที่ 2 ที่สร้างขึ้นใหม่ ซึ่งอยู่ชั้นล่างของอาคารปทุมมา
  • อาคารปทุมมา เดิมบริเวณนี้เป็นสวนเกษตร ที่ใช้ในการเรียนวิชาเกษตรกรรม ปัจจุบันได้สร้างเป็นอาคารหอประชุม เปิดใช้งานในปี พ.ศ. 2560 พร้อมด้วยหอประชุมขนาดใหญ่และสนามบาสเกตบอลในชั้นบน และโรงอาหารแห่งที่ 2 ในชั้นล่าง บริเวณด้านหน้าและด้านข้างของอาคาร เป็นลานกว้างที่ใช้ในการจัดแสดงกิจกรรมต่างๆได้อีกด้วย
  • สนามกีฬาโรงเรียน เป็นสนามกีฬากลางแจ้ง ประกอบด้วยลู่วิ่ง สนามฟุตบอล สนามเซปักตะกร้อ และอัฒจันทร์ 5 หลัง เป็นบริเวณหลักที่ใช้ในการจัดกิจกรรมกีฬาสีภายใน และงานสดุดีต่างๆ
  • ลานน้ำพุ ตั้งอยู่ ณ ใจกลางโรงเรียน ตัวน้ำพุมี 3 ชั้น สีขาว บริเวณรอบๆจัดเป็นสวนหย่อม ถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ประจำโรงเรียนอีกแห่งหนึ่ง โดยจะมีประเพณีในการทำความสะอาดน้ำพุสำหรับคณะกรรมการนักเรียนที่ชนะจากการเลือกตั้งประธานนักเรียนอยู่เป็นประจำทุกปี

ชีวิตในโรงเรียน[แก้]

กิจกรรมภายในโรงเรียน[แก้]

งานกีฬาสีภายในและคณะสี[แก้]

โรงเรียนได้มีการจัดตั้งคณะสี เพื่อดำเนินการในกีฬาสีและเสริมสร้างความสามัคคีในหมู่คณะ ซึ่งจะมีจัดแบ่งกลุ่มคณะสีสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โดยจะอยู่ในคณะสีนั้นตลอดการเรียนในช่วงชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น แล้วจึงจะจัดกลุ่มคณะสีใหม่เมื่อเข้าสู่ระดับชั้นมัธยยมศึกษาปีที่ 4 และจะอยู่ในคณะสีนั้นจนจบการศึกษา มีทั้งหมด 5 คณะสี ประกอบด้วย

  • ██ คณะสีเหลือง ควบคุมดูแลโดยกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม และกลุ่มสาระศิลปศึกษา
  • ██ คณะสีแสด ควบคุมดูแลโดยกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์และคหกรรม
  • ██ คณะสีชมพู ควบคุมดูแลโดยกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศและอุตสาหกรรม
  • ██ คณะสีฟ้า ควบคุมดูแลโดยกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเกษตรกรรม
  • ██ คณะสีแดง ควบคุมดูแลโดยกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยและฝ่ายสนับสนุนการสอน

สำหรับงานกีฬาสีภายในจะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในภาคเรียนที่ 2 ประมาณเดือนพฤศจิกายน ถึง เดือนมกราคม

วันสถาปนาโรงเรียน[แก้]

จัดขึ้นเป็นประจำทุกๆวันที่ 17 พฤษภาคม ของปีเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันครบรอบวันสถาปนาโรงเรียน 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2492 ในงานจะมีการจัดโรงทานเพื่อเป็นการเลี้ยงฉลองและต้อนรับขวัญนักเรียนใหม่ และมีกิจกรรมการประกวดดาวเดือนประจำโรงเรียนซึ่งทุกปีจะมีการส่งตัวแทนเข้าประกวดในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และมัธยมศึกษาปีที่ 4 โดยอาศัยการโหวตเพื่อเฟ้นหาผู้ชนะการประกวด

ค่ายดอกบัว สู่รั้วมหาวิทยาลัย[แก้]

กิจกรรมที่จัดขึ้นจากการร่วมมือของศูนย์จิตวิทยาแนะแนวและศิษย์เก่าโรงเรียน โดยใช้ชื่อหลักของงานว่า ค่ายดอกบัว สู่รั้วมหาวิทยาลัย (Dokbua Camp) โดยในค่ายจะมีการแนะแนวการศึกษาต่อและกิจกรรมนันทนาการต่างๆเพื่อสานสัมพันธ์ศิษย์เก่า - ศิษย์ปัจจุบัน จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีให้กับนักเรียนในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายเพื่อเตรียมความพร้อมที่จะเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ในแต่ละปีการศึกษาจะใช้เวลาในการจัดค่ายประมาณ 2 - 3 วัน ปัจจุบันค่ายดอกบัว สู่รั้วมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการจัดมาแล้ว 11 ครั้ง[8]

งานบัวคืนกอ ลูก ว.ท. คืนถิ่น[แก้]

เป็นงานคืนสู่เหย้าที่โรงเรียนวาปีปทุมได้จัดขึ้นเพื่อให้ศิษย์เก่าได้กลับมาพบปะสังสรรค์ในงาน เมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2556 และโรงเรียนได้จัดทำเพลงสถาบันโอกาสต้อนรับศิษย์เก่าโดยใช้ชื่อเพลงว่า "กอเดียวกัน" ประพันธ์คำร้อง ทำนองและขับร้องโดย นายกิตติพงษ์ ประพันธ์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

งาน No Smoking Dancing Contest[แก้]

งานประเพณีการประกวดการแสดงเต้นภายในโรงเรียน ซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษาแก่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เพื่อช่วยส่งเสริมให้เกิดความกล้าแสดงออก มิตรภาพ ความสามัคคีและห่างไกลจากการสูบบุหรี่ ทีมที่ชนะการประกวดจะได้รับรางวัลจากกลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา เป็นงานที่นักเรียนส่วนใหญ่ในโรงเรียนค่อนข้างจับตามอง

วันบัวบาน[แก้]

เป็นนิทรรศการการจัดการแสดงดนตรี ผลงานทางวิชาการและถนนคนเดินภายในโรงเรียน จัดขึ้นครั้งแรกระหว่างวันที่ 11-12 กันยายน 2556 เป็นครั้งแรกที่นำเอาการแข่งขัน No Smoking Dancing Contest มารวมผนวกไว้ในงานด้วย และจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ในช่วงภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2557

อ้างอิง[แก้]

  1. โรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง ปีการศึกษา 2560
  2. ประวัติโรงเรียนวาปีปทุม สืบค้นเมื่อ 13/10/2560
  3. "พจนานุกรมภาษาบาลี,สระน้ำ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-24. สืบค้นเมื่อ 2017-10-13.
  4. Sanook Dictionary ออนไลน์,พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย ราชบัณฑิตยสถาน,วาปี
  5. Sanook Dictionary ออนไลน์,พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย ราชบัณฑิตยสถาน,ปทุม
  6. เว็บไซต์หนังสือพิมพ์คมชัดลึก,เมืองหนองบัว “วาปีปทุม”
  7. งานรับนักเรียนโรงเรียนวาปีปทุม เก็บถาวร 2020-11-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สืบค้นเมื่อ 13/10/2560
  8. Fanpage ค่ายดอกบัว สู่รั้วมหาวิทยาลัย

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]