ข้ามไปเนื้อหา

โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย

พิกัด: 14°21′10″N 100°34′06″E / 14.3527899°N 100.5684591°E / 14.3527899; 100.5684591
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย
Ayutthaya Wittayalai School
พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล และอาคารสิริมงคลานันท์
ที่ตั้ง
แผนที่
ข้อมูล
ชื่ออื่นอ.ย.ว. / AYW
ชื่อเดิมโรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลกรุงเก่า (พ.ศ. 2450–2469)
โรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลอยุธยา (พ.ศ. 2469–2476)
ประเภทโรงเรียนโรงเรียนรัฐบาล โรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ
คำขวัญตั้งใจเรียน เพียรทำดี มีวินัย รับใช้สังคม
สถาปนาพ.ศ. 2448
ผู้ก่อตั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
การกำกับดูแลสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาพระนครศรีอยุธยา
ผู้อำนวยการว่าที่ร้อยตรี ดร.กฤดิ์ทรัพย์ เชื้อพันธ์
รองผู้อำนวยการอัจฉราพร นาคดิลก
กนิษฐา กสิผล
วาสนา ภาคาแพทย์
ธิติเดช ชมภูราช
ชั้นเรียนที่เปิดสอนมัธยมศึกษาปีที่ 1–6
ภาษาที่ใช้เป็นสื่อการสอนภาษาที่มีการเรียนการสอนในโรงเรียน
ไทย ภาษาไทย
สหรัฐ ภาษาอังกฤษ
จีน ภาษาจีน
ญี่ปุ่น ภาษาญี่ปุ่น
เกาหลีใต้ ภาษาเกาหลี
ฝรั่งเศส ภาษาฝรั่งเศส
ห้องเรียน102 ห้องเรียน
พื้นที่84 ไร่ 3 งาน 16 ตารางวา
สี
  •   สีขาว
  •   สีแดง
เพลงเพลงธง, เพลงชาติเสือ
สัญลักษณ์ชาติเสือ
ฉายาทีมกีฬาเสือร้ายบึงพระราม
เว็บไซต์www.ayw.ac.th

โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย (อังกฤษ: Ayutthaya Wittayalai School; อักษรย่อ: อ.ย.ว. – A.Y.W.) เป็นโรงเรียนรัฐบาลมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ แบบสหศึกษา และเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สถาปนาเมื่อปี พ.ศ. 2448 โดยพระราชดำรัสจัดตั้งโรงเรียนหลวงตามมณฑลต่าง ๆ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีชื่อว่า โรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลกรุงเก่า ตั้งอยู่บริเวณวัดเสนาสนารามหลังพระราชวังจันทรเกษม (ปัจจุบันโรงเรียนอยุธยานุสรณ์ได้ใช้พื้นที่ในการทำการเรียนการสอนแทน) ในปี พ.ศ. 2484 ได้มีการย้ายที่ตั้งของโรงเรียนไปอยู่บริเวณบึงพระราม โดยโรงเรียนได้รับพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จากพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ในการก่อสร้างเป็นอาคารเรียน หอประชุม และบ้านพักครูหลังใหม่ในพื้นที่ที่ย้าย ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของโรงเรียนในปัจจุบัน

ประวัติ

[แก้]

สถาปนาโรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลกรุงเก่า

[แก้]

พ.ศ. 2448–2484

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศพระบรมราชโองการจัดตั้งโรงเรียนหลวงขึ้นตามมณฑลต่าง ๆ โดยทั่วกัน ยึดแบบอย่างของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยโรงเรียนหลวงแห่งแรกของประเทศไทย ดังที่ปรากฏในพระราชหัตถเลขาตอนหนึ่งว่า

เจ้านายราชตระกูล ตั้งแต่ลูกฉันเปนต้นลงไป ตลอดจนถึงราษฎรที่ต่ำที่สุด จะให้ได้มีโอกาศเล่าเรียนได้เสมอกัน ไม่ว่าเจ้า ว่าขุนนาง ว่าไพร่ เพราะฉนั้น จึงขอบอกได้ว่าการเล่าเรียนในบ้านเมืองเรานี้จะเปนข้อสำคัญที่หนึ่ง ซึ่งฉันจะอุตสาห์จัดให้เจริญขึ้นจงได้

— พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในที่ประชุมพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการ เนื่องในโอกาสเสด็จฯ โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ พ.ศ. 2427[1]

ซึ่งในขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้จัดการปฏิรูปการปกครองทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยการปกครองส่วนภูมิภาคนั้น โปรดให้จัดการปกครองแบบเทศาภิบาลขึ้น โดยให้รวมเมืองที่อยู่ใกล้เคียงกัน 3–4 เมือง ขึ้นเป็นมณฑล มีข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นผู้ปกครอง โดยในปี พ.ศ. 2438 โปรดให้จัดตั้งมณฑลกรุงเก่าขึ้น ประกอบด้วยหัวเมืองต่าง ๆ คือ กรุงเก่าหรืออยุธยา อ่างทอง สระบุรี ลพบุรี พรหมบุรี อินทร์บุรี และสิงห์บุรี[2] โดยมี พระยาโบราณบุรานุรักษ์ (พร เดชะคุปต์) เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลประจำมณฑล ดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า และได้สนองพระบรมราชโองการของพระองค์ มีส่วนร่วมในการจัดตั้งโรงเรียน เขาได้ขอพระราชานุญาตขยายพื้นที่วัดเสนาสนาราม และเรี่ยไรเงินจากผู้มีจิตศรัทธาในการสร้างโรงเรียน และได้มอบหนังสือตำนานกรุงเก่าให้กับห้องสมุด[3] เพื่อเตรียมสร้างโรงเรียนประจำมณฑลขึ้นใน ร.ศ. 123 หรือปี พ.ศ. 2448 โดยในระยะแรกใช้กุฏิพระ ศาลาวัด และบริเวณใกล้เคียงกับวัดเสนาสนาราม หลังพระราชวังจันทรเกษม เป็นสถานที่ทำการเรียนการสอน[4]: 1  โดยมีขุนประกอบวุฒิสารท (ทิพ เปรมกมล) เป็นครูใหญ่คนแรกของโรงเรียน

ในปี พ.ศ. 2448 มีปรากฏทะเบียนรายชื่อนักเรียนไว้ จำนวน 259 คน แต่ไม่ปรากฏรายชื่อครู โดยในเวลานั้น ยังมีนักเรียนที่เป็นพระและสามเณร และยังไม่มีนามสกุลและเลขประจำตัวใช้[4]: 4  ต่อมาพระอนุสิษฐ์วิบูลย์ (เปี่ยม จันทรสถิตย์) ได้เป็นครูใหญ่ต่อจากขุนประกอบวุฒิสารท

ในปี พ.ศ. 2449 กระทรวงธรรมการเห็นว่าประชาชนนิยมส่งบุตรหลานมาศึกษาเล่าเรียนเป็นจำนวนมาก จนทำให้สถานที่เดิมคับแคบ จึงได้จัดสร้างอาคารเรียนแบบประยุกต์ครึ่งตึกครึ่งไม้ ลักษณะถาวร 2 ชั้นแบบ 6 ห้องเรียนและห้องประชุมอีก 1 ห้อง ประชาชนในมณฑลกรุงเก่าขณะนั้นเรียกชื่อโรงเรียนกันว่า "โรงเรียนหลังวัง" (ซึ่งตึกที่กระทรวงธรรมการได้สร้างนั้น ต่อมาโรงเรียนอยุธยานุสรณ์ขอใช้ตึกนี้เป็นที่ตั้งของโรงเรียน เพราะโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยย้ายมาอยู่ในสถานที่ปัจจุบัน) ต่อมาเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2449 พระวิเศษกลปกิจ (รัตน์ ปัทมะศิริ) ได้เป็นครูใหญ่ต่อจากพระอนุสิษฐ์วิบูลย์ ในเวลานั้นโรงเรียนไม่มีการจัดเป็นชั้นประถมและมัธยม แต่มีการจัดไว้เป็นชั้น 1, ชั้น 2, ชั้น 3 ฯลฯ เท่านั้น วันหยุดของโรงเรียนเป็นวันโกนวันพระ นอกจากโรงเรียนจะมีคุณครูเป็นผู้สอน ยังมีนักเรียนฝึกหัดสอนเป็นผู้สอนนักเรียนด้วย โดยคุณครูจะต้องควบคุมดูแลการสอนของนักเรียนฝึกหัดสอนอีกทีหนึ่ง ในปีดังกล่าวมีนักเรียนเข้าใหม่จำนวน 89 คน[4]: 4 

ในปี พ.ศ. 2450 ขุนบำเหน็จวรสาร (ชิต) ได้เป็นครูใหญ่ต่อจากพระวิเศษกลปกิจ ในปีนี้พระยาไพศาลศิลปศาสตร์ (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เจ้ากรมตรวจกระทรวงธรรมการ ได้มาตรวจโรงเรียนเพื่อเปลี่ยนระเบียบของโรงเรียนใหม่ โดยได้ให้ชื่อโรงเรียนว่า "โรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลกรุงเก่า" เรียกนักเรียนฝึกหัดครูว่า "นักเรียนสอน" จัดนักเรียนออกเป็น 6 ห้องเรียน ได้แก่ มูล 1, มูล 2, เตรียม, ประถม 1, ประถม 2 และประถม 3 เปลี่ยนทะเบียนใหม่ และได้รับนักเรียนใหม่เข้ามาเพิ่มในวันดังกล่าวจำนวน 151 คน ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2450 โรงเรียนได้ถูกใช้เป็นสถานที่พักข้าราชการในงานสมโภชกรุงเก่า จึงได้ทำการปิดการเรียนการสอนเป็นเวลา 2–3 วัน และตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2450 พระชำนาญขบวนสอน (เฉย สุกุมาลนันท์) ครูรองของโรงเรียน ได้มาทำหน้าที่เป็นครูใหญ่แทน ส่วนขุนบำเหน็จวรสารได้ย้ายไปเป็นผู้รั้งข้าหลวงธรรมการ[4]: 5 

ในเดือนมิถุนายน ปี พ.ศ. 2451 พระชำนาญขบวนสอน ครูใหญ่ ได้ย้ายไปเป็นผู้ช่วยข้าหลวงธรรมการ รัตน์ ครูรองของโรงเรียน จึงมาเป็นครูใหญ่แทน[4]: 5  ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2451 ขุนบำเหน็จวรสาร ข้าหลวงธรรมการ ได้มีคำสั่งให้ย้ายสร่าง ครูใหญ่โรงเรียนเสนาสน์ มาเป็นผู้ช่วยครูใหญ่โรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลกรุงเก่า ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2451 และให้ครูใหญ่โรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลกรุงเก่าดูแลรับผิดชอบโรงเรียนเสนาสน์ด้วย โดยได้รวมให้โรงเรียนเสนาสน์มาอยู่รวมในการปกครองของโรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลกรุงเก่า ให้เป็นโรงเรียนเดียวกัน[4]: 5–6 

ในปี พ.ศ. 2452 ได้มีการนำนักเรียนไปถือน้ำพิพัฒน์สัตยาเป็นครั้งแรกในช่วงเดือนมีนาคม โดยได้จัดให้นักเรียนเดินแถวไปรับน้ำที่วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร รัตน์ได้เป็นครูใหญ่จนถึงเดือนพฤษภาคม เมื่อเริ่มเดือนมิถุนายน ปุ่นจึงได้มาเป็นครูใหญ่แทน ต่อมาทางเทศามณฑลกรุงเก่าได้มีการขอไปยังกรมทหารราบที่ 13 ให้ทางทหารได้มาฝึกหัดนักเรียนโรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลกรุงเก่าเป็นครั้งแรก ซึ่งคล้ายกับยุวชนทหาร[4]: 6 

ในปี พ.ศ. 2453 เล็กได้เป็นครูใหญ่แทนปุ่น และเมื่อถึงเดือนพฤศจิกายน ผันก็ได้เป็นครูใหญ่แทนเล็ก[4]: 6  ในปี พ.ศ. 2454 โรงเรียนได้ทำการเปิดรับนักเรียนหญิง เป็นมูลศึกษาแผนกหญิงครั้งแรก เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2454 มีครูผู้สอนเป็นผู้หญิงคือ ผิว แพทย์ผดุงครรภ์ เริ่มแรกมีนักเรียนหญิงจำนวน 5 คน แต่ต่อมาก็ได้ถูกยกเลิกไป เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2455 ด้วยผิว แพทย์ผดุงครรภ์ ขอลาออกจากตำแหน่ง เพราะมีครรภ์จึงไม่สามารถเดินทางไปมาไกล เพื่อมาสอนได้[4]: 7 

ในปี พ.ศ. 2455 ขุนกลั่นวิชาสอน (วิชา หัมพานนท์) ได้เป็นครูใหญ่ต่อจากผัน ต่อมาในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2456 การสอนวิชาทหารจากกรมทหารราบที่ 13 ซึ่งได้เริ่มสอนเมื่อ พ.ศ. 2452 ได้ถูกยกเลิกไป โดยต่อมาคุณครูในโรงเรียนได้ทำการสอนวิชาทหารกันเอง จนถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2457 ทหารก็ได้กลับมาสอนนักเรียนอีกครั้ง โดยผู้ที่มาสอนคือ นายร้อยตรีห้อย นายเวรทหารราบที่ 13[4]: 7  ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2457 โรงเรียนได้ทำการส่งนักเรียนไปแข่งขันกรีฑาที่กรุงเทพมหานคร และการลูกเสือของโรงเรียนก็ได้มีการเดินทางจากเมืองกรุงเก่าหรืออยุธยา ไปเข้าค่ายพักแรม และซ้อมรบกันถึงที่เมืองลพบุรี[4]: 8 

ต่อมาในปี พ.ศ. 2467 ทางราชการได้ยุบเลิกมณฑลต่าง ๆ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมเมืองอินทร์บุรีและเมืองพรหมบุรีเข้ากับเมืองสิงห์บุรี ตั้งที่ว่าการมณฑลที่อยุธยา ซึ่งก็คือพระราชวังจันทรเกษม ในส่วนของตึกที่ทำการภาค (อาคารมหาดไทย) และพระที่นั่งพิมานรัตยา แต่อาคารหลังอื่น ๆ ในพระราชวัง ทางโรงเรียนก็ได้ขอใช้ทำการเรียนการสอนต่อ แต่ก็ส่งผลทำให้สถานที่เล่าเรียนของโรงเรียนมีพื้นที่น้อยลง และในปี พ.ศ. 2469 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อจาก "มณฑลกรุงเก่า" เป็น "จังหวัดพระนครศรีอยุธยา" ซึ่งจากการจัดตั้งมณฑลอยุธยามีผลให้อยุธยามีความสำคัญทางการบริหารการปกครองมากขึ้น การสร้างสิ่งสาธารณูปโภคหลายอย่างมีผลต่อการพัฒนาเมืองอยุธยาในเวลาต่อมา[5]: 5  จนเมื่อยกเลิกการปกครองระบบเทศาภิบาลตามพระราชบัญญัติ ว่าด้วยระเบียบราชการบริหารส่วนอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2467 เปลี่ยนให้มณฑลต่าง ๆ นั้นเลื่อนฐานะเป็นจังหวัดแต่อยุธยายังคงเป็นมณฑลเทศาภิบาลอยู่ จนกระทั่งภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 อยุธยาจึงเปลี่ยนฐานะเป็นจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจนถึงปัจจุบัน และก็เป็นผลทำให้โรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลกรุงเก่า เปลี่ยนชื่อมาเป็นโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย ดังปัจจุบัน

อาคารพระราชทาน

[แก้]

พ.ศ. 2484–ปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ผู้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ แก่โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย

หลังจากที่เปลี่ยนชื่อโรงเรียนจากโรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลกรุงเก่ามาเป็นโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยแล้วนั้น การเรียนการสอนก็เป็นไปอย่างราบรื่นและได้เจริญก้าวหน้ามาโดยตลอด นับจากปี พ.ศ. 2448 จนถึงปี พ.ศ. 2483 โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยมีอายุถึง 35 ปี ที่ใช้อาคารเรียนอยู่ด้านหลังพระราชวังจันทรเกษม จนประชาชน ชาวบ้านเรียกกันว่า โรงเรียนหลังวัง จนมีศิษย์เก่าสำเร็จการศึกษาเป็นจำนวนมาก และซึ่งศิษย์เก่ารุ่นแรก ๆ เหล่านี้เป็นบุคคลที่มีเกียรติอันควรคารวะ อาทิ

ศาสตราจารย์ ปรีดี พนมยงค์ หรืออำมาตย์ตรี หลวงประดิษฐ์มนูธรรม รัฐบุรุษอาวุโส อดีตนายกรัฐมนตรี 3 สมัย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และยังเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เข้าศึกษาใน ร.ศ. 131 หรือ พ.ศ. 2455 และสำเร็จการศึกษาใน ร.ศ. 134 หรือ พ.ศ. 2458 เลขประจำตัว 791[5]: 5 

พลตรี พลเรือตรี นาวาอากาศเอก ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ หรือหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี เข้าศึกษาใน ร.ศ. 131 หรือ พ.ศ. 2455 และสำเร็จการศึกษาใน ร.ศ. 136 พ.ศ. 2460 เลขประจำตัว 640 สิ่งที่เป็นอนุสรณ์คือสร้างหอพระพุทธรูปและมอบทุนการศึกษา[5]: 5 

พลตรี หม่อมทวีวงศ์ถวัลยศักดิ์ หรือหม่อมราชวงศ์เฉลิมลาภ ทวีวงศ์ อดีตองคมนตรี สิ่งที่เป็นอนุสรณ์ คือ ตั้งทุนถาวรมอบให้โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย

วิโรจน์ กมลพันธ์ อดีตธรรมการจังหวัดและอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เลขประจำตัว 684

ชื่อเสียงและประวัติศาสตร์อันยาวนานของโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย รวมทั้งครู อาจารย์ที่ทรงคุณวุฒิอีกมากมายหลายท่าน ทำให้ประชาชนในมณฑลกรุงเก่าขณะนั้น ให้การยอมรับและพร้อมใจกันส่งบุตรหลานเข้ารับการศึกษาเป็นจำนวนมากยิ่งขึ้นทุก ๆ ปีจนสถานที่นั้นคับแคบลงทุกปี

จนกระทั่งเมื่อ ปรีดี พนมยงค์ นักเรียนเก่าโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มีแผนที่จะปรับปรุงเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา และได้เล็งเห็นว่า สถานที่ตั้งของโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย แต่เดิมนั้นคับแคบ ไม่มีโอกาสขยายได้อีกเท่าที่ควร ซึ่งโดยความหวังของปรีดี พนมยงค์ นั้น มุ่งหวังที่จะให้จังหวัดพระนครศรีอยุธยามีมหาวิทยาลัยด้วย

ฉะนั้น เมื่อวิโรจน์ กมลพันธ์ นักเรียนโรงเรียนเก่าอยุธยาวิทยาลัย ซึ่งดำรงตำแหน่งธรรมการจังหวัดในขณะนั้นได้ปรึกษาหารือกันในเรื่องการย้ายสถานที่ตั้งของโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย ปรีดี พนมยงค์มีความเห็นชอบด้วย จึงได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จากพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ซึ่งได้รับพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นจำนวนเงิน 1 แสนบาท และได้มีพระราชดำรัสสั่ง ให้จัดสร้างอาคารตึกถาวร 2 ชั้น 1 หลัง สร้างหอประชุมพระราชทาน 1 หลัง และบ้านพักครูอีก 20 หลัง

จากนั้น ปรีดี พนมยงค์ ได้มอบหมายให้ หลวงบริหารชนบท (ส่าน สีหไตรย์) ข้าหลวงประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นผู้พิจารณาเลือกสถานที่ โดยหลวงบริหารชนบทได้เสนอแผนการก่อสร้าง และได้รับความเห็นชอบ เพราะเห็นว่าอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมเป็นโรงเรียนรัฐบาลของจังหวัด นอกจากนี้ยังสามารถขยายบริเวณโรงเรียนออกไปให้กว้างขวางได้อีก[5]: 5 

หลวงบริหารชนบทได้ให้ข้อคิดเห็นไว้ว่า "สถานที่ตั้งของโรงเรียนนี้เหมาะสมมาก โดยอยู่จุดกึ่งกลางของเกาะเมืองและมีบริเวณสภาพแวดล้อมที่สวยงาม มีปูชนียสถาน ซึ่งเหมาะสมกับสถานศึกษา ด้านหน้าของโรงเรียนก็เป็นที่ตั้งของ สวนสาธารณะบึงพระราม ด้านหลังก็เป็นถนนที่ตัดตรงมาจากกรุงเทพฯ มีสถานที่ราชการสองฝั่งถนน ซึ่งเหมาะสมในทุกๆด้าน"[5]: 5 

งานก่อสร้างเริ่มขึ้นเมื่อเดือน กรกฎาคม พ.ศ. 2482 แล้วเสร็จเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2483 โดยมีหลวงบริหารชนบท เป็นกรรมการควบคุมการก่อสร้าง พร้อมกันนี้ยังได้ควบคุมงานก่อสร้างหอประชุมพระราชทานอีก 1 หลัง และบ้านพักครูอีก 20 หลังบนพื้นที่ 84 ไร่ 3 งาน 16 ตารางวา และอาคารเรียนนั้นได้ทำพิธีเปิดอาคารเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2484 และเนื่องจากอาคารหลังนี้ได้รับพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สร้าง จึงได้ชื่ออาคารนี้ว่า "อาคารพระราชทาน"

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2519 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร

และเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2534 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานชื่ออาคารนามว่า “สิริมงคลานันท์”[6]: 28 

ภายหลังจากที่ทรงพระราชทานชื่ออาคาร เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2537 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ มาทรงเป็นประธานเปิดแพรคลุมป้ายอาคาร “สิริมงคลานันท์” และเสด็จพระราชดำเนินไปทรงทอดพระเนตรห้องพิพิธภัณฑ์ทางการศึกษาทั้ง 9 ห้อง บนอาคารสิริมงคลานันท์ รวมทั้งยังทรงปลูกต้นพิกุลไว้ด้านหน้าอาคารอเนกประสงค์ขณะที่กำลังก่อสร้างอยู่ด้วย เพื่อเป็นที่ระลึกในการเสด็จพระราชดำเนินมายังโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย

ต่อมา เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2520 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (ครั้งยังดำรงพระยศสยามมกุฎราชกุมาร) พร้อมด้วยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ (ครั้งยังดำรงพระยศพระวรชายา) เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานมอบเอกสารสิทธิ์ที่ดินแก่ราษฎรชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ณ หอประชุมพระราชทาน รัชกาลที่ 8 ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารทรงปลูกต้นพะยอม และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรชายาฯ ทรงปลูกต้นประดู่กิ่งอ่อน ไว้ด้านหน้าหอประชุมพระราชทาน รัชกาลที่ 8 เพื่อเป็นที่ระลึกในการเสด็จพระราชดำเนินมายังโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย

ครั้นถึงปี พ.ศ. 2486 – 2487 ประเทศไทยต้องประสบปัญหาภัยคุกคามจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่งผลกระทบให้โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยจำเป็นต้องรับภาระด้วย กล่าวคือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขออาศัยใช้สถานที่เรียนเป็นการลี้ภัยชั่วคราว จึงทำให้นักเรียนโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยมีการเรียนกันอย่างกระท่อนกระแท่น ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่ครู อาจารย์ และนักเรียนก็เต็มใจและยินดี เพราะถือได้ว่าได้ให้ความช่วยเหลือแก่กัน[6]: 28 

เมื่อประเทศกลับคืนสู่ภาวะปกติในยุคต่อ ๆ มา การเรียนการสอน การศึกษาของโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยได้ขยายตัวอย่ารวดเร็ว มีอาคารเรียนถาวรเพิ่มขึ้นอีกหลายอาคาร ภายใต้การบริหารของผู้อำนวยการโรงเรียน ครูใหญ่ อาจารย์ใหญ่อีกหลายท่าน จำนวนครูและนักเรียนก็เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว เทคนิคและวิธีการสอนรูปแบบต่าง ๆ ตลอดจนเทคโนโลยีที่ทันสมัยจึงได้ถูกนำมาบรรจุเข้าไว้เพื่อพัฒนาการเรียนการสอน อย่างค่อนข้างพร้อมในโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย

ปัจจุบัน โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย จัดการเรียนการสอนแบบสหศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาพระนครศรีอยุธยา โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยมีการพัฒนาทุกด้านมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้โรงเรียนได้รับเกียรติบัตรรางวัลพระราชทาน จำนวน 6 ครั้งด้วยกัน ดังนี้

  • พ.ศ. 2521, 2537, 2546, 2557, 2561, 2565

และยังมีนักเรียนของโรงเรียนที่ได้รับเกียรติบัตรรางวัลพระราชทานเช่นกัน ซึ่งได้รับในปี

  • พ.ศ. 2526, 2527, 2546, 2549, 2551, 2557, 2563

ลำดับการเปลี่ยนชื่อโรงเรียน

[แก้]
  • โรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลกรุงเก่า พ.ศ. 2448 - 2469
  • โรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลอยุธยา พ.ศ. 2469 - 2476
  • โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย พ.ศ. 2476 - ปัจจุบัน

ข้อสังเกต โรงเรียนประจำมณฑลส่วนใหญ่จะมีคำสร้อย "วิทยาลัย" ต่อท้าย เช่น ราชสีมาวิทยาลัย (โรงเรียนประจำมณฑลนครราชสีมา), ยุพราชวิทยาลัย (โรงเรียนหลวงประจำมณฑลพายัพ), ภูเก็ตวิทยาลัย (โรงเรียนตัวอย่างมณฑลภูเก็ต), ร้อยเอ็ดวิทยาลัย (โรงเรียนประจำมณฑลร้อยเอ็ด) และอยุธยาวิทยาลัย เป็นต้น

เกียรติบัตรรางวัลพระราชทาน

[แก้]

รางวัลพระราชทานสำหรับนักเรียน นักศึกษาและสถานศึกษา เกิดขึ้นจากน้ำพระทัยอันเปี่ยมด้วยเมตตาของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีพระราชปรารภแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ม.ล. ปิ่น มาลากุล) ในปี พ.ศ. 2506 เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงานแสดงศิลปหัตถกรรมนักเรียน การศึกษา 2506 ใจความของพระราชปรารภมีว่า "มีนักเรียนจำนวนมากซึ่งมีความประพฤติดีและมีความมานะพยายามศึกษาเล่าเรียนได้ผลดี รวมทั้งมีโรงเรียนซึ่งจัดการศึกษาดี จนนักเรียนได้รับการเรียนดีเป็นส่วนรวม นักเรียนและโรงเรียนที่มีคุณสมบัติดังกล่าวสมควรจะได้รับรางวัลพระราชทาน และทรงยินดีจะพระราชทานรางวัลให้" ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการ (โดยกรมวิชาการ) ได้รับพระราชปรารภมาพิจารณาดำเนินการด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น และถือเป็นภารกิจที่สำคัญที่ปฏิบัติสืบต่อมา เพราะนอกจากจะเป็นโอกาสอันดีในการทำกิจกรรมที่สนองพระราชปรารภของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว รางวัลพระราชทานยังเป็นเครื่องกระตุ้นให้เกิดการพัฒนามาตรฐานคุณภาพการศึกษาของชาติให้ดียิ่งขึ้นด้วย จึงเป็นที่ตระหนักชัดว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชนั้นทรงมีวิสัยทัศน์กว้างไกล ทรงเล็งเห็นความสำคัญในการส่งเสริมการศึกษาแห่งชาติ พระราชทานขวัญกำลังใจแก่นักเรียน นักศึกษาที่มีความประพฤติดี มีผลการเรียนดี ตลอดจนผู้บริหารสถานศึกษาที่จัดการศึกษาได้มาตรฐานดีเด่นด้วยการพระราชทานรางวัลให้ ซึ่งในระยะแรกทรงพระราชทานด้วยพระองค์เองจวบจนบัดนี้เป็นเวลาเกือบ 40 ปี กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการและพัฒนางานมาโดยตลอด จนถึงปัจจุบันมีนักเรียน นักศึกษาได้รับรางวัลพระราชทานไปแล้วกว่า 3,000 คน มีสถานศึกษาที่เป็นผู้นำทางวิชาการประมาณกว่า 2,000 แห่ง

โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยได้สมัครเข้ารับการพิจารณาเพื่อเข้ารับรางวัลพระราชทานทั้งของนักเรียนและสถานศึกษา โดยเข้ารับคัดเลือกในระดับจังหวัดได้เป็นลำดับที่ 1 แล้วจึงเข้ารับการพิจารณาได้ระดับเขตการศึกษา และเขตตรวจราชการ โดยนำเสนอการพัฒนาระบบทั้งองค์กร 6 ประการคือ

1. มุ่งพัฒนาการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปีให้มีคุณภาพ สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 นโยบายปัญจปฏิรูปของ กระทรวงศึกษาธิการและยุทธศาสตร์ 10 ประการของกรมสามัญศึกษา

2. เร่งพัฒนาการจัดการกระบวนการเรียนการสอนที่เน้นนักเรียนเป็นสำคัญ มีกระบวนการคิดที่เป็นระบบ มีความคิดสร้างสรรค์ มีนิสัยรักการอ่าน และวิธีการแสวงหาความรู้ด้วยตนเองจากแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ

3. พัฒนาโรงเรียนให้มีบรรยากาศแห่งการเรียนรู้มีสภาพแวดล้อมที่ร่มรื่นสวยงาม น่าอยู่เพื่อให้นักเรียนมีนิสัยที่อ่อนโยน ภูมิใจและรักโรงเรียน

4. ส่งเสริม สนับสนุนให้ครู อาจารย์ ได้พัฒนาความรู้ความสามารถ สร้างสรรค์ผลงานดีเด่นตามมาตรฐานวิชาชีพครู

5. สนับสนุนให้ชุมชนองค์กรท้องถิ่น สมาคมศิษย์เก่า สมาคมผู้ปกครองฯเครือข่าย ฯลฯ ได้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของโรงเรียน

6. มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนให้อยู่ในระดับดีเยี่ยม มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อขยายผล และพัฒนาแนวทางให้เกิดเป็นระยะที่ยั่งยืน

นอกจากนี้ยังได้นำโครงการและกิจกรรมดีเด่นของโรงเรียน ได้แก่ การจัดการเรียนการสอน การพัฒนาองค์กร การจัดสิ่งแวดล้อมภายในโรงเรียน โครงการส่งเสริมแหล่งเรียนรู้ และระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน

คณะกรรมการประเมินโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย

[แก้]

คณะกรรมการการประเมินเพื่อรับรางวัลพระราชทาน เข้ามายังโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย เพื่อประเมินโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยในทุกด้าน โดยเริ่มประเมินตั้งแต่นักเรียนเริ่มมาโรงเรียน จนถึงกลับบ้านในตอนเลิกเรียน การประเมินคณะกรรมการได้ทำการประเมินทุกรูปแบบ อาทิ ดูจากเอกสารร่องรอยของการดำเนินการ การสัมภาษณ์บุคลากรตั้งแต่ผู้อำนวยการโรงเรียน รองผู้อำนวยการโรงเรียน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียนเก่า ครู อาจารย์ และที่สำคัญที่สุดคือการสัมภาษณ์นักเรียน ทั้งนักเรียนที่นัดหมายหรือนักเรียนที่ได้จากการสุ่มตัวอย่างของคณะกรรมการเอง

สถานศึกษารางวัลพระราชทานและนักเรียนรางวัลพระราชทาน

[แก้]

โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยได้รับการคัดเลือกให้เข้ารับพระราชทานเกียรติบัตรรางวัลพระราชทานถึง 6 ครั้ง โดยครั้งแรกในปี พ.ศ. 2521 นายเจริญ ลัดดาพงศ์ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2537 นายจักรกฤษณ์ ธีระอรรถ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ครั้งที่ 3 ในปี พ.ศ. 2546 นายอำนาจ ศรีชัย เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ครั้งที่ 4 ในปี พ.ศ. 2557 นายเฉลิมศักดิ์ ภาระธัญญา เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ครั้งที่ 5 ในปี พ.ศ. 2561 นายวรากร รื่นกมล เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน และครั้งที่ 6 ในปี พ.ศ. 2565 ว่าที่ร้อยตรี ดร.กฤดิ์ทรัพย์ เชื้อพันธ์ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน รวมถึงนักเรียนโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยยังได้รับเกียรติรางวัลพระราชทานถึง 7 ครั้งอีกด้วย อาทิ นายวีระ ขันธชัย, นายณัฐพล อัศวสงคราม, นายอรรถพงษ์ รักขธรรม, นายต้นตระการ ทรัพย์ภักดี, นายภัคพล ขันธบรรพ

สมาคมนักเรียนเก่าอยุธยาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

[แก้]

เป็นความมงคลสำหรับชาวอยุธยาวิทยาลัยเป็นอย่างยิ่งที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมรับ สมาคมนักเรียนอยุธยาวิทยาลัย ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อปีพุทธศักราช 2527

อาคารและสถานที่ภายในโรงเรียน

[แก้]
พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 (พ.ศ. 2518 – ปัจจุบัน)

โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวนหนึ่งแสนบาท ในการสร้างอาคารเรียน 1 หลัง หอประชุม 1 หลัง และบ้านพักครูอีกจำนวน 20 หลัง โดยพระบรมราชานุสาวรีย์จะตั้งอยู่ ณ สนามกลางโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย บริเวณด้านหน้าอาคารสิริมังคลานันท์ ซึ่งในทุกวันจันทร์นักเรียนโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยจะทำการถวายพวงมาลัยข้อพระกรและทำการถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์โดยพร้อมเพรียงกัน และในทุกวันที่ 9 มิถุนายนของทุกปี โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย อันประกอบด้วย คณะผู้บริหาร คณะครู สมาคมนักเรียนเก่าอยุธยาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นักเรียนปัจจุบัน และนักเรียนเก่า ได้จัดพิธีบำเพ็ญกุศลทักษิณานุประทาน พิธีวางพวงมาลาและถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์เพื่อเป็นการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน

อาคาร 1 อาคารสิริมงคลานันท์ (พ.ศ. 2484 – ปัจจุบัน)

เป็นอาคารเรียนที่เก่าแก่ที่สุดในโรงเรียน มีรูปแบบอาคารเป็นแบบอลังการศิลป์ (Art Deco)[7] และเป็นสถาปัตยกรรมคณะราษฎร[8] เป็นอาคารสีขาว สูง 2 ชั้น พื้นอาคารปูด้วยกระเบื้องสีน้ำตาลมีลายสีขาว–ส้ม คล้ายลายของเสือ ซึ่งแสดงถึงอัตลักษณ์ของโรงเรียนคือ "ชาติเสือ" อาคารสิริมงคลานันท์เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2484 โดยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ปัจจุบันเป็นอาคารอำนวยการของโรงเรียน

  • ชั้น 1 ห้องผู้อำนวยการ สำนักงานผู้อำนวยการ กลุ่มบริหารบุคคลและกิจการนักเรียนเดิม กลุ่มบริหารงบประมาณ กลุ่มบริหารทั่วไป (ฝ่ายอาคาร/สถานที่, ฝ่ายสารบรรณ, ฝ่ายพัสดุ) และห้องประชุมวิวัฒน์ชาญอนันตชัย
  • ชั้น 2 พิพิธภัณฑ์ทางการศึกษาโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย จำนวนทั้งสิ้น 9 ห้อง


อาคาร 2 (พ.ศ. 2516 – ปัจจุบัน)

เป็นอาคารสีเหลืองสูง 2 ชั้น เดิมเรียกว่าอาคาร 8 เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2516 โดยชั้นล่างจะเป็นห้องของกลุ่มบริหารวิชาการและห้องพักครูกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ชั้นสองเป็นห้องเรียนคอมพิวเตอร์ของโรงเรียนและห้องพักครูวิชาคอมพิวเตอร์ บริเวณด้านหน้าอาคารมีจอ LED ขนาดใหญ่ ไว้เพื่อใช้สำหรับประชาสัมพันธ์กิจกรรมข่าวสารในโรงเรียน

  • ชั้น 1 กลุ่มบริหารวิชาการ ห้องประชุมพุทธไตรรัตนนายก (แวว กตสาโรอุปถัมภ์) ศูนย์อาเซียนศึกษา และห้องพักครูกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม
  • ชั้น 2 ห้องพักครูวิชาคอมพิวเตอร์ ห้องเรียนคอมพิวเตอร์จำนวน 4 ห้องเรียน และศูนย์การเรียนรู้


อาคาร 3 (พ.ศ. 2514 – ปัจจุบัน)

เป็นอาคารเรียนสีขาว–แดงสูง 3 ชั้น เดิมเรียกว่าอาคาร 9 เริ่มก่อสร้างในปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. 2514 และมีพิธีเปิดอาคารเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2516 โดยก่อ สวัสดิ์พาณิชย์ อธิบดีกรมสามัญศึกษา เป็นประธานในพิธีเปิด ปัจจุบันเป็นอาคารเรียนวิชาสังคมศึกษาและการงานอาชีพ (ธุรกิจศึกษา)

  • ชั้น 1 ห้องชมรม School Twinning ห้องวิทยฐานะ ห้องถ่ายเอกสาร และห้องเรียนจำนวน 6 ห้องเรียน
  • ชั้น 2 ห้องพักครูวิชาธุรกิจศึกษา ห้องพิมพ์ดีด ห้องจำลองธุรกิจ และห้องเรียนจำนวน 4 ห้องเรียน
  • ชั้น 3 ห้องเรียนจำนวน 7 ห้องเรียน


อาคาร 4 (พ.ศ. 2521 – ปัจจุบัน)

เป็นอาคารสีขาว–แดงสูง 4 ชั้น เดิมเรียกว่าอาคาร 19[9] เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2521 โดยเป็นอาคารเรียนวิชาภาษาต่างประเทศ

  • ชั้น 1 ห้องเรียนพิเศษ English Program จำนวน 4 ห้องเรียน ห้องพักครูกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ และห้องสมุดสำหรับห้องเรียนพิเศษ English Program
  • ชั้น 2 ห้องภาษาต่างประเทศ ห้อง Multimedia Center และห้องสมุดภาษาต่างประเทศ
  • ชั้น 3 ห้องเรียนจำนวน 6 ห้องเรียน
  • ชั้น 4 ห้องเรียนจำนวน 6 ห้องเรียน


อาคาร 5 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา มหาราชินี (พ.ศ. 2534 – ปัจจุบัน)

เป็นอาคารเรียนสีเขียวสูง 4 ชั้น เดิมชื่ออาคาร 324 ก่อสร้างขึ้นในโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ทรงเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ 60 พรรษาในปี พ.ศ. 2534 อาคารดังกล่าวได้สร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2536 ด้วยงบประมาณจากกรมสามัญศึกษาจำนวน 11,460,000 บาท และสำนักพระราชวังได้อนุญาตให้ใช้ชื่ออาคารว่า "อาคารเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา มหาราชินี" ปัจจุบันเป็นอาคารเรียนวิชาคณิตศาสตร์

  • ชั้น 1 ห้องสมุดประจำโรงเรียน ห้องสมุดอาเซียน (ASEAN Library Room) โดยกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ และร้านค้าสวัสดิการโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย
  • ชั้น 2 ห้องเรียนคณิตศาสตร์ ห้องพักครูกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ห้องเรียนจำนวน 4 ห้องเรียน และห้องคอมพิวเตอร์จำนวน 1 ห้อง
  • ชั้น 3 ห้องเรียนคณิตศาสตร์ ห้องเรียนจำนวน 8 ห้องเรียน
  • ชั้น 4 ห้องเรียนคณิตศาสตร์ ห้องเรียนจำนวน 8 ห้องเรียน


อาคาร 6 อาคารอเนกประสงค์วิทยาศาสตร์ (พ.ศ. 2535 – ปัจจุบัน)

เป็นอาคารเรียนสูง 4 ชั้น เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2535 และสร้างเสร็จเรียบร้อยในปี พ.ศ 2537 ด้วยงบประมาณจากกรมสามัญศึกษาจำนวน 21,582,000 บาท ในปี พ.ศ. 2539 ได้ถูกปรับปรุงให้เป็นอาคารเรียนวิชาวิทยาศาสตร์

  • ชั้น 1 ห้อง TOT IT SCHOOL ห้องพักครูกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ห้องวิทยาศาสตร์อากาศยาน ห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี และห้องสมุดของห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี
  • ชั้น 2 ห้องพักครูกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ 2 ห้องเรียน และห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์จำนวน 5 ห้องเรียน
  • ชั้น 3 ห้องพักครูกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ห้องหุ่นยนต์และอิเล็คทรอนิกส์ ห้องโครงงาน ห้องเรียนปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ห้องเรียนปฏิบัติการชีวะวิทยา ห้องฟิสิกส์จำนวน 2 ห้อง ห้องวิทยาศาสตร์พลังสิบ และห้องโสตทัศนศึกษา
  • ชั้น 4 หอประชุมใหญ่ของโรงเรียน


อาคาร 7 อาคารบุญประเสริฐ

เป็นอาคารเรียนชั้นเดียว บริจาคเงินก่อสร้างโดย พลเอกชาญ บุญประเสริฐ โดยมี ก่อ สวัสดิ์พาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในเกียรติเป็นประธานในพิธีรับมอบ และเปิดอาคารเมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2535 ประกอบด้วยห้องพักครูวิชาแนะแนว ห้องเรียนจำนวน 7 ห้องเรียน ใช้เป็นห้องเรียนวิชาแนะแนวและภาษาต่างประเทศ

อาคาร 8 อาคารอานันทศิลป์

เป็นอาคารเรียนวิชาศิลปะ ดนตรี-นาฎศิลป์

  • ชั้น 1 ห้องพักครูกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ ห้องเรียนจำนวน 2 ห้องเรียน (ทัศนศิลป์)
  • ชั้น 2 ห้องเรียนจำนวน 3 ห้องเรียน (ดนตรีไทย ขับร้อง และการแสดง)
  • ชั้น 3 ห้องเรียนจำนวน 2 ห้องเรียน (นาฏศิลป์ และดนตรีสากล)


อาคาร 9 อาคาร 100 ปี อยุธยาวิทยาลัย

เป็นอาคารที่สร้างขึ้นในวาระโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยมีอายุครบ 100 ปี ก่อสร้างโดยเงินบริจาคของนักเรียนเก่าโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย

  • ชั้น 1 ห้องพักครูวิชาสุขศึกษา ห้องจ่ายยา ห้องผ่าตัดเล็ก ห้องนอนพักฟื้น
  • ชั้น 2 ห้อง Academic Internet ที่ทำการ AYW TV และห้องคอมพิวเตอร์จำนวน 1 ห้อง


อาคาร 10 อาคารขนาบน้ำ

เป็นอาคาร 1 ชั้น ห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์จำนวน 4 ห้องเรียน และห้องเรียนสีเขียว 1 ห้อง

อาคาร 11 อาคารฮาน่า

เป็นอาคาร 1 ชั้น เดิมใช้สำหรับการทำปฏิบัติการฟิสิกส์ แต่ในปัจจุบันได้ใช้เป็นอาคารที่ทำการของ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาพระนครศรีอยุธยา

อาคาร 12 อาคารอักษรานันท์

เป็นอาคาร 2 ชั้น ใช้ในการเรียนวิชาภาษาไทย

  • ชั้น 1 ห้องพักครูกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ห้องเรียนจำนวน 9 ห้องเรียน และห้องประชุม 1 ห้อง
  • ชั้น 2 ห้องเรียนจำนวน 11 ห้องเรียน


อาคารศูนย์กีฬาอยุธยาวิทยาลัย

เป็นอาคารสำหรับเล่นกีฬาแบดมินตัน ตระกร้อ ปิงปอง และบาสเก็ตบอล

  • ชั้น 1 ห้องกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน (ลูกเสือ, เนตรนารี, ยุวกาชาด) เวทีมวย ลานเล่นแบดมินตัน ตระกร้อ และปิงปอง
  • ชั้น 2 ห้องพักครูกลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ห้องเรียนวิชาสุขศึกษาจำนวน 2 ห้องเรียน ห้องสมุดการกีฬา และห้องออกกำลังกาย
  • ชั้น 3 สนามบาสเกตบอล พร้อมอัฒจันทร์ 3 ด้าน มีความจุประมาณ 1,500 คน และใช้เป็นที่ประชุมระดับชัันมัธยมศึกษาปีที่ 2


  • ลานอุตสาหกรรม เป็นบริเวณอาคารเรียนวิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี ประกอบด้วย
    • อาคารอุตสาหกรรม 1 ห้องพักครูวิชาอุตสาหกรรม ห้องเรียน e-Learning และห้องเรียนจำนวน 2 ห้องเรียน (การออกแบบ, การประดิษฐ์, การเขียนแบบ)
    • อาคารอุตสาหกรรม 2 ห้องพักครูวิชาอุตสาหกรรม ห้องดนตรีสากล และห้องเรียนจำนวน 2 ห้องเรียน (เครื่องยนต์, อิเล็กทรอนิกส์, การเขียนแบบ)
    • อาคารคหกรรม ห้องพักครูวิชาคหกรรม ห้องเรียนจำนวน 4 ห้องเรียน (การประกอบอาหาร, การประดิษฐ์, งานบ้าน)
  • อาคารเกษตรและบริเวณโดยรอบ เป็นอาคารเรียนวิชาเกษตร 3 ห้องเรียน บริเวณโดยรอบเป็นแปลงเกษตร โรงเรือนปลูกต้นไม้ และบ้าน 1 หลัง ซึ่งบ้านหลังนี้เป็นบ้านพักครูหลังสุดท้ายจากจำนวน 20 หลังที่ก่อสร้างในปี พ.ศ. 2484 โดยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และอาคารห้องพักครูอีก 1 หลัง
  • อาคารศุภพิพัฒน์ เดิมเป็นอาคารศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ปัจจุบันเป็นอาคารของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาพระนครศรีอยุธยา
  • อาคารดิษยรักษ์ เป็นที่ทำการธนาคารโรงเรียน โดยความร่วมมือระหว่างโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยกับธนาคารออมสิน
  • อาคารประชาสัมพันธ์ เป็นอาคาร 1 ชั้น ใช้เพื่อการประชาสัมพันธ์ภายในโรงเรียนและห้องกลุ่มบริหารงานบุคคลและกิจการนักเรียนปัจจุบัน
  • หอประชุมพระราชทาน รัชกาลที่ 8 เป็นหอประชุมแห่งแรกของโรงเรียน ก่อสร้างในปี พ.ศ. 2484 โดยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร
  • หอประชุม 2 มีความจุประมาณ 500 คน สามารถใช้เป็นที่ทำการสอนวิชาพลศึกษา โดยปรับเป็นสนามวอลเลย์บอลหรือสนามแบตมินตันจำนวน 1 สนามได้และใช้เป็นที่ประชุมระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
  • โรงยิมตะกร้อ ห้องพักครูวิชาพลศึกษา สนามตระกร้อในร่ม 3 สนาม และที่ทำการสำหรับหน่วยรักษาความปลอดภัย
  • โดม 1 โดมวัดป่าสัก หรือโดมม.5 เป็นที่สำหรับนั่งพักผ่อน ทำกิจกรรมนันทนาการ และเป็นเวทีแสดงศักยภาพนักเรียนและเป็นที่ประชุมระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ชื่อของโดมเป็นชื่อของวัดโบราณในโรงเรียน
  • โดม 2 โดมวัดสะพานนาค เป็นสนามกีฬาในร่ม แบ่งเป็นสนามวอลเล่ย์บอล 1 สนาม และสนามบาสเกตบอล 2 สนาม สามารถปรับเป็นสนามฟุตซอลได้ 2 สนาม หรือสนามฟุตบอล 1 สนาม และเป็นที่ประชุมระดับชัันมัธยมศึกษาปีที่ 1 ชื่อของโดมเป็นชื่อของวัดโบราณในโรงเรียน
  • โดม 3 โดมวัดฉัททันต์ เป็นสนามกีฬาในร่ม เป็นสนามบาสเกตบอล 2 สนาม สามารถปรับเป็นสนามฟุตซอลได้ 2 สนาม หรือสนามฟุตบอล 1 สนาม และเป็นที่ประชุมระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ชื่อของโดมเป็นชื่อของวัดโบราณในโรงเรียน
  • โดม 4 โดมวัดป่าโรง เป็นที่สำหรับนั่งพักผ่อน ทำกิจกรรมนันทนาการ และเป็นเวทีแสดงศักยภาพนักเรียน ชื่อของโดมเป็นชื่อของวัดโบราณในโรงเรียน
  • สนามฟุตบอล เป็นสนามฟุตบอลขนาดมาตรฐาน พร้อมลู่วิ่งจำนวน 6 ลู่ และอัฒจันทร์คอนกรีตเสริมเหล็ก จำนวน 3 อัฒจันทร์ ทางทิศเหนือของสนามขนานกับกำแพง 100 ปี อยุธยาวิทยาลัย
  • สระว่ายน้ำอยุธยาวิทยาลัย เป็นสระว่ายน้ำขนาดมาตรฐาน 50 เมตร พร้อมอัฒจันทร์ 1 ด้าน มีความจุประมาณ 1,000 คน โดยได้รับงบประมาณก่อสร้างจากกรมพลศึกษาและมีห้องออกกำลังกายอีกด้วย
  • หอพระพุทธรูปประจำโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย มี 2 แห่งคือ
    • จุดที่ 1 ตั้งอยู่บริเวณประตูทางเข้าด้านถนนปรีดี พนมยงค์ (หรือถนนโรจนะ) ตรงข้ามจวนผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา บริจาคเงินก่อสร้างโดย พลเรือตรี นาวาอากาศเอก ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักเรียนเก่าโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยและอดีตนายกรัฐมนตรี โดยนามของพระพุทธรูปที่ประดิษฐานคือ "พระพุทธปฏิมาวาสนัฏฐารสม์"
    • จุดที่ 2 ตั้งอยู่บริเวณประตูทางเข้าด้านถนนป่าโทน (หรือถนนเดชาวุธ) ตรงข้ามสวนสาธารณะบึงพระราม ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2554 โดยนามของพระพุทธรูปที่ประดิษฐานคือ "พระพุทธไตรรัตนนายก"
  • ลานธรรมวาสโน เป็นลานอเนกประสงค์เพื่อการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของโรงเรียนในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และฝึกจิตใจให้สงบ นั่งสมาธิ ในปี พ.ศ. 2563 ผู้อำนวยการสุชีพ บุญวงษ์ ได้ตั้งชื่อลานธรรมะแห่งนี้ โดยได้รับคำแนะนำจากคุณครูสมเกียรติ วิเชียรวิลาวัณย์ โดยให้ชื่อว่า "ลานธรรมวาสโน" ตั้งชื่อตามฉายาแรกของ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ ( วาสน์ วาสโน ) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 18 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเคยเป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย[10]
  • ศูนย์อาหารโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย มีจำนวน 2 แห่ง
    • ศูนย์อาหาร 1 เป็นโรงอาหารเดิมตั้งแต่ก่อตั้งโรงเรียน อยู่ติดกับหอประชุมพระราชทาน รัชกาลที่ 8 มีร้านค้าประมาณ 20 ร้านค้า มีความจุประมาณ 800 คน
    • ศูนย์อาหาร 2 เป็นโรงอาหารที่เปิดใช้เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2554 มีร้านค้าประมาณ 20 ร้านค้า มีความจุประมาณ 1,000 คน
  • โรงผลิตน้ำดื่มอยุธยาวิทยาลัย เป็นโครงการผลิตน้ำดื่มส่งเสริมอาชีพนักเรียนอยุธยาวิทยาลัย อยู่บริเวณด้านหลังศูนย์อาหาร 1 ผลิตเพื่อจำหน่ายในโรงเรียนให้แก่ครู อาจารย์ และนักเรียน
  • ศูนย์ฝึกนักศึกษาวิชาทหาร โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย เป็นศูนย์ฝึกย่อยสำหรับฝึกนักศึกษาวิชาทหาร โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย
  • กำแพง 100 ปี อยุธยาวิทยาลัย เป็นกำแพงที่สร้างขึ้นในวาระโรงเรียนมีอายุครบ 100 ปี เป็นกำแพงอิฐ ลักษณะคล้ายกำแพงเมืองโบราณ ตั้งอยู่ทางด้านถนนป่าโทน

หลักสูตรและแผนการเรียน

[แก้]
  • ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
    • ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
      • ห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี (ตามแนวทาง สสวท.)
      • ห้องเรียนพิเศษ โครงการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการเป็นภาษาอังกฤษ (English Program)
      • ห้องเรียนพิเศษ โครงการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการเป็นภาษาอังกฤษ (English Program)
      • ห้องเรียนวิทยาศาสตร์พลังสิบ
      • ห้องเรียนปกติ 3 กลุ่มการเรียน ได้แก่
        • กลุ่มเน้นวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์
        • กลุ่มเน้นคณิตศาสตร์-ภาษา
        • กลุ่มทั่วไป
    • ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
      • ห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี (ตามแนวทาง สสวท.)
      • ห้องเรียนพิเศษ โครงการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการเป็นภาษาอังกฤษ (English Program) (วิทยาศาสตร์)
      • ห้องเรียนพิเศษ โครงการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการเป็นภาษาอังกฤษ (English Program) (ภาษา-วรรณกรรม)
      • ห้องเรียนวิทยาศาสตร์พลังสิบ
      • ห้องเรียนปกติ 3 กลุ่มการเรียน ได้แก่
        • กลุ่มเน้นวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ และกลุ่มเน้นวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ (เตรียม 4 เหล่า)
        • กลุ่มเน้นคณิตศาสตร์-ภาษา
        • กลุ่มทั่วไป
    • ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
      • ห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี (ตามแนวทาง สสวท.)
      • ห้องเรียนพิเศษ โครงการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการเป็นภาษาอังกฤษ (English Program) (วิทยาศาสตร์)
      • ห้องเรียนพิเศษ โครงการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการเป็นภาษาอังกฤษ (English Program) (ภาษา-วรรณกรรม)
      • ห้องเรียนวิทยาศาสตร์พลังสิบ
      • ห้องเรียนปกติ 3 กลุ่มการเรียน ได้แก่
        • กลุ่มเน้นวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ และกลุ่มเน้นวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ (เตรียม 4 เหล่า)
        • กลุ่มเน้นคณิตศาสตร์-ภาษา
        • กลุ่มทั่วไป
  • ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
    • ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4
      • ห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม (โครงการเสริมสร้างศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ของกระทรวงศึกษาธิการ)
      • ห้องเรียนปกติ จำนวน 12 แผนการเรียน ได้แก่
        • แผนการเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ (เน้นวิศวกรรมศาสตร์)
        • แผนการเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ (โครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ)
        • แผนการเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์
        • แผนการเรียนคณิตศาสตร์-ภาษาอังกฤษ (เน้นภาษาอังกฤษ)
        • แผนการเรียนคณิตศาสตร์-ภาษาอังกฤษ
        • แผนการเรียนภาษาอังกฤษ-ภาษาญี่ปุ่น
        • แผนการเรียนภาษาอังกฤษ-ภาษาจีน
        • แผนการเรียนภาษาอังกฤษ-ภาษาฝรั่งเศส
        • แผนการเรียนภาษาอังกฤษ-ภาษาเกาหลี
        • แผนการเรียนคอมพิวเตอร์กราฟิก
        • แผนการเรียนภาษาไทย-สังคมศึกษา (เน้นนิติศาสตร์-รัฐศาสตร์)
        • แผนการเรียนภาษาไทย-สังคมศึกษา
    • ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5
      • ห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม (โครงการเสริมสร้างศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ของกระทรวงศึกษาธิการ)
      • ห้องเรียนปกติ จำนวน 12 แผนการเรียน ได้แก่
        • แผนการเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ (เน้นวิศวกรรมศาสตร์)
        • แผนการเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ (โครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ)
        • แผนการเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์
        • แผนการเรียนคณิตศาสตร์-ภาษาอังกฤษ (เน้นภาษาอังกฤษ)
        • แผนการเรียนคณิตศาสตร์-ภาษาอังกฤษ
        • แผนการเรียนภาษาอังกฤษ-ภาษาญี่ปุ่น
        • แผนการเรียนภาษาอังกฤษ-ภาษาจีน
        • แผนการเรียนภาษาอังกฤษ-ภาษาฝรั่งเศส
        • แผนการเรียนภาษาอังกฤษ-ภาษาเกาหลี
        • แผนการเรียนคอมพิวเตอร์กราฟิก
        • แผนการเรียนภาษาไทย-สังคมศึกษา (เน้นนิติศาสตร์-รัฐศาสตร์)
        • แผนการเรียนภาษาไทย-สังคมศึกษา
    • ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
      • ห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม (โครงการเสริมสร้างศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ของกระทรวงศึกษาธิการ)
      • ห้องเรียนปกติ จำนวน 12 แผนการเรียน ได้แก่
        • แผนการเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ (เน้นวิศวกรรมศาสตร์)
        • แผนการเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ (โครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ)
        • แผนการเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์
        • แผนการเรียนคณิตศาสตร์-ภาษาอังกฤษ (เน้นภาษาอังกฤษ)
        • แผนการเรียนคณิตศาสตร์-ภาษาอังกฤษ
        • แผนการเรียนภาษาอังกฤษ-ภาษาญี่ปุ่น
        • แผนการเรียนภาษาอังกฤษ-ภาษาจีน
        • แผนการเรียนภาษาอังกฤษ-ภาษาฝรั่งเศส
        • แผนการเรียนภาษาอังกฤษ-ภาษาเกาหลี
        • แผนการเรียนคอมพิวเตอร์กราฟิก
        • แผนการเรียนภาษาไทย-สังคมศึกษา (เน้นนิติศาสตร์-รัฐศาสตร์)
        • แผนการเรียนภาษาไทย-สังคมศึกษา

การบริหารงาน

[แก้]

ผู้อำนวยการโรงเรียน ครูใหญ่ และอาจารย์ใหญ่

[แก้]
      ผู้รักษาการแทนในกรณีตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน ครูใหญ่ และอาจารย์ใหญ่ว่างลง
ลำดับ รายนาม วาระการดำรงตำแหน่ง
ดำรงตำแหน่ง หมดวาระ ระยะเวลา
1 ขุนประกอบวุฒิสารท (ทิพ เปรมกมล) พ.ศ. 2448 พ.ศ. 2449
2 พระอนุสิษฐ์วิบูลย์ (เปี่ยม จันทรสถิตย์) พ.ศ. 2449 พ.ศ. 2450
3 พระวิเศษกลปกิจ (รัตน์ ปัทมะศิริ) พ.ศ. 2450 พ.ศ. 2450
4 ขุนบำเหน็จวรสาร (ชิต) พ.ศ. 2451 พ.ศ. 2451
5 พระชำนาญขบวนสอน (เฉย สุกุมาลนันท์) พ.ศ. 2452 มิถุนายน พ.ศ. 2452
6 รัตน์ พ.ศ. 2452 พฤษภาคม พ.ศ. 2453
7 ปุ่น มิถุนายน พ.ศ. 2453 พ.ศ. 2453
8 เล็ก พ.ศ. 2454 พ.ศ. 2454
9 ผัน พฤศจิกายน พ.ศ. 2455 พ.ศ. 2455
10 ขุนกลั่นวิชาสอน (วิชา หัมพานนท์) พ.ศ. 2456 พ.ศ. 2464
- มี ศาลิชีวิน พ.ศ 2458 พ.ศ. 2458
11 ขุนทรงวรวิทย์ (แม้น สุวรรณประภา) พ.ศ. 2464 กรกฎาคม พ.ศ. 2466
12 หลวงภารสาส์น (เฟื่อง นาวาชีวะ) พ.ศ. 2466 พ.ศ. 2477
13 ฟุ้ง ศรีวิจารณ์ พ.ศ. 2478 พ.ศ. 2479
14 ฉลวย สาตพร พ.ศ. 2479 มกราคม พ.ศ. 2481
- สุรินทร์ สรศิริ พ.ศ. 2481 พ.ศ. 2482
15 สุรินทร์ สรศิริ พ.ศ. 2482 พ.ศ. 2482 60—90 วัน
16 สังข์ อิศรางกูร ณ อยุธยา พ.ศ. 2482 พ.ศ. 2484
17 เชื้อ สาริมาน พ.ศ. 2484 พ.ศ. 2486
18 เชื้อ สมบุญวงศ์ พ.ศ. 2486 พ.ศ. 2488
15 (2) สุรินทร์ สรศิริ พ.ศ. 2489 พ.ศ. 2491
19 แวว นิลพยัคฆ์ พ.ศ. 2491 พ.ศ. 2498
20 จรูญ ส่องสิริ พ.ศ. 2498 พ.ศ. 2505
21 พิทยา วรรธนานุสาร พ.ศ. 2505 พ.ศ. 2516
22 เจริญ ลัดดาพงศ์ พ.ศ. 2517 พ.ศ. 2526
23 ลือชา สร้อยพาน พ.ศ. 2526 พ.ศ. 2528
24 มาโนช ปานโต พ.ศ. 2528 พ.ศ. 2530
25 ชลิต เจริญศรี พ.ศ. 2530 พ.ศ. 2532
26 อุเทน เจริญกูล พ.ศ. 2532 พ.ศ. 2535
27 จักรกฤษณ์ ธีระอรรถ พ.ศ. 2535 พ.ศ. 2542
28 วิโรจน์ ฟักสุวรรณ์ พ.ศ. 2542 พ.ศ. 2543
29 รัชนี ศุภพงศ์ พ.ศ. 2543 พ.ศ. 2546
30 อำนาจ ศรีชัย 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2546 พ.ศ. 2547
31 มาโนช จันทร์เทพ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547 พ.ศ. 2554
32 เฉลิมศักดิ์ ภาระธัญญา 9 ธันวาคม พ.ศ. 2554 30 กันยายน พ.ศ. 2559 4 ปี 296 วัน
33 วรากร รื่นกมล 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 30 กันยายน พ.ศ. 2562 2 ปี 323 วัน
- สมศักดิ์ งามสมเกล้า 1 ตุลาคม พ.ศ. 2562 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 0 ปี 57 วัน
34 สุชีพ บุญวงษ์ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 30 กันยายน พ.ศ. 2564 1 ปี 306 วัน
35 ว่าที่ร้อยตรี ดร.กฤดิ์ทรัพย์ เชื้อพันธ์ 1 ตุลาคม พ.ศ.2564 ปัจจุบัน 3 ปี 42 วัน

กิจกรรมในโรงเรียน

[แก้]

กิจกรรมสำคัญ

[แก้]
วันอานันทมหิดล

วันอานันทมหิดล หรือ วันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ตรงกับวันที่ 9 มิถุนายนของทุกปี ถือเป็นวันสำคัญของโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย ซึ่งจะมีการจัดกิจกรรมสำคัญได้แก่ พิธีบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน และพิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ณ โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย

วันอยุธยาวิทยาลัย

วันอยุธยาวิทยาลัย ตรงกับวันเสาร์แรกของเดือนมีนาคมของทุกปี เป็นวันครบรอบวันสถาปนาโรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลกรุงเก่า หรือปัจจุบันคือโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย ซึ่งสถาปนาขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2448 โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยวันเสาร์แรกของเดือนมีนาคมในปี พ.ศ. 2448 ตรงกับวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2448 โดยในวันดังกล่าวจะมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ได้แก่ งานชาติเสือคืนถิ่น ซึ่งเป็นงานที่จะรวมศิษย์เก่า มาจัดกิจกรรมรื่นเริงพบปะสังสรรค์กัน และการจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี เพื่อแถลงกิจการงานของสมาคมนักเรียนเก่าโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

พิธีมอบเหรียญค่าแห่งคุณธรรม

เป็นพิธีประดับเครื่องหมายเชิดชูเกียรติ "ค่าแห่งคุณธรรม" ของโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย ให้แก่นักเรียนที่ประพฤติปฏิบัติตนเป็นคนดีและเป็นนักเรียนดีเด่นของโรงเรียน โดยจะจัดขึ้นในวันที่ 20 กันยายน ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 โดยในแต่ละปีจะมีนักเรียนได้รับเพียงไม่กี่คน ซึ่งจะได้รับการคัดเลือกโดยคณะกรรมการของโรงเรียนเป็นผู้พิจารณาคัดเลือกนักเรียนที่เหมาะสมในการเข้าเสนอชื่อรับรางวัล โดยเกณฑ์ที่ใช้พิจารณามีดังต่อไปนี้

  • เป็นผู้ประพฤติเรียบร้อยทั้งที่บ้านและโรงเรียน ทั้งต่อหน้าและลับหลังโดยสม่ำเสมอ
  • ขยันหมั่นเพียรและตั้งใจเล่าเรียนสม่ำเสมอทุกวิชา ไม่จำเป็นต้องเรียนเก่งก็ได้
  • มีปฏิภาณไหวพริบดีพอใช้
  • มีน้ำใจเสียสละและช่วยเหลือโรงเรียนอยู่เป็นนิจ
  • รักความสามัคคี รักมิตรสหายและรักชื่อเสียงเกียรติคุณของโรงเรียน
  • ต้องมีน้ำใจนักกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย[11]

กิจกรรมกีฬาภายใน

[แก้]

งานกีฬาภายในของโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย หรือ ชาติเสือเกมส์ เป็นงานกิจกรรมการแข่งขันกีฬาและกรีฑาภายในโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย ซึ่งงานจะจัดขึ้น 3 วันในช่วงเดือนกันยายนของทุกปี โดยมีการแบ่งคณะสีทั้งหมดออกเป็น 6 คณะสี ได้แก่

  •   คณะสีราชพฤกษ์ (สีเหลือง)
  •   คณะสีราชาวดี (สีฟ้า)
  •   คณะสียูงทอง (สีแสด)
  •   คณะสีนาคราช (สีเขียว)
  •   คณะสีอินทนิล (สีม่วง)
  •   คณะสีจามจุรี (สีชมพู)

ซึ่งจะไล่เรียงแตกต่างกันไปในแต่ละห้อง โดยเริ่มจากห้องเลขที่แรกไปจนถึงห้องเลขที่สุดท้ายในแต่ละระดับชั้น ตามลำดับ

บุคคลสำคัญ

[แก้]

รายพระนามและรายนามนักเรียนเก่าที่มีชื่อเสียง

[แก้]
รายพระนามและรายนาม เลขประจำตัว รุ่น เกียรติประวัติ
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ
พลตรี หม่อมทวีวงศ์ถวัลยศักดิ์ (หม่อมราชวงศ์เฉลิมลาภ ทวีวงศ์)
พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ 640
วิโรจน์ กมลพันธ์ 684
ศาสตราจารย์ ปรีดี พนมยงค์ 791
เฉลียว ปทุมรส
สมเด็จพระวันรัต (ทรัพย์ โฆสโก)
ประมวล สภาวสุ 3900
สมบัติ พลายน้อย (ส.พลายน้อย) 4450
ปาล พนมยงค์
ศาสตราจารย์ วิทยา มีวุฒิสม
นายกองเอก วิบูลย์ สงวนพงศ์ 8085
พลเอก พลเรือเอก พลอากาศเอก เทพพงศ์ ทิพยจันทร์ 9137
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ สรนิต ศิลธรรม 10066
  • ประเสริฐ บุญสม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
  • พลตำรวจเอก ประทิน สันติประภพ ราชองครักษ์พิเศษ, สมาชิกวุฒิสภา, อธิบดีกรมตำรวจ
  • เชาวน์วัศ สุดลาภา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาลของพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ และในรัฐบาลนายชวน หลีกภัย 1, ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนที่ 7
  • วิญญู อังคณารักษ์ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย

นักธุรกิจ

[แก้]

ศิลปิน ดารา นักแสดง นักดนตรี นักกีฬา และผู้มีชื่อเสียง

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "ร้อยเรื่องราวจากรั้วจามจุรี: ๑ พระราชปณิธาน". CU100. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. สืบค้นเมื่อ 2021-05-14.
  2. "ประวัติความเป็นมาของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา". จังหวัดพระนครศรีอยุธยา. สำนักงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา. สืบค้นเมื่อ 2021-05-18.
  3. ปองพล วิชาดี. (2563). พระยาโบราณราชธานินทร์กับอยุธยาวิทยาลัย. วารสารชาติเสือ, 115(1), 9.
  4. 4.00 4.01 4.02 4.03 4.04 4.05 4.06 4.07 4.08 4.09 4.10 สังข์ อิศรางกูร ณ อยุธยา. (2484). อยุธยาวิทยานุสรณ์. โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร.
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 หนึ่งศตวรรษอยุธยาวิทยาลัย, สมาคมนักเรียนเก่าอยุธยาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์, วารสาร, 2548
  6. 6.0 6.1 84 ปีอยุธยาวิทยาลัย, สมาคมนักเรียนเก่าอยุธยาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์, วารสาร, 2532
  7. ครูศิลป์ (นามแฝง). (2563). ปลูกปัญญาศิลป์: "อาคารสิริมงคลานันท์ กับสถาปัตยกรรมสไตล์ยุโรปแบบ Art Deco". วารสารชาติเสือ, 115(1), 35.
  8. ทศพล อินน้ำคบ. (2563). ประวัติศาสตร์: อยุธยาวิทยาลัยกับศิลปะแบบคณะราษฎร. วารสารชาติเสือ, 115(1), 31.
  9. พงศธร แสนช่าง. (2563). จากตึก ๑๙ สู่ตึก ๔ สีเปลี่ยน จิตวิญญาณไม่เปลี่ยน. วารสารชาติเสือ, 115(1), 23.
  10. ลานธรรมวาสโน. (2563). วารสารชาติเสือ, 115(1), 30.
  11. พิธีมอบเหรียญค่าแห่งคุณธรรม: จงรักษาความดี ดุจเกลือรักษาความเค็ม. (2563). วารสารชาติเสือ, 115(1), 42.
  12. "โครงสร้างผู้ถือหุ้น". บริษัท กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน). 2020-01-03. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-05. สืบค้นเมื่อ 2020-07-16.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

14°21′10″N 100°34′06″E / 14.3527899°N 100.5684591°E / 14.3527899; 100.5684591