สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ (วาสน์ วาสโน) | |
---|---|
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก | |
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก | |
ดำรงพระยศ | พ.ศ. 2517 - พ.ศ. 2531 |
สถาปนา | 22 มิถุนายน พ.ศ. 2517 วัดพระศรีรัตนศาสดาราม |
ก่อนหน้า | สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปุ่น ปุณฺณสิริ) |
ถัดไป | สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร |
พรรษา | 70 พรรษา |
สถิต | วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร |
นิกาย | ธรรมยุติกนิกาย |
ประสูติ | 2 มีนาคม พ.ศ. 2440 จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มัทรี |
สิ้นพระชนม์ | 27 สิงหาคม พ.ศ. 2531 (91 ปี) โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพมหานคร |
พระชนก | ผาด นิลประภา |
พระชนนี | บาง นิลประภา |
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ พระนามเดิม วาสน์ ฉายา วาสโน เป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกพระองค์ที่ 18 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ทรงดำรงตำแหน่งเมื่อปี พ.ศ. 2517 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงอยู่ในตำแหน่ง 14 พรรษา ประสูติเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2440 และ สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2531 สิริพระชันษา 90 ปี 178 วัน
พระประวัติ
[แก้]ประสูติ
[แก้]สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ มีพระนามเดิมว่ามัทรี นิลประภา ภายหลังเปลี่ยนพระนามเป็น วาสน์ ประสูติเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2440 เวลา 19.33 น. (หากนับการขึ้นปีใหม่ แบบปัจจุบัน ที่ขึ้นปีใหม่ วันที่ 1 มกราคม จะ ตรงกับ ปี 2441) ที่ตำบลบ่อโพง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นบุตรคนโตของพระชนกผาดและพระชนนีบาง นิลประภา[1]
อุปสมบท
[แก้]พระองค์ได้บรรพชา ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2455 โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ครั้งทรงกรมหมื่น เป็นพระอุปัชฌาย์ พระวินัยมุนี(แปลก วุฑฺฒิญาโณ)เป็นพระศีลาจารย์ แล้วอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ในวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2461 โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระวินัยมุนี(แปลก วุฑฺฒิญาโณ) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระญาณดิลก (รอด วราสโย) วัดเสนาสนาราม พระนครศรีอยุธยา เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า "วาสโน"
การศึกษา
[แก้]เมื่ออุปสมบทแล้วได้ศึกษาพระปริยัติธรรมจนสอบได้ตามลำดับดังนี้
- พ.ศ. 2458 นักธรรมชั้นตรี
- พ.ศ. 2459 สอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค (ได้รับพระราชทานพัดใบตาลพื้นแพรเขียวประดับเลื่อม[2] เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2460 ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย[3])
- พ.ศ. 2461 สอบได้นักธรรมชั้นโท
- พ.ศ. 2470 สอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค
พระเกียรติยศ
[แก้]ธรรมเนียมพระยศของ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ | |
---|---|
ตราประจำพระองค์ | |
การทูล | ใต้ฝ่าพระบาท |
การแทนตน | ข้าพระพุทธเจ้า |
การขานรับ | พะย่ะค่ะ/เพคะ |
ลำดับโปเจียม | เสมอศักดิ์พระอนุวงศ์ชั้นพระเจ้าวรวงศ์เธอ ทรงกรม |
- พ.ศ. 2465 เป็นพระครูฐานานุกรมในพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัตน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ที่ พระครูโฆสิตสุทธสร
- พ.ศ. 2466 เป็นพระครูฐานานุกรมในพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัตน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ที่ พระครูธรรมธร และพระครูวิจิตรธรรมคุณ ตามลำดับ
- พ.ศ. 2477 เป็นพระราชาคณะปลัดซ้ายฐานานุกรมในพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ที่ พระจุลคณิศร สัทธรรมนิติธรมหาเถราธิการ คณกิจบรรหารธุรการี สมุหบดีศรีธรรมภาณกาจารย์
- พ.ศ. 2489 เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชกวี นรสีหพจนปิลันธน์ คันถรจนาบัณฑิต ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[4]
- พ.ศ. 2490 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพโมลี ตรีปิฎกธาดา มหากถิกสุนทร ยติคณิศร บวรสังฆาราม คามวาสี[5]
- พ.ศ. 2492 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมปาโมกข์ ยุตตโยคญาณดิลก ไตรปิฎกธารี ธรรมวาที ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[6]
- พ.ศ. 2500 เป็นรองสมเด็จพระราชาคณะที่ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ ญาณวิสุทธิจริยาปริณายก ตรีปิฎกคุณาลังการ นานานสถานราชคมนีย์ สาธุการีธรรมากร สุนทรศีลาทิขันธ์[7]
- พ.ศ. 2506 เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ญาณอดุล สุนทรนายก ตรีปิฎกวิทยาคุณ วิบุลคัมภีรญาณสุนทร ธรรมิกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัณยวาสี[8]
- พ.ศ. 2517 เป็นสมเด็จพระสังฆราชที่ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สุขุมธรรมวิธานธำรง สกลมหาสงฆปริณายก ตรีปิฎกคัมภีรญาณ วาสนภิธานสังฆวิสุต ปาวจนุตตมโสภณ ภัทรผลสาธารณูปกร ชินวรวงศวิวัฒ พุทธบริษัทคารวสถาน วิจิตรปฏิภาณพัฒนคุณ วิบุลศีลสมาจารวัตรสุนทร บวรธรรมบพิตร สมเด็จพระสังฆราช[9]
ภายหลังการสิ้นพระชนม์
- 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 ทรงได้รับการสถาปนาพระอัฐิเป็น สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ ธรรมาภรณคุณวิจิตรปฏิภาณ สุขุมธรรมวิธานธำรง อริยวงศาคตญาณวิมล สกลมหาสงฆปริณายก ตรีปิฎกคัมภีรญาณบัณฑิต วชิราลงกรณนริศหิโตปัธยาจารย์ วาสนภิธานสังฆวิสุต ปาวจนุตตมพิศาล นิทัศนนิทานนิพนธปรีชา ปาวจนุตตมโสภณ ภัทรผลสาธารณูปการ วิมลศีลสมาจารวัตรสุนทร สรรพคณิศรมหาสังฆาธิบดี ศรีสมณุดมบรมบพิตร[10]
พระกรณียกิจ
[แก้]งานพระศาสนา
[แก้]พระองค์ได้บริหารงานพระศาสนา ในการคณะสงฆ์มาโดยตลอดเป็นอันมาก พอประมวลได้ดังนี้
- พ.ศ. 2481 เป็นกรรมการคณะธรรมยุต
- พ.ศ. 2485 เป็นกรรมการมหามงกุฎราชวิทยาลัย เป็นคณาจารย์เอกทางรจนาพระคัมภีร์ และเป็นสมาชิกสภาสังฆสภา
- พ.ศ. 2486 เป็นผู้ช่วยเจ้าคณะตรวจการภาคกลาง และภาค 2 เป็นเจ้าคณะอำเภอพระนคร และเป็นกรรมการการสังคายนาพระธรรมวินัย
- พ.ศ. 2491 เป็นเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และเป็นเจ้าคณะตรวจการณ์ภาค 1
- พ.ศ. 2493 เป็นสังฆมนตรีช่วยว่าองค์การสาธารณูปการ ซึ่งมีสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) เป็นสังฆนายก[11]
- พ.ศ. 2494 เป็นเจ้าคณะธรรมยุต ผู้ช่วยภาค 1-2-6 และเป็นเจ้าคณะจังหวัด พระนคร-สมุทรปราการ และนครสวรรค์
- พ.ศ. 2494 เป็นสังฆมนตรีช่วยว่าองค์การสาธารณูปการ ซึ่งมีพระศาสนโศภน (จวน อุฏฺฐายี) เป็นสังฆนายก[12]
- พ.ศ. 2498 เป็นสังฆมนตรีช่วยว่าองค์การสาธารณูปการ ซึ่งมีสมเด็จพระวันรัต (ปลด กิตฺติโสภโณ) เป็นสังฆนายก[13]
- พ.ศ. 2503 เป็นสังฆมนตรีว่าองค์การสาธารณูปการ ซึ่งมีสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (จวน อุฏฺฐายี) เป็นสังฆนายก[14]
- พ.ศ. 2504 เป็นผู้รักษาการณ์ในตำแหน่งเจ้าคณะธรรมยุต ภาค 1-2-6 และเป็นอุปนายกกรรมการมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ
- นายกกรรมการและนายกสภาการศึกษา มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
- เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต
- ประธานการศึกษาของคณะสงฆ์
- ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม
- ประธารกรรมการมูลนิธิส่งเสริมกิจการศาสนา และมนุษยธรรม
- เป็นองค์อุปถัมภ์ในกิจการด้านการพระศาสนา และการสงเคราะห์ในด้านต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก เช่น มูลนิธิสังฆประชานุเคราะห์ สัมมาชีวศิลปมูลนิธิ ศูนย์และชมรมพุทธศาสนาในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถร) สถานสงเคราะห์คนชราวาสนเวศน์ และมูลนิธิสมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถร) เป็นต้น
งานเผยแผ่ศาสนธรรม
[แก้]งานเผยแผ่ศาสนธรรม นับว่าเป็นงานหลักที่ทรงกระทำเป็นพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง ในรูปแบบต่าง ๆ กล่าวคือ การสังคายนาพระธรรมวินัย ตรวจชำระพระไตรปิฎก ในการสมัยสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี นับเป็นครั้งที่ 3 ของประเทศไทย
การบรรยายธรรม ได้จัดให้มีพระธรรมเทศนาประจำวันธรรมสวนะในพระอุโบสถเป็นประจำ การบรรยายสวดมนต์มีคำนำแปล ณ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ประจำวันพระแรม 8 ค่ำ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2498 ถึง พ.ศ. 2517
การตรวจเยี่ยมพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศทั้ง 73 จังหวัด เพื่อรับทราบปัญหาต่าง ๆ ที่จะได้นำมาปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นต่อไป
การแต่งหนังสือและบทความต่าง ๆ เพื่อสอนพระพุทธศาสนาในระดับต่าง ๆ ไว้เป็นจำนวนมาก
งานสาธารณูปการ
[แก้]งานสาธารณูปการ การตั้งมูลนิธิต่างๆ เพื่อบำรุงพระอาราม
ทรงสร้างและให้ความอุปถัมภ์ในการสร้างวัด โรงเรียน โรงพยาบาล และสาธารณสถานต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก เช่น วัดแสงธรรมสุทธาราม จังหวัดนครสวรรค์ วัดโพธิทอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อาคารเรียนโรงเรียนประชาบาลวัดสระกะเทียม นครปฐม โรงเรียนประชาบาลวัดโพธิ์ทอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถระ) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ศาลาบำเพ็ญบุญ วัดเสนาสนาราม หอนาฬิกา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ศาลาที่พักริมทางหลวง 8 แห่ง ศาลาทรงไทยหน้าพระวิหารพระมงคลบพิตร 2 หลัง และสถานสงเคราะห์คนชราวาสนเวศน์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สิ่งก่อสร้างสุดท้ายคือ โรงเรียนวัดราชบพิธแห่งใหม่ ในที่ดินที่กองทัพบกยกให้ เนื่องในวโรกาสพระชนมายุครบ 90 พรรษา งานสร้างพุทธมณฑล ให้สำเร็จเสร็จทันในมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ ในปี พ.ศ. 2530 เป็นผลงานสำคัญของพระองค์ที่เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521
งานพระนิพนธ์
[แก้]งานพระนิพนธ์ ทรงนิพนธ์หนังสือและบทความต่าง ๆ ทั้ง ร้อยแก้ว และร้อยกรองไว้เป็นจำนวนมาก เช่น ทิศ 6 สังคหวัตถุ 4 สัมปรายิกัตถประโยชน์ วัดของบ้าน พุทธศาสนคุณ พัฒนาใจ บุคคลหาได้ยาก มรดกชีวิต ความเติบโต วาสนาสอนน้อง จดหมายถึงพ่อ วาทแห่งวาสน์ คำกลอนสอนใจ วาสนคติ นิราศ 2 ปี สวนดอกสร้อย สักวาปฏิทิน กลอนปฏิทิน อาจารย์ดี สมพรปาก คน-ระฆัง เรือ-สมาคม วัยที่เขาหมดสงสาร และบทความเรื่องบันทึกศุภาสินี เป็นต้น
สิ้นพระชนม์
[แก้]สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก (วาสนมหาเถร) สิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคพระปับผาสะอักเสบ พระหทัยวาย ณ โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันเสาร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2531 เวลา 16.50 น.[15]
วันเสาร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2532 เวลา 16.30 น. พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ไปในการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก (วาสน์ วาสโน) ณ พระเมรุ วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร ประดิษฐานพระอัฐิ ณ พระวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร[16]
ในปี พ.ศ. 2562 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสถาปนาพระอัฐิของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (วาสน์ วาสโน) ในฐานะพระราชอุปัธยาจารย์เมื่อครั้งทรงผนวช ขึ้นเป็น "สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ" ในการนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เจ้าพนักงานจัดฉัตรตาดเหลือง 5 ชั้น ถวายกางกั้นพระรูปบรรจุพระสรีรางคาร ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กับทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้แบ่งพระอัฐิบรรจุลงพระโกศทองคำ เชิญมาประดิษฐานในหอพระนาก วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อเป็นที่ทรงสักการบูชาและทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายในพระฐานะพระบุพการีทางธรรมสืบไป[10]
อ้างอิง
[แก้]- เชิงอรรถ
- ↑ เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๒, หน้า 99
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, รายนามพระสงฆ์สามเณร ซึ่งได้ รับพระราชทานประกาศนียบัตรพัดยศเปรียญ, เล่ม 34, ตอน ง, 23 ธันวาคม 2460, หน้า 2675
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, การตั้งเปรียญและเปลี่ยนพัด, เล่ม 34, ตอน ง, 23 ธันวาคม 2460, หน้า 2671-2672
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานสัญญาบัตรสมณศักดิ์, เล่มที่ 61, ตอนที่ 15, 19 มีนาคม พ.ศ. 2489, หน้า 154
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานสัญญาบัตร ตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 64, ตอนที่ 27 ง, 17 มิถุนายน 2490, หน้า 1527
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานสัญญาบัตร ตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 66, ตอนที่ 66 ง, 6 ธันวาคม 2492, หน้า 5404
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์, เล่มที่ 74, ตอนที่ 107 ก, 17 ธันวาคม 2500, หน้า 1567-73
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช และ สมเด็จพระราชาคณะ, เล่มที่ 80, ตอนที่ 45 ก ฉบับพิเศษ, 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2506, หน้า 5-6
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช, เล่มที่ 91, ตอนที่ 106, 22 มิถุนายน พ.ศ. 2517, หน้า 4
- ↑ 10.0 10.1 "พระบรมราชโองการ ประกาศ เรื่อง สถาปนาสมเด็จพระสังฆราชเจ้า" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 136 (40 ข): 2. 28 กรกฎาคม 2562. สืบค้นเมื่อ 28 กรกฎาคม 2562.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งและแต่งตั้งคณะสังฆมนตรี, เล่มที่ 67, ตอนที่ 43 ง, 8 สิงหาคม พ.ศ. 2491, หน้า 3374-6
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งและแต่งตั้งคณะสังฆมนตรี, เล่มที่ 68, ตอนที่ 38 ง ฉบับพิเศษ, 19 มิถุนายน พ.ศ. 2494, หน้า 2953-5
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งและแต่งตั้งคณะสังฆมนตรี, เล่มที่ 72, ตอนที่ 61 ง ฉบับพิเศษ, 13 สิงหาคม พ.ศ. 2498, หน้า 18-20
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งคณะสังฆมนตรี, เล่มที่ 77, ตอนที่ 41, 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2503, หน้า 1437-9
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง สมเด็จพระสังฆราชสิ้นพระชนม์, เล่มที่ 105, ตอนที่ 145, 1 กันยายน 2531, หน้า 6378
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, หมายกำหนดการ ที่ ๓/๒๕๓๒ พระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน), เล่ม 106, ตอนที่ 35 ง, 7 มีนาคม 2532, หน้า 1755
- บรรณานุกรม
- กรมศิลปากร. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๒. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2545. 450 หน้า. ISBN 974-417-530-3
- สมมอมรพันธุ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2545. 428 หน้า. ISBN 974-417-530-3
ก่อนหน้า | สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปุ่น ปุณฺณสิริ) | สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (พ.ศ. 2517 – 2531) |
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร | ||
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (จวน อุฏฺฐายี) | ไฟล์:ธรรมยุตินิกาย.gif เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต (พ.ศ. 2515 – 2531) |
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร | ||
พระศาสนโศภน (ภา ภาณโก) | เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร (พ.ศ. 2491 – 2531) |
สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินฺตากโร) |
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2440
- บุคคลที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2531
- สมเด็จพระสังฆราชเจ้า
- กรมหลวง
- สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ
- เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต
- สังฆมนตรีว่าการองค์การสาธารณูปการ
- เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
- เปรียญธรรม 4 ประโยค
- บุคคลจากโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย
- บุคคลจากอำเภอนครหลวง
- เสียชีวิตจากโรคปอดบวม
- เสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลว
- ภิกษุจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา