ข้ามไปเนื้อหา

องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ

พิกัด: 14°2′55″N 100°42′58″E / 14.04861°N 100.71611°E / 14.04861; 100.71611
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
National Science Museum Thailand
ตราสัญลักษณ์ใหม่
ตราสัญลักษณ์เดิม
ภาพรวมองค์การ
ก่อตั้ง30 มกราคม พ.ศ. 2538; 29 ปีก่อน (2538-01-30)[1]
ประเภทรัฐวิสาหกิจ
เขตอำนาจทั่วราชอาณาจักร
สำนักงานใหญ่

14°2′55″N 100°42′58″E / 14.04861°N 100.71611°E / 14.04861; 100.71611
บุคลากร182 คน (พ.ศ. 2566)
งบประมาณต่อปี1,120,560,700 บาท
(พ.ศ. 2568)[2]
ฝ่ายบริหารองค์การ
  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รวิน ระวิวงศ์, ผู้อำนวยการ
  • สุวรงค์ วงษ์ศิริ, รองผู้อำนวยการ
  • ชนินทร วรรณวิจิตร, รองผู้อำนวยการ
  • ดร. กรรณิการ์ เฉิน, รองผู้อำนวยการ
ต้นสังกัดองค์การกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
เว็บไซต์เว็บไซต์ขององค์การ
เชิงอรรถ
ข้อมูลพิพิธภัณฑ์
แผนที่
ที่ตั้ง
ประเภทพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์
ได้รับการรับรองศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเครือข่ายแปซิปิก (ASPAC)

องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.หรือ NSM) มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัด กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดตั้งตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ เมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2538 เพื่อรับผิดชอบการพัฒนาและจัดการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และศูนย์การเรียนรู้ต่างๆ ประกอบด้วย พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ และ พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า ซึ่งพิพิธภัณฑ์ทั้งหมดตั้งอยู่ ณ เทคโนธานี ถนนเลียบคลองห้า ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี รวมถึง จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. ที่ศูนย์การค้า เดอะสตรีท รัชดา กรุงเทพฯ และ จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. เชียงใหม่ ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร

ประวัติ

[แก้]

เมื่อปี พ.ศ. 2533 คณะรัฐมนตรีมีมติให้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ขึ้น โดยให้กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมในขณะนั้น ดูแลพัฒนาโครงการและรับผิดชอบงาน ต่อมาในปี พ.ศ. 2534 ได้รับอนุมัติให้จัดโครงการจัดตั้ง “พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์” เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาส พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ ในวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2535 โดยเริ่มก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ในปี พ.ศ. 2537 จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2538 คณะรัฐมนตรีมีมติให้จัดตั้ง องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เพื่อเป็นหน่วยงานบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ โดยได้มีพระราชกำหนดจัดตั้งองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ (อพวช.) ประกาศในราชกิจจานุเบกษา 30 มกราคม พ.ศ. 2538 ให้มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม (ในขณะนั้น) ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนเป็นกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ดำเนินการพัฒนา “พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์” ซึ่งตั้งอยู่ ณ เทคโนธานี ถนนเลียบคลองห้า ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี อาคารพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ เป็นอาคารที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่นด้วยรูปทรงลูกบาศก์ 3 ลูกเชื่อมติดกัน ภายในอาคารประกอบด้วยพื้นที่นิทรรศการ 6 ชั้น ในพื้นที่ 10,000 ตารางเมตร มีการจัดแสดงเนื้อหาเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์พื้นฐาน วิทยาศาสตร์ในชีวิตประจำวัน และวิทยาศาสตร์ในภูมิปัญญาไทย พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2543

ต่อมาในปี พ.ศ. 2546 อพวช. ได้เปิดให้บริการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกัน มีพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการประมาณ 3,000 ตารางเมตร จัดแสดงนิทรรศการที่เกี่ยวกับกำเนิดโลกและสิ่งมีชีวิต การจำแนกประเภทสิ่งมีชีวิตต่างๆ รวมถึงมีการเก็บรักษาตัวอย่างทางธรรมชาติวิทยา

ปี พ.ศ. 2554 อพวช. ได้พัฒนาแหล่งเรียนรู้วิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นอีกแห่งหนึ่งที่จัตุรัสวิทยาศาสตร์ มีพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการและกิจกรรมต่างๆ ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม บนพื้นที่ประมาณ 3,000 ตารางเมตร ตั้งอยู่ที่บริเวณชั้น 4-5 อาคาร จัตุรัสจามจุรี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร (อาคารศูนย์การค้าของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ซึ่งได้เปิดให้เข้าชมตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2554 แต่ปัจจุบันได้ปิดให้บริการแล้วเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2562

ปี พ.ศ. 2556 อพวช. เปิดให้บริการพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกับ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ภายในอาคารที่มีพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการรวม 9,300 ตารางเมตร มีการจัดแสดงเนื้อหาเกี่ยวกับวิวัฒนาการของเทคโนโลยีการสื่อสารและการคำนวณ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของคอมพิวเตอร์ และพัฒนาต่อมาเป็นเทคโนโลยีสารสนเทศหลากหลายรูปแบบในปัจจุบัน

ปี พ.ศ. 2562 อพวช. ได้เปิดให้บริการ พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า เป็นพิพิธภัณฑ์แห่งที่ 4 ภายในพื้นที่ อพวช.  โดยพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า เป็นโครงการที่ริเริ่มเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยนำเสนอหลักการคิด วิธีการทรงงาน และกระบวนการค้นหาคำตอบตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงพระราชทานแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อแก้ปัญหาแก่พสกนิกรในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงนิทรรศการและกิจกรรมที่แสดงถึงวิวัฒนาการของโลกและสิ่งมีชีวิต ระบบนิเวศวิทยาของภูมิภาค และความหลากหลายทางชีวภาพในภาพรวมของโลกและของประเทศไทย พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2562

ปี พ.ศ. 2564 อพวช. ได้พัฒนาแหล่งเรียนรู้ จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. ขึ้น ณ กรุงเทพมหานคร ในชื่อ “จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. เดอะ สตรีท รัชดา” เป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการและกิจกรรมต่าง ๆ ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ตั้งอยู่ที่ชั้น 5 ศูนย์การค้า เดอะ สตรีท รัชดา ต่อมา อพวช. ได้พัฒนาและเปิดแหล่งเรียนรู้แห่งใหม่ขึ้นที่ จังหวัดเชียงใหม่ ในชื่อ “จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. เชียงใหม่” โดยได้รับความร่วมมือจาก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ให้จัดตั้ง “จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. เชียงใหม่” ภายในอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่  ซึ่งเป็นพื้นที่การเรียนรู้นอกห้องเรียนให้กับเยาวชนและประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือ โดยทั้งสองที่ได้เปิดให้เข้าชมตั้งแต่เดือนมีนาคม

พิพิธภัณฑ์ อพวช.

[แก้]

พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์

[แก้]
พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์

พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์[3] เป็นอาคารที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่นด้วยรูปทรงลูกบาศก์ 3 ลูกเชื่อมติดกัน ภายในอาคารประกอบด้วยพื้นที่นิทรรศการ 6 ชั้น โดยจัดแสดงเนื้อหานิทรรศการเกี่ยวกับประวัตินักวิทยาศาสตร์ ประวัติของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  วิทยาศาสตร์พื้นฐาน พลังงาน วิทยาศาสตร์ในชีวิตประจำวัน  และวิทยาศาสตร์ในภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย แต่ละชั้นประกอบด้วยสาระดังนี้

ชั้นที่ 1 นักวิทยาศาสตร์รุ่นบุกเบิก และกิจกรรมเสริมศึกษา ได้แก่  Enjoy Maker Space, Engineering Design, ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์, การแสดงทางวิทยาศาสตร์ และนิทรรศการหมุนเวียน

ชั้นที่ 2 ประวัติการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี

ชั้นที่ 3 วิทยาศาสตร์พื้นฐาน อุโมงค์พลังงาน และ โรงภาพยนตร์พลังงาน 4 มิติ

ชั้นที่ 4 โลกของเรา ธรณีวิทยา ภูมิศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เกษตรแห่งความสุข และ สิ่งก่อสร้างและโครงสร้าง

ชั้นที่ 5 ร่างกายของเรา การคมนาคม คุณภาพชีวิต วิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และนาโนเทคโนโลยี

ชั้นที่ 6 เทคโนโลยีภูมิปัญญาไทย

พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา[4]

[แก้]

พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2546 เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการศึกษาวิจัยด้านธรรมชาติวิทยาและวัสดุอุเทศน์ของประเทศไทยและประเทศใกล้เคียง และยังเป็นศูนย์จัดแสดงนิทรรศการความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งนำเสนอตั้งแต่การกำเนิดโลก สู่กำเนิดสรรพสิ่งและสิ่งมีชีวิต ประกอบด้วยส่วนแสดงนิทรรศการถาวร 1,000 ตารางเมตร ส่วนแสดงนิทรรศการหมุนเวียน และห้องแสดงนิทรรศการนายแพทย์บุญส่ง เลขะกุลพร้อมด้วยตัวอย่างเขาสัตว์ที่ท่านได้มอบให้กับพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา พื้นที่ 400 ตารางเมตร พื้นที่รวมจัดแสดง 1,400 ตารางเมตร

การจัดแสดงนิทรรศการ ประกอบด้วยส่วนจัดแสดงหลัก 4 ส่วน  ได้แก่

ส่วนที่ 1 การกำเนิดโลก

ส่วนที่ 2 การกำเนิดสิ่งมีชีวิต

ส่วนที่ 3 วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต

ส่วนที่ 4 ความหลากหลายทางชีวภาพ

พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ยังเป็นคลังเก็บวัตถุตัวอย่าง ประกอบด้วยคลังเก็บวัตถุตัวอย่างแห้ง และคลังเก็บวัตถุตัวอย่างเปียก พื้นที่ 1,200 ตารางเมตร วัตถุตัวอย่างเริ่มต้นจากการบริจาคตัวอย่างนกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจากครอบครัว นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล และตัวอย่างปลา สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์ทะเลที่ไม่มีกระดูกสันหลัง จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ต่อมาจึงได้เก็บตัวอย่างพืชและสัตว์ทุกชนิดต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน

พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ

[แก้]
พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ

พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ[5] จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับความรู้ ประโยชน์ และความสำคัญของเทคโนโลยีการสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อเตรียมคนไทยสู่สังคมดิจิทัล สร้างความตระหนักรู้เท่าทันเทคโนโลยีซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงนิทรรศการถาวรที่เล่าเรื่องราววิวัฒนาการของเทคโนโลยีการสื่อสารนับตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงยุคปัจจุบัน  ผ่านการนำเสนอด้วยเทคนิคแสงสีเสียงที่ทันสมัย ประกอบด้วยชิ้นงาน เครื่องเล่นทางวิทยาศาสตร์ สื่อประสมเชิงปฏิสัมพันธ์ และกิจกรรมเสริมการเรียนรู้มากมาย เพื่อให้เกิดความสนุกสนาน เพลิดเพลิน ไปกับการเรียนรู้ภายในพิพิธภัณฑ์ นิทรรศการถาวรประกอบด้วยส่วนจัดแสดงหลัก 6 ส่วน ได้แก่

ส่วนที่ 1  ประตูสู่วิวัฒนาการเทคโนโลยีสารสนเทศ

ส่วนที่ 2 การสื่อสารยุคก่อนประวัติศาสตร์

ส่วนที่ 3 การสื่อสารยุคอิเล็กทรอนิกส์

ส่วนที่ 4 การคำนวณ

ส่วนที่ 5 คอมพิวเตอร์

ส่วนที่ 6 เทคโนโลยีสารสนเทศกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต

พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า[6] เป็นโครงการที่ริเริ่มเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยนำเสนอหลักการคิด วิธีการทรงงาน และกระบวนการค้นหาคำตอบตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงพระราชทานแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อแก้ปัญหาแก่พสกนิกรในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงนิทรรศการและกิจกรรมที่แสดงถึงวิวัฒนาการของโลกและสิ่งมีชีวิต ระบบนิเวศวิทยาของภูมิภาค และความหลากหลายทางชีวภาพในภาพรวมของโลกและของประเทศไทย

พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า จึงเอื้อประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของประชาชนชาวไทยอย่างลึกซึ้งและกว้างขวาง ในการส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจและความตระหนักในบทบาทความสัมพันธ์ของระบบนิเวศที่สำคัญของโลกและของประเทศไทย อันจะนำไปสู่การมีจิตสำนึกในการรักษา อนุรักษ์ระบบนิเวศ และเตรียมรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างรู้เท่าทัน

การจัดแสดงนิทรรศการ ประกอบด้วยส่วนจัดแสดงหลัก 3 ส่วน ได้แก่

ส่วนที่ 1 บ้านของเรา กำเนิดโลกและสิ่งมีชีวิต

ส่วนที่ 2 ชีวิตของเรา ชีวนิเวศแบบต่างๆ บนโลกนี้

ส่วนที่ 3 ในหลวงของเรา ศาสตร์พระราชาสู่การอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน

จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช.

[แก้]

จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. ณ เดอะสตรีท รัชดา

[แก้]

แหล่งเรียนรู้แห่งใจกลางกรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่สำหรับส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต และสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ร่วมกันภายในครอบครัว เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งประกอบด้วยนิทรรศการและกิจกรรมเสริมศึกษา ดังนี้

1. กิจกรรม BLUE BOX IMAGINARIUM

2. กิจกรรม Inspire Lab

3. กิจกรรม Innovation Space

4. กิจกรรม Explorium

5. กิจกรรม I-SCREAM

จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. เชียงใหม่

[แก้]

จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. เชียงใหม่ ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร เชียงใหม่ แหล่งเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มุ่งเน้นการสร้างเสริมประสบการณ์และแรงบันดาลใจให้แก่เด็กและเยาวชน ด้านอาชีพวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่น่าสนใจในอนาคต ผ่านนิทรรศการสื่อสัมผัส และกิจกรรมที่สนุกสนาน เข้าใจง่าย ได้รับความรู้และแรงบันดาลใจไปพร้อมๆกัน ตอบสนองการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เข้าสู่อาชีพอุตสาหกรรมใหม่เพื่อพัฒนาประเทศ และขยายโอกาสทางการศึกษาให้เยาวชนในภูมิภาค บนพื้นที่กว่า 1,300 ตารางเมตร ประกอบด้วยนิทรรศการ ทั้งหมด 4 ส่วน ดังนี้

ส่วน 1 เปิดโลกอาชีพแห่งอนาคต

ส่วน 2 เปิดโลกทางการแพทย์

ส่วน 3 ฐานปฏิบัติการภัยพิบัติ

ส่วน 4 การบินและอวกาศ

จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. โคราช

[แก้]

จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. โคราช ตั้งอยู่ ณ อาคารกาญจนาภิเษก เป็นแหล่งเรียนรู้ที่รวบรวมศาสตร์ความรู้ด้านอาชีพทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เนื้อหาของนิทรรศการเกี่ยวกับด้านวิทยาศาสตร์ การแพทย์ วิศวกรรมศาสตร์ และการเกษตร ซึ่งได้เชื่อมโยงกับสาขาวิชาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี นำองค์ความรู้ของแต่ละสาขาวิชามาถ่ายทอด เพื่อให้ได้ต่อยอดการเรียนรู้ไปสู่การศึกษาที่เหมาะสมในการพัฒนาประเทศ เพื่อสร้างประสบการณ์และแรงบันดาลใจให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป อาคารแห่งนี้แบ่งออกเป็น 3 โซนการเรียนรู้ ได้แก่

1. โซนการเรียนรู้ STEM Careers of the Future

2. โซนการเรียนรู้ Inspire Lab

3. โซนการเรียนรู้ Innovation Space

คาราวานวิทยาศาสตร์ และนิทรรศการเคลื่อนที่

[แก้]

คาราวานวิทยาศาสตร์ เป็นรูปแบบของพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์เคลื่อนที่ เริ่มขึ้นในปี 2548 โดยร่วมกับหน่วยงานในท้องถิ่นเช่น โรงเรียน มหาวิทยาลัย องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น โดยคาราวานเน้นการนำเสนอความรู้ในรูปแบบที่เข้าใจง่าย สร้างความสนุกสนานและสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ตามอัธยาศัย ผ่านชิ้นงานสื่อสัมผัสและกิจกรรมที่หลากหลายของ อพวช.

กิจกรรมเสริมศึกษา

[แก้]

กิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ การคิดแบบวิทยาศาสตร์ ภายใต้พื้นฐานข้อมูลที่ถูกต้อง และให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลิกภาพ เพื่อให้เยาวชนเกิดความเข้มแข็งทางความคิดและจิตใจ สู่การเป็นกำลังสำคัญในการสร้างสรรค์และพัฒนาชาติอย่างยั่งยืนต่อไป เช่น ค่ายวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ ห้องการทดลองวิทยาศาสตร์ การแสดงวิทยาศาสตร์ โดมดูดาว เป็นต้น

อ้างอิง

[แก้]
  1. https://newswit.com/th/L0WO
  2. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 เล่ม 132 ตอนที่ 91ก วันที่ 25 กันยายน 2558
  3. Thailand, Museum. "พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช. :: Museum Thailand". www.museumthailand.com.
  4. Thailand, Museum. "พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อพวช. :: Museum Thailand". www.museumthailand.com.
  5. Thailand, Museum. "พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ อพวช. :: Museum Thailand". www.museumthailand.com.
  6. Thailand, Museum. "พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า อพวช. :: Museum Thailand". www.museumthailand.com.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]