อำเภอท่าเรือ
อำเภอท่าเรือ | |
---|---|
การถอดเสียงอักษรโรมัน | |
• อักษรโรมัน | Amphoe Tha Ruea |
สถานีรถไฟท่าเรือ | |
คำขวัญ: ถิ่นกำเนิดหลวงพ่อโต แดนตะโกดัดงาม เย็นสายน้ำนามป่าสัก วิวสวยนักเขื่อนพระรามหก | |
แผนที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เน้นอำเภอท่าเรือ | |
พิกัด: 14°33′6″N 100°43′39″E / 14.55167°N 100.72750°E | |
ประเทศ | ไทย |
จังหวัด | พระนครศรีอยุธยา |
พื้นที่ | |
• ทั้งหมด | 106.189 ตร.กม. (41.000 ตร.ไมล์) |
ประชากร (2566) | |
• ทั้งหมด | 45,379 คน |
• ความหนาแน่น | 427.34 คน/ตร.กม. (1,106.8 คน/ตร.ไมล์) |
รหัสไปรษณีย์ | 13130 |
รหัสภูมิศาสตร์ | 1402 |
ที่ตั้งที่ว่าการ | ที่ว่าการอำเภอท่าเรือ เลขที่ 133 หมู่ที่ 1 ตำบลท่าเจ้าสนุก อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 13130 |
ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย |
ท่าเรือ เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เดิมชื่อ อำเภอนครน้อย ต่อมาในปี พ.ศ. 2460 ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นชื่ออำเภอดังเช่นปัจจุบัน[1]
ที่ตั้งและอาณาเขต
[แก้]อำเภอท่าเรือตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัด มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอดอนพุดและอำเภอบ้านหมอ (จังหวัดสระบุรี)
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอเสาไห้และอำเภอหนองแซง (จังหวัดสระบุรี)
- ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอภาชี
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอนครหลวง
ประวัติศาสตร์
[แก้]- วันที่ 1 เมษายน 2480 เปลี่ยนแปลงเขตจังหวัดสระบุรี กับจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โอนพื้นที่ตำบลบ้านร่อม อำเภอหนองโดน (อำเภอบ้านหมอในปัจจุบัน) จังหวัดสระบุรี มาขึ้นกับ อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา[2]
- วันที่ 16 มกราคม 2481 โอนพื้นที่หมู่ 5,6,7 (ในขณะนั้น) ของตำบลโคกมะนาว ไปขึ้นกับตำบลท่าเรือ[3]
- วันที่ 15 พฤษภาคม 2482 เปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอท่าเรือ (1,2,3,4,5,6)[4]
- (1) โอนพื้นที่หมู่ 6 (ในขณะนั้น) ของตำบลท่าเจ้าสนุก ไปขึ้นกับตำบลบ้านร่อม
- (2) ยุบตำบลสวนพริก แล้วโอนพื้นที่หมู่ 1,2,3 (ในขณะนั้น) ของตำบลสวนพริก (ที่โดนยุบ) ไปขึ้นกับตำบลท่าเจ้าสนุก และโอนพื้นที่หมู่ 4 (ในขณะนั้น) ของตำบลสวนพริก (ที่โดนยุบ) ไปขึ้นกับตำบลหนองขนาก
- (3) ยุบตำบลบ้านแขก แล้วโอนพื้นที่หมู่ 1,2 (ในขณะนั้น) ของตำบลบ้านแขก (ที่โดนยุบ) ไปขึ้นกับตำบลท่าเจ้าสนุก และโอนพื้นที่หมู่ 3,4,5,6 (ในขณะนั้น) ของตำบลบ้านแขก (ที่โดนยุบ) ไปขึ้นกับตำบลศาลาลอย
- (4) รวมตำบลบ้านบึง เข้ากับตำบลวังแดง แล้วจัดตั้งเป็น ตำบลวังแดง
- (5) โอนพื้นที่หมู่ 5,6,7 (ในขณะนั้น) ของตำบลจำปา ไปขึ้นกับตำบลหนองขนาก
- (6) ยุบตำบลโคกมะนาว แล้วโอนพื้นที่หมู่ 1,2,3,4,8,9 (ในขณะนั้น) ของตำบลโคกมะนาว (ที่โดนยุบ) ไปขึ้นกับตำบลจำปา และโอนพื้นที่หมู่ 5,6,7 (ในขณะนั้น) ของตำบลโคกมะนาว (ที่โดนยุบ) ไปขึ้นกับตำบลท่าเรือ
- วันที่ 26 ธันวาคม 2487 จัดตั้งเทศบาลตำบลท่าเรือ ในท้องที่บางส่วนตำบลท่าเรือ[5]
- วันที่ 10 มิถุนายน 2490 ตั้งตำบลท่าเจ้าสนุก แยกออกจากตำบลท่าเรือ ตั้งตำบลโพธิ์เอน แยกออกจากตำบลปากท่า[6]
- วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2499 โอนพื้นที่หมู่ 9,10 (ในขณะนั้น) ของตำบลหนองขนาก อำเภอท่าเรือ ไปขึ้นตำบลดอนหญ้านาง อำเภอภาชี[7]
- วันที่ 1 มีนาคม 2501 จัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลไก่จ้น ในท้องที่อำเภอท่าเรือ[8]
- วันที่ 11 เมษายน 2504 เปลี่ยนแปลงชื่อตำบลไก่จ้น อำเภอท่าเรือ เป็น ตำบลท่าหลวง[9]
- วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2506 ยุบองค์การบริหารส่วนตำบลไก่จ้น อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจัดตั้งสุขาภิบาลท่าหลวง ในท้องที่บางส่วนของตำบลท่าหลวง บางส่วนของตำบลท่าเรือ และบางส่วนของตำบลจำปา[10]
- วันที่ 21 ตุลาคม 2517 โอนพื้นที่ตำบลท่าเรือที่อยู่นอกเขตเทศบาลตำบลท่าเรือ (ในสมัยนั้น) ไปขึ้นกับตำบลจำปา[11]
- วันที่ 25 ธันวาคม 2524 เปลี่ยนแปลงเขตเทศบาลตำบลท่าเรือ ให้ครอบคลุมตำบลท่าเรือทั้งหมด[12]
- วันที่ 25 พฤษภาคม 2542 ยกฐานะจากสุขาภิบาลท่าหลวง เป็นเทศบาลตำบลท่าหลวง
การแบ่งเขตการปกครอง
[แก้]การปกครองส่วนภูมิภาค
[แก้]อำเภอท่าเรือแบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 10 ตำบล 84 หมู่บ้าน
1. | ท่าเรือ | (Tha Ruea) | - | 6. | วังแดง | (Wang Daeng) | 8 หมู่บ้าน | ||||||||||||
2. | จำปา | (Champa) | 9 หมู่บ้าน | 7. | โพธิ์เอน | (Pho En) | 6 หมู่บ้าน | ||||||||||||
3. | ท่าหลวง | (Tha Luang) | 10 หมู่บ้าน | 8. | ปากท่า | (Pak Tha) | 8 หมู่บ้าน | ||||||||||||
4. | บ้านร่อม | (Ban Rom) | 9 หมู่บ้าน | 9. | หนองขนาก | (Nong Khanak) | 10 หมู่บ้าน | ||||||||||||
5. | ศาลาลอย | (Sala Loi) | 15 หมู่บ้าน | 10. | ท่าเจ้าสนุก | (Tha Chao Sanuk) | 9 หมู่บ้าน |
การปกครองส่วนท้องถิ่น
[แก้]ท้องที่อำเภอท่าเรือประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 11 แห่ง ได้แก่
- เทศบาลตำบลท่าเรือ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลท่าเรือทั้งตำบล
- เทศบาลตำบลท่าหลวง ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลจำปาและตำบลท่าหลวง
- องค์การบริหารส่วนตำบลจำปา ครอบคลุมพื้นที่ตำบลจำปา (นอกเขตเทศบาลตำบลท่าหลวง)
- องค์การบริหารส่วนตำบลท่าหลวง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลท่าหลวง (นอกเขตเทศบาลตำบลท่าหลวง)
- องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านร่อม ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านร่อมทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลศาลาลอย ครอบคลุมพื้นที่ตำบลศาลาลอยทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลวังแดง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลวังแดงทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลโพธิ์เอน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลโพธิ์เอนทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลปากท่า ครอบคลุมพื้นที่ตำบลปากท่าทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลหนองขนากครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองขนากทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลท่าเจ้าสนุก ครอบคลุมพื้นที่ตำบลท่าเจ้าสนุกทั้งตำบล
เศรษฐกิจ
[แก้]อำเภอท่าเรือแต่เดิมเป็นเขตเกษตรกรรมมีการเพาะปลูกข้าวและการเพาะเลี้ยงพันธุ์ปลาจากสายน้ำแห่งแม่น้ำป่าสัก มีเขื่อนพระราม 6 ซึ่งเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยว
สถานที่ท่องเที่ยว
[แก้]อำเภอท่าเรือมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจและเป็นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้แก่
- เขื่อนพระราม 6 เป็นเขื่อนทดน้ำเพื่อการเกษตรแห่งแรกของประเทศไทย
- วัดสะตือ พุทธไสยาสน์ ซึ่งเป็นสถานที่สมเด็จพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี เกิดในเรือซึ่งอยู่บริเวณใกล้เคียงกับวัดแห่งนี้ จึงได้มีการอัญเชิญพระพุทธรูปของสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี ประดิษฐานปางไสยาสน์อยู่ในวัดแห่งนี้
- วัดบึงลัฏฐิวัล เป็นวัดสายปฏิบัติธรรม มีพระธาตุเจดีย์ศรีอยุธยาสัมมาสัมโพธิญาณ และมีบรรยากาศร่มรื่นเหมาะแก่การปฏิบัติธรรม
- วัดหนองแห้ว วัดตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลท่าเรือมีพระองค์ใหญ่ไม่มีการตั้งชื่ออย่างเป็นทางการ โดยชาวบ้านเรียกว่า'หลวงพ่อใหญ่'ตั้งอยู่ในบริเวณวัดเป็นที่เคารพและนับถือของชาวบ้าน
- วัดไม้รวก วัดนี้สร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 มีภาพจิตรกรรมฝาผนังโบราณ มีพระพุทธรูปปางป่าเลไลย์และพระพุทธรูปปางไสยาสน์จำลองประดิษฐานอยู่ภายในวัด
- วัดศาลาลอย ตั้งอยู่ในตำบลศาลาลอย เดิมมีชื่อว่าวัดศิลาลอยเนื่องจากมีศิลาลอยน้ำมาชาวบ้านจึงช่วยกันอันเชิญศิลาขึ้นมาแต่ไม่สำเร็จ ปัจจุบันศิลานั้นประดิษฐานอยู่ที่วัดเทพจันทร์ลอย อำเภอนครหลวง สิ่งที่น่าสนใจของวัดนี้คือพระองค์ใหญ่ที่ประดิษฐานในวิหาร
- วัดไก่จ้น เป็นถิ่นกำเนิดสมเด็จพระพุฒาจารย์มีรูปปั้นจำลงอสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) และพระพุทธรูปปางป่าเลไลย์ ประดิษฐานในวิหาร
- Sriayuthaya Lion Park ศรีอยุธยาไลอ้อนปาร์ค
การขนส่ง
[แก้]- การรถไฟแห่งประเทศไทย — สายเหนือ
- สถานี: หนองวิวัฒน์ – บ้านปลักแรด – ท่าเรือ
- ทางรถไฟสายพระพุทธบาท (ยกเลิกเดินรถแล้ว)
- ถนนสายหลัก:
- ถนนสายภาชี - ท่าเรือ
- ถนนสายนครหลวง - ท่าเรือ
- ถนนสายท่าเรือ-พระพุทธบาท
- ถนนสายท่าเรือ - ท่าลาน
ขนมขึ้นชื่อประจำอำเภอ
[แก้]ขนมบ้าบิ่น เป็นขนมที่มีชื่อเสียงชนิดหนึ่งของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ขนมบ้าบิ่นที่ขึ้นชื่อนั้นเป็นขนมบ้าบิ่นของอำเภอท่าเรือ ซึ่งเป็นขนมที่มีรสชาติหวานมันหอม ในปัจจุบันนี้ผู้ผลิตได้พัฒนาให้มีถึง 3 ชนิด คือ ชนิดสีขาวทำจากมะพร้าวอ่อน ชนิดสีเขียวทำมาจากใบเตย ชนิดสีดำหรือสีม่วงทำมาจากข้าวเหนียวดำ ชาวบ้าน ทำไว้สำหรับบริโภคภายในครัวเรือนและแลกเปลี่ยนกับเพื่อนบ้าน และเป็นอาชีพที่ ทำรายได้แก่ประชาชนชาวอำเภอท่าเรือ อีกอย่างหนึ่งด้วย[ต้องการอ้างอิง]
สถานศึกษา
[แก้]โรงเรียนมัธยมศึกษา
[แก้]
โรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา[แก้]
|
สังกัดเทศบาลตำบลท่าเรือ[แก้]
สังกัดเทศบาลตำบลท่าหลวง[แก้]
โรงเรียนเอกชน[แก้]
|
สถานที่ราชการและสถานที่สำคัญ
[แก้]
|
ธนาคาร
บริษัทประกันภัย
|
วัดราษฏร์ในอำเภอท่าเรือ
[แก้]วัดราษฏร์มหานิกาย
[แก้]
|
|
วัดราษฏร์ธรรมยุติกนิกาย
[แก้]เหตุการณ์สำคัญ
[แก้]ในวันอาทิตย์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2508 เวลาประมาณ 16.20 น. เกิดเหตุการณ์คนร้ายจำนวน 17 คน พร้อมกับอาวุธปืนจำนวนมากบนรถ ได้ขับรถอีซูซุสีเทามายังตลาดเทศบาลตำบลท่าเรือ เพื่อทำการปล้นและชิงทรัพย์ หลังจากนั้นกลุ่มคนร้ายได้กระจายกำลังไปยังหน้าสถานีตำรวจและที่ว่าการอำเภอเพื่อข่มขู่เจ้าหน้าที่ ส่วนคนร้าย 5 คนได้ปล้นร้านทอง 5 แห่งในตลาดท่าเรือ ขณะที่แก้ว แซ่หล่า เจ้าของร้านทองเล่าย่งเฮงกำลังปิดร้านทองเล่าย่งเฮงเขาได้เห็นทวี เฉลิมสมัยหนึ่งในคนร้ายซึ่งเคยเรียนโรงเรียนเดียวกันกำลังถือปืนสั้นเข้ามาในร้านจึงร้องว่า "อ้ายวี มึงเองหรือ?” ทวีจึงยิงนายแก้วเสียชีวิต แล้วคนร้ายก็ใช้พานท้ายปืนทุบตู้ทอง ก่อนจะกวาดทองไปเป็นมูลค่า 9 หมื่น 5 พันบาทใส่ถุงแล้วออกจากร้านทองเล่าย่งเฮง หลังจากออกจากร้านกลุ่มโจรได้เห็นจอม เปี่ยมสาคร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ตำบลท่าเจ้าสนุก แต่งเครื่องแบบเพื่อไปร่วมงานวันเฉลิมพระชนม์พรรษาของรัชกาลที่ 9ที่อำเภอ ส่งผลให้กลุ่มโจรเข้าใจผิดว่าจอมเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทวีจึงยิงจอมเสียชีวิต ในร้านทองย่งฮวด ตังสิ่น แซ่ตั้ง ซึ่งเป็นเจ้าของร้านได้พยายามขัดขืนคนร้ายจึงถูกยิงเสียชีวิต ส่วนในหนังสือประวัติ อำเภอท่าเรือ เรียบเรียงโดยสุรศักดิ์ พุ่มวันเพ็ญได้เขียนว่า"ตั้งสิน แซ่ตั้งถูกคนร้ายใช้พานท้ายปืนของคนร้ายตีที่ศรีษะจนเสียชีวิตในสภาพศพมันสมองกระจาย เนื่องจากขณะคนร้ายบังคับให้เขาเปิดตู้ทอง จากความชราเชื่องช้าของเขาไม่ทันใจคนร้าย จึงถูกคนร้ายใช้พานท้ายปืนฟาดที่ศีรษะจนเสียชีวิต" ที่ร้านทองฮั่วซ่งหลี เล่าท้อ แซ่ฮั้ว และเซี๊ยะกิม แซ่ฮั้ว กำลังจะนำทองไปซ่อนแต่กลุ่มคนร้ายถูกปืนได้บุกเข้ามาในร้าน ทำให้ทั้งคู่กลัวจนไม่ได้ขยับตัว เมื่อคนร้ายกำลังจะออกจากร้าน คนร้ายได้ยิงปืนกลเพื่อข่มขวัญ ส่งผลให้เซี๊ยะกิมหัวใจวายเสียชีวิต และหนึ่งในคนร้ายยังได้พาตัวของนางสาวเซี๊ยะคิ้มออกจากร้านไปด้วย การปล้นสิ้นสุดลงหลังจากหัวหน้าของกลุ่มคนร้ายได้ตะโกนว่า"อ้ายเสือถอย" เพื่อให้กลุ่มคนร้ายกลับมาขึ้นรถแล้วใช้ปืนยิงไปรอบๆส่งผลให้นิภา เกตุอ่ำซึ่งกำลังให้นมลูกถูกยิงที่ขา กลุ่มคนร้ายได้ขับรถสองแถวไปจนถึงตำบลบ้านร่อมซึ่งห่างจากที่เกิดเหตุ 3 กิโลเมตร คนร้ายได้ปล่อยตัวเซี๊ยะคิ้มลงข้างทางหลังจากเธอร้องขอชีวิตไปตลอดทาง หลังจากนั้นคนร้ายได้ลงจากรถสองแถวและปล่อยตัวของวิชัย มานะกิจมงคลคนขับซึ่งถูกกลุ่มร้ายจี้ไป ก่อนจะเดินตัดทุ่งไป[13]
พ.ต.ท.สมหวัง เพ็ญสูตรได้รับข่าวว่าคนร้ายได้ลงจากรถที่บ้านร่อมและกำลังเดินตัดทุ่งเพื่อหลบหนี จึงนำเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามคนร้ายไปจนทัน เมื่อคนร้ายเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจตามมาจึงจับชาวนาเป็นโล่มนุษย์และยิงปะทะ ทำให้เป็นอุปสรรคในการยิงปะทะกับคนร้ายของเจ้าหน้าที่ เมื่อถึงเวลากลางคืนกลุ่มคนร้ายทั้งหมดได้อาศัยความมืดเพื่อหลบหนีไป ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนจนทราบว่าหัวหน้ากลุ่มคนร้ายคือใบ กุลแพ หรือฉายาเจ้าพ่อกำแพงเขย่ง และเป็นคนใช้ปืนจี้คนรับรถสองแถว โดยมีละมาย ภู่แสนสะอาด หรือเสือมาย เป็นผู้วางแผนปล้นและเป็นคนพาตัวของนางสาวเซี๊ยะคิ้มออกจากร้าน สองวันหลังเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำกำลังเข้าล้อมบ้านของใยที่ตำบลดอนโพธิ์และสามารถจับกุมใบได้ วันถัดมาได้มีสายตำรวจรายงานว่าสมบุญ มากฤทธิ์ หนึ่งในกลุ่มคนร้ายได้หลบหนีไปอยู๋บ้านพรรคพวกในตำบลโพธิ์เอน พ.ต.ท.สมหวังจึงนำกำลังตำรวจไปล้อมบ้านตั้งแต่เวลา 03.00 น. แล้วบุกเข้าไปจับกุมเมื่อสว่าง สมบุญได้พยายามหยิบปืน แต่ถูกตำรวจหลายนายใช้ปืนจ่อ จึงยอมให้ถูกจับกุม โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจสามรถยึดปืนพก 1 กระบอก และกระสุนจำนวน 102 นัด พร้อมกับนาฬิกา 1 เรือนและเครื่องทองอีกเป็นจำนวนมาก ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดเดียวกันได้จับกุมทวี เฉลิมสมัย ที่บ้านแม่ของเขา พร้อมกับของกลางจำนวน 48 รายการ วันที่ 27 ธันวาคม สายตำรวจรายงานว่าบุญเลิศ ปลอดเกิด หนึ่งในคนร้ายหลบหนีไปยังตลาดโคกตูม จังหวัดลพบุรี เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจนำกำลังไปถึง ตำรวจท้องที่ได้ชี้ไปยังชายคนหนึ่งที่ขับขี่รถจักรยานสวนทางมาและพูดว่า“นั่นไอ้บุญเลิศนี่ครับ” เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงสามารถจับกุมบุญเลิศได้โดยบุญเลิศไม่ได้ขัดขืน วันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2509 ลำพอง มหาวิจิตร ได้มอบตัวกับลำพอง มหาวิจิตร ในอีก5วันต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมมะลิ คาลามานนท์ที่บ้านญาติของเขาในจังหวัดลำปาง ในเวลาเดียวกันศิริ กุลวิบูลย์ และแบน วงษ์ขำ ได้สังหารสายตำรวจ 3 นาย เนื่องจากพลาดท่าให้คนร้ายรู้ตัวจึงถูกฆ่า โดยตำรวจพบว่าศิริกับแบนกำลังวางแผนปล้นบ้านคหบดีที่บ้านดงสัก ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509 เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงนำกำลังไปซุ่มรอ เวลา 22.00 น. ตำรวจได้เห็นชาย 2 คนลัดเลาะชายป่าจนจนเข้าใกล้ระยะยิงปืน ตำรวจจึงแสดงตนเป็นเจ้าหน้าที่และชายทั้งสองก็ยิงปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นระยะเวลา 15 นาที จนกระทั่งเจ้าหน้าที่สามารถวิสามัญฆาตกรรมศิริและแบนซึ่งคือชายทั้งสอง 8 วันต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้วิสามัญศักดิ์ นันโทที่อำเภอบ้านแพรก ขณะที่ศักดิ์กำลังหลบหนีลงคลองเนื่องจากศักดิ์แขวนพระจำนวน 30 องค์ จึงหลบหนีลงคลองไม่ทันให้เขาถูกวิสามัญฆาตกรรม ในวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2509 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมน้อย เจริญสุขซึ่งกำลังจะไปเอาของกลางที่ฝากไว้ที่บ้านหนองเบี้ยว ต่อมาในคืนของวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ.2509 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ปิดล้อมละมายและพรรคพวกที่งานผูกพัทธสีมาวัดดอนทองในอำเภอบ้านหมอ และเกิดการยิงปะทะส่งผลให้ละมายถูกวิสามัญฆาตกรรม[14]
ในวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2509 จอมพลถนอม กิตติขจร ได้มีมติให้ใช้มาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทย สั่งการให้ประหารชีวิตใบ กุลแพ,สมบุญ มากฤทธิ์, ทวี เฉลิมสมัย, บุญเลิศ ปรอดเกิด, บั๊กหรือมะลิ คาลามานนท์และน้อย เจริญสุข ส่วนลำพอง มหาจิตร สั่งจำคุก 20 ปี โดยการประหารชีวิตนักโทษทั้ง 6 คน ถูกกำหนดไว้วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2509 เวลา 14.00 น. ที่สนามหน้าโรงเรียนท่าเรือนิตยานุกุล บริเวณหลังรั้วของโรงเรียนข้างทางรถไฟ ในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2509 เวลาประมาณ 14.00 น. ทั้ง 6 คนได้ถูกเบิกตัวออกจากเรือนจำมายังสนามโรงเรียนท่าเรือนิตยานุกุล เมื่อมาถึงสนาม เจ้าหน้าที่ได้นำตัวไปพิมพ์ลายนิ้วมือและเขียนพินัยกรรม นักโทษบางคนได้รับประทานไก่เป็นอาหารมื้อสุดท้าย เมื่อมีการอ่านคำสั่งประหารชีวิต พ.ต.อ.จรุง เศวตนันท์ ซึ่งเป็นผู้อ่านคำสั่งประหารชีวิต ได้สังเกตว่านักโทษบางคนหน้าซีดเหมือนมีอาการซ็อกเช่นมะลิ คาลามานนท์ ส่วนนักโทษคนอื่นก็มีสีหน้าซีดเมื่อรู้ชะตากรรมชีวิตของตัวเองว่าจะถูกยิงเป้า หลังจากอ่านคำสั่งประหารชีวิต ได้นำตัวนักโทษทั้ง 6 คน เข้าสู่หลักประหาร โดยมีหลักประหารทั้งหมด 6 หลัก เป็นแบบไม้กางเขน โดยมีผ้าสีขาวเป็นฉากบังทั้ง 3 ด้านและมีเป้าสีดำวงกลมอยู่ที่ด้านหน้าโดยตรงกับหัวใจของนักโทษ โดยในการประหารชีวิตจะใช้เพชณฆาตซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งหมด 6 นาย ซึ่งใช้ปืนคาร์ไบน์ในการประหารชีวิต โดยนักโทษทั้ง 5 คนเสียชีวิตจากการยิงชุดแรกซึ่งใช้กระสุนจำนวน 15 นัด แต่ใบ กุลแพต้องยิงถึง 2 ชุด ใช้กระสุนทั้งหมด 22 นัด หลังจากการประหารชีวิตศพของนักโทษถูกนำใส่ไปรอญาติเพื่อนำไปบำเพ็ญกุศลที่วัดหนองแห้ว หลังจากการประหารชีวิตประชาชนที่มาชมการประหารชีวิตได้ไปฉีกผ้าขาวที่ใช้บังหรือค้นหาหัวกระสุนจนกระสอบทรายพังทลายลงมา ในช่วงเช้าของวันถัดมาได้มีนักมวยมอาชีพจากพระนครขับจักรยานยนต์จำนวน 10 คัน มารื้อแผงผ้าดิบเพื่อเอาไปทำผ้าคาดศีรษะขึ้นเวที โดยเกิดการทะเลาะวิวาทขึ้นเพราะอยากได้ผ้าดิบของใบ กุลแพ[15]
ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบทราบว่าคนที่ไปติดต่อเช่ารถสองแถวก่อนจะกลุ่มคนร้ายจะจี้คนขับรถแล้วปล้นคือ วิชิต เกตุคำศรี หรือ เสือท็อก เขาเคยเป็นโก๋หลังวังโดยมีฉายา"“เปี๊ยก กีวี" และเป็นอันธพาลเมืองหลวงรุ่นพ.ศ. 2499 เขาถูกจับกุมในคดีขว้างระเบิดขวดใส่ทหาร ส่งผลให้ถูกตัดสินจำคุก 5 ปี แต่เขาเข้ากับอัทธพาลรุ่นเดียวกันในคุกลาดยาวไม่ได้ จึงขอย้ายไปคุมขังที่เรือนจำจังหวัดสระบุรี และรู้จักถูกคอกับสมบุญ จนกระทั่งวิชิตมีความดีความชอบจนสมารถทำงานนอกเรือนจำทำให้สมบุญได้พาวิชิตหนีไปอย่อาศัยละมาย เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ข่าวว่าวิชิตเดินทางไปยังจังหวัดราชบุรี พ.ต.ท.สมหวัง จึงชวน ร.ต.ท. ประสาร ธนสุกาญจน์ ไปตามหาตัวของวิชิตในงานฉลองศาลเจ้าหลักเมืองในค่ายภาณุรังษี โดยสันนิฐานว่าวิชิตน่าจะออกมาเที่ยวหาความสนุกสนานในงานนี้ตามนิสัยของเขา ในวันที่ 15 เมษายน พ.ศ.2509 พ.ต.ท.สมหวังและ ร.ต.ท. ประสารได้พบพบวิชิตเดินมากับชายคนจำนวน 4-5 คน พ.ต.ท.สมหวังจึงเข้าไปแนะนำตัว โดยพูดว่า“อั๊วชื่อสมหวัง เพ็ญสูตร มาจับโจรปล้นตลาดท่าเรือ” ทำให้คนทั้งกลุ่มเกิดอาการกลัว ก่อนที่คนกลุ่มนั้นจะขยับตัว ร.ต.ท.ประสารก็โดดเข้าล็อคคอและจับกุมวิชิต ส่วนชายที่เดินมาด้วยได้วิ่งหนีไป หลังจากนั้นวิชิตถูกนำตัวมาคุมขังยังเรือนจำกลางบางขวาง วันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2509 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้วิสามัญฆาตกรรมตึ๋งหรือบุญมา กลิ่นจำปาและเชื้อ พวงรักษ์ สองใน 17 คนร้าย ที่บ้านนายาว อำเภอพระพุทธบาท ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับแจ้งว่าจำเนียร สีม่วง จะเข้าวิวาห์ที่บ้านไร่ที่ตำบลมะนาวหวาน อำเภอพัฒนานิคม ในวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2510 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยกกำลังและจู่โจมบ้านพักในเวลาที่จำเนียรจะเข้าหอ เวลา 20.00 น. และเกิดการยิงปะทะขึ้นเมื่อสิ้นสุดการยิงปะทะได้มีผู้เสียชีวิตในบ้าน และพบศพของจำเนียรในชุดเจ้าบ่าวอยู่ในป่า โดยมีข่าวลือเสือขาวไม่ใช่จำเนียร และเสือขาวตัวจริงยังมีชีวิตอยู่ [16] ส่วนวิชิตถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าตามคำสั่งจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี โดยใช้อำนาจมาตรา ๑๗ แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร ในคดีปล้นฆ่าเจ้าทรัพย์ วิชิตถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าที่เรือนจำกลางบางขวาง เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2510 เวลา 18.42 น. โดยเพี้ยน คนแรงดีเป็นเพชณฆาต ส่วนจุ่น ผลหาร กับสง่าหรือโก๊ะ เฉลิมทรัพย์ หลบหนีไปได้และยังลอยนวลอยู่จนถึงปัจจุบัน[17][18]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนชื่ออำเภอ. เก็บถาวร 2011-11-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 34 ตอนที่ ๐ก วันที่ 29 เมษายน 2460
- ↑ [1] เก็บถาวร 2012-05-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนพระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัด พุทธศักราช ๒๔๗๙
- ↑ [2]ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตตำบลในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
- ↑ [3]ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตตำบลในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
- ↑ "พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเทศบาลตำบลท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พุทธศักราช ๒๔๘๗" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 61 (77 ก): 1167–1171. 26 ธันวาคม 2487.
- ↑ [4]ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งตำบลในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
- ↑ [5]พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงเขตอำเภอในท้องที่จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดแพร่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดพัทลุง พ.ศ. ๒๔๙๙
- ↑ [6]ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล [จำนวน ๕๙ แห่ง]
- ↑ [7] เก็บถาวร 2012-01-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนชื่ออำเภอและตำบลบางแห่ง พ.ศ. ๒๕๐๔
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง จัดตั้งสุขาภิบาลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 80 (17 ง): 439–441. 15 กุมภาพันธ์ 2506.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 91 (180 ง): 3926–3927. 29 ตุลาคม 2517.
- ↑ "พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงเขตเทศบาลตำบลท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พ.ศ. ๒๕๒๔" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 98 (211 ก): (ฉบับพิเศษ) 7-11. 24 ธันวาคม 2524.
- ↑ โจรผยองปิดตลาดปล้น! นายกฯใช้ ม.๑๗ สั่งปล้นที่ไหนยิงเป้าที่นั่นโดย ๖ นาย ตร.ประกบ ๖ โจร!!
- ↑ คดีดัง!! เปิดตำนานขุนโจร "เสือขาว" ผู้เคยปิดตลาดท่าเรือ ปล้น!! สุดท้ายหักหลังกันเอง แต่!! ถูกจับ โดนประหารชีวิตถึง 6 คน!!
- ↑ [หนังสือประวัติ อำเภอท่าเรือ เรียบเรียงโดยสุรศักดิ์ พุ่มวันเพ็ญ ]
- ↑ โจรผยองปิดตลาดปล้น! นายกฯใช้ ม.๑๗ สั่งปล้นที่ไหนยิงเป้าที่นั่นโดย ๖ นาย ตร.ประกบ ๖ โจร!!
- ↑ ตำนานนักโทษประหาร
- ↑ โจรผยองปิดตลาดปล้น! นายกฯใช้ ม.๑๗ สั่งปล้นที่ไหนยิงเป้าที่นั่นโดย ๖ นาย ตร.ประกบ ๖ โจร!!