พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ

หน้าถูกกึ่งป้องกัน
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี
กรมหมื่นสุทธนารีนาถ
ประสูติ13 กรกฎาคม พ.ศ. 2500 (66 ปี)
โรงพยาบาลกาย ลอนดอน สหราชอาณาจักร
พระสวามีพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2520–2534)
พระธิดาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาหม่อมราชวงศ์อดุลกิติ์ กิติยากร
พระมารดาพันธุ์สวลี กิติยากร
ศาสนาพุทธเถรวาท
ลายพระอภิไธย

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ (พระนามเดิม หม่อมหลวงโสมสวลี กิติยากร[1]; ประสูติ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2500) เป็นอดีตพระวรชายาพระองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ เป็นธิดาพระองค์ใหญ่ของหม่อมราชวงศ์อดุลกิติ์ กิติยากร กับท่านผู้หญิงพันธุ์สวลี กิติยากร[1] พระองค์เป็นทั้งพระภาติยะและอดีตพระสุณิสาในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องจากอภิเษกสมรสกับพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระองค์มีพระอิสริยยศเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรชายาฯ ถือเป็นเจ้านายพระองค์แรกที่ดำรงพระอิสริยยศเป็นพระวรชายา[2] มีพระธิดาพระองค์เดียวคือสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา

ภายหลังการหย่าในปี พ.ศ. 2534 พระองค์ยังมีสถานะเป็นเจ้านายและได้รับการเฉลิมพระนามว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ[3] ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติและทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2562 พระองค์ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระองค์เจ้าต่างกรมฝ่ายใน ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ[4]

พระประวัติ

พระชนม์ชีพในวัยเยาว์

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ มีพระนามเดิมว่า หม่อมหลวงโสมสวลี กิติยากร[1] ประสูติเมื่อวันเสาร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2500 ณ โรงพยาบาลกายส์ เขตเซาท์วาร์ก กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ[5] เป็นธิดาคนใหญ่ของหม่อมราชวงศ์อดุลกิติ์ กิติยากร พระเชษฐาในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง กับท่านผู้หญิงพันธุ์สวลี กิติยากร (เดิม: หม่อมเจ้าพันธุ์สวลี ยุคล) เหตุที่หม่อมหลวงโสมสวลีประสูติที่ลอนดอนสืบเนื่องมาจากบิดา คือ หม่อมราชวงศ์อดุลกิติ์ ได้ไปศึกษากฎหมายในอังกฤษหลังพระราชทานน้ำสังข์แล้ว จนเมื่อหม่อมหลวงโสมสวลีมีอายุได้ 2 ปี จึงได้กลับมายังประเทศไทย[6]

พระนาม โสมสวลี แปลว่า "ผู้สืบเชื้อสายมาจากพระจันทร์" คือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ[7] เป็นนามที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ครอบครัวและสหายในโรงเรียนราชินีมักเรียกสั้น ๆ ว่า "คุณโสม"[8] ส่วนพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเรียกว่า "โสม" เฉย ๆ[9] มีน้องสาวเพียงคนเดียวคือหม่อมหลวงสราลี กิติยากร หรือ "คุณน้ำผึ้ง"[10] ซึ่งเป็นนักแสดงและพิธีกร[11]

หม่อมหลวงโสมสวลี กิติยากรได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เข้าศึกษาในระดับอนุบาลที่โรงเรียนจิตรลดา รุ่นที่ 5 เมื่อปี พ.ศ. 2504[12] รุ่นเดียวกับสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี[6] แต่เมื่อสำเร็จการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 หม่อมราชวงศ์อดุลกิติ์ ย้ายไปเป็นผู้พิพากษาศาลจังหวัดเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2510 พระองค์ก็ทรงลาออกจากโรงเรียนเดิมและย้ายไปประทับที่เชียงใหม่โดยเข้าเรียนที่โรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัย[13] เป็นเวลา 2 ปี และเมื่อบิดาได้ย้ายกลับมายังกรุงเทพมหานคร ทรงเข้าศึกษาในโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยระยะหนึ่ง[6] แต่ด้วยมิสะดวกต่อการรับส่ง จึงได้ย้ายมาศึกษาอยู่ที่โรงเรียนราชินี เนื่องจากเป็นเส้นทางเดียวกับเส้นทางที่ไปยังที่ทำงานของบิดา[8]

หม่อมหลวงโสมสวลีและน้องสาว เติบโตในวังเทเวศร์และได้รับการเลี้ยงดูอย่างสามัญ มีพระบิดาไปรับส่งที่โรงเรียน ในวัยเยาว์พระองค์ทรงปฏิบัติหน้าที่งานบ้านด้วยพระองค์เอง เช่น จัดที่นอนให้เป็นระเบียบ กวาดบ้านถูพื้น รวมไปถึงการปลูกผักและตัดหญ้า[10] ทั้งนี้โปรดการประกอบอาหาร และวิชาภาษามากกว่าวิชาใด ๆ[8] แต่พระองค์ไม่ถูกกับวิชาคำนวณ เมื่อพระองค์สำเร็จการศึกษาระดับ ม.ศ. 2 พระองค์ก็ขอร้องกับบิดามารดา เพื่อขอออกมาศึกษาวิชาที่พระองค์ชอบ[8]

อภิเษกสมรส

วันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2519 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประกอบพิธีหมั้นระหว่างพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร กับหม่อมหลวงโสมสวลี กิติยากร ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต[14][15]

วันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2520 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีอภิเษกสมรส ณ พระตำหนักสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี วังสระปทุม และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร[16] ในการนี้ได้เสด็จออก ณ ท้องพระโรง พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย และสีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท พระบรมมหาราชวัง เพื่อรับการถวายพระพรชัยมงคล

วันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2520 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จออก ณ ท้องพระโรงกลาง พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง ให้คณะทูตถวายพระพรชัยมงคล

พระองค์ทรงตั้งพระครรภ์พระราชกุมารพระองค์แรก แต่ด้วยทรงมีปัญหาความเครียดส่วนพระองค์จึงแท้งพระโอรสขณะมีอายุครรภ์ได้ 4 เดือน ต่อมาจึงตั้งพระครรภ์เป็นครั้งที่สองและก็มีปัญหาด้านความเครียดส่วนพระองค์อีกเช่นกัน จนเกือบคลอดก่อนกำหนดขณะอายุครรภ์ได้ 6 เดือน พระองค์ต้องบรรทมพักผ่อนและให้แพทย์ฉีดยา[17] และมีพระประสูติกาลพระธิดาในเวลาต่อมา คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2521

วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2534 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศเฉลิมพระนามพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์นั้นเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ[18] โดยสร้อยพระนาม "พระวรราชาทินัดดามาตุ" หมายถึง "พระมารดาของพระราชนัดดาพระองค์แรกแห่งพระมหากษัตริย์ผู้ประเสริฐ"

ครั้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติและทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2562 พระองค์ได้รับการสถาปนาเป็นพระองค์เจ้าต่างกรมฝ่ายใน ตามจารึกพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ด้วยเป็นพระมารดาผู้ทรงอภิบาลพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ กอปรกับทรงประกอบพระกรณียกิจสนองพระเดชพระคุณสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย[4]

ชีวิตส่วนพระองค์

ขณะเสด็จไปในงานสโมสรสันนิบาตเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2553
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ กับมารยา คาซินสกา ในปี พ.ศ. 2550

พระองค์ชื่นชอบงานฝีมือฝึกฝนด้านหัตถกรรมอย่าง การร้อยพวงมาลัย, จัดดอกไม้ และเย็บปักถักร้อย โดยโปรดงานนิตติ้งมากที่สุด[10] โปรดเลี้ยงสัตว์คือ ปลาทอง หากพระองค์จะเสด็จไปประทับที่ใดก็ต้องเอาปลาทองที่ทรงเลี้ยงไปด้วย[19] โปรดการเล่นเครื่องดนตรี คือ กีตาร์ และเปียโน[9] ดังคำให้สัมภาษณ์ของท่านผู้หญิงพันธุ์สวลีตอนหนึ่งว่า "คุณโสมชอบเล่นกีตาร์ ดิฉัน [ท่านผู้หญิงพันธุ์สวลี] ให้ท่านผู้หญิงอรุณ กิติยากร มาสอนเปียโนอยู่เป็นประจำ"[9] นอกจากนี้ยังสามารถทรงเครื่องดนตรีไทยได้บ้าง ได้แก่ ระนาดเอก และฆ้องวง ทั้งนี้ทรงมีพื้นฐานด้านบัลเลต์, ศิลปะการแสดง และการเต้นลีลาศ[20] แต่สิ่งที่พระองค์ชื่นชอบและเป็นที่รู้จักที่สุดคือการประกอบอาหาร ซึ่งพระองค์ได้ทำพระกระยาหารไปถวายยังพระบรมวงศานุวงศ์[21] เมื่อปลายปี พ.ศ. 2553 ในช่วงมหาอุทกภัย พระองค์ก็ทรงประกอบอาหารแจกจ่ายไปยังประชาชนที่ประสบภัยในจังหวัดนครราชสีมา[22] และหลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชช่วงปลายปี พ.ศ. 2559 พระองค์ทรงทอดไก่ประทานแก่ประชาชนที่มาร่วมถวายสักการะพระบรมศพด้วยพระองค์เอง[23]

พระองค์เป็นพระมารดาที่ห่วงใยในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา พระราชธิดาเพียงพระองค์เดียว ทรงกล่าวว่า "ไม่หวงมากนัก แต่มีความเป็นห่วงมากกว่า ทั้งเรื่องความประพฤติ การวางตัว..."[17] และทรงสอนอีกด้วยว่า "...ให้รู้จักช่วยเหลือผู้อื่น นอกจากช่วยเหลือตัวเองแล้ว ก็ต้องช่วยเหลือผู้อื่นด้วย มีเมตตา..." และจะทรงดุเมื่อพระราชธิดาทรงทำผิด[20] พระองค์เคยกล่าวไว้ในรายการ วูดดี้เกิดมาคุย ว่า "...เราถือคติเลี้ยงวัวให้ผูกรักลูกต้องตี"[21] ด้วยพระองค์ตีสมเด็จเจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาเมื่อครั้งที่ยังทรงศึกษาอยู่โรงเรียนราชินีด้วยก้านมะยม เพราะทรงเอาวงเวียนไปทิ่มขาเพื่อน พระองค์เจ้าโสมสวลีจึงตีเพื่อให้พระธิดารู้ว่าเพื่อนก็รู้สึกเจ็บเช่นกัน[17] นอกจากนี้พระองค์ยังเป็นธิดาที่มีความกตัญญูต่อบุพการี แม้บางปีจะมีพระราชกรณียกิจมาก แต่เมื่อถึงวันแม่แห่งชาติ ก็จะทรงร้อยพวงมาลัยด้วยพระองค์เอง และทรงขับรถยนต์พระที่นั่งไปหาท่านผู้หญิงพันธุ์สวลีที่พระตำหนักปากช่องหรือที่พัทยาเป็นประจำทุกปี[24]

ปัจจุบันพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถทรงประทับที่พักสองแห่งสลับกัน แห่งแรกคือ วังเทเวศร์ ตั้งอยู่บริเวณถนนกรุงเกษม ปากคลองผดุงกรุงเกษม ริมแม่น้ำเจ้าพระยา แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ทางทิศใต้ติดกับวังเทวะเวสม์ ทางทิศตะวันออกติดกับวัดนรนาถสุนทริการาม และประทับคอนโดใจกลางเมืองอีกแห่งหนึ่ง[19] ทั้งนี้พระองค์ยังทรงอุปการะสิรพัชรา โสพัชรมณี ชื่อเล่น ใบพลู ไว้ในพระอุปถัมภ์[25][26][27] ตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็ก[28] ทรงกล่าวถึงสิรพัชราว่า "...พระองค์หญิงเลี้ยงเขาเป็นลูกอีกคน..." ทั้งนี้ยังทรงติดต่อกับผู้อื่นผ่านทางโลกออนไลน์ โดยเฉพาะเพื่อนของสิรพัชรา[20]

พระกรณียกิจ

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจด้านต่าง ๆ แบ่งเบาพระราชภาระเจ้านายพระองค์อื่นในการเสด็จแทนพระองค์ไปทรงประกอบพระกรณียกิจต่าง ๆ จนลุล่วงด้วยดี สมกับที่ทรงวางพระราชหฤทัยตลอดมา

และวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2554 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ รศ.ดร.นายแพทย์พิชิต สุวรรณประกร เป็นผู้แทนพระองค์นำถุงยังชีพ 3,000 ถุง ไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย ในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในโทโฮกุ[29]

โครงการ/มูลนิธิในพระอุปถัมภ์

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถทรงมีความสนพระทัยในด้านสังคมสงเคราะห์ และการสาธารณสุข ทรงรับโครงการต่าง ๆ ของสภากาชาดไทย ไว้ในพระอุปถัมภ์หลายโครงการ และทรงจัดตั้งมูลนิธิและโครงการส่วนพระองค์อีกหลายโครงการ อาทิ

  • มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ทรงเป็นนายกกิตติมศักดิ์)
  • มูลนิธิเพชรรัตน-สุวัทนา (ทรงเป็นนายกกิตติมศักดิ์)
  • มูลนิธิศาสตราจารย์ นายแพทย์ หม่อมราชวงศ์กัลยาณกิติ์ กิติยากร
  • มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง(ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย (ทรงดำรงตำแหน่งนายกกิตติมศักดิ์ตลอดพระชนม์ชีพ)[1]
  • มูลนิธิสงเคราะห์เด็กของศาลเยาวชนและครอบครัว
  • มูลนิธิบ้านบางแค
  • มูลนิธิโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียแห่งประเทศไทย
  • มูลนิธิสงเคราะห์เด็ก ของศาลเยาวชนและครอบครัว
  • มูลนิธิสถาบันแสงสว่าง
  • มูลนิธิธรรมจารินีวิทยา
  • มูลนิธิสงเคราะห์เด็กของศาลเยาวชนและครอบครัว
  • โครงการช่วยลดการติดเอดส์จากแม่สู่ลูก สภากาชาดไทย
  • โครงการคืนชีวิตให้พ่อแม่เพื่อลูกน้อยที่ติดเอดส์
  • กองทุนยาพระวรราชาทินัดดามาตุ สำหรับผู้ติดเชื้อเอดส์ สภากาชาดไทย
  • กองทุนนมสำหรับเด็กในโครงการช่วยลดการติดเอดส์จากแม่สู่ลูก
  • กองทุนโรคมะเร็งในเด็ก
  • สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี
  • สมาคมเทคนิคการแพทย์แห่งประเทศไทย
  • สมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนสอนคนตาบอดภาคเหนือจังหวัดเชียงใหม่
  • สมาคมพัฒนาแพทย์แผนไทยแห่งประเทศไทย
  • สภาแม่ดีเด่นแห่งชาติ
  • โรงเรียนวรราชาทินัดดามาตุวิทยา
  • วัดหนองน้ำขุ่น อำเภอแกลง จังหวัดระยอง

ผลงานการแสดง

ในวัยเยาว์พระองค์เคยแสดงละครโทรทัศน์ครั้งแรกทางช่อง 4 บางขุนพรหม เรื่อง ขุนช้างขุนแผน ทรงรับบทเป็น นางพิมพิลาไลยในวัยเด็ก และเป็นนักแสดงประกอบในภาพยนตร์เรื่อง น้ำผึ้งขม (พ.ศ. 2517) ทั้งแสดงละครเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงในบางวาระ[20] นอกจากนี้พระองค์แสดงละครเวทีสองเรื่องคือ "รักษาป่า" และหลังจากอภิเษกสมรสกับอดีตพระราชสวามีก็ทรงแสดงละครเวทีเรื่อง "เกาะสวรรค์" ร่วมกับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา และหม่อมหลวงสราลี กิติยากร พระขนิษฐา[30][31]

ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2557 ทรงร่วมแสดงในละครเวที เรื่อง ซูสีไทเฮา เดอะ มิวสิคัล ในบทนางนิวฮูลู่ ซึ่งเป็นมารดาของซูสีไทเฮา[32] เพื่อหารายได้สมทบทุนมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยากของพระองค์[31] และในปลายปีเดียวกันนั้นพระองค์ได้ทรงร่วมแสดงในละครโทรทัศน์ทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 เรื่อง รักเร่[33] ทรงรับบทเป็น พร้อมจิต[34] ต่อมาใน พ.ศ. 2559 ทรงร่วมแสดงในละครเวทีเรื่อง ม่านประเพณี ประกาศิตอาญาสวรรค์ ในบทพระมหาเทวีสวรรค์[35][36]

พระเกียรติยศ

ธรรมเนียมพระยศของ
พระเจ้าวรวงศ์เธอ
กรมหมื่นสุทธนารีนาถ
ธงประจำพระอิสริยยศ
ตราประจำพระองค์
ธงประจำพระองค์
การทูลใต้ฝ่าพระบาท
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับพ่ะย่ะค่ะ/เพคะ
ลำดับโปเจียม7

พระอิสริยยศ

  • 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2500 – 3 มกราคม พ.ศ. 2520 : หม่อมหลวงโสมสวลี กิติยากร
  • 3 มกราคม พ.ศ. 2520 : หม่อมหลวงโสมสวลี มหิดล[37]
  • 3 มกราคม พ.ศ. 2520 – 12 สิงหาคม พ.ศ. 2534 : พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรชายาฯ[16]
  • 12 สิงหาคม พ.ศ. 2534 – 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 : พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ[18]
  • 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 – ปัจจุบัน : พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ[38]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ

 เยอรมนีตะวันตก พ.ศ. 2527 Grand Cross (ชั้น 1 พิเศษ) เครื่องอิสริยาภรณ์คุณธรรมแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี[46]
 เนปาล พ.ศ. 2527 Member of The Most Glorious Order of Ojaswi Rajanya
 สเปน พ.ศ. 2530 Knight Grand Cross of The Order of Isabella the Catholic
 บรูไน Family Order of Brunei 2nd Class - Darjah Kerabat Seri Utama Yang Amat Dihormati - D.K. (Seri Utama)
 ญี่ปุ่น พ.ศ. 2534 ชั้น 1 ชั้นสายสะพาย เครื่องราชอิสริยาภรณ์มงคลรัตน์
 เนเธอร์แลนด์ พ.ศ. 2547 Knight Grand Cross เครื่องราชอิสริยาภรณ์ออเรนจ์-นัสเซา

พรรณพืช และสถานที่อันเนื่องด้วยพระนาม

ดวงตราไปรษณียากร ชุด กล้วยไม้พระนาม "โสมสวลี"
  • กล้วยไม้โสมสวลี – มีลักษณะลำต้นขนาด กะทัดรัด สูง 40-50 เซนติเมตร ดอกมีสีม่วงครามอ่อน มีลายเส้นสีขาวอ่อนๆ แฝงอยู่ในกลีบ เมื่อดอกเริ่มบานใหม่ๆจะมีสีเข้ม แต่เมื่อบานเต็มที่สีม่วงของดอกจะสว่างขึ้น ส่วน คอดอกเป็นสีขาว ก้านช่อของดอกไม่ยาวมาก ปลูกเลี้ยงง่าย หากหน่อสุดแล้ว จะออกดอกตลอดทั้งปี จึงเหมาะนำไปทำเป็นกล้วยไม้ประดับชนิดตั้งแสดงทั้งต้นและดอก
  • อาคารโสมสวลี – คณะพยาบาลศาสตร์แมคคอร์มิค มหาวิทยาลัยพายัพ จังหวัดเชียงใหม่
  • อาคารโสมสวลี – มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี จังหวัดลพบุรี
  • อาคารโสมสวลี 48 พรรษา – ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบางแค
  • อาคารโสมสวลี – คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จังหวัดนครปฐม
  • วัดพระวรราชาทินัดดามาตุ – จังหวัดเพชรบูรณ์
  • ศาลาโสมสวลี 52 ปี – วัดกระทิง จังหวัดศรีสะเกษ
  • หอคัมภีร์ธรรมกิติยากรในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ – วัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย จังหวัดลำพูน
  • อาคารเฉลิมพระเกียรติพระชันษา 60 ปี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ – ศาลเจ้าพ่อเสือ จังหวัดนครปฐม
  • พระพุทธนาคนินนาทวรราชาทินัดดามาตุ สัฏฐิวรรษมงคล – พระพุทธรูปประจำวันประสูติ

พงศาวลี

อ้างอิง

เชิงอรรถ
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 "ความเป็นมาของมูลนิธิ". มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-07-11. สืบค้นเมื่อ 14 สิงหาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ. ราชาศัพท์. เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ, 2555, หน้า 43
  3. พระเจ้าวรวงศ์เธอ-ตอนที่-2 "พระเจ้าวรวงศ์เธอ (ตอนที่ ๓)". สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. 26 พฤษภาคม 2556. สืบค้นเมื่อ 2 ธันวาคม 2559. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่า |url= (help); ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. 4.0 4.1 "ประกาศสถาปนา" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 136 (15ง): 7. 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2562. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-05-05. สืบค้นเมื่อ 2019-05-05. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  5. "Search birth records". findmypast.co.uk. สืบค้นเมื่อ 25 August 2012. KITIYAKARA Soamsawali Southwark London 1957
  6. 6.0 6.1 6.2 พระราชประวัติและพระบรมฉายาลักษณ์เนื่องในพระราชพิธีอภิเษกสมรส สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรชายาฯ กับความเป็นมาของตำแหน่งมกุฎราชกุมาร, หน้า 175
  7. ใกล้เบื้องพระยุคลบาท 'กับลัดดาซุบซิบ', หน้า 100
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 พระราชประวัติและพระบรมฉายาลักษณ์เนื่องในพระราชพิธีอภิเษกสมรส สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรชายาฯ กับความเป็นมาของตำแหน่งมกุฎราชกุมาร, หน้า 176
  9. 9.0 9.1 9.2 พระราชประวัติและพระบรมฉายาลักษณ์เนื่องในพระราชพิธีอภิเษกสมรส สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรชายาฯ กับความเป็นมาของตำแหน่งมกุฎราชกุมาร, หน้า 186
  10. 10.0 10.1 10.2 "สายใยผูกพันอันน่าประทับใจของ พระองค์เจ้าโสมสวลีฯ กับ พระขนิษฐา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2011-05-03.
  11. เปิดธุรกิจส่วนตัวสะใภ้จิราธิวัฒน์[ลิงก์เสีย]
  12. "พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีพระวรราชาทินัดดามาตุ". โรงเรียนจิตรลดา. สืบค้นเมื่อ 1 ตุลาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  13. คณะอุร์สุลินแห่งสหภาพโรมัน ประเทศไทย - พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินิดดามาตุ เสด็จมาร่วมงานคืนสู่เหย้าชาวเรยีนาฯ
  14. "แถลงการณ์พระราชวัง เรื่องทรงหมั้น" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 93 (150): 3743. 7 ธันวาคม พ.ศ. 2519. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  15. "ข่าวในพระราชสำนัก" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 93 (157ง): 4103. 28 ธันวาคม พ.ศ. 2519. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  16. 16.0 16.1 "พระบรมราชโองการ ประกาศสถาปนา พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 94 (13ก): 62. 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2520. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  17. 17.0 17.1 17.2 "พระองค์โสม ทรงภูมิใจใน องค์ภา เป็นลูกที่ดี ทำงานเพื่อประเทศชาติ". ไทยรัฐ. 29 มีนาคม 2555. สืบค้นเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  18. 18.0 18.1 "พระบรมราชโองการ ประกาศเฉลิมพระนาม" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 108 (140ก ฉบับพิเศษ): 1. 12 สิงหาคม พ.ศ. 2534. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  19. 19.0 19.1 "พระองค์โสม โปรดปลาทอง องค์ภา โปรดสัตว์แปลก". ไทยรัฐออนไลน์. 11 ตุลาคม 2555. สืบค้นเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  20. 20.0 20.1 20.2 20.3 "โสมสกาวกลางหทัยไทยทั้งมวล". Hiclass Society. 13 พฤษภาคม 2556. สืบค้นเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2556. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  21. 21.0 21.1 "พระองค์โสม ประทานสัมภาษณ์พิเศษในวู้ดดี้เกิดมาคุย". กะปุกดอตคอม. สืบค้นเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  22. "พระองค์โสมฯ ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจ จ.นครราชสีมา". ครอบครัวข่าวสาม. สืบค้นเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  23. "พระองค์โสม ทรงทอดไก่ประทานพสกนิกรที่มาร่วมถวายสักการะพระบรมศพ". มติชน. 22 ตุลาคม 2559. สืบค้นเมื่อ 23 ตุลาคม 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  24. อัครเดช สุภัคกุล (23 กันยายน 2554). "วันประสูติท่านหญิงพันธุ์สวลี". คมชัดลึก. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-11-18. สืบค้นเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  25. "พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ทรงเปิดงานวันแม่ ประจำปีการศึกษา 2552". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-11. สืบค้นเมื่อ 2011-05-03.
  26. "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมบำเพ็ญพระราชกุศลพระราชทาน เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-27. สืบค้นเมื่อ 2011-05-03.
  27. แวดวงคาทอลิก - พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จเป็นองค์ประธานวันแม่
  28. ""องค์ภา" ทรงรับคำท้าไอซ์ บัคเก็ต เพื่อบริจาคมูลนิธิ รพ.ศิริราช". มติชนออนไลน์. 27 สิงหาคม พ.ศ. 2557. สืบค้นเมื่อ 28 สิงหาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)[ลิงก์เสีย]
  29. “พระองค์เจ้าโสมสวลีฯ” มอบถุงยังชีพ 3 พันชุดช่วยผู้ประสบภัยสึนามิ
  30. "พระองค์โสม รับสั่งตื่นเต้นเล่นร้อง ละครเวที ซูสีไทเฮา เดอะมิวสิคัล". ไทยรัฐ. 21 มีนาคม 2557. สืบค้นเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  31. 31.0 31.1 "พระองค์เจ้าโสมสวลีฯ ทรง "ร้อง เล่น" ละครเวที ซูสีไทเฮา เดอะมิวสิคัล". ประชาชาติธุรกิจ. 23 เมษายน 2557. สืบค้นเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  32. "พระองค์โสมทรงแสดงละครเวที ซูสีไทเฮา เดอะ มิวสิคัล". ไทยรัฐ. 10 มีนาคม 2557. สืบค้นเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  33. "พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ทรงร่วมพิธีบวงสรวงละคร รักเร่ บทประพันธ์ โสภาค สุวรรณ". ช่อง 7. 7 พฤศจิกายน 2557. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-11-13. สืบค้นเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  34. "พระองค์โสม ร่วมแสดงละครทีวี "รักเร่" ช่อง 7 สี". ไทยรัฐ. 10 พฤศจิกายน 2557. สืบค้นเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  35. ""พระองค์โสม"ทรงฝากละครเวที "ม่านประเพณีประกาศิตอาญาสวรรค์"". คมชัดลึก. 25 กันยายน 2559. สืบค้นเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  36. ""ม่านประเพณี" เบิกโรงแล้ว "พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ" ทรงร่วมแสดง". ผู้จัดการออนไลน์. 28 กันยายน 2559. สืบค้นเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  37. "หมายกำหนดการ ที่ 23/2519 พระราชพิธีอภิเษกสมรส" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 29 (157ง): 4123. 28 ธันวาคม พ.ศ. 2519. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  38. 38.0 38.1 "ประกาศสถาปนา" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 136 (15ข): 7. 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2562. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-05-05. สืบค้นเมื่อ 2019-05-05. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  39. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์ เก็บถาวร 2019-05-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 94, ตอน 9 ง ฉบับพิเศษ, 27 มกราคม พ.ศ. 2520, หน้า 6
  40. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม 101, ตอน 67 ง ฉบับพิเศษ, 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2527, หน้า 7
  41. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม 108, ตอน 140 ง ฉบับพิเศษ, 12 สิงหาคม พ.ศ. 2534, หน้า 1
  42. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2015-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 109, ตอน 154 ง ฉบับพิเศษ, 14 ธันวาคม พ.ศ. 2535, หน้า 1
  43. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ (เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ปฐมดิเรกคุณภรณ์ จำนวน ๘ พระองค์) เก็บถาวร 2011-11-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 112, ตอน 17 ข เล่มที่ 003, 4 ธันวาคม พ.ศ. 2538, หน้า 1
  44. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ (จำนวน ๑๒ ราย), เล่ม 124, ตอน 4 ข, 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2550, หน้า 1
  45. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์, เล่ม 98, ตอน 4 ง, 13 มกราคม พ.ศ. 2524, หน้า 94
  46. "แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาต ประดับเครื่องอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 102 (60ง ฉบับพิเศษ): 12. 16 พฤษภาคม 2528. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 5 มีนาคม 2564. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
บรรณานุกรม
  • แถมสิน รัตนพันธุ์ใกล้เบื้องพระยุคลบาท 'กับลัดดาซุบซิบ'. พิมพ์ครั้งที่ 7, กรุงเทพฯ : ร่วมด้วยช่วยกัน, พฤษภาคม 2548. 270 หน้า. ISBN 974-9785-18-5
  • ประยุทธ สิทธิพันธ์. พระราชประวัติและพระบรมฉายาลักษณ์เนื่องในพระราชพิธีอภิเษกสมรส สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรชายาฯ กับความเป็นมาของตำแหน่งมกุฎราชกุมาร. กรุงเทพฯ : บำรุงนุกูลกิจ. ม.ป.ป.

แหล่งข้อมูลอื่น