ข้ามไปเนื้อหา

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ม.สงขลานครินทร์)
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
Prince of Songkla University
ตราพระมหาพิชัยมงกุฎ ม.อ.
สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย
ชื่อเดิมมหาวิทยาลัยภาคใต้
ชื่อย่อม.อ.[1]/ PSU
คติพจน์ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง
ประเภทสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ
สถาปนา13 มีนาคม พ.ศ. 2510; 57 ปีก่อน (2510-03-13)
สังกัดการศึกษากระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
สังกัดวิชาการ
งบประมาณ5,306,086,200 บาท
(พ.ศ. 2568)[2]
นายกสภาฯศาตราจารย์ นายแพทย์ จรัส สุวรรณเวลา
อธิการบดีผู้ช่วยศาสตราจารย์ นิวัติ แก้วประดับ
อาจารย์2,544 คน (พ.ศ. 2567)
บุคลากรทั้งหมด12,262 คน (พ.ศ. 2567)
ผู้ศึกษา36,666 คน (พ.ศ. 2567)
ที่ตั้ง
  • เลขที่ 15 ถนนกาญจนวณิชย์ ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 90110
  • เลขที่ 181 หมู่ที่ 6 ถนนเจริญประดิษฐ์ ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี 94000
  • เลขที่ 80 หมู่ 1 ถนนวิชิตสงคราม ตำบลกะทู้ อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต 83120
  • เลขที่ 31 หมู่ 6 ตำบลมะขามเตี้ย อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี 84000เลขที่ 102 หมู่ 6 ตำบลควนปริง อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง 92000
วิทยาเขตวิทยาเขต
เพลงเขตรั้วสีบูล
สี  สีน้ำเงิน[3]
ฉายาลูกพระบิดา
เครือข่ายAUN, ASAIHL, ASEAN-FEN
มาสคอต
ดอกศรีตรัง
เว็บไซต์เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (อังกฤษ: Prince of Songkla University; อักษรย่อ: ม.อ. – PSU) เป็นสถาบันอุดมศึกษาและมหาวิทยาลัยแห่งแรกในภาคใต้ เป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งที่ 13 และมหาวิทยาลัยแห่งที่ 8 ของประเทศไทย ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2510 โดยใช้ชื่อว่า มหาวิทยาลัยภาคใต้ ต่อมา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้พระราชทานนาม "สงขลานครินทร์" เมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2510 จึงถือว่าวันที่ 22 กันยายนของทุกปี เป็นวันสงขลานครินทร์ ต่อมา วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2511 ได้มีพระบรมราชโองการประกาศใช้ พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พ.ศ. 2511 จึงถือว่า วันที่ 13 มีนาคมของทุกปีเป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัย ปัจจุบันได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 9 มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ จากกระทรวงศึกษาธิการ ในปี พ.ศ. 2561

ในระยะแรกของการก่อตั้ง ได้รับนักศึกษาเข้าศึกษาครั้งแรกในคณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยใช้อาคารเรียนของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยมหิดล) เป็นสถานที่ศึกษา และปีต่อมา พ.ศ. 2511 ก็เริ่มย้ายนักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์มาเรียนที่จังหวัดปัตตานี ในปี พ.ศ. 2514 ย้ายนักศึกษาของคณะวิศวกรรมศาสตร์มาเรียนที่ วิทยาเขตหาดใหญ่ ซึ่งปัจจุบันเป็นวิทยาเขตที่ใหญ่ที่สุด พ.ศ. 2520]] เปิดวิทยาเขตภูเก็ต [[พ.ศ. 2533 เปิดวิทยาเขตสุราษฎร์ธานี และ พ.ศ. 2534 เปิดวิทยาเขตตรัง

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดการสอนทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ใน 31 คณะ 7 วิทยาลัยใน 5 วิทยาเขต [4]ครอบคลุมทั้งสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์การแพทย์ การเกษตร มนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ มีบัณฑิตวิทยาลัยดูแลการเรียนการสอนในระดับปริญญาโทและเอก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีนักศึกษาอยู่ในคณะและวิทยาลัยต่างๆ รวมแล้วประมาณ 200 คน ทำการเรียนการสอนทั้งหลักสูตรภาษาไทยและหลักสูตรนานาชาติ ภาคปกติและภาคพิเศษ

ประวัติ

[แก้]
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

เมื่อปี พ.ศ. 2505 รัฐบาลมีนโยบายจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นที่ภาคใต้ โดยเริ่มต้นจากการจัดตั้ง "วิทยาลัยศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์" เพื่อรอการพัฒนาขึ้นเป็นระดับมหาวิทยาลัย ต่อมา ในปี พ.ศ. 2508 คณะรัฐมนตรีได้มีการอนุมัติหลักการในการจัดตั้งมหาวิทยาลัยในภาคใต้ขึ้นที่ ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี โดยจะใช้เป็นที่ตั้งของคณะวิศวกรรมศาสตร์ และใช้ชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า "มหาวิทยาลัยภาคใต้" ซึ่งมีสำนักงานชั่วคราวของมหาวิทยาลัยอยู่ที่อาคารคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (อาคารคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในปัจจุบัน)

หลังจากนั้น คณะกรรมการพัฒนาภาคใต้ โดย พันเอก (พิเศษ) ดร.ถนัด คอมันตร์ นำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ขอพระราชทานชื่อให้แก่มหาวิทยาลัย เพื่อเป็นสิริมงคลแก่มหาวิทยาลัย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานนามมหาวิทยาลัยว่า "มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์" เมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2510 ตามพระนามทรงกรมของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก คือ กรมหลวงสงขลานครินทร์ ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงถือว่าวันที่ 22 กันยายน ของทุกปีเป็น "วันสงขลานครินทร์"

ในปี พ.ศ. 2510 มหาวิทยาลัยที่จังหวัดปัตตานีก่อสร้างเสร็จในบางส่วนแล้วนั้น ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข และคณะ ได้เดินทางไปตรวจการก่อสร้าง พบว่า บริเวณดังกล่าวไม่เหมาะสมสำหรับเป็นที่ตั้งของคณะวิศวกรรมศาสตร์เนื่องจากสภาพพื้นดินเป็นที่ลุ่มและดินมีความอ่อน ไม่สามารถรองรับน้ำหนักเครื่องจักร หรือรับน้ำหนักอาคารคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่เป็นอาคารใหญ่ๆ ได้ และอีกประการหนึ่ง บริเวณนี้อยู่ติดชายทะเล ความชื้นและไอน้ำจากทะเลจะทำให้เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโลหะและเครื่องอิเล็กทรอนิกส์เสื่อมสภาพได้ง่าย[5] ดังนั้น จึงมีความเห็นว่า มหาวิทยาลัยที่จังหวัดปัตตานีนั้นควรใช้เป็นอาคารของคณะศึกษาศาสตร์ และคณะทางศิลปศาสตร์ และได้ย้ายคณะวิศวกรรมศาสตร์ไปตั้งที่ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

ต่อมา วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2511 ได้มีพระบรมราชโองการประกาศใช้พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ขึ้น[6] มหาวิทยาลัยจึงกำหนดให้วันที่ 13 มีนาคม ของทุกปี เป็น "วันสถาปนามหาวิทยาลัย"

ในวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2559 ได้มีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พ.ศ. 2559 ซึ่งมีสาระสำคัญคือได้ยกเลิก พ.ร.บ. ฉบับปี พ.ศ. 2522 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติมปี พ.ศ. 2541 และได้กำหนดให้มหาวิทยาลัยเป็นนิติบุคคล มีฐานะเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ ซึ่งไม่ใช่ส่วนราชการและไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ โดยพระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาคือวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป [7]

ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยได้เปิดคณะวิชาต่าง ๆ 38 คณะและเทียบเท่า โดยเปิดสอนสาขาวิชาการต่าง ๆ จำนวน 321 สาขาวิชา

สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย

[แก้]

การบริหารงาน

[แก้]

นายกสภามหาวิทยาลัย

[แก้]

นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีนายกสภามหาวิทยาลัยมาแล้ว 6 คน ดังรายนามต่อไปนี้

รายนามนายกสภามหาวิทยาลัย
รายนาม วาระการดำรงตำแหน่ง
1. จอมพล ถนอม กิตติขจร 17 กันยายน พ.ศ. 2515
2. พันเอก (พิเศษ) ดร.ถนัด คอมันตร์ 18 กันยายน พ.ศ. 2515 - 23 สิงหาคม พ.ศ. 2522
3. นายโอสถ โกศิน 24 สิงหาคม พ.ศ. 2522 - 23 สิงหาคม พ.ศ. 2528
4. นายเกษม จาติกวณิช 24 สิงหาคม พ.ศ. 2528 - 4 กันยายน พ.ศ. 2532
5. ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.เกษม สุวรรณกุล 5 กันยายน พ.ศ. 2532 - 4 กันยายน พ.ศ. 2534 (วาระที่ 1)
14 ตุลาคม พ.ศ. 2534 - 13 ตุลาคม พ.ศ. 2536 (วาระที่ 2)
15 ธันวาคม พ.ศ. 2536 - 14 ธันวาคม พ.ศ. 2538 (วาระที่ 3)
19 มกราคม พ.ศ. 2539 - 18 มกราคม พ.ศ. 2541 (วาระที่ 4)
22 มกราคม พ.ศ. 2541 - 21 มกราคม พ.ศ. 2543 (วาระที่ 5)
19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543 - 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 (วาระที่ 6-11)
13 มีนาคม พ.ศ. 2555 - 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 (วาระที่ 12)
6. ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์ จรัส สุวรรณเวลา 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 - ปัจจุบัน

หมายเหตุ คำนำหน้านามของผู้ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัย เป็นคำนำหน้านามในขณะดำรงตำแหน่ง

อธิการบดี

[แก้]

นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีอธิการบดีมาแล้ว 12 คน ดังรายนามต่อไปนี้

รายนามอธิการบดี
รายนาม วาระการดำรงตำแหน่ง
1. พันเอก (พิเศษ) ดร.ถนัด คอมันตร์ เมษายน พ.ศ. 2510 - มีนาคม พ.ศ. 2512
2. ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข มีนาคม พ.ศ. 2512 - กรกฎาคม พ.ศ. 2514
3. ศาสตราจารย์ ดร.บัวเรศ คำทอง กรกฎาคม พ.ศ. 2514 - กรกฎาคม พ.ศ. 2516
4. ศาสตราจารย์ นายแพทย์ สวัสดิ์ สกุลไทย กรกฎาคม พ.ศ. 2516 - กรกฎาคม พ.ศ. 2518
5. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ผาสุข กุลละวณิชย์ กรกฎาคม พ.ศ. 2518 - กรกฎาคม พ.ศ. 2522 (วาระที่ 1)
กรกฎาคม พ.ศ. 2528 - พฤษภาคม พ.ศ. 2534 (วาระที่ 2)
6. ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ทองจันทร์ หงส์ลดารมภ์ กรกฎาคม พ.ศ. 2522 - มิถุนายน พ.ศ. 2528
7. รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริพงษ์ ศรีพิพัฒน์ มิถุนายน พ.ศ. 2534 - พฤษภาคม พ.ศ. 2540
8. รองศาสตราจารย์ ดร.สุนทร โสตถิพันธุ์ มิถุนายน พ.ศ. 2540 - พฤษภาคม พ.ศ. 2543
9. รองศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ชิตพงศ์ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2543 - 31 มีนาคม พ.ศ. 2549
10. รองศาสตราจารย์ ดร.บุญสม ศิริบำรุงสุข 1 มิถุนายน พ.ศ. 2549 - 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2555
11. รองศาสตราจารย์ ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล 1 มิถุนายน พ.ศ. 2555 - 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2561[8]
12. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกร ดร.นิวัติ แก้วประดับ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2561 - ปัจจุบัน

หมายเหตุ คำนำหน้านามของผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี เป็นคำนำหน้านามในขณะดำรงตำแหน่ง

การศึกษา

[แก้]

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้เปิดหลักสูตรการเรียนการสอนครอบคลุมทั้งสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์สุขภาพ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ การบริหารการศึกษาดำเนินการโดย 31 คณะ 7 วิทยาลัย 1 บัณฑิตวิทยาลัย และหน่วยงานอื่น ๆ สามารถอำนวยการสอนหลักสูตรต่าง ๆ จำนวน 321 สาขาวิชา ใน 5 วิทยาเขต ประกอบไปด้วย

วิทยาเขต

[แก้]

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของภาคใต้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระจายโอกาสทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาสู่ภาคใต้ ด้วยเหตุนี้มหาวิทยาลัยจึงมีเจตนาที่จะเป็นมหาวิทยาลัยหลายวิทยาเขต ปัจจุบันมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ประกอบด้วย 5 วิทยาเขต ได้แก่ วิทยาเขตปัตตานี, วิทยาเขตหาดใหญ่, วิทยาเขตภูเก็ต, วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี, และวิทยาเขตตรัง

วิทยาเขตปัตตานี

[แก้]

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ตั้งอยู่เลขที่ 181 ถนนเจริญประดิษฐ์ ตำบลรูสมิแล อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี 94000 เป็นวิทยาเขตแห่งแรกและที่ตั้งสำนักงานอธิการบดีของมหาวิทยาลัยก่อนที่จะทำการย้ายมาวิทยาเขตหาดใหญ่ เริ่มทำการสอนตั้งแต่ปี 2510 ประกอบด้วย 8 คณะและหน่วยงานอื่น ๆ ได้แก่

วิทยาเขตหาดใหญ่

[แก้]

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ตั้งอยู่เลขที่ 15 ถนนกาญจนวิณิชย์ ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 90110 เป็นวิทยาเขตแห่งที่ 2 ของมหาวิทยาลัย เริ่มทำการสอนตั้งแต่ปี 2514 ปัจจุบันเป็นวิทยาเขตที่ใหญ่ที่สุด ประกอบด้วย 16 คณะและหน่วยงานอื่น ๆ ได้แก่

วิทยาเขตภูเก็ต

[แก้]

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ตั้งอยู่เลขที่ 80 หมู่ 1 ถนนวิชิตสงคราม ตำบลกระทู้ อำเภอกระทู้ จังหวัดภูเก็ต 83120 เป็นวิทยาเขตแห่งที่ 3 ของมหาวิทยาลัย เริ่มทำการสอนตั้งแต่ปี 2520 ประกอบด้วย 3 คณะ 2 วิทยาลัยและหน่วยงานอื่น ๆ ได้แก่

วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี

[แก้]

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี ตั้งอยู่เลขที่ 31 หมู่ 6 ตำบลมะขามเตี้ย อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี 84100 เป็นวิทยาเขตแห่งที่ 4 ของมหาวิทยาลัย เริ่มทำการสอนตั้งแต่ปี 2533 ประกอบด้วย 3 คณะและหน่วยงานอื่น ๆ ได้แก่

วิทยาเขตตรัง

[แก้]

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง ตั้งอยู่เลขที่ 102 หมู่ 6 ตำบลควนปริง อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง 92000 เป็นวิทยาเขตแห่งที่ 5 ของมหาวิทยาลัย เริ่มทำการสอนมาตั้งแต่ปี 2534 ประกอบด้วย 2 คณะและหน่วยงานอื่น ๆ ได้แก่

สถาบันสมทบ

[แก้]

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้รับวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีในสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เข้าสมทบในมหาวิทยาลัย [9][10] ดังนี้

สถาบันเรียนร่วม

[แก้]

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้รับนักศึกษาแพทย์ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (พ.บ.) ชั้นปีที่ 2-3 มาเรียนในรายวิชาปรีคลินิก เช่น ชีวเคมีการแพทย์พื้นฐาน มหกายวิภาคศาสตร์ จุลกายวิภาคศาสตร์ คัพภวิทยา ประสาทกายวิภาคศาสตร์ สรีรวิทยาทางการแพทย์ จุลชีววิทยาทางการแพทย์และวิทยาอิมมูน ปรสิตวิทยาทางการแพทย์ เภสัชวิทยาการแพทย์ พยาธิวิทยากายวิภาค พยาธิวิทยาคลินิก และเวชพันธุศาสตร์ โดยมีคณาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และอาจารย์รับเชิญพิเศษเป็นผู้รับผิดชอบในการเรียนการสอน

เครือข่ายวิจัย

[แก้]

สาขาความเป็นเลิศ/สถานวิจัยความเป็นเลิศ/สถานวิจัย/หน่วยวิจัยที่ได้รับ

การรับบุคคลเข้าศึกษาต่อ

[แก้]

โดยวิธีรับตรงจากนักเรียนที่กำลังศึกษาในโรงเรียน 14 จังหวัดภาคใต้ โครงการรับตรงต่าง ๆ ที่เป็นไปตามประกาศของมหาวิทยาลัย และร่วมสอบคัดเลือกกับสมาคมอธิการบดีแห่งประเทศไทย โดยสามารถค้นหาข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ งานรับนักศึกษา สังกัดกองทะเบียนและประมวลผล ที่เว็บไซต์ http://www.entrance.psu.ac.th/

อันดับและมาตรฐานของมหาวิทยาลัย

[แก้]
อันดับมหาวิทยาลัย
อันดับในประเทศ(อันดับนานาชาติ)
สถาบันที่จัด อันดับ
CWTS (2016) 5(822)
QS (Asia) (2016) 8(185)
QS (World) (2016) 5(701+)
RUR (2016) 3(618)
SIR (2016) 7(552)
THE (Asia) (2016) 3(141-150)
THE (World) (2016) 6(801+)
THE (BRICS) (2016) 7(188)
URAP (2015) 6(904)
U.S. News (2017) 5(933)

การประเมินคุณภาพมหาวิทยาลัย

[แก้]

ในปี พ.ศ. 2549 สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้จัดอันดับมหาวิทยาลัยของประเทศไทยใน "โครงการฐานข้อมูลออนไลน์เพื่อประเมินศักยภาพของมหาวิทยาลัยไทย"[11] โดยในภาพรวมผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยกลุ่มดัชนีชี้วัดด้านการวิจัยและกลุ่มดัชนีชี้วัดตามด้านการเรียนการสอน ซึ่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้รับการจัดอันดับเป็นมหาวิทยาลัยอยู่ในกลุ่มที่ 3 ในด้านการเรียนการและด้านการวิจัยของประเทศไทยได้คะแนนร้อยละ 65-69 จากคะแนนเต็ม 100%

ส่วนการประเมินคุณภาพผลงานวิจัยเชิงวิชาการโดย สกว. ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยครั้งที่ 3 ในปีพ.ศ. 2554 พบว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้รับการประเมินในระดับ 5 หรือในระดับดีเยี่ยมในกลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ , กลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีการเกษตร และสัตวแพทยศาสตร์ (วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร) ภาควิชาเทคโนโลยีอาหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และระดับ 4 หรือในระดับดีในกลุ่มสาขาเทคโนโลยีชีวภาพ ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพอุตสาหกรรม คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ , กลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ภาควิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี , ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ , กลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีการเกษตร และสัตวแพทยศาสตร์ (Plant and Soil Science) ภาควิชาพืชศาสตร์ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ , กลุ่มสาขาแพทยศาสตร์และทันตแพทยศาสตร์ (อายุรศาสตร์) ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ , ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ ชีวเวชศาสตร์ พยาธิวิทยา หน่วยระบาดวิทยา รังสีวิทยา เวชศาสตร์ฉุกเฉิน และสถาบันโรคระบบทางเดินอาหารและตับ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ , กลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ (เภสัชศาสตร์) คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

อันดับมหาวิทยาลัย

[แก้]

นอกจากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดยหน่วยงานในประเทศไทยแล้ว ยังมีหน่วยงานจัดอันดับมหาวิทยาลัยจากต่างประเทศอีกหลายหน่วยงาน ซึ่งแต่ละหน่วยงานมีเกณฑ์การจัดอันดับและการให้คะแนนที่แตกต่างกัน ได้แก่

การจัดอันดับโดย Centrum voor Wetenschap en Technologie Studies

[แก้]

การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดย Centrum voor Wetenschap en Technologie Studies หรือ CWTS Leiden University ประจำปี 2016 ของประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยใช้เกณฑ์พิจารณาจากผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารที่ปรากฏชื่ออยู่ในฐานข้อมูล Web of Science database มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 5 ของประเทศไทย และอันดับที่ 822 ของโลก[12]

การจัดอันดับโดย Center for World University Rankings

[แก้]

การจัดอันดับโดย Center for World University Rankings หรือ CWUR ที่มีเกณฑ์การจัดอันดับคือ คุณภาพงานวิจัย ศิษย์เก่าที่จบไป คุณภาพการศึกษา คุณภาพของอาจารย์ และภาควิชาต่าง ๆ ประจำปี พ.ศ. 2559 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ไม่ติดอันดับ [13]

การจัดอันดับโดย Quacquarelli Symonds

[แก้]

แควกเควเรลลี ไซมอนด์ส หรือ QS จัดอันดับมหาวิทยาลัยในสองส่วน คือ การจัดอันดับเป็นระดับโลก(QS World University Rankings) และระดับทวีปเอเชีย(QS University Rankings: Asia) มีระเบียบวิธีจัดอันดับ ดังนี้

QS World

  1. ชื่อเสียงทางวิชาการ จากการสำรวจมหาวิทยาลัยทั่วโลก ผลของการสำรวจคัดกรองจาก สาขาที่ได้รับการตอบรับว่ามีความเป็นเลิศโดยมหาวิทยาลัยสามารถส่งสาขาให้ได้รับการคัดเลือกตั้งแต่ 2 สาขาขึ้นไป โดยจะมีผู้เลือกตอบรับเพียงหนึ่งสาขาจากที่มหาวิทยาลัยเลือกมา
  2. การสำรวจผู้ว่าจ้าง เป็นการสำรวจในลักษณะคล้ายกับในด้านชื่อเสียงทางวิชาการแต่จะไม่แบ่งเป็นคณะหรือสาขาวิชา โดยนายจ้างจะได้รับการถามให้ระบุ 10 สถาบันภายในประเทศ และ 30 สถาบันต่างประเทศที่จะเลือกรับลูกจ้างที่สำเร็จการศึกษาจากสถาบันนั้น ๆ รวมถึงคุณสมบัติสำคัญที่ต้องการ 2 ข้อ
  3. งานวิจัยที่อ้างต่อ 1 ชิ้นรายงาน โดยข้อมูลที่อ้างอิงจะนำมาจาก Scopus ในระยะ 5 ปี
  4. H-index ซึ่งคือการชี้วัดจากทั้งผลผลิต และ อิทธิพลจากการตีพิมพ์ผลงานทั้งจากนักวิทยาศาสตร์และศาสตร์อื่น ๆ

โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้รับการจัดให้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 5 ของประเทศไทย และอยู่ช่วงอันดับที่ 701+ ของโลก[14]

น้ำหนักการชี้วัด การแบ่งคะแนนจะต่างกันในแต่ละสาขาวิชา เช่น ทางด้านการแพทย์ ซึ่งเป็นสาขาที่มีอัตราการเผยแพร่งานวิจัยสูง การวัดการอ้างอิงและh-index ก็จะคิดเป็น 25 เปอร์เซนต์ สำหรับแต่ละมหาวิทยาลัย ในทางกลับกันสาขาที่มีการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการที่น้อยกว่า เช่น สาขาประวัติศาสตร์ จะคิดเป็นร้อยละที่ต่ำกว่าคือ 15 เปอร์เซนต์ จากคะแนนทั้งหมด ในขณะเดียวกันสาขาศิลปะและการออกแบบ ซึ่งมีผลงานตีพิมพ์น้อยก็จะใช้วิธีการวัดจากผู้ว่าจ้างและการสำรวจด้านวิชาการ[15]

QS Asia

  1. ชื่อเสียงทางวิชาการ (30 เปอร์เซนต์) เป้าหมายของตัวชี้วัดนี้เพื่อจะบอกว่ามหาวิทยาลัยใดมีชื่อเสียงในในระดับนานาชาติ
  2. การสำรวจผู้จ้างงาน (20 เปอร์เซนต์)
  3. อัตราส่วนของคณะต่อนักศึกษา (15 เปอร์เซนต์) วัดจากอัตราส่วนของบุคลากรทางการศึกษาต่อจำนวนนักศึกษา และการติดต่อและให้การสนับสนุนของบุคลากรที่มีต่อนักศึกษา
  4. การอ้างอิงในรายงาน (10 เปอร์เซนต์) และผลงานของคณะ (10 เปอร์เซนต์) เป็นการรวมทั้งงานที่อ้างอิงใน scopusและ การตีพิมพ์ผลงานโดยคณะนั้นๆเอง
  5. บุคลากรระดับดุษฎีบัณฑิต (5 เปอร์เซนต์)
  6. สัดส่วนคณะที่เป็นหลักสูตรนานาชาติ (2.5 เปอร์เซนต์) และนักศึกษาต่างชาติ (2.5 เปอร์เซนต์)
  7. สัดส่วนของรับนักศึกษาและเปลี่ยนที่เข้ามาศึกษา (2.5 เปอร์เซนต์) และการส่งนักศึกษาออกไปแลกเปลี่ยน (2.5 เปอร์เซนต์)[16]

โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้รับการจัดให้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 8 ของประเทศไทย และเป็นอันดับที่ 185 ของเอเชีย[17]

การจัดอันดับโดย Round University Rankings

[แก้]

การจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก Round University Rankings 2016 โดย RUR Rankings Agency ของประเทศรัสเซีย เป็นการจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก (a ranking of leading world universities) ในปี ค.ศ. 2016 มีเกณฑ์ที่ใช้ในการจัดอันดับโดยการพิจารณาตามพันธกิจหลักของมหาวิทยาลัยในระดับสากล 4 ด้าน 20 ตัวชี้วัด คือด้านการสอน (Teaching) 5 ตัวชี้วัด คิดเป็น 40% การวิจัย (Research) 5 ตัวชี้วัด 40% ด้านความเป็นนานาชาติ (International Diversity) 5 ตัวชี้วัด 10% และด้านความยั่งยืนทางการเงิน (Financial Sustainability) 5 ตัวชี้วัด 10% มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 3 ของประเทศไทย และอันดับที่ 618 ของโลก[18]

การจัดอันดับโดย SCImago Institutions Ranking

[แก้]

อันดับมหาวิทยาลัยโดย SCImago Institutions Ranking หรือ SIR ซึ่งเป็นการจัดอันดับสถาบันที่มีผลงานวิจัยในระดับนานาชาติ ซึ่งจะไม่ใด้นับเฉพาะมหาวิทยาลัย แต่จะนับสถาบันเฉพาะทางด้วย เช่น สถาบันเทคโนโลยี วิทยาลัย โรงพยาบาล ในปี พ.ศ. 2559 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับที่ 552 ของโลก และเป็นอันดับ 7 ของประเทศไทย [19]

การจัดอันดับโดย The Times Higher Education

[แก้]

The Times Higher Education หรือ THE มีระเบียบวิธีการจัดอันดับโดยแบ่งตัวชี้วัดเป็น 5 ประการ วัดคะแนนเป็นเปอร์เซนต์[20] การสอน (บรรยากาศการเรียน) คิดเป็น 30 เปอร์เซนต์ ประกอบไปด้วย การสำรวจชื่อเสียงทางวิชาการ 15 เปอร์เซนต์ อัตราส่วนของจำนวนบุคลากรต่อนักศึกษา 4.5 เปอร์เซนต์ อัตราส่วนผู้สำเร็จการศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิตต่อบัณฑิต 2.25 เปอร์เซนต์ อัตราส่วนบุคลากรระดับดุษฎีบัณฑิต 6 เปอร์เซนต์ รายรับของมหาวิทยาลัย 2.25 เปอร์เซนต์ การวิจัย (ปริมาณ รายรับ และชื่อเสียง) 30 เปอร์เซนต์ ประกอบไปด้วย สำรวจความมีชื่อเสียงทุกปี โดย Academic Reputation Survey 18 เปอร์เซนต์ รายรับจากงานวิจัย 6 เปอร์เซนต์ ปริมาณงานวิจัย 6 เปอร์เซนต์ การอ้างอิง อิทธิพลของงานวิจัย 30 เปอร์เซนต์ ทัศนะจากนานาชาติ (บุคลากร นักศึกษาและงานวิจัย) 7.5 เปอร์เซนต์ อัตราส่วนนักศึกษาต่างชาติต่อนักศึกษาในประเทศ 2.5 เปอร์เซนต์ อัตราส่วนบุคลากรต่างชาติต่อในประเทศ 2.5 เปอร์เซนต์ ความร่วมมือระดับนานาชาติ 2.5 เปอร์เซนต์ การส่งต่อความรู้ 2.5เปอร์เซนต์ การที่มหาวิทยาลัยมีนวัตกรรมหรือสิ่งประดิษฐ์ที่นำไปใช้ต่อยอดในภาคอุตสาหกรรม โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้รับการจัดอันดับให้เป็นอันดับ 6 ของประเทศไทย และอันดับที่ 801+ ของโลก[21]

การจัดอันดับโดย University Ranking by Academic Performance

[แก้]

อันดับที่จัดโดย University Ranking by Academic Performance หรือ URAP ปี พ.ศ. 2558 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้รับการจัดอันดับให้เป็นอันดับ 6 ของประเทศไทย และอันดับ 904 ของโลก[22] โดยมีพื้นฐานทางด้านวิชาการตรงตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ คุณภาพและปริมาณของบทความตีพิมพ์ทางวิชาการ บทความวิจัย การเผยแพร่ และการอ้างอิง

การจัดอันดับโดย U.S. News & World Report

[แก้]

U.S. News & World Report นิตยสารการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับมากที่สุดของสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกล่าสุด “Best Global Universities Rankings 2017” จากการสำรวจมหาวิทยาลัย 60 ประเทศทั่วโลก และมีเกณฑ์จัดอันดับหลายด้าน เช่น ชื่อเสียงการวิจัยในระดับโลก และระดับภูมิภาค สื่อสิ่งพิมพ์ การถูกนำไปอ้างอิง ความร่วมมือระหว่างประเทศ จำนวนบุคลากรระดับปริญญาเอก เป็นต้น โดยมีมหาวิทยาลัยของไทยติดอันดับ 6 แห่ง และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ถูกจัดอันดับให้เป็นอันดับที่ 5 ของประเทศไทย และอันดับที่ 933 ของโลก[23]

อันดับมหาวิทยาลัยด้านอื่นๆ

[แก้]

การจัดอันดับโดย Webometrics

[แก้]

การจัดอันดับมหาวิทยาลัยของเว็บโอเมตริกซ์ ประจำปี พ.ศ. 2559 จัดทำขึ้นเพื่อแสดงความตั้งใจของสถาบันต่าง ๆ ในการเผยแพร่ความรู้สู่เว็บ และเป็นความริเริ่มเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงความรู้อย่างเปิดกว้าง (Open Access) ทั่วโลก อันดับ Webometrics จะบอกถึงปริมาณและคุณภาพของสิ่งตีพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ในเว็บไซต์ของสถาบัน โดยพิจารณาจากจำนวน Link ที่เชื่อมโยงเข้าสู่เว็บนั้น ๆ จากเว็บภายนอกโดยวัดจากการสืบค้นด้วยSearch Engine และนับจำนวนเอกสารตีพิมพ์ออนไลน์ในกลุ่มของไฟล์ .pdf .ps .ppt และ .doc และจำนวนเอกสารที่มีการอ้างอิง (Citation) แบบออนไลน์ผ่านกูเกิลสกอลาร์ (Google Scholar) โดยจะจัดอันดับปีละ 2 ครั้ง ได้แก่ เดือนมกราคม และ เดือนกรกฎาคม โดยล่าสุดการจัดอันดับรอบที่ 2 ประจำปี พ.ศ. 2559 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 7 ของประเทศไทย และอยู่ในอันดับที่ 834 ของโลก[24]

การจัดอันดับสอบแข่งขันตำแหน่งครูผู้ช่วย

[แก้]

ข้อมูลจากการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย พ.ศ. 2560 สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พบว่า 10 อันดับสูงสุดของสถาบันการศึกษาที่ผลิตครู ที่มีนักศึกษาสอบผ่านเกณฑ์และขึ้นบัญชีในการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครู อันดับ 1 ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มากที่สุด จำนวน 1,320 คน รองลงมาคือ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา จำนวน 1,247 คน และมหาวิทยาลัยทักษิณ จำนวน 1,189 คน ตามลำดับ[25]

การจัดอันดับจำนวนศาสตราจารย์

[แก้]

ปัจจุบัน พ.ศ. 2562 มหาวิทยาลัยมีผู้ที่ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ จำนวนทั้งสิ้น 34 คน ซึ่งเป็นอันดับ 7 ของประเทศ

วันสำคัญ

[แก้]

วันสถาปนามหาวิทยาลัย

[แก้]

วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2511 ได้มีพระบรมราชโองการประกาศใช้พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 85 ตอน 24 โดยเรียกว่า “พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พ.ศ. 2511” และวันที่ 13 มีนาคม เป็นวันที่พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีผลบังคับใช้ ดังนั้น มหาวิทยาลัย จึงได้กำหนดให้วันดังกล่าวเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งของมหาวิทยาลัย โดยถือว่าวันที่ 13 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันคล้าย “วันสถาปนามหาวิทยาลัย”

วันสงขลานครินทร์

[แก้]

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้กำหนดให้วันที่ 22 กันยายนของทุกปี เป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งของมหาวิทยาลัยคือวัน “สงขลานครินทร์” เพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการพระราชทานชื่อแก่มหาวิทยาลัยภาคใต้ (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในปัจจุบัน) เมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2510 ว่า “มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์” ตามพระนามฐานันดรศักดิ์ของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก คือ กรมหลวงสงขลานครินทร์ ทั้งนี้เพื่อเป็นการเทอดทูนเกียรติของสมเด็จพระบรมราชชนก ผู้ทรงมีมหากรุณาธิคุณแด่การศึกษาแพทย์และการพยาบาลของไทย

วันมหิดล

[แก้]

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้กำหนดให้วันที่ 24 กันยายนของทุกปีเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งของมหาวิทยาลัยเรียกว่า “วันมหิดล” เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันเสด็จทิวงคตของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก กรมหลวงสงขลานครินทร์ โดยมหาวิทยาลัยร่วมกับส่วนราชการและภาคเอกชนจะจัดให้มีกิจกรรมวางพวงมาลา หน้าพระบรมรูปฯ ในทุกวิทยาเขต เพื่อเฉลิมพระเกียรติและระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ นอกจากนี้ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2552 เป็นต้นไป มหาวิทยาลัยได้จัดกิจกรรม "วันถือประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง" เพื่อสนองพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมราชชนก ในการสร้างความเจริญแก่ประเทศชาติโดยไม่หวังผลตอบแทน เพิ่มอีกหนึ่งกิจกรรมด้วย

วันรูสะมิแล

[แก้]

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้เริ่มดำเนินการก่อตั้งที่ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี เมื่อ พ.ศ. 2509 โดยในเวลาดังกล่าวมหาวิทยาลัยมีสำนักงานชั่วคราวอยู่ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ต่อมาในปี 2510 มหาวิทยาลัย ได้เปิดรับนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์เป็นคณะแรก และในปี 2511 ก็เปิดรับนักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ โดยอาศัยพื้นที่ของมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นที่ทำการเช่นเดียวกัน เมื่อการก่อสร้างอาคารที่ปัตตานีแล้วเสร็จเป็นบางส่วนในภาคการศึกษาที่ 2 นักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ และบุคลากรมหาวิทยาลัยก็ได้ย้ายมาอยู่ที่วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ที่ ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี พร้อมกันเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2511 ดังนั้นในวันที่ 9 พฤศจิกายนของทุกปีจึงเรียกว่าวัน “รูสะมิแล” ซึ่งมีความหมายว่า “สนเก้าต้น” ตามชื่อตำบลที่ตั้งของมหาวิทยาลัยเพื่อระลึกถึงการมาอยู่ที่ตำบลรูสะมิแลวันแรก

พิธีพระราชทานปริญญาบัตร

[แก้]

พิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จัดให้มีขึ้นในเดือนกันยายนของทุกปี โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานปริญญาบัตร ณ วิทยาเขตปัตตานี และวิทยาเขตหาดใหญ่ จนถึงปีพุทธศักราช 2530 หลังจากนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ในการพระราชทานปริญญาบัตร และในปีพุทธศักราช 2541 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จแทนพระองค์ในการพระราชทานปริญญาบัตร แต่หลังจากปี พ.ศ. 2546 เป็นต้นมาได้จัดขึ้นที่วิทยาเขตหาดใหญ่ โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จแทนพระองค์ในการพระราชทานปริญาบัตรแต่บัณฑิตกิตติมศักดิ์ และบัณฑิตจากทุกวิทยาเขต โดยตั้งแต่ปีการศึกษา 2550 เป็นต้นมาสถานที่จัดงานพิธีพระราชทานปริญญาบัตร คือ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี

บุคคลสำคัญ

[แก้]

ดูเพิ่ม รายนามบุคคลสำคัญจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

อ้างอิง

[แก้]
  1. การกำหนดรหัสตัวพยัญชนะประจำกระทรวงและเลขที่หนังสือออกของ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เก็บถาวร 2021-12-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2564
  2. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๘, เล่ม ๑๔๑ ตอนที่ ๕๙ ก หน้า ๓๙, ๓๐ กันยายน ๒๕๖๗
  3. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์: สีประจำมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์คือสีน้ำเงิน. สืบค้น 2 ตุลาคม 2564.
  4. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-08. สืบค้นเมื่อ 2021-01-07.
  5. ประวัติมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  6. พระราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พ.ศ. ๒๕๑๑, ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๑, เล่ม๘๕, ตอน ๒๔ก, หน้า ๑๒๗
  7. พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พ.ศ. 2559 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 133 ตอน 53 ก หน้า 1 วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2559
  8. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (นายชูศักดิ์ ลิ่มสกุล)
  9. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกฤษฎีการับวิทยาลัยพยาบาล ในสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข เข้าสมทบในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พ.ศ. ๒๕๔๖ เก็บถาวร 2007-09-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๐, ตอน ๓๖ก, ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๖, หน้า๑
  10. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกฤษฎีการับวิทยาลัยพยาบาล ในสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข เข้าสมทบในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๙, เล่ม ๑๒๓, ตอน ๙๖ก, ๒๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙, หน้า ๑๐
  11. สถาบันจัดอันดับแห่งประเทศไทย ฐานข้อมูลออนไลน์เพื่อประเมินศักยภาพของมหาวิทยาลัยไทย เก็บถาวร 2007-08-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2013-02-21
  12. [1]
  13. [2]
  14. http://www.topuniversities.com/university-rankings/world-university-rankings/2016?utm_source=Facebook&utm_medium=SM%20Post&utm_campaign=QSWorldUniveresityRankings
  15. QS. QS World University Rankings: Methodology. September 11, 2015. http://www.topuniversities.com/university-rankings-articles/world-university-rankings/qs-world-university-rankings-methodology (accessed june 29, 2016).
  16. QS. QS University Rankings: Asia methodology. 13 June 2016. http://www.topuniversities.com/asia-rankings/methodology (accessed 29 June 2016).
  17. http://www.topuniversities.com/university-rankings/asian-university-rankings/2016#sorting=rank+region=+country=+faculty=+stars=false+search=
  18. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-05-13. สืบค้นเมื่อ 2016-11-19.
  19. [3]
  20. Times Higher Education. World University Rankings 2015-2016 methodology. september 24, 2015. https://www.timeshighereducation.com/news/ranking-methodology-2016 (accessed June 29, 2016).
  21. https://www.timeshighereducation.com/world-university-rankings/2016/world-ranking#!/page/0/length/25/country/846/sort_by/rank_label/sort_order/asc/cols/rank_only
  22. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-08-27. สืบค้นเมื่อ 2016-11-19.
  23. [4]
  24. http://www.webometrics.info/en/Asia/thailand
  25. http://www.webometrics.info/en/Asia/thailand ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 358/2560 ข้อมูล 10 อันดับสูงสุดของสถาบันการศึกษาที่มีผู้เรียนสอบติดครูผู้ช่วย และได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ปี พ.ศ. 2560

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]