รัฐธรรมนูญ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มหากฎบัตร (Magna Carta)

รัฐธรรมนูญ (อังกฤษ: constitution) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ฉบับ พ.ศ. 2525 ให้ความหมายดังนี้

ในความหมายอย่างแคบ "รัฐธรรมนูญ" กฎหมายฉบับหนึ่งหรือหลายฉบับซึ่งรวบรวมกฎเกณฑ์การปกครองประเทศขึ้นไว้ และไม่ใช่สิ่งเดียวกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ เพราะ "กฎหมายรัฐธรรมนูญ" มีความหมายกว้างกว่าและจะเป็นรูปแบบลายลักษณ์อักษรหรือจารีตประเพณีก็ได้

รัฐธรรมนูญในปัจจุบันนั้น มีทั้งเป็นลักษณะลายลักษณ์อักษร และลักษณะไม่เป็นลายลักษณ์อักษร โดยที่ลักษณะไม่เป็นลายลักษณ์อักษร นอกจากจะใช้หลักของจารีต ประเพณีการปกครองแล้ว กฎหมายทุกตัวที่เกี่ยวข้องกับการปกครอง ย่อมถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญด้วย

ทุกประเทศทั่วโลกมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ทั้งประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย รวมถึงประเทศที่ปกครองระบอบเผด็จการ เพื่อใช้เป็นหลักหรือเป็นแนวทางในการบริหารประเทศ

อนึ่งรัฐธรรมนูญหลายขึ้นก่อนกฎหมายอื่น ๆ แต่สำหรับประเทศไทย มีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญอยู่บ่อยครั้ง กฎหมายอื่น ๆ จึงมีมาก่อนรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การใช้ถ้อยคำที่ปรากฏในกฎหมายอื่นอยู่ก่อนแล้วในรัฐธรรมนูญจึงควรระมัดระวังว่าประสงค์จะให้มีความหมายอย่างเดียวกับที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านี้

ประเภทของรัฐธรรมนูญ[แก้]

รัฐธรรมนูญนั้นสามารถแบ่งแยกประเภทได้ในหลายลักษณะขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการแบ่งประเภท โดยแบ่งได้ 4 แบบ

  • แบ่งแยกตามวิธีการบัญญัติ[1] แบ่งได้ 2 ประเภท คือ
    • รัฐธรรมนูญที่มีลายลักษณ์อักษร คือ รัฐธรรมนูญที่มีบทบัญญัติรวมอยู่ในเอกสารฉบับหนึ่งหรือหลายฉบับ กำหนดถึงระเบียบแห่งอำนาจสูงสุดในรัฐ และความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจเช่นว่านี้ต่อกันและกัน[2] จะมีความชัดเจนเกี่ยวกับหลักเกณท์ต่างๆ เกี่ยวกับการปกครองรัฐ มีความยืดหยุ่นน้อยกว่ารัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร
    • รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร[3]
  • แบ่งแยกตามเนื้อหาและตามแบบพิธี[4] แบ่งได้ 2 ประเภท คือ
    • รัฐธรรมนูญตามเนื้อหา[5]
    • รัฐธรรมนูญตามแบบพิธี[6]
  • แบ่งแยกตามวิธีการแก้ไข[7] แบ่งได้ 2 ประเภท คือ
    • รัฐธรรมนูญที่แก้ไขยาก[8]
    • และรัฐธรรมนูญที่แก้ไขง่าย[9]
  • แบ่งแยกตามกำหนดเวลาในการบังคับใช้[10] แบ่งได้ 2 ประเภท คือ
    • รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว[11]
    • รัฐธรรมนูญฉบับถาวร[12]

ประวัติรัฐธรรมนูญ[แก้]

ในวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ. 1215 ขุนนางและพระราชาคณะจำนวน 25 คน ได้บังคับให้พระเจ้าจอห์นลงนามในเอกสารที่เรียกว่า "มหากฎบัตร" (The Great Charter, Magna Carta) ซึ่งเป็นสัญญาระหว่างพระมหากษัตริย์กับขุนนางและพระสงฆ์ โดยในมหากฎบัตรได้กำหนด ถึงการจัดองค์กรและการบริหารอำนาจของสภาสูง (Magnum Concillium) และกำหนดว่าพระมหากษัตริย์จะเก็บภาษีบางอย่างตามที่กำหนดไว้โดยมิได้รับความเห็นชอบจากสภาสูงมิได้ จะจับกุมคุมขังบุคคลได้ก็ต่อเมื่อ มีคำพิพากษาที่ชอบด้วยกฎหมาย มหากฎบัตรนี้ นักกฎหมายบางท่านเห็นว่า เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรก

รัฐธรรมนูญในสหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศส ในภาษาของประเทศทั้งสอง คำว่ารัฐธรรมนูญต่างใช้คำว่า Constitution ซึ่งแปลว่า การสถาปนา หรือการจัดตั้ง ซึ่งหมายถึงการสถาปนาหรือจัดตั้งรัฐนั่นเอง โดยทั้งสองประเทศมีรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ประเทศอังกฤษไม่มีรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษร

รัฐธรรมนูญในประเทศไทย[แก้]

หลังจากสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชเป็นต้นมาจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประเทศไทยในช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี หรือกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ต่างก็มีกฎหมายสำคัญหลายฉบับ ซึ่งอาจจัดได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญประเภทหนึ่ง แต่กฎหมายเหล่านั้นกระจัดกระจายอยู่ในหลายแห่งไม่เป็นหมวดหมู่เรียบร้อย นอกจากนี้กฎหมายดังกล่าวมีลักษณะเกี่ยวกับองค์พระมหากษัตริย์ การปกครองแผ่นดิน พระราชอำนาจในการตรากฎหมาย กฎหมายเกี่ยวกับขุนศาลตระลาการมากกว่าจะมีลักษณะเป็นรัฐธรรมนูญตามความเข้าใจในปัจจุบัน คือไม่มีบทจำกัดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ไว้[13] ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สืบเนื่องจากที่อังกฤษเข้ายึดเมืองมัณฑะเลย์ของพม่า เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับสยามประเทศ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ อัครราชทูตสยามประจำกรุงปารีส ถวายรายงานและความเห็นต่อประเด็นปัญหานี้ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ได้เรียกประชุมพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในสถานทูตในกรุงลอนดอนและกรุงปารีสเพื่อระดมความเห็น และได้จัดทำคำกราบบังคมทูล โดยมีเนื้อหาว่า "ประเทศไทยควรเปลี่ยนหลักการพื้นฐานของการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตย และระบบคณะรัฐมนตรี คือรัฐบาลที่ประกอบด้วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงต่าง ๆ เพื่อให้รัฐบาลมีประสิทธิภาพในการรักษากฎหมายให้เกิดความสงบเรียบร้อย และควรปรับปรุงกฎหมายบ้านเมืองเพื่อให้มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น" ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงคณะผู้จัดทำคำกราบบังคมทูลว่าทรงขอบพระราชหฤทัย แต่ทรงไม่อาจทำให้ลุล่วงได้ เนื่องมาจากความไม่พร้อมของบุคลากรที่รับภารกิจ

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงจัดให้มีการตั้งเมืองจำลองดุสิตธานีขึ้นเพื่อทดลองเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่น ซึ่งเทียบได้กับการปกครองจังหวัด โดยได้ทรงประกาศใช้ธรรมนูญลักษณะปกครองคณะนคราภิบาล (ดุสิตธานี) พระพุทธศักราช 2461[14] ขึ้นใช้บังคับในเขตจังหวัดดุสิตธานีด้วย

ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปณิธานอยู่แต่เดิมที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชนชาวไทยในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2475 แต่เมื่อถึงเวลาก็มิได้พระราชทานเนื่องจากอภิรัฐมนตรีสภากราบบังคมทูลทัดทานไว้ว่ายังไม่ถึงเวลาอันสมควร เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 คณะราษฎรจึงได้ทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย[15] และได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475[16] ถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทย ต่อมาเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475[17] ซึ่งถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรกของประเทศไทย

นับจากวันที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ประเทศไทยได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญมาแล้วทั้งสิ้น 20 ฉบับ ฉบับปัจจุบันคือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จำนวน 279 มาตรา ประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2560 เป็นฉบับแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 10)[18][19]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. พรชัย เลื่อนฉวี, “กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง”, (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต), 2550, หน้า 28.
  2. หยุด แสงอุทัย, “หลักรัฐธรรมนูญทั่วไป”, (กรุงเทพฯ : วิญญูชน), 2538, หน้า 44.
  3. รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร หรือรัฐธรรมนูญจารีตประเพณี หมายความถึง ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี คำพิพากษาของศาลยุติธรรม กฎหมายที่เกี่ยวกับกฎเกณฑ์การปกครองประเทศทางด้านการเมือง ธรรมเนียมปฏิบัติต่าง ๆ ที่ยึดถือติดต่อกันมา รวมกันเข้าเป็นบทบัญญัติที่มีอำนาจเป็นกฎหมายสูงสุด กำหนดรูปแบบการปกครองของรัฐ ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เขียนรวบรวมไว้เป็นรูปเล่ม
  4. หยุด แสงอุทัย, “หลักรัฐธรรมนูญทั่วไป”, (กรุงเทพฯ : วิญญูชน), 2538, หน้า 49.
  5. รัฐธรรมนูญตามเนื้อหา หมายความถึง รัฐธรรมนูญซึ่งมีบทบัญญัติบัญญัติถึงข้อความที่เป็นเรื่องของรัฐธรรรมนูญโดยตรง โดยไม่ต้องคำนึงว่าเรียกชื่อกฎหมายนั้นว่าเป็นรัฐธรรมนูญหรือไม่ เช่น Parliament Act 1911 ของสหราชอาณาจักร ซึ่งรูปแบบและลักษณะของกฎหมายฉบับนี้เป็นพระราชบัญญัติ แต่แท้ที่จริงแล้วเป็นรัฐธรรมนูญ.
  6. รัฐธรรมนูญตามแบบพิธี หมายถึง รัฐธรรมนูญซึ่งได้บัญญัติโดยวิธีการบัญญัติรัฐธรรมนูญ โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าเนื้อหาของบทบัญญัตินั้นเป็นเรื่องของรัฐธรรมนูญหรือไม่.
  7. พรชัย เลื่อนฉวี, “กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง”, (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต), 2550, หน้า 45
  8. รัฐธรรมนูญที่แก้ไขยาก หมายถึง รัฐธรรมนูญที่การแก้ไขเพิ่มเติมกระทำได้ยากกว่าการบัญญัติกฎหมายธรรมดา กระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมมีความซับซ้อนกว่าการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายธรรมดา เช่น รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นต้น
  9. รัฐธรรมนูญที่แก้ไขง่าย หมายถึง รัฐธรรมนูญที่การแก้ไขเพิ่มเติมกระทำได้โดยวิธีการเดียวกับการแก้ไขกฎหมายธรรมดา กล่าวคือ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสามารถกระทำได้โดยการตราพระราชบัญญัติ เช่น รัฐธรรมนูญของสหราชอาณาจักร อิสราเอล และนิวซีแลนด์ เป็นต้น
  10. วิษณุ เครืองาม, “กฎหมายรัฐธรรมนูญ”, (กรุงเทพฯ : นิติบรรณาการ), 2530, หน้า 54-55.
  11. รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เป็นรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้เป็นการฉุกเฉินหรือเป็นการล่วงหน้าในบางสถานการณ์ เช่น ภายหลังจากที่มีการปฏิวัติรัฐประหาร มักมีข้อความน้อยมาตราหรือไม่มีบทประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน
  12. รัฐธรรมนูญฉบับถาวร เป็นรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นให้มีความสมบูรณ์ที่สุดเพื่อให้บังคับใช้ได้ตลอดไป
  13. วิษณุ เครืองาม, “กฎหมายรัฐธรรมนูญ”, (กรุงเทพฯ : นิติบรรณาการ), 2530, หน้า 172.
  14. บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ, “กฎหมายรัฐธรรมนูญ”, (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์), 2551, หน้า 206-207.
  15. วิษณุ เครืองาม, “กฎหมายรัฐธรรมนูญ”, (กรุงเทพฯ : นิติบรรณาการ), 2530, หน้า 191.
  16. พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 49, 27 มิถุนายน 2475, หน้า 166-179.
  17. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 49, 10 ธันวาคม 2475, หน้า 529-551.
  18. รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ประกาศใช้แล้ว 279 มาตรา
  19. สด: การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 20

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]