สุรินทร์ มาศดิตถ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สุรินทร์ มาศดิตถ์
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ดำรงตำแหน่ง
15 กุมภาพันธ์ – 13 มีนาคม พ.ศ. 2518
นายกรัฐมนตรีหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช
ดำรงตำแหน่ง
21 เมษายน – 23 กันยายน พ.ศ. 2519
นายกรัฐมนตรีหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช
ดำรงตำแหน่ง
5 – 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519
นายกรัฐมนตรีหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด4 มกราคม พ.ศ. 2470
อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช
เสียชีวิต5 พฤษภาคม พ.ศ. 2521 (51 ปี)
อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช
พรรคการเมืองประชาธิปัตย์
คู่สมรสนางสุดา เทียบศรไชย
นางพิศมัย ไทยถาวร
นางปราณี ขาวเนียม

นายสุรินทร์ มาศดิตถ์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 3 สมัย และเป็นบิดาของนายสุรเชษฐ์ มาศดิตถ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช และคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ประวัติ[แก้]

เกิดวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2470 ที่ตำบลพรหมโลก อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นบุตรของนายรื่น นางกิมนัด มาศดิตถ์ มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 3 คน นายสุรินทร์ เป็นบุตรคนโต เข้าศึกษาขั้นประถมศึกษาปีที่ 1-4 ที่โรงเรียนวัดพรหมโลก จบชั้นป.4 เมื่ออายุ 12 ปี เนื่องด้วยฐานะที่ยากจนทางบ้านนายสุรินทร์ได้รับจ้างทำงานมาตั้งแต่ยังเด็ก ทั้งเก็บผักและผลไม้ และรับจ้างถ่อเรือแจวไปกลับระหว่างอำเภอพรหมคีรีและอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จนกระทั่งเมื่ออายุ 15 ปี ได้หยุดการรับจ้างทุกอย่างเข้าไปเป็นเด็กวัดอยู่ในเมืองนครศรีธรรมราช เรียนชั้น ม.1-ม.3 ที่โรงเรียนวัดท่าโพธิ์ (ปัจจุบันคือโรงเรียนเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช) แต่ด้วยความยากจนจึงลาออกจากโรงเรียน ได้กลับไปช่วยทำสวนที่บ้านเดิมบ้าง และรับจ้างทำงานอยู่ในเมืองบ้างตามโอกาส ประมาณปีเศษได้กลับเข้าไปอยู่ในเมืองอีกครั้งหนึ่ง โดยสมัครเป็นพลตำรวจประจำอยู่ที่ สภ.อ.เมืองนครศรีธรรมราช เป็นเวลาประมาณ 2 ปี ได้ลาออกเพื่อสมัครเข้าเป็นพนักงานภารโรงเทศบาลเมืองนครศรีธรรมราช ประจำหน่วยดับเพลิง

แต่ทว่าการที่นายสุรินทร์เป็นผู้สนใจต่อการศึกษาด้วยตนเอง ชอบอ่านหนังสือและค้นคว้าอย่างจริงจังตลอดเวลา และมีความสามารถเป็นพิเศษในการพูด การเขียน การบันทึกรายงาน คณะเทศมนตรีเมืองนครศรีธรรมราชจึงได้มอบหมายให้เป็นเลขานุการ บันทึกการประชุมเทศบาล ตลอดถึงการเตรียมการประชุม การจัดทำระเบียบวาระการประชุม จนเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป ต่อมาได้ลาออกจากตำแหน่งและการทำหน้าที่ดังกล่าว เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลเมืองนครศรีธรรมราช ผลปรากฏว่าได้รับเลือกตั้งเมื่อ ปี พ.ศ. 2500 ในระหว่างนั้นได้สมัครเป็นสมาชิกร้านสหกรณ์จังหวัดนครศรีธรรมราชควบคู่ไปด้วย และได้รับเลือกเป็นผู้จัดการร้านสหกรณ์จังหวัดนครศรีธรรมราชอยู่จนครบวาระ 4 ปี

การเมือง[แก้]

ในช่วงเวลาเดียวกันได้จัดทำหนังสือพิมพ์ชื่อ "เสียงราษฎร์" โดยเป็นทั้งเจ้าของและบรรณาธิการ นับเป็นหนังสือพิมพ์เพียงฉบับเดียวของจังหวัดนครศรีธรรมราช และมียอดพิมพ์สูงสุดในภาคใต้จึงทำให้เป็นที่รู้จักโดยทั่วไปและมีชื่อเสียงกว้างขวาง ประกอบกับในช่วงเวลาดังกล่าว ถึงสมัยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทั่วประเทศ นายสุรินทร์ได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ (ในยุคนายควง อภัยวงศ์ เป็นหัวหน้าพรรค) ในครั้งนั้นนายสุรินทร์ช่วยหาเสียงให้นายไสว สวัสดิสาร ซึ่งเป็นตัวแทนของพรรคลงรับสมัครเลือกตั้ง ผลการเลือกตั้งปรากฏว่านายไสว สวัสดิสาร ได้รับการเลือกตั้ง (คู่กับนายน้อม อุปรมัย และนายฉ่ำ จำรัสเนตร) ทำให้นายสุรินทร์พลอยเป็นที่รู้จักของประชาชนไปด้วย การเลือกตั้งในสมัยต่อมาคือ ปี พ.ศ. 2509 นายสุรินทร์จึงลงสมัครรับเลือกตั้งเองในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ปรากฏว่าได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก พ.ศ. 2512 ได้รับเลือกตั้งอีกเป็นสมัยที่ 2 ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2516[1] และในปีเดียวกันนี้ คือปลายปี พ.ศ. 2518 มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วประเทศอีกครั้งหนึ่งนายสุรินทร์ได้รับเลือกในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นสมัยที่ 3 และได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในคณะรัฐมนตรี คณะที่ 35[2] แต่ยังมิได้เริ่มปฏิบัติงาน เนื่องจากไม่ได้รับความไว้วางใจจากสภาในการแถลงนโยบาย[3] จากนั้นก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีนี้อีกครั้ง ในคณะรัฐมนตรี คณะที่ 37[4] และ คณะรัฐมนตรี คณะที่ 38[5]

ชีวิตบั้นปลาย[แก้]

ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 นายสุรินทร์ถูกกล่าวหาจากฝ่ายขวาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ร่วมกับสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์อีก 2 คือ นายชวน หลีกภัย และ นายดำรง ลัทธพิพัฒน์ หลังเหตุการณ์ นายสุรินทร์ได้ยุติบทบาททางการเมืองทั้งหมดและได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ พร้อมกับได้เขียนจดหมายฉบับหนึ่งบรรยายความรู้สึกในใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย

ชีวิตส่วนตัว นายสุรินทร์ มีภรรยา 3 คน คนแรกคือ นางสุดา (เทียบศรไชย) มีบุตรธิดาด้วยกัน 2 คน คือ นายสุรเชษฐ์ มาศดิตถ์ (อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช) และคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ (ได้เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 2 สมัยในเวลาต่อมา) ภรรยาคนที่ 2 คือนางพิศมัย (ไทยถาวร) มีบุตรด้วยกัน 3 คน เป็นชาย 2 คน หญิง 1 คน และภรรยาคนที่ 3 คือนางปราณี (ขาวเนียม) มีบุตรด้วยกัน 1 คน


เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "พระบรมราชโองการ แต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-09-27. สืบค้นเมื่อ 2014-07-08.
  2. พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรี (จำนวน ๓๐ ราย)
  3. คอลัมน์ส่วนร่วมสังคมไทย โดน นรนิติ เศรษฐบุตร หน้า 8 หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับที่ 22,506 ประจำวันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2554
  4. "พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรี (จำนวน 35 ราย)" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-09-27. สืบค้นเมื่อ 2012-07-26.
  5. "พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรี (จำนวน ๓๓ ราย)" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-09-27. สืบค้นเมื่อ 2015-06-30.
  6. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-06-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๙๑ ตอนที่ ๒๒๙ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๐๕๖, ๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๗
  7. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-06-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๘๗ ตอนที่ ๑๒๒ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๗๖๕, ๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๓

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]