พญานาค

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พญานาค
รูปปั้นพญานาคที่วัดทศาวตาร
ชื่อในอักษรเทวนาครีनागराज
ชื่อในการทับศัพท์ภาษาสันสกฤตNāgarāja
ชื่อในการทับศัพท์แบบไวลีKlu'i rgyal po
ส่วนเกี่ยวข้องนาค
ที่ประทับบาดาล
บิดา-มารดาพระกัศยปมุนี และ นางกัทรู

พญานาค หรือ นาคราช (สันสกฤต: नागराज นาคราช) หมายถึง นาคผู้เป็นใหญ่ นาคผู้เป็นหัวหน้า[1] ตามความเชื่อในศาสนาแบบอินเดีย คล้ายกับพญามังกรตามคติศาสนาชาวบ้านจีน

ศาสนาพุทธ[แก้]

พระไตรปิฎกภาษาบาลีกล่าวถึงพญานาคหลายตน เช่น

  • มณิกัณฐะ มีแก้วมณีประดับที่คอ อาศัยในแม่น้ำคงคา ศรัทธาฤๅษีตนหนึ่งจึงขึ้นมาขนดตัว 7 รอบแล้วแผ่พังพานใหญ่บนศีรษะฤๅษีนั้น[2]
  • พญานาคที่พำนักในสระน้ำ ใกล้ต้นมุจลินท์ ได้ขนดตัว 7 รอบพระโคตมพุทธเจ้า แล้วแผ่พังพานใหญ่บนพระเศียรเพื่อปกป้องพระองค์จากสภาพอากาศและสัตว์ต่าง ๆ ระหว่างทรงเสวยวิมุตติสุขใต้ต้นจิกน้ำหลังตรัสรู้[3] เป็นที่มาของปางนาคปรก
  • สุปัสสะ ผู้กราบทูลพระพุทธเจ้าว่าบรรดาที่ไม่มีศรัทธาเลื่อมใสอาจทำร้ายภิกษุที่ฉันเนื้องู เมื่อพญานาคกลับจากพุทธสำนักแล้ว ก็ทรงบัญญัติสิกขาบทว่าภิกษุไม่พึงฉันเนื้องู รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ[4]

ในอรรถกถา กล่าวถึงพญานาคอื่น ๆ เช่น

  • กาฬะ เมื่อพระโคดมลอยถาดทองที่แม่น้ำเนรัญชรา ถาดนั้นลอยทวนน้ำแล้วจมลงไปในนาคพิภพ แล้วซ้อนใต้ถาดของพระพุทธเจ้าสามพระองค์ กาฬนาคราชได้ยินเสียงนั้นแล้วจึงกล่าวว่า เมื่อวาน พระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นองค์หนึ่ง วันนี้บังเกิดขึ้นอีกหนึ่งองค์ แล้วลุกขึ้นกล่าวสรรเสริญด้วยบทหลายร้อยบท[5]

ศาสนาฮินดู[แก้]

ในศาสนาฮินดู มีนาค 3 ตนที่ได้ชื่อว่าพญานาค ได้แก่ เศษะ วาสุกี และ ตักษกะ ทั้งหมดเป็นบุตรของฤๅษีกัศยปะกับนางกัทรู

  • เศษะ หรือ อนันตนาคราช เป็นบุตรตนโตผู้อุทิศตนรับใช้พระวิษณุ เป็นพระแท่นบรรทมของพระองค์เมื่อทรงบำเพ็ญโยคนิทรา ซึ่งรู้จักในชื่อนารายณ์บรรทมสินธุ์
  • วาสุกี หรือ วาสุกรี เป็นบุตรตนรองผู้รับใช้พระศิวะ ให้ทรงใช้เป็นสังวาลห้อยพระศอ และเสียสละร่างกายเป็นเชือกกวนเกษียรสมุทรแก่เหล่าเทพและอสูร
  • ตักษกะ เป็นศัตรูของพระอรชุน ต่อมาพ่ายแพ้จึงถูกเนรเทศไปอยู่ตักศิลา

ตระกูลของพญานาค[แก้]

พญานาคแบ่งออกเป็น 4 ตระกูลด้วยกัน

  1. ตระกูลวิรูปักษ์
  2. ตระกูลเอราปถะ
  3. ตระกูลฉัพยาบุตร
  4. ตระกูลกัณหาโคตมกะ

การเกิดของพญานาค[แก้]

การเกิดของพญานาคแบ่งออกเป็น 4 แบบ

  1. เกิดในไข่ (อัณฑชะ)
  2. เกิดในครรภ์ (ชลาพุชะ)
  3. เกิดจากเหงื่อไคล (สังเสทชะ)
  4. เกิดแล้วโตทันที (โอปปาติกะ)

พิษของพญานาค[แก้]

แบ่งเป็น 4 ประเภท คือ

  1. กัฏฐมุขะ เป็นพญานาคมีพิษ ผู้ใดถูกกัด ร่างกายจะมีอาการแข็งไปหมดทั้งตัว ปวดมากอวัยวะต่าง ๆ ยึดหรืองอไม่ได้
  2. ปุติมุขะ เป็นพญานาคมีพิษ เมื่อกัดผู้ใดแล้ว รอยแผลที่ถูกกัดจะเน่าลุกลาม มีน้ำเหลืองไหลออกมา ถ้าไม่มียารักษา จะถึงแก่ความตาย
  3. อัคคิมุขะ เป็นพญานาคมีพิษ ผู้ถูกกัดจะมีอาการร้อนจัดไปทั้งตัว รอยแผลที่ถูกกัดเป็นลักษณะคล้ายถูกไฟไหม้
  4. สัตถมุขะ เป็นพญานาคมีพิษ ผู้ถูกกัดมีอาการเหมือนถูกฟ้าผ่า

พญานาคทั้งหมดเหล่านี้ มีวิธีทำอันตรายได้ 4 อย่าง คือ

  1. กัดแล้วให้เกิดพิษซ่านทั้งตัว
  2. ใช้ตามองดูแล้วพ่นพิษออกทางตา
  3. มีพิษทั่วไปที่ร่างกาย กระทบถูกตรงที่ใด แพร่พิษให้ได้ทั้งสิ้น
  4. ใช้ลมหายใจพ่นเป็นพิษ แผ่ซ่านพิษไปทั่ว

พิษที่พญานาคปล่อยออกมาทั้ง 4 วิธีนั้นมีปฏิกิริยาเป็น 4 อย่าง คือ

  1. พิษแผ่ซ่านไปได้อย่างรวดเร็ว แต่ไม่รุนแรง
  2. พิษรุนแรงมาก แต่แผ่ออกไปอย่างช้า ๆ
  3. พิษรุนแรง แผ่ซ่านรวดเร็ว
  4. พิษไม่แรง แผ่ออกไปซ้า

อ้างอิง[แก้]

  1. ราชบัณฑิตยสถานพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554. พิมพ์ครั้งที่ ๒, กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2556. 1,544 หน้า. ISBN 978-616-7073-80-4
  2. กุฏิการสิกขาบท, พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๑ มหาวิภังค์ ภาค ๑
  3. มุจลินทกถา, พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๑ มหาวิภังค์ ภาค ๑
  4. พระพุทธบัญญัติห้ามฉันเนื้องู, พระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๕ มหาวรรค ภาค ๒
  5. อรรกถาพุทธาปทาน, อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๑. พุทธวรรค