ศุลี มหาสันทนะ
เรืออากาศโท ศุลี มหาสันทนะ ม.ป.ช., ม.ว.ม., ท.จ. | |
---|---|
![]() | |
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี | |
ดำรงตำแหน่ง 11 มีนาคม พ.ศ. 2524 – 19 มีนาคม พ.ศ. 2526 | |
นายกรัฐมนตรี | พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ |
ดำรงตำแหน่ง 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 – 5 สิงหาคม พ.ศ. 2529 | |
นายกรัฐมนตรี | พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ |
ดำรงตำแหน่ง 11 สิงหาคม พ.ศ. 2529 – 3 สิงหาคม พ.ศ. 2531 | |
นายกรัฐมนตรี | พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 19 มีนาคม พ.ศ. 2462 |
เสียชีวิต | 22 สิงหาคม พ.ศ. 2551 |
เรืออากาศโท ศุลี มหาสันทนะ (19 มีนาคม พ.ศ. 2462 - 22 สิงหาคม พ.ศ. 2551) อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นผู้กำกับนโยบายด้านพลังงานและน้ำมันเชื้อเพลิง ตลอดอายุรัฐบาลพลเอกเปรม ระหว่าง พ.ศ. 2524 - 2531 และเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทน้ำมัน บางจากปิโตรเลียม
ศุลี มหาสันทนะ เป็นบุตรของพระศรีปริญญา (ล้วน มหาสันทนะ) กับนางระฤก ศรีปริญญา จบชั้นมัธยมจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และจบวิศวกรรมเครื่องกล จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย [1]
หลังเรียนจบได้รับราชการกรมช่างทหารอากาศเป็นเวลา 6 ปี จากนั้นจึงลาออกจากราชการไปทำงานบริษัทน้ำมันเอสโซ่ ในตำแหน่งวิศวกรปฏิบัติการ จนได้รับตำแหน่งสูงสุดเป็นกรรมการบริษัทและผู้จัดการขายทั่วไป หลังจากทำงานเป็นเวลา 20 ปี ได้ลาออกไปทำงานกับบริษัทปูนซีเมนต์นครหลวงเป็นเวลา 13 ปี ตำแหน่งสูงสุดเป็นกรรมการอำนวยการและผู้จัดการทั่วไป [2] และได้รับการชักชวนจากพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อ พ.ศ. 2524 ถึงปี พ.ศ. 2531 (3 คณะรัฐมนตรี)[3][4] เป็นประธานอนุกรรมการนโยบายปิโตรเลียม ทำหน้าที่พิจารณาและกลั่นกรองนโยบายเกี่ยวกับปิโตรเลียม เพื่อเสนอกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
ตลอดเวลา 8 ปีที่ดูแลนโยบายพลังงาน เรืออากาศโทศุลี เป็นผู้วางแนวนโยบายราคาน้ำมันเสรี นโยบายพัฒนาแหล่งพลังงานในประเทศ ทั้งแหล่งแก๊สธรรมชาติและน้ำมันดิบ ปรับปรุงการจัดเก็บเงินกองทุนน้ำมัน และเป็นผู้ผลักดันให้แยกโรงกลั่นน้ำมันบางจาก ซึ่งอยู่ในสังกัดกรมการพลังงานทหาร ภายใต้การดูแลของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ซึ่งเดิมมีการบริหารแบบราชการ ให้มีรูปแบบการบริหารแบบเอกชน เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยแยกออกมาเป็น บริษัท บางจากปิโตรเลียม เมื่อ พ.ศ. 2528 [2]
นอกจากตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เรืออากาศโทศุลี ยังดำรงตำแหน่ง สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ, วุฒิสมาชิก, ประธานกรรมการทุนธนชาตคนแรก,ผู้ก่อตั้งและกรรมการทีไอจีเอ,กรรมาธิการในสหภาพรัฐสภาอาเซียน และกรรมการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
เรืออากาศโทศุลี ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคมะเร็งปอด เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2551 ด้วยวัย 89 ปี พระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส [5]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]
- พ.ศ. 2526 -
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)[6]
- พ.ศ. 2525 -
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[7]
- พ.ศ. 2540 -
เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นทุติยจุลจอมเกล้า (ท.จ.) (ฝ่ายหน้า)[8]
อ้างอิง[แก้]
- ↑ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปในการพระราชทานเพลิงศพ เรืออากาศโท ศุลี มหาสันทนะ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 โทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
- ↑ 2.0 2.1 "ศุลี มหาสันทนะ เบื้องหลัง "วันนี้ของบางจาก" นิตยสารผู้จัดการ, เมษายน 2535
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศ รัฐมนตรีลาออก ให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งและตั้งรัฐมนตรี (ปรับปรุงคณะรัฐมนตรีในสมัยพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี จำนวน ๒๖ ราย)
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรี (จำนวน ๔๔ ราย)
- ↑ http://www.sirindhorn.net/HRH-activities.html?dc=30&mc=11&yc=2551&month=11&year=2008
- ↑ แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ (เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสายสะพาย) เล่ม ๑๐๐ ตอน ๒๐๗ ฉบับพิเศษ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๖
- ↑ แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ (เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ในวโรกาสพระราชพิธีฉัตรมงคล ๕ พฤษภาคม ๒๕๔๐)เล่ม ๑๑๔ ตอน ๑๑ ข ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ หน้า๑
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2462
- บุคคลที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2551
- นักการเมืองไทย
- รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีไทย
- สมาชิกวุฒิสภาไทยแบบแต่งตั้ง
- วิศวกรชาวไทย
- ทหารอากาศชาวไทย
- บุคคลจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
- นิสิตเก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.ป.ช.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.ว.ม.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ท.จ. (ฝ่ายหน้า)