โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ อุบลราชธานี
หัวข้อของบทความนี้อาจไม่ผ่านแนวปฏิบัติความโดดเด่นทั่วไป (พฤศจิกายน 2565) |
บทความเรื่อง โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ อุบลราชธานี ต้องการการจัดหน้า จัดหมวดหมู่ ใส่ลิงก์ภายใน หรือเก็บกวาดเนื้อหา ให้มีคุณภาพดีขึ้น ถ้าคุณเป็นผู้เขียนเรื่องนี้หรือต้องการร่วมแก้ไข สามารถทำได้โดยกดที่ปุ่ม แก้ไข ด้านบน ดูรายละเอียดและวิธีการเขียนได้ที่ โครงการวิกิสถานศึกษา โดยเมื่อแก้ไขแล้วให้นำป้ายนี้ออกได้ |
โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ อุบลราชธานี Triam Udom Suksa Pattanakarn Ubon Ratchathani School | |
---|---|
ที่ตั้ง | |
117 หมู่ 11 ถนนคลังอาวุธ ตำบลขามใหญ่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี 34000 | |
ข้อมูล | |
ชื่ออื่น | ต.อ.พ.อบ. / TUPUBON / เตรียมพัฒน์ อุบลฯ |
ประเภท | โรงเรียนรัฐบาล โรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่ โรงเรียนต้นแบบ 1 อำเภอ 1 โรงเรียนในฝัน |
คำขวัญ | ปรัชญา ความเป็นเลิศทางวิชาการและคุณธรรม คติพจน์ สิกขาชีวี ชีวิตมาหุ มหคฺฆํ ชีวิตทวีค่า การศึกษาชี้นำ |
สถาปนา | 25 เมษายน พ.ศ. 2521 (ในนามศรีปทุมพิทยาคาร) 29 มิถุนายน พ.ศ. 2558 (ในนามปัจจุบัน) |
ผู้ก่อตั้ง | กระทรวงศึกษาธิการ |
หน่วยงานกำกับ | สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 29 ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ |
รหัส | 1034711098 |
ผู้อำนวยการโรงเรียน | นายชาคริต พิมพ์หล่อ |
ระดับปีที่จัดการศึกษา | มัธยมศึกษาปีที่ 1-6 |
จำนวนนักเรียน | 2,005 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 10 มิถุนายน 2567) [1] |
ภาษาที่ใช้เป็นสื่อการสอน | ภาษาที่มีการเรียนการสอน
ภาษาไทย |
สี | ชมพู |
เพลง | มาร์ชเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ |
เว็บไซต์ | http://tupubon.ac.th/tupubon/ |
โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ อุบลราชธานี เดิมคือโรงเรียนศรีปทุมพิทยาคาร เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่และเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาประจำจังหวัดอุบลราชธานี แห่งที่ 3 ตั้งอยู่ที่อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี เปิดสอนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และ มัธยมศึกษาตอนปลาย แบบสหศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 29 (อุบลราชธานี - อำนาจเจริญ) ได้เข้าร่วมเป็นโรงเรียนในเครือเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2558 และได้รับการอนุมัติให้เปลี่ยนชื่อจาก โรงเรียนศรีปทุมพิทยาคาร เป็น โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ อุบลราชธานี จัดเป็นโรงเรียนในเครือเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ในลำดับที่ 15
ประวัติโรงเรียน
[แก้]ยุคศรีปทุมพิทยาคาร
[แก้]ปีการศึกษา 2520 อธิบดีกรมสามัญศึกษาได้มาตรวจเยี่ยมโรงเรียนมัธยมศึกษาในจังหวัดอุบลราชธานี โดยมีนายบุญเหลือ แฝงเวียง ศึกษาธิการจังหวัดและนายพิสิฏฐ์ บัวแย้ม ผู้ช่วยศึกษาธิการจังหวัดในขณะนั้นเป็นผู้ร่วมตรวจการด้วย ได้พบปัญหามีนักเรียนสมัครเข้า โรงเรียนประจำจังหวัดคือ โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช และโรงเรียนนารีนุกูล จำนวนมากเกินขีดความสามารถของโรงเรียนทั้งสองจะรับได้
นายบุญเหลือ แฝงเวียง จึงได้เสนอกรมสามัญศึกษาขอจัดตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษาประจำจังหวัดแห่งที่ 3 และมอบหมายให้ นายเต็มใจ หาญจางสิทธิ์ ซึ่งรับราชการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมตระการพืชผลเป็นหัวหน้าคณะดำเนินการในการหาที่ดินโดยไม่ต้องใช้งบประมาณของ ทางราชการจัดซื้อ ที่มีการคมนาคม สะดวกพร้อมเรื่องสาธารณูปโภค จนกระทั่งผู้ใหญ่บ้าน บ้านหนองปลาปากได้ชวนให้ไปดูที่สาธารณะประโยชน์บริเวณดงคำอ้อ เดิมเป็นคลังอาวุธของทหารอเมริกันสมัยสงครามเวียดนามและเป็นศูนย์ลาวอพยพ ที่ดินแปลงดังกล่าวกระทรวงมหาดไทยสงวนไว้เพื่อสร้างเป็นศูนย์ราชการที่สำคัญของจังหวัดอุบลราชธานี คณะดำเนินการเห็นว่ามีความเหมาะสมจึงได้เข้าพบ นายประมูล จันทรจำนง ผู้ว่าราชการจังหวัด นำเรียนให้ทราบถึงความจำเป็นจะต้องสร้างโรงเรียนและขอใช้ที่ดินแปลงดังกล่าว ซึ่งมีเนื้อที่ 109 ไร่ 3 งาน 21 ตารางวา จากกระทรวงมหาดไทยเป็นสถานที่ตั้ง ต่อมาได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดินตามคำขอ และให้ที่ดินอำเภอจัดการรังวัด ปักเขตแดนดำเนินการขอเปิดโรงเรียนไปยังกรมสามัญศึกษา และได้รับอนุมัติจากกระทรวงศึกษาธิการประกาศจัดตั้งเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดแห่งที่ 3 เมื่อวันที่ 25 เดือนเมษายน พ.ศ. 2521 ได้รับความเมตตาจาก หลวงพ่อบุญเที่ยง พุทธสาโร วัดป่าพุทธยานทรงธรรม บ้านหนองไข่นก ตำบลหนองไข่นก อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นผู้ตั้งชื่อ โรงเรียนศรีปทุมพิทยาคาร มีความหมายว่า เป็นสง่าราศีสิริมงคลแก่ชาวอุบลราชธานี เปิดสอนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นสายสามัญ ประเภทสหศึกษา ในระหว่างยังไม่ได้จัดสรรงบประมาณก่อสร้างอาคารเรียน รวมทั้งอัตราครูบรรจุแต่งตั้ง ทางราชการจึงได้ขอใช้ อาคารเรียนของโรงเรียนสารพัดช่างอุบลราชธานี (ปัจจุบันคือวิทยาลัยสารพัดช่างอุบลราชธานี) เป็นที่ทำการเรียนการสอนชั่วคราว ได้รับการจัดสรรครู โดยขอยืมตัวจากโรงเรียนแห่งอื่นมาทำการเรียนการสอน ในระยะจัดตั้งใหม่ช่วงเดือนเมษายน – มิถุนายน พ.ศ. 2521 มีครู 8 คน ต่อมาจึงได้บรรจุแต่งตั้งข้าราชการครูของโรงเรียนศรีปทุมพิทยาคาร รวมครูทำการเรียนการสอน 14 คน เปิดรับนักเรียน ชาย – หญิง 12 ห้องเรียนแยกเป็น มัธยมศึกษาปีที่ 1 (ม.1) 6 ห้องเรียน มัธยมศึกษาปีที่ 1 (ม.ศ.1) 6 ห้องเรียน จำนวนนักเรียน 575 คน
นายเต็มใจ หาญจางสิทธิ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมตระการพืชผล รักษาการในตำแหน่งอาจารย์ใหญ่คนแรก ต่อมาในปี พ.ศ. 2522 โรงเรียนได้ย้ายมาตั้ง ณ ดงคำอ้อ ซึ่งเป็นที่ตั้งโรงเรียนในปัจุบันนี้มี นายพิชัย มุขสมบัติ เป็นอาจารย์ใหญ่และผู้อำนวยการโรงเรียนศรีปทุมพิทยาคารคนแรก ได้เป็นผู้บุกเบิกพัฒนาจนเจริญรุ่งเรืองตราบเท่าทุกวันนี้[2][3]
ยุคเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ อุบลราชธานี
[แก้]ปีการศึกษา 2558 โรงเรียนศรีปทุมพิทยาคาร ได้รับการประสานงานให้เข้าร่วมเป็นโรงเรียนในเครือโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ เพื่อให้มีโรงเรียนในเครือเพิ่มจาก 14 โรงเรียนเป็น 15 โรงเรียน โดยได้รับการแนะนำจาก ผู้อำนวยการสมพงษ์ พลสูงเนิน อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ รัชดา, นายกสมาคมผู้ปกครองและครู โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ รัชดา และเป็นคณะกรรมการพิจารณาการเข้าร่วมเป็นโรงเรียนในเครือเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการได้เลือกโรงเรียนจากทุกภาคของประเทศไทยแล้ว เห็นว่า โรงเรียนศรีปทุมพิทยาคาร มีความเหมาะสมที่สุด ทั้งทางด้านภูมิประเทศและเป็นศูนย์กลางคมนาคม
ต่อมาวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2558 ได้มีการนำบุคลากรครูและผู้บริหารของโรงเรียนศรีปทุมพิทยาคารเดินทางไปร่วมรับฟังแนวทางการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการโรงเรียน ที่เน้นการพัฒนาผู้เรียนทางด้านวิชาการและคุณธรรม โรงเรียนในเครือเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ มีการบริหารจัดการเหมือนกันทุกโรงเรียนตาม วิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าประสงค์ กลยุทธ์ ณ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ขอนแก่น ในระหว่างการฟังแนวทางการดำเนินงานของโรงเรียนในเครือเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการอยู่นั้นก็เป็นช่วงเวลาของการติว O-NET ให้กับนักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ขอนแก่น พอดี โดยมีนายนรากร ไหลหรั่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ นนทบุรี ในขณะนั้น เป็นผู้ให้คำแนะนำเพิ่มเติม ณ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ขอนแก่น
ต่อมาวันที่ 10-11 กุมภาพันธ์ 2558 มีการลงมติการขอเข้าร่วมเป็นโรงเรียนในเครือเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ของผู้บริหารโรงเรียน คณะครู นักเรียน ผู้ปกครองนักเรียน บุคลากรภายในโรงเรียนรวมทั้งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายของโรงเรียนศรีปทุมพิทยาคาร ทุกฝ่าย มีมัติเห็นชอบให้โรงเรียนศรีปทุมพิทยาคาร เข้าเป็นโรงเรียนในเครือเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ[4]
ต่อมา เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2558 คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ เห็นชอบให้ โรงเรียนศรีปทุมพิทยาคาร เข้าร่วมเป็นโรงเรียนในเครือเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ และยินยอมให้เปลี่ยนมาใช้ชื่อ “โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ อุบลราชธานี” โดยใช้อักษรย่อ “ต.อ.พ.อบ.”
เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2558 คณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 29 ประกาศให้ โรงเรียนศรีปทุมพิทยาคาร เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ อุบลราชธานี[5][6]
คือ..เรามองเห็นความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในเรื่องของบุคลากรของเราเป็นหลัก ถ้าครูคลื่นลูกใหม่เข้ามา ครูเข้ามาการส่งไม้ผลัดต่อกันนี่ มันเป็นเรื่องที่ยากลำบาก แล้วเด็กในกระแสของประชากรที่กำลังลดลงอยู่ขณะนี้ แล้วก็รัฐบาลมีความมุ่งเป้าไปที่สายอาชีพ เราจะปล่อยให้เด็กของเราลดลงต่อไปอย่างนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ก็คงจะยาก ถ้าเราได้ทำ MOU ร่วมไม้ร่วมมือกับทางเครือเตรียมนี่ ผมเชื่ออย่างยิ่งว่า ทีมบริหาร ครู ก็ดี ให้ความร่วมไม้ร่วมมือ พลังเด็กต่าง ๆ ก็จะตามมา ...
— คำปรารภของ นายชาญ สกุลพอง ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ อุบลราชธานี ในรายการ Headlineบ่ายวันนี้ ช่วง คนรักการศึกษา วันพุธที่ 12 สิงหาคม 2558
พิธีอัญเชิญพระเกี้ยว เข้าสู่โรงเรียน
[แก้]หลังจากมีการเปลี่ยนชื่อโรงเรียนจากโรงเรียนศรีปทุมพิทยาคาร เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ อุบลราชธานี“ คณะผู้บริหารโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ อุบลราชธานี ได้เดินทางไปยังกรุงเทพมหานคร เพื่อประกอบพิธีอัญเชิญพระเกี้ยวมายังโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ อุบลราชธานี เมื่อองค์พระเกี้ยวถูกอัญเชิญมาถึงจังหวัดอุบลราชธานีได้มีการอัญเชิญพระเกี้ยวมาประทับชั่วคราว ณ สำนักงานวัฒนธรรม จังหวัดอุบลราชธานี เก็บถาวร 2020-08-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
วันพฤหัสบดีที่ 20 สิงหาคม 2558 ได้มีพิธีอัญเชิญพระเกี้ยว เข้าสู่ “โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ อุบลราชธานี“ พร้อมมีพิธีประดับเข็มพระเกี้ยว ให้แก่นักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ อุบลราชธานี โดยมีพลตรีนิรุทธ เกตุสิริ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 22 ได้รับมอบหมายจาก พลโทธวัช สุกปลั่ง แม่ทัพภาคที่ 2 ซึ่งมีราชการจำเป็นเร่งด่วน ให้เป็นประธานในพิธีแทนพร้อมด้วย ดร.ประวิทย์ หลักบุญ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 29, นายธีระพงษ์ นิยมทอง ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ประธานโรงเรียนในเครือเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ, ดร.นิวัตร นาคะเวช ประธานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ พร้อมคณะผู้บริหารโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ทั้ง 15 โรงเรียนทั่วประเทศไทย
การเสด็จเยือนโรงเรียน
[แก้]วันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2560 เวลา 18.16 น. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ประธานกิตติมศักดิ์มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ประทับเฮลิคอปเตอร์ที่นั่ง ซึ่งกองทัพเรือจัดถวาย เสด็จไปยังโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ อุบลราชธานี อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อทรงเยี่ยมราษฎรและหน่วยแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่โปรดให้ออกหน่วยไปให้บริการตรวจรักษาราษฎรที่เจ็บป่วย ร่วมกับหน่วยแพทย์พระราชทานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ พร้อมทั้งคณะสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ และปศุสัตว์จังหวัดไปตรวจรักษาป้องกันโรค พร้อมทั้งให้คำแนะนำเกี่ยวกับสุขภาพสัตว์เลี้ยง และจ่ายยาให้ตามอาการของสัตว์เลี้ยง พร้อมกันนี้ได้ทรงพระราชทานของที่ระลึกแก่ผู้มีจิตศรัทธาที่ไปเฝ้าถวายเงินสมทบมูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และพระราชทานเข็มเครื่องหมายกรรมการ อนุกรรมการ แก่ผู้แทนกรรมการและอนุกรรมการ พระราชทานเข็มเครื่องหมาย พอ.สว., เข็มอักษรพระนามาภิไธย "สว", และโล่ แก่อาสาสมัครฝ่ายต่าง ๆ ต่อจากนั้นพระราชทานพระวโรกาสให้สมาชิกแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จังหวัดอุบลราชธานี เฝ้า และมีพระดำรัสแก่สมาชิกแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่[7][8][9]
การที่ข้าพเจ้าเลื่อนเวลาเสด็จไปทรงงานในแต่ละที่นั้น เนื่องจากข้าพเจ้าเป็นโรคภูมิแพ้ เพราะเมื่อโดนแสงแดดจะทำให้เกิดอาการแพ้เพิ่มขึ้นจึงจำเป็นต้องหลีกเลี่ยง เพื่อที่จะได้อยู่ทำงาน พอ.สว.ไปนาน ๆ นอกจากนี้ ข้าพเจ้าขอให้ผู้ที่มีหน้าที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับชีวิตมนุษย์และสัตว์ มีศีลธรรม ทั้งทางกาย วาจา และใจ เป็นผู้มีความอ่อนน้อม นุ่มนวล โดยเฉพาะพยาบาล และหมอ ที่จะต้องแสดงออกกับคนไข้
— พระดำรัส สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ที่พระราชทานแก่สมาชิกแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จังหวัดอุบลราชธานี ในโอกาสเสด็จทรงเยี่ยมราษฎรและหน่วยแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี วันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ทำเนียบผู้อำนวยการ
[แก้]รายนามผู้บริหารโรงเรียนศรีปทุมพิทยาคาร | ||||
---|---|---|---|---|
ลำดับ | รายนามผู้อำนวยการ | วาระการดำรงตำแหน่ง | ||
1. | นายเต็มใจ หาญจางสิทธิ์ | พ.ศ. 2521 (รักษาการ) | ||
2. | นายพิชัย มุขสมบัติ | พ.ศ. 2521 - พ.ศ. 2530 | ||
3. | นายจำนง เกลียวทอง | พ.ศ. 2530 - พ.ศ. 2536 | ||
4. | ว่าที่ร้อยตรีสุนัย เสงี่ยมศักดิ์ | พ.ศ. 2526 - พ.ศ. 2541 | ||
5. | นางวัฒนา วัฒนสโรช | พ.ศ. 2541 - พ.ศ. 2545 | ||
6. | นายวิชัย ศิริบูรณ์ | พ.ศ. 2545 - พ.ศ. 2553 | ||
7. | นายศรีสมบัติ ภูมิเขียว | พ.ศ. 2553 - พ.ศ. 2554 | ||
8. | นางพัชรินทร์ สันตินิยม | พ.ศ. 2554 - พ.ศ. 2555 | ||
9. | นายชาญ สกุลพอง | พ.ศ. 2556 - พ.ศ. 2558 | ||
รายนามผู้บริหารโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ อุบลราชธานี | ||||
ลำดับ | รายนามผู้อำนวยการ | วาระการดำรงตำแหน่ง | ||
1. | นายชาญ สกุลพอง | พ.ศ. 2558 - พ.ศ. 2559 | ||
2. | ดร.เอื้อมพร สายเสมา | พ.ศ. 2559 - พ.ศ. 2562 | ||
3. | นายชาคริต พิมพ์หล่อ | พ.ศ. 2562 - 2566 |
การเรียนการสอน
[แก้]เปิดสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6
ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ม.1-3
[แก้]- ห้องเรียนพิเศษ หลักสูตร วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี (SMT)
- ห้องเรียนพิเศษ หลักสูตร วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ (SME)
- ห้องเรียนส่งเสริมศักยภาพทางคณิตศาสตร์ (AP)
- ห้องเรียนส่งเสริมศักยภาพเหล่าทหาร และตำรวจ (Pre - Cadet)
- ห้องเรียนส่งเสริมศักยภาพทางด้านกีฬา (MOU : สโมสรฟุตบอล UFC)
- หลักสูตร วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์
- หลักสูตร ภาษา อาชีพ
- หลักสูตร ภาษา ศิลปะ
ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ม.4-6
[แก้]- ห้องเรียนพิเศษ หลักสูตร วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม (SMTE)
- ห้องเรียนพิเศษ หลักสูตร วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ (SMC)
- ห้องเรียนส่งเสริมศักยภาพทางคณิตศาสตร์ (AP)
- ห้องเรียนส่งเสริมศักยภาพเหล่าทหาร และตำรวจ (Pre - Cadet)
- ห้องเรียนการจัดการธุรกิจการค้าสมัยใหม่ (MOU : CP All)
- ห้องเรียนภาษาญี่ปุ่น - จีนเพื่อธุรกิจ 4.0 (MOU : CP All)
- ห้องเรียนส่งเสริมศักยภาพทางด้านกีฬา (MOU : สโมสรฟุตบอล UFC)
- ห้องทวิศึกษา (ปวช. + ม.6) ท่องเที่ยวการโรงแรม, คอมพิวเตอร์ธุรกิจ, ช่างอิเล็กทรอนิก, ช่างกลโรงงาน
- หลักสูตร วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์
คณะสีประจำโรงเรียน
[แก้]- คณะราชพฤกษ์ (สีเหลือง)
- คณะราชาวดี (สีแสด)
- คณะอินทนิล (สีน้ำเงิน)
- คณะมโนรมย์ (สีแดง)
- คณะเพชรนารายณ์ (สีเขียว)
ความร่วมมือกับโรงเรียนในเครือเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ
[แก้]โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ อุบลราชธานี ได้จัดส่งบุคลากรครูและนักเรียน เข้าร่วมและสนับสนุน กิจกรรมต่าง ๆ ของโรงเรียนและกลุ่มโรงเรียนในเครือ "เตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ" ดังนี้
- โครงการปันน้ำใจ สานสายใย เครือข่ายเตรียมพัฒน์
- ได้รับความช่วยเหลือในการติว O-NET ให้แก่นักเรียน โดยคณะครูจากโรงเรียนในเครือเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ
- โครงการอบรมและพัฒนาหลักสูตรในเครือโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ตามโครงการ "เตรียมพัฒน์รักองค์กร"
- นิทรรศการ OCOP และ OSOP
- โครงการสัมมนาครูเครือเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ
- จัดส่งบุคลากรครูเข้าร่วมประชุม อบรม สัมนา กับคณะครูของโรงเรียนในเครือเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และแนวทางในจัดการเรียนการสอน
- โครงการส่งเสริมศักยภาพผู้นำนักเรียนโรงเรียนในเครือเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ
- จัดส่งผู้นำนักเรียนหรือคณะกรรมการนักเรียน เข้าร่วมประชุมและอบรม กับผู้นำนักเรียนหรือคณะกรรมการนักเรียนของโรงเรียนในเครือเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ
- โครงการส่งเสริมโอกาสการเปลี่ยนที่เรียน
- จัดส่งนักเรียนที่มีผลการเรียนดีของโรงเรียนให้มีโอกาศไปศึกษาที่โรงเรียนในเครือเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ เป็นระยะเวลา 1 ปีการศึกษา โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย[10]
เกียรติประวัติของโรงเรียน
[แก้]รางวัลที่โรงเรียนได้รับ
[แก้]ปี | เกียรติประวัติ | หน่วยงานที่ให้การยกย่อง |
---|---|---|
2552 | รางวัลโรงเรียนต้นแบบ 1 อำเภอ 1 โรงเรียนในฝัน รุ่นที่ 2 | สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน |
2559 | รางวัล EGAT Green Leaning Awards | การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย |
2560 | ได้รับคัดเลือกให้เป็นศูนย์คอมพิวเตอร์โอลิมปิก ค่าย 1 | สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน |
รางวัลโรงเรียนสีเขียวระดับประเทศ | การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย | |
รางวัลชนะเลิศระดับประเทศ โครงการประกวดภาพยนตร์สั้น "เด็กไทย เท่าทันสื่อ" | ||
2561 | รางวัล EGAT Green Leaning Awards | การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย |
รางวัลชนะเลิศเหรียญทองระดับชาติ การแข่งขันยุวชน ชิงแชมป์ประเทศไทย | สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน | |
2562 | รางวัล EGAT Green Leaning Awards | การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย |
รางวัลชนะเลิศเหรียญทองระดับชาติ การประกวดหุ่นยนต์ | สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ |
อ้างอิง
[แก้]- ↑ https://data.bopp-obec.info/emis/schooldata-view_student.php?School_ID=1034711098&Area_CODE=101729 เก็บถาวร 2020-08-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จำนวนนักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ อุบลราชธานี
- ↑ https://data.bopp-obec.info/web/index_view_history.php?School_ID=1034711098&page=history เก็บถาวร 2020-10-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ประวัติโรงเรียนศรีปทุมพิทยาคาร
- ↑ http://tupubon.ac.th/tupubon/ประวัติโรงเรียน/ ประวัติโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ อุบลราชธานี
- ↑ https://www.facebook.com/UbonWanNi/photos/a.390775991045711.1073741833.377483335708310/699439783512662 คัดค้านการเปลี่ยนชื่อโรงเรียนศรีปทุมพิทยาคาร เป็นโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ อุบลราชธานี
- ↑ http://202.44.139.129/circulate/file_notice/20151014150029.pdf[ลิงก์เสีย] ประกาศสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 29 เรื่อง การเปลี่ยนชื่อสถานศึกษาโรงเรียนศรีปทุมพิทยาคาร เป็นโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ อุบลราชธานี
- ↑ http://www.guideubon.com/2.0/ubon-news/1036/ พิธีประดับเข็มพระเกี้ยว และเปิดป้ายโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ อุบลราชธานี
- ↑ http://news.ch7.com/detail/260908 เก็บถาวร 2018-12-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จเยือนจังหวัดอุบลราชธานี
- ↑ https://www.youtube.com/watch?v=bybBjY4KFa8 ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีนำนักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ อุบลราชธานี ทำความสะอาดพร้อมปรับภูมิทัศน์เพื่อรับเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
- ↑ http://news.ch7.com/detail/261015[ลิงก์เสีย] สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ประธานกิตติมศักดิ์มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จเยือนจังหวัดอุบลราชธานี
- ↑ https://drive.google.com/file/d/0B6xHcFsioLzpWVpBR3p5Y2pLNWc/view ประกาศโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ อุบลราชธานี เรื่องโครงการแลกเปลี่ยนนักเรียนเครือเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ