ข้ามไปเนื้อหา

โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เลย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เลย
Princess Chulabhorn Science High School Loei
ที่ตั้ง
แผนที่
ข้อมูล
ชื่ออื่นจ.ภ. เลย , PCSHS Loei
ประเภทโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ
โรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค
คำขวัญรักษ์ศักดิ์ศรี มีคุณธรรม นำวิชาการ สืบสานงานพระราชดำริ
สถาปนา2 มิถุนายน พ.ศ. 2537 (30 ปี)
เขตการศึกษาเลย-หนองบัวลำภู
หน่วยงานกำกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเลย หนองบัวลำภู
รหัส1042520465
ผู้อำนวยการนายกิตติชัย กรวยทอง
จำนวนนักเรียน720 คน
[1]
ภาษาที่ใช้เป็นสื่อการสอนภาษาที่มีการเรียนการสอนในโรงเรียน ไทย ภาษาไทย
สหราชอาณาจักร ภาษาอังกฤษ
ญี่ปุ่น ภาษาญี่ปุ่น
จีนภาษาจีน
สี   น้ำเงิน - แสด
เพลงเพลงมาร์ชจุฬาภรณราชวิทยาลัย
เว็บไซต์http://www.pcshsloei.ac.th

โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เลย (อักษรย่อ : จ.ภ. เลย; อังกฤษ: Princess Chulabhorn Science High School Loei) หรือเรียกย่อ ๆ ว่า จุฬาภรณเลย หรือ PCSHS Loei เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ ในจังหวัดเลย ประเภทโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาคของรัฐ เปิดการเรียนการสอนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเลย หนองบัวลำภู

ประวัติโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เลย

[แก้]

โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เลย ประกาศจัดตั้งเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2537 ลงนามโดยสัมพันธ์ ทองสมัคร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และวัชรินทร์ เกตะวันดี อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเลย เขต 1 ประธานกรรมธิการ การศึกษาสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้ประสานงาน โดยเปิดรับนักเรียนในปีการศึกษา 2538 ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ประเภทสหศึกษาโดยโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เป็นกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์ที่จัดตั้งขึ้นจากวัตถุประสงค์ของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อสนองพระราชประสงค์ของสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ที่ทรงมุ่งมั่นจะส่งเสริมคุณภาพชีวิต ในด้านความเป็นอยู่และการศึกษาของเยาวชน โดยเฉพาะเยาวชนที่อยู่ห่างไกล ปัจจุบันเป็นโรงเรียนที่อยู่ในแผนและยุทธศาสตร์ สำหรับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ โดยจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น - ตอนปลาย

เนื่องจากในสภาพปัจจุบัน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้เจริญก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วและไม่หยุดยั้ง ทั้งยังเป็นปัจจัยที่สำคัญปัจจัยหนึ่งในการผลักดันให้การพัฒนาประเทศประสบความสำเร็จ แต่การจัดการเรียนการสอนทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำหรับการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย ยังไม่กว้างขวางเท่าที่ควร กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2536 ด้วยสำนึกในพระกรุณาธิคุณที่ทรงมีต่องานด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม จึงได้ทำโครงการตั้งโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัคราชกุมารี ประกาศจัดตั้งใน 12 เขตการศึกษา เริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2536 ประกาศจัดตั้ง 4 โรงเรียน คือ จังหวัดนครศรีธรรมราช ตรัง เชียงราย และ จังหวัดบุรีรัมย์ ปีการศึกษา 2537 ประกาศจัดตั้ง 4 โรงเรียน คือ จังหวัดมุกดาหาร เพชรบุรี สตูล และจังหวัดเลย ปีการศึกษา 2538 ประกาศจัดตั้ง 3 โรงเรียน คือ จังหวัดลพบุรี พิษณุโลก และจังหวัดประทุมธานี ปีการศึกษา 2540 ประกาศจัดตั้งอีก 1 โรงเรียน ณ จังหวัดชลบุรี

ในการดังกล่าว กรมสามัญศึกษา (ในขณะนั้น) ได้รับพระกรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี พระราชทานอนุญาตใช้นามโรงเรียนว่า “โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย” ต่อท้ายด้วยชื่อจังหวัดที่เป็นที่ตั้ง รับนักเรียนแบบสหศึกษา ทั้งประจำ และ ไป - กลับ กรมสามัญศึกษาได้จัดสรรงบประมาณสำหรับก่อสร้างอาคารเรียนและอาคารประกอบให้แก่โรงเรียนในเครือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัคราชกุมารี พระราชทานแผ่นศิลาฤกษ์ให้แก่โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ทั้ง 12 แห่งพร้อมกันทั่วประเทศในเวลา 14.49 น. ของวันพุธที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2539

ปัจจุบัน โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เลย มีที่ดิน 1 แปลง เนื้อที่ 160 ไร่ ตั้งอยู่ที่ ถนนชนบท สายห้วยพอด - ภูบ่อบิด เลขที่ 129 หมู่ที่ 5 ตำบลธาตุ อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ห่างจากศูนย์ราชการประมาณ 28 กิโลเมตร จัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2544 ซึ่งจัดการศึกษาในระดับช่วงชั้นที่ 3 และ ช่วงชั้นที่ 4 มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้นักเรียนมีความรู้ความสามารถในการประดิษฐ์คิดค้นด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี [2]

สัญลักษณ์ประจำโรงเรียน

[แก้]

ดังนั้น จุฬาภรณราชวิทยาลัย หมายถึง สถาบันการศึกษาขั้นสูงอันเกี่ยวเนื่องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ในสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้ ทางโรงเรียนได้ใช้พระนามเพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงเจริญพระชนมายุครบ 36 พรรษา

  • ตราประจำโรงเรียน ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ประกอบด้วย[3]
    • พระจุลมงกุฎสีเหลืองทอง
    • อักษร สีแสด และ สีน้ำเงิน อยู่ภายใต้พระจุลมงกุฎ โดย จภ มาจากพระนามาภิไธยย่อของสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
    • แพรแถบด้านล่างตรา สีน้ำเงินตัดขอบสีเหลืองทอง มีข้อความชื่อโรงเรียนสีเหลืองทอง
    • ลายกระหนกสีเหลืองทอง ขนาบข้างอักษร จภ ทั้งสองข้าง
  • ต้นไม้ประจำโรงเรียน ได้แก่ แคแสด[4]
  • สีประจำโรงเรียน ได้แก่    สีน้ำเงิน-แสด[4] โดย
    • สีน้ำเงิน หมายถึง สถาบันพระมหากษัตริย์ ความแข็งแรง มั่นคง และความเคร่งครัดในระเบียบวินัย
    • สีแสด หมายถึง เป็นสีประจำวันประสูติของสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี วันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2500

ราชวิทยาลัยอันใหญ่ยิ่ง งามเพริศพริ้งคุณธรรมเลิศล้ำค่า ทั้งศาสตร์ศิลป์เลิศล้ำทางปัญญา มุ่งศึกษาวิทยาศาสตร์ให้ก้าวไกล ชูเชิดเทิดพระเกียรติแห่งเจ้าฟ้า องค์จุฬาภรณพระนามยิ่งใหญ่ เจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์ของชาติไทย ก้องเกริกไกรลือเลื่องกระเดื่องนาม สีแสดประเสริฐเจิดจ้าองค์ฟ้าหญิง น้ำเงินมิ่งกษัตริยาฟ้าสยาม มงคลสถิตอยู่คู่เขตคาม ปรากฏนามจุฬาภรณราชวิทยาลัย มุ่งส่งเสริมสร้างสรรค์จรรโลงชาติ สร้างนักวิทยาศาสตร์ให้ยิ่งใหญ่ สร้างเกียรติยศชื่อเสียงให้เกรียงไกร นำชาติไทยก้าวหน้าชั่วฟ้าดิน

  • เนื้อเพลงมาร์ชจุฬาภรณฯเลย

เทิดองค์เจ้าฟ้าพระบารมี ทรงคุณความดีทวีวิทยา เกริกก้องเกรียงไกรทั่วไผทหล้า มิ่งขวัญ ร่วมมั่น ศรัทธา เอกองค์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ สถานศึกษา วิชาการ พระปณิธานสืบสานสุนธร จะเชิดชูชาติศาสนาบวร แหล่งรักและเอื้ออาทรจุฬาภรณราชวิทยาลัย น้ำเงินพิพัฒน์ กษัตรา สีแสดเจ้าฟ้า หล้าสดใส สมัครสัมพันธ์อันร่วมใจ สถิตคู่แดนวิไล เป็นธงชัยนิรันดร

หลักสูตรของโรงเรียน

[แก้]

ในช่วงก่อนเป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค โรงเรียนใช้หลักสูตรแกนกลางของกระทรวงศึกษาธิการ ต่อมาในปี พ.ศ. 2551 มีการใช้หลักสูตรวิทยาศาสตร์ของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ในห้องเรียนที่คัดเลือกนักเรียนร่วมกับโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์[5]

จนกระทั่งคณะรัฐมนตรีมีมติดำเนินการโครงการพัฒนาโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค จึงได้ดำเนินการพัฒนาหลักสูตรโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค เพื่อพัฒนานักเรียนให้เป็นตามไปเป้าหมายของโรงเรียน โดยแบ่งเป็นหลักสูตรสำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย นักเรียนจะต้องลงทะเบียนเรียนตามหน่วยกิตที่กำหนด โดยมีผลการเรียนแต่ละรายวิชาไม่ต่ำกว่า 2 นอกจากนี้จะต้องเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ผ่านการประเมินความสามารถด้านการอ่าน คิด วิเคราะห์และเขียน และผ่านการประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์

ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น

[แก้]

ปัจจุบันใช้หลักสูตรโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น พุทธศักราช 2554 (ฉบับปรับปรุง พุทธศักราช 2558) โดยแบ่งรายวิชาออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้[6]

  • รายวิชาพื้นฐาน ประกอบด้วยรายวิชา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ โดยมีเนื้อหาและเวลาเรียนแต่ละรายวิชาเช่นเดียวกับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551
  • รายวิชาเพิ่มเติม แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
    • รายวิชาเพิ่มเติม กลุ่มที่ 1 เป็นรายวิชาที่สร้างขึ้นเพื่อสนองและสอดคล้องกับการพัฒนานักเรียนของโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค โดยนักเรียนทุกคนต้องลงทะเบียนรายวิชากลุ่มนี้ทั้งหมด รายวิชาในกลุ่มนี้ ได้แก่ การเขียนเชิงวิชาการ คณิตศาสตร์เพิ่มเติม การสืบเสาะอย่างวิทยาศาสตร์ โครงงาน ภาษาอังกฤษฟังพูด ภาษาอังกฤษรอบรู้ การเขียนภาษาอังกฤษเชิงสร้างสรรค์ ภาษาต่างประเทศที่ 2 หน้าที่พลเมือง และอาเซียนศึกษา
    • รายวิชาเพิ่มเติม กลุ่มที่ 2 เป็นรายวิชาเลือกเสรี นักเรียนสามารถเลือกได้ตามความถนัดและความสนใจ

ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย

[แก้]

ปัจจุบันใช้หลักสูตรโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย พุทธศักราช 2560 โดยใช้กรอบโครงสร้างหลักสูตรของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ พุทธศักราช 2560 โดยแบ่งรายวิชาออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้[7]

  • รายวิชาพื้นฐาน ประกอบด้วยรายวิชา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ เป็นรายวิชาให้ความรู้ทั่วไป ทักษะการเรียนรู้ และการใช้ดำรงชีวิตในสังคม
  • รายวิชาเพิ่มเติม แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
    • รายวิชาเพิ่มเติม กลุ่มที่ 1 เป็นรายวิชาที่สร้างขึ้นเพื่อสนองและสอดคล้องกับการพัฒนานักเรียนของโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค โดยนักเรียนทุกคนต้องลงทะเบียนรายวิชากลุ่มนี้ทั้งหมด รายวิชาในกลุ่มนี้ ได้แก่ ความรู้พื้นฐานสำหรับแคลคูลัส แคลคูลัส กลุ่มวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม สัมมนาทางวิทยาศาสตร์ โครงงานวิทยาศาสตร์ บูรณาการความรู้ ทักษะชีวิต หน้าที่พลเมือง การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ การออกแบบและพื้นฐานด้านวิศวกรรม ภาษาอังกฤษวิชาการ ภาษาต่างประเทศที่ 2
    • รายวิชาเพิ่มเติม กลุ่มที่ 2 เป็นรายวิชาเลือกเสรี นักเรียนสามารถเลือกได้ตามความถนัดและความสนใจ ทั้งนี้บางรายวิชาเป็นเนื้อหาที่เรียนในระดับอุดมศึกษา เช่น ปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์

การคัดเลือกนักเรียน

[แก้]

การคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยเลย ใช้รูปแบบการสมัครและการสอบคัดเลือกในรอบแรกเหมือนกันกับโรงเรียนอื่นๆในเครือจุฬาภรณ์ ส่วนการสอบในรอบที่สองนั้นแต่ละโรงเรียนจะเป็นผู้พิจารณารูปแบบ วัน เวลา และสถานที่สอบเอง

ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1

[แก้]

การรับนักเรียนเข้าศึกษาในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 จะรับนักเรียนที่กำลังศึกษาในชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่าในปีการศึกษาที่สมัคร โดยสมัครและสอบรอบแรกผ่านโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รับนักเรียนแห่งละ 96 คน[8] โดยแบ่งรับนักเรียนออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

  • กลุ่มนักเรียนจากโรงเรียนทุกโรงเรียนในเขตพื้นที่บริการของโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยเลย จำนวนไม่น้อยกว่า 88 คน
  • กลุ่มนักเรียนจากโรงเรียนขยายโอกาส (ได้แก่ โรงเรียนดีประจำตำบลตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนประถมศึกษาที่มีนักเรียนไม่เกิน 200 คน โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ โรงเรียนในสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน โรงเรียนพระปริยัติธรรม และโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม) ในเขตพื้นที่บริการของโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยเลย จำนวนไม่เกิน 8 คน

ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4

[แก้]

การรับนักเรียนเข้าศึกษาในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4 จะรับนักเรียนที่กำลังศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หรือเทียบเท่าในปีการศึกษาที่สมัคร โดยสมัครและสอบรอบแรกผ่านการคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาต่อในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ รับนักเรียนจากโรงเรียนทุกโรงเรียนในเขตพื้นที่บริการของโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยเลย จำนวน 144 คน[9]

การเปลื่ยนชื่อโรงเรียนในกลุ่มโรงเรียน

[แก้]

สำนักพระราชวัง มีหนังสือที่ รล 0011.3/18298 ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2561 แจ้งรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ โดยอ้างถึงหนังสือกระทรวงศึกษาธิการ ที่ ศธ 04278/2112 ลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2561เรื่องการเปลี่ยนชื่อโรงเรียนในกลุ่มโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ความว่า

ตามที่ ท่านได้มีหนังสือขอให้นำความกราบทูล สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ขอพระราชทานพระวินิจฉัยเรื่อง เปลี่ยนชื่อโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย เป็น “โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย” ต่อท้ายด้วยชื่อจังหวัดที่เป็นสถานที่ตั้งของโรงเรียน และใช้นามภาษาอังกฤษว่า “Princess Chulabhorn Science High School” ความละเอียดตามหนังสือที่อ้างถึงแล้วนั้น การนี้ ความทราบฝ่าพระบาทแล้ว พระราชทานพระอนุญาตให้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนตามที่กราบทูลขอมา[10][11]

งานวันประเพณีของโรงเรียน

[แก้]

งานราชพิธี

[แก้]
  • รับมอบของพระราชทาน-ถวายพระพรสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เนื่องในวันคล้ายวันประสูติ 4 กรกฎาคมของทุกปี

ทั่วไป

[แก้]
  • วันสถาปนาโรงเรียน - กิจกรรมภายในโรงเรียน ทำบุญโรงเรียน จัดนิทรรศการวิชาการ และงานเลี้ยงฉลองในภาคค่ำ
  • PCC SCIENCE MATH TEST - กิจกรรมวิชาการระหว่างโรงเรียนในเครือข่ายโดยหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ
  • จุฬาภรณ์ฯสัมพันธ์ - กิจกรรมการแข่งขันกีฬาเพื่อกระชับความสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมประเพณีในท้องถิ่น
  • 2 มิถุนายน - วันสถาปนาโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย เลย
  • 4 กรกฎาคม - วันคล้ายวันประสูติของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
  • 25 มีนาคม - วันพิธีมอบใบประกาศนียบัตรของนักเรียนที่จบการศึกษา

อ้างอิง

[แก้]
  1. http://data.bopp-obec.info/emis/schooldata-view_student.php?School_ID=1042520465&Area_CODE=1017[ลิงก์เสีย] 19 จำนวนนักเรียนโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เลย
  2. https://gotoloei.com/ข้อมูล/โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย-เลย ประวัติโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เลย
  3. สัญลักษณ์ประจำโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย[ลิงก์เสีย]
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 ประวัติความเป็นมาของโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร. โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร. สืบค้นเมื่อ 28 มิถุนายน 2560‎.
  5. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ :1
  6. หลักสูตรโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น พุทธศักราช 2554 (ฉบับปรับปรุง พุทธศักราช 2558)
  7. หลักสูตรโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย พุทธศักราช 2560
  8. http://www.pccnst.ac.th/sshs/newstudent/2018/M1/Annouce%20M1-2561.pdf เก็บถาวร 2017-11-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ประกาศสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและคณะกรรมการโครงการพัฒนาโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค เรื่อง การรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๖๑ ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2560
  9. http://www.pccnst.ac.th/sshs/newstudent/2018/M4/Annouce%20M4-2561.pdf เก็บถาวร 2017-12-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ประกาศสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและคณะกรรมการโครงการพัฒนาโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค เรื่อง การรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ ปีการศึกษา ๒๕๖๑ ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2560
  10. http://www.pccnst.ac.th/pcshsnst/2018/07/20/change-school-name/
  11. http://www.moe.go.th/websm/2010/nov/406.html