ปอเนาะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปอเนาะแห่งหนึ่งในจังหวัดนราธิวาส
ที่พักนักศึกษาภายในปอเนาะแห่งหนึ่งในจังหวัดนราธิวาส

ปอเนาะ (ภาษามลายูปัตตานี เพี้ยนจาก pondok "ปนโดะก์" ในภาษามลายูกลาง ยืมมาจากภาษาอาหรับ فندق "ฟุนดุก" แปลว่า โรงแรม) หมายถึงสำนักสอนศาสนาอิสลามที่มีหอพักนักเรียนอยู่ในบริเวณสำนัก ซึ่งโดยปกติจะเป็นกระท่อมเล็ก ๆ ทุก ๆ ตำบลในสามจังหวัดภาคใต้มีปอเนาะมากกว่าหนึ่งปอเนาะ

ประวัติ[แก้]

สำนักสอนศาสนาอิสลามที่ให้บริการที่พักนี้มีมาตั้งแต่ยุคแรกของอิสลาม เพราะนักศึกษาในอดีตจะเดินทางไกลและพักเป็นแรมปีเพื่อเล่าเรียนกับปรมาจารย์ เช่นในเมืองมะดีนะหฺ มีสำนักสอนศาสนาของอิมามอัศศอดิก ที่ใหญ่โตจนเรียกว่ามหาวิทยาลัย และของ มาลิก บินอะนัส (เจ้าของมัซฮับมาลิกีย์)ในสมัยฟาฏิมียะหฺมีการสร้างมหาวิทยาลัยในไคโร [1] นอกจากนั้นปอเนาะอาจมีที่มาจากการศึกษาศาสนาอิสลามในตะวันออกกลางในซาอุดีอาระเบียและเยเมน [2]แล้วจึงแพร่หลายเข้าสู่ทวีปเอเชีย เข้าสู่ประเทศไทยแห่งแรกที่ปัตตานี โดยรับผ่านทางมาเลเซีย[1] หรืออาจจะเข้ามาที่ปัตตานีก่อนมาเลเซีย[2]ในประเทศอาหรับสำนักสอนศาสนาแบบนี้เป็นที่รู้จักในนาม มัดรอสะหฺ (โรงเรียน) หรือเฮาซะหฺ ถ้าเป็นโรงเรียนของชีอะหฺ ปอเนาะที่ปาตานีมีความสำคัญต่อชาวมุสลิมในภูมิภาคนี้มาก ชาวจามในเขมรและเวียดนามจะเรียกปาตานีว่า กิบลัตที่สอง เนื่องจากเป็นสถานที่ที่พวกเขาส่งลูกหลานมาเรียนศาสนา

จากการสำรวจของศูนย์พัฒนาการศึกษา จ.ยะลา เมื่อ พ.ศ. 2521 พบว่าปอเนาะที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่มีหลักฐานเปิดสอนตั้งแต่ราว พ.ศ. 2442 มุฮัมหมัด เศาะฆีร ระบุว่า ปอเนาะแห่งแรกในจังหวัดชายแดนภาคใต้คือปอเนาะกัวลาบือเกาะที่ก่อตั้งโดยบุตรของชัยคอุษมานที่มาจากเยเมน [2] ปอเนาะที่เก่าแก่อื่น ๆ มีอีกหลายแห่ง เช่น ปอเนาะสะนอญันญาร ก่อตั้งเมื่อราว พ.ศ. 2143 และปอเนาะปันนัดายอก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2360

การจัดการเรียนการสอน[แก้]

การเรียนการสอนในปอเนาะดำเนินการโดยโต๊ะครู ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ทางศาสนา การเปิดปอเนาะถือเป็นวิทยาทาน ไม่เก็บค่าเล่าเรียน โต๊ะครูมีรายได้จากการบริจาค (ศอดะเกาะหฺ) หรือซะกาต วิชาที่สอนในปอเนาะได้แก่ การสอนภาคศรัทธา (เตาฮีด) ภาคปฏิบัติ (ฟิกหฺ) ซึ่งรวมถึงศาสตร์มรดกและครอบครัว (ฟะรออิฏ) ภาคจริยธรรม (อัคลาก)ภาคประวัติศาตสตร์ (ตารีค) การอ่านอัลกุรอาน และการปฏิบัติตนที่ถูกต้องตามหลักศาสนา สอนเป็นภาษามลายูและภาษาอาหรับ ระยะเวลาในการเรียนของแต่ละคนไม่เท่ากัน ขึ้นกับความสมัครใจ ส่วนใหญ่อยู่ระหว่าง 2-6 ปี แต่ก็มีผู้ศึกษาจนถึง 10-15 ปี[3]

การเรียกชื่อปอเนาะมักเรียกตามชื่อหมู่บ้าน สถานที่ตั้งอาจเป็นของโต๊ะครู หรือจากการบริจาคของชาวบ้านที่ศรัทธาโต๊ะครูผู้นั้นก็ได้

ปอเนาะในปัจจุบัน[แก้]

ในปัจจุบันปอเนาะได้พัฒนากลายเป็นโรงเรียนสอนศาสนาที่มีทั้งภาคสามัญและภาคศาสนา นักเรียนส่วนน้อยเท่านั้นที่พักอยู่ในหอพัก ปอเนาะแบบเดิมมีเหลืออยู่ไม่มาก และทางรัฐบาลก็ได้มีกฎหมายเข้มงวดในเรื่องใบอนุญาตเปิดปอเนาะ เนื่องจากสถานการณ์ภาคใต้ ที่มีพวกแบ่งแยกดินแดนเอาปอเนาะเป็นฐานในการปลุกระดม รัฐบาลได้ออกระเบียบต่างๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงการศึกษาศาสนาอิสลามในปอเนาะ 2 ช่วงด้วยกัน ช่วงแรกระหว่างพ.ศ. 2502-พ.ศ. 2508 [4] เพื่อเปลี่ยนปอเนาะเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม

การเปลี่ยนแปลงช่วงที่ 2 เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ปล้นปืน 4 มกราคม พ.ศ. 2547 ปอเนาะถูกมองในแง่ลบ ทางรัฐพยายามจัดให้มีการจดทะเบียนปอเนาะ 28 เมษายน พ.ศ. 2547 กระทรวงศึกษาธิการได้ออกระเบียบว่าด้วยสถาบันศึกษาปอเนาะ เพื่อให้ปอเนาะมาจดทะเบียนให้ถุกต้องตามกฎหมาย ปอเนาะที่จดทะเบียนแล้วนี้จะเรียกสถาบันศึกษาปอเนาะ (pondok institute) ไม่ใช่โรงเรียนปอเนาะ[2] ซึ่งพบว่าในเดือนพฤษภาคม 2547 มีปอเนาะมาจดทะเบียน 214 โรง ในเดือนกรกฎาคม 2547 มีปอเนาะจดทะเบียนทั้งหมด 249 โรง แยกเป็นปัตตานี 150 โรง ยะลา 53 โรง และนราธิวาส 46 โรง และใน พ.ศ. 2550 ปรากฏว่ามีปอเนาะจดทะเบียนเป็น “สถาบันการศึกษาปอเนาะ” ทั้งหมด 317 โรง [4]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 "สยามิค สารานุกรมอิสลาม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2021-09-25.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 อิบราเฮ็ม, 2549
  3. สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ 2529
  4. 4.0 4.1 โตะข่าวภาคใต้ การศึกษาปอเนาะ จุดหมายปลายทางที่สันติภาพ[ลิงก์เสีย]
  • สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ พ.ศ. 2529 เล่ม 5. สถาบันทักษิณคดีศึกษา. 2529
  • อิบราเฮ็ม ณรงค์รักษาเขต. การศึกษาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้. วารสารอินโดจีนศึกษา ฉบับวิกฤติไฟใต้. 7(1): 56-86. 2549