จังหวัดเลย
จังหวัดเลย | |
---|---|
![]() | |
คำขวัญ: เมืองแห่งทะเลภูเขา สุดหนาวในสยาม ดอกไม้งามสามฤดู ถิ่นที่อยู่อริยสงฆ์ มั่นคงความสะอาด | |
อักษรไทย | เลย |
อักษรโรมัน | Loei |
ชื่อไทยอื่น ๆ | เมืองเซไล, บ้านแฮ่ |
การปกครอง | |
• ผู้ว่าราชการ | ชัยธวัช เนียมศิริ[1] (ตั้งแต่ พ.ศ. 2563) |
พื้นที่[2] | |
• ทั้งหมด | 11,424.612 ตร.กม. (4,411.067 ตร.ไมล์) |
อันดับพื้นที่ | อันดับที่ 14 |
ประชากร (พ.ศ. 2562)[3] | |
• ทั้งหมด | 642,950 คน |
• อันดับ | อันดับที่ 40 |
• ความหนาแน่น | 56.27 คน/ตร.กม. (145.7 คน/ตร.ไมล์) |
• อันดับความหนาแน่น | อันดับที่ 71 |
รหัสไอเอสโอ 3166 | TH-42 |
สัญลักษณ์ประจำจังหวัด | |
• ต้นไม้ | สนสามใบ |
• สัตว์น้ำ | ปลาเพ้าชนิด Bangana lippus |
ศาลากลางจังหวัด | |
• ที่ตั้ง | ภายในศูนย์ราชการจังหวัดเลย ถนนมลิวรรณ ตำบลกุดป่อง อำเภอเมืองเลย จังหวัดเลย 42000 |
• โทรศัพท์ | 0 4281 2142 |
• โทรสาร | 0 4281 1746 |
เว็บไซต์ | http://www.loei.go.th |
![]() |
เลย เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทย ตั้งอยู่ในแอ่งสกลนครและอยู่ในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 540 กิโลเมตร มีสภาพภูมิประเทศที่งดงาม อากาศหนาวเย็น เป็นแหล่งเพาะปลูกไม้ดอกไม้ประดับที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ และยังเป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่สำคัญอีกด้วย
ประวัติศาสตร์[แก้]
ก่อตั้งโดยชนเผ่าไทยที่สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษที่ก่อตั้งอาณาจักรโยนกเชียงแสน โดยพ่อขุนบางกลางหาวและพ่อขุนผาเมือง (เชื่อถือกันว่าเป็นเชื้อสายราชวงศ์สิงหนวัติ) ได้มีผู้คนอพยพจากอาณาจักรโยนกเชียงแสนที่ล่มสลายแล้ว ผ่านดินแดนล้านช้าง ข้ามลำน้ำเหืองขึ้นไปทางฝั่งขวาของลำน้ำหมันถึงบริเวณที่ราบ พ่อขุนผาเมืองได้ตั้งบ้านด่านขวา (ปัจจุบันอยู่ในบริเวณชายเนินนาด่านขวา ซึ่งมีซากวัดเก่าอยู่ในแปลงนาของเอกชน ระหว่างหมู่บ้านหัวแหลมกับหมู่บ้านนาเบี้ย อำเภอด่านซ้าย) ส่วนพ่อขุนบางกลางหาวได้แบ่งไพร่พลข้ามลำน้ำหมันไปทางฝั่งซ้าย สร้างบ้านด่านซ้าย (สันนิษฐานว่าอยู่ในบริเวณหมู่บ้านเก่า อำเภอด่านซ้ายในปัจจุบัน) ต่อมาจึงได้อพยพเลื่อนขึ้นไปตามลำน้ำไปสร้างบ้านหนองคู และได้นำนามหมู่บ้านด่านซ้าย มาขนานนามหมู่บ้านหนองคูใหม่ เป็น "เมืองด่านซ้าย" อพยพไปอยู่ที่เมืองบางยางในที่สุด โดยมีพ่อขุนผาเมืองอพยพผู้คนติดตามไปตั้งเมืองราด (เชื่อว่าเป็นเมืองศรีเทพ อยู่ในท้องที่อำเภอศรีเทพและอำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์) และตั้งเมืองด่านซ้าย เป็นเมืองหน้าด่านทางตะวันออกของเมืองบางยาง
นอกจากนี้แล้ว ยังมีชาวโยนกอีกกลุ่มหนึ่งได้อพยพมาตั้งบ้านเรือนระหว่างชายแดนตอนใต้ของอาณาเขต ล้านนา ต่อแดนล้านช้างอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่จะอพยพหนีภัยสงครามข้ามลำน้ำเหืองมาตั้งเมืองเซไลขึ้น (สันนิษฐานว่าอยู่ในท้องที่หมู่บ้านทรายขาว ตำบลทรายขาว อำเภอวังสะพุง) จากหลักฐานในสมุดข่อยที่มีการค้นพบ เมืองเซไลอยู่ด้วยความสงบร่มเย็นมาจนกระทั่งถึงสมัยเจ้าเมืองคนที่ 5 เกิดทุพภิกขภัย ข้าวยากหมากแพง ฝนฟ้าไม่ตก จึงได้พาผู้คนอพยพไปตามลำแม่น้ำเซไลถึงบริเวณที่ราบระหว่างปากลำห้วยไหลตกแม่เซไล จึงได้ตั้งบ้านเรือนขึ้นขนานนามว่า "บ้านแห่" (บ้านแฮ่) ส่วนลำห้วยให้ชื่อว่า "ห้วยหมาน"
ในปี พ.ศ. 2396 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพิจารณาเห็นว่า หมู่บ้านแฮ่ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งห้วยน้ำหมาน และอยู่ใกล้กับแม่น้ำเลย มีผู้คนเพิ่มมากขึ้น สมควรจะได้ตั้งเป็นเมือง เพื่อประโยชน์ในการปกครองอย่างใกล้ชิด จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งเป็นเมืองเรียกชื่อตามนามของแม่น้ำเลยว่า เมืองเลย ขึ้นต่อเมืองเพชรบูรณ์อีกทีหนึ่ง ต่อมา พ.ศ. 2440 ได้มีประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองพื้นที่ ร.ศ. 116 แบ่งการปกครองเมืองเลยออกเป็น 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอกุดป่อง อำเภอท่าลี่ (เดิมตำบลอาฮีเป็นอำเภอ แต่ถูกลดบทบาทลงเป็นตำบลเพราะอยู่ใกล้กับแม่น้ำเหือง เป็นผลมาจากการเสียดินแดนให้ลาวโดยประเทศฝรั่งเศส) อำเภอนากอก (ปัจจุบันอยู่ในประเทศลาว) อำเภอที่ตั้งเมืองคือ อำเภอกุดป่อง ต่อมา พ.ศ. 2442-2449 ได้เปลี่ยนชื่อเมืองเลยเป็น บริเวณลำน้ำเลย พ.ศ. 2449-2450 เปลี่ยนชื่อบริเวณลำน้ำเลยเป็นบริเวณลำน้ำเหือง และใน พ.ศ. 2450 ได้มีประกาศของกระทรวงมหาดไทยลงวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2450 ยกเลิกบริเวณลำน้ำเหือง ให้คงเหลือไว้เฉพาะ "เมืองเลย" โดยให้เปลี่ยนชื่ออำเภอกุดป่อง เป็น "อำเภอเมืองเลย"
ภูมิศาสตร์[แก้]
ที่ตั้งและอาณาเขต[แก้]
จังหวัดเลยตั้งอยู่ทางตอนบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย มีพื้นที่ทั้งหมด 11,424.612 ตารางกิโลเมตร หรือ 7,140,382 ไร่ หรือประมาณร้อยละ 6.77 ของพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีระยะทางจากกรุงเทพมหานคร 520 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดอื่น ๆ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับแขวงไชยบุรีและแขวงเวียงจันทน์ ประเทศลาว โดยมีแม่น้ำโขงและแม่น้ำเหืองไหลกั้นพรมแดนระหว่างกัน
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดหนองคาย จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดหนองบัวลำภู
- ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดเพชรบูรณ์
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดพิษณุโลก
ลักษณะภูมิประเทศ[แก้]
จังหวัดเลยตั้งอยู่บนพื้นที่ราบสูงโคราช หรือที่เรียกกันว่า แอ่งสกลนคร ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นทิวเขาในแนวทางทิศเหนือใต้ และจะมีพื้นที่ราบลุ่มระหว่างหุบเขาที่ไม่ใหญ่มากนัก สลับกันอยู่ในแนวเทือกเขา จังหวัดเลยมีภูเขาสูงกระจัดกระจาย โดยเฉพาะทางตะวันตกและทางด้านใต้ของจังหวัด ทั้งนี้ยังมีแหล่งน้ำสำคัญคือแม่น้ำโขงในบริเวณตอนบนของจังหวัด
ลักษณะภูมิอากาศ[แก้]
จังหวัดเลยเป็นจังหวัดที่เรียกได้ว่าหนาวที่สุดของประเทศ เคยมีอุณหภูมิต่ำสุดประมาณ -1.3 องศาเซลเซียส (2 มกราคม พ.ศ. 2517) อุณหภูมิสูงสุดประมาณ 43.5 องศาเซลเซียส (25 เมษายน พ.ศ. 2517) อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดทั้งปีอยู่ที่ประมาณ 25.5-26.5 องศาเซลเซียส และจะมีอุณหภูมิที่หนาวจัดในช่วงระหว่างเดือนธันวาคม-มกราคม โดยช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อุณหภูมิต่ำสุดประมาณ 5.5 องศาเซลเซียส (พ.ศ. 2557)
ข้อมูลภูมิอากาศของจังหวัดเลย (พ.ศ. 2504-2533) | |||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
เดือน | ม.ค. | ก.พ. | มี.ค. | เม.ย. | พ.ค. | มิ.ย. | ก.ค. | ส.ค. | ก.ย. | ต.ค. | พ.ย. | ธ.ค. | ทั้งปี |
อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย °C (°F) | 29 (84) |
32 (90) |
34 (93) |
35 (95) |
33 (91) |
32 (90) |
32 (90) |
31 (88) |
31 (88) |
30 (86) |
29 (84) |
28 (82) |
31.3 (88.4) |
อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย °C (°F) | 14 (57) |
17 (63) |
19 (66) |
22 (72) |
23 (73) |
23 (73) |
23 (73) |
23 (73) |
22 (72) |
21 (70) |
18 (64) |
15 (59) |
20 (68) |
หยาดน้ำฟ้า มม (นิ้ว) | 6 (0.24) |
17 (0.67) |
37 (1.46) |
95 (3.74) |
213 (8.39) |
164 (6.46) |
159 (6.26) |
177 (6.97) |
226 (8.9) |
117 (4.61) |
17 (0.67) |
3 (0.12) |
1,231 (48.46) |
[ต้องการอ้างอิง] |
สัญลักษณ์ประจำจังหวัด[แก้]
- ต้นไม้ประจำจังหวัด: สนสามใบ (Pinus kesiya)
- คำขวัญประจำจังหวัด: เมืองแห่งทะเลภูเขา สุดหนาวในสยาม ดอกไม้งามสามฤดู ถิ่นที่อยู่อริยสงฆ์ มั่นคงความสะอาด
- ลักษณะรูปร่างของจังหวัดเลย: ลักษณะรูปร่างของจังหวัดเลยมีรูปร่างคล้ายกับ "ศีรษะของลูกไดโนเสาร์พันธุ์ไทรเซอราทอปส์ที่ไม่มีเขา"
หน่วยการปกครอง[แก้]
การปกครองส่วนภูมิภาค[แก้]
การปกครองแบ่งออกเป็น 14 อำเภอ 90 ตำบล 840 หมู่บ้าน
การปกครองส่วนท้องถิ่น[แก้]
2 เทศบาลเมือง และ 27 เทศบาลตำบล
ประชากรศาสตร์[แก้]
ลักษณะทางสังคม[แก้]
จังหวัดเลยมีโครงสร้างทางสังคมแบบจารีตประเพณี คนพื้นเมืองส่วนใหญ่จะต่างจากคนภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั่ว ๆ ไปซึ่งมีเชื้อสายชาวลาวเวียงจันทน์และชาวลาวจำปาศักดิ์ แต่เป็นเชื้อสายชาวลาวหลวงพระบาง จึงมีประเพณี ศิลปะ และวัฒนธรรมหลายอย่างที่มีลักษณะเฉพาะ แตกต่างจากจังหวัดอื่น ๆ ในภาคอีสานของประเทศไทย
กลุ่มเชื้อชาติประชากร[แก้]
ชาวไทเลย[แก้]
ไทเลย เป็นชื่อเรียกคนเมืองเลย ในประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า คนเมืองเลยคือกลุ่มชนที่อพยพจากชายแดนตอนเหนืออาณาจักรสุโขทัย ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากไทหลวงพระบาง เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เมืองเซไล (บ้านทรายขาว อำเภอวังสะพุง ปัจจุบัน) ในปี พ.ศ. 2396 ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4 ต่อมาได้ย้ายมาอยู่ที่บ้านแห่ (บ้านแฮ่ปัจจุบัน) ได้ตั้งบ้านเรือนเรียกว่าเมืองเลย นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เมืองเลยก็รวมตัวกันเป็นเมืองใหญ่ โดยการรวมตัวของ อำเภอกุดป่อง อำเภอท่าลี่ ซึ่งขึ้นกับมณฑลอุดร อำเภอด่านซ้าย ซึ่งขึ้นกับมณฑลพิษณุโลก เมืองเชียงคาน ซึ่งขึ้นกับเมืองพิชัย อำเภอต่าง ๆ เหล่านี้จึงโอนขึ้นกับเมืองเลยทั้งหมดตั้งแต่ พ.ศ. 2450 เป็นต้นมา
ชาวไทเลยจะมีนิสัยใจคอเหมือนกับชนเชื้อชาติโบราณซึ่งไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงไปจากดั้งเดิม มีสำเนียงพูดที่แปลกและนิ่มนวล พูดสุภาพและไม่ค่อยพูดเสียงดัง กิริยามารยาทดีงาม อารมณ์เยือกเย็นไม่วู่วาม มีนิสัยรักความสงบเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รักถิ่นที่อยู่ไม่ค่อยอพยพไปอยู่ที่อื่น ส่วนทางด้านวัฒนธรรมประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดต่อกันมา ได้แก่ “ฮีตสิบสอง–คองสิบสี่” คือการทำบุญตามประเพณีทั้งสิบสองเดือนของแต่ละปี
บ้านชาวไทเลยเป็นเรือนหลังใหญ่ ยกพื้นสูงมีระเบียงหรือชานยื่นออกมาหน้าเรือน มีเรือนครัวซึ่งส่วนใหญ่จะสร้างแยกต่างหากโดยมีชานต่อเชื่อมติดกัน สำหรับหลังคาของเรือนนอนมุงด้วยหญ้าคาหรือไม้แป้นเก็ด ฝาเรือน พื้นเรือนนิยมทำด้วยไม้แผ่นเรียกว่า ไม้แป้น ส่วนเสาจะใช้ไม้เนื้อแข็งเป็นต้นๆ หรืออิฐก่อเป็นเสาใหญ่ มีบันไดไม้พาดไว้สำหรับขึ้นลง ส่วนเรือนครัวมุงด้วยหญ้าคา ฝาและพื้น จะนิยมทำด้วยฟากไม้ไผ่สับแผ่ออกเป็นแผ่น และเสาจะทำด้วยไม้เนื้อแข็งเช่นกัน
จังหวัดเลย มีคนพื้นเมืองที่มีเชื้อชาติไทย ซึ่งเรียกตัวเองว่า ไทเลย เป็นกลุ่มคนกลุ่มใหญ่ที่สุด นอกจากนี้ก็มีคนเชื้อชาติจีน ชาวเขา ไทดำ ไทพวน
ชาวไทดำ[แก้]
ชาวไทดำ อพยพมาจากแคว้นพวน ในประเทศลาวปัจจุบัน ซึ่งก่อนหน้านั้นอยู่ที่แคว้นสิบสองจุไท ซึ่งเป็นบ้านเกิดเดิมของชาวไทดำ ในอดีตแคว้นสิบสองจุไทเป็นเขตอาณาจักรสยาม ปัจจุบันอยู่ในประเทศเวียดนาม เมื่อปี พ.ศ. 2417 เมื่อพวกฮ่อยกกำลังมาตีเมืองเชียงขวาง ซึ่งเป็นหัวเมืองสำคัญในแคว้นพวน จึงได้เริ่มอพยพลงมาตามเส้นทางเรื่อยๆ จนได้มาพักที่บ้านน้ำก้อใหญ่ ตำบลน้ำก้อ อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ต่อมามีชาวไทยดำกลุ่มหนึ่ง ได้เดินทางข้ามแม่น้ำโขง ไปยังบ้านน้ำกุ่ม แขวงเวียงจันทน์ แต่ในขณะนั้นเขตเวียงจันทน์มีปัญหาการเจรจากับฝรั่งเศส ไทดำจึงข้ามแม่น้ำโขงกลับมาตั้งหมู่บ้านนาป่าหนาด ตำบลเขาแก้ว อำเภอเชียงคาน ซึ่งเป็นถิ่นฐานดั้งเดิม และถาวรจนถึงปัจจุบัน ที่หมู่บ้านนาป่าหนาด ตำบลเขาแก้ว อำเภอเชียงคาน เมื่อปี พ.ศ. 2438 มี 15 ครัวเรือน ปัจจุบันชาวไทดำ มีจำนวน 825 ครัวเรือน มีอาชีพส่วนใหญ่ทางการเกษตรกรรม
ชาวไทพวน[แก้]
ชาวไทพวน ได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่บ้านบุฮมและบ้านกลาง อำเภอเชียงคาน จากถิ่นฐานเดิมที่เมืองเตาไห หลวงพระบาง ประเทศลาว เมื่อครั้งพวกจีนฮ่อ กลา เวียง รุกรานเมืองเตาไห
ชาวไทใต้[แก้]
ชาวไทใต้ อพยพมาจากภาคอีสานเข้ามาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดเลย ส่วนใหญ่มาจากจังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดยโสธร เมื่อ พ.ศ. 2506 จะพบชาวไทใต้จำนวนมากที่อำเภอเอราวัณ และอำเภอนาด้วง ภาษาพูด แตกต่างจากภาษาไทเลย เพราะได้สืบทอดมาจากถิ่นเดิมของตน เช่น ภาษาไทยอีสาน ภาษาถิ่นอุบล ภาษาไทยโคราช
ภาษาของคนจังหวัดเลย[แก้]
มีสำเนียงภาษาแตกต่างจากภาษาพูดของคนในจังหวัดภาคอีสานอื่น ๆ เพราะกลุ่มคนที่อาศัยปัจจุบันนี้มีประวัติการอพยพเคลื่อนย้ายจากเมืองหลวงพระบางแห่งอาณาจักรล้านช้าง ต่อมาต้นพุทธศตวรรษที่ 23 ชาวหลวงพระบางและชาวเมืองบริเวณใกล้เคียงที่อพยพมาเมืองเลยได้นำวัฒนธรรมด้านภาษาอีสานถิ่นอื่นเข้ามาด้วย โดยภาษาเลยนั้นจัดอยู่ในกลุ่มหลวงพระบางอันประกอบด้วยภาษาเมืองแก่นท้าว ภาษาอำเภอด่านซ้าย และภาษาอำเภอเมืองเลย ดังนั้นสำเนียงพูดของชาวไทเลยจึงมีลักษณะการพูดเหมือนชาวหลวงพระบาง แต่บางพยางค์ออกเป็นเสียงสูงคล้ายสำเนียงพูดของชาวปักษ์ใต้ ฟังดูไพเราะนุ่มนวลจึงเป็นเอกลักษณ์เฉพาะคนเมือง ส่วนคนในวังสะพุงจะพูดเสียงห้วนกว่าชาวเลยถิ่นอื่น
การขนส่ง[แก้]
จังหวัดเลยอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 540 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางสู่จังหวัดเลยได้ทั้งทางรถยนต์ส่วนตัวและรถประจำทาง
- การเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว จากกรุงเทพมหานคร สามารถไปได้ 2 เส้นทาง คือ
- ใช้ถนนพหลโยธิน ผ่านจังหวัดสระบุรี แล้วแยกใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 21 ผ่านจังหวัดเพชรบูรณ์ จนถึงอำเภอหล่มสัก ต่อด้วยทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 21 (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 203 เดิม) ผ่านอำเภอหล่มเก่า อำเภอภูเรือ เข้าสู่จังหวัดเลย
- ใช้ถนนพหลโยธิน จนถึงจังหวัดสระบุรี แล้วแยกใช้ถนนมิตรภาพ จนถึงอำเภอสีคิ้ว แยกซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 201 ผ่านอำเภอด่านขุนทด อำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ อำเภอแก้งคร้อ อำเภอภูเขียว อำเภอชุมแพ อำเภอภูกระดึง อำเภอหนองหิน อำเภอวังสะพุง จนถึงจังหวัดเลย
- การเดินทางโดยทางเครื่องบิน โดยลงที่ท่าอากาศยานเลย มีสายการบิน นกแอร์ และไทยแอร์เอเชีย จาก ท่าอากาศยานดอนเมือง - ท่าอากาศยานเลย และ ท่าอากาศยานเลย - ท่าอากาศยานดอนเมืองให้บริการทุกวัน
- การเดินทางโดยรถโดยสาร รถโดยสารจากกรุงเทพมหานคร สายกรุงเทพฯ-เมืองเลย (สาย 29 และ 938) มีผู้ประกอบการหลายราย เช่น บริษัท ขนส่ง จำกัด(สาย 29) แอร์เมืองเลย (สาย29),ขอนแก่นทัวร์ (สาย 938),ชุมแพทัวร์(สาย 29),ภูกระดึงทัวร์,ศิขรินทร์ทัวร์ และสาย 14 กรุงเทพ - ภูเรือ ของ บริษัท เพชรประเสริฐ จำกัด และมีรถโดยสารระหว่างภาค สาย 808 นครราชสีมา-เชียงคาน และสาย 824 เลย-พัทยา-ระยอง ของบริษัทนครชัยขนส่ง สาย 636 เชียงใหม่-อุดรธานี ของบริษัทจักรพงษ์ทัวร์และอ.ศึกษาทัวร์ สาย 661 เชียงราย-นครพนม ของบริษัทสมบัติทัวร์ และจักรพงษ์ทัวร์ และมีสายอุดรธานี-พิษณุโลก ของนครไทยแอร์
- การเดินทางโดยรถไฟ จังหวัดเลยไม่มีเส้นทางรถไฟ ต้องเดินทางมาลงที่อุดรธานีแล้วต่อรถโดยสารมาจังหวัดเลย
รายชื่อถนนในจังหวัดเลย[แก้]
ชื่อถนน | รายละเอียดของเส้นทาง | สถานที่บนถนน |
---|---|---|
ทล.21 | ||
ทล.210 | ||
ทล.211 | ||
ทล.2195 | ||
ถนนคีรีรัฐ | เริ่มต้นที่บริเวณหัวสะพานข้ามแม่น้ำหมาน (คอสะพานบ้านแฮ่) ถนนสถลเชียงคาน และสิ้นสุดบรรจบที่บริเวณสามแยก กม.0 ถนนเลย-เชียงคาน ตำบลกุดป่อง อำเภอเมืองเลย |
|
ถนนเจริญรัฐ | เริ่มต้นที่บริเวณสามแยกศรีสะอาด (หน้าโรงเรียนชุมชนเทศบาล 1) ถนนพิพัฒนมงคล ตำบลกุดป่อง อำเภอเมืองเลย และสิ้นสุดบรรจบที่บริเวณสามแยกนาอาน ถนนมลิวัลย์ ตำบลนาอาน อำเภอเมืองเลย |
|
ถนนนกแก้ว | เริ่มต้นที่บริเวณหน้าวัดวิเวกธรรมคุณ (วัดนาฮุง)ตำบลเมือง อำเภอเมืองเลย และสิ้นสุดบรรจบที่วงเวียนน้ำพุ ตำบลกุดป่อง อำเภอเมืองเลย |
|
ถนนพาณิชย์พัฒนา | เริ่มต้นที่บริเวณแยกตะวันฉาย ถนนราษฎรอุทิศ ตำบลกุดป่อง อำเภอเมืองเลย และสิ้นสุดบรรจบที่บริเวณถนนร่วมพัฒนา ตำบลกุดป่อง อำเภอเมืองเลย | สมาคมพ่อค้าจังหวัดเลย |
ถนนพิพัฒนมงคล | เริ่มต้นที่บริเวณร้านอาหารครัวพิพัฒน์ ถนนมลิวัลย์ อำเภอเมืองเลย และสิ้นสุดบรรจบที่บริเวณสามแยกศรีสะอาด (หน้าโรงเรียนชุมชนเทศบาล 1 ) ถนนวิสุทธิเทพ |
|
ถนนฟากเลย | เริ่มต้นที่บริเวณสะพานกฤษ (สะพานตลาดเช้า) ตำบลกุดป่องอำเภอเมืองเลย และสิ้นสุดบรรจบที่บริเวณแยกฟากเลย ถนนเลย-นาด้วง ตำบลกุดป่อง อำเภอเมืองเลย | วัดศรีสว่าง |
ถนนมะขามหวาน | เริ่มต้นที่บริเวณแยกกกม่วงชี ถนนวิสุทธิเทพ ตำบลกุดป่อง อำเภอเมืองเลย และสิ้นสุดบรรจบที่บริเวณแยกสามอนงค์ ถนนเลย-เชียงคาน ตำบลกุดป่อง อำเภอเมืองเลย |
|
ถนนร่วมจิต | เริ่มต้นที่บริเวณแยกโรงจำนำ ถนนพิพัฒนมงคล ตำบลกุดป่อง อำเภอเมืองเลย และสิ้นสุดบรรจบที่บริเวณแยกชุมสาย ถนนชุมสาย ตำบลกุดป่อง อำเภอเมืองเลย |
|
ถนนร่วมใจ | เริ่มต้นที่บริเวณแยกหน้าโรงเรียนเมืองเลย ถนนมลิวัลย์ ตำบลกุดป่อง อำเภอเมืองเลย และสิ้นสุดบรรจบที่บริเวณแยกสะพานกฤษ (ตลาดเช้า) ตำบลกุดป่อง อำเภอเมืองเลย |
|
ถนนร่วมพัฒนา | เริ่มต้นที่บริเวณแยกหน้าโรงเรียนอนุบาลเลย ถนนร่วมใจ ตำบลกุดป่อง อำเภอเมืองเลย และสิ้นสุดบรรจบที่บริเวณแยกปตท.ใน ถนนนกแก้ว ตำบลกุดป่อง อำเภอเมืองเลย | |
ถนนชุมสาย | เริ่มต้นที่บริเวณวงเวียนน้ำพุ ตำบลกุดป่อง อำเภอเมืองเลย และสิ้นสุดบรรจบที่บริเวณแยกอาชีวะ ถนนเจริญรัฐ ตำบลกุดป่อง อำเภอเมืองเลย |
|
ถนนราษฎรอุทิศ | เริ่มต้นที่บริเวณแยกเพื่อนช่าง ถนนนกแก้ว ตำบลกุดป่อง อำเภอเมืองเลย และสิ้นสุดบรรจบที่บริเวณแยกวัดศรีภูมิ ถนนพิพัฒน์มงคล ตำบลกุดป่อง อำเภอเมืองเลย | |
ถนนเลย-เชียงคาน | เริ่มต้นที่บริเวณสามแยก กม.0 (บรรจบถนนมลิวัลย์และถนนเลย-ด่านซ้าย) และสิ้นสุดบรรจบที่บริเวณสามแยกเชียงคาน อำเภอเชียงคาน |
|
ถนนเลย-ด่านซ้าย | เริ่มต้นที่บริเวณสามแยก กม.0 (บรรจบถนนมลิวัลย์และถนนเลย-เชียงคาน) และสิ้นสุดบรรจบที่บริเวณอำเภอด่านซ้าย | |
ถนนเลย-นาด้วง | เริ่มต้นที่บริเวณแยกตึกเขียว ถนนวิสุทธิเทพ ตำบลกุดป่อง อำเภอเมืองเลย และสิ้นสุดบรรจบที่อำเภอนาด้วง | |
ถนนสถลเชียงคาน | เริ่มต้นที่บริเวณวงเวียนน้ำพุ และสิ้นสุดบรรจบที่บริเวณสามแยกทองคำ ถนนเลย-เชียงคาน | กศน.เลย |
ถนนเอื้ออารี | เริ่มต้นที่บริเวณแยกศรีสวัสดิ์ ถนนร่วมจิต ตำบลกุดป่อง อำเภอเมืองเลย และสิ้นสุดบรรจบที่บริเวณแยกพระเครื่อง ถนนเจริญรัฐ ตำบลกุดป่อง อำเภอเมืองเลย |
|
ถนนวิสุทธิเทพ | เริ่มต้นที่บริเวณแยกศรีสะอาด ถนนพิพัฒนมงคล ตำบลกุดป่อง อำเภอเมืองเลย และสิ้นสุดบรรจบที่บริเวณสะพานช่อชัยพฤกษ์ ตำบลกุดป่อง อำเภอเมืองเลย |
|
ถนนศรีจันทร์พัฒนา | เริ่มต้นที่บริเวณแยก อ.การช่าง ถนนสถลเชียงคาน ตำบลกุดป่อง อำเภอเมืองเลย และสิ้นสุดบรรจบที่บริเวณแยกเลยหลง ถนนวิสุทธิเทพ ตำบลกุดป่อง อำเภอเมืองเลย |
|
ถนนทุ่งนาเมี่ยงตัดใหม่ | เริ่มต้นที่บริเวณแยกทุ่งนาเมี่ยง ถนนศรีจันทร์พัฒนา ตำบลกุดป่อง อำเภอเมืองเลย และสิ้นสุดบรรจงที่บริเวณแยกหมู่บ้านพุทธรักษา ถนนมะขามหวาน ตำบลกุดป่อง อำเภอเมืองเลย | |
ถนนมลิวรรณ | ||
ถนนสีคิ้ว-เชียงคาน |
ระยะทางจากตัวจังหวัด[แก้]
|
|
แหล่งท่องเที่ยว[แก้]
อุทยานแห่งชาติ/วนอุทยาน/เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า[แก้]
จังหวัดเลยอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติทั้งภูเขาและป่าไม้มากมาย จนได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งทะเลภูเขา เป็น1ใน5จังหวัด(5จังหวัดที่ประกาศเป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ;จังหวัดนครราชสีมา-แม่น้ำมูล-ลำมูลบน-ลำตะคอง,จังหวัดชัยภูมิ-แม่น้ำชี-ลำน้ำพรหม-ลำน้ำเชิญ,จังหวัดเลย-แม่น้ำเลย-ลำน้ำพอง-แม่น้ำเหือง,จังหวัดอุดรธานี-แม่น้ำสงคราม-แม่น้ำปาว-ลำน้ำห้วยหลวงและจังหวัดสกลนคร-แม่น้ำสงคราม-ลำน้ำพุง-ลำน้ำก่ำ) ที่เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอุทยาน/วนอุทยาน/เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่สำคัญดังนี้
- อุทยานแห่งชาติภูกระดึง ที่ทำการอุทยานฯตั้งอยู่ที่ตำบลศรีฐาน อำเภอภูกระดึง
- อุทยานแห่งชาติภูเรือ ที่ทำการอุทยานฯตั้งอยูที่ตำบลหนองบัว อำเภอภูเรือ
- อุทยานแห่งชาติภูสวนทราย (ชื่อเดิมคืออุทยานแห่งชาตินาแห้ว) ที่ทำการอุทยานฯตั้งอยู่ที่อำเภอนาแห้ว
- อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้าที่ทำการอุทยานฯตั้งอยุ่ที่อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก(พิษณุโลก-เพชรบูรณ์-เลย)ภูลมโล อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย
- อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน ที่ทำการอุทยานฯตั้งอยู่ที่ตำบลนาหนองทุ่ม อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น(ขอนแก่น-เลย)
- อุทยานแห่งชาตินายูง-น้ำโสม ที่ทำการอุทยานฯตั้งอยู่ที่บ้านสว่าง ตำบลนายูง อำเภอนายูง จังหวัดอุดรธานี(อุดรธานี-เลย-หนองคาย)
- วนอุทยานถ้ำแสงธรรมพรหมมาวาส ที่ทำการวนอุทยานฯตั้งอยู่ที่ตำบลเจริญ อำเภอปากชม
- วนอุทยานน้ำตกห้วยเลา ที่ทำการวนอุทยานฯตั้งอยู่ที่ตำบลแก่งศรีภูมิ อำเภอภูหลวง
- วนอุทยานผางาม ที่ทำการวนอุทยานฯตั้งอยู่ที่อำเภอหนองหิน
- วนอุทยานภูบ่อบิด ที่ทำการวนอุทยานฯตั้งอยู่ที่ตำบลนาอาน อำเภอเมือง
- วนอุทยานภูผาล้อม ที่ทำการวนอุทยานฯตั้งอยู่ที่ตำบลน้ำสวย อำเภอเมือง
- วนอุทยานหริรักษ์ ที่ทำการวนอุทยานฯตั้งอยูที่ตำบลกกทอง อำเภอเมือง
- เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง ที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯตั้งอยู่ที่ตำบลสานตม อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย
- เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูค้อ-ภูกระแต ที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯตั้งอยู่ที่อำเภอวังสะพุง
สวนสาธารณะ/สวนพฤกษศาสตร์[แก้]
แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ[แก้]
- เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง
- สถานีทดลองเกษตรที่สูงภูเรือ อำเภอภูเรือ
- สวนหินผางาม อำเภอหนองหิน
- วนอุทยานน้ำตกห้วยเลา อำเภอภูหลวง
- เมืองเก่าเชียงคาน อำเภอเชียงคาน
- แก่งคุดคู้ อำเภอเชียงคาน
- หมู่บ้านไททรงดำ อำเภอเชียงคาน
- ศูนย์ศิลป์สิรินธร โรงเรียนศรีสงครามวิทยา อำเภอวังสะพุง
- สวนรุกขชาติ 100 ปี (กรมป่าไม้) อำเภอวังสะพุง
- ศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย
- ห้วยกระทิง อำเภอเมืองเลย
- พิพิธภัณฑ์ผีตาโขน วัดโพนชัย อำเภอด่านซ้าย
- วัดพระธาตุศรีสองรัก อำเภอด่านซ้าย
- วัดเนรมิตรวิปัสสนา อำเภอด่านซ้าย
- ภูลมโล อำเภอด่านซ้าย
- พระธาตุสัจจะ อำเภอท่าลี่
พระตำหนักที่สำคัญ[แก้]
สนามกีฬา[แก้]
- ศูนย์กีฬาครบวงจร มหาวิทยาลัยราชภัฎเลย อำเภอเมืองเลย
ประเพณีและเทศกาลรื่นเริง[แก้]
- งานฤดูหนาววังสะพุง
- งานประเพณีผีตาโขน (อำเภอด่านซ้าย)
- งานนมัสการพระธาตุศรีสองรัก(อำเภอด่านซ้าย)
- งานดอกฝ้ายบาน มะขามหวานเมืองเลย
- งานแสดงไม้ดอกเมืองหนาว (อำเภอภูเรือ)
- งานออกพรรษาเชียงคาน
- งานแห่ผีขนน้ำ
- งานบุญบั้งไฟล้าน (อำเภอเอราวัณ)
- งานประเพณีสงกรานต์ไทยลาว (อำเภอท่าลี่)
- งานแห่ต้นดอกไม้บุญเดือนหกบ้านอาฮี
การศึกษา[แก้]
บุคคลมีชื่อเสียง[แก้]
- พระเถระ
- หลวงปู่ชอบ ฐานสโม พระอริยสงฆ์
- หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ พระอริยสงฆ์
- หลวงปู่ศรีจันทร์ วัณณาโภ พระอริยสงฆ์
- หลวงปู่คำดี ปภาโส พระอริยสงฆ์
- หลวงปู่หลุย จนทสาโร พระอริยสงฆ์
- หลวงปู่ท่อน ญาณธโร พระอริยสงฆ์
- หลวงพ่อขันตี ญาณวโร พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่
- นักแสดง/บุคคลมีชื่อเสียง
- อัสนี โชติกุล นักร้อง, นักดนตรี
- วสันต์ โชติกุล นักร้อง, นักดนตรี
- ครูสังคม ทองมี ครูสอนศิลปะ
- มีศักดิ์ ปักษ์ชัยภูมิ อดีตนักจักรยานทีมไทย
- รุ้งลาวัลย์ โทนะหงษา (หนูหิ่น) นักแสดง
- ยุทธเลิศ สิปปภาค (ต้อม) ผู้กำกับภาพยนตร์
- ประจวบ บัวระภา อดีตนักฟุตบอลทีมชาติไทย
- ศาสตราจารย์ ดร. สุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- พิยะดา หาชัยภูมิ (หมอเอิ้น) นักแต่งเพลง
- เชิดชัย สุวรรณนัง อดีตนักฟุตบอลทีมชาติไทย
- กิตติพงษ์ เสนานุช ดีเจโน๊ต นักจัดรายการวิทยุชื่อดัง
- อภิวัฒน์ ชินอักษร (ป๊อบ) นักร้อง-แร็ปเปอร์
- เบนซ์ เมืองเลย นักร้อง
- กระต่าย พรรณิภา นักร้องเพลงลูกทุ่ง
- วรรณปิยะ ออมสินนพกุล นักแสดง
- ธนัตถ์ศรันย์ ซำทองไหล นักแสดง
อ้างอิง[แก้]
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ
- ↑ กลุ่มงานข้อมูลสารสนเทศและการสื่อสาร. สำนักงานจังหวัดเลย. "ข้อมูลจังหวัดเลย: สภาพทั่วไป สิ่งแวดล้อม และการวิเคราะห์." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.loei.go.th/data/POP40.DOC [ม.ป.ป.]. สืบค้น 18 เมษายน 2553.
- ↑ กรมการปกครอง. กระทรวงมหาดไทย. "ประกาศสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง เรื่อง จำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร แยกเป็นกรุงเทพมหานครและจังหวัดต่าง ๆ ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://stat.bora.dopa.go.th/stat/pk/pk_57.pdf 2563. สืบค้น 1 กุมภาพันธ์ 2563.
ดูเพิ่ม[แก้]
- รายชื่อวัดในจังหวัดเลย
- รายชื่อโรงเรียนในจังหวัดเลย
- รายชื่อสาขาของธนาคารในจังหวัดเลย
- รายชื่อห้างสรรพสินค้าในจังหวัดเลย
แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]
- เว็บไซต์กลางของทุกธุรกิจในจังหวัดเลย
- เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของจังหวัด
- เว็บไซต์ข้อมูลที่พักร้านอาหารและสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดเลย
- ท่าอากาศยานเลย
- สายการบิน นกแอร์
- สายการบิน Solar Air
- สายการบิน Happy Air
- หมอเอิ้น พิยะดา
- จังหวัดเลย - อีสานร้อยแปด
พิกัดภูมิศาสตร์: 17°29′N 101°44′E / 17.49°N 101.73°E
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ จังหวัดเลย
- แผนที่ จาก มัลติแมป โกลบอลไกด์ หรือ กูเกิลแผนที่
- ภาพถ่ายทางอากาศ จาก เทอร์ราเซิร์ฟเวอร์
- ภาพถ่ายดาวเทียม จาก วิกิแมเปีย