กลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย
![]() | ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
กลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์ จุฬาภรณราชวิทยาลัย | |
---|---|
![]() | |
รักษ์ศักดิ์ศรี มีคุณธรรม
นำวิชาการ สืบสานงานพระราชดำริ | |
ข้อมูล | |
ชื่ออังกฤษ | Princess Chulabhorn Science High School |
อักษรย่อ | จ.ภ.
PCSHS |
ประเภท | โรงเรียนรัฐบาล โรงเรียนวัตถุประสงค์พิเศษ |
สังกัด | กระทรวงศึกษาธิการ |
สถาปนา | 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2536 ประกาศตั้งโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย 4 แห่งแรก |
คณะกรรมการโรงเรียน | สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
|
ผู้บริหาร | สุเทพ ชิตยวงษ์[1] เลขาธิการ กพฐ. และประธานคณะกรรมการฯ ภูริวรรษ คำอ้ายกาวิน[2] |
สี | สีน้ำเงิน-สีแสด |
เพลง | เพลงมาร์ชจุฬาภรณราชวิทยาลัย ไฟล์:เพลงมาร์ชโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย.mp3 มาร์ชจุฬาภรณราชวิทยาลัยแต่ละแห่ง |
เว็บไซต์ | ศูนย์พัฒนาโรงเรียนวิทยาศาสตร์ |
โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เป็นกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสนองพระราชปณิธานของสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ที่ทรงมุ่งมั่นจะส่งเสริมคุณภาพชีวิต ในด้านความเป็นอยู่และการศึกษาของเยาวชน ปัจจุบันเป็นโรงเรียนที่อยู่ในแผนและยุทธศาสตร์ สำหรับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ โดยจัดการเรียนการสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษา โรงเรียนส่งเสริมให้เด็กคิดเป็น และกล้าลงมือทำ โดยโรงเรียนจะสนับสนุนทั้งด้านอุปกรณ์การเรียนการสอน อุปกรณ์ในห้องทดลองที่มีครบถ้วนและเพียงพอต่อความต้องการของเด็ก ในการศึกษาคนคว้าส่งที่ตนเองสนใจได้เอง โดยมีอาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถ คอยให้คำปรึกษาและสนับสนุนให้เด็กแสดงศักยภาพของตนได้อย่างเต็มที่
เนื้อหา
ประวัติ[แก้]
สัมพันธ์ ทองสมัคร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้นได้ประกาศจัดตั้ง โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารี ตามด้วยชื่อจังหวัดสถานที่ตั้ง ทั้งหมด 10 แห่ง ประจำเขตการศึกษาต่าง ๆ ทุกเขตการศึกษาของประเทศ ต่อมาได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี พระราชทานตราสัญลักษณ์และนามโรงเรียนใหม่ คือ "จุฬาภรณราชวิทยาลัย" ตามด้วยชื่อจังหวัดอันเป็นสถานที่ตั้ง ซึ่งเป็นพระนามของสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ต่อมาจึงได้ประกาศจัดตั้งโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยเพิ่มอีก 2 แห่งเพื่อให้ครบทุกเขตพื้นที่การศึกษา[3]
โรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค[แก้]
ในปี พ.ศ. 2551 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานร่วมกับโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์จัดการเรียนการสอนหลักสูตรวิทยาศาสตร์ของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ที่โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนละ 1 ห้องเรียน ห้องเรียนละ 24 คน โดยมีโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์เป็นโรงเรียนต้นแบบ และพัฒนาบุคลากร รวมทั้งควบคุมการใช้หลักสูตรให้เป็นไปตามมาตรฐานของหลักสูตร และในปี พ.ศ. 2552 สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐานพิจารณาแห่งว่า โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยทั้ง 12 โรงเรียนสามารถจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรวิทยาศาสตร์ได้มาตรฐานเดียวกันกับโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์จึงประกาศ ณ วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 ให้โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยทั้ง 12 แห่งเป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค[3]
ต่อมาเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบข้อเสนอของกระทรวงศึกษาธิการ ให้ดำเนินการพัฒนากลุ่มโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับผู้มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ซึ่งมีกระจายอยู่ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เน้นการให้โอกาสกับผู้มีความสามารถพิเศษที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ในภูมิภาค ตลอดจนพัฒนา ปรับปรุง ส่งเสริม ให้โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยทั้ง 12 แห่ง มีมาตรฐานเทียบเท่าโรงเรียนวิทยาศาสตร์ชั้นนำของนานาชาติ และมีมติให้จัดตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการพัฒนาโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค[4]
จากนั้น กลุ่มโรงเรียนจึงเริ่มรับนักเรียนเข้าเรียนในหลักสูตรโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาคเป็นรุ่นแรกในปี พ.ศ. 2554 ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนละ 1 ห้องเรียน 24 คน (จัดสอบใหม่โดยโรงเรียน) และระดับชั้นมัธยมศีกษาปีที่ 4 โรงเรียนละ 2 ห้องเรียน (โดยใช้บัญชีรายชื่อนักเรียนที่เคยสมัครสอบของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์) แต่ละห้องมีนักเรียน 24 คน รวม 48 คน [5] ต่อมาในปี พ.ศ. 2555 - 2556 มีการปรับการรับนักเรียนใหม่ แบ่งระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนละ 4 ห้องเรียน ห้องเรียนละ 24 คน รวม 96 คน และระดับชั้นมัธยมศีกษาปีที่ 4 โรงเรียนละ 4-6 ห้องเรียน ห้องเรียนละ 24 คน โดยใช้การรับนักเรียนร่วมกับโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์[6] และตั้งแต่ปีการศึกษา 2557 เป็นต้นมา ทุกโรงเรียนปรับการรับนักเรียนเป็นไปตามแผนการรับนักเรียน กล่าวคือ ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนละ 4 ห้องเรียน ห้องเรียนละ 24 คน รวม 96 คน และระดับชั้นมัธยมศีกษาปีที่ 4 โรงเรียนละ 6 ห้องเรียน ห้องเรียนละ 24 คน รวม 144 คนต่อปีการศึกษา[7]
ในวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2558 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้จัดตั้งศูนย์บริหารโครงการพัฒนาโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค มีสถานะเป็นกลุ่มงานภายในสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา เพื่อประสานการดำเนินงานโครงการของคณะกรรมการโครงการฯ กับโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ มหาวิทยาลัย นักวิชาการ หน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงผู้บริหารและบุคลากรของโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ตลอดจนดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง[8] ต่อมา เปลี่ยนชื่อเป็นศูนย์พัฒนาโรงเรียนวิทยาศาสตร์ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2560[9]
เปลี่ยนชื่อโรงเรียน[แก้]
สำนักพระราชวังมีหนังสือที่ รล 0011.3/18298 ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2561 แจ้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยอ้างถึงหนังสือกระทรวงศึกษาธิการ ที่ ศธ 04278/2112 ลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2561 เรื่อง การเปลี่ยนชื่อโรงเรียนในกลุ่มโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัเป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ความว่า ความทราบฝ่าพระบาทแล้ว พระราชทานพระอนุญาตให้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนตามที่กราบทูลขอมา
ต่อมาเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2561 กระทรวงศึกษาธิการออกประกาศ เรื่อง การเปลี่ยนชื่อโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย โดยมีผลตั้งแต่ 3 กรกฎาคม 2561[10]
สัญลักษณ์ประจำโรงเรียน[แก้]
- ความหมายของชื่อโรงเรียน จุฬาภรณราชวิทยาลัย แยกได้เป็น
- จุฬาภรณ เป็นพระนามของสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
- ราช,ราชา แปลว่า อันเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์
- วิทยาลัย แปลว่า สถาบันการศึกษาชั้นสูง
ดังนั้น จุฬาภรณราชวิทยาลัย หมายถึง สถาบันการศึกษาขั้นสูงอันเกี่ยวเนื่องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ในสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้ ทางโรงเรียนได้ใช้พระนามเพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงเจริญพระชนมายุครบ 36 พรรษา
- ตราประจำโรงเรียน ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ประกอบด้วย[11]
- พระมงกุฎสีเหลืองทอง มีพู่สีชมพูใต้พระมงกุฎทั้ง 2 ข้าง
- รัศมีสีเหลืองทองเหนือยอดพระมงกุฎ 19 เส้น
- อักษร จ สีแสด และ ภ สีน้ำเงิน อยู่ภายใต้พระมงกุฎ โดย จภ มาจากพระนามของสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
- แพรแถบด้านล่างตรา สีน้ำเงินตัดขอบสีเหลืองทอง มีข้อความชื่อโรงเรียนสีเหลืองทอง
- ต้นไม้ประจำโรงเรียน ได้แก่ แคแสด[12]
- สีประจำโรงเรียน ได้แก่ สีน้ำเงิน-แสด[12] โดย
- สีน้ำเงิน หมายถึง สถาบันพระมหากษัตริย์ ความแข็งแรง มั่นคง และความเคร่งครัดในระเบียบวินัย
- สีแสด หมายถึง เป็นสีประจำวันประสูติของสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี วันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2500
- คติพจน์ประจำโรงเรียน ได้แก่ คุณธรรมนำวิชาการ[ต้องการอ้างอิง]
- คำขวัญประจำโรงเรียน ได้แก่ รักษ์ศักดิ์ศรี มีคุณธรรม นำวิชาการ สืบสานงานพระราชดำริ[12]
- ปรัชญาประจำโรงเรียน ได้แก่ ปญฺญา ยตถํ วิปสฺสติ คนย่อมเห็นเนื้อความด้วยปัญญา[12]
- เพลงประจำโรงเรียน ได้แก่ มาร์ชจุฬาภรณราชวิทยาลัย ประพันธ์คำร้องโดย วิชาญ เชาวลิต ครูใหญ่ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย นครศรีธรรมราช คนแรก และทำนองโดย กิตติ ศรีเปารยะ อาจารย์ประจำสาขาวิชาดนตรีสมัยนิยม วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
โรงเรียนในเครือข่าย[แก้]
โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย มีทั้งหมด 12 แห่ง ตามพื้นที่บริการของโรงเรียนซึ่งอ้างอิงตามเขตพื้นที่การศึกษาในช่วงที่ก่อตั้งโรงเรียน ดังนี้[7]
หลักสูตรของโรงเรียน[แก้]
ในช่วงก่อนเป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค โรงเรียนใช้หลักสูตรแกนกลางของกระทรวงศึกษาธิการ ต่อมาในปี พ.ศ. 2551 มีการใช้หลักสูตรวิทยาศาสตร์ของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ในห้องเรียนที่คัดเลือกนักเรียนร่วมกับโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์[3]
จนกระทั่งคณะรัฐมนตรีมีมติดำเนินการโครงการพัฒนาโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค จึงได้ดำเนินการพัฒนาหลักสูตรโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค เพื่อพัฒนานักเรียนให้เป็นตามไปเป้าหมายของโรงเรียน โดยแบ่งเป็นหลักสูตรสำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย นักเรียนจะต้องลงทะเบียนเรียนตามหน่วยกิตที่กำหนด โดยมีผลการเรียนแต่ละรายวิชาไม่ต่ำกว่า 2 นอกจากนี้จะต้องเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ผ่านการประเมินความสามารถด้านการอ่าน คิด วิเคราะห์และเขียน และผ่านการประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์
ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น[แก้]
ปัจจุบันใช้หลักสูตรโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น พุทธศักราช 2554 (ฉบับปรับปรุง พุทธศักราช 2558) โดยแบ่งรายวิชาออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้[13]
- รายวิชาพื้นฐาน ประกอบด้วยรายวิชา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ โดยมีเนื้อหาและเวลาเรียนแต่ละรายวิชาเช่นเดียวกับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551
- รายวิชาเพิ่มเติม แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
- รายวิชาเพิ่มเติม กลุ่มที่ 1 เป็นรายวิชาที่สร้างขึ้นเพื่อสนองและสอดคล้องกับการพัฒนานักเรียนของโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค โดยนักเรียนทุกคนต้องลงทะเบียนรายวิชากลุ่มนี้ทั้งหมด รายวิชาในกลุ่มนี้ ได้แก่ การเขียนเชิงวิชาการ คณิตศาสตร์เพิ่มเติม การสืบเสาะอย่างวิทยาศาสตร์ โครงงาน ภาษาอังกฤษฟังพูด ภาษาอังกฤษรอบรู้ การเขียนภาษาอังกฤษเชิงสร้างสรรค์ ภาษาต่างประเทศที่ 2 หน้าที่พลเมือง และอาเซียนศึกษา
- รายวิชาเพิ่มเติม กลุ่มที่ 2 เป็นรายวิชาเลือกเสรี นักเรียนสามารถเลือกได้ตามความถนัดและความสนใจ
ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย[แก้]
ปัจจุบันใช้หลักสูตรโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย พุทธศักราช 2560 โดยใช้กรอบโครงสร้างหลักสูตรของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ พุทธศักราช 2560 โดยแบ่งรายวิชาออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้[14]
- รายวิชาพื้นฐาน ประกอบด้วยรายวิชา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ เป็นรายวิชาให้ความรู้ทั่วไป ทักษะการเรียนรู้ และการใช้ดำรงชีวิตในสังคม
- รายวิชาเพิ่มเติม แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
- รายวิชาเพิ่มเติม กลุ่มที่ 1 เป็นรายวิชาที่สร้างขึ้นเพื่อสนองและสอดคล้องกับการพัฒนานักเรียนของโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค โดยนักเรียนทุกคนต้องลงทะเบียนรายวิชากลุ่มนี้ทั้งหมด รายวิชาในกลุ่มนี้ ได้แก่ ความรู้พื้นฐานสำหรับแคลคูลัส แคลคูลัส กลุ่มวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม สัมมนาทางวิทยาศาสตร์ โครงงานวิทยาศาสตร์ บูรณาการความรู้ ทักษะชีวิต หน้าที่พลเมือง การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ การออกแบบและพื้นฐานด้านวิศวกรรม ภาษาอังกฤษวิชาการ ภาษาต่างประเทศที่ 2
- รายวิชาเพิ่มเติม กลุ่มที่ 2 เป็นรายวิชาเลือกเสรี นักเรียนสามารถเลือกได้ตามความถนัดและความสนใจ ทั้งนี้บางรายวิชาเป็นเนื้อหาที่เรียนในระดับอุดมศึกษา เช่น ปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์
การคัดเลือกนักเรียน[แก้]
การคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยทั้ง 12 แห่ง ใช้รูปแบบการสมัครและการสอบคัดเลือกในรอบแรกเหมือนกัน ส่วนการสอบในรอบที่สองนั้นเต่ละโรงเรียนจะเป็นผู้พิจารณารูปแบบ วัน เวลา และสถานที่สอบเอง
ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1[แก้]
การรับนักเรียนเข้าศึกษาในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 จะรับนักเรียนที่กำลังศึกษาในชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่าในปีการศึกษาที่สมัคร โดยสมัครและสอบรอบแรกผ่านโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รับนักเรียนแห่งละ 96 คน[15] โดยแบ่งรับนักเรียนออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
- กลุ่มนักเรียนจากโรงเรียนทุกโรงเรียนในเขตพื้นที่บริการของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยแต่ละแห่ง จำนวนไม่น้อยกว่า 88 คน
- กลุ่มนักเรียนจากโรงเรียนขยายโอกาส (ได้แก่ โรงเรียนดีประจำตำบลตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนประถมศึกษาที่มีนักเรียนไม่เกิน 200 คน โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ โรงเรียนในสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน โรงเรียนพระปริยัติธรรม และโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม) ในเขตพื้นที่บริการของโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยแต่ละแห่ง จำนวนไม่เกิน 8 คน
ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4[แก้]
การรับนักเรียนเข้าศึกษาในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4 จะรับนักเรียนที่กำลังศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หรือเทียบเท่าในปีการศึกษาที่สมัคร โดยสมัครและสอบรอบแรกผ่านการคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาต่อในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ รับนักเรียนจากโรงเรียนทุกโรงเรียนในเขตพื้นที่บริการของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยแต่ละแห่งจำนวน 144 คน[16]
ความร่วมมือกับต่างประเทศ[แก้]
ญี่ปุ่น โดยความร่วมมือผ่านสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น และกระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี แห่งญี่ปุ่น[17]
- Super Science High School เริ่มความร่วมมือตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 ในลักษณะโรงเรียนคู่แฝด (Partner school) โดยมีกิจกรรมแลกเปลี่ยนครู นักเรียน และบุคลากรระหว่างโรงเรียน มีกิจกรรมการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ผ่านสไกป์โดยใช้ภาษาอังกฤษ สาธิตการเรียนการสอนและกิจกรรมทางวิชาการที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนร่วมกันนำเสนอกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของนักเรียน[18]
- การประชุมวิชาการ Thailand-Japan Student Science Fair 2015 ในวันที่ 22-24 ธันวาคม 2558 ณ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เพชรบุรี ประกอบด้วยงานนำเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์ การศึกษาดูงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี และกิจกรรม Science Walk Rally สำหรับนักเรียน กิจกรรมแลกเปลี่ยนประสบการสอนสำหรับครู ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการดังกล่าว[19]
- การประชุมวิชาการ Thailand-Japan Student ICT Fair 2016 ในวันที่ 21-23 ธันวาคม 2559 ณ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ชลบุรี ประกอบด้วยงานนำเสนอโครงงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (โปรแกรมประยุกต์ หุ่นยนต์ ฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง) การศึกษาดูงานโรงงานอุตสาหกรรม และกิจกรรม ICT Workshop สำหรับนักเรียน และกิจกรรมแลกเปลี่ยนประสบการสอนสำหรับครู[20]
- การประชุมวิชาการ Thailand-Japan Student Science Fair 2018 ในวันที่ 7-9 มิถุนายน 2561 ณ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย พิษณุโลก ประกอบด้วยงานนำเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์ การศึกษาดูงานด้านวิทยาศาสตร์ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก และกิจกรรม Science Walk Rally สำหรับนักเรียน กิจกรรมแลกเปลี่ยนประสบการสอนสำหรับครู ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการดังกล่าว[21]
- มหาวิทยาลัยชูโอ ส่งนักศึกษาอาสาสมัครชาวญี่ปุ่นสอนคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีให้แก่ครูและนักเรียนในโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2558-2560[17]
- เจแปนฟาวน์เดชัน ส่งอาสาสมัครชาวญี่ปุ่นสอนภาษาญี่ปุ่นในโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยและโรงเรียนอื่น ๆ ตามที่สมควร ในโครงการ NIHONGO Partners ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 เป็นต้นมา[22]
- สถาบันเทคโนโลยีแห่งญี่ปุ่น (KOSEN) คัดเลือกนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นเพื่อรับทุนการศึกษาไปศึกษาต่อด้านวิศวกรรมศาสตร์ที่ประเทศญี่ปุ่น[23]
- Super Science High School เริ่มความร่วมมือตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 ในลักษณะโรงเรียนคู่แฝด (Partner school) โดยมีกิจกรรมแลกเปลี่ยนครู นักเรียน และบุคลากรระหว่างโรงเรียน มีกิจกรรมการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ผ่านสไกป์โดยใช้ภาษาอังกฤษ สาธิตการเรียนการสอนและกิจกรรมทางวิชาการที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนร่วมกันนำเสนอกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของนักเรียน[18]
ประเพณีสำคัญ[แก้]
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
งานราชพิธี[แก้]
- ถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ
- รับมอบของพระราชทาน-ถวายพระพรสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เนื่องในวันคล้ายวันประสูติ 4 กรกฎาคมของทุกปี
ทั่วไป[แก้]
- วันสถาปนาโรงเรียน - กิจกรรมภายในโรงเรียน ทำบุญโรงเรียน จัดนิทรรศการวิชาการ และงานเลี้ยงฉลองในภาคค่ำ
- PCC SCIENCE MATH TEST - กิจกรรมวิชาการระหว่างโรงเรียนในเครือข่ายโดยหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ
- จุฬาภรณ์ฯสัมพันธ์ - กิจกรรมการแข่งขันกีฬาเพื่อกระชับความสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมประเพณีในท้องถิ่น
อ้างอิง[แก้]
- ↑ คณะที่ปรึกษาและคณะกรรมการบริหารโครงการพัฒนาโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. สืบค้นเมื่อ 24 กันยายน 2561
- ↑ ผู้อำนวยการสำนัก สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. สืบค้นเมื่อ 14 ตุลาคม 2560
- ↑ 3.0 3.1 3.2 ประวัติโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย นครศรีธรรมราช. โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย นครศรีธรรมราช. สืบค้นเมื่อ 24 กันยายน 2561
- ↑ ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี ๑๑๖/๒๕๕๔ รร.วิทยาศาสตร์ภูมิภาค. สำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ. สืบค้นเมื่อ 14 ตุลาคม 2560
- ↑ เฟ้นหัวกะทิ เข้า ร.ร.จุฬาภรณราชวิทยาลัย. ไทยรัฐ. สืบค้นเมื่อ 14 ตุลาคม 2560
- ↑ กลุ่ม ร.ร.วิทย์ เปิดรับสมัครสอบคัดเลือก ม.4/1-31 ส.ค.นี้. ผู้จัดการออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 14 ตุลาคม 2560.
- ↑ 7.0 7.1 ร่างโครงการพัฒนาโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค เพื่อกระจายโอกาสสำหรับนักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์. สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. สืบค้นเมื่อ 28 มิถุนายน 2560.
- ↑ สพฐ.ตั้งศูนย์บริหาร ร.ร.จุฬาภรณราชวิทยาลัย. ผู้จัดการออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 14 ตุลาคม 2560.
- ↑ คำสั่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ 512/2560 เรื่อง การเปลี่ยนแปลงชื่ออำนาจหน้าที่ของศูนย์บริการโครงการพัฒนาโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค (เป็นกลุ่มงานภายในสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา) ลงวันที่ 30 มีนาคม 2560
- ↑ ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง เปลี่ยนชื่อโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135 ตอน 72 ง หน้า 3 วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2561
- ↑ สัญลักษณ์ประจำโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย นครศรีธรรมราช
- ↑ 12.0 12.1 12.2 12.3 ประวัติความเป็นมาของโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร. โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร. สืบค้นเมื่อ 28 มิถุนายน 2560.
- ↑ หลักสูตรโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น พุทธศักราช 2554 (ฉบับปรับปรุง พุทธศักราช 2558)
- ↑ หลักสูตรโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย พุทธศักราช 2560
- ↑ ประกาศสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและคณะกรรมการโครงการพัฒนาโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค เรื่อง การรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๖๑ ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2560
- ↑ ประกาศสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและคณะกรรมการโครงการพัฒนาโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค เรื่อง การรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ ปีการศึกษา ๒๕๖๑ ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2560
- ↑ 17.0 17.1 สพฐ.ร่วมญี่ปุ่น พัฒนาโรงเรียนจุฬาภรณฯตั้งเป้าให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค. กระทรวงศึกษาธิการ. สืบค้นเมื่อ 14 ตุลาคม 2560.
- ↑ ศูนย์บริหารโครงการพัฒนาโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค. เอกสารแนะนำโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย (โรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค). 2558
- ↑ ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 463/2558 Thailand-Japan Student Science Fair 2015. กระทรวงศึกษาธิการ. สืบค้นเมื่อ 14 ตุลาคม 2560.
- ↑ TJ-SIF2016 Official Site. ศูนย์บริหารโครงการพัฒนาโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค. สืบค้นเมื่อ 14 ตุลาคม 2560.
- ↑ TJ-SSF 2018 Official Site. โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย พิษณุโลก. สืบค้นเมื่อ 24 กันยายน 2561.
- ↑ โครงการ "NIHONGO Partners". เจแปนฟาวน์เดชัน. สืบค้นเมื่อ 14 ตุลาคม 2560.
- ↑ กลุ่ม ร.ร.จุฬาภรณฯ ปักธง สร้างคุณภาพเทียบนานาชาติ. ประชาชาติ. สืบค้นเมื่อ 14 ตุลาคม 2560.
ดูเพิ่ม[แก้]
- สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
- กระทรวงศึกษาธิการ
- สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
- โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์
- โครงการสนับสนุนการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย
แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]
- โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ตรัง
- โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย นครศรีธรรมราช
- โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย สตูล
- โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เชียงราย
- โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย พิษณุโลก
- โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ลพบุรี
- โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี
- โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร
- โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย บุรีรัมย์
- โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เลย
- โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ชลบุรี
- โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เพชรบุรี
- ศูนย์พัฒนาโรงเรียนวิทยาศาสตร์
|