ข้ามไปเนื้อหา

ประเทศไอซ์แลนด์

พิกัด: 65°N 18°W / 65°N 18°W / 65; -18
นี่คือบทความคุณภาพ คลิกเพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติม
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ไอซ์แลนด์)

65°N 18°W / 65°N 18°W / 65; -18

ไอซ์แลนด์

Ísland (ไอซ์แลนด์)
เพลงชาติลอฟเซิงกือร์
Lofsöngur (ไอซ์แลนด์)
ที่ตั้งของไอซ์แลนด์
เมืองหลวง
และเมืองใหญ่สุด
เรคยาวิก
64°08′N 21°56′W / 64.133°N 21.933°W / 64.133; -21.933
ภาษาราชการภาษาไอซ์แลนด์
การปกครองรัฐเดี่ยว สาธารณรัฐระบบรัฐสภา
ฮัตลา โทว์มัสโตห์ตีร์
ปิยาร์ตนี แปแนติคต์ซ็อน
สภานิติบัญญัติรัฐสภา (อัลทิงกิ)
ได้รับเอกราช 
• ปกครองตนเอง
1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 24461
• อธิปไตย
1 ธันวาคม พ.ศ. 2461
• สาธารณรัฐ
17 มิถุนายน พ.ศ. 2487
พื้นที่
• รวม
102,775 ตารางกิโลเมตร (39,682 ตารางไมล์) (106)
2.7
ประชากร
• 2561 ประมาณ
357,0502 (172)
• สำมะโนประชากร 2523
229,187
3.1 ต่อตารางกิโลเมตร (8.0 ต่อตารางไมล์) (195)
จีดีพี (อำนาจซื้อ) 2560 (ประมาณ)
• รวม
$ 17.728 พันล้าน
$ 52,150
จีดีพี (ราคาตลาด) 2560 (ประมาณ)
• รวม
$ 24.848 พันล้าน
$ 73,092
จีนี (2018)positive decrease 23.2[1]
ต่ำ · 2nd
เอชดีไอ (2019)เพิ่มขึ้น 0.949[2]
สูงมาก · 4
สกุลเงินโครนาไอซ์แลนด์ (ISK)
เขตเวลาUTC+0 (GMT)
รหัสโทรศัพท์354
โดเมนบนสุด.is
1 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1904 ตรงกับ พ.ศ. 2446 ตามการนับพุทธศักราชแบบเดิมที่เริ่มต้นวันที่ 1 เมษายน
2"Statistics Iceland:Key figures". www.statice.is. 29 ก.พ. 2008.

ไอซ์แลนด์ (อังกฤษ: Iceland; ไอซ์แลนด์: Ísland [ˈistlant] อิสตลันต์) เป็นประเทศนอร์ดิกในยุโรปเหนือ ตั้งอยู่บนเกาะในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ระหว่างกรีนแลนด์ นอร์เวย์ และสหราชอาณาจักร มีเมืองหลวงคือเรคยาวิก

ไอซ์แลนด์มีประชากรประมาณสามแสนห้าหมื่นกว่าคน มีพื้นที่ประเทศรวม 102,775 ตารางกิโลเมตร[3] นับว่ามีประชากรเบาบาง จากดัชนีการพัฒนามนุษย์ ปี พ.ศ. 2549 ของสหประชาชาติ ไอซ์แลนด์เป็นประเทศที่มีการพัฒนาสูงที่สุดในโลก[4] ไอซ์แลนด์เป็นสมาชิกของนาโต เอฟตา อีอีเอ และโออีซีดี แต่ไม่มีกองกองทัพเป็นของตนเอง และไม่เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป โดยในปี พ.ศ. 2557 ได้ถูกจัดให้เป็นประเทศที่สงบสุขที่สุดในโลก[5]

คำว่า "ไอซ์แลนด์" ที่ใช้ในภาษาไทยนั้นทับศัพท์จากคำศัพท์ภาษาอังกฤษว่า "Iceland" ส่วนชื่อในภาษาไอซ์แลนด์คือ "Ísland" (อีสลันต์) คำว่า ís แปลว่าน้ำแข็ง และ land แปลว่าแผ่นดินหรือประเทศ

บริเวณเกาะทั้งหมดอยู่ภายใต้การบริหารของ รัฐสภาไอซ์แลนด์ (Althing) ซึ่งเป็นหนึ่งในสภานิติบัญญัติที่เก่าแก่ที่สุดในโลกที่ยังดำเนินการอยู่[6][7] ไอซ์แลนด์เป็นส่วนหนึ่งของการปกครองของนอร์เวย์ในศตวรรษที่ 13 ซึ่งการก่อตั้งสหภาพคาลมาร์ในปี พ.ศ. 1940 ได้รวมราชอาณาจักรนอร์เวย์ เดนมาร์ก และสวีเดนเข้าด้วยกัน ไอซ์แลนด์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนอร์เวย์ในขณะนั้นจึงได้เข้าร่วมสหภาพ และอยู่ภายใต้การปกครองของราชอาณาจักรเดนมาร์กหลังจากสวีเดนแยกตัวออกจากสหภาพในปี พ.ศ. 2066[8][9][10]

ภายหลังการปฏิวัติฝรั่งเศสและสงครามนโปเลียน การต่อสู้เพื่อเอกราชของไอซ์แลนด์ได้เกิดขึ้นและสิ้นสุดลงด้วยอิสรภาพในปี 2461 ตามมาด้วยการก่อตั้งสาธารณรัฐในปี พ.ศ. 2487 แม้ว่ารัฐสภาจะถูกระงับการดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2342 ถึง พ.ศ. 2388 ประชากรไอซ์แลนด์อาศัยการทำประมงและเกษตรกรรมเพื่อเลี้ยงชีพเป็นส่วนใหญ่จนถึงศตวรรษที่ 20 อุตสาหกรรมประมงและแผนมาร์แชลล์หลังสงครามโลกครั้งที่สองนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรือง และไอซ์แลนด์กลายเป็นหนึ่งในประเทศที่ร่ำรวยที่สุดและพัฒนามากที่สุดในโลก และเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเขตเศรษฐกิจยุโรปในปี 2537 ทำให้เศรษฐกิจของประเทศพัฒนามากขึ้นในภาคส่วนต่าง ๆ เช่น การเงิน เทคโนโลยีชีวภาพ และการผลิต

ไอซ์แลนด์มีการเก็บภาษีที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศ OECD อื่น ๆ[11] และเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพแรงงาน[12] รัฐบาลรักษาระบบสวัสดิการสังคมตามตัวแบบนอร์ดิกที่ให้การดูแลสุขภาพและการศึกษาแก่ประชากรอย่างถ้วนหน้า[13] ไอซ์แลนด์เป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ประชาธิปไตย และสังคมสูง รวมถึงความเท่าเทียมกันในสังคม โดยอยู่ในอันดับสามของโลกโดยพิจารณาจากความมั่งคั่งเฉลี่ยต่อคน ในปี พ.ศ. 2563 ไอซ์แลนด์ได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วมากที่สุดเป็นอันดับสี่ของโลกโดยดัชนีการพัฒนามนุษย์ของสหประชาชาติ[14] และอยู่ในอันดับต้น ๆ ในดัชนีสันติภาพโลก และเป็นประเทศที่มีการใช้พลังงานหมุนเวียนเกือบทั้งประเทศ

วัฒนธรรมไอซ์แลนด์ได้รับอิทธิพลจากกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย ชาวไอซ์แลนด์ส่วนใหญ่เป็นลูกหลานของผู้ตั้งถิ่นฐานชาวนอร์สสืบเชื้อสายมาจากชาวนอร์สโบราณทางตะวันตก และมีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับภาษาแฟโร มรดกทางวัฒนธรรมของประเทศรวมถึงอาหารแบบดั้งเดิม วรรณกรรม และเรื่องราวเกี่ยวกับเทพนิยายในยุคกลาง ไอซ์แลนด์เป็นประเทศที่มีประชากรน้อยที่สุดในบรรดาสมาชิกของเนโท และเป็นประเทศเดียวที่ไม่มีกองทัพประจำการ โดยมีเพียงหน่วยยามฝั่งติดอาวุธ[15]

นิรุกติศาสตร์

[แก้]

ตามอ้างอิงจากหนังสือประวัติศาสตร์ไอซ์แลนด์ (Sagas of Icelanders) ระบุว่า Naddodd นักสำรวจชาวนอร์ส เป็นบุคคลแรกที่ค้นพบดินแดนของไอซ์แลนด์[16] และในศตวรรษที่ 9 เขาได้ตั้งชื่อดินแดนแห่งนี้ว่า "Snæland" (Snow land) เนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวจัดและมีหิมะตกหนัก[17] ต่อมา การ์ดาร์ สวาเวอร์สสัน (Garðar Svavarsson) นักสำรวจชาวสวีเดน เป็นบุคคลที่สองที่เดินทางมาถึงไอซ์แลนด์และเรียกมันว่า "Garðarshólmur" แต่ทั้งสองชื่อก็ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก

กระทั่งการมาถึงของนักเดินเรือชาวนอร์สนามว่า Hrafna-Flóki Vilgerðarson ซึ่งเดินทางมาถึงภูมิภาคนี้ แต่ลูกสาวของเขาได้เสียชีวิตลงระหว่างทาง และสัตว์หลายตัวที่เขานำมาด้วยก็ล้มตายลงจากการอดอาหารและสภาพอากาศอันเลวร้าย และในขณะที่ Flóki ผู้สิ้นหวังกำลังหาทางเอาชีวิตรอด เขาได้ปีนขึ้นไปบนภูเขาและเห็น ฟยอร์ด (Arnarfjörður) ที่เต็มไปด้วยภูเขาน้ำแข็ง เขาจึงตั้งชื่อดินแดนแห่งนี้ว่า "Island" (Iceland ในภาษาอังกฤษ) ซึ่งมีความหมายตรงตัวว่า "ดินแดนแห่งน้ำแข็ง" และเป็นชื่อที่ใช้เรียกประเทศไอซ์แลนด์อย่างแพร่หลายมาถึงปัจจุบัน[18]

ประวัติศาสตร์

[แก้]

ชนกลุ่มแรกที่เข้ามาอาศัยอยู่ในไอซ์แลนด์เชื่อกันว่าเป็นนักบวชชาวไอริช ซึ่งเข้ามาตั้งถิ่นฐานในไอซ์แลนด์ในพุทธศตวรรษที่ 14 และย้ายออกไปก่อนชาวไวกิงเข้ามา พวกไวกิงเริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานในไอซ์แลนด์ในปี พ.ศ. 1417 การตั้งถิ่นฐานในไอซ์แลนด์ถูกบันทึกในหนังสือการตั้งถิ่นฐาน (Landnámabók) จากหนังสือนี้ โดยระบุว่า Ingólfur Arnarson เป็นผู้ตั้งถิ่นฐานคนแรก และตามมาด้วยชาวไวกิงอีกจำนวนหนึ่งในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 1417 ถึง 1473[19] ชื่อส่วนหนึ่งในหนังสือเล่มนี้เป็นชื่อชาวเคลต์ และได้กล่าวถึงการนำทาสชาวเคลต์เข้ามาด้วย ภายในปี พ.ศ. 1473 ไอซ์แลนด์ได้เขียนรัฐธรรมนูญ และก่อตั้งอัลทิงกิ (Alþingi) ซึ่งเป็นรัฐสภาขึ้น ใช้อำนาจนิติบัญญัติและตุลาการ เป็นศูนย์กลางของรัฐอิสระไอซ์แลนด์ ไอซ์แลนด์รับคริสต์ศาสนาในปี พ.ศ. 1543[20]

ไอซ์แลนด์เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นในช่วง พ.ศ. 1763 ถึง 1805 ส่งผลทำให้ไอซ์แลนด์ถูกผนวกไปอยู่ใต้การปกครองของกษัตริย์นอร์เวย์ในปี พ.ศ. 1805 และต่อมา กษัตริย์เดนมาร์ก หลังจากที่นอร์เวย์ สวีเดน และเดนมาร์กรวมกันภายใต้สหภาพคาลมาร์ กษัตริย์เดนมาร์กประกาศคริสต์ศาสนานิกายลูเทอรันเป็นศาสนาของอาณาจักรประมาณปี พ.ศ. 2093 ส่งผลมาถึงการยึดทรัพย์ของโบสถ์โรมันคาทอลิกในไอซ์แลนด์ และบิชอปคาทอลิกคนสุดท้ายถูกประหารโดยการตัดหัว[20]

เดนมาร์กควบคุมการค้าในไอซ์แลนด์ในปี พ.ศ. 2145 ระหว่าง พ.ศ. 2250 ถึง พ.ศ. 2252 เกิดโรคฝีดาษระบาด ทำให้ประชากรลดลงจาก 50 000 เหลือเพียงราว 35 000 คน ในปี พ.ศ. 2326 ถึง พ.ศ. 2328 เกิดเหตุการณ์ที่สร้างความเสียหายอย่างมากอีก จากเหตุภูเขาไฟระเบิดและภาวะขาดแคลนอาหาร

ไอซ์แลนด์อยู่ภายใต้การปกครองของเดนมาร์กหลังการแยกตัวของสหภาพเดนมาร์ก-นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ได้รัฐธรรมนูญใหม่ในปี พ.ศ. 2417 ปีที่เฉลิมฉลองหนึ่งสหัสวรรษการตั้งถิ่นฐานในไอซ์แลนด์ รัฐธรรมนูญใหม่นี้ให้ไอซ์แลนด์มีอำนาจในกิจการภายใน มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้งในปี พ.ศ. 2447 ซึ่งให้อำนาจปกครองตัวเองกับไอซ์แลนด์ ไอซ์แลนด์ได้เป็นรัฐเอกราชในปี พ.ศ. 2461 โดยมีพระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์กเป็นประมุข โดยไอซ์แลนด์ยังให้เดนมาร์กจัดการกิจการต่างประเทศและการป้องกันประเทศให้ หลังจากเยอรมนียึดครองเดนมาร์กในปี พ.ศ. 2483 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง อัลทิงกิจึงตัดสินใจบริหารการต่างประเทศเองและประกาศนโยบายเป็นกลาง แต่ก็ถูกฝ่ายสัมพันธมิตรยึดครองในเวลาต่อมา โดยเริ่มต้นเป็นกองทัพสหราชอาณาจักร และต่อมาเป็นกองทัพสหรัฐอเมริกา ฝ่ายสัมพันธมิตรคงกองกำลังในไอซ์แลนด์จนกระทั่งจบสงคราม ไอซ์แลนด์ประกาศเป็น สาธารณรัฐในปี พ.ศ. 2487 มี สเวน ปีเยิร์นสซอน (Sveinn Björnsson) เป็นประธาธิบดีคนแรก ไอซ์แลนด์เป็นสมาชิกรุ่นก่อตั้งขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจยุโรป (ปัจจุบันคือองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา) และนาโต ไอซ์แลนด์ทำข้อตกลงทางกองทัพกับสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2494 โดยให้สหรัฐตั้งฐานทัพในไอซ์แลนด์ ซึ่งคงอยู่จนถึงปี พ.ศ. 2549 ไอซ์แลนด์เกิดความขัดแย้งหลายครั้งกับสหราชอาณาจักรในเรื่องการขยายน่านน้ำประมงของไอซ์แลนด์ในช่วงปี พ.ศ. 2501, 2515 และ 2521 รู้จักกันในชื่อสงครามปลาคอด (Þorskastríðin; Cod War) ไอซ์แลนด์เข้าร่วมสมาคมการค้าเสรียุโรปและเป็นสมาชิกก่อตั้งของเขตเศรษฐกิจยุโรป

การเมืองการปกครอง

[แก้]

ไอซ์แลนด์เป็นสาธารณรัฐ ใช้ระบอบประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน โดยเป็นระบอบรัฐสภา ไอซ์แลนด์มีรัฐธรรมนูญแบบเป็นลายลักษณ์อักษร รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไอซ์แลนด์ประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2417 ในสมัยที่ยังอยู่ภายใต้การปกครองของเดนมาร์ก รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2487 และมีการแก้ไขเพิ่มเติมไปแล้วหกครั้ง

ประธานาธิบดีแห่งไอซ์แลนด์ทำหน้าที่เป็นประมุขแห่งรัฐ มาจากการเลือกตั้งโดยตรง มีวาระสี่ปี ตามรัฐธรรมนูญ ประธานาธิบดีไม่ใช้อำนาจบริหารเอง แต่เป็นผู้แต่งตั้งรัฐมนตรีขึ้นมาทำหน้าที่หลังการเลือกตั้ง ประธานาธิบดีมีอำนาจในส่วนนิติบัญญัติร่วมกับรัฐสภา โดยหากประธานาธิบดีไม่รับรองกฎหมายที่ผ่านสภามา จะต้องจัดการประชามติและหากผลประชามติไม่เห็นชอบ กฎหมายนั้นก็จะเป็นโมฆะ[21] ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของไอซ์แลนด์คือโอลาฟือร์ รักนาร์ กริมส์ซอน ซึ่งชนะการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2539 2543 และ 2547

รัฐสภาของไอซ์แลนด์เรียกในภาษาท้องถิ่นว่าอัลทิงกิ (Alþingi) โดยอัลทิงกิสมัยใหม่ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2388 ทำหน้าที่ถวายคำแนะนำต่อกษัตริย์เดนมาร์ก โดยดั้งเดิมทั้งอัลทิงกิเป็นสภานิติบัญญัติและตุลาการซึ่งตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 1473 เป็นรากฐานของรัฐอิสระไอซ์แลนด์ ต่อมาอัลทิงกิเปลี่ยนแปลงหน้าที่ตามยุคสมัยมาจนการยุบในปี พ.ศ. 2343 อัลทิงกิกลับมาทำหน้าที่นิติบัญญัติอีกครั้งในปี พ.ศ. 2417 ปัจจุบัน อัลทิงกิเป็นสภาระบบสภาเดี่ยว ประกอบด้วยสมาชิก 63 คน มาจากการเลือกตั้งทุกสี่ปี ประชากรที่มีอายุตั้งแต่สิบแปดปีมีสิทธิเลือกตั้ง โดยทั่วไป หัวหน้าพรรคการเมืองที่มีเสียงมากที่สุดในสภาหลังการเลือกตั้งเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล หัวหน้ารัฐบาลคือนายกรัฐมนตรี ซึ่งคนปัจจุบันคือ Jóhanna Sigurðardóttir

ไอซ์แลนด์ใช้ระบบพหุพรรค ปัจจุบันมีพรรคการเมืองห้าพรรคที่มีที่นั่งในอัลทิงกิ ได้แก่ พรรคอิสรภาพ พันธมิตรสังคมนิยมประชาธิปไตย ขบวนการฝ่ายซ้าย-กรีน พรรคก้าวหน้า และพรรคเสรีนิยม

นโยบายต่างประเทศ

[แก้]

ไอซ์แลนด์ซึ่งเป็นสมาชิกของสหประชาชาติ, เนโท, สมาคมการค้าเสรียุโรป, สภายุโรป และ OECD โดยรักษาความสัมพันธ์ทางการทูตและการค้ากับทุกประเทศ แต่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประเทศนอร์ดิกมากที่สุด เนื่องจากความคล้ายคลึงกันของวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และภาษา และมีส่วนร่วมในความร่วมมือระหว่างรัฐบาลผ่านสภานอร์ดิก นอกจากนี้ยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเยอรมนี สหรัฐอเมริกา แคนาดา และกลุ่มเนโทชาติต่าง ๆ ในด้านสังคมและเศรษฐกิจ ไอซ์แลนด์เป็นสมาชิกของเขตเศรษฐกิจยุโรป (EEA) ซึ่งอนุญาตให้ประเทศเข้าถึงตลาดเดียวของสหภาพยุโรป (EU) แต่ไม่ได้เป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป แต่ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2552 รัฐสภาไอซ์แลนด์ได้ลงคะแนนสนับสนุนการสมัครเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป[22] และสมัครอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2552[23] อย่างไรก็ตาม ในปี 2556 โพลความคิดเห็นพบว่าชาวไอซ์แลนด์จำนวนมากไม่ต้องการให้ประเทศเข้าร่วมสหภาพยุโรป

กองทัพ

[แก้]

ไอซ์แลนด์ไม่มีกองทัพประจำการ แต่มีหน่วยยามฝั่งซึ่งยังคงรักษาระบบป้องกันภัยทางอากาศของไอซ์แลนด์ และหน่วยรับมือเหตุการณ์วิกฤตเพื่อสนับสนุนภารกิจรักษาสันติภาพและปฏิบัติหน้าที่กึ่งทหาร กองกำลังป้องกันประเทศไอซ์แลนด์ (IDF) เป็นหน่วยบัญชาการทหารของกองกำลังติดอาวุธของสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2494 ถึง พ.ศ. 2549 ซึ่งสร้างขึ้นตามคำร้องขอของเนโท สืบเนื่องจากสหรัฐอเมริกาลงนามในข้อตกลงเพื่อให้การป้องกันประเทศไอซ์แลนด์ IDF ยังประกอบด้วยพลเรือนชาวไอซ์แลนด์และสมาชิกทางทหารของประเทศเนโท อื่น ๆ IDF ถูกลดบทบาทลงหลังจากสิ้นสุดสงครามเย็น ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2551 ประเทศในกลุ่มเนโทได้ส่งเครื่องบินรบเพื่อลาดตระเวนน่านฟ้าไอซ์แลนด์เป็นระยะ ๆ ภายใต้ภารกิจการรักษาความปลอดภัยทางอากาศของไอซ์แลนด์ ไอซ์แลนด์สนับสนุนการรุกรานอิรักในปี พ.ศ. 2546 แม้จะได้รับการคัดค้านภายในประเทศ โดยส่งทีมยามฝั่งไปยังอิรัก ซึ่งต่อมาถูกแทนที่โดยสมาชิกของหน่วยรับมือวิกฤตไอซ์แลนด์ ไอซ์แลนด์ยังได้มีส่วนร่วมในความขัดแย้งในอัฟกานิสถานและการทิ้งระเบิดของยูโกสลาเวียในปี 2542 ของเนโท เรือตรวจการณ์ใหม่ลำแรกในรอบหลายทศวรรษได้เปิดตัวเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2552[24]

การแบ่งเขตการปกครอง

[แก้]
ภูมิภาคของไอซ์แลนด์

ประเทศไอซ์แลนด์แบ่งออกเป็น 8 เขตหรือภูมิภาค เรียกในภาษาไอซ์แลนด์ว่า landsvæðun (พหู. landsvæði) ได้แก่

  1. Höfuðborgarsvæðið (เฮอฟึทปอร์การ์สไวทิท ‒ เขตเมืองหลวง)
  2. Suðurnes (ซือทือร์เนส ‒ คาบสมุทรใต้)
  3. Vesturland (เวสตือร์ลันต์ ‒ เขตตะวันตก)
  4. Vestfirðir (เวสต์ฟีร์ทีร์ ‒ ฟยอร์ดตะวันตก)
  5. Norðurland vestra (นอร์ทือร์ลันต์ เวสตรา ‒ เขตเหนือ ตะวันตก)
  6. Norðurland eystra (นอร์ทือร์ลันต์ เออิสตรา ‒ เขตเหนือ ตะวันออก)
  7. Austurland (เอิสตือร์ลันต์ ‒ เขตตะวันออก)
  8. Suðurland (ซูทือร์ลันต์ ‒ เขตใต้)

ในระดับท้องถิ่น ไอซ์แลนด์แบ่งออกเป็นเขตเทศบาล 79 เขต เรียกในภาษาไอซ์แลนด์ว่า sveitarfélagið (พหู. sveitarfélög) นอกจากนี้ ไอซ์แลนด์ยังมีการแบ่งแบบดั้งเดิมเป็นมณฑล (sýslur) 23 แห่ง เมืองอิสระ (kaupstaðir) 8 แห่ง เมือง (bæir) 7 แห่ง และการแบ่งแยกแบบอื่นๆ อีก 5 แห่ง การแบ่งการปกครองในระดับนี้แทบไม่มีความสำคัญแล้วในปัจจุบัน[25]

ภูมิศาสตร์

[แก้]
ไอซ์แลนด์ตั้งอยู่บนสันเขาซึ่งแยกสองแผ่นทวีป
น้ำพุร้อน Strokkur ขณะกำลังปะทุ

ภูมิประเทศ

[แก้]

เกาะไอซ์แลนด์ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติกตอนเหนือ ถัดลงมาทางใต้เล็กน้อยจากอาร์กติกเซอร์เคิล ไอซ์แลนด์ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของยุโรปเหนือ ไม่ใช่อเมริกาเหนือ โดยเป็นเกาะที่มีพื้นที่มากที่สุดเป็นอันดับสองของยุโรปรองจากบริเตนใหญ่[26]

ไอซ์แลนด์มีพื้นที่ทั้งหมด 102,775 ตารางกิโลเมตร มีชายฝั่งยาว 4970 กิโลเมตร ระยะทางใกล้ที่สุดไปยังประเทศอื่นๆ คือ 287 กิโลเมตรถึงกรีนแลนด์ (เดนมาร์ก) 798 กิโลเมตรถึงสกอตแลนด์ (สหราชอาณาจักร) และ 970 กิโลเมตรถึงนอร์เวย์แผ่นดินใหญ่[27] 62% ของพื้นที่ประเทศเป็นที่รกร้าง มีเพียง 23% ที่พืชเจริญเติบโตได้ อีก 11% เป็นธารน้ำแข็ง[27] พื้นที่ส่วนใหญ่ของไอซ์แลนด์เป็นที่สูง มากกว่าหนึ่งในสามของประเทศสูงจากระดับน้ำทะเลมากกว่า 600 เมตร[27] จุดที่สูงที่สุดคือยอดเขาฮวันนาตัลสนูกือร์ (Hvannadalshnúkur)

ธรณีวิทยา

[แก้]

ในทางธรณีวิทยา ไอซ์แลนด์เป็นผืนดินที่ยังใหม่ โดยไอซ์แลนด์ตั้งอยู่บนจุดร้อนไอซ์แลนด์และเทือกเขากลางมหาสมุทรแอตแลนติก[28] ซึ่งเป็นแนวแผ่นเปลือกแยกตัวระหว่างแผ่นทวีปอเมริกาเหนือและแผ่นทวีปยูเรเชีย ไอซ์แลนด์มีภูเขาไฟมากกว่าร้อยแห่ง[29] หลายแห่งยังคงคุกรุ่นอยู่ เช่น ภูเขาไฟเฮกลา (Hekla) ซึ่งปะทุครั้งล่าสุดในปี พ.ศ. 2543[30] ปัจจัยเดียวกับที่ทำให้เกิดภูเขาไฟนี้ ยังทำให้ไอซ์แลนด์มีแหล่งพลังงานความร้อนใต้พิภพสูง ไอซ์แลนด์มีแหล่งน้ำพุร้อนจำนวนมาก และยังได้ไฟฟ้าพลังน้ำด้วย[31] ไอซ์แลนด์ครอบครองเกาะซึร์ทเซย์ ซึ่งขึ้นมาจากเหนือน้ำทะเลหลังการระเบิดของภูเขาไฟใต้ทะเลในปี พ.ศ. 2506

ภูมิอากาศ

[แก้]

ไอซ์แลนด์มีภูมิอากาศแบบภาคพื้นสมุทรกึ่งอาร์กติก ค่อนข้างอบอุ่นจากอิทธิพลของกัลฟ์สตรีม โดยฤดูกาลในประเทศไอซ์แลนด์มีทั้งหมด 4 ฤดูกาล[32] อุณหภูมิเฉลี่ยที่เรคยาวิกในเดือนมกราคมอยู่ที่ประมาณ 0 องศาเซลเซียส ขณะที่เดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 11 องศาเซลเซียส[33] วันที่อากาศอบอุ่นที่สุดในฤดูร้อนของไอซ์แลนด์มีอุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส ที่สูงตอนกลางของประเทศมีอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำกว่าที่ต่ำตามชายฝั่งพอสมควร โดยในฤดูหนาว ที่สูงของประเทศมีอุณหภูมิประมาณลบ 25 ถึง 30 องศาเซลเซียส[34]. อากาศในประเทศไอซืแลนด์นั้นมักจะอ่อนไหวง่าย และ เปลี่ยนแปลงบ่อยเกิดจากกระแสลมจากอ่านที่พัดไปทางตะวันตก และ ทางใต้ของประเทศ ที่ได้พัดนำความอุ่นมาจากทะเลแคริเบียน ซึ่งทำให้เกิดพายุขึ้นได้ง่าย โดยส่วนมากจะเกิดพายุฝนที่ทางใต้ของประเทศ.[35]

เศรษฐกิจและคมนาคม

[แก้]
แผนที่แสดงเส้นทางของถนนวงแหวน

พื้นฐานเศรษฐกิจของไอซ์แลนด์เป็นรูปแบบทุนนิยม แต่ก็สนับสนุนรัฐสวัสดิการอย่างกว้างขวาง ลักษณะเดียวกับประเทศนอร์ดิกอื่น ๆ ไอซ์แลนด์มีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อประชากร (GDP per capita) ในระดับสูง ไอเอ็มเอฟประเมินจีดีพีต่อประชากรที่ราคาปัจจุบัน (nominal) ของปี พ.ศ. 2550 ที่ 62,976 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (อันดับที่ 4 ของโลก)[36] และจีดีพีต่อประชากรเทียบด้วยกำลังซื้อ (PPP) ที่ 41,680 ล้านดอลลาร์สากล (อันดับที่ 5 ของโลก)[37] นอกจากนี้ไอซ์แลนด์ยังมีความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจสูง โดยมีดัชนีจีนีเท่ากับ 25 จากข้อมูลของซีไอเอ[38]

อุตสาหกรรมหลักของไอซ์แลนด์คืออุตสาหกรรมประมง โดยสินค้าทะเลมีมูลค่าการส่งออกปีละประมาณ 1.2 แสนล้านโครนาไอซ์แลนด์ จากมูลค่าการส่งออกทั้งหมดสามแสนล้านในปี 2550[39] สินค้าส่งออกสำคัญอื่น ๆ ได้แก่อะลูมิเนียม เฟร์โรซิลิคอน ดินเบา และผลิตภัณฑ์จากสัตว์[3] มีประเทศคู่ค้าส่งออกที่สำคัญคือเนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร เยอรมนี สหรัฐอเมริกา และสเปน ไอซ์แลนด์มีสินค้านำเข้าสำคัญคือเครื่องจักร ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม อาหาร และสิ่งทอ โดยประเทศคู่ค้านำเข้าสำคัญคือสหรัฐอเมริกา เยอรมนี สวีเดน เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ 70% ของแรงงานในไอซ์แลนด์ทำงานในภาคการบริการ[40]

สกุลเงินที่ใช้คือโครนาไอซ์แลนด์ (króna – ISK) ออกโดยธนาคารกลางไอซ์แลนด์ ซึ่งทำหน้าที่ดูแลนโยบายการเงินด้วย ค่าเงินโครนามีความผันผวนกับสกุลเงินยูโรสูง จึงทำเกิดความคิดที่จะเปลี่ยนมาใช้เงินยูโรโดยไม่เข้าร่วมกับกลุ่มสหภาพยุโรป จากการสำรวจในปี 2550 พบว่า 53% ของชาวไอซ์แลนด์สนับสนุนการร่วมใช้สกุลเงินยูโร 37% ต่อต้าน และ 10% ไม่ตัดสินใจ[41] ไอซ์แลนด์มีอัตราการใช้จ่ายด้วยเงินสดในประเทศต่ำมาก (น้อยกว่า 1% ของ GDP)[42] และนับได้ว่าเป็นประเทศที่ใช้ปัจจัยอื่นทดแทนเงินสดได้มากที่สุด[43] ประชากรส่วนใหญ่ชำระเงินด้วยบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตแม้จะเป็นเพียงจำนวนเล็กน้อย[44] พลังงานทดแทน ได้แก่พลังงานน้ำและพลังงานความร้อนใต้พิภพ เป็นส่วนประกอบถึงมากกว่า 70% ของการบริโภคพลังงานของไอซ์แลนด์[45]

ในปี 2551 ไอซ์แลนด์มีถนนยาวทั้งหมด 13,058 กิโลเมตร[3] ไม่มีทางรถไฟหรือแม่น้ำที่เดินเรือได้ ถนนวงแหวน หรือทางหลวงหมายเลข 1 (Hringvegur หรือ Þjóðvegur 1) เป็นถนนสายหลักของประเทศ วนรอบเกาะไอซ์แลนด์ เชื่อมต่อพื้นที่ที่อยู่อาศัยของประเทศ มีความยาว 1339 กิโลเมตร จากสถิติปี 2550 ไอซ์แลนด์มีรถยนต์ 227,321 คัน โดยเป็นรถยนต์นั่ง 197,305 คัน คิดเป็นประชากร 1.6 คนต่อรถหนึ่งคัน[46]ไอซ์แลนด์มีสนามบิน 99 แห่ง โดยห้าแห่งเป็นสนามบินที่มีทางวิ่งลาดยาง[3] สนามบินที่ใหญ่ที่สุดคือท่าอากาศยานนานาชาติเคฟลาวิก ใกล้กับเมืองเคฟลาวิก ห่างจากเรคยาวิก 50 กิโลเมตร[47] ในขณะที่ท่าอากาศยานเรคยาวิกเป็นท่าอากาศยานในประเทศ สายการบินแห่งชาติของไอซ์แลนด์คือไอซ์แลนด์แอร์ (Icelandair)

ประชากร

[แก้]

ไอซ์แลนด์มีประชากร 357,050 คน (ประมาณการ 31 ธันวาคม 2561) [48] เมืองที่ใหญ่ที่สุดคือเรคยาวิก มีประชากรประมาณ 1.2 แสนคน ประมาณร้อยละ 6 ของประชากรในไอซ์แลนด์เป็นพลเมืองต่างประเทศ โดยมีพลเมืองนอร์ดิกอื่นๆ 1.7 พันคน ชาวยุโรปอื่นๆ 1.2 หมื่นคน ครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้เป็นชาวโปแลนด์ ชาวเอเชีย 2.9 พันคน ส่วนใหญ่มาจากฟิลิปปินส์ (778) จีน (755) และไทย (546) [49]

ศาสนาและภาษา

[แก้]
ฮัลล์กรีมสคิร์คยา โบสถ์นิกายลูเทอแรน ในกรุงเรคยาวิก

ไอซ์แลนด์มีศาสนจักรประจำชาติ เป็นคริสตจักรเอวานเจลิคัลลูเทอรัน ซึ่งรัฐบาลให้การสนับสนุน โดยรัฐบาลเคารพเสรีภาพทางศาสนาซึ่งบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ[50] ร้อยละ 82 ของประชากรเป็นสมาชิกของคริสตจักรไอซ์แลนด์ มีคริสตจักรลูเทอรันเสรีอื่นๆ มีสมาชิกรวมกัน 4.7 เปอร์เซนต์ของประชากร มีองค์กรทางศาสนาอื่นๆ ที่ได้ลงทะเบียนรับรอง มีสมาชิกรวมกัน 5.1 เปอร์เซนต์ของประชากร กลุ่มศาสนาที่ไม่ใช่ศาสนาคริสต์ที่ใหญ่ที่สุดคือ เอาซาตรูอาร์เฟลายิท (Ásatrúarfélagið) ซึ่งเป็นกลุ่มนีโอเพแกน

ภาษาหลักของไอซ์แลนด์คือภาษาไอซ์แลนด์ เป็นภาษาในกลุ่มเจอร์แมนิกเหนือ โดยยังคงลักษณะใกล้เคียงกับภาษานอร์สโบราณมากกว่าภาษาสแกนดิเนเวียอื่นๆ[51] ภาษาอังกฤษและภาษาเดนมาร์กเป็นวิชาบังคับในหลักสูตรการศึกษา[52]

ระบบชื่อ

[แก้]

สังคมไอซ์แลนด์ไม่ได้ใช้ระบบสืบทอดนามสกุลเหมือนวัฒนธรรมตะวันตกทั่วไป แต่ใช้ชื่อตามเป็นชื่อของบิดา หรือบางครั้งเป็นมารดาของบุคคลนั้นๆ โดยใช้รูปสัมพันธการกของชื่อบิดาหรือมารดาตามด้วย son (ลูกชาย) หรือ dóttir (ลูกสาว) ชาวไอซ์แลนด์บางส่วนที่มีนามสกุลและชาวต่างชาติสามารถสืบทอดนามสกุลของตนได้ แต่การจดใช้นามสกุลใหม่ไม่สามารถกระทำได้ตั้งแต่ พ.ศ. 2468 เป็นต้นมา ธรรมเนียมปฏิบัติของไอซ์แลนด์จะใช้ชื่อตัวเป็นชื่อหลักเสมอ และใช้ชื่อตามในการขยายเท่านั้น การเรียงลำดับชื่อเช่นในสมุดโทรศัพท์หรือทะเบียนประชากร จะเรียงตามชื่อตัว[53]

นอกจากนี้ ไอซ์แลนด์ยังมีระบบการตั้งชื่อที่เข้มงวด โดยชื่อตัวที่ไม่เคยใช้ในภาษาไอซ์แลนด์มาก่อนจะต้องผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการการตั้งชื่อ โดยชื่อที่ตั้งจะต้องสามารถเข้าได้กับการผันคำในไวยากรณ์ที่ซับซ้อนของภาษาไอซ์แลนด์[54]

สุขภาพ

[แก้]

ไอซ์แลนด์มีระบบการดูแลสุขภาพถ้วนหน้าซึ่งบริหารงานโดยกระทรวงสวัสดิการ (ไอซ์แลนด์: Velferðarráðuneytið)[55] และค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่มาจากภาษี (85%) และค่าธรรมเนียมการบริการ (15%) และแทบจะไม่มีโรงพยาบาลเอกชนต่างจากประเทศและประกันของเอกชน งบประมาณของรัฐบาลถูกกำหนดให้กับการดูแลสุขภาพ และไอซ์แลนด์อยู่ในอันดับที่ 11 ในด้านค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพโดยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของ GDP และอันดับที่ 14 ในการใช้จ่ายต่อหัว[56] โดยรวมแล้ว ระบบการดูแลสุขภาพของประเทศเป็นหนึ่งในระบบที่ดีที่สุดในโลก โดยอยู่ในอันดับที่ 15 โดยองค์การอนามัยโลก ตามรายงานของ OECD ไอซ์แลนด์ทุ่มเททรัพยากรด้านการดูแลสุขภาพมากกว่าประเทศอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ ณ ปี 2552 ไอซ์แลนด์มีแพทย์ 3.7 คนต่อ 1,000 คน (เทียบกับค่าเฉลี่ย 3.1 ในประเทศ OECD) และพยาบาล 15.3 คนต่อ 1,000 คน (เทียบกับค่าเฉลี่ย OECD ที่ 8.4)[57]

ชาวไอซ์แลนด์เป็นหนึ่งในชาติที่มีสุขภาพดีที่สุดในโลก โดย 81% ได้รับการรายงานว่าพวกเขามีสุขภาพที่ดี ตามการสำรวจของ OECD แม้ว่าจะเป็นปัญหาที่เพิ่มขึ้น แต่โรคอ้วนไม่แพร่หลายเหมือนในประเทศที่พัฒนาแล้วอื่น ๆ ไอซ์แลนด์มีแคมเปญมากมายเพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี รวมถึงรายการโทรทัศน์ที่มีชื่อเสียง Lazytown นำแสดงโดย Magnus Scheving อดีตแชมป์ยิมนาสติก อัตราการตายของทารกต่ำที่สุดในโลก และสัดส่วนของประชากรที่สูบบุหรี่นั้นต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD ผู้หญิงเกือบทุกคนเลือกที่จะยุติการตั้งครรภ์เพื่อพบว่าทารกมีอาการดาวน์ อายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 81.8 (เทียบกับค่าเฉลี่ย OECD ที่ 79.5) ซึ่งสูงเป็นอันดับสี่ของโลก

การศึกษา

[แก้]
บรรยากาศการเรียนการสอนในโรงเรียนมัธยมของไอซ์แลนด์

กระทรวงศึกษาธิการ วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม มีหน้าที่รับผิดชอบนโยบายและวิธีการที่โรงเรียนต้องใช้[58] และออกหลักเกณฑ์หลักสูตรแห่งชาติ อย่างไรก็ตาม โรงเรียนอนุบาล โรงเรียนประถมศึกษา และมัธยมศึกษาตอนต้นได้รับทุนและบริหารงานโดยเทศบาล รัฐบาลอนุญาตให้พลเมืองสามารถให้การศึกษาแก่บุตรหลานของตนที่บ้านได้ อย่างไรก็ตาม ภายใต้ข้อเรียกร้องที่เข้มงวดมาก นักเรียนต้องปฏิบัติตามหลักสูตรที่รัฐบาลกำหนดอย่างเคร่งครัด และการสอนของผู้ปกครองต้องได้รับใบรับรองการสอนที่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาล สถานรับเลี้ยงเด็ก หรือ leikskóli เป็นการศึกษาแบบไม่บังคับสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี และเป็นก้าวแรกในระบบการศึกษา กฎหมายปัจจุบันเกี่ยวกับโรงเรียนอนุบาลได้ผ่านร่างในปี 2537 พวกเขายังมีหน้าที่รับผิดชอบในการตรวจสอบว่าหลักสูตรมีความเหมาะสมเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่การศึกษาภาคบังคับทำได้ง่ายที่สุด

การศึกษาภาคบังคับหรือ grunnskóli ประกอบด้วยการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งมักดำเนินการในสถาบันเดียวกัน การศึกษาบังคับตามกฎหมายสำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 6 ถึง 16 ปี ปีการศึกษามีระยะเวลาเก้าเดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม ถึง 1 กันยายน สิ้นสุดระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม ถึง 10 มิถุนายน จำนวนวันเรียนขั้นต่ำคือ 170 ครั้ง แต่หลังจากสัญญาจ้างครูคนใหม่ ก็เพิ่มขึ้นเป็น 180 วัน บทเรียนมีขึ้นห้าวันต่อสัปดาห์ framhaldsskóli เป็นการศึกษาระดับมัธยมศึกษาโรงเรียนเหล่านี้เรียกอีกอย่างว่ายิมนาเซียในภาษาอังกฤษ แม้ว่าจะไม่บังคับ แต่ทุกคนที่ได้ศึกษาภาคบังคับมีสิทธิได้รับการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ขั้นตอนของการศึกษานี้อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายปี 2539[59]

วัฒนธรรม

[แก้]
ตัวอย่างจากซากา Heimskringla
ปีเยิร์ก (Björk) เป็นหนึ่งในนักดนตรีของไอซ์แลนด์ที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ

วัฒนธรรมไอซ์แลนด์มีรากฐานมาจากวัฒนธรรมแบบสแกนดิเนเวียโบราณ (นอร์ส) ไอซ์แลนด์มีชื่อเสียงมากเกี่ยวกับวรรณกรรมในยุคของการตั้งถิ่นฐาน โดยเฉพาะเอดดาและซากา ชาวไอซ์แลนด์ให้ความสำคัญกับความเป็นอิสระอย่างมาก โดยในการสำรวจยูโรบารอมิเตอร์ของคณะกรรมการยุโรป 85 เปอร์เซนต์ของชาวไอซ์แลนด์เห็นว่าความเป็นอิสระ "สำคัญมาก" เทียบกับเฉลี่ยของ 25 ชาติอียู (2547) 53 เปอร์เซนต์ เดนมาร์กและนอร์เวย์ 49 และ 47 เปอร์เซนต์ตามลำดับ[60]

วรรณกรรม

[แก้]

วรรณกรรมของไอซ์แลนด์เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่การตั้งถิ่นฐานบนไอซ์แลนด์ โดยเป็นส่วนสำคัญของวรรณกรรมนอร์สโบราณ วรรณกรรมไอซ์แลนด์ที่มีชื่อเสียงมากคือซากาในยุคกลาง โดยเป็นเรื่องเล่าในรูปแบบของร้อยแก้วเล่าถึงวีรบุรุษของไอซ์แลนด์และสแกนดิเนเวียในยุคนั้น โดยมีซากานับร้อยถูกเขียนขึ้น นอกจากนี้ยังมีเอดดา มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับตำนานเทพเจ้า แบ่งออกเป็นเอดดาร้อยกรอง และเอดดาร้อยแก้ว

วรรณกรรมของไอซ์แลนด์ตกต่ำลงหลังการสูญเสียเอกราชทางการเมืองในปี พ.ศ. 1805 ในช่วงห้าร้อยปีถัดมา มีผลงานด้านวรรณกรรมเกิดขึ้นน้อยมาก โดยเฉพาะในรูปแบบร้อยแก้ว นอกจากการแปลคัมภีร์ไบเบิลในพุทธศตวรรษที่ 21-22[61] ในด้านร้อยกรอง มีผลงานบทกวีทางศาสนา และ rímur บทกวีรูปแบบหนึ่งของไอซ์แลนด์

วรรณกรรมของไอซ์แลนด์ฟื้นฟูขึ้นในในช่วงหลังของพุทธศตวรรษที่ 24 หนึ่งในนักเขียนคนสำคัญของไอซ์แลนด์ยุคใหม่ คือฮัลล์ดอร์ คิลยัน ลักซ์เนส ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี พ.ศ. 2498

ดนตรี

[แก้]

ดนตรีดั้งเดิมของไอซ์แลนด์ไม่ได้รับอิทธิพลการพัฒนาจากต่างประเทศนัก จากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่ห่างไกล โดยส่วนใหญ่เป็นดนตรีพื้นบ้านและดนตรีศาสนา ไม่มีการใช้เครื่องดนตรีมากนัก ส่วนใหญ่ไม่มีการใช้เสียงประสาน rímur จัดเป็นดนตรีดั้งเดิมของไอซ์แลนด์ด้วย

ไอซ์แลนด์ตั้งสถาบันดนตรีขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2473 และตั้งวงซิมโฟนีออร์เคสตราไอซ์แลนด์ในปี 2493 ไอซ์แลนด์มีนักดนตรีร่วมสมัยที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ เช่น ปีเยิร์ก (Björk) และ ซีกือร์โรส (Sigur Rós) งานดนตรีที่สำคัญของไอซ์แลนด์คือไอซ์แลนด์แอร์เวฟส์ในเรคยาวิก

อาหาร

[แก้]
Þorramatur อาหารแบบดั้งเดิมของไอซ์แลนด์ ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์และปลาในรูปแบบดั้งเดิมหั่นเป็นชิ้น ๆ

ส่วนประกอบหลักในอาหารของไอซ์แลนด์คือปลา เนื้อแกะ และผลิตภัณฑ์นม ไอซ์แลนด์มีชุดอาหารดั้งเดิมที่เรียกว่าทอร์รามาทือร์ (Þorramatur) รับประทานในเดือนทอร์ริ (Þorri) ตามปฏิทินดั้งเดิมของไอซ์แลนด์ ซึ่งประกอบด้วยอาหารหลากชนิด เช่น เนื้อแกะเค็มรมควัน ปลาแห้ง และขนมปังต่างๆ เป็นต้น อาหารเช้ามักประกอบด้วยแพนเค้ก ซีเรียล ผลไม้ และกาแฟ ในขณะที่อาหารกลางวันอาจอยู่ในรูปของ Smörgåsbord (อาหารสแกนดิเนเวียนที่มีต้นกำเนิดในประเทศสวีเดนเสิร์ฟในรูปแบบบุฟเฟ่ต์พร้อมอาหารจานร้อนและเย็นหลากหลายรายการบนโต๊ะ) อาหารหลักของวันสำหรับชาวไอซ์แลนด์ส่วนใหญ่คืออาหารเย็น ซึ่งมักจะประกอบด้วยปลาหรือเนื้อแกะเป็นอาหารจานหลัก อาหารทะเลเป็นหัวใจสำคัญของการทำอาหารไอซ์แลนด์ โดยเฉพาะปลาค็อดและปลาแฮดด็อก แต่ยังรวมถึงแซลมอน แฮร์ริ่ง และฮาลิบัตด้วย มักจะเตรียมในหลากหลายวิธี ทั้งรมควัน ดอง ต้ม หรือตากแห้ง เนื้อแกะเป็นเนื้อสัตว์ที่พบได้บ่อยที่สุด และมีทั้งแบบรมควัน (รู้จักกันในชื่อ ฮังกิกโจท) หรือเนื้อที่หมักด้วยเกลือ (เกลือ) อาหารหลักจำนวนมากใช้ประโยชน์จากทุกส่วนของแกะ เช่น สลาทูร์ ซึ่งประกอบด้วยเครื่องใน (อวัยวะภายในและอวัยวะภายใน) ที่สับรวมกับเลือดและเสิร์ฟพร้อมกระเพาะแกะ นอกจากนี้ มันฝรั่งต้มหรือบด กะหล่ำปลีดอง ถั่วเขียว และขนมปังข้าวไรย์เป็นเครื่องเคียงที่ได้รับความนิยม

กาแฟเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมในไอซ์แลนด์ โดยประเทศนี้ครองอันดับสามโดยการบริโภคกาแฟตเฉลี่ยทั่วโลกในปี 2559[62] และมักดื่มเป็นอาหารเช้า หลังอาหาร และรับประทานพร้อมของว่างเบา ๆ ในช่วงบ่าย โคคา-โคล่ายังบริโภคกันอย่างแพร่หลาย จนถึงระดับที่กล่าวกันว่าประเทศมีอัตราการบริโภคต่อหัวที่สูงที่สุดในโลก

กีฬา

[แก้]
กองเชียร์ฟุตบอลทีมชาติไอซ์แลนด์ให้กำลังใจทีมในฟุตบอลโลก 2018

กีฬาเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมไอซ์แลนด์ เนื่องจากประชากรโดยทั่วไปมีอุปนิสัยค่อนข้างกระฉับกระเฉงและรักการออกกำลังกาย[63] กีฬาดั้งเดิมหลักในไอซ์แลนด์คือกลีมา ซึ่งเป็นรูปแบบมวยปล้ำที่มีต้นกำเนิดในยุคกลาง

กีฬายอดนิยม ได้แก่ ฟุตบอล กีฬาที่ใช้ลู่และลาน แฮนด์บอล และบาสเก็ตบอล แฮนด์บอลมักถูกเรียกว่ากีฬาประจำชาติ ฟุตบอลทีมชาติไอซ์แลนด์ผ่านเข้ารอบการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2016 เป็นครั้งแรก[64] พวกเขาเสมอกับโปรตุเกสผู้ชนะเลิศในรอบแบ่งกลุ่ม และเอาชนะอังกฤษได้ 2-1 ในรอบ 16 ทีม ก่อนจะแพ้ฝรั่งเศสในรอบก่อนรองชนะเลิศ และได้เข้าร่วมครั้งแรกในฟุตบอลโลก 2018 โดยไอซ์แลนด์ยังเป็นประเทศที่เล็กที่สุดในแง่จำนวนประชากรที่เคยผ่านเข้ารอบสุดท้ายในฟุตบอลโลกและฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป และยังเป็นชาติที่เล็กที่สุดที่เคยผ่านเข้ารอบสำหรับการแข่งขันบาสเกตบอลชิงแชมป์ยุโรป (Eurobasket) โดยทำได้ในปี 2558 และ 2560

ไอซ์แลนด์มีสภาพอากาศที่เหมาะสมสำหรับการเล่นสกี ตกปลา สโนว์บอร์ด และปีนเขา แม้ว่าคนทั่วไปจะชอบปีนเขาและเดินป่าก็ตาม ไอซ์แลนด์ยังเป็นจุดหมายปลายทางระดับโลกสำหรับทัวร์สกีอัลไพน์และการเล่นสกีเทเลมาร์ค โดยที่คาบสมุทรโทรลล์ในไอซ์แลนด์ตอนเหนือเป็นศูนย์กลางของกิจกรรม แม้ว่าสภาพแวดล้อมของประเทศโดยทั่วไปจะไม่เหมาะสำหรับการเล่นกอล์ฟ แต่ก็มีสนามกอล์ฟหลายแห่งทั่วทั้งเกาะ และไอซ์แลนด์มีประชากรที่เล่นกอล์ฟที่ลงทะเบียนมากกว่า 17,000 คนจากประชากรประมาณ 300,000 คน[65] ไอซ์แลนด์เป็นเจ้าภาพการแข่งขันกอล์ฟระดับนานาชาติประจำปีที่เรียกว่า Arctic Open ไอซ์แลนด์ยังได้รางวัลรองชนะเลิศการแข่งขันชายที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก (World's Strongest Man)[66]

ไอซ์แลนด์ยังเป็นหนึ่งในประเทศชั้นนำในการพายเรือในทะเล นักสำรวจชาวไอซ์แลนด์และนักกีฬา Fiann Paul ถือครองสถิติกินเนสส์ในการพายเรือ[67] ในปี 2563 เขาเป็นบุคคลแรกและคนเดียวที่พิชิต Ocean Explorers Grand Slam (ดำเนินการข้ามน้ำแต่ละมหาสมุทรจากห้ามหาสมุทรโดยใช้เรือ) และได้บันทึกสถิติโลกกินเนสส์ว่าเป็นการพายเรือที่เร็วที่สุดในการเดินทางผ่านทั้งสี่มหาสมุทร (แอตแลนติก อินเดีย แปซิฟิก และอาร์กติก)[68][69]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Gini coefficient of equivalised disposable income – EU-SILC survey". ec.europa.eu. Eurostat. สืบค้นเมื่อ 9 August 2021.
  2. Human Development Report 2020 The Next Frontier: Human Development and the Anthropocene (PDF). United Nations Development Programme. 15 December 2020. pp. 343–346. ISBN 978-92-1-126442-5. สืบค้นเมื่อ 16 December 2020.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 เดอะเวิลด์แฟกต์บุก เก็บถาวร 2020-05-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกข้อมูลวันที่ 2008-03-03 (อังกฤษ)
  4. "Human Development Report 2006" (PDF). สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2013-11-26. สืบค้นเมื่อ 2007-03-31. (อังกฤษ)
  5. "ไอซ์แลนด์ ถูกจัดให้เป็นประเทศที่สงบสุขสุดในโลก". อีซี่เอฟเอ็ม. 25 December 2014. สืบค้นเมื่อ 28 June 2016.[ลิงก์เสีย]
  6. "Althing | History & Facts". Encyclopedia Britannica (ภาษาอังกฤษ).
  7. "The Parliament House". Alþingi (ภาษาอังกฤษ).
  8. "The Complete History of Iceland". Guide to Iceland (ภาษาอังกฤษ).
  9. "The History of Iceland | From Vikings to the World Cup". Arctic Adventures (ภาษาอังกฤษ).
  10. 482922@au.dk. "History of Iceland, Vikings to early 19th century". nordics.info (ภาษาอังกฤษ).
  11. "Wayback Machine". web.archive.org. 2010-01-25. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-01-25. สืบค้นเมื่อ 2021-10-04.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  12. "สำเนาที่เก็บถาวร". web.archive.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-08-13. สืบค้นเมื่อ 2021-10-04.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  13. "Wayback Machine". web.archive.org. 2005-08-18. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-08-18. สืบค้นเมื่อ 2021-10-04. {{cite web}}: ระบุ |accessdate= และ |access-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  14. http://hdr.undp.org/sites/default/files/hdr2020.pdf
  15. NATO. "Iceland and NATO - 1949". NATO (ภาษาอังกฤษ).
  16. "Three of the greatest Viking explorers that ever set sail". Sky HISTORY TV channel (ภาษาอังกฤษ).
  17. "The Settlement of Iceland". World History Encyclopedia (ภาษาอังกฤษ).
  18. "The Legendary Settlement of Iceland". World History Encyclopedia (ภาษาอังกฤษ).
  19. History of Iceland เก็บถาวร 2008-03-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน TravelNet.is
  20. 20.0 20.1 Iceland History
  21. The President of Iceland เก็บถาวร 2008-03-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกข้อมูลวันที่ 2008-03-03 (อังกฤษ)
  22. Reykjavik, Associated Press in (2009-07-16). "Icelandic parliament votes for EU membership". the Guardian (ภาษาอังกฤษ).
  23. "Iceland applies to join European Union - CNN.com". edition.cnn.com.
  24. "Stjórnsýslusvið < Starfsemi < Vefsvæði lhg.is". web.archive.org. 2010-01-13. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-01-13. สืบค้นเมื่อ 2021-10-04.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  25. Municipalities of Iceland Statoids. เรียกข้อมูลวันที่ 2008-03-11
  26. Facts about Iceland เก็บถาวร 2008-05-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Icelandtotal.com (อังกฤษ)
  27. 27.0 27.1 27.2 Iceland in statistics เก็บถาวร 2007-05-02 ที่ National and University Library of Iceland Landmælingar Ísland (อังกฤษ)
  28. Foulger, G. Iceland & the North Atlantic Igneous Province. Mantleplumes.org 2005-02-08. (อังกฤษ)
  29. Volcanoes เก็บถาวร 2008-04-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Iceland.is (อังกฤษ)
  30. Hekla erupts Feb 26 - ~29, 2000 Hi.is (อังกฤษ)
  31. Moore, B. Sustainable Iceland: Geothermal Wonderland เก็บถาวร 2008-04-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. EV World. 2006-05-24. (อังกฤษ)
  32. https://guidetoiceland.is/th/travel-info/climate-weather-and-northern-lights-in-iceland
  33. Iceland: Climate Britannica Online (อังกฤษ)
  34. The dynamic climate of Iceland (อังกฤษ)
  35. เที่ยวไอซ์แลนด์ช่วงไหนดีที่สุด | สภาพอากาศประเทศไอซ์แลนด์
  36. World Economic Outlook Database-October 2007, กองทุนการเงินระหว่างประเทศ. (อังกฤษ)
  37. World Economic Outlook Database-October 2007, กองทุนการเงินระหว่างประเทศ.
  38. Distribution of family income - Gini index เก็บถาวร 2007-06-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เดอะเวิลด์แฟกต์บุก, ซีไอเอ, ข้อมูลล่าสุดเมื่อ 24 มกราคม 2551 (อังกฤษ)
  39. Exports by commodities (SI classification) 2002-2007 สำนักงานสถิติไอซ์แลนด์.
  40. Employed persons by economic activity, nationality, sex and regions 1998-2005 สำนักงานสถิติไอซ์แลนด์ (อังกฤษ)
  41. "Euro support in Iceland hits five-year high". Reuters. 2007-09-11. สืบค้นเมื่อ 2008-01-02. (อังกฤษ)
  42. "アイスランド:グローバリゼーションの波に乗る環境問題先進国". Nikkei Business Online. 2008-02-07. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-01. สืบค้นเมื่อ 2008-08-02. {{cite news}}: ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)(ญี่ปุ่น)
  43. Evolution of Financial Institutions:Iceland’s Path from Repression to Eruption Thráinn Eggertsson and Tryggvi Thor Herbertsson หน้า 13
  44. Electronic and mobile payments - moving towards a cashless society? เก็บถาวร 2008-09-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Erkki Liikanen หน้า 2
  45. การบริโภคพลังงานรวมแบ่งตามแหล่งที่มา 1987–2005, สำนักงานสถิติไอซ์แลนด์, เรียกข้อมูล 2008-04-07
  46. Registered motor vehicles 1950-2006 สำนักงานสถิติไอซ์แลนด์ (อังกฤษ)
  47. Kevlavik International Airport (อังกฤษ)
  48. "Statistics Iceland:Key figures". www.statice.is. 29 ก.พ. 2008. สืบค้นเมื่อ 2008-03-03. (อังกฤษ)
  49. "Population: Citizenship and country of birth". www.statice.is. สืบค้นเมื่อ 2008-03-03. (อังกฤษ)
  50. "Iceland". International Religious Freedom Report 2007 (ภาษาอังกฤษ). Bureau of Democracy, Human Rights, and Labor. 2007-09-14. สืบค้นเมื่อ 2008-03-03.
  51. Simon Ager. "Icelandic language, alphabet, and pronunciation". Omniglot. สืบค้นเมื่อ 2008-03-04.
  52. "Icelandic Language". Iceland Trade Directory. icelandexport.is. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 October 2006. สืบค้นเมื่อ 22 April 2010.
  53. Information on Icelandic Surnames เก็บถาวร 2010-05-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Ministry of Justice and Ecclesiastical Affairs. (อังกฤษ)
  54. Naming Committee accepts Asía, rejects Magnus เก็บถาวร 2013-10-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Iceland Review Online. 2006-09-12 (อังกฤษ)
  55. "Information < Ministry of Health". web.archive.org. 2010-03-24. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-03-24. สืบค้นเมื่อ 2021-10-04. {{cite web}}: ระบุ |accessdate= และ |access-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  56. https://www.oecd.org/health/health-systems/oecdhealthdata2012.htm
  57. "Wayback Machine" (PDF). web.archive.org. 2011-09-04. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-04. สืบค้นเมื่อ 2021-10-04.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  58. "ReadArticle / Mayor Does Not Feel School Should Be Mandatory". web.archive.org. 2013-05-01. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-05-01. สืบค้นเมื่อ 2021-10-04.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  59. https://www.oecd.org/pisa/46643496.pdf
  60. "European Commission Eurobarometer Social values, Science and Technology analysis June 2005 p.35" (PDF). (อังกฤษ)
  61. Chronological History of the Bible - 16th Century (อังกฤษ)
  62. "Coffee: Who grows, drinks and pays the most?". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2018-04-13. สืบค้นเมื่อ 2021-10-04.
  63. Wilcox, Jonathan; Latif, Zawiah Abdul (2007). Iceland (ภาษาอังกฤษ). Marshall Cavendish. ISBN 978-0-7614-2074-3.
  64. "A 2016 football moment to remember: Iceland light up Euro 2016". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2016-12-29.
  65. "Tee Off in the Midnight Sun of Reykjavík". 25 June 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 June 2016. สืบค้นเมื่อ 4 May 2016. {{cite news}}: ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  66. "Nest of Giants: The History of Icelandic Strongmen". BarBend (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2020-08-13.
  67. "Search Results". Guinness World Records (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 June 2020. สืบค้นเมื่อ 9 January 2020.
  68. Boyd, Marc (2016-07-12). "Team Uniting Nations On Pace To Shatter A World Record In Rowing". HuffPost (ภาษาอังกฤษ).
  69. "Freezing Temps and Rotting Hands: Speaking With the Men of the Record-Breaking Polar Row Expedition". Men's Journal (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2017-09-08.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]