สนธิสัญญาเบาว์ริง
หนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีจักรวรรดิบริเตนกับราชอาณาจักรสยาม | |
---|---|
สนธิสัญญาเบาว์ริงฉบับภาษาไทยเขียนลงสมุดไทย ก่อนส่งไปจักรวรรดิบริเตน ให้รัฐบาลสหราชอาณาจักรประทับตรา | |
ประเภท | สนธิสัญญาการค้า |
วันลงนาม | 18 เมษายน พ.ศ. 2398 |
ที่ลงนาม | กรุงเทพมหานคร สยาม |
วันตรา | 6 เมษายน พ.ศ. 2399 |
วันมีผล | 6 เมษายน พ.ศ. 2399 |
เงื่อนไข | ต้องประทับตราเข้ามาเปลี่ยนกันจึงใช้ได้ |
ภาคี | สยาม จักรวรรดิบริติช |
ภาษา | ไทยและอังกฤษ |
th:สนธิสัญญาเบาว์ริง ที่ วิกิซอร์ซ |
ประวัติศาสตร์ไทย |
---|
ตัวเลขในวงเล็บ หมายถึง ปีพุทธศักราช |
หนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีระหว่างจักรวรรดิบริเตนกับราชอาณาจักรสยาม (อังกฤษ: Treaty of Friendship and Commerce between the British Empire and the Kingdom of Siam)[1] หรือบนปกสมุดไทย ใช้ชื่อว่า หนังสือสัญญาเซอยอนโบวริง[2] หรือที่มักเรียกกันทั่วไปว่า สนธิสัญญาเบาว์ริง (อังกฤษ: Bowring Treaty)[3] เป็นสนธิสัญญาที่ราชอาณาจักรสยามทำกับสหราชอาณาจักร ลงนามเมื่อ วันที่ 18 เมษายน 2398 ประทับตราและบังคับใช้วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2399 โดยเซอร์จอห์น เบาว์ริง ราชทูตที่ได้รับการแต่งตั้งจากสมเด็จพระบรมราชินีนาถวิกตอเรีย เข้ามาทำสนธิสัญญา ซึ่งมีสาระสำคัญในการเปิดการค้าเสรีกับต่างประเทศในสยาม มีการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศ[4] โดยการสร้างระบบการนำเข้าและส่งออกใหม่ เพิ่มเติมจากสนธิสัญญาเบอร์นี สนธิสัญญาฉบับก่อนหน้าซึ่งได้รับการลงนามระหว่างสยามและสหราชอาณาจักรใน พ.ศ. 2399[5]
สนธิสัญญาดังกล่าวอนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้ามาทำการค้าเสรีในกรุงเทพมหานคร เนื่องจากในอดีตการค้าของชาวตะวันตกได้รับการจัดเก็บภาษีอย่างหนัก[6] สนธิสัญญาดังกล่าวยังอนุญาตให้จัดตั้งกงสุลอังกฤษในกรุงเทพมหานครและรับประกันสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ตลอดจนอนุญาตให้ชาวอังกฤษสามารถถือครองที่ดินในสยามได้[4]
เบื้องหลัง
[แก้]พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2393 มีพระราชปณิธานช่วยเหลือราษฎรด้านความเป็นอยู่ โดยมีพระราชดำริแตกต่างจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเชษฐา หลายอย่าง โดยทรงเห็นว่าการเปิดให้ค้าข้าวกับต่างประเทศได้อย่างเสรีจะสร้างประโยชน์แก่บ้านเมืองมหาศาล[7] จะทำให้ข้าวราคาสูงขึ้น เพราะมีความต้องการซื้อข้าวจากต่างชาติ ชาวนาก็จะมีเงินมากขึ้น ข้าวจะกลายเป็นสินค้าส่งออกของไทย สร้างรายได้ให้แก่รัฐบาลเช่นกัน ตลอดจนทรงเห็นว่านโยบาย "ปิดข้าว" สร้างรายได้ให้แก่คนส่วนน้อย ไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม[8]
"แต่ก่อนในหลวงห้ามปิดเข้า [ข้าว] ไว้ไม่ให้เอาออกไปขายนอกประเทศ ยอมให้เอาไป แต่ภอเปนสเบียง คนทั้งปวงที่มิใช่ชาวนาแลพ่อค้าเรือต่างประเทศก็มีความสบาย ด้วยเข้าถูก [ข้าวมีราคาถูก] แต่ชาวนาไม่ชอบใจ เพราะขายเข้าได้น้อย ไม่ภอกิน ต้องทิ้งที่นาไปหากินอย่างอื่น ถึงพ่อค้าก็ไม่ชอบใจ ด้วยอยากจะขายเข้าออกไปนอกประเทศ ต้องลักลอบเอาไป ..." (ทั้งหมดสะกดตามต้นฉบับ)[8]
การที่รัฐบาลไทยไม่ยอมแก้ไขหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีและข้อตกลงเกี่ยวกับการค้าขายกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ทำให้เกิดความตึงเครียดใน พ.ศ. 2393 มิชชันนารีทั้งหลายถึงกับเกรงว่าจะเกิดสงครามขึ้น[9] พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงอันตรายจากการที่ไทยไม่ยอมประนีประนอมกับชาติตะวันตก โดยทรงดูจากจีนและพม่าที่ตกเป็นเมืองขึ้นของต่างชาติ[10] ตลอดจนทรงตระหนักถึงความจำเป็นของวิทยาการสมัยใหม่สำหรับอนาคตของชาติ[11] จึงได้ทรงประกาศเจตนาว่ายินดีจะทำสนธิสัญญาฉบับใหม่กับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา โดยบรรณาธิการหนังสือพิมพ์สิงคโปร์ฟรีเปรสได้นำจดหมายของเรเวอเรนด์ ยอนเทเลอโยนส์ ลงพิมพ์ มีใจความว่า
"เจ้าฟ้ามงกุฎได้ตรัสอย่างชัดเจน ว่าทางการที่ปฏิบัติต่อคณะทูตเมื่อปีก่อนนั้นทั้งหมดเป็นไปด้วยความเห็นผิดเป็นชอบของคน ๆ เดียว และถ้าคณะทูตกลับมาอีก ก็คงจะได้รับความต้อนรับโดยเมตตา ไม่ต้องระแวงว่าความประสงค์อันสำคัญยิ่งของคณะทูตจะไม่สำเร็จดังปรารถนา..."[12]
สนธิสัญญาเบาว์ริงนี้มีเนื้อหาคล้ายกับสนธิสัญญานานกิงซึ่งจีนลงนามร่วมกับอังกฤษภายหลังสงครามฝิ่นครั้งที่หนึ่ง ใน พ.ศ. 2385 และก่อนหน้าสนธิสัญญาเบาว์ริงเพียงหนึ่งปี (พ.ศ. 2397) สหรัฐอเมริกาก็บังคับให้ญี่ปุ่นเปิดประเทศด้วยการลงนามในสนธิสัญญาคานางาวะโดยใช้สนธิสัญญานานกิงเป็นต้นแบบ[10] สนธิสัญญาเบาว์ริงถูกเรียกว่าเป็น "สนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม" หรือ "สนธิสัญญาที่เสียเปรียบ" เนื่องจากสยามไม่อยู่ในตำแหน่งที่จะเจรจาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเกรงกลัวในแสงยานุภาพทางทหารของอังกฤษในสงครามฝิ่นครั้งที่หนึ่ง ซึ่งได้ทำให้รู้สึกท้อถอยที่จะป้องกันมิให้มีการค้ากับชาติตะวันตก[13] โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ ระบุว่า ความต้องการสำคัญของอังกฤษก็คือการเข้ามาค้าฝิ่นได้อย่างเสรีในสยามและไม่ต้องเสียภาษี และอังกฤษพร้อมทำสงครามกับสยามอยู่แล้วหากการเจรจาไม่ประสบผล[14]
การเจรจา
[แก้]เมื่อทราบว่าพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์ใหม่ทรงแสดงความต้องการจะทำสนธิสัญญาด้วย รัฐบาลอังกฤษก็ได้ส่งจอห์น เบาว์ริงเข้ามาทำสนธิสัญญาฉบับใหม่ใน พ.ศ. 2398 โดยปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมไทย ให้ทูตเชิญพระราชสาส์นสมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรียเข้ามาถวายพระเจ้าแผ่นดินไทย จึงได้รับการต้อนรับดีกว่าทูตตะวันตกที่ผ่านมาทั้งหมด[12]
จอห์น เบาว์ริง อยู่ในกรุงสยาม 1 เดือน และใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์เจรจากับ “ผู้สำเร็จราชการฝ่ายสยาม” 5 พระองค์และคน คือ[15]
- สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่) ผู้สำเร็จราชการทั่วพระราชอาณาจักร ประธานผู้แทนรัฐบาล
- พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท หัวหน้าคณะผู้แทนไทยที่เข้าร่วมเจรจากับคณะทูตอังกฤษ
- สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย) ผู้สำเร็จราชการพระนคร
- เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) รักษาการในตำแหน่งสมุหพระกระลาโหม บังคับบัญชาหัวเมืองชายทะเลปากใต้ฝ่ายตะวันตก
- เจ้าพระยารวิวงศ์ พระคลัง และสำเร็จราชการกรมท่า บังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายตะวันออก
จอห์น เบาว์ริงกล่าวยกย่องผู้แทนรัฐบาลไทยสองท่าน ว่ามีความเห็นสอดคล้องกับตน ได้แก่ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง) และพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท สำหรับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์นั้นได้ตำหนิระบบผูกขาดและการทุจริตของชนชั้นสูงอย่างรุนแรง และออกปากจะช่วยทูตอังกฤษในการแก้ไขสนธิสัญญา ถึงกับทำให้เบาว์ริงสงสัยว่าจะพูดไม่จริง แต่สุดท้ายก็ยอมรับว่าเป็นคนพูดจริงทำจริง และได้สรรเสริญว่าเป็นบุคคลที่ฉลาดยิ่งกว่าคนอื่นที่พบปะมาแล้ว[16]
ส่วนอีกด้านหนึ่ง เบาว์ริงได้ตำหนิสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ ผู้มีความคิดในการค้าผูกขาด และคัดค้านข้อเสนอของทูตอังกฤษอยู่เสมอ เบาว์ริงเห็นว่า ทั้งสองคนนี้เองที่ทำให้การเจรจาขอแก้ไขหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีในช่วงปลายรัชกาลที่ 3 ไม่ประสบความสำเร็จ[17]
สาระสำคัญ
[แก้]สรุปสาระสำคัญของสนธิสัญญาเบาว์ริง มีดังนี้
- คนในบังคับอังกฤษจะอยู่ภายใต้อำนาจควบคุมของกงสุลอังกฤษ นับเป็นครั้งแรกที่สยามมอบสิทธิสภาพนอกอาณาเขตแก่ประชากรต่างด้าว
- คนในบังคับอังกฤษได้รับสิทธิในการค้าขายอย่างเสรีในเมืองท่าทุกแห่งของสยาม และสามารถพำนักอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครเป็นการถาวรได้ ภายในอาณาเขตสี่ไมล์ (สองร้อยเส้น) แต่ไม่เกินกำลังเรือแจวเดินทางในยี่สิบสี่ชั่วโมงจากกำแพงพระนคร คนในบังคับอังกฤษสามารถซื้อหรือเช่าอสังหาริมทรัพย์ในบริเวณดังกล่าวได้ คนในบังคับอังกฤษยังได้รับอนุญาตให้เดินทางได้อย่างเสรีในสยามโดยมีหนังสือที่ได้รับการรับรองจากกงสุล
- ยกเลิกค่าธรรมเนียมปากเรือและกำหนดอัตราภาษีขาเข้าและขาออกชัดเจน
- อัตราภาษีขาเข้าของสินค้าทุกชนิดกำหนดไว้ที่ร้อยละ 3 ยกเว้นฝิ่นที่ไม่ต้องเสียภาษี แต่ต้องขายให้กับเจ้าภาษี ส่วนเงินทองและข้าวของเครื่องใช้ของพ่อค้าไม่ต้องเสียภาษีเช่นกัน
- สินค้าส่งออกให้มีการเก็บภาษีชั้นเดียว โดยเลือกว่าจะเก็บภาษีชั้นใน (จังกอบ ภาษีป่า ภาษีปากเรือ) หรือภาษีส่งออก
- พ่อค้าอังกฤษได้รับอนุญาตให้ซื้อขายโดยตรงได้กับเอกชนสยามโดยไม่มีผู้ใดผู้หนึ่งขัดขวาง
- รัฐบาลสยามสงวนสิทธิ์ในการห้ามส่งออกข้าว เกลือและปลา เมื่อสินค้าดังกล่าวมีทีท่าว่าจะขาดแคลนในประเทศ[18]
หนังสือพ่วงท้าย
[แก้]นอกจากหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีแล้ว ยังมีหนังสือพ่วงท้ายอีกสองฉบับ โดยเป็นข้อกำหนดที่พ่อค้าอังกฤษจะต้องปฏิบัติ กับพิกัดภาษี โดยแบ่งสินค้าออกเป็นสองประเภท คือ ประเภทที่เสียภาษีเฉพาะเมื่อบรรทุกลงเรือ และประเภทที่เสียเฉพาะภาษีชั้นใน โดยตัวอย่างพิกัดภาษี เช่น[12]
|
|
ประเด็นด้านการเก็บภาษีขาเข้า
[แก้]ตามสนธิสัญญาเบาว์ริง ไทยได้รับเงื่อนไขให้เก็บภาษีขาเข้าได้เพียงร้อยละ 3 เท่านั้น ซึ่งยังเสียเปรียบกว่าจีนและญี่ปุ่นที่ถูกบังคับให้เก็บภาษีขาเข้าร้อยละ 5 โดยตามหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีระหว่างอังกฤษกับญี่ปุ่น พ.ศ. 2400 อังกฤษยังยอมให้สินค้าบางชนิดเก็บอัตราภาษีขาเข้าสูงกว่าร้อยละ 5 โดยบางชนิดสูงถึงร้อยละ 35 ก็มี[17] ส่วนหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีฉบับก่อนหน้านั้น ทั้งที่ทำกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ต่างก็ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องภาษีขาเข้าแต่อย่างใด จนกระทั่งต่อมา ในปี พ.ศ. 2409 ชาติตะวันตกหลายประเทศ ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกาและเนเธอร์แลนด์จึงได้ร่วมกันบีบบังคับให้ญี่ปุ่นเก็บอัตราภาษีขาเข้าส่วนใหญ่เหลือเพียงร้อยละ 5[17]
ใน พ.ศ. 2398 เจ้าพระยาพระคลังได้ขอดูหนังสือสัญญาระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐอเมริกากับเทาเซนด์ แฮริส ทูตอเมริกันที่เข้ามาขอทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรี แต่แฮริสไม่ต้องการให้เห็น จึงได้บ่ายเบี่ยงว่าไม่ได้นำหนังสือติดตัวมาด้วย[17] จึงทำให้เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ไทยยังเสียเปรียบประเทศเอเชียอื่นที่ถูกบีบบังคับให้ทำสนธิสัญญาในลักษณะเดียวกัน
เดิมก่อนหน้าสนธิสัญญาเบาว์ริง ไทยเคยเก็บภาษีขาเข้าจากพ่อค้าฝรั่งถึงร้อยละ 8[19]
การทำข้อไขสัญญา
[แก้]เมื่อทูตอังกฤษเดินทางนำหนังสือสัญญากลับไปยังรัฐบาลอังกฤษให้ลงหนังสือรับรอง รัฐบาลอังกฤษเห็นว่าข้อความบางตอนในหนังสือสัญญาคลุมเครือ จึงให้แฮริปากส์ ผู้ถือหนังสือสัญญาแทนเบาว์ริงกลับไปยังลอนดอน มาทำข้อไขสัญญาอีกฉบับหนึ่ง อธิบายความที่ยังคลุมเครืออยู่ ทางรัฐบาลสยามก็ต้องการให้การทำหนังสือสัญญากับอังกฤษเป็นไปด้วยดี ก็ผ่อนปรนตามคำขอของแฮริปากส์ ในส่วนนี้สยามได้อากรสวนผลไม้เพิ่มขึ้น[20]
ผลที่ตามมา
[แก้]ฝ่ายอังกฤษประสบความสำเร็จอย่างมากในการทำสนธิสัญญาเบาว์ริง โดยรัฐบาลสยามยอมให้อังกฤษเข้ามาตั้งกงสุล มีอำนาจพิจารณาคดีที่คนอังกฤษมีคดีความกัน และร่วมพิจารณาคดีที่คนไทยกับอังกฤษมีคดีความกัน ข้าว เกลือและปลาไม่เป็นสินค้าต้องห้ามอีกต่อไป[12] นอกจากนี้ ยังเป็นการรับเอาวิทยาการตะวันตกสมัยใหม่เข้าสู่ประเทศ ซึ่งทำให้ชาวต่างประเทศยอมรับมากขึ้น[21]
การทำหนังสือสัญญาทางไมตรีกับประเทศอื่น
[แก้]เมื่อสยามได้ทำสนธิสัญญากับอังกฤษแล้ว ก็ต้องการจะทำหนังสือสัญญาแบบเดียวกันกับประเทศอื่นต่อไป เพื่อให้มีการแข่งขันทางการค้า และเป็นโอกาสให้ของในสยามมีราคาสูงขึ้น และสินค้าต่างประเทศมีราคาต่ำ[19] ในการณ์นี้ รัฐบาลสยามจึงแต่งตั้งให้จอห์น เบาว์ริงเป็นพระยาสยามานุกูลกิจสยามมิตรมหายศ คอยทำหนังสือสัญญาต่าง ๆ แทน โดยประเทศที่ทำหนังสือสัญญากับไทยในเวลาต่อมา มีดังนี้
ประเทศที่ทำสัญญาโดยส่งทูตมายังกรุงเทพมหานคร ได้แก่[19]
ประเทศ | วันที่ (นับแบบเก่า) |
---|---|
สหรัฐอเมริกา | 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2399 |
ฝรั่งเศส | 15 สิงหาคม พ.ศ. 2399 |
เดนมาร์ก | 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2401 |
โปรตุเกส | 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2401 |
แฮนซีแอติกรีปับลิก | 25 ตุลาคม พ.ศ. 2403 |
เนเธอร์แลนด์ | 29 ธันวาคม พ.ศ. 2403 |
ปรัสเซีย | 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2404 |
และที่ทำสัญญาโดยผ่านทางพระยาสยมานุกูลกิจสยามมิตรมหายศ ได้แก่[19]
ประเทศ | วันที่ (นับแบบเก่า) |
---|---|
นอร์เวย์ | 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2401 |
เบลเยียม | 29 สิงหาคม พ.ศ. 2401 |
อิตาลี | 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2401 |
โปรตุเกส | 3 ตุลาคม พ.ศ. 2401 |
จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี | 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2402 |
การเลิกค้าขายกับจีน
[แก้]ในช่วงต้นรัชกาลที่ 4 ได้มีการส่งเครื่องราชบรรณาการไปถวายจักรพรรดิจีนตามประเพณี แต่ตอนคณะทูตกำลังเดินทางกลับจากปักกิ่งได้ถูกโจรผู้ร้ายปล้นเอาทรัพย์สินไปกลางทาง "ตั้งแต่นั้นมา ที่กรุงก็มิได้แต่งทูตออกไปจิ้มก้องจนทุกวันนี้"[22] จนถึง พ.ศ. 2403 ก็ปรากฏหลักฐานว่าสยามมิได้แต่งสำเภาไปค้าขายกับจีนอีก
หลังการทำสนธิสัญญาเบาว์ริง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำริว่าการที่สยามส่งเครื่องราชบรรณาการไปถวายจีนนั้นอาจทำให้ฝรั่งสิ้นความนับถือในเอกราชของสยาม จึงทรงได้ยกเลิกประเพณีการส่งเครื่องราชบรรณาการไปถวายจีนอย่างเด็ดขาด นับเป็นการตัดไมตรีที่มีมากับจีนตั้งแต่สมัยโบราณที่พระเจ้าแผ่นดินรัชกาลก่อน ๆ ทรงพยายามรักษามาโดยตลอด[23]
การทำเงินแป
[แก้]เพียงปีเดียวหลังจากสนธิสัญญาเบาว์ริง มีเรือต่างประเทศเข้ามาค้าขายยังกรุงเทพมหานครเป็น 103 ลำ และแต่งเรือออกไปค้าขายกับต่างประเทศถึง 37 ลำ[24] ทำให้มีเงินเหรียญแพร่สะพัดในสยามเป็นจำนวนมาก แต่ราษฎรสยามที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครไม่มีใครรับ เพราะไม่เคยใช้มาก่อน ต้องให้ช่างในคลังมหาสมบัติทำเงินตรา แม้จะทำไปได้ถึงกว่า 250,000 เหรียญแล้วก็ยังใช้ไม่ทันกาล[24] พ่อค้าต่างชาติก็ขอให้ทางการประกาศให้ใช้เงินเหรียญ รัฐบาลจึงให้เงินตราสิบชั่งเป็นเงินเหรียญ 480 เหรียญ[25] แต่ครั้นประกาศให้ราษฎรรับเงินเหรียญไปใช้แทนเงินพดด้วง ราษฎรก็ไม่รับไป ต้องออกพระราชบัญญัติให้รับเงินเหรียญนอกไว้
แต่เมื่อเงินเหรียญใช้กันแพร่หลาย ราษฎรก็นำเงินบาทไปซุกซ่อนไว้ และจ่ายภาษีด้วยเงินเหรียญ[25] ทำให้เงินบาทขาดแคลน ในปี พ.ศ. 2399 และ พ.ศ. 2400 เกิดความติดขัดด้านการค้าขาย ครั้นพอสยามจะส่งราชทูตไปเจริญพระราชไมตรีกับต่างประเทศก็ให้ทูตซื้อเครื่องจักรทำเงินเหรียญกลับมาด้วย พอมาติดตั้งที่กรุงเทพมหานครได้แล้ว เรียกเงินตราแบบเงินเหรียญว่าเงินแป พอผลิตออกมาได้แล้วก็พบว่าราษฎรนิยมใช้กัน ปัญหาด้านการค้าจึงหมดไป[26]
ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ
[แก้]"เซอร์ยอน เบาริ่งกล่าวถึงความสำเร็จในสนธิสัญญาฯ ว่า จะก่อการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่แก่การคลังของไทย เพราะเอกสิทธิ์และสิทธิผูกขาดการหาผลประโยชน์ ซึ่งเดิมตกอยู่ในมือคนเพียงไม่กี่คน ถูกเพิกถอนเสียมากมายหลายอย่าง เหตุการณ์ที่ปรากฏต่อมาภายหลังเป็นพยานอย่างดี ว่าความคิดเห็นของเขามีส่วนถูกต้องมากทีเดียว" |
—ชัย เรืองศิลป์[27] |
การแลกผูกขาดการค้าของรัฐบาลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ ราษฎรสามารถซื้อขายสินค้าได้โดยอิสระ รัฐบาลไม่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการขายสินค้ามีค่า เช่น ไม้ฝาง ไม้กฤษณา หรืองาช้างอีก เพราะรัฐบาลจะขาดทุน[27]
เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ผู้แต่งพระราชพงศาวดาร กล่าวถึงความมั่งคั่งว่า
"ลูกค้านานาประเทศเข้ามาค้าขาซื้อเข้าออกไปปี ๑ ก็ถึง ๓๐๐ ลำ บางปีก็ถึง ๕๐๐ ลำ ราษฎรก็ได้ขายเข้าไปแก่ลูกค้านานาประเทศ เป็นจำนวนเข้าออกไปปี ๑ ก็ถึง ๘๐๐๐๐ เกวียน [...] ราษฎรก็ได้มั่งมีเงินทองขึ้นทุกแห่งทุกตำบล จนชั้นแต่ลาวเป็นคนเกียจคร้านไม่ใคร่จะทำไร่ไถนา [...] ทุกวันนี้มีเงินซื้อกิน ไม่เหมือนแต่ก่อน"[28]
ข้าวได้กลายมาเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญที่สุดของไทย เรือต่างประเทศก็จะเข้ามาบรรทุกข้าวและสินค้าอื่นไปขายต่อยังจีน ฮ่องกง และสิงคโปร์เป็นจำนวนมาก ทั้งยังทำให้เงินตราต่างประเทศเข้าสู่ราชสำนักเป็นจำนวนมาก ราษฎรทั่วบ้านทั่วเมืองก็มีเงินตราหมุนเวียนอยู่ในมืออย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน[29] และเมื่อเลิกห้ามไม่ให้ส่งข้าวขายยังต่างประเทศ ก็ทำให้มีการทำนาแพร่หลายกว่าแต่ก่อน มีที่นาใหม่เกิดขึ้นทุกปี พ่อค้าต่างชาติก็ขนข้าวออกไปปีละหลายหมื่นเกวียน "ราษฎรก็กดราคาเข้าให้แพงอยู่เป็นนิตย์ ด้วยคิดจะขายเอาเงินให้มาก"[30] ทั้งนี้ ราคาข้าวในสมัยรัชกาลที่ 4 อยู่ที่เกวียนละ 16 ถึง 20 บาท แพงกว่าสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งอยู่ที่เกวียนละ 3 ถึง 5 บาท[31]
การที่ราษฎรมีเงินมากกว่าแต่ก่อนก็ทำให้ชาวนามีโอกาสไถ่ลูกเมียที่ขายให้แก่ผู้อื่น ทั้งราคาทาสก็แพงขึ้นกว่าสมัยก่อนด้วย โดยใน พ.ศ. 2412 หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งว่า ฝรั่งผู้หนึ่งซื้อทาสเป็นเงิน 350 บาท ผัวเป็นคนขาย[31]
ฝรั่งที่เข้ามาจ้างลูกจ้างคนไทยต่างก็ให้ค่าจ้างเป็นรายเดือนและโบนัส คิดเป็นมูลค่าสูงกว่าข้าราชการไทยเสียมาก[32] เพราะได้รับพระราชทานเงินเบี้ยหวัดประจำปีอย่างเดียว รัฐบาลจึงได้เพิ่มเงินเบี้ยหวัดและค่าแรงแก่ข้าราชการและคนงานมากขึ้น จนเพิ่มเป็นหมื่นชั่งเศษในปลายรัชกาลที่ 4[33] ส่วนพระราชบัญญัติเกณฑ์จ้างที่ออกในรัชกาลที่ 5 ได้กำหนดอัตราค่าจ้างไว้ดังนี้: ถ้ากินอาหารของหลวง วันละ 16 อัฐ ถ้านำอาหารมาเอง วันละ 32 อัฐ (ยกเว้นมณฑลนครศรีธรรมราชให้ 24 อัฐ) ซึ่งนับว่าเป็นการเพิ่มค้าแรงจากสมัยก่อนทั้งหมด ตามแนวโน้มราคาของกินของใช้[33]
ด้านพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้รับแจ้งจากทางกงสุลว่าฝรั่งในกรุงไม่มีหนทางขี่รถขี่ม้าไปเที่ยว ทรงพระราชดำริว่า การตัดถนนจะเป็นการทำให้บ้านเมืองงดงามขึ้น จึงทรงให้สร้างถนน ได้แก่ ถนนหัวลำโพง ถนนเจริญกรุง และถนนสีลม แต่ละเส้นกว้าง 5 ศอก กับคลองถนนตรงและคลองสีลม[34] นอกจากนี้ยังมีการสร้างตึกแถวและสะพานเหล็กอีกด้วย
ในสมัยปลายรัชกาลที่ 4 ฝรั่งต่างก็เข้ามาตั้งโรงงานในสยามเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่โรงสีข้าว โรงงานน้ำตาลทราย อู่ต่อเรือ โรงเลื่อยไม้ เป็นต้น การที่สยามรับเอาวิทยาการสมัยใหม่เข้ามาใช้หลายอย่างนี้ทำให้ฝรั่งเรียกขานว่าเป็น "เมืองไทยยุคใหม่"[35]
ผลของสนธิสัญญายังเป็นการให้สิทธิเสรีภาพในการถือครองที่ดินแก่ทั้งราษฎรไทยและชาวต่างประเทศ ซึ่งแต่ก่อนราษฎรไม่ค่อยกล้าให้ชาวต่างประเทศถือครองที่ดินเพราะกลัวในหลวงจะกริ้ว[36] รัฐบาลไทยอยากให้ฝรั่งเข้ามาตั้งโรงงานสมัยใหม่ จำต้องยอมผ่อนปรนเรื่องการถือครองที่ดินให้แก่ฝรั่ง แต่ก็ไม่ใช่จะถือครองได้ทุกที่ รัฐบาลแบ่งที่ดินออกเป็นสามเขต คือ ในพระนครและห่างกำแพงพระนครออกไปสองร้อยเส้นทุกทิศ ยอมให้เช่าแต่ไม่ยอมให้ซื้อ ถ้าจะซื้อต้องเช่าครบ 10 ปีก่อน หรือจะต้องได้รับอนุญาตจากเสนาบดี เขตที่ล่วงออกไป เจ้าของที่และบ้านมีสิทธิให้เช่าหรือขายกรรมสิทธิ์ได้โดยไม่มีข้อแม้ แต่ล่วงจากเขตนี้ไปอีก ห้ามมิให้ฝรั่งเช่าหรือซื้อโดยเด็ดขาด[37] เมื่อราษฎรได้รับสิทธิในการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน ราษฎรก็มีทางทำมาหากินเพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่ง คือ การจำนองที่ดินเพื่อกู้เงิน หรือขายฝากขายขาดที่ดินของตนได้[38]
นอกจากนี้ ยังปรากฏว่าฝรั่งต้องการดีบุกมาก เนื่องจากมีการปฏิวัติอุตสาหกรรม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้งผู้ว่าราชการเมืองกระ เมืองระนองและเมืองภูเก็ต ซึ่งเคยทำงานขุดแร่ดีบุกมาก่อน ก็ระดมไพร่มาขุดแร่ดีบุกอย่างเต็มที่ จึงผลิตดีบุกได้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน รัฐบาลก็พลอยได้ผลประโยชน์ไปด้วย[39]
ใน พ.ศ. 2410 รัฐบาลมีรายได้ปีละ 3,200,000 บาท ซึ่งยังถือว่าน้อยกว่ารายได้ที่ควรจะเป็นอยู่มาก ทำให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจำต้องปฏิรูปการปกครองแผ่นดินและการคลัง เพื่อมิให้เงินแผ่นดินรั่วไหลไปสู่มือข้าราชการ[40]
การยกเลิก
[แก้]ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีความพยายามเจรจาเพื่อยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของคนในบังคับอังกฤษ โดยเอ็ดเวิร์ด เอช. สโตรเบล ที่ปรึกษาราชการแผ่นดินชาวอเมริกัน เสนอให้ไทยแลกหัวเมืองมลายู พร้อมกับขอกู้เงิน 4 ล้านปอนด์ ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อนำไปสร้างทางรถไฟสายใต้ โดยมีการลงนามในสนธิสัญญาดังกล่าวเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2451 โดยรัฐบาลไทยยอมยกสี่รัฐมาลัย (ไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และปะลิส) ตลอดจนเกาะใกล้เคียงให้แก่อังกฤษ ฝ่ายอังกฤษให้คนในบังคับตนที่ลงทะเบียนไว้กับกงสุลก่อนหน้านี้ขึ้นกับศาลต่างประเทศ และให้คนในบังคับหลังทำสนธิสัญญาฉบับนี้ขึ้นกับศาลไทย โดยมีที่ปรึกษากฎหมายชาวยุโรปร่วมพิจารณาคดี แต่ศาลกงสุลยังมีอำนาจนำคดีไปพิจารณาได้[41]
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งยุติ รัฐบาลสยามพยายามเจรจาขอแก้ไขสนธิสัญญาอันไม่เป็นธรรมในด้านสิทธิสภาพนอกอาณาเขตและภาษีศุลกากร ซึ่งก็ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี โดยมีเงื่อนไขว่าสยามจะต้องบังคับใช้ประมวลกฎหมายตามแบบสมัยใหม่ และบางประเทศได้ขอสิทธิพิเศษเพิ่มเติมอีกในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ภายใน พ.ศ. 2470 ประเทศต่าง ๆ นับสิบประเทศก็ยินยอมลงนามแก้ไขสนธิสัญญาดังกล่าว[42]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ พระจอมเกล้า "King Mongkut" พระเจ้ากรุงสยาม; 2547 : 160.
- ↑ พระจอมเกล้า "King Mongkut" พระเจ้ากรุงสยาม; 2547 : 168.
- ↑ พระจอมเกล้า "King Mongkut" พระเจ้ากรุงสยาม; 2547 : 169.
- ↑ 4.0 4.1 Siam. Encyclopædia Britannica Eleventh Edition. สืบค้น 17-12-2553.
- ↑ ชัย เรืองศิลป์. หน้า 155.
- ↑ "Ode to Friendship, Celebrating Singapore - Thailand Relations: Introduction". National Archives of Singapore. 2004. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-03-03. สืบค้นเมื่อ 2007-04-24.
- ↑ ชัย เรืองศิลป์. หน้า 173.
- ↑ 8.0 8.1 ชัย เรืองศิลป์. หน้า 174.
- ↑ ชัย เรืองศิลป์. หน้า 168.
- ↑ 10.0 10.1 โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. การเมืองการปกครองไทย: หลายมิติ. หน้า 17.
- ↑ ดนัย ไชยโยธา. (2546). ประวัติศาสตร์ไทย: ยุคกรุงธนบุรีถึงกรุงรัตนโกสินทร์. สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์. ISBN 974-276-111-6. หน้า 150.
- ↑ 12.0 12.1 12.2 12.3 ชัย เรืองศิลป์. หน้า 179.
- ↑ "Impacts of Trade liberalization under the Agreement on Agriculture (AoA) of the World Trade Organization: A Case Study of Rice". Rural Reconstruction and Friends Alumni, Asia Pacific Research Network. 2002-12-01. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-28. สืบค้นเมื่อ 2007-04-24.
- ↑ โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. การเมืองการปกครองไทย: หลายมิติ. หน้า 23.
- ↑ พระจอมเกล้า "King Mongkut" พระเจ้ากรุงสยาม; 2547 : 160-161.
- ↑ ชัย เรืองศิลป์. หน้า 179-180.
- ↑ 17.0 17.1 17.2 17.3 ชัย เรืองศิลป์. หน้า 180.
- ↑ Ingram, James C. (1971). Economic Change in Thailand 1850-1970. California: Stanford University Press. p. 34.
- ↑ 19.0 19.1 19.2 19.3 ชัย เรืองศิลป์. หน้า 181.
- ↑ ชัย เรืองศิลป์. หน้า 197.
- ↑ ดนัย ไชยโยธา. (2546). ประวัติศาสตร์ไทย: ยุคกรุงธนบุรีถึงกรุงรัตนโกสินทร์. สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์. ISBN 974-276-111-6. หน้า 151.
- ↑ ชัย เรืองศิลป์. หน้า 182.
- ↑ ชัย เรืองศิลป์. หน้า 183.
- ↑ 24.0 24.1 ชัย เรืองศิลป์. หน้า 184.
- ↑ 25.0 25.1 ชัย เรืองศิลป์. หน้า 185.
- ↑ ชัย เรืองศิลป์. หน้า 186-187.
- ↑ 27.0 27.1 ชัย เรืองศิลป์. หน้า 202.
- ↑ ชัย เรืองศิลป์. หน้า 188.
- ↑ ชัย เรืองศิลป์. หน้า 204.
- ↑ ชัย เรืองศิลป์. หน้า 205.
- ↑ 31.0 31.1 ชัย เรืองศิลป์. หน้า 206.
- ↑ ชัย เรืองศิลป์. หน้า 207.
- ↑ 33.0 33.1 ชัย เรืองศิลป์. หน้า 208.
- ↑ ชัย เรืองศิลป์. หน้า 208-209.
- ↑ ชัย เรืองศิลป์. หน้า 215.
- ↑ ชัย เรืองศิลป์. หน้า 218.
- ↑ ชัย เรืองศิลป์. หน้า 218-219.
- ↑ ชัย เรืองศิลป์. หน้า 220.
- ↑ ชัย เรืองศิลป์. หน้า 220-221.
- ↑ ชัย เรืองศิลป์. หน้า 222.
- ↑ ดนัย ไชยโยธา. (2546). ประวัติศาสตร์ไทย: ยุคกรุงธนบุรีถึงกรุงรัตนโกสินทร์. สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์. ISBN 974-276-111-6. หน้า 182.
- ↑ โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. การเมืองการปกครองไทย: หลายมิติ. หน้า 50-51.
บรรณานุกรม
[แก้]- พระจอมเกล้า "King Mongkut" พระเจ้ากรุงสยาม (พิมพ์ครั้งที่ 2 ed.). กรุงเทพฯ: มติชน. 2547. ISBN 9743230866.
- ชัย เรืองศิลป์ (2541). ประวัติศาสตร์ไทยสมัย พ.ศ. 2352-2453 ด้านเศรษฐกิจ. ไทยวัฒนาพานิช. ISBN 9740841244.