ความสัมพันธ์ไทย–พม่า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ความสัมพันธ์พม่า-ไทย)
ความสัมพันธ์ไทย–พม่า
Map indicating location of พม่า and ไทย

พม่า

ไทย
สถานทูตพม่าประจำประเทศไทย กรุงเทพมหานคร

ความสัมพันธ์ไทย–พม่า หมายถึงความสัมพันธ์ของสองประเทศตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน พม่ามีสถานทูตประจำประเทศไทยที่กรุงเทพมหานคร ส่วนประเทศไทยมีสถานทูตประจำประเทศพม่าที่ย่างกุ้ง[1][2] ความสัมพันธ์พม่า–ไทยมักดำเนินไปในเรื่องของเศรษฐกิจและการค้า นอกจากนี้ก็มีความขัดแย้งเป็นระยะ ๆ เช่นกรณีพิพาทเกาะหลาม เกาะคัน และเกาะขี้นก[3]

การเปรียบเทียบ[แก้]

ประเทศพม่า สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ไทย ราชอาณาจักรไทย
ตราแผ่นดิน
ธงชาติ ประเทศพม่า ไทย
ประชากร 53,582,855 คน 68,863,514 คน
พื้นที่ 676,578 ตร.กม. (261,228 ตร.ไมล์) 513,120 ตร.กม. (198,120 ตร.ไมล์)
ความหนาแน่น 76 คน/ตร.กม. (196.8 คน/ตร.ไมล์) 132.1 คน/ตร.กม. (342.1 คน/ตร.ไมล์)
เมืองหลวง เนปยีดอ กรุงเทพมหานคร
เมืองที่ใหญ่ที่สุด ย่างกุ้ง​ – 5,160,512 คน (เขตปริมณฑล 7,360,703 คน) กรุงเทพมหานคร – 8,305,218 คน (เขตปริมณฑล 10,624,700 คน)
การปกครอง เผด็จการทหาร ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ประมุขแห่งรัฐ ประธานาธิบดี: มหยิ่นซเว (รักษาการ) พระมหากษัตริย์: พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
หัวหน้ารัฐบาล นายกรัฐมนตรี: มี่นอองไลง์ นายกรัฐมนตรี: เศรษฐา ทวีสิน
ภาษาราชการ ภาษาพม่า ภาษาไทย
ศาสนาหลัก
กลุ่มชาติพันธุ์
จีดีพี (ราคาตลาด) 71.543 พันล้านดอลลาร์ (ต่อหัว 1,354 ดอลลาร์) 516 พันล้านดอลลาร์ (ต่อหัว 7,607 ดอลลาร์)
ค่าใช้จ่ายทางทหาร 2.43 พันล้านดอลลาร์ 5.69 พันล้านดอลลาร์

ประวัติศาสตร์[แก้]

สมัยอยุธยา[แก้]

สมัยอยุธยาการความสัมพันธ์เต็มไปด้วยความขัดแย้งจากสงครามนับแต่ครั้งอดีต โดยทั้งไทยและพม่าต่างชิงความเป็นใหญ่ในภูมิภาคเพื่อขยายอำนาจทางการเมือง การปกครอง และเป็นการควบคุมจุดยุทธศาสตร์ทางการค้าภายในแผ่นดินใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังพม่าได้เป็นใหญ่เหนือดินแดนมอญและไทใหญ่แล้ว พยายามขยายอำนาจเข้ามายังอาณาจักรอยุธยา โดยเดินทัพผ่านดินแดนมอญทางด้านตะวันตกหรือผ่านลงมาทางล้านนาทางด้านเหนือ การที่พม่ายกทัพมารบกับอยุธยาหลายครั้งแสดงให้เห็นถึงความต้องการเป็นใหญ่ในดินแดนแถบนี้ และพม่าต้องการสร้างความเป็นเอกภาพในดินแดนพม่าโดยการรวบรวมชนกลุ่มน้อยให้เป็นหนึ่งอันเดียวกัน แต่อุปสรรคสำคัญของพม่าคืออาณาจักรอยุธยาซึ่งมักสนับสนุนชนกลุ่มน้อยให้ต่อต้านอำนาจของพม่าเสมอ การยึดครองอยุธยาจึงเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความเป็นเอกภาพของพม่าด้วย ซึ่ง นำไปสู้การสูญเสียเอกราชของอยุธยา 2 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2112 และปี พ.ศ. 2310 ซึ่งอาณาจักรอยุธยาก็สามารถกอบกู้อิสรภาพได้ทั้งสองครั้ง

สมัยธนบุรี[แก้]

ส่วนใหญ่ไทยกับพม่าจะทำสงครามกันเกือบตลอดรัชกาลในสมัยกรุงธนบุรี ทั้งในด้านการต่อสู้เพื่อกอบกู้อิสรภาพจากพม่าของพระเจ้าตากสิน โดยไทยเป็นฝ่ายตั้งรับการรุกรานของพม่า หลังจากได้รับเอกราช ต้องทำสงครามกับพม่าถึง 9 ครั้ง และแย่งชิงความเป็นใหญ่ในอาณาจักรล้านนา บริเวณภาคเหนือของประเทศไทยในปัจจุบัน

สมัยรัตนโกสินทร์[แก้]

สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น[แก้]

อยู่ในลักษณะทำสงครามสู้รบกัน โดยไทยทำสงครามกับพม่ารวมทั้งสิ้น 10 ครั้ง สงครามครั้งที่มีความสำคัญที่สุดคือ สงครามเก้าทัพ ใน พ.ศ. 2328 แต่เมื่อพม่าเผชิญหน้ากับการคุกคามของลัทธิจักรวรรดินิยมตะวันตก คือ สหราชอาณาจักร ในเวลาต่อมาก็ไม่ได้ยกทัพมาสู้รบกับไทยอีก

สมัยใหม่[แก้]

ในปี พ.ศ. 2415 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้เสด็จเยือนประเทศอาณานิคมอังกฤษ 2 ประเทศ คือประเทศอินเดีย และประเทศพม่า (บริติชราช) ทำให้ทรงได้ทอดพระเนตรความเจริญที่อังกฤษนำมาพัฒนาอาณานิคมทั้งสอง สิ่งเหล่านี้พระองค์ท่านได้นำมาพัฒนาบ้านเมืองให้เกิดความเจริญขึ้น

ในปี พ.ศ. 2478 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อครั้งที่ทรงลี้ภัยการเมืองไปประทับอยู่ที่ปีนัง ได้ทรงเสด็จไปเยือนพม่าและได้ทรงบันทึกเรื่องราวขณะเสด็จเยือน ได้ทรงนำมานิพนธ์เป็นหนังสือเรื่องเที่ยวเมืองพม่า

วันที่ 2-5 มีนาคม พ.ศ. 2503 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเยือนสหภาพพม่า เพิ่มพูนสัมพันธไมตรีกับพม่า การเสด็จเยือนครั้งดังกล่าวทำให้ความสัมพันธ์ไทยกับพม่าดีขึ้นอย่างมาก

ปัญหาความไม่สงบด้านชายแดน[แก้]

วันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ทหารพม่ารบกับกะเหรี่ยงดีเคบีเอโดยได้มีระเบิดจากพม่าตกที่จังหวัดตากจำนวน 2 ลูก ส่งผลให้คนไทยได้รับบาดเจ็บจำนวน 8 ราย

วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2554 ทหารหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 4 อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ได้ปิดเส้นทางถนนบ้านห้วยน้ำนัก , บ้านห้วยแห้ง ตำบลช่องแคบ อำเภอพบพระ ไปยังบ้านช่องแคบ เนื่องจากการสู้รบระหว่างทหารรัฐบาลพม่ากับฝ่ายกะเหรี่ยงดีเคบีเอและกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง เคเอ็นยูเกิดขึ้นบริเวณตรงข้ามบ้านห้วยน้ำนัก และก่อนหน้านี้มีลูกกระสุนปืนล้ำเข้ามาตกในเขตไทย

วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ถึง 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 พลตรีนะคะมวย ผู้บัญชาการทหารกองกำลังติดอาวุธชาวกะเหรี่ยงกองพลน้อยโกะทูบลอ สั่งทหารปิดช่องทางเข้าออกตามแนวชายแดนไทย-พม่า เพื่อตอบโต้ทางการไทยที่ขึ้นบัญชีดำเป็นพ่อค้ายาเสพติด และตอบโต้ที่ถูก ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ประกาศว่าเป็นหนึ่งใน 25 คนที่มีหมายจับคดีค้ายาเสพติดมีค่าหัว 1 ล้านบาท

ความร่วมมือในด้านต่าง ๆ[แก้]

ด้านการค้า[แก้]

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับ เต็ง เส่ง

ในปี พ.ศ. 2558 การค้ารวมคิดเป็นมูลค่า 261,975.12 ล้านบาท (ลดลงร้อยละ 0.6 จากปี พ.ศ. 2557) ไทยส่งออก 140,789.55 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.32) นำเข้า 121,185 ล้านบาท (ลดลงร้อยละ 4.79 เนื่องจากมูลค่าการนำก๊าซธรรมชาติจากพม่าเข้าประเทศไทยลดลงจากการลดลงของราคาเชื้อเพลิงธรรมชาติในตลาดโลก) ได้ดุลการค้า 19,603.97 ล้านบาท เป็นการค้าชายแดนมูลค่า 214,694.38 ล้านบาท หรือร้อยละ 81.95 ของมูลค่าการค้ารวม

ด้านการลงทุน[แก้]

ไทยมีการลงทุนสะสมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 – มกราคม พ.ศ. 2559 มูลค่า 114,804.37 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6.54 ของการลงทุนจากต่างชาติ เป็นอันดับ 6 รองจากจีน สิงคโปร์ ฮ่องกง สหราชอาณาจักร และเกาหลีใต้ สาขาการลงทุนที่สำคัญ ได้แก่ พลังงาน การผลิต ประมง และปศุสัตว์ ผู้ลงทุนรายใหญ่ อาทิ ปตท.สผ. การไฟฟ้าฝ่ายผลิต แห่งประเทศไทย (กฟผ.) อิตาเลียนไทย ซีพี และเครือซิเมนต์ไทย ทั้งนี้ รัฐบาลไทยส่งเสริมการลงทุนและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคเอกชนไทยในพม่าอย่างมีความรับผิดชอบ

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. Burmese embassy in Bangkok เก็บถาวร 2011-01-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  2. Thai embassy in Burma เก็บถาวร 2011-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  3. Sophal, Sek (13 January 2020). "New subs sign of troubles to come?" (Opinion). Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 13 January 2020.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]