สุเทพ วงศ์กำแหง
สุเทพ วงศ์กำแหง | |
---|---|
![]() สุเทพ ใน พ.ศ. 2552 | |
สารนิเทศภูมิหลัง | |
เกิด | 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2477 ร.ต.สุเทพ วงศ์กำแหง อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา |
เสียชีวิต | 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 (85 ปี)[1][2] กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย |
คู่สมรส | ผุสดี อนัคมนตรี |
บุตร | 1 คน |
อาชีพ | ทหารอากาศ, นักร้อง, นักแสดง, ผู้กำกับภาพยนตร์, นักการเมือง |
ปีที่แสดง | พ.ศ. 2497 - 2563 |
สังกัด | ห้างแผ่นเสียงคาเธ่ย์ ห้างแผ่นเสียงลัคกี้ แบมบู กรุงไทย อโซน่า ตรามงกุฎ เมโทร นิธิทัศน์ แม่ไม้เพลงไทย โรส มีเดีย แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ |
ศิลปินแห่งชาติ | พ.ศ. 2533 - สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล-ขับร้อง) |
เรืออากาศตรี สุเทพ วงศ์กำแหง (12 พฤษภาคม พ.ศ. 2477 – 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563) ศิลปินแห่งชาติประจำปี พ.ศ. 2533 สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล-ขับร้อง) อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานครและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา
ประวัติ[แก้]
เรืออากาศตรี สุเทพ วงศ์กำแหง เกิดเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2477 ที่อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ศึกษาตั้งแต่เบื้องต้นจนจบชั้นมัธยมปีที่ 6 ที่จังหวัดบ้านเกิด ความมีแววของการเป็นนักร้องเริ่มมีขึ้นตั้งแต่สมัยที่เป็นนักเรียน โดยมักจะได้รับมอบหมายให้เป็นต้นเสียงร้องเพลงชาติที่โรงเรียนเสมอ ๆ
ครั้นจบชั้นมัธยมปีที่ 6 แล้ว ได้ย้ายมาอาศัยอยู่กับญาติที่กรุงเทพมหานคร ด้วยนิสัยรักการวาดเขียนและงานศิลปะเป็นทุนเดิมอยู่แล้วจึงเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเพาะช่าง ซึ่งระหว่างที่ศึกษาอยู่นั้นนอกจากจะแสดงฝีมืออย่างโดดเด่นในทางศิลปะแล้วยังเป็นนักร้องเสียงดีประจำห้องเรียน เวลาว่างมักจะฝึกซ้อมร้องเพลงเสมอตามแบบอย่างของนักร้องที่ชื่นชอบ เช่น วินัย จุลละบุษปะ สถาพร มุกดาประกร ปรีชา บุณยเกียรติ ฯลฯ
สุเทพได้มีโอกาสรู้จักและคุ้นเคยกับไสล ไกรเลิศ นักแต่งเพลง เนื่องจากบ้านอยู่ใกล้กัน ไศลเห็นแววความสามารถของสุเทพจึงชักชวนให้มาช่วยงาน เช่น เขียนโน้ตเพลง เขียนตัวหนังสือ ตลอดจนติดตามไปช่วยงานในธุรกิจบันเทิงต่าง ๆ เสมอ ทำให้สุเทพเริ่มคุ้นเคยกับบุคคลในวงการเพลงหลายคน ทั้งยังได้รับโอกาสให้ร้องเพลงสลับฉากละคร ร้องเพลงตามงานบันเทิงต่าง ๆ รวมถึงการทดลองเสียงแทนนักร้องตัวจริงก่อนที่จะทำการอัดเสียงเสมอ จากการที่ร้องเพลงได้อย่างดีเด่น ทำให้สุเทพได้ร้องเพลงบ่อยขึ้นเรื่อย ๆ จนได้รับคัดเลือกให้ร้องเพลงบันทึกแผ่นเสียงของตนเอง ต่อมาได้รับการสนับสนุนจากพลอากาศเอกทวี จุลละทรัพย์ ผู้ชื่นชอบการร้องเพลงของสุเทพ โดยช่วยส่งเสริมในทางต่าง ๆ ครั้นสุเทพเข้ารับการเกณฑ์ทหาร พลอากาศเอกทวีจึงได้ชักชวนให้เข้ารับราชการในกองทัพอากาศ โดยได้ประจำอยู่ที่วงดุริยางค์ทหารอากาศ ซึ่งมีปรีชา เมตไตรย์ เป็นผู้ควบคุมวง ระหว่างนั้น สุเทพได้บันทึกแผ่นเสียงมากขึ้น และสถานีวิทยุต่าง ๆ ก็ได้นำเพลงที่เขาร้องบันทึกแผ่นเสียงไปเปิดจนเป็นที่รู้จักแพร่หลายอย่างรวดเร็ว
ภายหลังออกจากกองทัพอากาศ สุเทพได้ร้องเพลงเป็นอาชีพหลัก เขาได้เข้าร่วมกับคณะชื่นชุมนุมศิลปิน มีโอกาสร้องเพลงทั้งในรายการวิทยุและโทรทัศน์อยู่เนือง ๆ ทำให้ชื่อเสียงของเขาเริ่มเพิ่มขึ้น งานต่าง ๆ จึงหลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสาย ในช่วงนั้นวงการภาพยนตร์ไทยกำลังเฟื่องฟู เขาจึงมีงานร้องเพลงประกอบภาพยนตร์ไทยเป็นจำนวนมาก ได้ร่วมแสดงภาพยนตร์ มีโอกาสร้องเพลงคู่กับสวลี ผกาพันธุ์ นักร้องยอดนิยมในเวลานั้นอยู่เสมอ หากใครซื้อแผ่นเสียงของสวลีไปก็มักจะมีเสียงสุเทพติดไปด้วย ชื่อเสียงของสุเทพจึงโด่งดังขึ้นเป็นอย่างมาก เขาจึงถือว่าความสำเร็จในเบื้องต้นส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์จากการได้ร้องเพลงคู่กับสวลี ผกาพันธุ์
จุดเด่นของสุเทพคือการมีน้ำเสียงที่ดี มีลีลาในการร้องเพลงที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว นุ่มนวลชวนฟัง อารมณ์ที่แสดงออกมาทางน้ำเสียงและสีหน้านั้นก็สามารถสะกดใจผู้ฟังให้คล้อยตามและเข้าถึงอารมณ์ของเพลงนั้น ประกอบกับการที่เอาใจใส่อย่างจริงจังในการทำงาน ทำให้ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว จนได้รับฉายาจากรงค์ วงษ์สวรรค์ว่า "นักร้องเสียงขยี้แพรบนฟองเบียร์" มีผลงานดีเด่นต่อเนื่องมานานกว่า 40 ปี
ในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2500 สุเทพได้ร่วมเดินทางไปฮ่องกง และสาธารณรัฐประชาชนจีนกับศิลปินแขนงต่าง ๆ กลุ่มใหญ่ จากนั้นเดินทางต่อไปยังประเทศญี่ปุ่นเพื่อศึกษาด้านการวาดภาพที่เขารักในอดีต ระหว่างนั้นก็ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากแฟนเพลงคนไทย เขาศึกษาการวาดภาพตามและร้องเพลงที่ญี่ปุ่นประมาณ 3 ปี จึงเดินทางกลับประเทศไทย
งานร้องเพลงของ สุเทพ วงศ์กำแหง สามารถแบ่งออก 3 ช่วง ตามช่วงเวลาดังนี้
- ช่วงแรก คือช่วงเริ่มต้นก่อนที่จะเดินทางไปอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น ส่วนมากเป็นงานร้องเพลงประกอบละครและภาพยนตร์ งานอัดแผ่นเสียง และงานร้องเพลงตามไนต์คลับเพลงดังที่สร้างชื่อเสียงให้เขามากเป็นพิเศษในช่วงนั้นก็คือเพลงรักคุณเข้าแล้ว ซึ่งประพันธ์ทำนองโดยสมาน กาญจนผลิน และประพันธ์เนื้อร้องโดยสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ เพลงนี้ถือเป็นเพลงอมตะที่ยังเป็นที่นิยมต่อเนื่องตลอดมา นอกจากนั้นยังมีเพลงคุณจะงอนมากไปแล้ว ผมต้องวิวาห์เสียที เพียงคำเดียว นางอาย สวรรค์มืด เท่านี้ก็ตรม และลาก่อนสำหรับวันนี้ เป็นต้น
- ช่วงที่สอง ประมาณปี พ.ศ. 2503 ภายหลังจากที่เดินทางกลับประเทศไทย แฟนเพลงให้การต้อนรับการอย่างอบอุ่น เขาจึงมีงานร้องเพลงมากมาย เพลงดัง ๆ ที่เขาขับร้องในช่วงนั้น ได้แก่ เพลงเกิดมาอาภัพ อาลัยโตเกียว อนิจจา น้ำตาลใกล้มด สัญญารัก เธออยู่ไหน และเย้ยฟ้าท้าดิน เป็นต้น โดยเฉพาะเพลงเย้ยฟ้าท้าดินที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จมากที่สุดเพลงหนึ่ง
- ช่วงที่สาม ตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2512 เป็นต้นมา นับว่าเป็นช่วงที่เขาก้าวไปถึงจุดสูงสุดทั้งด้านชื่อเสียงและผลงาน
คำประกาศเกียรติคุณ[แก้]
สุเทพ วงศ์กำแหง เกิดเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2477 ที่จังหวัดนครราชสีมา เป็นศิลปินนักร้องเพลงไทยสากลที่มีผลงานดีเด่นทั้งในและนอกประเทศเป็นเวลาอันต่อเนื่องกันมากว่า 40 ปี มีผลงานขับร้องที่ประจักษ์ชัดเจนในความสามารถอันสูงส่ง ได้พัฒนาวิธีการขับร้องเพลงไทยสากลอย่างไพเราะ และทวีความงดงามในศิลปะแขนงนี้ยิ่งขึ้นเป็นลำดับ เป็นผู้ตั้งใจทำงานอย่างต่อเนื่องจนปรากฏผลงานเพลงมากมาย เช่น ขับร้องเพลงประกอบในภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ เพลงไทยสากลทั่วไป เพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพลงอันเกี่ยวด้วยพระศาสนา และจริยธรรม ตลอดจนใช้ความสามารถในเชิงศิลปะสร้างสรรค์อำนวยคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติเสมอมา ทั้งได้ถ่ายทอดความรู้ความสามารถแก่ศิษย์เป็นจำนวนมาก จากความสามารถดังกล่าวยังส่งผลให้เขาได้รับพระราชทานรางวัลแผ่นเสียงทองคำไม่น้อยกว่า 5 ครั้ง รางวัลเสาอากาศทองคำในฐานะนักร้องยอดเยี่ยม 2 ครั้ง และรางวัลอื่น ๆ อีกมากมาย สุเทพยังบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติเป็นอเนกประการ คุณงามความดีที่ได้กระทำอย่างต่อเนื่องมานี้เป็นที่ชื่นชมชัดเจนในหมู่ประชาชนคนไทยโดยทั่วไปจนวาระสุดท้ายของชีวิต
สุเทพ วงศ์กำแหง จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล – ขับร้อง) ประจำปี พ.ศ. 2533
การศึกษา[แก้]
- โรงเรียนวัดสมอราย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
- โรงเรียนประจำอำเภอ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
การทำงาน[แก้]
- ร้านตัดเสื้อ ตำแหน่งเขียนตัวหนังสือ
- กองทัพอากาศ ยศจ่าอากาศตรี
รางวัลและเกียรติคุณ[แก้]
- รางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน
- รางวัลเสาอากาศทองคำ
- โล่เพชร
- โล่เกียรติยศ สมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย
- ปริญญาบัตรศึกษาศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ศิลปกรรม
- โล่เกียรติยศ วัดไทยในลอสแอนเจลิส
- ปริญญาศึกษาศาสตรบัณฑิตกิติมาศักดิ์ (ศิลปกรรม) สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล
- โล่เกียรติยศพระราชทาน สมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2525
- รางวัลศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล-ขับร้อง) สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2533
งานการเมือง[แก้]
สุเทพเป็นศิลปินที่สนใจการเมือง มีส่วนสนับสนุนนักศึกษาให้เรียกร้องประชาธิปไตยสมัยเหตุการณ์ 14 ตุลา พ.ศ. 2516 เป็นสมาชิกพรรคแนวร่วมสังคมนิยม ต่อมาได้สมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สังกัดพรรคพลังใหม่ และได้รับเลือกตั้งหลายสมัย มีโอกาสทำงานรับใช้สังคมมากขึ้น นับเป็นศิลปินที่ทำประโยชน์เพื่อประเทศอย่างสม่ำเสมอตลอดมา
ในปี พ.ศ. 2525 เคยเข้าร่วมก่อตั้งและเป็นเลขาธิการพรรคพลังใหม่ ซึ่งนำโดยนายแพทย์กระแส ชนะวงศ์ หัวหน้าพรรค ร้อยตรีสมหวัง ศรีชัย รองหัวหน้าพรรค และแกนนำคนสำคัญอาทิเช่น ชัชวาลย์ ชมภูแดง บรรลือ ชำนาญกิจ ทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์[3] ในปี พ.ศ. 2530 ได้รับแต่งตั้งเป็นรองหัวหน้าพรรคกิจประชาคม[4]
สุเทพเคยดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร สังกัดพรรคพลังธรรม ในปี พ.ศ. 2531
สุเทพได้ร่วมลงนามทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอนายกรัฐมนตรีพระราชทาน เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2549 โดยอ้างอิงความตามมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540[5]
![]() |
วิกิซอร์ซ มีงานต้นฉบับเกี่ยวกับ: |
เคยขึ้นเวทีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พ.ศ. 2551 ในวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2551 และร้องเพลง “คน” และ “อำนาจเงิน” โดยไม่มีดนตรีประกอบ[6]
เพลงที่ร้องประกอบภาพยนตร์และละครโทรทัศน์[แก้]
- สกาวเดือน จากภาพยนตร์เรื่อง สกาวเดือน
- แผ่นดินของเรา จากภาพยนตร์เรื่อง โพระดก
- มนต์รักบ้านนา จากภาพยนตร์เรื่อง มนต์รักบ้านนา พ.ศ. 2505
- ดอกอ้อ จากภาพยนตร์เรื่อง ดอกอ้อ พ.ศ. 2511
- แววมยุรา จากภาพยนตร์เรื่อง แววมยุรา พ.ศ. 2501
- ยอดพธูเมืองแปร จากละครโทรทัศน์เรื่อง ผู้ชนะสิบทิศ พ.ศ. 2509 - 2510
- ปองใจรัก จุฬาตรีคูณ จากละครโทรทัศน์เรื่อง จุฬาตรีคูณ'
- ปูจ๋า สกุลกา ร้อยป่า น้ำค้าง จากภาพยนตร์เรื่อง ปูจ๋า สกุลกา ร้อยป่า น้ำค้าง
- ดอกแก้ว จากภาพยนตร์เรื่อง ดอกแก้ว พ.ศ. 2505
- พะเนียงรัก จากภาพยนตร์เรื่อง พะเนียงรัก พ.ศ. 2506
- สวรรค์มืด เทขยะ พิศภาพดวงใจ มนต์รักดวงใจ จากภาพยนตร์เรื่อง สวรรค์มืด
- ละอองดาว จากภาพยนตร์เรื่อง ละอองดาว พ.ศ. 2507
- รักแท้ จากภาพยนตร์เรื่อง ในม่านเมฆ พ.ศ. 2509
- หนึ่งนุช’ จากภาพยนตร์เรื่อง หนึ่งนุช' พ.ศ. 2514
เพลงประเภททั่วไป ซึ่งมีมากกว่า 3,000 เพลง เช่น[แก้]
- ในโลกแห่งความฝัน (แผ่นเสียงทองคำพระราชทาน)
- ใจพี่ (แผ่นเสียงทองคำพระราชทาน)
- ครวญ (แผ่นเสียงทองคำพระราชทาน)
- ตัวไกลใจยัง (แผ่นเสียงทองคำพระราชทาน พ.ศ. 2522)
- ดาวลอย
- เพียงคำเดียว
- ดอกแก้ว
- คำคน ลาก่อนสำหรับวันนี้
- ไม่อยากให้โลกนี้มีความรัก
- ชั่วนิจนิรันดร
- โลกนี้คือละคร
- คนจะรักกัน
- บทเรียนก่อนวิวาห์
- คืนหนึ่ง
- วิญญาณในภาพถ่าย
- หวานรัก
- ชื่นรัก
- เสน่หา
เพลงประเภทปลุกใจและศาสนา[แก้]
- เทิดพระเกียรติพระปิยมหาราช
- สดุดีมหาราชา
- พลังไทย
- พระรัตนตรัย
- พุทธธรรม
- เดือนเพ็ญตรัสรู้
- ใต้ร่มพระบารมี
คอนเสิร์ต[แก้]
- คอนเสิร์ต เกิดมาเพื่อเพลง 77 ปี สุเทพ วงศ์กำแหง (2554)
- คอนเสิร์ต รักเธอเสมอ (2554)
- คอนเสิร์ต เพชรในเพลง (2554)
- คอนเสิร์ต เพลงคู่ ครูเพลง (2555)
- คอนเสิร์ต ชมวัง...ฟังเพลง (2555)
- คอนเสิร์ต เพชรในเพลง ครั้งที่ 2 (2555)
- คอนเสิร์ต หนังไทยในเสียงเพลง (2555)
- คอนเสิร์ต 89 ปี ชาลี อินทรวิจิตร (2555)
- คอนเสิร์ต บ้านเมืองสวยด้วยเสียงเพลง (2555)
- คอนเสิร์ต ตามรอยแพร บนฟองเบียร์ สู่ปีที่ 80 สุเทพ วงศ์กำแหง (2556)
- คอนเสิร์ต เพลงทำนอง...สองครู (2556)
- คอนเสิร์ต เมื่อเพลงพาไป (2557)
- คอนเสิร์ต กล่อมกรุง (2557)
- คอนเสิร์ต รัตนโกสินทร์ (2557)
- คอนเสิร์ต รักปักใจ ลินจง (2557)
- คอนเสิร์ต 100 ปี กาญจนะผลิน (2557)
- คอนเสิร์ต จุฬาฯ พาเพลิน ลีลาไทยในบทเพลง (2557)
- คอนเสิร์ต รวมใจชาวอีสาน (2558)
- คอนเสิร์ต บี พงษ์พันธ์ วันแมนโชว์ (2558)
- คอนเสิร์ต ที่สุดที่ดี เพื่อพี่รี่ สวลี ผกาพันธุ์ (2558)
- คอนเสิร์ต Master of Voices 3 ตำนานเพลงรักแห่งสยาม (2558)
- คอนเสิร์ต กล่อมกรุง 2 (2558)
- คอนเสิร์ต 40 ปี อุมาพร (2559)
- คอนเสิร์ต สองวัยใจเดียวกัน (2559)
- คอนเสิร์ต 93 ปี ชาลี อินทรวิจิตร เพลงหนังคู่แผ่นดิน (2559)
- คอนเสิร์ต ''สองวัยใจเดียวกัน'' ครั้งที่ 2 (2561)
- คอนเสิร์ต พลังแห่งรัก สุเทพ วงศ์กำแหง (2562)
ผลงานการแสดงละคร[แก้]
- เงิน เงิน เงิน (2540)
ผลงานการแสดงภาพยนตร์[แก้]
- ขบวนเสรีจีน (2502)
- เงิน เงิน เงิน (2508)
- สาวขบเผาะ (2515)
- วิมานดารา (2517)
- เดือนเสี้ยว (2528)
- ด๊อกเตอร์ครก (2535)
เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]
- พ.ศ. 2533 –
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก (ท.ช.)[7]
- พ.ศ. 2531 –
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย (ท.ม.)[8]
- พ.ศ. 2538 –
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 4 จตุตถดิเรกคุณาภรณ์ (จ.ภ.)[9]
อ้างอิง[แก้]
- ↑ ปิดตำนาน'สุเทพ วงศ์กำแหง'นักร้องเสียงขยี้ฟองเบียร์
- ↑ วงการเพลงสุดเศร้า! สิ้น ศิลปินแห่งชาติ สุเทพ วงศ์กำแหง เสียชีวิตในวัย 86 ปี
- ↑ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจดทะเบียนพรรคการเมือง
- ↑ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรคกิจประชาคม
- ↑ นายกรัฐมนตรีพระราชทาน
- ↑ "สุเทพ วงศ์กำแหง: 'อำนาจเงิน' และ 'คน' บทเวทีพันธมิตรฯ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-03-17. สืบค้นเมื่อ 2010-10-21.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๐๗ ตอนที่ ๒๔๐ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒, ๔ ธันวาคม ๒๕๓๓
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๐๕ ตอนที่ ๒๐๒ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓, ๓ ธันวาคม ๒๕๓๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๑๒ ตอนที่ ๑๗ ข หน้า ๑๔, ๔ ธันวาคม ๒๕๓๘
แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]
- สกุลไทย เก็บถาวร 2005-05-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- หออัครศิลปิน เก็บถาวร 2020-12-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Pohchang.org เก็บถาวร 2013-06-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- สกุลไทย เก็บถาวร 2005-05-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2477
- บุคคลที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2563
- บุคคลจากอำเภอสูงเนิน
- นักร้องชายชาวไทย
- นักร้องเพลงลูกกรุง
- นักแสดงชาวไทย
- ศิลปินแห่งชาติ
- นักการเมืองไทย
- สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา
- สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร
- พรรคพลังใหม่
- พรรคพลังธรรม
- พรรคกิจประชาคม
- พรรคประชากรไทย
- พรรคชาติพัฒนา (พ.ศ. 2535)
- พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
- บุคคลจากวิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์
- ผู้ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ท.ช.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ท.ม.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จ.ภ.