ทองใบ ทองเปาด์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ทองใบ ทองเปาด์
เกิด12 เมษายน พ.ศ. 2469
จังหวัดมหาสารคาม ประเทศสยาม
เสียชีวิต24 มกราคม พ.ศ. 2554 (84 ปี)
กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
นามปากกาศรีสารคาม, ธิดา ประชารักษ์, รังสรรค์ ภพไพบูลย์
อาชีพนักหนังสือพิมพ์ ทนายความ
คู่สมรสประทุม ทองเปาด์ (ศรีสุภา)
วาสนา ทองเปาด์ (คล้ายแจ้ง)
บุตร3 คน

ทองใบ ทองเปาด์ (12 เมษายน พ.ศ. 2469 – 24 มกราคม พ.ศ. 2554) ทนายความ นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ผู้ได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2539[1] และสมาชิกวุฒิสภา[2]

ประวัติ[แก้]

ทองใบ ทองเปาด์ เกิดที่ตำบลตลาด อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม เป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวน 6 คนของ หนู และเหง่า มีอาชีพทำนา จบชั้นมัธยม 6 ที่จังหวัดมหาสารคาม และมาเรียนต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เข้าเรียนที่คณะสหกรณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แล้วลาออกมาเรียนนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างศึกษาในกรุงเทพ เนื่องจากครอบครัวมีฐานะยากจน จึงอาศัยเป็นเด็กวัด อยู่วัดชนะสงครามมาตลอด

หลังจบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เริ่มทำงานเป็นทนายความ ว่าความให้กับนักหนังสือพิมพ์ในคดีกบฏสันติภาพ เมื่อปี พ.ศ. 2496 พร้อมกับทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์ ที่หนังสือพิมพ์ "ไทยใหม่" ร่วมกับ สุภา ศิริมานนท์ ต่อมาย้ายไปหนังสือพิมพ์ "พิมพ์ไทย" ร่วมกับ ทวีป วรดิลก ย้ายไป "สยามนิกร" "สุภาพบุรุษ-ประชามิตร" และ "ข่าวภาพ" โดยมีหน้าที่เขียนข่าวการเมือง มีฉายาว่า "บ๊อบการเมือง" (เนื่องจากขณะนั้น ทองใบไว้ผมยาว ทรงบ๊อบ) [3]

ในปี พ.ศ. 2501 ได้เดินทางร่วมคณะหนังสือพิมพ์ไปประเทศจีน ร่วมกับกุหลาบ สายประดิษฐ์ สุวัฒน์ วรดิลก และเพ็ญศรี พุ่มชูศรี เมื่อกลับมาจึงถูกจับขังคุกหลายปีโดยไม่มีความผิด ได้รับการปล่อยตัวเมื่อ พ.ศ. 2509 ออกมาทำงานเป็นทนายความ และนักข่าวหนังสือพิมพ์ เดลินิวส์

ทองใบ ทองเปาด์ ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ระหว่างปี พ.ศ. 2527 - 2529 [4] และได้รับคัดเลือกเป็นผู้รับรางวัลรามอน แมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ ประจำปี 2527 แต่ทองใบปฏิเสธที่จะเดินทางไปรับรางวัลที่ประเทศฟิลิปปินส์ เนื่องจากต้องรับรางวัลจากประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ซึ่งในขณะนั้นมีภาพของผู้นำเผด็จการ และละเมิดสิทธิมนุษยชน จากกรณีลอบสังหารเบนิกโน อากีโน จูเนียร์ (สามีของคอราซอน อากีโน) เมื่อ พ.ศ. 2526 [3]

ชีวิตครอบครัว[แก้]

ทองใบสมรสครั้งแรก ประทุม ทองเปาด์ (ศรีสุภา) มีบุตร-ธิดาด้วยกันทั้งหมด 3 คน ได้แก่ ปัทมาวดี ทองเปาด์, ปัทมธิดา ทองเปาด์, นิพนธ์ ทองเปาด์ แต่ก็ได้หย่าร้างกัน ทองใบจึงสมรสครั้งที่สอง วาสนา ทองเปาด์ (คล้ายแจ้ง) ไม่มีบุตรด้วยกัน

เสียชีวิต[แก้]

ทองใบ ทองเปาด์ ได้เสียชีวิตด้วยอาการหัวใจวาย เมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2554 งานศพถูกจัดขึ้น ณ ที่วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ประกาศรัฐสภา เรื่อง ตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญราชกิจจานุเบกษา เล่ม 114 ตอน 2ง วันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2540
  2. ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ผลการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา เขตเลือกตั้งจังหวัดมหาสารคาม (นายทองใบ ทองเปาด์)[ลิงก์เสีย]
  3. 3.0 3.1 แถมสิน รัตนพันธุ์ตำนาน "ลึก(ไม่)ลับ"' ฉบับ ทระนง ฅนหนังสือพิมพ์. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์ร่วมด้วยช่วยกัน, พ.ศ. 2548. 160 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-9785-33-9
  4. สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย. เสี้ยวศตวรรษ สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์สามัคคีสาร (ดอกหญ้า), พ.ศ. 2539. 263 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-89658-0-5
  5. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2007-01-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๑ ตอนที่ ๒๓ ข หน้า ๓๕, ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๗
  6. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2022-05-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๙ ตอนที่ ๒๑ ข หน้า ๖๒, ๔ ธันวาคม ๒๕๔๕

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]