ข้ามไปเนื้อหา

มนตรี ตราโมท

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มนตรี ตราโมท

เกิด17 มิถุนายน พ.ศ. 2443
จังหวัดสุพรรณบุรี ประเทศสยาม
เสียชีวิต6 สิงหาคม พ.ศ. 2538 (95 ปี)
จังหวัดนนทบุรี ประเทศไทย
สัญชาติไทย
อาชีพนักดนตรีไทย
มีชื่อเสียงจากเพลงไทยมากกว่า 200 เพลง เช่น ต้อยตลิ่ง,
ตำราและคำอธิบายทางดนตรีไทยในสารานุกรมไทย,
ครูประกอบพิธีไหว้ครูดนตรีไทย
คู่สมรสลิ้นจี่ บุรานนท์,
พูนทรัพย์ ตราโมท
บุตร4 คน
รางวัลพ.ศ. 2528 - ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย)

มนตรี ตราโมท (17 มิถุนายน พ.ศ. 2443 – 6 สิงหาคม พ.ศ. 2538) เป็นนักดนตรีไทย และเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง(ดนตรีไทย) พ.ศ. 2528

ประวัติ

[แก้]

มนตรี ตราโมท เดิมชื่อ "บุญธรรม" เกิดเมื่อ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2443 ที่บ้านท่าพี่เลี้ยง อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นบุตรนายยิ้ม นางทองอยู่ และเป็นหลานชายในพระครูสัทธานุสารีมุนีวินยานุโยคสังฆวาหะ หรือหลวงพ่อลี่ ปุริสพันธ์ อดีตเจ้าอาวาสวัดสุวรรณภูมิ และเจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นผู้ส่งเสริมสนับสนุนการดนตรีไทยของจังหวัดสุพรรณบุรีในสมัยนั้น

ในสมัยที่มีการประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการตั้งชื่อบุคคล บุญธรรมจึงเปลี่ยนชื่อเป็น "มนตรี" เมื่อ 15 เมษายน พ.ศ. 2485 นามสกุล "ตราโมท" เป็นนามสกุลที่พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคำรบ ประทานให้ โดยมีสำเนียงล้อกับชื่อราชสกุล "ปราโมช"

มนตรีศึกษาที่โรงเรียนปรีชาพิทยากร สอบได้ชั้นมัธยมปีที่ 3 เหตุที่มนตรีมีโอกาสได้เป็นนักดนตรีไทยก็เพราะว่าบ้านของมนตรีอยู่ใกล้วัดสุวรรณภูมิ ซึ่งมีวงปี่พาทย์ฝึกซ้อมกันอยู่เป็นประจำ มนตรีจึงได้ยินเสียงเพลงปี่พาทย์อยู่เสมอจนจำทำนองเพลงได้เป็นตอน ๆ

เมื่อเรียนจบ ม.3 แล้ว จึงคิดที่จะเรียนต่อที่กรุงเทพฯ แต่มนตรีมีโรคภัยไข้เจ็บรบกวนตลอดเวลา เรียนไม่ทันเพื่อนฝูง เลยหมดกำลังใจที่จะเรียนต่อ ในเวลานั้น สมบุญ สมสุวรรณ ซึ่งเป็นนักฆ้องจึงชวนให้หัดปี่พาทย์ ซึ่งมนตรีก็มีใจรักอยู่แล้วจึงฝึกฝนด้วยความมานะพยายาม จนมีความคล่องแคล่วพอควร มนตรีได้เป็น นักดนตรีปี่พาทย์ อยู่ที่จังหวัดสุพรรณบุรี ประมาณ 2 ปี ต่อมาราวปี พ.ศ. 2456 มนตรีได้ย้ายไปอยู่ที่จังหวัดสมุทรสงคราม ที่บ้านสมบุญ สมสุวรรณ ซึ่งมีทั้งปี่พาทย์และ แตรวง มนตรีจึงได้มีโอกาสฝึกหัดทั้งสองอย่าง

เมื่ออายุได้ 17 ปี ได้สมัครเข้ารับราชการในกรมพิณพาทย์ทอง กรมมหรสพ กรมมหาดเล็ก ที่กรมพิณพาทย์หลวง มนตรีได้เรียนฆ้องวงใหญ่จากหลวงบำรุงจิตเจริญ (ธูป สาตนะวิลัย) และเรียนกลองแขก จากพระพิณบรรเลงราช (แย้ม ประสานศัพท์)

มนตรีอุปสมบทเป็นพระแอนฟิว ณ วัดสุวรรณภูมิ จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อ พ.ศ. 2476

มนตรีมีฝีมือทางการบรรเลงฆ้องวง แต่เพื่อให้มีฝีมือในเครื่องดนตรีชนิดอื่น ๆ พระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) เจ้ากรมพิณพาทย์หลวง จึงให้มนตรีเปลี่ยนเป็นครูตีระนาดทุ้ม มนตรีได้รับเลือกให้เข้าประจำอยู่ในวงข้าหลวงเดิม ซึ่งเป็นวงที่จะต้องตามเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานทุกแห่ง ทำให้มนตรีเป็นผู้กว้างขวางในวงสังคมสมัยนั้น

มนตรีรับราชการอยู่ที่แผนกปี่พาทย์หลวงได้ไม่นาน ก็เกิดการโอนวงปี่พาทย์และโขนละครไปสังกัดอยู่กับกรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ. 2478 มนตรีจึงย้ายไปประจำโรงเรียนศิลปากร แผนกนาฏดุริยางค์ (ปัจจุบันคือวิทยาลัยนาฏศิลป์)

หน้าที่การงานของมนตรี เจริญรุ่งเรืองมาตามลำดับจนเลื่อนเป็นชั้นเอก ต่อมาได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้มนตรีดำรงตำแหน่งศิลปินพิเศษ เมื่อ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2504 นับเป็นศิลปินคนแรกของกรมศิลปากรที่ได้รับชั้นพิเศษ

เมื่อมนตรีเกษียณอายุ กรมศิลปากรพิจารณาเห็นว่ามนตรีมีความรู้ความสามารถในด้านวิชาการศิลปดุริยางค์ไทย จึงจ้างไว้ช่วยราชการต่อมาอีก 5 ปี จากนั้นก็จ้างในฐานะลูกจ้างชั่วคราว ตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญดนตรีไทยกับคีตศิลป์ไทย ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติในวิทยาลัยนาฏศิลป์ กรมศิลปากร

นอกจากการทำงานประจำในหน้าที่ที่กรมศิลปากรแล้ว มนตรียังเป็นอาจารย์พิเศษสอนตามมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่ง

มนตรีได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นราชบัณฑิตในประเภทวิจิตรศิลป์ สำนักศิลปกรรม ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2524

ด้านชีวิตครอบครัว ได้สมรสครั้งแรก กับนางสาวลิ้นจี่ บุรานนท์ เมื่อ พ.ศ. 2475 แต่ได้อยู่ร่วมกันเพียง 2 ปี นางลิ้นจี่ ก็ถึงแก่กรรม มนตรีจึงได้สมรสอีกครั้งกับนางสาวพูนทรัพย์ นาฎประเสริฐ (นางพูนทรัพย์ ตราโมท) เมื่อ พ.ศ. 2478 มีบุตรธิดารวม 4 คน คือ

  1. นายฤทธี ตราโมท
  2. นายศิลปี ตราโมท
  3. นางดนตรี ตราโมท
  4. นายญาณี ตราโมท

มนตรี ตราโมท ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2538 ด้วยโรคหัวใจล้มเหลว ณ โรงพยาบาลนนทเวช ตำบลบางเขน อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี สิริอายุ 95 ปี 1 เดือน 19 วัน มีพิธีพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2538 ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส แขวงวัดเทพศิรินทร์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร

ผลงาน

[แก้]

นอกจากครูมนตรีจะมีฝีมือในการบรรเลงดนตรีแล้ว ครูมนตรียังมีความสามารถในการแต่งเพลงอีกด้วย ครูมนตรีแต่งเพลงมาแล้วมากมาย มากกว่า 200 เพลง ตั้งแต่ พ.ศ. 2463 เป็นต้นมา มีทั้งเพลง 3 ชั้น เพลงเถา เพลงประวัติศาสตร์ เพลงระบำและเพลงเบ็ดเตล็ด เคยมีผู้รวบรวมไว้ได้ถึง 200 กว่าเพลง นอกจากครูมนตรีจะแต่งเพลงดังกล่าวมาแล้ว ครูมนตรียังเคยแต่งเพลงประกวดทั้งบทร้องและทำนองเพลงและได้รับรางวัลที่ 1 เพลงนั้นชื่อว่า "เพลงวันชาติ 24 มิถุนา" เมื่อ พ.ศ. 2483

หุ่นขี้ผึ้งครูมนตรี จัดแสดงที่ ณ สัทธา อุทยานไทย ตำบลวังเย็น อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่า ครูมนตรี ตราโมทเป็นครูผู้ประกอบพิธีไหว้ครู และครอบประสิทธิ์ประสาทวิชาวิชาดนตรีไทยของกรมศิลปากร นอกจากครูมนตรีจะกระทำพิธีให้แก่กองการสังคีตและวิทยาลัยนาฏศิลป์ ทั้งในส่วนกลางและต่างจังหวัดแล้ว ครูมนตรียังทำพิธีไหว้ครูดนตรีไทยให้แก่หน่วยราชการ สถานศึกษาและเอกชนทั่วไป

ครูมนตรีนอกจากจะมีความรู้และความสามารถในการแต่งเพลงและการบรรเลงดนตรีไทยแล้ว ครูมนตรียังมีความรู้ทางด้านโน้ตสากลและดนตรีสากลอีกด้วย ซึ่งยิ่งช่วยเพิ่มความรู้ทางดนตรีไทยและการแต่งเพลงมากขึ้น

ครูมนตรีรักการอ่านหนังสือทำให้ครูมนตรีมีความรู้กว้างขวาง ครูมนตรีชอบโคลงมาก ครูมนตรีจึงแต่งโคลงไว้มากมาย นอกจากนี้ หนังสือประเภทสารคดีที่เกี่ยวกับวิชาการทางด้านศิลปะ ครูมนตรีก็ได้แต่งไว้หลายเรื่อง เช่น "ดุริยางค์ศาสตร์ไทยภาควิชาการ" "การละเล่นของไทย" "ศัพท์สังคีต" นอกจากนี้ก็มีเรื่องสั้น ๆ ที่ครูมนตรีเขียนไว้ในหนังสือต่าง ๆ เช่น เรื่องปี่พาทย์ไทย ปี่พาทย์มอญ ปี่พาทย์ชวา เครื่องสายไทย ดุริยเทพดนตรีกับชีวิต วงดนตรีประกอบการแสดงโขน ฯลฯ

ครูมนตรียังได้เขียนอธิบายความหมายของคำต่าง ๆ ในหนังสือสารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถานและเขียนเรื่องดนตรีไทยในหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่ม 1 ในพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ในโอกาสฉลอง 200 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ กรมศิลปากรจัดพิมพ์ หนังสือหลายเล่ม ครูมนตรีก็ได้มีส่วนเขียนเรื่องดนตรีไทย ภาพกลางลงพิมพ์ในหนังสือชุดศิลปกรรมไทย หมวด "นาฏดุริยางคศิลป์ยุคกรุงรัตนโกสินทร์" ด้วย

ผลงานทางด้านข้อเขียนของครูมนตรี ที่ครูมนตรีภาคภูมิใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อทางราชการสร้างพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่จังหวัดสุพรรณบุรีแล้วเสร็จ ได้จัดให้ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากเรียบเรียงข้อความที่จะจารึกเทิดทูนพระวีรเกียรติประวัติของพระองค์ โดยใช้ถ้อยคำแต่น้อยกินความมาก เพื่อให้พอเหมาะกับขนาดแผ่นจารึกที่ฐานพระราชานุสาวรีย์ ผลการคัดเลือกปรากฏว่า ข้อความของครูมนตรีได้รับการพิจารณาให้จารึกในแผ่นศิลาดังกล่าว

ครูมนตรีเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ครูมนตรีเคยได้รับเกียรติให้เป็นกรรมการมากมายหลายคณะ เช่น

  • กรรมการตัดสินเพลงชาติ
  • กรรมการศิลปะของสภาวัฒนธรรม
  • ประธานกรรมการการรับรองมาตรฐานวิทยาลัยเอกชน สาขาดุริยางคศิลปะของทบวงมหาวิทยาลัย
  • รองประธานกรรมการตัดสิน การอ่านทำนองเสนาะ
  • กรรมการตัดสินคำประพันธ์เรื่องเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
  • ที่ปรึกษาคณะกรรมการจัดทำแบบเรียนวิชาดนตรีศึกษา ของกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ
  • ฯลฯ

ยศ

[แก้]
  • – นายหมู่ตรี
  • 2 มีนาคม 2467 – นายหมู่โท[1]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

เกียรติประวัติ

[แก้]

เกียรติคุณในฐานะบัณฑิต

[แก้]

รางวัล

[แก้]
  • ศิลปินแห่งชาติ สาขาดนตรีไทย พ.ศ. 2528 (มนตรี ตราโมท เป็นผู้ที่มีความสามารถในด้านดนตรีและเพลงไทยเป็นเยี่ยมหาผู้ใดเทียบมิได้ สมควรที่จะได้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาดนตรีไทยอย่างแท้จริง)
  • นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ พ.ศ. 2529

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. พระราชทานยศนายเสือป่า (แผนกปลัดกองเสนา)
  2. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๙ ตอนที่ ๑๕๔ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓, ๔ ธันวาคม ๒๕๓๕
  3. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๔ ตอนที่ ๒๔๗ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๗, ๑ ธันวาคม ๒๕๓๐
  4. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-05-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๔ ตอนที่ ๘๖ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑, ๕ พฤษภาคม ๒๕๓๐
  5. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ให้แก่ผู้วายชนม์ เก็บถาวร 2022-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๑ ตอนที่ ๒๒ ข หน้า ๖, ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๗
  6. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา เก็บถาวร 2022-05-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๘๘ ตอนที่ ๒๐ ง หน้า ๔๘๕, ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๔
  7. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา เก็บถาวร 2022-05-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๖๒ ตอนที่ ๕๕ ง หน้า ๑๔๘๙, ๒ ตุลาคม ๒๔๘๘
  8. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ เก็บถาวร 2022-05-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๙๕ ตอนที่ ๑๐๗ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๓, ๒ ตุลาคม ๒๕๒๑