ทองใบ เรืองนนท์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ทองใบ เรืองนนท์ (พ.ศ. 2469 - พ.ศ. 2550) ผู้ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ละครชาตรี) ประจำ พ.ศ. 2540

ประวัติ[แก้]

นายทองใบ เรืองนนท์ เกิดเมื่อ พ.ศ. 2469 ที่บ้านถนนหลานหลวง (ปัจจุบัน คือ บ้านเลขที่ 193 ถนนหลานหลวง ตำบลวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ) เป็นบุตรของ ครูพูน เรืองนนท์ ที่เกิดกับ นางเชื้อ เรืองนนท์ มีพี่น้องร่วมมารดาเดียวกัน คือ

  • นางอำพัน เรืองนนท์
  • นายทองใบ เรืองนนท์
  • นางสมโภชน์ เรืองนนท์

ในวัยเยาว์ ได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนวัดโสมนัสวิหาร สำเร็จการศึกษาชั้นประถม 4 เมื่อ พ.ศ. 2481 จากนั้นอีก 8 ปี จึงอุปสมบท ณ วัดสุนทรธรรมทาน (แคนางเลิ้ง) และสอบได้นักธรรมตรี จากนั้นได้มาช่วยบิดาในการแสดงละครชาตรี และคงยึดอาชีพการแสดงละครชาตรีมาตลอดจนถึงแก่กรรม

ครูพูน เรืองนนท์ บิดาของนายทองใบได้พานายทองใบไปเลี้ยงที่โรงละครตั้งแต่เล็ก ทำให้นายทองใบมีความสามารถในด้านละครชาตรีมาแต่อายุ 4 ขวบ เริ่มแต่ตีกลองตุ๊ก ฉิ่ง ฉาบ กรับ โหม่ง อันเป็นเครื่องดนตรีประกอบละครได้ และต่อมา ก็ยังสามารถแสดงเป็นตัวเสนา สัตว์ เทวดา ได้ ความสามารถมีมากเป็นลำดับ จนอายุ 17 ปี บิดาจึงไว้วางใจให้คุมคณะ แยกไปแสดงตามงานต่าง ๆ ซึ่งนายทองใบ ก็ปฏิบัติตามแบบแผนที่บิดากำหนดไว้ทุกอย่าง พิธีการซึ่งจำเป็นมากในการแสดงละครชาตรี คือ การจุดธูปเทียนบูชาครู, การบรรเลงโหมโรงชาตรี, ประกาศหน้าบท, รำซํด และ บอกบทดำเนินเรื่อง เหล่านี้ นายทองใบ ทำได้ถูกต้องไม่ผิดเพี้ยน

นอกจากจะมีความสามารถในทางละครแล้ว นายทองใบ ยังตีระนาดเอกได้ดี ครูพูน จึงอนุญาตให้นายทองใบ นำระนาดเอกมาเสริมเข้าในการแสดงได้ ซึ่งผลก็คือ ทำให้การแสดงมีความสนุกเพิ่มขึ้น จนอายุ 27 ปี บิดาจึงมอบหน้าที่ให้เป็นผู้นำการอ่านโองการไหว้ครู เพื่อจะได้เป็นผู้สืบทอดคณะละครต่อไป

นายทองใบ ยังมีความสามารถในการแสดงลิเก ซึ่งได้รับการฝึกหัดจาก ครูเต็ก เสือสง่า และการแสดงหนังตะลุง ซึ่งรับการถ่ายทอดจากบิดา โดยได้เชิดหนังตะลุงคู่กับบิดามาตลอด จนกระทั่งครูพูน ถึงแก่กรรมลง จึงเลิกเชิด เพราะไม่สามารถหาคู่เชิดได้

เกียรติยศสูงสุด ที่นายทองใบ เรืองนนท์ ได้รับ คือการที่ได้รับพระราชทานโล่ และเข็มเชิดชูเกียรติ ยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ละครชาตรี) จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อ ปี พ.ศ. 2540

ด้านชีวิตครอบครัว นายทองใบ เรืองนนท์ ได้สมรสกับ นางสมศรี เรืองนนท์ มีบุตร-ธิดา คือ

  • นางใบศรี แสงอนันต์
  • นางสมบุญ ตูมไทย
  • นายสมบัติ เรืองนนท์
  • นายบุญสร้าง เรืองนนท์
  • นางบัวสาย เรืองนนท์
  • นางบุศรา บัวคลี่

และยังมีบุตร ที่เกิดจากนางจำเรียง เที่ยงบรรจง อีก 1 คน คือ

  • นายบรรลือ เรืองนนท์

บั้นปลายชีวิต นายทองใบ เรืองนนท์ ยังคงใช้ชีวิตไปกับละครชาตรี โดยได้รับเชิญเป็นวิทยากรให้กับสถาบันต่าง ๆ หลายแห่ง เช่น สำนักการสังคีต กรมศิลปากร, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ธัญบุรี, โรงเรียนราชวินิต มัธยม ตราบจนถึงแก่กรรม ด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 สิริอายุ 81 ปี มีพิธีพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 ณ วัดสุนทรธรรมทาน

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

ดุเพิ่ม[แก้]