วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์
ชื่อเกิดวิโรจน์ ตั้งวาณิชย์
เกิด29 มกราคม พ.ศ. 2492 (75 ปี)
ที่เกิดจังหวัดพระนคร ประเทศไทย
อาชีพอาจารย์

วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ เป็นอาจารย์ ดาราและอดีตนักกิจกรรมชาวไทย ในวัยหนุ่มเข้าร่วมกับขบวนการนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลา และเหตุการณ์ 6 ตุลา เป็นหนึ่งในผู้ร่วมแสดงละครล้อการเมืองที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เขาถูกจำคุกสองปีก่อนได้รับการปล่อยตัวในปี 2521 ต่อมาเป็นอาจารย์สอนเกี่ยวกับจีน ก่อนเป็นดาราและพิธีกรในเวลาต่อมา

ประวัติ[แก้]

วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ เป็นคนไทยเชื้อสายจีนแซ่ตั้ง จบการมัธยมศึกษาจากโรงเรียนวัดราชาธิวาส จบการศึกษามหาวิทยาลัยจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (เอกประวัติศาสตร์) ระหว่างที่ศึกษาอยู่นั้นเคยเข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับขบวนการนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลา และเหตุการณ์ 6 ตุลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเหตุการณ์ 6 ตุลา เมื่อปี พ.ศ. 2519 วิโรจน์คือ 1 ใน 2 นักศึกษาที่แสดงละครล้อการเมืองที่ต่อมาถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (อีก 1 คนนั้นคือ อภินันท์ บัวหภักดี) ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ต่อมา

หลังจากเหตุการณ์นี้ได้ถูกจองจำในเรือนจำถึง 2 ปี จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2521 จึงได้รับพระราชทานอภัยโทษออกมาสู่อิสรภาพ จากนั้นจึงเดินทางไปภาคใต้ หาเลี้ยงชีพด้วยการร้องเพลงในสถานบันเทิงต่าง ๆ ก่อนที่ในปี พ.ศ. 2526 จะเดินทางไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทด้านภาษาจีน ที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน โดยใช้เวลาศึกษาอยู่นาน 5 ปี[1]

หลังจากนั้นแล้ว ได้เป็นวิทยากรและอาจารย์พิเศษบรรยายเกี่ยวกับเรื่องราวในแง่มุมต่าง ๆ เกี่ยวกับจีนหรือภูมิปัญญาจีนตามสถานศึกษาต่าง ๆ จนมาถึงปัจจุบัน

วิโรจน์ เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางครั้งแรกจากการเป็นพิธีกรภาคสนามจากรายการ ตามไปดู ทางช่อง 9[ต้องการอ้างอิง]

นอกจากนี้แล้ว ยังเป็นนักแสดงในบทประกอบจากภาพยนตร์และละครเรื่องต่าง ๆ อาทิ หงส์เหนือมังกร พ.ศ. 2543, สุริโยไท พ.ศ. 2544, มังกรเดียวดาย (ภาคต่อหงส์เหนือมังกร) พ.ศ. 2547, หมวยอินเตอร์ พ.ศ. 2551, มงกุฎดอกส้ม พ.ศ. 2554, หงส์เหนือมังกร พ.ศ. 2560 และในการถ่ายทอดพิธีเปิดและพิธีปิดโอลิมปิกฤดูร้อน 2008 ที่ทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทีวีพูล) เป็นผู้ถ่ายทอดสัญญาณในประเทศไทย ก็รับหน้าที่ผู้บรรยายร่วมด้วย

งานการเมือง[แก้]

ในเหตุการณ์วิกฤตการณ์การเมืองในประเทศไทย พ.ศ. 2548-พ.ศ. 2551 ในการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในปี พ.ศ. 2549 และ พ.ศ. 2551 เป็นผู้กำกับการแสดง "งิ้วธรรมศาสตร์" ที่เป็นการแสดงงิ้วล้อการเมืองระหว่างการชุมนุม ซึ่งเป็นที่ฮือฮาและกล่าวขานถึงอีกด้วย[2]

เคยเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2549 แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง เพราะได้รับการเลือกมาป็นลำดับที่ 27 ได้คะแนน 11,438 คะแนน

ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 ได้ลงสมัคร ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อสังกัดพรรคชาติไทยพัฒนา ลำดับที่ 9[3]

เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและเป็นนายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายไทยแห่งแรกที่ทำงานเรื่องความหลากหลายทางเพศ

ผลงาน[แก้]

ละครโทรทัศน์[แก้]

ปี พ.ศ. เรื่อง ออกอากาศ รับบทเป็น หมายเหตุ
2542 เสน่ห์นางงิ้ว ช่อง 3 ซินแส
สามี ช่อง 3
2543 หงส์เหนือมังกร ช่อง 5 หลงไป่หมิง
2546 เล่ห์ลับสลับร่าง ช่อง 3 หมอดูอมเพชร รับเชิญ
2547 มังกรเดียวดาย ช่อง 5 หลงไป่หมิง
2551 โบตั๋นกลีบสุดท้าย ช่อง 3 อาซุ่น
หมวยอินเตอร์ ช่อง 7
2553 มงกุฎดอกส้ม ช่อง 3 อาจิว
2554 ดอกส้มสีทอง ช่อง 3 อาจิว
2555 กี่เพ้า ช่อง 3 อาจารย์ทำพิธีหมิงซุน
2556 สามี ช่อง 3 กู๋พงษ์ รับเชิญ
2557 ชิงรักหักสวาท ช่อง 8 ซินแสเทียน
2560 หงส์เหนือมังกร ช่อง 7 เจ็กตง รับเชิญ
2563 My Husband in Law
อกเกือบหักแอบรักคุณสามี
ช่อง 3 ซินแส รับเชิญ
2564 คู่แค้นแสนรัก ช่อง 7 ซินแส รับเชิญ
2565 พิษรักรอยอดีต (REVENGE) ช่องวัน หมอเหลียง รับเชิญ

ภาพยนตร์[แก้]

  • สุริโยไท (2544)

อ้างอิง[แก้]

  1. [https://web.archive.org/web/20060301095749/http://www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9480000081307 เก็บถาวร 2006-03-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ภาษาจีน กุญแจทองแห่งชีวิตวิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ จากผู้จัดการออนไลน์]
  2. "เขาเล่าว่า ..งิ้วธรรมศาสตร์แสดงเมื่อไร! รัฐบาลจบ เมื่อนั้น!". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-10-09. สืบค้นเมื่อ 2010-10-19.
  3. เปิดรายชื่อส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เพื่อไทย 61 ปชป. 44 ภท. 5 รักประเทศไทย 4 ชทพ.4 ชพน.2 จากมติชน เก็บถาวร 2011-08-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน