ไวพจน์ เพชรสุพรรณ
ไวพจน์ เพชรสุพรรณ | |
---|---|
![]() ไวพจน์ เพชรสุพรรณ | |
ข้อมูลพื้นฐาน | |
ชื่อจริง | พาน สกุลณี |
เกิด | 8 มีนาคม พ.ศ. 2485 (78 ปี) |
ที่เกิด | อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี |
แนวเพลง | ลูกทุ่ง, เพลงแหล่ |
อาชีพ | นักร้อง,นักแต่งเพลง,นักแสดง |
ค่ายเพลง | วงดนตรีลูกทุ่ง ไวพจน์ เพชรสุพรรณ ● โฟร์เอส ● โอเอฟ ● ท็อปไลน์มิวสิค ● จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ |
ส่วนเกี่ยวข้อง | พุ่มพวง ดวงจันทร์ |
ไวพจน์ เพชรสุพรรณ เป็นนักร้องเพลงลูกทุ่งชื่อดังระดับตำนานของประเทศไทย และอยู่ในวงการมานานหลายสิบปี โดยสร้างผลงานเพลงออกมามากมายนับไม่ถ้วน จวบจนถึงปัจจุบันก็ยังคงผลิตผลงานเพลงออกมาอย่างต่อเนื่อง ในจำนวนนั้นเป็นเพลงดังที่ฮิตติดหูมากมาย นอกจากนั้นก็ยังมีความเชี่ยวชาญด้านเพลงพื้นเมืองภาคกลางชนิดหาตัวจับได้ยาก และได้สร้างผลงานเพลงประเภทนี้ออกมามากกว่าศิลปินเพลงพื้นบ้านคนใด
ไวพจน์ เพชรสุพรรณยังมีความสามารถด้านการแต่งเพลง และได้แต่งเพลงดังให้กับนักร้องหลายคน ทั้งยังได้ชื่อว่าเป็นผู้สร้างราชินีลูกทุ่งคนที่ 2 คือ พุ่มพวง ดวงจันทร์ ขึ้นมาประดับวงการเพลงเมืองไทยด้วย
ไวพจน์ เพชรสุพรรณ ได้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักร้องเพลงลูกทุ่ง) เมื่อปี พ.ศ. 2540
ประวัติ[แก้]
ไวพจน์ เพชรสุพรรณ มีชื่อจริงว่า พาน สกุลณี และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น ไวพจน์ สกุลนี เกิดเมื่อ 7 มีนาคม พ.ศ. 2485 ที่ หมู่ 2 ตำบลมะขามล้ม (ปัจจุบันเป็น ตำบลวังน้ำเย็น) อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นบุตรนายจำปี และนางอ่ำ สกุลณี เป็นชาวไทยเชื้อสายลาว[1] เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนวัดวังน้ำเย็น อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี
เข้าสู่วงการ[แก้]
ไวพจน์ เพชรสุพรรณ เริ่มหัดร้องเพลงอีแซว เพลงพื้นบ้านของ จ.สุพรรณบุรี ตั้งแต่อายุ 2 ขวบ โดยได้ฝึกหัดและหัดตามมารดา ซึ่งเป็นแม่เพลงอีแซว จนสามารถร้องเพลงอีแซว และเพลงแหล่ได้เมื่ออายุ 14 ปี จากนั้นได้หัดร้องลิเกกับคณะลิเกประทีป แสงกระจ่าง เมื่ออายุ 16 ปีได้เข้าประกวดร้องเพลงครั้งแรกที่วัดท่าตลาด ต.วัดโบสถ์ อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี เพลงที่ร้องเป็นเพลงแหล่ของ พร ภิรมย์ ชื่อเพลง “จันทโครพ” ปรากฏว่าได้รางวัลที่ 1
ในช่วงนั้น ไวพจน์สนใจขับร้องเพลงลูกทุ่งมาก เพราะเป็นช่วงที่มีนักร้องลูกทุ่งมีชื่อเสียงเกิดขึ้นมากมาย เช่น ชัยชนะ บุญนะโชติ, ไพรวัลย์ ลูกเพชร , ชาย เมืองสิงห์ ครั้งหนึ่งชัยชนะ บุญนะโชติ ได้นำวงดนตรีมาเล่นที่ตลาดสวนแตงและมีการรับสมัครประกวดร้องเพลง ไวพจน์จึงสมัครประกวดร้องเพลงด้วย และได้รับการชมเชยจากผู้ชมผู้ฟังเป็นจำนวนมาก ชัยชนะ บุญนะโชติ จึงชักชวนให้เข้าสู่วงการเพลงลูกทุ่งและตั้งชื่อให้ใหม่ว่า " ไวพจน์ เพชรสุพรรณ " หลังจากนั้นได้นำไวพจน์ ไปฝากเป็นศิษย์ของครูสำเนียง ม่วงทอง นักแต่งเพลงซึ่งเป็นชาว จ.สุพรรณบุรี เช่นกัน ซึ่งเป็นเจ้าของวงดนตรี “รวมดาวกระจาย” ไวพจน์ จึงได้เข้ามาร่วมวงในฐานะนักร้องนำ ครูสำเนียงได้แต่งเพลงให้ร้อง และประสบความสำเร็จอย่างมาก คือ เพลง "ให้พี่บวชเสียก่อน" และยังได้ขับร้องเพลงของนักแต่งเพลงผู้อื่น คือ จิ๋ว พิจิตร เช่น เพลง ”แบ่งสมบัติ” และ “21 มิถุนา ขอลาบวช” เป็นต้น
ราชาเพลงแหล่[แก้]
ไวพจน์ เป็นผู้มีความสามารถรอบตัว เพราะนอกจากจะร้องเพลงลูกทุ่งได้ยอดเยี่ยมแล้ว ยังมีความสามารถเล่นเพลงพื้นบ้านได้เกือบทุกชนิดทั้งเพลงฉ่อย เพลงอีแซว เพลงเรือ เล่นได้หมดและเล่นได้ดีขนาดโต้ตอบด้วยปฏิภาณกวีได้ โดยเฉพาะการแหล่ ทุกคนในวงการล้วนยกย่องให้ไวพจน์เป็น " ราชาเพลงแหล่ " เพราะมีเพลงแหล่บันทึกแผ่นเสียงมากที่สุดในประเทศไทย ทั้งยังสามารถแหล่ด้นกลอนสดได้อย่างไม่ติดขัด
ในจำนวนนักร้องลูกทุ่งอาวุโส ไวพจน์ มีผลงานบันทึกแผ่นเสียงมากที่สุดถึงประมาณ 2,000 เพลง และยังคงผลิตผลงานออกมาเพิ่มเติมในระดับที่ถี่กว่าคนอื่น ทั้งเพลงที่ครูเพลงแต่งให้และแต่งเองร้องเอง ไวพจน์ เพชรสุพรรณยังสามารถแต่งเพลงสร้างชื่อให้ลูกศิษย์มาแล้วมากมาย โดยศิษย์เอกที่โด่งดังของไวพจน์มี ขวัญจิต ศรีประจันต์ , เพชร โพธาราม (เพลง ต.ช.ด.ขอร้อง) และ พุ่มพวง ดวงจันทร์ (เพลงแก้วรอพี่ , นักร้องบ้านนอก) นอกจากนั้นก็ยังเป็นหมอทำขวัญซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นหมอทำขวัญอันดับหนึ่งของเมืองไทยในปัจจุบัน [2]
ผลงานเพลงดัง[แก้]
- หนุ่มนารอนาง
- สาละวันรำวง
- แตงเถาตาย
- ฟังข่าวทิดแก้ว
- ใส่กลอนหรือเปล่า
- สาวภูไท
- อยากซิเห็นขาอ่อน
- รวยเขาแน่
- ซามักคักแท้น้อ
- ลำเลาะทุ่ง
- คนขายเลือด
- ซ้ายขวา
- เบี้ยวเป็นเบี้ยว
- เซิ้งบ้องไฟ
- ครวญหาแฟน
- แบ่งสมบัติ
- อยากรวยมาทานี้
ผลงานภาพยนตร์ที่เคยแสดง[แก้]
- ไทยน้อย (ปี 2512)
- สาละวัน (ปี 2512)
- จอมบึง (ปี 2513)
- อยากดัง (ปี 2513)
- ไทยใหญ่ (ปี 2513)
- มนต์เพลงลูกทุ่ง (ปี 2522)
- เทพเจ้าบ้านบางปูน (ปี 2525)
- นักเพลงผู้ยิ่งใหญ่ (ปี 2527)
- เลือดแค้น เล็กนกใน (ปี 2533)
- มนต์เพลงลูกทุ่ง เอฟ.เอ็ม (ปี 2545)
- เหลือแหล่ (ปี 2554)
อัลบั้มรวมเพลง[แก้]
- อัลบั้มชุด ดีที่สุด 30 ต้นฉบับเพลงฮิตดีที่สุด
- อัลบั้มชุด แหล่ประวัติยอดรัก
- อัลบั้มชุด แหล่ 1-8
- อัลบั้มชุด ไวพจน์ลาบวช
- อัลบั้มชุดที่ 8 ขุนพลเพลงแหล่
- อัลบั้ม เมดเล่ย์มันส์ระเบิด ชุด เพลงแหล่มันส์จังหวะสามช่า
ปัจจุบัน[แก้]
เป็นสมาชิกสภาจังหวัดสุพรรณบุรี อ.บางปลาม้า จ. สุพรรณบุรี
เป็นกรรมการ ในรายการ ชุมทางดาวทอง (ช่อง7)
ครอบครัว[แก้]
สมรสกับนางอรชร สกุลนี มีธิดา 1 คน
เกียรติยศ[แก้]
- ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักร้องเพลงลูกทุ่ง) พ.ศ. 2540
- เข็มพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อ พ.ศ. 2514
- รางวัลนักร้องดีเด่นจากงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทยทั้ง 2 ครั้ง คือเมื่อ พ.ศ. 2532 จากเพลง สาละวันรำวง และ พ.ศ. 2534 จากเพลง แตงเถาตาย
- รางวัลพระพิฆเนศทองคำพระราชทาน
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย[แก้]
- พ.ศ. 2541 -
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้น 4 จตุตถดิเรกคุณาภรณ์ (จ.ภ.)
อ้างอิง[แก้]
- ↑ "สลักชื่อ'ครูพงษ์ศักดิ์'ไว้บนแผ่นดินลูกทุ่ง". คมชัดลึก. 10 September 2015. สืบค้นเมื่อ 10 September 2015.
- ↑ ประวัติ