แมนรัตน์ ศรีกรานนท์
แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ | |
---|---|
เกิด | เรมอนด์ ซีเกร่า 25 สิงหาคม พ.ศ. 2471 |
เสียชีวิต | 5 กันยายน พ.ศ. 2561 (90 ปี) |
สัญชาติ | ไทย |
ศิษย์เก่า | วิทยาลัยดนตรีเบิร์กลี โรงเรียนเซนต์คาเบรียล โรงเรียนอัสสัมชัญ |
อาชีพ | อาจารย์, นักดนตรี, นักประพันธ์เพลง, นักธุรกิจ |
คู่สมรส | ลออวรรณ ศรีกรานนท์ |
บุตร | อินทุอร บาลาเคาสคัส ภาธร ศรีกรานนท์ |
บิดามารดา |
|
ศาสตราจารย์พิเศษ เรืออากาศตรี แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ หรือ เรมอนด์ ซีเกร่า (โปรตุเกส: Reimondo Amato de Sequeira) เป็นนักดนตรีลูกครึ่งชาวไทย-โปรตุเกส เป็นสมาชิก วงดนตรี อ.ส. วันศุกร์ ได้รับพระราชทานนามในภาษาไทยจาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ว่า "แมนรัตน์ ศรีกรานนท์" ต่อมาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนส่วนพระองค์ส่งไปเรียนวิชาเรียบเรียงเสียงประสานที่ โรงเรียนการดนตรีเบิร์กลี (Berklee School of Music) ที่เมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา (ปัจจุบันคือวิทยาลัยดนตรีเบิร์กลี - Berklee College of Music)
เกิดเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2471 ที่จังหวัดกรุงเทพมหานคร บิดาของท่านคือ เรนัลโด ซีเกร่า (Reinaldo Maria de Sequeira) นักดนตรีชาวโปรตุเกส เป็นคนแรก ๆ ที่นำเพลงตะวันตกมาบรรเลงในประเทศไทย แมนรัตน์เป็นผู้ก่อตั้งวงดนตรี "คีตะเสวี" เมื่อปี พ.ศ. 2493 เป็นวงดนตรีร่วมสมัยกับวงดนตรีสุนทราภรณ์ บรรเลงตามสถานีวิทยุและงานลีลาศต่าง ๆ แต่เน้นดนตรีสากล สมรสกับคุณลออวรรณ ศรีกรานนท์ มีบุตรและธิดา 2 คน ชื่อ ดร.อินทุอร และ ดร.ภาธร ศรีกรานนท์
ศาสตราจารย์พิเศษ เรืออากาศตรี แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีสากล) ประจำปี พ.ศ. 2535 และเป็นผู้ก่อตั้งคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เคยเป็นอาจารย์พิเศษคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และผู้บริหารโรงเรียนดนตรีสยามกลการ
ศาสตราจารย์พิเศษ เรืออากาศตรี แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2516[1]
ประวัติ
[แก้]ศาสตราจารย์พิเศษ เรืออากาศตรี แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ หรือที่รู้จักกันในนาม ศาสตราจารย์พิเศษ เรืออากาศตรี ดร.แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ เกิดวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2471 ที่ตำบลบางรัก เจริญกรุง เป็นบุตรคนที่ 2 ในจำนวนพี่น้อง 6 คน ของ คุณพ่อโรนาโด ซีแกร่า และคุณแม่จำรัส เรณางกูร ซึ่งมีเชื้อสายโปรตุเกส คุณพ่อเป็นนักเปียโนและเล่นดนตรีแต่ยังทำงานด้านอื่นประจำด้วยนอกเหนือจากดนตรี จากการเติบโตในครอบครัวที่มีดนตรีในหัวใจ จึงได้รับแรงบันดาลใจและมีความรักในดนตรีมาโดยตลอด
สมรสกับ คุณลออวรรณ อนุสารสุนทร มีบุตร 2 คน คือ ดร.อินทุอร ศรีกรานนท์, CONCERT PIANIST จบจากมหาวิทยาลัยเยล และดร.ภาธร ศรีกรานนท์ จบการศึกษาปริญญาเอก สาขาการประพันธ์เพลง จากมหาวิทยาลัยเอดินเบิร์ก สกอตแลนด์ และได้เล่น SAXOPHONE พร้อมทั้งยังเป็นนักดนตรีในวงดนตรี อ.ส วันศุกร์ ซึ่งเป็นวงดนตรีส่วนพระองค์อีกด้วย
เริ่มการศึกษา เมื่ออายุ 9 ปี ที่โรงเรียนอัสสัมชัญและโรงเรียนเซนต์คาเบรียลจนจบมัธยมศึกษาปีที่ 4 ขณะเรียนอยู่ชั้น ม.5 เกิดสงคราม การเรียนได้ชะงักลงช่วงหนึ่ง หลังสงครามสงบกลับมาเรียนต่อ แต่ไม่จบเนื่องจากบิดาได้ล้มป่วยและเสียชีวิต จึงต้องออกจากโรงเรียนมาเล่นดนตรีหาเงินส่งน้อง ๆ เรียนหนังสือ ช่วยเหลือภาระทางบ้าน แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ทิ้งการเรียน ช่วงที่ทำงานอยู่อีสต์ เอเซียติค ได้เรียนกวดวิชาตลอดเวลาแต่ก็ไม่มีโอกาสสอบชั้นมัธยมศึกษา 6
ผ่านการทำงานหลายที่ เช่น บริษัทเชลล์ ซึ่งที่นี่ได้ตั้ง วงดนตรีพนักงานบริษัทเชลล์ ขึ้น และได้ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าวง จากนั้นได้ตั้งวงดนตรีเล็กๆของตนเองอีก 1 วง ชื่อ วงดนตรีเรมอนด์และสหาย (ต่อมาเปลี่ยนเป็น คีตะเสวี ) ซึ่งเป็นชื่อวงดนตรีของบิดา รวบรวมเพื่อน ๆ มาเล่นดนตรียามว่างจากการทำงาน แรก ๆ เล่นกันในงานเลี้ยงสังสรรค์ตามบ้านเพื่อนฝูงเท่านั้น แต่ภายหลังได้เล่นออกอากาศทางสถานีวิทยุ 1 ปณ และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยด้วย
เมื่อลาออกจากเชลล์ ได้เข้าทำงานที่บริษัทน้ำมันแสตนดาร์ด เวคัม ออยส์ ในปี พ.ศ. 2498 ได้ร่วมเล่นดนตรีอยู่กับวงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในตำแหน่งนัก PIANO ได้มีโอกาสเล่นเปียโนถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชในวันที่ไปออกอากาศ ณ สถานีวิทยุ อ.ส. หลังจากนั้นได้ถวายตัวกับพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชเพื่อที่จะเล่นเปียโนใน วงดนตรีลายคราม ซึ่งนักดนตรีในวงเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ ชั้นหม่อมเจ้าและชั้นหม่อมราชวงศ์ และที่พิเศษ คือ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เป็นผู้ทรงแซกโซโฟน และคลาริเน็ต จนถึงปัจจุบันได้เล่นดนตรีถวายใน วงดนตรี อ.ส วันศุกร์ มาเป็นเวลา 50 ปี
นอกจากนี้ได้เคยร่วมเล่นดนตรีกับนักดนตรีแจ๊สชั้นนำของโลก เช่น เบนนี กูดแมน สก็อต แฮมิลตัน และเบนนี คาร์เตอร์ เป็นต้น
ต่อมาเมื่อบริษัทน้ำมันแสตนดาร์ด เวคัม ออยส์ แยกตัวออกเป็น 2 บริษัท คือ บริษัทน้ำมันเอสโซ และ บริษัท น้ำมันโมบิล อ.แมนรัตน์เลือกทำที่ บ.โมบิลและได้ลาออกในปี พ.ศ. 2508 เนื่องจากได้รับทุนจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ไปศึกษาวิชาการดนตรีแจ๊ส ในสาขาวิชาเรียบเรียงเสียงประสานและการประพันธ์เพลงที่ BERKLEY SCHOOL OF MUSIC ในหลักสูตร 2 ปี จนจบได้รับ CERTIFICATE ทางด้าน JAZZ COMPOSITION หลังจากกลับมา ต้องการนำความรู้ที่ได้มาเผยแพร่ให้นักศึกษาไทย จึงได้มาทำงานที่บริษัทสยามกลการ ดร.ถาวร พรประภา ได้มอบหมายให้ก่อตั้งโรงเรียนดนตรีสยาม-กลการ โดยในช่วงแรกได้เชิญนักเรียบเรียงเสียงประสานที่มีฝีมือมาเรียนกันแบบเพื่อนฝูง เช่น อ.ประสิทธิ์ พยอมยงค์ ประภาส อมรพันธ์ นริศ ทรัพย์ประภา เป็นต้น ซึ่งต่อมาได้เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้นี้ให้แก่นักดนตรีอาชีพ และนักศึกษาทั่วไป มีลูกศิษย์หลายคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตการงานหลายคน ขณะเดียวกันก็ยังเป็นครูสอนดนตรีที่โรงเรียนจิตรลดา โดยเป็นพระอาจารย์ถวายการสอนดนตรีแด่เจ้าฟ้าทุกพระองค์ด้วย
ลูกศิษย์ที่เรียนด้วยในขณะนั้นได้ตั้งวงดนตรีวงใหญ่ (BIG BAND) ขึ้น ชื่อ วงดนตรี ม.ศ ซึ่งย่อมาจากชื่อแมนรัตน์ ศรีกรานนท์ เพื่อเป็นการทดลองเพลงที่เขียนมาเนื่องจากการเรียนวิชาเรียบเรียงเสียงประสาน และได้บรรเลงออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 เป็นเวลาถึง 13 ปี
ในปี 2517 ได้ลาออกจากโรงเรียนดนตรีสยามกลการ เพื่อเข้าทำงานที่ธนาคารกรุงเทพ จนกระทั่งเกษียณในปี พ.ศ. 2531 จึงได้มาทำงานในบริษัท สยามดนตรียามาฮ่า จำกัด ในตำแหน่งที่ปรึกษา และประธานกรรมการบริษัท
ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคชรา เมื่อวันพุธที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2561 ณ ณ บ้านเลขที่ 51 ถนนลาดพร้าว ซอย 80 แขวงวังทองหลาง เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร สิริอายุ 90 ปี 1 เดือน 11 วัน ฝังศพ ณ สุสานมิสซังโรมันคาทอลิก กรุงเทพฯ"ศานติคาม" ตำบลท่าข้าม อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม
ผลงานเพลง
[แก้]ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 เป็นต้นมามีผลงานเพลงที่ประพันธ์ไว้มากกว่า 1,000 เพลง โดยในช่วงที่ทำการสอนอยู่ที่โรงเรียนดนตรีสยามกลการ ได้แต่งเพลงขึ้นหลายเพลง อาทิเช่น รักเอย, ชั่วฟ้าดินสลาย, จากยอดดอย, สวรรค์อำพราง, จับปู, ใครเอ่ย, ใจเอ๋ย ฯลฯ ผลงานที่สร้างชื่อเสียง ได้แก่ เพลงรักเอย ได้รับพระราชทานรางวัลแผ่นเสียงทองคำ เพลงชั่วฟ้าดินสลาย ได้รับพระราชทานรางวัลแผ่นเสียงเงิน สำหรับเพลงจับปู เป็นเพลงในท่วงทำนองที่สนุกสนานมีวงดนตรีต่าง ๆ นำมาบรรเลงกันอย่างแพร่หลาย
สรุปผลงานประพันธ์
- เดือนจาก (ขับร้องเองในนาม "ชัย" บันทึกแผ่นเสียงกับวงคีตะเสวี)
- รักเอย
- ภูมิแผ่นดิน นวมินทร์มหาราชา
- ชั่วฟ้าดินสลาย (พูลศรี เจริญพงษ์ ขับร้องประกอบภาพยนตร์ ชั่วฟ้าดินสลาย)
- แด่ทหารหาญในสมรภูมิ
- เนติบัณฑิตยสภา
- จับปูดำขยำปูนา
- รักลวง
- จากยอดดอย
- นวลแสงจันทร์ (ร้องคลอกับ อรัญญา นามวงศ์ เฉพาะในแผ่นลองเพลย์ของภาพยนตร์ เกาะสวาทหาดสวรรค์) ฯลฯ
ผลงานวิชาการ
[แก้]เรียบเรียงตำราหลายเล่ม เพื่อให้ลูกศิษย์ได้ศึกษา พัฒนาวิชาการดนตรีให้เทียบเท่าอารยประเทศ เช่น วิชาการประพันธ์ดนตรีแจ๊ส (JAZZ COMPOSITION) วิชาการประสานเสียงดนตรีแจ๊ส (JAZZ HARMONY)
เนื่องจากมีผลงานดนตรีด้านต่าง ๆ และเป็นผู้ให้การส่งเสริมการดนตรีให้แพร่หลายมาโดยตลอดจึงทำให้ในปี 2535 จึงได้รับคัดเลือกจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีสากล) ปี พ.ศ. 2540 ได้รับพระราชทานปริญญาศิลปกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาดุริยางคศาสตร์สากล จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และ 24 มกราคม พ.ศ. 2548 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ศาสตราจารย์พิเศษ ในสาขาวิชาดุริยางคศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
เคยดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ บริษัท สยามดนตรียามาฮ่า จำกัด และเป็นกรรมการและที่ปรึกษาของหน่วยงานราชการและเอกชนหลายแห่ง เป็นอาจารย์สอน เป็นที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรี Jazz ของคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้อำนวยการโรงเรียนดนตรีสยามกลการ และสอนวิชา JAZZ COMPOSITION, JAZZ HARMONY ที่โรงเรียนดนตรีสยามกลการและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ฯลฯ
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2546 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.) (ฝ่ายหน้า)[2]
- พ.ศ. 2528 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 3 ตริตาภรณ์ช้างเผือก (ต.ช.)[3]
- พ.ศ. 2517 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 3 ตริตาภรณ์มงกุฎไทย (ต.ม.)[4]
- พ.ศ. 2549 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 3 ตติยดิเรกคุณาภรณ์ (ต.ภ.)[5]
- พ.ศ. 2527 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 ชั้นที่ 3 (ภ.ป.ร.3)[6]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "พระบรมราชโองการ แต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-09-27. สืบค้นเมื่อ 2014-07-08.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ๋จุลจอมเกล้า เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๐ ตอนที่ ๙ ข หน้า ๑, ๔ พฤษภาคม ๒๕๔๖
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๐๓ ตอนที่ ๔๙ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓๘, ๒๙ มีนาคม ๒๕๒๙
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๙๑ ตอนที่ ๒๒๙ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๐๕๗, ๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๗
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์, เล่ม ๑๒๓ ตอนที่ ๒๔ ข หน้า ๑๔๓, ๒๕ ธันวาคม ๒๕๔๙
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ เก็บถาวร 2009-02-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๓ ตอนที่ ๔๐ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๖๑, ๑๒ มีนาคม ๒๕๒๙
ดูเพิ่ม
[แก้]แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- เว็บไซต์ของ ดร. ภาธร ศรีกรานนท์ และครอบครัว
- นายแมนรัตน์ ศณีกรานนท์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีสากล) พุทธศักราช ๒๕๓๕เก็บถาวร 2007-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Page not foundเก็บถาวร 2006-09-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เว็บไซต์ผลงานและแผนที่ บ้านศรีกรานนท์
- แมนรัตน์ ศรีกรานนท์เก็บถาวร 2009-02-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2471
- บุคคลที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2561
- บุคคลที่เกี่ยวข้องกับเพลงพระราชนิพนธ์
- ศิลปินแห่งชาติ
- ศาสตราจารย์พิเศษ
- ทหารอากาศชาวไทย
- ชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกส
- บุคคลจากโรงเรียนอัสสัมชัญ
- อาจารย์คณะดุริยางค์-ดนตรี
- บุคคลจากคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
- ผู้ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
- บุคคลจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
- สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ท.จ.ว. (ฝ่ายหน้า)
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ต.ช.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ต.ม.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ต.ภ.
- ผู้ได้รับเหรียญรัตนาภรณ์ ภ.ป.ร.3
- คริสต์ศาสนิกชนนิกายโรมันคาทอลิกชาวไทย
- บุคคลจากเขตบางรัก