ข้ามไปเนื้อหา

พงษ์สิทธิ์ คำภีร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พงษ์สิทธิ์ คำภีร์
ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อเกิดพงษ์สิทธิ์ คำภีร์
เกิด2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2510 (56 ปี)
ที่เกิดไทย จังหวัดหนองคาย ประเทศไทย
แนวเพลงเพลงเพื่อชีวิต, คันทรีร็อก, โฟล์กร็อก
อาชีพนักร้อง, นักแต่งเพลง
เครื่องดนตรีกีตาร์, เมาท์ออร์แกน
ช่วงปีพ.ศ. 2530 - ปัจจุบัน
ค่ายเพลงบัฟฟาโล่เฮด
รถไฟดนตรี
เอ็มสแควร์
ฅ.เรคคอร์ดส์
กันตนา มิวสิค
แกรมมี่
เสียงคำภีร์
คาราวาน สตูดิโอ
มิเดียส์ มิวสิค
โซนี่ มิวสิก
วอร์นเนอร์ มิวสิค ไทยแลนด์
ดี-เดย์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์

พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ (เกิด 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2510) ชื่อเล่น ปู เป็นศิลปินเพลงเพื่อชีวิตชาวไทย ที่ได้รับความนิยมในช่วง พ.ศ. 2534 และเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นในช่วง พ.ศ. 2535 จากผลงานอัลบั้ม มาตามสัญญา

ประวัติ

[แก้]

ปฐมวัย

[แก้]

พงษ์สิทธิ์ คำภีร์เกิดวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2510 ที่อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย โดยมีพ่อเป็นผู้ช่วยแพทย์ในโรงพยาบาล ที่อยู่ใกล้บ้าน ชื่อ สุดใจ คัมภีร์ ส่วนคุณแม่ชื่อ สมพร มีพี่น้องด้วยกัน 3 คน พงษ์สิทธิ์เริ่มสนใจดนตรีและกีฬาฟุตบอลมาตั้งแต่วัยเด็ก และภายหลังจากที่เรียนจบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนปทุมเทพวิทยาคารแล้ว พงษ์สิทธิ์ก็มุ่งหน้าสู่จังหวัดขอนแก่น เพื่อสอบเรียนต่อที่วิทยาลัยเทคนิคไทย-เยอรมันขอนแก่น (ปัจจุบันเป็น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น) แต่กลับต้องผิดหวัง เพราะวันประกาศผลสอบกลับไม่มีชื่อของเขา พงษ์สิทธิ์จึงตัดสินใจสมัครเรียนในโรงเรียนเอกชนชื่อโรงเรียนช่างกลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ปัจจุบันเป็น วิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) เพื่อไม่ให้เสียเวลาและเป็นการเตรียมพร้อมในการสอบคราวหน้า หลังจากเวลาผ่านไปหนึ่งปี จึงได้เข้าสมัครสอบที่วิทยาลัยเทคนิคไทย-เยอรมันขอนแก่นอีกครั้ง และครั้งนี้ พงษ์สิทธิ์ก็ไม่ผิดหวัง ช่วงมาเรียนที่นี้ พงษ์สิทธิ์ได้เข้ามาเป็นนักฟุตบอลของวิทยาลัย รวมทั้งฝึกการเล่นกีตาร์ไปพร้อมกัน ถึงขนาดแต่งเพลงไว้หลายบทเพลงด้วยกัน จนกระทั่งได้มีโอกาสร่วมเล่นดนตรีกับวงดนตรีรุ่นพี่ในวิทยาลัย ชื่อวง รีไทร์ ในตำแหน่งมือกีตาร์ และนั้นก็เป็นก้าวแรกในการเริ่มต้นของการเป็นนักดนตรีของพงษ์สิทธิ์ (ช่วงนี้ วงรีไทร์ ไดมีโอกาสเล่นเป็นวงเปิดให้กับศิลปินเพื่อชีวิต อย่าง ฅาราวาน และ พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ ทำให้พงษ์สิทธิ์ ได้มีโอกาสทำความรู้จัก และฅาราวานก็เป็นวงแม่แบบให้กับพงษ์สิทธิ์ตลอดมา)

ภายหลังจากจบการศึกษาในระดับ (ปวช.) แผนกช่างกลโรงงาน พงษ์สิทธิ์ก็เดินทางเข้าสู่กรุงเทพมหานคร โดยมาพักอยู่กับ ซู - ระพินทร์ พุฒิชาติ และ ปราโมทย์ ม่วงไหมทอง (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) ซึ่งต่อมาเป็นสมาชิกวงซูซู ด้วยความตั้งใจที่จะเป็นนักดนตรีอย่างเต็มตัว โดยมีนักดนตรีที่เคารพนับถือและชื่นชอบอยู่ 2 ท่าน คือ หงา - สุรชัย จันทิมาธร และเล็ก - ปรีชา ชนะภัย ที่คอยให้คำปรึกษา ให้ความช่วยเหลือ จนในระยะแรกก็ได้มาร่วมงานกับวงฅาราวานโดยเป็นนักดนตรีแบ็คอัพในตำแหน่งมือกีตาร์ และมีโอกาสได้ทัวร์ คอนเสิร์ตสันติภาพในประเทศกัมพูชา รวมทั้งคอนเสิร์ตที่ประทับใจอีกแห่ง คือ ปูวิชยาคาน คอนเสิร์ตนครวัด

จนกระทั่งในที่สุดก็ได้ออกอัลบั้มชุดแรกในปี พ.ศ. 2530 ชื่อชุด ถึงเพื่อน กับบริษัทบัฟฟาโล เฮด ที่มีสมาชิกวงคาราบาวเป็นผู้ดูแล และได้ สุเทพ ปานอำพัน (เอ็ดดี้ ซูซู) มาช่วยอีกแรงหนึ่ง ด้วยงานชุดนี้ไม่ถือว่าประสบความสำเร็จเท่าไหร่นัก แต่ก็มีเพลงฮิตอย่าง ถึงเพื่อน, เรียนและงาน ที่ถูกเปิดให้ได้ยินกันบ่อย ๆ ในยุคนั้น

ตำนานเพลงเพื่อชีวิตรุ่นที่ 3

[แก้]

พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นในปี พ.ศ. 2533 จากเพลง ตลอดเวลา ในอัลบั้ม เสือตัวที่ 11 ซึ่งออกกับค่าย รถไฟดนตรี พร้อมทั้งได้ทำเพลงประกอบละคร ตะวันชิงพลบ ซึ่งได้มีโอกาสที่จะนำเพลงดังกล่าวไปบรรจุรวมอยู่ในอัลบั้ม บันทึกการเดินทาง ด้วย แต่ติดอยู่ตรงที่ปัญหาทางด้านลิขสิทธิ์เพลง จึงจำเป็นต้องถอดออกภายหลัง แต่พงษ์สิทธิ์ได้นำเพลง โรงเรียนของหนู มาใส่ไว้แทน และเป็นอัลบั้มที่แฟนเพลงรู้จักมากขึ้นหลังจากออกวางจำหน่าย ไม่ว่าจะเป็น คิดถึง, โรงเรียนของหนู, เธอ...ผู้เสียสละ, ไทรโศก, ผีโรงเย็น, แม่ เป็นต้น

พงษ์สิทธิ์มีชื่อเล่นว่า ปู แต่บางครั้งแฟนเพลงจะนิยมเขาว่า คำภีร์ ตามชื่อนามสกุลที่เจ้าตัวเรียกตัวเองในแต่ละอัลบั้ม โดยในปี พ.ศ. 2535 พงษ์สิทธิ์ก็ออกอัลบั้มชุด มาตามสัญญา มีเพลงที่เป็นที่รู้จักกันคือ สุดใจ, ไถ่เธอคืนมา, เสมอ และ มาตามสัญญา ที่ได้เล็ก - ปรีชา ชนะภัย ศิลปินรุ่นพี่ที่พงษ์สิทธิ์ชื่นชอบมาร่วมร้องอีกด้วย โดยช่วงปีนั้น พงษ์สิทธิ์ได้รับความนิยมสูงสุด จนได้รับฉายาว่า ตำนานเพลงเพื่อชีวิตรุ่นที่ 3 (ต่อจาก ฅาราวาน และ คาราบาว) หรือ เจ้าพ่อเพลงรักเพื่อชีวิต

พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ เป็นนักร้องที่มีโทนเสียงไพเราะ มีลูกคอก้องกังวาล เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ดังนั้นเพลงที่เป็นที่นิยมและรู้จักของแฟนเพลงมาจนถึงปัจจุบัน มักจะเป็นเพลงช้า เนื้อหาซึ้ง ๆ บรรยายถึงความรักหรือความเหงาเป็นต้น ตามรายชื่อดังที่ได้กล่าวมาในข้างต้น และในส่วนของเพลงเร็ว ที่เป็นที่รู้จักกันดีได้แก่ หนุ่มน้อย, เจ้านาย, ยอดชาย, ทองดีทองเค, นักแสวงหา, ม.ให้อะไร, อีกคนหนึ่ง, แกเพื่อนฉัน, แรงยังมี เป็นต้น

คอนเสิร์ต

[แก้]

ภายหลังจากเข้ามาอยู่กับค่าย รถไฟดนตรี พงษ์สิทธิ์จึงได้เปิดการแสดงคอนเสิร์ตใหญ่ครั้งแรกของตนเองขึ้นในปี พ.ศ. 2535 โดยใช้ชื่อว่า ปิด-เปิดสัญญา ณ ดาดฟ้าลานจอดรถ ห้างฟอร์จูนทาวน์ รัชดา (ซึ่งก่อนหน้า พงษ์สิทธิ์เคยได้มีคอนเสิร์ตร่วมกับหงา - สุรชัย จันทิมาธร กับคอนเสิร์ตที่มีชื่อว่า อคูสติกคอนเสิร์ตนี้ไม่มีเหงา ในปี พ.ศ. 2534) ตามด้วยคอนเสิร์ต อันปลั๊ก ที่ได้ร่วมงานกับเล็ก - ปรีชา ชนะภัย ในปี พ.ศ.2536 และต่อมาในปี พ.ศ. 2537 พงษ์สิทธิ์ได้มีการย้ายค่ายเพลงมาอยู่กับ เอ็มสแควร์ และออกอัลบั้ม เราจะกลับมา พร้อมมีการจัดคอนเสิร์ตที่มีชื่อว่า อคูสติกคอนเสิร์ต ดนตรี กลางแจ้ง ผ้าแดง และคำภีร์ โดยมีศิลปินรับเชิญ อย่างเล็ก - ปรีชา ชนะภัย และ สุรชัย จันทิมาธร มาสร้างสีสันและความสนุกให้กับแฟนเพลง

ปี พ.ศ. 2541 พงษ์สิทธิ์ได้ร่วมงานกับ แอ๊ด - ยืนยง โอภากุล เป็นครั้งแรก ในคอนเสิร์ตใหญ่ที่มีชื่อว่า คอนเสิร์ต 3 ตำนานเพื่อชีวิต ร่วมกับหงา - สุรชัย จันทิมาธร โดยมีวงออร์เคสตรา BSO (วงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ) เป็นวงแบ็คอัพ โดยคอนเสิร์ตครั้งนี้เป็นการนำศิลปินเพื่อชีวิต ทั้ง 3 ยุค มาเล่นบนเวทีเดียวกันเพื่อบันทึกรอยต่อสำคัญของทั้ง 3 ศิลปินในด้านต่าง ๆ หรือจะเป็นคอนเสิร์ตการกุศลอย่าง คอนเสิร์ต หัวใจสีขาว โดยที่รายได้ส่วนหนึ่งจะมอบให้มูลนิธิ ธรรมรักษ์ วัดพระบาทน้ำพุ จังหวัดลพบุรี จนกระทั่งในช่วงเวลาครบรอบ 15 ปี บนถนนสายดนตรีของพงษ์สิทธิ์ ก็ได้จัดคอนเสิร์ต 15 ปี คำภีร์ เต็มขั้น ขึ้นในปี พ.ศ. 2545 รวมทั้งพงษ์สิทธิ์ ยังได้จัดทำโครงการช่วยเหลือสังคม คือ โครงการห้องสมุด คำภีร์ เพื่อเด็กในชนบท อีกด้วย

จนกระทั่งปี พ.ศ. 2549 พงษ์สิทธิ์ได้ย้ายมาอยู่กับ วอร์นเนอร์ มิวสิค ไทยแลนด์ รวมทั้งได้ออกอัลบั้ม บันทึกคนบนถนน และมีคอนเสิร์ต 19 เข้า 20 เสือออกลาย ซึ่งเป็นการแสดงคอนเสิร์ตในโอกาสย่างเข้าสู่ทศวรรษที่สองในการทำงานดนตรีของตัวเอง โดยมีหงา - สุรชัย จันทิมาธร, เล็ก - ปรีชา ชนะภัย, อ.ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี และ ฝน ธนสุนทร เป็นแขกรับเชิญ และในวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 พงษ์สิทธิ์ได้เปิดการแสดงคอนเสิร์ตครั้งใหญ่ขึ้นอีกครั้ง โดยใช้ชื่อว่า ฮักเสี่ยว ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) โดยมีหงา - สุรชัย จันทิมาธร, เล็ก - ปรีชา ชนะภัย, แอ๊ด - ยืนยง โอภากุล, ปาล์มมี่ และ อพาร์ทเม้นท์คุณป้า ร่วมเป็นแขกรับเชิญ [1] และวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2553 ได้แสดงคอนเสิร์ต อยู่อย่างสิงห์ ณ ธันเดอร์โดม เมืองทองธานี โดยมี ชาตรี คงสุวรรณ มือกีตาร์ระดับเทพ หงา - สุรชัย จันทิมาธร, เล็ก - ปรีชา ชนะภัย, ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว, สินเจริญ บราเธอร์ส, ณัฐฐาวีรนุช ทองมี และ ชุมพล เอกสมญา ลูกชายคนโตของ พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา ร่วมเป็นแขกรับเชิญพิเศษ[2] ถัดมาในปี พ.ศ. 2554 พงษ์สิทธิ์ ได้กลับมาอีกครั้ง กับคอนเสิร์ตที่มีชื่อว่า Singha Presents Pongsit Kampee Live by Request @ Saxophone ซึ่งจัดขึ้นที่แซกโซโฟน ผับ เพราะเป็นสถานที่ ๆ มีความผูกพันของพงษ์สิทธิ์เอง และการจัดคอนเสิร์ตครั้งนี้ มีการจำกัดจำนวนแฟนเพลงตัวจริงไว้ที่ 100 ท่านเท่านั้น ไม่มีการจำหน่ายบัตร และเพื่อที่จะได้มีการสื่อสารระหว่างพงษ์สิทธิ์กับแฟนเพลงได้อย่างทั่วถึง โดยการแสดงครั้งนี้จัดในรูปแบบอะคูสติกส์ และเล่นด้วยเครื่องดนตรีไฟฟ้า เพื่อสร้างความบันเทิงให้กับแฟนๆ อย่างเต็มที่ รวมไปถึงการพูดคุย ไต่ถาม ความเป็นไป ความรู้สึกต่างๆ กับแฟนเพลงได้อย่างใกล้ชิดและเปิดโอกาสให้แฟนๆ ได้ขอบทเพลงต่างๆ ที่อยากฟังกันอย่างเต็มที่ สมกับเป็น Live by Request หรือ สดตามคำขอ นอกจากนี้ยังให้แฟนๆ ที่มีความสามารถขึ้นมาร่วมเล่นกีตาร์ร้องเพลงกับพงษ์สิทธิ์อย่างเป็นกันเองอีกด้วย

ในปี พ.ศ. 2555 พงษ์สิทธิ์ ได้ออกงานอัลบั้มมีชื่อว่า 25 ปี (มีหวัง) ตามการครบรอบ 25 ปี บนถนนสายดนตรีของพงษ์สิทธิ์ และได้มีการทัวร์คอนเสิร์ตครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตการเป็นศิลปินของพงษ์สิทธิ์ กับคอนเสิร์ตที่มีชื่อว่า หัวใจเพื่อชีวิต 25 ปี พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ รักกัน…ตลอดเวลา ที่พร้อมมอบความสุขแทนคำขอบคุณให้กับแฟนเพลงใน 7 จังหวัดทั่วประเทศ ในการแสดงคอนเสิร์ตครั้งสุดท้ายของทัวร์คอนเสิร์ต ณ ลานแอกทีฟสแควร์ เมืองทองธานี ในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2555 ได้มีการชุมนุมและทำร้ายร่างกายของกลุ่มผู้มาร่วมคอนเสิร์ตจำนวนหนึ่ง จนทำให้ต้องยุติการแสดงลงกลางคัน[3] แต่แล้วการแสดงคอนเสิร์ตใหญ่ที่จะต้องต่อให้จบก็ได้เริ่มขึ้นอีกครั้งในวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2556อินดอร์ สเตเดียม หัวหมาก ซึ่งเป็นการปิดท้ายงานครบรอบ 25 ปี พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ ที่เริ่มกันมาตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2555 อย่างสมบูรณ์ อีกทั้งยังมีสองศิลปินระดับตำนาน หงา - สุรชัย จันทิมาธร และเล็ก - ปรีชา ชนะภัย รวมทั้ง เป้ - อารักษ์ อมรศุภศิริ อดีตมือกีต้าร์วงสเลอ และศิลปินรุ่นใหม่ที่ยกให้พงษ์สิทธิ์เป็นศิลปินในดวงใจ ขึ้นมาร่วมแจมกับพงษ์สิทธิ์บนเวทีด้วย และในวันอาทิตย์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2556 ที่โรงละครอักษรา คิงเพาเวอร์ พงษ์สิทธิ์ได้จัดคอนเสิร์ตใหญ่ร่วมกับเล็ก - ปรีชา ชนะภัย อีกครั้งกับอะคูสติก คอนเสิร์ต ปลั๊กหลุด 2 ตอน เสียบปลั๊ก (สดใส...ไม่อึกทึก) ซึ่งเป็นการครบรอบ 20 ปี ของอัลบั้มปลั๊กหลุดอีกด้วย โดยจำกัดผู้ชมเพียง 600 ท่านเท่านั้น เพื่อความใกล้ชิดและเป็นกันเอง

และภายหลังในวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 พงษ์สิทธิ์ก็ได้มีคอนเสิร์ตใหญ่อีกครั้งตามคำเรียกร้องจากแฟนเพลง กับคอนเสิร์ตโรแมนติกครั้งแรกของเจ้าพ่อเพลงรักเพื่อชีวิตที่มีชื่อว่า คอนเสิร์ตคำภีร์เพลงรักไบเทค บางนา ฮอลล์ 105 โดยพงษ์สิทธิ์ได้รวบรวมบทเพลงรักทุกสถานะมากล่อมใจให้แฟน ๆ พร้อมด้วยศิลปินแขกรับเชิญพิเศษที่มามอบความหวานอย่างสมบูรณ์แบบอย่าง ลิเดีย - ศรัณย์รัชต์ วิสุทธิธาดา และแสตมป์ - อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข ซึ่งในทุกแง่มุมของบทเพลงรักครั้งนี้ ได้ถูกหยิบมาเล่นร้องบนเวทีคอนเสิร์ตอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งแรก เพื่อให้แฟนเพลงได้สัมผัสกับความเป็นเจ้าพ่อเพลงรักเพื่อชีวิตของพงษ์สิทธิ์ได้อย่างเต็มที่และสมบูรณ์แบบที่สุด

ในด้านความเห็นทางการเมือง แม้พงษ์สิทธิ์จะเคยขึ้นเวทีให้กับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในปี พ.ศ. 2551 ก็ตาม แต่หลังจากนั้นเขาก็ไม่ได้ร่วมการชุมนุมของกลุ่มการเมืองใดอีก ในอีกสองปีต่อมาพงษ์สิทธิ์ได้แต่งเพลง "นครลิง" ซึ่งมีเนื้อหาเสียดสีสถานการณ์การเมืองในขณะนั้น เพลงดังกล่าวได้รวมอยู่ในอัลบั้ม "25 ปี (มีหวัง)" ในปี พ.ศ. 2555 ปัจจุบันพงษ์สิทธิ์ไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองใดๆ

สมาชิก

[แก้]
  • พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ ร้องนำ,กีตาร์,ฮาร์โมนิก้า,ประสานเสียง
  • ศิวะพงษ์ ศรีปรีชาพัฒนะ กีตาร์
  • ยุทธ์ดนัย มั่งนิมิตร เบส,ประสานเสียง
  • อุดร ทีนะกุล กลอง,ประสานเสียง
  • สุวรรณ มโนษร คีย์บอร์ด,ไวโอลิน,ประสานเสียง

อดีตสมาชิก

[แก้]
  • เมธี จันทรา กีตาร์,ประสานเสียง
  • อุทัยวุฒิ เหมือนทอง คีย์บอร์ด,ประสานเสียง
  • Jack Barry กีตาร์,ประสานเสียง

ผลงานเพลง

[แก้]

อัลบั้มภาคปกติ

[แก้]
  • ถึงเพื่อน (สิงหาคม 2530 - Vol.1 (กันยายน 2544) เปลี่ยนปกพร้อมบันทึกเสียงใหม่และเพิ่มเพลงพิเศษ 2 เพลง นิทรา, อยู่ในใจ "Instrumental")
  • เสือตัวที่ 11 (ธันวาคม 2533)
  • บันทึกการเดินทาง (ตุลาคม 2534)
  • มาตามสัญญา (กันยายน 2535)
  • อยู่ตรงนี้ (ตุลาคม 2536)
  • เราจะกลับมา (มกราคม 2537 - มีนาคม 2543)
  • อยากขึ้นสวรรค์ (สิงหาคม 2538 - เปลี่ยนปกใหม่ พร้อมเพลง "รอ" เวอร์ชันใหม่)
  • เส้นทางสายเก่า (เมษายน 2539)
  • คำนึงถึงบ้าน (กรกฏาคม 2540 - มีนาคม 2543)
  • สุดใจฝัน (2541)
  • สมชายดี (พฤษภาคม 2542)
  • ชีวิตยังมีหวัง (มิถุนายน 2543)
  • ใต้ดวงตะวัน (2544)
  • สามัญชน (มิถุนายน 2546)
  • ประชาชนเต็มขั้น (เมษายน 2548)
  • บันทึกคนบนถนน (พฤษภาคม 2549)
  • วันใหม่ (มิถุนายน 2550)
  • 25 ปี (มีหวัง) (พฤศจิกายน 2555)
  • แกกับฉัน (มีนาคม 2561)
  • 35 ปี คำภีร์ (ตุลาคม 2566)

ชิงเกี้ล

[แก้]
  • เพลง ปาฏิหาริย์ (2558)
  • เพลง แกกับฉัน (5 พฤษภาคม 2560)
  • เพลง เสียดาย (4 สิงหาคม 2560)
  • เพลง ของใคร (25 สิงหาคม 2560)
  • เพลง วิญญาณ (ธันวาคม 2560)
  • เพลง อยู่ในใจ (9 มีนาคม 2561)
  • เพลง ขอโทษ (14 พฤศจิกายน 2562)
  • เพลง ใจถึงใจ (10 เมษายน 2563)
  • เพลง วณิพก (22 พฤษภาคม 2563)
  • เพลง ลุงขี้เมา (29 พฤษภาคม 2563)
  • เพลง หนุ่มลำมูล (5 มิถุนายน 2563)
  • เพลง คาราวาน (12 กุมภาพันธ์ 2564)
  • เพลง คนอะไรไม่รู้ (19 กุมภาพันธ์ 2564)
  • เพลง พิณ พนมไพร (5 มีนาคม 2564)
  • เพลง เธอจ๋า (9 กรกฏาคม 2564)
  • เพลง คำสั้นสั้น (17 กันยายน 2564)
  • เพลง สงครามเย็น (17 ธันวาคม 2564)
  • เพลง อ้อมกอดของเรา (28 มกราคม 2565)
  • เพลง เรายังมีความหวัง (4 มีนาคม 2565)
  • เพลง ปล่อยวางโควิด (เมษายน 2565)
  • เพลง เลือกรักเธอ (8 เมษายน 2565)
  • เพลง สวยประหาร (พฤษภาคม 2565)
  • เพลง ตะวันชิงพลบ (29 กันยายน 2565)
  • เพลง ทอยแลนด์ (17 กุมภาพันธ์ 2566)
  • เพลง ต้องวันนี้ (7 เมษายน 2566)
  • เพลง มือของแก (9 มิถุนายน 2566)
  • เพลง พวกเขา พวกเรา (7 กรกฏาคม 2566)
  • เพลง 6 ต.ค. 2565 (18 สิงหาคม 2566)
  • เพลง กันและกัน (25 สิงหาคม 2566)
  • เพลง จอมโจร Pt.2 (15 กันยายน 2566)
  • เพลง ใจจะขาด (18 กรกฎาคม 2567)
  • เพลง พญาลิง (20 สิงหาคม 2567)

ผลงานเพลงที่แต่งให้ศิลปินอื่น ๆ เและร่วมโปรดิวเซอร์

[แก้]
  • แต่งเพลง ผู้การเรือเร่ (ขับร้องโดย จอนนี่ แอนโฟเน่)
  • กีรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร อัลบั้ม หัวใจและเวลา - แต่งเพลง ตายรัง (หรืออีกชื่อหนึ่งคือ "เหมือนเดิม" ซึ่งพงษ์สิทธิ์ได้นำมาร้องใหม่และบรรจุอยู่ในอัลบั้มรวมเพลง "ชีวิตกับเวลา")
  • ศุ บุญเลี้ยง อัลบั้ม จากเพื่อนถึงเพื่อน แต่งเพลง โลกกว้าง (โดยเพลงนี้มีชื่อเดิมว่า "มีกำลังใจรึเปล่า")
  • สุเทพ โฮป อัลบั้ม ปีนป่ายสายรุ้ง แต่งเพลง ฉันเลือกเอง
  • โฮป อัลบั้ม ฉันจะรักเธอ - (โปรดิวเซอร์ร่วม) พร้อมแต่งเพลง ดอกไม้แห่งรัก
  • มงคล อุทก อัลบั้ม พูดไม่หวาน - (โปรดิวเซอร์ร่วม)
  • จิระศักดิ์ ปานพุ่ม อัลบั้ม Get Up Higher - แต่งเพลง ลูกยังไม่ท้อ
  • โทน อุทัยวุฒิ เหมือนทอง อัลบั้ม พ่อครับ...ผมขอโทษ - (โปรดิวเซอร์ร่วม) พร้อมแต่งเพลง ถนนอีกสาย
  • สัญ พันธุ์ดนตรี อัลบั้ม มนุษย์เพลง - (โปรดิวเซอร์)
  • ปรีชา ชนะภัย อัลบั้ม โลกใบนี้ - แต่งเพลง คืนฟ้าหม่น
  • Ebola - อัลบั้ม Still Alive [EP] - แต่งเพลง ฝ่า


ผลงานแสดงภาพยนตร์

[แก้]
  • ผู้หญิง 5 บาป 1 (2545) รับบท Security
  • สมเด็จโต (2548) รับบท ปู พงษ์สิทธิ์ คำภีร์
  • ผู้หญิง 5 บาป 2 (2553) รับบท Security
  • ยังบาว (2556) รับบท ปู พงษ์สิทธิ์ คำภีร์

กีตาร์ที่ปูใช้อยู่ในปัจจุบัน

[แก้]
  • rickenbacker
  • Gibson
  • Gretsch
  • Lekplorer
  • Statocaster
  • Dobro

มิวสิควีดีโอ

[แก้]
  • อกหักตอนพักยก ของ มนต์สิทธิ์ คำสร้อย (2548)

โฆษณา

[แก้]
  • โค้ก (2535)

รางวัล

[แก้]
  • สมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย รางวัลศิลปินเพลงสร้างสรรค์ยอดเยี่ยม ประจำปี พ.ศ. 2534
  • รางวัลโทรทัศน์ทองคำ เพลงนำละครดีเด่น เรื่อง "ตะวันชิงพลบ" ปี พ.ศ. 2534
  • ชมรมสภาวะแวดล้อมสยาม รางวัลเพลงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม "สัตว์รักสัตว์" ปี พ.ศ. 2535
  • คณะกรรมการ สยช. รางวัลผู้ผลิตงานสื่อมวลชนดีเด่นเพื่อเยาวชน "โรงเรียนของหนู" ปี พ.ศ. 2535
  • รางวัลศิลปินผู้ช่วยเหลือกิจการ โรงเรียนวชิรวุธวิทยาลัย ปี พ.ศ. 2535
  • รางวัลโทรทัศน์ทองคำ มิวสิกวิดีโอดีเด่น "โรงเรียนของหนู" ปี พ.ศ. 2535
  • สีสันอะวอร์ดส์ เพลงยอดเยี่ยม "6 ต.ค. 2519" ปี พ.ศ. 2539
  • พระพิฆเนศทองคำ ปี 2540
  • สีสันอะวอร์ดส์ เพลงในการบันทึกเสียงยอดเยี่ยม "ออนซอน" ปี พ.ศ. 2542
  • สีสันอะวอร์ดส์ เพลงในการบันทึกเสียงยอดเยี่ยม "ด.ช.รามี่" ปี พ.ศ. 2544
  • คมชัดลึก อวอร์ด ครั้งที่ 10 รางวัล ศิลปินชายเดี่ยวยอดเยี่ยม อัลบั้มยอดเยี่ยม (อัลบั้ม 25 ปี มีหวัง) ปี พ.ศ. 2555
  • คมชัดลึก อวอร์ด ครั้งที่ 10 รางวัล เพลงไทยสากลยอดเยี่ยม "เพราะรักเธอรออยู่" ปี พ.ศ. 2555
  • สีสันอะวอร์ดส์ ศิลปินชายยอดเยี่ยม (อัลบั้ม 25 ปี มีหวัง) ปี พ.ศ. 2555
  • คมชัดลึก อวอร์ด ครั้งที่ 15 รางวัล "ศิลปินชายเดี่ยวยอดเยี่ยม" จากอัลบั้ม "แกกับฉัน" ประจำปี พ.ศ. 2561
  • สีสันอะวอร์ดส์ ศิลปินเดี่ยวยอดเยี่ยม จากอัลบั้ม "แกกับฉัน" ครั้งที่ 30 ประจำปี 2561
  • ศิลปินมรดกอีสาน สาขา ศิลปะการแสดง ประจำปี พ.ศ.2567 จาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • และ รางวัลต่างๆอีกมากมาย ตั้งแต่รางวัล ระดับประเทศ, องค์กร, สถาบันต่างๆที่ได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วน

อ้างอิง

[แก้]
  1. ""ฮักเสี่ยว" สนุกแบบง่ายๆ สไตล์ "คำภีร์"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-09. สืบค้นเมื่อ 2009-07-26.
  2. อยู่อย่างสิงห์ พงษ์สิทธิ์ คำภีร์
  3. "ปู พงษ์สิทธิ์ - pang123". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-06-10. สืบค้นเมื่อ 2015-06-07.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]