ข้ามไปเนื้อหา

นคร ถนอมทรัพย์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นคร ถนอมทรัพย์
นคร ถนอมทรัพย์
ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อเกิดนคร ถนอมทรัพย์
รู้จักในชื่อกุงกาดิน (นักร้องผิวหมึกของไทย)
เกิด8 เมษายน พ.ศ. 2475 (92 ปี) [1]
ที่เกิดอำเภอคลองสาน จังหวัดธนบุรี
แนวเพลงเพลงไทยสากล
อาชีพนักร้อง, นักดนตรี, นักประพันธ์เพลง, โฆษก, นักจัดรายการวิทยุ
เครื่องดนตรีเปียโน
ช่วงปีพ.ศ. 2497 - ปัจจุบัน
สมาชิกวงดนตรีจุฬารัตน์
อดีตสมาชิก(วงดนตรีประเทืองทิพย์) ของ ประเทือง บุญญประพันธ์ และ (วงดนตรีดุริยะโยธิน) ของกองทัพบก

นคร ถนอมทรัพย์ หรือ กุงกาดิน ( 8 เมษายน พ.ศ. 2475 -) เป็นนักร้อง นักดนตรี นักประพันธ์เพลง นักเรียบเรียงเสียงประสาน และนักจัดรายการวิทยุชายชาวไทย เป็นรองหัวหน้าวงดนตรีจุฬารัตน์ ของมงคล อมาตยกุล [2] มีชื่อเสียงจากการร้องและประพันธ์เพลงแปลง โดยใช้ชื่อในการแสดงว่า "กุงกาดิน" และพากย์เสียงละครวิทยุ [3] นคร ถนอมทรัพย์ ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ให้เป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล-ประพันธ์และขับร้อง) ประจำปี พ.ศ. 2554

ประวัติ

[แก้]

นคร ถนอมทรัพย์ มีผลงานเพลงบันทึกแผ่นเสียงครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2497 ซึ่งเป็นเพลงที่ประพันธ์ประกอบละครวิทยุ อาทิเพลง อโศกรักสลักใจ, รักชั่วคืน หลังจากนั้นมีผลงานเพลงที่สร้างชื่อเสียงตามด้วย อยุธยาเมืองเก่า (ประพันธ์ร่วม สุรินทร์ ปิยะนันท์), ตัดไม่ขาด, หยดหนึ่งของกาลเวลา, ปรัศนีย์หัวใจ, ทำนบหัวใจ, บำนาญรัก, บาบูต้นฉบับเงินกู้, แสบไส้, บำเหน็จชีวิต, สาบานหน้าพระ, ดิงดอง ฯลฯ และผลงานเพลงในระบบชิบมั้ง พ.ศ. 2516 เพลงขายบะจ่าง, คืนโอโอ, อุอีอุอาอา และผลงานเพลงแปลงร่วมเกือบร้อยเพลง

ผลงานเพลงที่นครประพันธ์ขึ้นจนสร้างชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั้งประเทศ ได้แก่เพลง "เราไม่มีเวลาทะเลาะกันอีกแล้ว" และเพลง "รักกันไว้เถิด" [4] ได้รับพระราชทานรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ประจำปี พ.ศ. 2514 รวม 3 รางวัล ทำนองยอดเยื่ยม, คำร้องยอดเยื่ยม และขับร้องยอดเยื่ยม จากพระหัตถ์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร[5]

วงการเพลง

[แก้]
นักร้องผิวหมึกของไทย

นคร ถนอมทรัพย์ ให้สัมภาษณ์ "เมืองไทย ภัทรถาวงศ์" เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2564 ในวาระครบ 50 ปี เพลงรักกันไว้เถิด ว่า "เพลงรักกันไว้เถิด ตอนครูเป็นเด็กมีความฝังใจเรื่อง 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คนต่างชาติที่มาเกิดในเมืองไทย ได้ชื่อว่าเป็นคนไทย แล้วพวกแขกชายแดนภาคใต้มันอยู่ในเขตไทย ออกลูกออกหลานมันก็ได้ชื่อว่าคนไทย ก็คือยังฝังใจอยู่เหมือนคนไทยที่ไม่มีความกตัญญูต่อชาติต่อแผ่นดินถิ่นเกิด ตอนครูเล็กเล็กเพื่อนข้างบ้าน และเพื่อนละแวกบ้าน พ่อแม่เขาเป็นคนจีนแท้ๆ ยังสำนึกรักประเทศไทยที่เขามาอาศัยใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร ในปี 2514 คณะกรรมการรางวัลพระราชทานแผ่นเสียงทองคำ ครั้งที่ 3 ทูลเชิญในหลวง รัชกาลที่ 9 มาเป็นองค์ประธานงาน ในหลวงก็เลยบอกคณะกรรมการว่ามีแต่เพลงรักๆใคร่ๆ เพลงรักชาติบ้านเมืองควรจะมีบ้าง ถ้ามีเพลงรักชาติบ้านเมืองจะส่งคณะกรรมการจากสำนักพระราชวังร่วมตัดสินด้วย ในเมื่อเขามีโครงการนี้ขึ้นมา เขาก็ประกาศบอก ครูก็ถามว่าทำไมคราวนี้มีส่งประกวดอย่างนี้ เพลงรักชาติบ้านเมืองมันขาดแคลนให้ส่งประกวดด้วย หลังหลวงวิจิตรวาทการ แล้วมันไม่ค่อยมี วงดนตรีสุนทราภรณ์เขาก็มีทำบ้าง นอกจากเป็นวงดนตรีของรัฐ ถ้าวงดนตรีอิสระไม่เห็นมีใครเขียนเพลงรักชาติบ้านเมือง อาจจะมีแต่ไม่โดดเด่น พอเรามีความฝังใจตอนเด็กเลยเขียนเพลงนี้ เขียนแปปเดียว ส่งประกวดแล้วไม่นึกว่าจะได้รับรางวัล เพราะในปีนั้นมีคนส่งเพลงรักชาติบ้านเมืองไปหลายเพลง หลายคน เพลงรักกันไว้เถิดได้สามรางวัล 1.เนื้อร้องชนะเลิศ 2.ทำนองชนะเลิศ 3.นักร้องชายรองชนะเลิศ พอเพลงดังไม่ถึงปี พี่พันคำ มาขอเพลงให้บรรจุอยู่ในฉากภาพยนตร์ของเขา ส่วนอีกเพลงที่แต่งขึ้นเฉพาะกิจในงานรางวัลเสาอากาศทองคำ ปี พ.ศ. 2518 คือเพลง เราไม่มีเวลาทะเลาะกันอีกแล้ว ได้รับรางวัลพระราชทานแผ่นเสียงทองคำ ในปี พ.ศ. 2525 ถึง 6 รางวัล 1. คำร้องยอดเยื่ยม, 2. ทำนองยอดเยื่ยม, 3. ขับร้องยอดเยื่ยม, 4. เรียบเรียงเสียงประสานยอดเยื่ยม, 5. วงดนตรียอดเยื่ยม, 6. ห้องอัดเสียงยอดเยื่ยม "

เกรียติคุณ

[แก้]

ในปี พ.ศ. 2523 คุณหญิงเนื้อทิพย์ เสมรสุต นายกสมาคมผู้อาสาสมัครและช่วยการศึกษา เป็นผู้คิดริเริ่มกำหนดให้วันที่ 5 ธันวาคม เป็นวันพ่อแห่งชาติ คุณหญิงเนื้อทิพย์ได้จัดกิจกรรมวันพ่อแห่งชาติขึ้นครั้งแรกที่ท้องสนามหลวง จึงชักชวนให้ นคร ถนอมทรัพย์ แต่งเพลงประจำกิจกรรมวันพ่อขึ้นเพื่อสดุดีเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผู้เป็นพ่อตัวอย่างของแผ่นดิน บทเพลงที่ นคร ถนอมทรัพย์ สร้างสรรค์งานประพันธ์จนเป็นที่ได้รับความนิยมทั้งทางสถานีวิทยุ และ ทางสถานีโทรทัศน์ อาทิเพลง พ่อแห่งชาติ, พ่อ, หนึ่งในโลก, พลังแห่งแผ่นดิน, รู้รักสามัคคี, ปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ และ ภูมิแผ่นดิน นวมินทร์มหาราชา ฯลฯ

นคร ถนอมทรัพย์ เคยดำรงตำแหน่ง"นายกสมาคมนักแต่งเพลงแห่งประเทศไทย"[6] เป็นบุคคลหนึ่งที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการอนุรักษ์เพลงไทยสากลเก่า ทั้งเพลงลูกทุ่ง และเพลงลูกกรุง โดยจัดรายการเพลงทางสถานีโทรทัศน์ชื่อ "รายการกดกริ่ง" ทางช่อง mvtv[7]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ครูนคร ถนอมทรัพย์ (1) : ใครปั้นเธอ[ลิงก์เสีย]
  2. ไพบูลย์ สำราญภูติ. เพลงลูกกรุง, TK Park Music Library ชุดดนตรีไทย. กรุงเทพ : สำนักงานอุทยานการเรียนรู้, พ.ศ. 2550. 168 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 978-974-8218-82-3
  3. "จากผู้เขียนถึงผู้ฟัง โดย..นคร ถนอมทรัพย์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-12-27. สืบค้นเมื่อ 2010-05-06.
  4. ถั่วแระ-สมจิตรชวนร้องเพลงรักกันไว้เถิด คมชัดลึก, 12 มีนาคม 2553
  5. "นคร ถนอมทรัพย์ เพลงรักกันไว้เถิด". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-09-01. สืบค้นเมื่อ 2010-05-28.
  6. นคร ถนอมทรัพย์ เคยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมนักแต่งเพลงแห่งประเทศไทย ไทยโพสต์ 19 มกราคม 2553[ลิงก์เสีย]
  7. "ไปทั่วทิศ ดูทั่วไทย ไกลทั่วโลก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-05-21. สืบค้นเมื่อ 2013-03-23.
  8. ราชกิจจานุเบกษา,ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ประจำปี ๒๕๕๕ (จำนวน ๕,๘๒๖ ราย) เก็บถาวร 2014-05-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนเล่ม ๑๓๐ ตอนที่ ๔ ข ๒๘ มกราคม ๒๕๕๖ หน้า ๑๒๘