รัจนา พวงประยงค์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
รัจนา พวงประยงค์
ไฟล์:รัจนา พวงประยงค์0001.JPG
สารนิเทศภูมิหลัง
เกิด6 ตุลาคม พ.ศ. 2483 (83 ปี)
กรุงเทพมหานคร
อาชีพข้าราชการบำนาญ
ครูสอนนาฏศิลป์ไทย
ปีที่แสดงพ.ศ. 2500 - ปัจจุบัน
สังกัดกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม
ศิลปินแห่งชาติ
สาขาศิลปะการแสดง
(นาฏศิลป์ไทย-ละคร)
พ.ศ. 2554
ไฟล์:MKogo-headerSilpakorn.gif
ศิลปินสำนักการสังคีตกรมศิลปากร
กระทรวงวัฒนธรรม
สถานที่จัดการแสดงในสังกัด
กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
ศิลปินสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์
กระทรวงวัฒนธรรม
หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

รัจนา พวงประยงค์ (6 ตุลาคม พ.ศ. 2483 - ปัจจุบัน) ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์ไทย-ละคร) พ.ศ. 2554[1] ข้าราชการบำนาญ สังกัดกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม เป็นนาฏศิลปินที่มากความสามารถมาก

ประวัติ[แก้]

รัจนา พวงประยงค์ เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2483 ณ บ้านถนนข้าวสาร อำเภอพระนคร จังหวัดพระนคร (ปัจจุบัน คือ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร) เป็นธิดาของนายหลี และนางสมพล พวงประยงค์ นายหลีผู้เป็นบิดาเคยเป็นคนละครสมัยเก่ามาก่อน ส่วนมารดาของนางรัจนา พวงประยงค์ นั้น เคยหัดละครอยู่กับ นางมัลลี คงประภัศร์ (ครูหมัน) แต่เนื่องจากไม่สนใจอย่างจริงจัง และไม่ชอบเรื่องนาฏศิลป์ จึงไม่ได้เป็นนักแสดง

การศึกษา[แก้]

เมื่ออายุอยู่ในวัยที่จะต้องเข้ารับการศึกษา นางรัจนา พวงประยงค์ ได้เข้าเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนบำรุงวิทยา จนจนชั้นประถมปีที่ 4 ต่อจากนั้นจึงไปเรียนต่อที่โรงเรียนเขียนนิวาส พอสอบไล่ได้ชั้นมัธยมปีที่ 1 บิดาก็ให้นางรัจนา พวงประยงค์ลาออกจากโรงเรียนเขียนนิวาส แล้วให้ไปเรียนต่อที่โรงเรียนนาฏศิลป เหตุที่ทำให้บิดาของนางรัจนา พวงประยงค์ ต้องการให้บุตรสาวของตนเองเข้าเรียนที่โรงเรียนนาฏศิลป ก็เพราะว่าพี่สาวของนางรัจนา พวงประยงค์ คือ นางสาวอัมพร พวงประยงค์ ซึ่งเป็นนักเรียนโรงเรียนนาฏศิลป ได้ถึงแก่กรรมขณะกำลังเรียนหนังสืออยู่ ด้วยเหตุนี้ นายหลี พวงประยงค์ จึงปรารถนาจะให้นางรัจนา พวงประยงค์ เป็นตัวแทนของพี่สาวไปเรียนในโรงเรียนนาฏศิลปแทน

เป็นอันว่านางรัจนา พวงประยงค์ ได้เข้าเรียนในโรงเรียนนาฏศิลป์ ในชั้นต้นปีที่ 1 เมื่อแรกเรียนวิชานาฏศิลป์สาขาละครนั้น นางรัจนา พวงประยงค์ ฝึกหัดเป็นตัวพระ โดยมีนางสุวรรณี ชลานุเคราะห์ เป็นครูสอน ผลการเรียนในปีแรกนั้น นางรัจนา พวงประยงค์ ไม่ได้รับเลือกให้แสดงละครหรือนาฏศิลป์ชุดใด ๆ เลย จนกระทั่งสอบไล่ได้ขึ้นไปเรียนชั้นต้นปีที่ 2 ก็ไม่ได้แสดงอะไรอีก จนนางรัจนา พวงประยงค์ เรียนอยู่ชั้นต้นปีที่ 3 ก็ได้รับการคัดเลือกให้แสดงโขนเป็นตัวนางกำนัล ในขณะนั้น นางรัจนา พวงประยงค์ จึงได้รู้จักกับนางเจริญจิต ภัทรเสวี ซึ่งเป็นครูนาง สอนทั้งละครและโขน นางเจริญจิต ภัทรเสวีได้สอนการรำให้แก่นางรัจนา พวงประยงค์ จนมีความสามารถแสดงโขนได้เป็นอย่างดี จนกระทั่งปลายปีนั้น นางเจริญจิต ภัทรเสวีก็หัดนางรัจนา พวงประยงค์ ให้แสดงเป็นนางเบญจกายในการแสดงโขนตอนหนุมานจับนางเบญจกาย จนกระทั่งเรียนอยู่ชั้นต้นปีที่ 4 นางรัจนา พวงประยงค์ ก็ได้รับคัดเลือกให้แสดงละครเรื่อง รถเสน เป็นตัวนางเมรี จากการแสดงเป็นนางเมรีทำให้นางรัจนา พวงประยงค์ มีชื่อเสียงขึ้นเป็นลำดับ นางรัจนาเรียนต่อมาจนจบชั้นสูงปีที่ 2 อันเป็นหลักสูตรนาฏศิลป์ชั้นสูงจากโรงเรียนนาฏศิลป์ มหาลัย


การทำงานและผลงานการแสดง[แก้]

นางรัจนา พวงประยงค์ มิใช่จะแสดงละครโขนเก่งแต่เพียงอย่างเดียว นางรัจนา พวงประยงค์ ยังเรียนเก่ง และสอบเข้ารับราชการได้ตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนโรงเรียนนาฏศิลป นางรัจนา พวงประยงค์ เริ่มรับเงินเดือนในฐานะเป็นศิลปินสำรอง เดือนละ 15 บาท พอจบชั้นต้นปีที่ 6 (มัธยมปีที่ 6) นางรัจนา พวงประยงค์ ก็สอบเข้าเป็นข้าราชการชั้นจัตวา สังกัดแผนกนาฏศิลป กองการสังคีต กรมศิลปากร (ปัจจุบันคือ สำนักการสังคีต กรมศิลปากร) เมื่อจบหลักสูตรชั้นสูงปีที่ 2 แล้ว นางรัจนา พวงประยงค์ ก็สอบเลื่อนเป็นข้าราชการสามัญชั้นตรี ตำแหน่งศิลปินตรี ปรากฏว่านางรัจนา พวงประยงค์ สอบไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่ทำข้อสอบได้ดี นางรัจนา พวงประยงค์ จึงเกิดความน้อยใจไม่ประสงค์ที่จะรับราชการอยู่ที่เดิม จึงไปสมัครสอบเป็นครูที่โรงเรียนนาฏศิลป กองศิลปศึกษา และได้รับการบรรจุให้เป็นครูตรี

นางรัจนา พวงประยงค์ ทำงานในหน้าที่ด้วยความขยันขันแข็ง และเอาใจใส่ในการทำงาน ทั้งด้านการสอนและการแสดง แต่นางรัจนา พวงประยงค์ ก็ไม่ได้รับความดีความชอบเหมือนคนอื่น ๆ จึงเกิดความท้อใจ จึงได้ลาออกไปประกอบอาชีพส่วนตัว โดยการสอนนาฏศิลป์ตามโรงเรียนต่าง ๆ และจัดรายการแสดงรวมทั้งเพลงไทยร่วมกับมิตรสหายทางสถานีวิทยุกระจายเสียงหลายแห่ง แต่ในที่สุดนางรัจนา พวงประยงค์ ก็เกิดความเบื่อหน่ายในกิจการที่ทำ จึงเลิกราไป ครั้งสุดท้ายนางรัจนา พวงประยงค์ ได้เป็นครูสอนนาฏศิลป์ ที่สวนสามพราน นางรัจนา พวงประยงค์ได้ทำงานอยู่ที่แห่งนี้เป็นเวลานานหลายปี ก่อนที่จะกลับไปรับราชการอีกครั้งหนึ่ง

นางรัจนา พวงประยงค์ ในบทการแสดงเป็นนางเมรีขี้เมา ในละครนอกเรื่อง รถเสน

การที่นางรัจนา พวงประยงค์ ได้เข้ารับราชการที่กรมศิลปากรอีกครั้งหนึ่งนั้น ก็เพราะว่า พลเรือตรี สมภพ ภิรมย์ ซึ่งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากรในสมัยนั้น ได้ให้เจ้าหน้าที่ไปเชิญนางรัจนา พวงประยงค์ ไปพบที่กรมศิลปากร พลเรือตรี สมภพ ภิรมย์ ได้ชักชวนให้นางรัจนา พวงประยงค์ กลับเข้ารับราชการที่กรมศิลปากรตามเดิม นางรัจนา พวงประยงค์ ตกลงใจเข้ารับราชการอีกครั้งหนึ่ง โดยได้รับการบรรจุเข้าเป็นอาจารย์พิเศษเป็นการชั่วคราวในวิทยาลัยนาฏศิลป จนกระทั่งงานนาฏศิลป์ กองการสังคีต มีตำแหน่งว่าง นางรัจนา พวงประยงค์ จึงไปสมัครสอบและได้รับการบรรจุให้เป็นนาฏศิลปิน ระดับ 2 ครั้งนั้น นางรัจนา พวงประยงค์ ได้มีโอกาสแสดงโขนแสดงละครของกรมศิลปากรอย่างเต็มที่ จากการสนับสนุนของ นายเสรี หวังในธรรม ผู้อำนวยการกองการสังคีต และนายทวีศักดิ์ เสนาณรงค์ อธิบดีกรมศิลปากร ขณะดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมศิลปากร โดยมีท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี ผู้เชี่ยวชาญนาฏศิลป์ไทยของกรมศิลปากร เป็นผู้อำนวยการฝึกสอนท่ารำอย่างเอาใจใส่ นางรัจนา พวงประยงค์ จึงเป็นผู้แสดงโขนละครรุ่นอาวุโสอีกคนหนึ่ง ที่มีฝีมือถึงขั้นเป็นผู้ช่วยกำกับการแสดงและการฝึกซ้อมการแสดงได้ ซึ่งนางรัจนา พวงประยงค์ ก็ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวจนเกษียณอายุราชการ

นางรัจนา พวงประยงค์ เคยไปแสดงนาฏศิลป์ไทยที่ต่างประเทศหลายประเทศ เช่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สหภาพพม่า ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย อินเดีย สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และสาธารณรัฐประชาชนจีน มีผลงานการแสดงโขนละครเป็นตัวเอก เช่น

บทบาทที่นางรัจนา พวงประยงค์ แสดงได้ดีเป็นพิเศษจนได้ชื่อว่ามีความสามารถโดดเด่น คือการแสดงบทบาทและอารมณ์อันสมจริงในบทนางเอกละครนอกแทบทุกเรื่อง ที่นับว่ายอดเยี่ยมคือบทนางเมรีขี้เมา ในเรื่อง พระรถเมรีบทนางวิฬาร์ ในเรื่องไชยเชษฐ์ บทนางแก้วหน้าม้า ตอนรำเย้ยซุ้ม บทนางยี่สุ่น ในเรื่องลักษณวงศ์ บทนางมณฑาตอนลงกระท่อม นอกจากจะเป็นศิลปินที่มีกระบวนรำงามมากแล้ว ยังเป็นครูผู้รักษาขนบประเพณีในการแสดง ถูกต้องครบครันตามแบบฉบับ เป็นนางเอกรูปลักษณ์งดงามแขนอ่อนยากจะหาใครเหมือน นับเป็นศิลปินบทนางที่มีความสามารถสูงส่ง ตีบทได้สมจริงทุกบทบาท ทั้งมีความสง่างาม สมที่เป็นแบบอย่าที่ดีแก่ศิลปินรุ่นหลัง นางรัจนา พวงประยงค์ มีพร้อมทั้งความสามารถในการกำกับการแสดง การออกแบบท่ารำในระบำต่าง ๆ ที่ได้สร้างขึ้นไว้ในกรมศิลปากรหลายชุด มีผลงานการแสดงทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นครูที่พร้อมด้วยความเมตตาและมีความตั้งใจจริงในการถ่ายทอดความรู้ มีศิษย์เป็นจำนวนมากได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้ไว้ ล่าสุดในพ.ศ. 2554 ได้รับพระราชทานเข็มพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในงานแสดงโขนรามเกียรติ์ ตอนศึกมัยราพณ์สะกดทัพ ในฐานะศิลปินอาวุโส

นางรัจนา พวงประยงค์ จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์ไทย-ละคร) พ.ศ. 2554[2][3][4]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  • ส่งเสริมวัฒนธรรม,กรม. ศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2554. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้แอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2555. 350 หน้า.
  • ปัญญา นิตยสุวรรณ. เป็นเมรีขี้เมา. สยามรัฐรายวัน. ปีที่ 38 ฉบับที่ 12890 วันเสาร์ที่ 30 เมษายน 2531.
  • ปัญญา นิตยสุวรรณ. ชีวิตของคนที่เล่นเป็นเมรี. สยามรัฐรายวัน. ปีที่ 38 ฉบับที่ 12896 วันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม 2531.
  • ปัญญา นิตยสุวรรณ. ความสามารถของผู้หญิงชื่อรัจนา. สยามรัฐรายวัน. ปีที่ 38 ฉบับที่ 12903 วันเสาร์ที่ 14 พฤษภาคม 2531.
  • สูจิบัตรงานเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2554 วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555.
  1. ผู้จัดการ, ประกาศแล้ว 9 ศิลปินแห่งชาติ[ลิงก์เสีย], 26 มกราคม พ.ศ. 2555 สืบค้นเมื่อ 16 มีนาคม 2557
  2. ไทยโพสต์, 'รัจนา พวงประยงค์' ศิลปินแห่งชาติคนใหม่ ไอดอลนางเอกนาฏศิลป์[ลิงก์เสีย], 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 สืบค้นเมื่อ 16 มีนาคม 2557
  3. ข่าวสด, เปิดใจ 2 ครูสตรี ศิลปินแห่งชาติ, 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 สืบค้นเมื่อ 16 มีนาคม 2557
  4. กรุงเทพธุรกิจ, ศิลปินแห่งชาติ 2554 เก็บถาวร 2012-05-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 30 มกราคม พ.ศ. 2555 สืบค้นเมื่อ 16 มีนาคม 2557
  5. ราชกิจจานุเบกษา ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ประจำปี 2555 เก็บถาวร 2014-05-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เล่ม 130, ตอนที่ 4 ข, 28 มกราคม 2556, หน้า 124.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]