ชูศรี สกุลแก้ว
ชูศรี สกุลแก้ว | |
---|---|
ข้อมูลพื้นฐาน | |
ชื่อเกิด | ชูศรี สกุลแก้ว |
รู้จักในชื่อ | ชื้น |
เกิด | 19 กันยายน พ.ศ. 2451 |
ที่เกิด | เมืองธนบุรี ประเทศสยาม |
เสียชีวิต | 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 (96 ปี) |
อาชีพ | นักแสดงหุ่นกระบอก |
ศิลปินแห่งชาติ | พ.ศ. 2529 สาขาศิลปะการแสดง (หุ่นกระบอก) |
ชูศรี สกุลแก้ว เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดงด้านหุ่นกระบอกไทย ประจำปี พ.ศ. 2529[1]
ประวัติ
[แก้]นางชูศรีหรือชื้น สกุลแก้ว เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2451 ที่ตำบลบ้านขมิ้น อำเภอบางกอกน้อย เมืองธนบุรี บิดาชื่อ เปียก ประเสริฐกุล[2] เป็นหัวหน้าคณะหุ่นกระบอกนายเปียก ประเสริฐกุล ที่มีชื่อเสียง ส่วนมารดาชื่อ มิ่ง เป็นนางละครในพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉิดโฉม
นางชูศรีเกิดในโรงหุ่นกระบอกและได้ใช้ชีวิตคลุกคลีกับหุ่นกระบอกโดยติดตามบิดาไปแสดงทุก ๆ ที่ ต่อมาเมื่อนางชูศรีอายุได้ 7–8 ขวบ บิดาบังคับให้หัดเชิดหุ่นกระบอกกับแม่ครูเคลือบซึ่งเป็นพี่สาวของบิดา ต่อมามารดาได้เสียชีวิตลง ทำให้นางชูศรีต้องรับบทเป็นนางตลาดแทน และได้รับคำชมจากบิดาว่า "เก่งทำได้เหมือนแม่" ในยามที่ออกไปแสดง นอกจากนี้นางชูศรียังหัดสีซอ ตีกรับ และขับร้องอีกด้วย
ในปี พ.ศ. 2498 คณะนายเปียก ประเสริฐกุล ได้ออกแสดงหุ่นกระบอกในเรื่องพระอภัยมณีโดยมีนางชูศรีเป็นผู้เชิดตัวเอกทุกตัว ออกแสดงที่สถานีไทยโทรทัศน์ในเรื่องพระอภัยมณีตั้งแต่ต้นจนจบ และได้นำกลับมาแสดงอีกครั้งในเรื่องเดิม ต่อมาในปี พ.ศ. 2507 นายเปียกผู้เป็นบิดาได้เสียชีวิตลง ในครั้งแรกกิจการการแสดงหุ่นกระบอกตกอยู่ในความดูแลของนางสาวหว่า (ชุ่ม) ประเสริฐกุล ผู้เป็นพี่สาว ต่อมานางสาวหว่าได้เสียชีวิตลง นางชูศรีจึงสืบทอดกิจการต่อมา ต่อมาปี พ.ศ. 2523–2524 กรมศิลปากรได้ส่งข้าราชการแผนกนาฏศิลป์มาศึกษาการเชิดหุ่นกระบอกจากนางชูศรี นอกจากนี้นางชูศรียังได้เป็นวิทยากรพิเศษในการเชิดหุ่นกระบอกให้กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้ติดตามคณะหุ่นกระบอกของมหาวิทยาลัยไปแสดงที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักรด้วย
นางชูศรี สกุลแก้ว เสียชีวิตเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า และได้พระราชทานเพลิงศพในวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานประกอบพิธี ณ วัดเครือวัลย์วรวิหาร[3]
รางวัล
[แก้]- รางวัลศิลปินพื้นบ้านดีเด่น พ.ศ. 2528
- ศิลปินแห่งชาติประจำปี พ.ศ. 2529 สาขาศิลปะการแสดงด้านหุ่นกระบอก
- โล่จากคณะอำนวยการโครงการฉลอง ๒๐๐ ปี กวีเอกสุนทรภู่ ในฐานะมีผลงานดีเด่นในการเผยแพร่ผลงานของสุนทรภู่
ปริญญากิตติมศักดิ์
[แก้]- ปริญญาคุรุศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2535
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2535 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 4 จัตุรถาภรณ์มงกุฎไทย (จ.ม.)[4]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "นางชื้น (ชูศรี) สกุลแก้ว ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2015-12-27.
- ↑ หุ่นกระบอกคณะครูชื้น สกุลแก้ว - หน้าบ้านจอมยุทธ
- ↑ ชูศรี สกุลแก้ว. อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพชูศรี สกุลแก้ว. กรุงเทพฯ : [ม.ป.พ.], 2535. 180 หน้า.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-10-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๐ ตอนที่ ๓๖ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๗๔, ๒๖ มีนาคม ๒๕๓๖