สมบัติ เมทะนี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมบัติ เมทะนี
สมบัติ เมทะนี
สมบัติ เมทะนี
สารนิเทศภูมิหลัง
ชื่อเกิดสมบัติ เมทะนี
เกิด26 มิถุนายน พ.ศ. 2480
จังหวัดอุบลราชธานี ประเทศไทย
เสียชีวิต18 สิงหาคม พ.ศ. 2565 (85 ปี)
เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
คู่สมรสกาญจนา เมทะนี
(2502 – 2565)
บุตร6 คน
อาชีพ
  • นักแสดง
  • นักร้อง
  • นักการเมือง
  • นักธุรกิจ
  • ผู้กำกับภาพยนตร์
ปีที่แสดงพ.ศ. 2503 – 2560
รางวัล
ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง
พ.ศ. 2559 – (ภาพยนตร์และละครโทรทัศน์)
พระสุรัสวดีนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม
พ.ศ. 2508 – ศึกบางระจัน
นักแสดงประกอบชายยอดเยี่ยม
พ.ศ. 2534 – มือขวาอาถรรพ์
ชมรมวิจารณ์บันเทิงนักแสดงประกอบชายยอดเยี่ยม
พ.ศ. 2543 – ฟ้าทะลายโจร

สมบัติ เมทะนี (26 มิถุนายน พ.ศ. 2480 – 18 สิงหาคม พ.ศ. 2565) ชื่อเล่น แอ๊ด เป็นนักแสดงชาย นักร้อง ผู้อำนวยการสร้าง และผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทย ผู้ชนะเลิศรางวัลตุ๊กตาทองและรางวัลชมรมวิจารณ์บันเทิง ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม เป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ภาพยนตร์และละครโทรทัศน์) ประจำปี พ.ศ. 2559 นอกจากนี้ กินเนสบุ๊คยังบันทึกไว้ว่าเป็นนักแสดงชายที่ปรากฏตัวในภาพยนตร์มากที่สุดในโลก เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2530 หลังจากทำการแสดงเรื่อง "คู่สร้างคู่สม" ซึ่งเป็นเรื่องที่ 600[1] โดยทั้งหมดทำการแสดงเป็นพระเอกถึง 617 เรื่อง[2]

ประวัติ[แก้]

"สมบัติ เมทะนี" ในชุดนักแสดงเรื่อง "เล็บอินทรี" พ.ศ. 2507

สมบัติ เมทะนี เป็นบุตรของนายเสนอ กับนางบุญมี เมทะนี เกิดที่อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นถิ่นฐานเดิมของแม่ แต่เมื่ออายุได้เพียง 7 วัน ครอบครัวได้ย้ายมาอยู่ที่แยกสะพานอ่อน ในอำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร ตามคุณพ่อซึ่งเป็นข้าราชการกรมรถไฟ[3]

จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเทพศิรินทร์ จากนั้นจึงทำงานครั้งแรกที่บริษัทเอส ซี จี เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแทน แต่เมื่อฐานะการเงินของบริษัทไม่ดี จึงลาออกมาเพื่อหางานอื่นทำ ระหว่างนี้จึงได้เข้าศึกษาต่อระดับอนุปริญญาที่โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวายและเข้าเกณฑ์ทหาร 6 เดือน พ้นเกณฑ์ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2502 จึงออกหางานทำ โดยตั้งใจว่าจะรับราชการ ระหว่างที่เดินหางานอยู่นั้น ได้เข้าสู่วงการบันเทิงโดยบังเอิญ เมื่อเป็นที่ถูกตาของแมวมองแถวโรงภาพยนตร์คิงส์-ควีนส์ ย่านวังบูรพา เพราะมีรูปร่างสูงใหญ่ โดยเป็นพระเอกละครโทรทัศน์ทันทีทางช่อง 7 ขาวดำ (ช่อง 5 ในปัจจุบัน) คู่กับวิไลวรรณ วัฒนพานิช ซึ่งเป็นนางเอกภาพยนตร์ชื่อดังก่อนแล้ว โดยมีสุพรรณ บูรณะพิมพ์ นักแสดงรุ่นพี่เป็นผู้ให้คำปรึกษาทางด้านการแสดง[3]

ในส่วนชีวิตครอบครัวของ สมบัติ เมทะนี สมรสกับ กาญจนา เมทะนี (ตุ๊) เมื่อปี พ.ศ. 2502[4] มีบุตรด้วยกันทั้งหมด 6 คน เป็นบุตรชาย 5 คน ธิดา 1 คน คือ ผศ.ดร. สุรินทร์ เมทะนี​ (เบิร์ด), สิรคุปต์ เมทะนี (อั๋น), เกียรติศักดิ์ เมทะนี​ (อั้ม), ศตวรรษ เมทะนี (เอ้), พรรษวุฒิ เมทะนี (อุ้ม) และ สุดหทัย เมทะนี (เอ๋ย)

ซึ่งสมบัติกับกาญจนา ทั้งคู่รู้จักกันในฐานะที่เป็นเพื่อนบ้าน โดยทั้งคู่อาศัยอยู่บ้านพักรถไฟด้วยกัน และสมรสกันก่อนที่สมบัติจะเข้าสู่วงการบันเทิงเสียอีก[5][3]

ต่อมาสมบัติ เมทะนีได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี โปรแกรมวิชาบริหารธุรกิจ จากสถาบันราชภัฏเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ และระดับปริญญาโท-เอก สาขารัฐประศาสนศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย[6]

นอกจากนี้แล้ว สมบัติ เมทะนี ยังเป็นนักแสดงที่รับรู้กันเป็นอย่างดีว่า เป็นผู้ที่นิยมเล่นเพาะกาย โดยเล่นมาตั้งแต่สมัยเด็ก ๆ เนื่องจากมีพ่อเป็นนักกีฬา ชอบเล่นกีฬาหลายประเภททั้ง รักบี้, ฟุตบอล, มวย[3]

ก่อนเสียชีวิต สมบัติ เมทะนี ยังมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงดี เนื่องจากเป็นผู้ที่รักษาสุขภาพด้วยการเล่นกีฬา ออกกำลังกายอยู่เสมอ เพียงแต่มีปัญหาด้านสายตา ซึ่งไม่สามารถที่มองเห็นในเวลากลางคืน และแพ้แสงจ้า จึงทำให้ไม่สามารถที่จะขับรถด้วยตนเองมาได้นานกว่า 30 ปีแล้ว[3]

เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2565 สมบัติ เมทะนี เสียชีวิตลงอย่างสงบที่บ้านพักซอยลาดพร้าว 71 แขวงสะพานสอง เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร สิริอายุ 85 ปี[7][8] ในเย็นวันเดียวกันมีพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ ณ วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร เขตบางเขน[9] และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โปรดเกล้าฯ ให้ พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ไปในการพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุ 2 วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร เมื่อวันอาทิตย์ที่ 4 ธันวาคม ปีเดียวกัน[10]

วงการบันเทิง[แก้]

"สมบัติ เมทะนี" กับ "รัตนาภรณ์ อินทรกำแหง​" จากภาพยนตร์ไทยเรื่องแรก "รุ้งเพชร" พ.ศ. 2504

เริ่มเข้าวงการบันเทิง จากการแสดงละครโทรทัศน์เรื่อง หัวใจปรารถนา เป็นเรื่องแรกเมื่อ พ.ศ. 2503 คู่กับวิไลวรรณ วัฒนพานิช หลังจากแสดงละครโทรทัศน์อยู่ 4 เรื่องจึงหันไปแสดงภาพยนตร์ เรื่องแรก รุ้งเพชร คู่กับ รัตนาภรณ์ อินทรกำแหง พ.ศ. 2504

ผลงานแสดงภาพยนตร์ตั้งแต่ยุค 16 มม. พากย์สด ถึง ยุคภาพยนตร์สโคป 35 มม.เสียงพากย์ในฟิล์มและซาวด์ออนฟิล์ม(บันทึกเสียงขณะถ่ายทำ) เช่น เกียรติศักดิ์ทหารเสือ, ศึกบางระจัน, จุฬาตรีคูณ, เล็บครุฑ ตอน ประกาศิตจางซูเหลียง, กลัวเมีย, ฟ้าทะลายโจร ฯลฯ

เคยกำกับภาพยนตร์หลายเรื่อง เช่น ลูกสาวกำนัน, แม่แตงร่มใบ และ น.ส.ลูกหว้า

เคยปรากฏตัวพิเศษเป็นดารารับเชิญในภาพยนตร์ชุดทางทีวีครั้งแรกครั้งเดียว ใน ผู้หญิงก็มีหัวใจ นำแสดงโดย สุมาลี ทองหล่อ, ฉันทนา ติณสูลานนท์, สุระ นานา ผลงานของ หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล พร้อมมิตรภาพยนตร์ ช่อง 7 สี พ.ศ. 2511

ในช่วงที่ได้รับความนิยมถึงขีดสุด เคยรับงานแสดงพร้อมกันมากถึง 28 เรื่อง[3]

เป็นนักร้อง มีผลงานอัดแผ่นเสียงอัลบั้มเพลงประกอบภาพยนตร์ จุฬาตรีคูณ, เกาะสวาทหาดสวรรค์ และ วิวาห์พาฝัน เป็นต้น

เป็นพรีเซนเตอร์ เครื่องเล่นVCDวีซีดี, ดีวีดี/วีดิทัศน์ และ โฮมเธียร์เตอร์ สัญชาติไทยยี่ห้อ เอเจ (AJ)[11]

และเคยเป็นพิธีกรช่วงสั้น ๆ ทางรายการ วิก 07 ทางช่อง 7 เมื่อ พ.ศ. 2533[12]

งานการเมือง[แก้]

ลงสมัครเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2549 ในเขตกรุงเทพมหานคร ได้รับเลือกตั้งเป็นอันดับ 6 จากที่ต้องการ 18 คนด้วยคะแนน 53,526 เสียง แต่ก่อนที่จะได้เข้าตำแหน่งก็มีการทำรัฐประหารก่อน ต่อมาคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ แต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2549 โดยเป็นตัวแทนฝ่าย สื่อสารมวลชน นักเขียน ศิลปิน

ต่อมาเข้าเป็นสมาชิกพรรคประชาราช โดยได้รับแต่งตั้งเป็นรองหัวหน้าพรรค และลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2550 แบบสัดส่วน กลุ่มที่ 6 สังกัดพรรคประชาราช ลำดับที่ 1[13] แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง จากนั้นสมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย[14][15] และลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2554 แบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 102[16] แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง

นอกจากนี้เขายังเคยขึ้นเวทีร่วมชุมนุมกับแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ[17]

ผลงานทางภาพยนตร์[แก้]

ผลงานกำกับภาพยนตร์[แก้]

ผลงานทางโทรทัศน์[แก้]

ละครโทรทัศน์[แก้]

คอนเสิร์ต[แก้]

  • คอนเสิร์ต พระเอ๊ก..พระเอก (15 พฤษภาคม 2547)
  • คอนเสิร์ต 99 ปี ชาลี อินทรวิจิตร (14 มีนาคม 2564)

มิวสิควิดีโอ[แก้]

รางวัลที่ได้รับ[แก้]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. William Warren (28 กุมภาพันธ์ 2010). Nicholas Grossman (บ.ก.). Screen star Sombat makes 600th film. Chronicle of Thailand: Headline News Since 1946. Didier Millet,Csi. p. 278. ISBN 978-9-814-21712-5.
  2. เปิดประวัติ "สมบัติ เมทะนี" กับบทบาทพระเอกมากที่สุดในโลก กว่า 617 เรื่อง (มีคลิป). TNN online. สืบค้นเมื่อ 18 สิงหาคม 2565.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 บทสัมภาษณ์จากรายการ 9 ซีรีส์ ทางช่อง 9: เสาร์ที่ 18 พฤษภาคม 2556.
  4. "สมบัติ-กาญจนา ครองรัก&เรือน แบบพอเพียง". สยามดารา. กันยายน 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 กันยายน 2008. สืบค้นเมื่อ 16 มิถุนายน 2013.
  5. "สมบัติ เมทะนี". ไทยรัฐ. 6 กรกฎาคม 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 ธันวาคม 2012. สืบค้นเมื่อ 23 มกราคม 2013.{{cite news}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  6. "นักการเมืองปริญญาเอก?!!". ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์. 31 ตุลาคม 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 31 ตุลาคม 2012.
  7. "ช็อก! "สมบัติ เมทะนี" พระเอกตลอดกาล เสียชีวิตแล้ว". mgronline.com. 18 สิงหาคม 2022.
  8. สุดเศร้าอาลัย สมบัติ เมทะนี พระเอกดังตลอดกาล เสียชีวิตแล้ว. ข่าวสดออนไลน์. สืบค้น 18 สิงหาคม 2565.
  9. "พระราชทานน้ำหลวงอาบศพ 'สมบัติ เมทะนี' ตั้งสวด 7 วัน วัดพระศรีมหาธาตุฯ". มติชน. 2022-08-18. สืบค้นเมื่อ 2022-12-04.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  10. "พระราชทานเพลิง "สมบัติ เมทะนี" ศิลปินแห่งชาติ ส่งดาวคืนสู่ฟ้า". พีพีทีวี. 2022-12-04. สืบค้นเมื่อ 2022-12-04.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  11. เพลินพิศ ศรีบุรินทร์ (พฤศจิกายน 2005). "Brand Ambassador". Positioning Magazine. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 พฤษภาคม 2006.
  12. "ประวัติเจเอสแอล". jslglobalmedia.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-12-05. สืบค้นเมื่อ 2013-05-17.
  13. ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง รายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วน (พรรคประชาราช). เล่ม ๑๒๔ ตอนที่ ๙๓ ก. หน้า ๖๓. 18 ธันวาคม 2550.
  14. "ดารา-เสื้อแดงแห่ลงสมัครส.ส.พท". มติชน. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-28. สืบค้นเมื่อ 2009-09-19.
  15. "พท.เปิดตัว"สมบัติ เมทะนี"เป็นสมาชิกใหม่ โว!!คนดังจ่อคิวอีกเพียบ". ผู้จัดการออนไลน์. 15 ตุลาคม 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 สิงหาคม 2012.
  16. ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง รายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ (พรรคเพื่อไทย). เล่ม ๑๒๘ ตอนที่ ๔๙ ก. หน้า ๕. 15 มิถุนายน 2554.
  17. เปิดตำนาน พระเอกตลอดกาล ‘สมบัติ เมทะนี’ กินเนสส์บุ๊ก ต้องจารึกชื่อ
  18. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2022-05-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๔ ตอนที่ ๑๘ ข หน้า ๒, ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐
  19. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ประจำปี ๒๕๖๐ เก็บถาวร 2022-12-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๓๔ ตอนที่ ๔๘ ข หน้า ๑๔๘, ๒๘ กันยายน ๒๕๖๐
  20. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-11-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๙๖ ตอนที่ ๙๒ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓๗, ๘ มิถุนายน ๒๕๒๒

บรรณานุกรม[แก้]

  • ท่านขุน บุญราศรี. "สมบัติ เมทะนี ดาวในดวงใจ". โกเมนเอก. 2549. ISBN 974-93604-0-0.
  • หนึ่งเดียว, วิศิษฐ์ พันธุมกุล (บรรณาธิการ). "พิพิธภัณฑ์หนังไทยฉบับประวัติการณ์ที่สุดหนังไทย". Popcorn (popcornmag.com). 2549. ISBN 974-94228-8-0.
  • เมืองไทย ภัทรถาวงศ์. "อนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพ ดร. สมบัติ เมทะนี ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง พ.ศ. 2559". กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. 2565.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]