อุทัย แก้วละเอียด
อุทัย แก้วละเอียด | |
---|---|
สารนิเทศภูมิหลัง | |
เกิด | 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม |
เสียชีวิต | 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 (87 ปี) |
บิดา | ถึก แก้วละเอียด |
มารดา | ละออ แก้วละเอียด |
คู่สมรส | ประทิน เทียนประมุข (หย่า) อัจฉรา แก้วละเอียด |
รางวัล | |
ศิลปินแห่งชาติ | พ.ศ. 2552 - สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) |
อุทัย แก้วละเอียด (23 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 – 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563) ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) พ.ศ. 2552[1] และครูผู้เชี่ยวชาญดนตรีไทย
ประวัติ
[แก้]อุทัย แก้วละเอียด เป็นบุตรของถึก แก้วละเอียด และละออ แก้วละเอียด เกิดเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 ที่ตำบลอัมพวา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม สมรสครั้งแรกกับประทิน เทียนประมุข มีบุตรด้วยกัน 3 คน เป็นหญิง 2 คน และชาย 1 คน ต่อมาได้แยกทางกัน และสมรสใหม่กับอัจฉรา (สกุลเดิม โขมมัย)
และมีพี่น้อง 4 คน คือ
1.อุทัย แก้วละเอียด
2.สมัคร แก้วละเอียด
3.ชื่อเล่น เปี๊ยก
4.ชื่อเล่น จวบ
การศึกษา
[แก้]อุทัยเริ่มต้นเข้าศึกษาชั้นมูลจนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่โรงเรียนวัดอัมพวา ตำบลอัมพวา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดของโรงเรียนในขณะนั้น ชีวิตของอุทัยผูกพันกับวงดนตรีไทยมาโดยตลอด ปู่ของเขาเป็นนักดนตรีเอก ส่วนย่าเป็นแม่เพลงฉ่อย บิดาเป็นมือฆ้อง ซึ่งเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น ด้วยชีวิตสิ่งแวดล้อมที่คลุกคลีกับดนตรีไทยและสืบทอดสายเลือด ทำให้อุทัยรักและหลงใหลในศิลปวัฒนธรรมด้านดนตรีไทยอย่างเต็มเปี่ยม
เมื่อเยาว์วัยบิดาไม่ต้องการให้บุตรมีอาชีพเป็นนักดนตรีไทย จึงไม่ยอมให้ฝึกหัดเล่นดนตรีและไม่ต่อเพลงให้ อุทัยจึงมักจะแอบไปฝึกเรียนดนตรีไทยด้วยตนเองเสมอ ๆ ขณะอายุได้ 6 ขวบ ได้หนีไปขอฝึกเรียนดนตรีไทยกับปาน นิลวงศ์ โดยเริ่มฝึกเรียนฆ้องวงใหญ่ ปานเห็นความสามารถในการจำเพลง ความเฉลียวฉลาดในการต่อเพลง และพรสวรรค์ทางด้านดนตรีไทย จึงให้ฝึกเรียนระนาดเอกจนอายุ 8 ขวบ และได้รับอนุญาตให้ออกแสดงในงานต่าง ๆ รวมกับปาน โดยมีหน้าที่เป็นผู้ตีฆ้องวงเรื่อยมา ด้วยความเป็นนักดนตรีในสายเลือดทำให้อุทัยไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ กลับแสวงหาความรู้ในศิลปะดนตรีไทย จนได้พบพริ้ม นักปี่ ในวงของปี่พาทย์มอญ อุทัยจึงไปขอฝากตัวเป็นศิษย์เพื่อฝึกเรียนดนตรีปี่พาทย์มอญ ขณะนั้นกำลังเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 พริ้มได้จัดพิธีอุปสมบทให้บุตรชาย ในงานนี้ได้เชิญหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) มาร่วมงาน พริ้มได้จัดการแสดงละครโดยให้อุทัยเป็นผู้ตีระนาดเอกประกอบการแสดงละคร ทำให้หลวงประดิษฐไพเราะ ได้เห็นความสามารถในเชิงดนตรีไทย เกิดความพึงพอใจ จึงไปขออุทัยกับบิดา-มารดา ยุคนี้เป็นยุคที่ดนตรีไทยกำลังเฟื่องฟูเป็นที่นิยม วงต่าง ๆ จะค้นหานักดนตรีฝีมือดี ๆ ให้มาเป็นนักดนตรีประจำวง
ในระหว่างอยู่กับหลวงประดิษฐไพเราะ อุทัยตั้งใจมุ่งมั่น ทุ่มเทกับการฝึกซ้อมจนสามารถบรรเลงเครื่องดนตรีไทยได้ทุกชิ้น เขาได้รับความรักและความเมตตาให้ไปร่วมแสดงในงานบรรเลงปี่พาทย์วงหลวงประดิษฐไพเราะ เมื่อนักดนตรีคนใดไม่มา หรือเครื่องดนตรีบางชิ้นว่างลงเขาจะเป็นผู้บรรเลงแทน และสามารถบรรเลงได้ดีทุก ๆ หน้าที่ ตั้งแต่เครื่องดนตรีประกอบจังหวัดจนถึงระนาดเอก ฆ้อง ระนาดทุ้ม จากความรู้ความสามารถ มีปฏิภาณไหวพริบ ความขยันหมั่นเพียร อดทนมุ่งมั่น ตั้งใจในการฝึกซ้อมดนตรีไทยเพื่อพัฒนาฝีมือของตนอย่างต่อเนื่องเป็นที่พึงพอใจ ได้รับความรักและเมตตาจากหลวงประดิษฐไพเราะจนตั้งฉายาให้อุทัยว่า "เผือดน้อย" เพราะตีระนาดได้ไหว ฝีมือจัดจ้าน ไม่ต่างจากนักดนตรีมือระนาดรุ่นพี่ เป็นที่กล่าวขานในวงการนักดนตรีไทยในยุคนั้น ชื่อว่าเผือด ด้วยพรสวรรค์ และมีความจำเป็นเลิศ ได้รับการฝึกฝนร้องเพลง และประพันธ์เพลงด้วย
การทำงาน
[แก้]อุทัย ได้ติดตามรับใช้หลวงประดิษฐไพเราะ ไปทุกหนทุกแห่ง โดยให้เป็นนักดนตรีประจำวง ด้วยฝีมือที่จัดจ้าน และมีปฏิภาณไหวพริบ แม้กระทั่งการร้องเพลงก็สามารถพลิกแพลงได้ดีเป็นที่พอใจของหลวงประดิษฐไพเราะ จนได้เอ่ยคำพูดออกมาว่า "ทัยเป็นคนฉลาดดี เอาไปไหน ไม่อายใคร มีความขยัน มีนิสัยเรียบร้อย" ด้วยลักษณะพิเศษเฉพาะตน เมื่อมีงานแสดงสำคัญ ๆ งานรัฐธรรมนูญ งานสังคีตศาลา หลวงประดิษฐไพเราะจะให้ลูกศิษย์ที่มีฝีมือดี ไปรวมวงเล่นดนตรีไทย มีบุญยงค์ เกตุคง บรรเลงระนาดเอก บุญยัง เกตุคง บรรเลงระนาดทุ้ม อุทัยบรรเลงฆ้องวง บางครั้งให้บรรเลงระนาดเอกสลับกับบุญยงค์ และประสิทธิ์ ถาวร ด้วยความเป็นผู้สุภาพเรียบร้อย หลวงประดิษฐไพเราะจึงมีความไว้วางใจมอบหมายให้อุทัยรับหน้าที่ดูแลพวกละคร ซึ่งในขณะนั้นการละครเป็นที่นิยม การแสดงละครตะวันตกเข้ามาเฟื่องฟูในยุคนั้น หลวงประดิษฐไพเราะ ได้ตั้งโรงละครขึ้นในบ้านชื่อ "ผกาวลี" โดยให้ลัดดา สารตายนต์ เป็นผู้ควบคุมการแสดง ส่วนด้านดนตรีไทยให้อุทัยควบคุมโดยมีการบรรเลงเพลงไทยผสมผสานกับเครื่องดนตรีสากล ประสิทธิ์ ศิลปบรรเลง ซึ่งเป็นบุตรชายของหลวงประดิษฐไพเราะ ควบคุมเอง เมื่ออุทัยอายุครบที่จะอุปสมบท หลวงประดิษฐไพเราะ ได้มีเมตตาจัดการอุปสมบทให้ หลังจากลาสิกขา หลวงประดิษฐไพเราะเห็นความสามารถโดดเด่นในเชิงดนตรีไทยของอุทัย จึงให้กลับไปตั้งวงดนตรีไทยที่จังหวัดสมุทรสงคราม และตั้งชื่อให้ว่า "วงไทยบรรเลง" ด้วยความกตัญญู ยึดถือคำสอนของหลวงประดิษฐไพเราะ อุทัยจึงกลับไปเริ่มสอนดนตรีไทย และตั้งวงปี่พาทย์ที่อัมพวาบ้านเกิด
อุทัยได้ตั้งใจและมุ่งมั่นถ่ายทอดความรู้ให้กับลูกศิษย์ซึ่งเป็นเด็กแถวละแวกบ้านทั้งใกล้และไกล ทุกคนจะมาอยู่รวมกันฝึกซ้อมเพลง และต่อเพลง นักดนตรีคนใดมีฝีมือเก่งกาจออกงานแสดงได้ ก็จะให้ออกงานแสดง เมื่อว่างงานก็จะฝึกซ้อมเพลงถ่ายทอดความรู้ให้กับศิษย์ เมื่อมีการประชันฝีมือจะส่งวงดนตรีไทยบรรเลงเข้าประชัน ในปัจจุบันวงไทยบรรเลงเป็นวงดนตรีไทยที่มีชื่อเสียงที่สุดวงหนึ่งของจังหวัดสมุทรสงคราม ได้รับรางวัลชนะเลิกจากการส่งวงประชันหลายครั้ง เยาวชนจากวงไทยบรรเลงจะได้รับการคัดเลือกเป็นยุวชนในพระบรมราชูปถัมภ์ของมูลนิธิราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย หลังจากที่วงไทยบรรเลงเป็นปึกแผ่นแล้ว อุทัยได้มอบหมายให้สมัคร แก้วละเอียด น้องชาย เป็นผู้ควบคุมดูแลวงแทน
นอกจากนี้ อุทัยยังได้บรรเลงระนาดในรายการ “ดร.อุทิศแนะดนตรีไทย” ออกเผยแพร่ความรู้แก่สาธารณชนมาเป็นเวลากว่า 30 ปีและบรรเลงปี่พาทย์ไว้กับงานบันทึกเสียงเพลงไทยอีกเป็นจำนวนมาก ทั้งเพลงโบราณ เพลงชุดความรู้สายวิชาหลวงประดิษฐ์ไพเราะ และเพลงที่อุทิศ นาคสวัสดิ์ ได้ประพันธ์ขึ้นใหม่ ได้ใช้ความรู้ความสามารถทางด้านดนตรีไทยไปเผยแพร่ยังประเทศสหรัฐ อาร์เจนตินา แคนาดา เม็กซิโก ปานามา ชิลี บราซิล กับคุณหญิงชิ้น ศิลปะบรรเลง เป็นเวลา 9 เดือน มีผลงานประพันธ์เพลงจำนวนมาก เช่น เพลงอุสเรน เถา เทพทอง เถา ดอกไม้เหนือ เถา สุดคะนึง เถา โหมโรงมัธยมศึกษา โหมโรงอักษรศาสตร์ ฯลฯ ผลงานเพลงมีความไพเราะมาก ในวงการดนตรีปัจจุบันก็ยังมีการนำมาใช้บรรเลงอยู่ ได้รักษาตำราและพิธีการไหว้ครูของหลวงประดิษฐ์ไพเราะไว้อย่างเคร่งครัดต่อจากรุ่นครูประสิทธิ์ ศิลปะบรรเลง และอุทัยยังได้รับเชิญให้แสดงเดี่ยวระนาดเอก ในการแสดงระนาดโลก ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้รับรางวัลเพชรสยาม สาขาดนตรีไทย จากมหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม ในช่วงบั้นปลายของชีวิต ยังคงยึดมั่นตั้งใจที่จะถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์ทำให้มีลูกศิษย์จำนวนมากยังดูแลและปรับวงไทยบรรเลงที่อำเภออัมพวาบ้านเกิด จนเป็นวงดนตรีไทยที่มีชื่อเสียงและยังสร้างสรรค์ผลงานเพลงอย่างต่อเนื่องนายอุทัย จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) พ.ศ. 2552
เสียชีวิต
[แก้]อุทัย แก้วละเอียด เสียชีวิตเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ เวลาประมาณ 06.40 น. ที่โรงพยาบาลศิริราช ด้วยอาการปอดติดเชื้อ สิริอายุ 88 ปี โดยทางทายาท ได้ขอพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ เวลา 17.00 น. และสวดพระอภิธรรมศพ เวลา 18.00 น. จากนั้นระหว่างวันที่ 5-8 กุมภาพันธ์ มีกำหนดสวดพระอภิธรรมศพ เวลา 19.00 น. ณ ศาลา 5 วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ซึ่งทางครอบครัวจะเก็บศพไว้บำเพ็ญกุศลเป็นเวลา 100 วัน[2] มีพิธีพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2563 ณ วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2553 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 4 จตุตถดิเรกคุณาภรณ์ (จ.ภ.)[3]
อ้างอิง
[แก้]- คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ,สำนักงาน. ศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2552. กรุงเทพฯ : รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1977), 2553. 250 หน้า
- ผกามาศ ใจฉลาด. รักลูกศิษย์ไม่คิดอามิสสินจ้างครูดนตรีไทยอุทัย แก้วละเอียด คมชัดลึก. 7 เมษายน พ.ศ. 2553. สืบค้นเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563.
- ↑ คม ชัด ลึก ออนไลน์. เสกสรร-ปรีชา–ประยงค์ขึ้นแท่นศิลปินแห่งชาติ 52, 7 มกราคม พ.ศ. 2553. สืบค้นเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2563
- ↑ มติชนออนไลน์ สิ้น ‘อุทัย แก้วละเอียด’ ศิลปินแห่งชาติ ระนาดเอกชั้นครู วงการดนตรีไทยสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563, สืบค้นเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา ประกาศสำนักกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ประจำปี 2553 เล่ม 128, ตอนที่ 3 ข, 16 กุมภาพันธ์ 2554, หน้า 145.