สุเทพ วงศ์กำแหง
สุเทพ วงศ์กำแหง | |
---|---|
สารนิเทศภูมิหลัง | |
เกิด | 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2477 เรืออากาศตรี สุเทพ วงศ์กำแหง อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา |
เสียชีวิต | 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 (85 ปี)[1][2] กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย |
คู่สมรส | ผุสดี อนัคฆมนตรี |
บุตร | ฤทธิไกร วงศ์กำแหง |
อาชีพ | นักร้อง, นักแสดง, ผู้กำกับภาพยนตร์, นักการเมือง, จิตรกร, ทหารอากาศ |
ปีที่แสดง | พ.ศ. 2495 - 2563 |
สังกัด | ห้างแผ่นเสียงคาเธ่ย์ ห้างแผ่นเสียงลัคกี้ แบมบู กรุงไทย อโซน่า ตรามงกุฎ เมโทร นิธิทัศน์ แม่ไม้เพลงไทย โรส มีเดีย แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ |
ศิลปินแห่งชาติ | พ.ศ. 2533 - สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล-ขับร้อง) |
เรืออากาศตรี สุเทพ วงศ์กำแหง (12 พฤษภาคม พ.ศ. 2477 – 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563) เป็นศิลปินนักร้องชายเพลงไทยสากลชาวไทย อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร และ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา สุเทพ วงศ์กำแหง ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ให้เป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล-ขับร้อง) ประจำปี พ.ศ. 2533
ประวัติ
[แก้]เรืออากาศตรี สุเทพ วงศ์กำแหง เกิดเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2477 ที่อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ศึกษาตั้งแต่เบื้องต้นจนจบชั้นมัธยมปีที่ 6 ที่จังหวัดบ้านเกิด ความมีแววของการเป็นนักร้องเริ่มมีขึ้นตั้งแต่สมัยที่เป็นนักเรียน โดยมักจะได้รับมอบหมายให้เป็นต้นเสียงร้องเพลงชาติที่โรงเรียนเสมอ
ครั้นจบชั้นมัธยมปีที่ 6 ได้ย้ายมาอาศัยอยู่กับญาติที่กรุงเทพมหานคร ด้วยนิสัยรักการวาดเขียนและงานศิลปะเป็นทุนเดิมอยู่แล้วจึงเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเพาะช่าง ซึ่งระหว่างที่ศึกษาอยู่นั้นนอกจากจะแสดงฝีมืออย่างโดดเด่นในทางศิลปะแล้วยังเป็นนักร้องเสียงดีประจำห้องเรียน เวลาว่างมักจะฝึกซ้อมร้องเพลงเสมอตามแบบอย่างของนักร้องที่ชื่นชอบ เช่น วินัย จุลละบุษปะ, สถาพร มุกดาประกร, ปรีชา บุณยเกียรติ ฯลฯ
สุเทพได้มีโอกาสรู้จักและคุ้นเคยกับ ไสล ไกรเลิศ นักประพันธ์เพลง เนื่องจากบ้านอยู่ใกล้กัน ไศลเห็นแววความสามารถของสุเทพจึงชักชวนให้มาช่วยงาน เช่น เขียนโน้ตเพลง เขียนตัวหนังสือ ตลอดจนติดตามไปช่วยงานในธุรกิจบันเทิงต่าง ๆ เสมอ ทำให้สุเทพเริ่มคุ้นเคยกับบุคคลในวงการเพลงหลายคน ทั้งยังได้รับโอกาสให้ร้องเพลงสลับฉากละคร ร้องเพลงตามงานบันเทิงต่าง ๆ รวมถึงการทดลองเสียงแทนนักร้องตัวจริงก่อนที่จะทำการอัดเสียงเสมอ จากการที่ร้องเพลงได้อย่างดีเด่น ทำให้สุเทพได้ร้องเพลงบ่อยขึ้นเรื่อย ๆ ไสล ไกรเลิศ ได้พา สุเทพ วงศ์กำแหง ไปฝากกับ เปรื่อง ชื่นประโยชน์ จนได้รับคัดเลือกให้ร้องเพลงบันทึกแผ่นเสียงของตนเอง และได้ใช้ชื่อในการบันทึกแผ่นเสียงครั้งแรกว่า "ศุภชัย ชื่นประโยชน์" มีผลงานในการบันทึกแผ่นเสียงในยุคแรกเช่นเพลง "รำพรรณรำพึง", "เฉิดโฉม", "นิ่มนวล" ต่อมาได้รับการสนับสนุนจากพลอากาศเอกทวี จุลละทรัพย์ ผู้ชื่นชอบการร้องเพลงของสุเทพ โดยช่วยส่งเสริมในทางต่าง ๆ ครั้นสุเทพเข้ารับการเกณฑ์ทหาร พลอากาศเอกทวีจึงได้ชักชวนให้เข้ารับราชการในกองทัพอากาศ โดยได้ประจำอยู่ที่วงดุริยางค์ทหารอากาศ ซึ่งมี นาวาอากาศโท ปรีชา เมตไตรย์ เป็นผู้ควบคุมวง ระหว่างนั้นสุเทพได้บันทึกแผ่นเสียงมากขึ้น และสถานีวิทยุต่าง ๆ ก็ได้นำเพลงที่เขาร้องบันทึกแผ่นเสียงไปเปิดจนเป็นที่รู้จักแพร่หลายอย่างรวดเร็ว
ภายหลังออกจากกองทัพอากาศ สุเทพได้ร้องเพลงเป็นอาชีพหลัก เขาได้เข้าร่วมกับคณะชื่นชุมนุมศิลปิน มีโอกาสร้องเพลงทั้งในรายการวิทยุและโทรทัศน์อยู่เนือง ๆ ทำให้ชื่อเสียงของเขาเริ่มเพิ่มขึ้น งานต่าง ๆ จึงหลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสาย ในช่วงนั้นวงการภาพยนตร์ไทยกำลังเฟื่องฟู เขาจึงมีงานร้องเพลงประกอบภาพยนตร์ไทยเป็นจำนวนมาก ได้ร่วมแสดงภาพยนตร์ มีโอกาสร้องเพลงคู่กับสวลี ผกาพันธุ์ นักร้องยอดนิยมในเวลานั้นอยู่เสมอ หากใครซื้อแผ่นเสียงของสวลีไปก็มักจะมีเสียงสุเทพติดไปด้วย ชื่อเสียงของสุเทพจึงโด่งดังขึ้นเป็นอย่างมาก เขาจึงถือว่าความสำเร็จในเบื้องต้นส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์จากการได้ร้องเพลงคู่กับสวลี ผกาพันธุ์
จุดเด่นของสุเทพคือการมีน้ำเสียงที่ดี มีลีลาในการร้องเพลงที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว นุ่มนวลชวนฟัง อารมณ์ที่แสดงออกมาทางน้ำเสียงและสีหน้านั้นก็สามารถสะกดใจผู้ฟังให้คล้อยตามและเข้าถึงอารมณ์ของเพลงนั้น ประกอบกับการที่เอาใจใส่อย่างจริงจังในการทำงาน ทำให้ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว จนได้รับฉายาจาก รงค์ วงษ์สวรรค์ ศิลปินแห่งชาติ ว่า "นักร้องเสียงขยี้แพรบนฟองเบียร์" มีผลงานดีเด่นต่อเนื่องมานานกว่า 40 ปี
ในช่วงปี พ.ศ. 2498 - 2500 สุเทพได้ร่วมเดินทางไปฮ่องกง และ สาธารณรัฐประชาชนจีนกับศิลปินแขนงต่าง ๆ กลุ่มใหญ่ จากนั้นเดินทางต่อไปยังประเทศญี่ปุ่นเพื่อศึกษาด้านการวาดภาพที่เขารักในอดีต ระหว่างนั้นก็ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากแฟนเพลงคนไทย เขาศึกษาการวาดภาพตามและร้องเพลงที่ญี่ปุ่นประมาณ 3 ปี จึงเดินทางกลับประเทศไทย
งานร้องเพลงของ สุเทพ วงศ์กำแหง สามารถแบ่งออก 3 ช่วง ตามช่วงเวลาดังนี้
- ช่วงแรก คือช่วงเริ่มต้นก่อนที่จะเดินทางไปอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น ส่วนมากเป็นงานร้องเพลงประกอบละครและภาพยนตร์ งานอัดแผ่นเสียง และงานร้องเพลงตามไนต์คลับเพลงดังที่สร้างชื่อเสียงให้เขามากเป็นพิเศษในช่วงนั้นก็คือเพลงรักคุณเข้าแล้ว ซึ่งประพันธ์ทำนองโดย สมาน กาญจนผลิน และประพันธ์เนื้อร้องโดย สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ เพลงนี้ถือเป็นเพลงอมตะที่ยังเป็นที่นิยมต่อเนื่องตลอดมา นอกจากนั้นยังมีเพลง "คุณจะงอนมากไปแล้ว", "ผมต้องวิวาห์เสียที", "เพียงคำเดียว", "นางอาย", "สวรรค์มืด", "เท่านี้ก็ตรม" "รักอย่ารู้คลาย" และ "ลาก่อนสำหรับวันนี้" เป็นต้น
- ช่วงที่สอง ปี พ.ศ. 2503 ภายหลังจากที่เดินทางกลับประเทศไทย แฟนเพลงให้การต้อนรับการอย่างอบอุ่น เขาจึงมีงานร้องเพลงมากมาย เพลงดัง ๆ ที่เขาขับร้องในช่วงนั้น ได้แก่ เพลง "บ้านเรา", "เกิดมาอาภัพ", "อาลัยโตเกียว", "อนิจจา", "จะคอยขวัญใจ", "ลาทีความระทม", "แม่กลอง", "สายลมเหนือ", "เธออยู่ไหน" และ "ครวญ" เป็นต้น และอีกหลายสิบเพลงที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จมากที่สุด และได้ตั้ง "คณะสุเทพโชว์" โดยมีสมาชิก "ทนงศักดิ์ ภักดีเทวา", "ธานินทร์ อินทรเทพ", "มนูญ เทพประทาน", "นริศ ทรัพย์ประภา" และ "อดุลย์ กรีน"
"ธานินทร์ อินทรเทพ" ชายหนุ่มที่คลั่งไคล้เสียงเพลงมาแต่เด็ก เป็นลูกศิษย์ พยงค์ มุกดา ศิลปินแห่งชาติ ครูพยงค์เห็นหน่วยก้านจึงพามาให้อยู่ในทีมของสุเทพ วงศ์กำแหง จากนั้นสุเทพได้เปลี่ยนนามสกุลจากเดิม "อินทรแจ้ง" เป็น "อินทรเทพ" เขาจึงเป็นชาวเทพคนแรกของค่าย
"มนูญ เทพประทาน" ครูสอนหนังสือจากต่างจังหวัด ชอบร้องเพลงลูกกรุง มาหาสุเทพเพื่อฝากตัวเป็นลูกศิษย์ สุเทพจึงส่งไปร้องในไนต์คลับ เห็นซุ่มเสียงดีจึงรับเป็นทีมงานให้ใช้นามสกุลในการร้องว่า "เทพประทาน"
- ช่วงที่สาม ปี พ.ศ. 2512 เป็นต้นมา นับว่าเป็นช่วงที่เขาก้าวไปถึงจุดสูงสุดทั้งด้านชื่อเสียงและผลงานทั้งหมด รวมถึงสุเทพได้สร้างลูกศิษย์และตั้งคณะว่า "สุเทพจูเนียร์" โดยมีสมาชิก "มนตรี สีหเทพ", "ชรัมภ์ เทพชัย", "อุมาพร บัวพึ่ง", "พรหมเทพ เทพรัตน์" เป็นต้น
คำประกาศเกียรติคุณ
[แก้]สุเทพ วงศ์กำแหง เกิดเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2477 ที่จังหวัดนครราชสีมา เป็นศิลปินนักร้องเพลงไทยสากลที่มีผลงานดีเด่นทั้งในและนอกประเทศเป็นเวลาอันต่อเนื่องกันมากว่า 40 ปี มีผลงานขับร้องที่ประจักษ์ชัดเจนในความสามารถอันสูงส่ง ได้พัฒนาวิธีการขับร้องเพลงไทยสากลอย่างไพเราะ และทวีความงดงามในศิลปะแขนงนี้ยิ่งขึ้นเป็นลำดับ เป็นผู้ตั้งใจทำงานอย่างต่อเนื่องจนปรากฏผลงานเพลงมากมาย เช่น ขับร้องเพลงประกอบในภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ เพลงไทยสากลทั่วไป เพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพลงอันเกี่ยวด้วยพระศาสนา และจริยธรรม ตลอดจนใช้ความสามารถในเชิงศิลปะสร้างสรรค์อำนวยคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติเสมอมา ทั้งได้ถ่ายทอดความรู้ความสามารถแก่ศิษย์เป็นจำนวนมาก จากความสามารถดังกล่าวยังส่งผลให้เขาได้รับพระราชทานรางวัลแผ่นเสียงทองคำไม่น้อยกว่า 5 ครั้ง รางวัลเสาอากาศทองคำในฐานะนักร้องยอดเยี่ยม 2 ครั้ง และรางวัลอื่น ๆ อีกมากมาย สุเทพยังบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติเป็นอเนกประการ คุณงามความดีที่ได้กระทำอย่างต่อเนื่องมานี้เป็นที่ชื่นชมชัดเจนในหมู่ประชาชนคนไทยโดยทั่วไปจนวาระสุดท้ายของชีวิต
สุเทพ วงศ์กำแหง จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล – ขับร้อง) ประจำปี พ.ศ. 2533
การศึกษา
[แก้]- โรงเรียนวัดสมอราย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
- โรงเรียนประจำอำเภอ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
การทำงาน
[แก้]- ร้านตัดเสื้อ ตำแหน่งเขียนตัวหนังสือ
- กองทัพอากาศ ยศจ่าอากาศตรี
รางวัลและเกียรติคุณ
[แก้]- รางวัลพระราชทานแผ่นเสียงทองคำ
- รางวัลเสาอากาศทองคำ
- โล่เพชร
- โล่เกียรติยศ วัดไทยในลอสแอนเจลิส
- ปริญญาศึกษาศาสตรบัณฑิตกิตติมาศักดิ์ (ศิลปกรรม) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์
- โล่เกียรติยศพระราชทาน สมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พ.ศ. 2525
- รางวัลพระราชทาน ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล-ขับร้อง) สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ประจำปี พ.ศ. 2533
งานการเมือง
[แก้]สุเทพเป็นศิลปินที่สนใจการเมือง มีส่วนสนับสนุนนักศึกษาให้เรียกร้องประชาธิปไตยสมัยเหตุการณ์ 14 ตุลา พ.ศ. 2516 เป็นสมาชิกพรรคแนวร่วมสังคมนิยม ต่อมาได้สมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สังกัดพรรคพลังใหม่ และได้รับเลือกตั้งหลายสมัย มีโอกาสทำงานรับใช้สังคมมากขึ้น นับเป็นศิลปินที่ทำประโยชน์เพื่อประเทศอย่างสม่ำเสมอตลอดมา
ในปี พ.ศ. 2525 เคยเข้าร่วมก่อตั้งและเป็นเลขาธิการพรรคพลังใหม่ ซึ่งนำโดยนายแพทย์กระแส ชนะวงศ์ หัวหน้าพรรค ร้อยตรีสมหวัง ศรีชัย รองหัวหน้าพรรค และแกนนำคนสำคัญอาทิเช่น ชัชวาลย์ ชมภูแดง บรรลือ ชำนาญกิจ ทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์[3] ในปี พ.ศ. 2530 ได้รับแต่งตั้งเป็นรองหัวหน้าพรรคกิจประชาคม[4]
สุเทพเคยดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร สังกัดพรรคพลังธรรม ในปี พ.ศ. 2531
สุเทพได้ร่วมลงนามทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอนายกรัฐมนตรีพระราชทาน เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2549 โดยอ้างอิงความตามมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540[5]
เคยขึ้นเวทีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พ.ศ. 2551 ในวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2551 และร้องเพลง “คน” และ “อำนาจเงิน” โดยไม่มีดนตรีประกอบ[6]
เพลงประกอบภาพยนตร์
[แก้]- ชีวิตใหม่ (2498)
- ยอดรักคนยาก (2498)
- สุดที่รัก (2498)
- คำอธิษฐานของดวงดาว (2499)
- ดอกฟ้าและโดมผู้จองหอง (2499)
- รักคุณเข้าแล้ว (2499)
- สร้อยฟ้าศรีมาลาลุยไฟ (2499)
- สุดทางรัก (2499)
- ยอดดรุณี (2499)
- สร้อยไข่มุก (2499)
- ดาวเรือง (2499)
- บัวขาว (2500)
- ปรารถนาแห่งหัวใจ (2500)
- ขบวนการเสรีจีน (2501)
- ยอดอนงค์ (2501)
- แววมยุรา (2501)
- สวรรค์มืด (2501)
- สุรีรัตน์ล่องหน (2504)
- ดาวประกาย (2504)
- อีก้อย (2504)
- กัลปังหา (2505)
- ตะวันยอแสง (2505)
- ม่านน้ำตา (2505)
- แม่ยอดสร้อย (2505)
- สุริยาที่รัก (2505)
- จอมใจเวียงฟ้า (2505)
- มนต์รักบ้านนา (2505)
- ดอกแก้ว (2505)
- จำเลยรัก (2506)
- เอื้อมเดือน (2506)
- เพลิงทรนง (2506)
- แพนน้อย (2506)
- ใจเพชร (2506)
- พะเนียงรัก (2506)
- ตะวันหลั่งเลือด (2506)
- อรทัยใจเพชร (2507)
- ดวงตาสวรรค์ (2507)
- จำปูน (2507)
- ทับเทวา (2507)
- ลูกทาส (2507)
- ร้อยป่า (2507)
- ธรณีสายเลือด (2507)
- 5 พยัคฆ์ร้าย (2508)
- หนึ่งในสยาม (2508)
- นางสาวโพระดก (2508)
- รัดใจ (2508)
- เจ้าเมือง (2508)
- รัศมีแข (2508)
- ฉัตรดาว (2508)
- เทพบุตรนักเลง (2508)
- หมอกสวาท (2508)
- ชาติเจ้าพระยา (2508)
- น้ำเพชร (2508)
- เงิน เงิน เงิน (2508)
- เงารัก (2508)
- เจ้าแม่สร้อยดอกหมาก (2509)
- น้ำค้าง (2509)
- น้อยใจยา (2509)
- ผู้ชนะสิบทิศ ตอนยอดขุนพล (2509)
- เพชรตัดเพชร (2509)
- เกล้าฟ้า (2509)
- เชลยใจ (2509)
- เปลวสุริยา (2509)
- ในม่านเมฆ (2509)
- พิมพิลาไลย (2509)
- แสงเทียน (2509)
- เพื่อนรัก (2509)
- ชุมทางหาดใหญ่ (2509)
- น้องนุช (2509)
- ลมหนาว (2509)
- พรายพิฆาต (2510)
- ตะวันสีทอง (2510)
- ปูจ๋า (2510)
- มนต์รัก (2510)
- โนราห์ (2510)
- แหลมหัก (2510)
- เทพธิดาบ้านไร่ (2510)
- ใกล้รุ่ง (2510)
- ใจนาง (2510)
- แผ่นดินทอง - ภาพยนตร์อินเดียเรื่อง UPKAR (2510)
- บัวขาวน้อย - ภาพยนตร์กัมพูชา (2510)
- เหนือน้ำใจ (2511)
- เล็บครุฑ ตอน ประกาศิตจางซูเหลียง (2511)
- กบเต้น (2511)
- ไอ้หนึ่ง (2511)
- เพชรตะวัน (2511)
- นางครวญ (2511)
- เงินจ๋าเงิน (2511)
- ทรามวัยใจเพชร (2511)
- จั๊กจั่น (2511)
- ดอกอ้อ (2511)
- พรายพิศวาส (2511)
- พิศวาสไม่วาย (2511)
- น้ำอ้อย (2511)
- สกุลกา (2511)
- เลือดอาชาไนย (2511)
- สัญชาติชาย (2511)
- บัวหลวง (2511)
- ไก่แก้ว (2511)
- กินรี (2512)
- ดอนเจดีย์ (2512)
- ปีศาจเสน่หา (2512)
- เสือภูพาน (2512)
- ดิน น้ำ ลม ไฟ (2512)
- ทรชนเดนตาย (2512)
- แม่นาคพระนคร (2513)
- โทน - ละครวิทยุ (2513)
- ค่าเพียงดิน - ภาพยนตร์อินเดียเรื่อง HIMMAT (2513)
- เพชรพระอุมา (2514)
- หนึ่งนุช (2514)
- น้ำใจพ่อค้า (2514)
- จันทร์เพ็ญ (2515)
- สาวขบเผาะ (2515)
- นี่แหละรัก (2515)
- แม่อายสะอื้น (2515)
- สายชล (2516)
- ภูกระดึง (2516)
- ขอบฟ้าเขาเขียว (2516)
- กระสือสาว (2516)
- บัวลำพู (2517)
- ผัวเช่า (2517)
- วิมานดารา (2517)
- สมิหรา (2517)
- สร้อยสวาท (2517)
- นักเลงสามสลึง (2519)
- เลือดสุพรรณ (2522)
(หมายเหตุ) ภาพยนตร์อินเดียเรื่อง "แว่วเสียงสวรรค์", "อาญาชีวิต" ไม่ทราบปีฉาย
บทความบางข้อเขียนเกี่ยวกับ "สุเทพ วงศ์กำแหง" ในบทเพลงประกอบภาพยนตร์ โดย "เมืองไทย ภัทรถาวงศ์" ที่ไม่ได้ตีพิมพ์ลงในหนังสืออนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพ เรืออากาศตรี สุเทพ วงศ์กำแหง
เพลงประเภททั่วไป ซึ่งมีมากกว่า 5,000 เพลง เช่น
[แก้]- ในโลกแห่งความฝัน (รางวัลพระราชทานแผ่นเสียงทองคำ พ.ศ. 2507)
- ใจพี่ (รางวัลพระราชทานแผ่นเสียงทองคำ พ.ศ. 2507)
- ครวญ
- ตัวไกลใจยัง (แผ่นเสียงทองคำพระราชทาน พ.ศ. 2522)
- น้อยใจยา
- เพียงคำเดียว
- ดอกแก้ว
- คำคน
- ลาก่อนสำหรับวันนี้
- บ้านเรา
- ชั่วนิจนิรันดร
- โลกนี้คือละคร
- พ่อแง่แม่งอน
- บทเรียนก่อนวิวาห์
- คืนหนึ่ง
- วิญญาณในภาพถ่าย
- หวานรัก
- ชื่นรัก
- เสน่หา
- ดาว
- รักคุณเข้าแล้ว
เพลงประเภทปลุกใจและศาสนา
[แก้]- เทิดพระเกียรติพระปิยมหาราช
- สดุดีมหาราชา
- พลังไทย
- พระรัตนตรัย
- ดำรัสพระพุทธองค์
- พุทธธรรม
- เดือนเพ็ญตรัสรู้
- ใต้ร่มพระบารมี
คอนเสิร์ต
[แก้]- คอนเสิร์ต ลืมไม่ลง 40 ปี สุเทพ วงศ์กำแหง (2536)
- คอนเสิร์ต เกิดมาเพื่อเพลง 77 ปี สุเทพ วงศ์กำแหง (2554)
- คอนเสิร์ต รักเธอเสมอ (2554)
- คอนเสิร์ต เพชรในเพลง (2554)
- คอนเสิร์ต เพลงคู่ ครูเพลง (2555)
- คอนเสิร์ต ชมวัง...ฟังเพลง (2555)
- คอนเสิร์ต เพชรในเพลง ครั้งที่ 2 (2555)
- คอนเสิร์ต หนังไทยในเสียงเพลง (2555)
- คอนเสิร์ต 89 ปี ชาลี อินทรวิจิตร (2555)
- คอนเสิร์ต บ้านเมืองสวยด้วยเสียงเพลง (2555)
- คอนเสิร์ต ตามรอยแพร บนฟองเบียร์ สู่ปีที่ 80 สุเทพ วงศ์กำแหง (2556)
- คอนเสิร์ต เพลงทำนอง...สองครู (2556)
- คอนเสิร์ต เมื่อเพลงพาไป (2557)
- คอนเสิร์ต กล่อมกรุง (2557)
- คอนเสิร์ต รัตนโกสินทร์ (2557)
- คอนเสิร์ต รักปักใจ ลินจง (2557)
- คอนเสิร์ต 100 ปี กาญจนะผลิน (2557)
- คอนเสิร์ต จุฬาฯ พาเพลิน ลีลาไทยในบทเพลง (2557)
- คอนเสิร์ต รวมใจชาวอีสาน (2558)
- คอนเสิร์ต บี พงษ์พันธ์ วันแมนโชว์ (2558)
- คอนเสิร์ต ที่สุดที่ดี เพื่อพี่รี่ สวลี ผกาพันธุ์ (2558)
- คอนเสิร์ต Master of Voices 3 ตำนานเพลงรักแห่งสยาม (2558)
- คอนเสิร์ต กล่อมกรุง 2 (2558)
- คอนเสิร์ต 40 ปี อุมาพร (2559)
- คอนเสิร์ต สองวัยใจเดียวกัน (2559)
- คอนเสิร์ต 93 ปี ชาลี อินทรวิจิตร เพลงหนังคู่แผ่นดิน (2559)
- คอนเสิร์ต ''สองวัยใจเดียวกัน'' ครั้งที่ 2 (2561)
- คอนเสิร์ต พลังแห่งรัก สุเทพ วงศ์กำแหง (2562)
ผลงานการแสดงละคร
[แก้]- เงิน เงิน เงิน (2508)
ผลงานการแสดงภาพยนตร์
[แก้]- ก่อนอรุณจะรุ่ง (2500)
- สวรรค์มืด (2501)
- ขบวนเสรีจีน (2501)
- เงารัก (2508)
- เงิน เงิน เงิน (2508)
- พิการรัก (2509)
- สาวขบเผาะ (2515)
- วิมานดารา (2517)
- เดือนเสี้ยว (2528)
- ด๊อกเตอร์ครก (2535)
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2533 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก (ท.ช.)[7]
- พ.ศ. 2531 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย (ท.ม.)[8]
- พ.ศ. 2538 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 4 จตุตถดิเรกคุณาภรณ์ (จ.ภ.)[9]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ปิดตำนาน'สุเทพ วงศ์กำแหง'นักร้องเสียงขยี้ฟองเบียร์
- ↑ วงการเพลงสุดเศร้า! สิ้น ศิลปินแห่งชาติ สุเทพ วงศ์กำแหง เสียชีวิตในวัย 86 ปี
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจดทะเบียนพรรคการเมือง" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2011-04-21.
- ↑ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรคกิจประชาคม
- ↑ นายกรัฐมนตรีพระราชทาน
- ↑ "สุเทพ วงศ์กำแหง: 'อำนาจเงิน' และ 'คน' บทเวทีพันธมิตรฯ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-03-17. สืบค้นเมื่อ 2010-10-21.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-11-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๗ ตอนที่ ๒๔๐ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒, ๔ ธันวาคม ๒๕๓๓
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-11-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๕ ตอนที่ ๒๐๒ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓, ๓ ธันวาคม ๒๕๓๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-06-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๒ ตอนที่ ๑๗ ข หน้า ๑๔, ๔ ธันวาคม ๒๕๓๘
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- สกุลไทย เก็บถาวร 2005-05-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- หออัครศิลปิน เก็บถาวร 2020-12-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Pohchang.org เก็บถาวร 2013-06-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- สกุลไทย เก็บถาวร 2005-05-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2477
- บุคคลที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2563
- บุคคลจากอำเภอสูงเนิน
- ทหารอากาศชาวไทย
- นักร้องชายชาวไทย
- นักร้องเพลงลูกกรุง
- นักแสดงชาวไทย
- ศิลปินแห่งชาติ
- นักการเมืองไทย
- สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา
- สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร
- พรรคพลังใหม่
- นักการเมืองพรรคพลังธรรม
- พรรคกิจประชาคม
- นักการเมืองพรรคประชากรไทย
- นักการเมืองพรรคชาติพัฒนา (พ.ศ. 2535)
- พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
- บุคคลจากวิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์
- ผู้ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ท.ช.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ท.ม.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จ.ภ.
- บุคคลในยุครัชกาลที่ 9
- ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง