ไพศาล มาลาพันธ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ไสว มาลยเวช หรือนามปากกา ไพศาล มาลาพันธ์ (14 มกราคม พ.ศ. 2457 - 13 สิงหาคม พ.ศ. 2551) นักเขียนผู้ได้รับ รางวัลนราธิป ซึ่งเป็นรางวัลเกียรติคุณที่มอบให้กับนักเขียนและบรรณาธิการอาวุโส โดยมีหลักเกณฑ์ที่จะมอบรางวัลให้กับผู้ซึ่งมีอายุมากกว่า 80 ปี มีผลงานเป็นที่ยกย่องกว้างขวาง จัดโดยสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย

ประวัติ[แก้]

ไพศาล มาลาพันธ์ หรือ ไสว มาลยเวช เกิดเมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2457 ที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช บิดาชื่อ เกื้อ เป็นนายช่างโรงสีไฟ มารดาชื่อ ทองแย้ม เป็นชาวปากพนังทั้งคู่

ได้รับการศึกษาจากโรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา จนจบชั้นมัธยมปีที่ 6 และเรียนต่อที่โรงเรียนพาณิชย์วิทยาลัย ซึ่งมี พระสารสาสพลขันธ์ เป็นอาจารย์ใหญ่ จนจบวิชาบริหารธุรกิจชั้นสูง เมื่อ พ.ศ. 2492 และได้ประกอบอาชีพค้าขาย แต่มีใจรักการอ่าน รวมทั้งได้เขียนเรื่องต่าง ๆ ตลอดมา ใน พ.ศ. 2485 ถูกจับกุมในคดีกบฏสันติภาพ ร่วมกับนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์คนอื่น ๆ เช่น กุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา) , อุทธรณ์ พลกุล, ฉัตร บุณยะศิริชัย (อ้อย อัจฉริยากร) , เปลื้อง วรรณศรี, สุพจน์ ด่านตระกูล เป็นต้น โดยได้ทำงานใกล้ชิดกับกุหลาบ สายประดิษฐ์ จนได้รับฉายาว่า "อารักษ์ประจำตัว" ช่วงปี พ.ศ. 2486-2499

ผลงานเรื่องสั้นลงพิมพ์ในนิตยสารต่าง ๆ เช่น ปิยะมิตร, เดลิเมล์วันจันทร์, ปิติภูมิ, สยามสมัย เป็นประจำ เมื่อพ้นโทษได้ตั้งสำนักพิมพ์บุษบาบรรณ ของตนเอง ในปี พ.ศ. 2501 เพื่อพิมพ์หนังสือศิลปวรรณคดีตลอดจนวิทยาการใหม่ ๆ รวมทั้งผลงานของ ศรีบูรพา เรื่อง แม่ และ การเดินทางระหว่างดาวพระเคราะห์ ซึ่งเป็นเหตุให้ถูกจับกุม และต้องลี้ภัยการเมืองเข้าป่าเป็นเวลานานถึง 25 ปี ซึ่งขณะอยู่ในป่าก็ยังทำหน้าที่บรรณาธิการหนังสือ ไฟล่ามทุ่ง

ไพศาล มาลาพันธ์ กลับคืนสู่เมือง ตามนโยบาย 66/23 และมีผลงานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 เป็นต้นมา ทั้งเรื่องสั้น บันทึก สารคดี และวิชาการ หลายเรื่อง เช่น บันทึกนักโทษการเมือง, จากนาครสู่วนา, วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตและมนุษย์, ตำราแทงเข็ม-รมยา และสรุปบทเรียนจากประสบการณ์

ผลงานรวมเล่ม[แก้]

  • บันทึกนักโทษการเมือง
  • จากนาครสู่วนา
  • วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตและมนุษย์
  • ตำราแทงเข็ม-รมยา

งานเขียนอื่น ๆ[แก้]

  • เขียนอัตชีวประวัติตอนไปเรียนวิชาแทงเข็ม และแพทย์แผนจีน ลงพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์

งานอื่น นอกเหนือจากงานเขียน[แก้]

  • รักษาคนไข้ด้วยวิธีแทงเข็ม โดยเฉพาะอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต
  • เป็นอาจารย์พิเศษศูนย์การร่วมมือทางการแพทย์ไทย-จีน
  • ที่ปรึกษาชมรมฝั่งเข็มแห่งประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข

คำนิยม[แก้]

คุณสุพจน์ ด่านตระกูลเคยเขียนถึงว่า...

คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ถูกจัดให้อยู่ห้อง (ขัง) ใหญ่ จึงต้องอยู่รวมด้วยหลายคน มีขุนเจริญสืบแสง หรือนายแพทย์เจริญ สืบแสง ประธานกรรมการองค์การสันติภาพแห่งประเทศไทย สมัคร บุราวาศ สมาชิกแห่งราชบัณฑิตสภา เปลื้อง วรรณศรี พ.ท. สาลี่ ธนวิบูลย์ นาวาอากาศตรี พร่างเพชร บุญรัตพันธ์ อุทธรณ์ พลกุล ครอง จินดาวงศ์ มงคล ณ นคร ไสว มาลยเวช เป็นต้น

ผู้ที่รับใช้ใกล้ชิดคุณกุหลาบภายในคุกคือคุณไสว มาลยเวช เพราะนอกจากจะช่วยจัดหาอาหารและชง "โอยัวะ" ให้วันละสี่เวลาแล้ว คุณไสว มาลยเวช ยังทำหน้าที่เป็นอาลักษณ์คัดลอกต้นฉบับข้อเขียนต่างๆ ของคุณกุหลาบสำหรับส่งไปให้หนังสือพิมพ์ด้วย จันทา โนนดินแดง ตัวเอกของเรื่องแลไปข้างหน้า ก็เกิดขึ้นในคุกบางขวางนั้นเอง

กิจวัตรประจำวันภายในคุกของคุณกุหลาบก็คือการเขียนหนังสือ และแม้ว้าท่านจะเขียนหนังสือช้า แต่ท่านก็ขยันนั่งอยู่กับโต๊ะเขียนหนังสือของท่านครั้งละหลายๆ ชั่วโมง .................[1]


อ้างอิง[แก้]

หนังสือเนื่องใน วันนักเขียน 5 พฤษภาคม 2548 ของสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย (อรุณ เวชสุวรรณ บันทึก)

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]