ฉลาด ส่งเสริม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ฉลาด ส่งเสริม
สารนิเทศภูมิหลัง
ชื่อเกิดฉลาด ส่งเสริม
ชื่ออื่นป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม
เกิด18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 (77 ปี)
จุดกำเนิดจังหวัดอุบลราชธานี ประเทศไทย
คู่สมรสสมบูรณ์ ส่งเสริม (มุกดา เมืองนคร)
อาชีพศิลปินพื้นบ้าน,อาจารย์พิเศษ,นักร้อง
ผลงานเด่นลำเรื่องต่อกลอนนกกระยางขาว, ท้าวก่ำกาดำ , พระเวสสันดร ฯลฯ
รางวัล
ศิลปินแห่งชาติพ.ศ. 2549 - สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ)

ฉลาด ส่งเสริม หรือ เกแม่น้ำ(ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม) ชื่อเล่น เป ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) ปี พ.ศ. 2549 ชาวจังหวัดอุบลราชธานี

ประวัติ[แก้]

ฉลาด ส่งเสริม หรือ ป.ฉลาดน้อย มีชื่อเล่นว่า เป ศิลปินแห่งชาติปี พ.ศ. 2548 สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) เป็นหมอลำเรื่องต่อกลอน ที่มีความโดดเด่นเป็นที่รู้จักในด้านน้ำเสียงที่ก้องกังวาลเป็นแบบฉบับเฉพาะตัว เกิดเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 ที่บ้านหนองบ่อ ตำบลหนองบ่อ อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี สมรสกับนางสมบูรณ์ ส่งเสริม มีบุตร 3 คน คือ นายอดิชาติ ส่งเสริม นางสาววาสนา ส่งเสริม และนางสาวจารุวรรณ

ประวัติด้านหมอลำกลอน[แก้]

นายฉลาด ส่งเสริม เป็นหมอลำเรื่องต่อกลอน ที่มีความโดดเด่นเป็นที่รู้จักในด้านน้ำเสียงที่ก้องกังวาลแจ่มใส คำร้องมีการใช้คำเลียนเสียงธรรมชาติ เป็นแบบฉบับเฉพาะตัว ยากที่คนอื่นจะลอกเลียนแบบได้ โดยเฉพาะความสามารถแต่งกลอนลำทำนองเมืองอุบล จะนำเอาสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติตามท้องถิ่น เช่น ดิน ลม ฟ้า อากาศ ต้นไม้ มาแต่งเป็นกลอนลำ กลอนลำแต่ละกลอนจะมีคติสอนใจผู้ฟังอยู่เสมอ ซึ่งถือว่าเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างแท้จริง และสามารถร้องหมอลำได้หลายประเภท ทั้งลำยาว ลำเพลิน ลำเรื่อง ลำต่อกลอน ผลงานเด่น ได้แก่ นางนกกระยางขาว ท้าวก่ำกาดำ พระเวสสันดรชาดก องคุลีมาลสำนึกบาป พุทธประวัติตอนสิทธัตถะกุมารออกบวช นางนกกระจอกน้อย ผาแดงนางไอ่ ลูกเขยไทยสะใภ้ลาว เพลงรักบุญบั้งไฟ เป็นต้น

รางวัล[แก้]

ได้รับรางวัลทองคำฝังเพชร ในการประกวดหมอลำเรื่องต่อกลอน เรื่อง "นางนกกระยางขาว" จากกรมประชาสัมพันธ์ ได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นสุดยอดศิลปินอีสาน ในวาระ 40 ปี มหาวิทยาลัยขอนแก่น นายฉลาด ส่งเสริม จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) พุทธศักราช 2548

รางวัลและเกียรติคุณที่ได้รับ[แก้]

พ.ศ. 2515 ได้รับโล่รางวัลทองคำฝังเพชร ในการประกวดหมอลำเรื่องต่อกลอน เรื่อง "นางนกกระยางขาว" ของกรมประชาสัมพันธ์ ณ สถานีโทรทัศน์ ช่อง 4 จังหวัดขอนแก่น พ.ศ. 2533 ได้รับโล่รางวัล ตัวประกอบฝ่ายชายยอดเยี่ยม ในการประกวดหมอลำเรื่องต่อกลอน จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2534 ได้รับเกียรติบัตร จากกระทรวงสาธารณสุข ในนามสื่อมวลชนและศิลปินท้องถิ่นส่งเสริมโครงการรณรงค์อีสานไม่กินปลาดิบ 17 จังหวัด ในภาคอีสาน และเกียรติบัตรจากจังหวัดอุบลราชธานี ในนามศิลปินผู้สนับสนุนการผลิตเทปเพลงหมอลำอุบลราชธานี 200 ปี พ.ศ. 2538 ได้รับเกียรติบัตรจากจังหวัดศรีสะเกษ เป็นผู้สนับสนุนโครงการคาราวานอีสานไม่กินปลาดิบ พ.ศ. 2542 ได้รับเกียรติบัตรกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในงานศิลปกรรมนักเรียน การประกวดแข่งขันวิชาการ วิชาชีพเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ พ.ศ. 2544 ได้รับโล่เชิดชูเกียรติคุณ เป็นศิลปินดีเด่นของจังหวัดอุบลราชธานี สาขา ศิลปะการแสดง ประจำปี 2544 พ.ศ. 2545 ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณยอดฝีมือหมอลำ ที่คงคุณภาพ ผลงาน และสามารถแก้จน ประสบความสำเร็จ จาก รายการ เกมแก้จน ทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบท ช่อง 5 พ.ศ. 2547 ได้รับ เชิดชูเกียรติสุดยอดศิลปินพื้นบ้านอีสาน ประเภทลำเรื่องต่อกลอน ในโอกาส ฉลอง 40 ปี มหาวิทยาลัยขอนแก่น โล่เชิดชูเกียรติผู้สร้างสรรค์ผลงานดีเด่นในด้านศิลปวัฒนธรรม สาขาศิลปะการแสดง ของสถาบันวิจัยศิลปวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โล่ประกาศเกียรติคุณผู้ส่งเสริมอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย จากหนังสือพิมพ์สื่อสารธุรกิจ เข็มเชิดชูเกียรติ ของมูลนิธิอัฏฐมราชานุสรณ์ในพระบรมราชูปถัมภ์ จากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามบรมราชกุมาร

ประวัติชีวิตและผลงาน[แก้]

นายฉลาด ส่งเสริม (ป. ฉลาดน้อย) ประวัติการศึกษา พ.ศ. 2500 จบการศึกษาชั้นประถมปีที่ 4 โรงเรียนวิจิตรราษฎร์สามัคคี ตำบลหนองบ่อ อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี และบิดาได้นำไปฝากพระครูเจียม วัดบูรพาพิสัย บ้านหนองบ่อ ตำบลหนองบ่อ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อบวชเรียนพระธรรมวินัยบาลีไวยากร อักษรขอม และฝึกเทศน์เสียงตามบุญมหาชาติเกือบทุกหมู่บ้านในตำบลหนองบ่อ พ.ศ. 2502 จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนสมเด็จ วัดสุปัฏนารามวรวิหาร ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี พ.ศ. 2503 บิดาได้นำไปฝากเจ้าอาวาสวัดบูรพาพิสัย เพื่อเข้าเรียนนักธรรมโท พ.ศ. 2504 ศึกษานักธรรมชั้นเอก และในขณะเดียวกันยังเทศน์เสียงในงานบุญมหาชาติในอำเภอเมืองอุบลราชธานีด้วยน้ำเสียงไพเราะ พ.ศ. 2505 ขณะที่เป็นสามเณร ได้ฝึกร้องหมอลำตามเสียงทางวิทยุ ว.ป.ก. 6 ในแนวเสียงของหมอลำทองคำ เพ็งดี และหมอลำฉวีวรรณ ดำเนิน โดยเฉพาะลำล่องนิทานนางแตงอ่อน พ.ศ. 2506 ลา สิกขาบทจากสามเณร บิดาได้พาไปฝากเป็นศิษย์อาจารย์สุวรรณ ติ่งทอง ให้ฝึกลำกลอน (ลำทางสั้น) และลำคู่ ฝึกได้ 4 เดือน ไม่เกิดความชำนาญ เพราะต้องท่องกลอนยาวซึ่งยาวมากจึงหยุดพักระยะหนึ่ง แล้วหันไปร้องหมอลำหมู่ที่บ้านหนองบ่อ กับคณะ ก.สำราญศิลป์ โดยมีอาจารย์กิ่ง ทิมา เป็นผู้ฝึกสอน

ผลงานวิชาการ[แก้]

เป็นผู้วางแนวคิดในการแต่งกลอนลำประกอบการแสดงลำเรื่องต่อกลอนทุกเรื่องที่แสดง เป็นผู้คิดค้นทำนองลำ "ทำนองเมืองอุบล" ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของจังหวัดอุบลราชธานี โดยเฉพาะสำนวนการ้องที่นำเอาธรรมชาติสิ่งแวดล้อมมาเป็นเนื้อหาประกอบ เช่น การบรรยายถึงลักษณะภูมิอากาศ ฟ้า ลม ฝน น้ำ ซึ่งนักแสดงทั้งหลายโดยเฉพาะนักแสดงตลกชอบนำคำร้องและทำนองลำเมืองอุบลไปล้อเลียน จากทำนองกลอนลำคิดค้นนี้ประชาชนชื่นชอบจนพากันเรียกว่า "ทำนอง ป.ฉลาดน้อย" เขียนกลอนลำ ลำเรื่องต่อกลอน เช่น อยากให้เพิ่นตาย โตตาย (สีโคตรพระตะบอง) ท้าวบัง โฮมบังฮอง (ขุนช้างขุนแผน) พระเวสสันดร (ท้าวกำพร้าปลาหลด) สุทนมโนราห์ ขูลูนางอั้ว จำปาสี่ต้น น้ำตาสาวลาว ผู้บ่าวไทย นางนกกระยางขาว น้ำตาสาวจีน แต่งกลอนลำส่งเสริมรณรงค์การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ฝึกสอนหมอลำให้ กับหมอลำรุ่นหลัง จนมีลูกศิษย์หมอลำที่มีชื่อเสียงมากมาย เช่น ป.ประยุทธ วิไลศรี คณะขวัญอุบล ป.ประหยัด นามศรี คณะศรีอุบล นิคมน้อย อุทะศรี คณะเพชรอุบล สำเภา ภู่ใหญ่ คณะก้องอุบล ขวัญฟ้า ดุลประยูร คณะอุดรมิตรนิยม เป็นต้น ประดิษฐ์ท่ารำ และบทร้องชุด นางนกกระยางขาว ท้าวก่ำกาดำ น้ำตาสาวจีน โดยเฉพาะ ท่ารำนางนกกระยางขาวยังคงใช้เป็นท่าแม่แบบในการแสดง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะคือ "กางเขนเหมือนนกถลาบิน ซอยเท้าถี่รุกเร้า สนุกสนาน"

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]