ไพฑูรย์ กิตติวรรณ
คุณหญิงไพฑูรย์ กิตติวรรณ ต.จ. (15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2454 — 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2538) เป็นธิดาของจางวางทั่ว และปลั่ง พาทยโกศล มีพี่ชาย คือเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล คุณหญิงไพฑูรย์ได้ถ่ายทอดวิชาดนตรีจากบิดา และเรียนร้องเพลงจากเจริญ พาทยโกศล ภรรยาของจางวางทั่ว เรียนจะเข้จาก ครูช่อ สุนทรวาทิน เมื่อเติบโตขึ้น ติดตามบิดาและคุณแม่เจริญไปในการบรรเลงดนตรี ได้เข้าไปในวังบางขุนพรหม เคยร่วมบรรเลงดนตรี กับเจ้านายและพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ในคราวที่จางวางทั่วนำวงปี่พาทย์ไปบันทึกเสียงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2471 คุณหญิงไพฑูรย์ได้เป็นนักร้องบันทึกเสียงไว้มาก ใช้ชื่อบนแผ่นเสียงว่า ทูน พาทยโกศล
คุณหญิงไพฑูรย์ได้ถ่ายทอดวิชาดนตรีไว้มากมาย เช่น หัดดนตรีให้วงบางบัวทองของประสาท สุขุม สอนที่โรงเรียนสตรีวัดระฆัง โรงเรียนราชินี วิทยาลัยทับแก้ว มหาวิทยาลัยศิลปากร สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วงบ้านปลายเนิน (วังคลองเตย) ประมาณปี พ.ศ. 2512 คุณหญิงได้ถวายสอนซอด้วงและซออู้แด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี นอกจากนั้น ท่านได้ประดิษฐ์ทางร้องเพลงวาไว้เป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2524 ได้เป็นแม่งานในการบันทึกเสียงเพลงพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เพื่อเก็บไว้ที่ห้องสมุดดนตรีทูลกระหม่อมบริพัตรในบริเวณหอสมุดแห่งชาติ และควบคุมการฝึกซ้อมบรรเลงวงโยธวาทิตวงใหญ่ในโอกาสฉลองครบรอบร้อยปีของจางวางทั่ว พาทยโกศล บิดา
สมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้คัดเลือกท่านเป็นนักดนตรีไทยหนึ่งใน 4 คน ที่ขึ้นรับพระราชทานโล่เกียรติคุณ สาขาดนตรีไทยเป็นครั้งแรกในงานแผ่นเสียงทองคำพระราชทานประจำปี พ.ศ. 2524 และในปี พ.ศ. 2530 ท่านได้รับพระราชทานโล่และเข็มเชิดชูเกียรติในฐานะเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) ประจำปี พ.ศ. 2529
ชีวิตครอบครัว
[แก้]คุณหญิงไพฑูรย์สมรสกับพันเอกปลั่ง กิตติวรรณ เมื่อปี พ.ศ. 2479 มีบุตรธิดา 2 คน คือ
- อัปสรสำอางค์ แจ้งสมบูรณ์
- ขวัญเมือง กิตติวรรณ
คุณหญิงไพฑูรย์ กิตติวรรณ ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2538 สิริอายุ 84 ปี[1]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2535 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 3 ตริตาภรณ์มงกุฎไทย (ต.ม.)[2]
- พ.ศ. 2523 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 3 ตติยจุลจอมเกล้า (ต.จ.) (ฝ่ายใน)[3]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ห้องสมุดดนตรีสมเด็จพระเทพรัตน์ คุณหญิงไพฑูรย์ (พาทยโกศล) กิตติวรรณ (พ.ศ.๒๔๕๔-๒๕๓๘)
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๑๐ ตอนที่ ๓๖ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๗๑, ๒๖ มีนาคม ๒๕๓๖
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๙๗ ตอนที่ ๘๓ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓๐, ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๒๓