ข้ามไปเนื้อหา

สถาบันการพยาบาลศรีสวรินทิรา สภากาชาดไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สถาบันการพยาบาลศรีสวรินทิรา สภากาชาดไทย
Srisavarindhira Thai Red Cross Institute of Nursing
ตราพระมหาพิชัยมงกุฎและเครื่องหมายกาชาดสีแดง
สัญลักษณ์ประจำสถาบันฯ
ชื่อเดิมวิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย
ชื่อย่อSTIN
คติพจน์ซื่อสัตย์ รับผิดชอบงาน บริการด้วยใจ ได้มาตรฐานวิชาชีพ
ประเภทสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ
สถาปนา16 ตุลาคม พ.ศ. 2457; 110 ปีก่อน (2457-10-16)
ผู้สถาปนาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6)
สังกัดการศึกษากระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
สภากาชาดไทย
สังกัดวิชาการ
  • สาขาวิชา
    2
    • สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์
    • สำนักวิชาบัณฑิตศึกษา
  • หน่วยงานสนับสนุน
    3
    • หน่วยทะเบียนและประมวลผลศึกษา
    • หน่วยกิจการกิจกรรมนักศึกษา
    • หน่วยจัดการศึกษา
งบประมาณ260,961,900 บาท
(พ.ศ. 2568)[1]
นายกสภาสถาบันสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
อธิการบดีผู้ช่วยศาสตราจารย์ กนกวรรณ สุวรรณปฏิกรณ์
ผู้ศึกษา844 คน (พ.ศ. 2566)[2]
ที่ตั้ง
สี██ สีแดงชาด
เว็บไซต์เว็บไซต์ของสถาบัน

สถาบันการพยาบาลศรีสวรินทิรา สภากาชาดไทย (อังกฤษ: Srisavarindhira Thai Red Cross Institute of Nursing) เป็นสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐซึ่งไม่เป็นส่วนราชการ อยู่ภายใต้การดูแลอุปถัมภ์ของสภากาชาดไทย เปิดทำการเรียนการสอนหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต หลักสูตร 4 ปี และหลักสูตรประกาศนียบัตรการพยาบาลเฉพาะทางอีกหลายสาขา

ประวัติ

[แก้]

วิวัฒนาการ มาจาก "โรงเรียนนางพยาบาลสภากาชาดสยาม" ต่อมาเปลี่ยนเป็น "โรงเรียนการพยาบาลสภากาชาดไทยและโรงเรียนพยาบาลผดุงครรภ์ และอนามัยสภากาชาดไทย" เปิดโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2457 รับผดุงครรภ์ ที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนสูติกรรมโรงพยาบาลศิริราช ช่วยดูแลผู้ป่วยหญิง มีนายสิบพยาบาล พลพยาบาล พลเปล และนางพยาบาล พลเรือนดูแลผู้ป่วยชาย สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง องค์สภานายิกาสภากาชาดสยาม พระราชทานกำเนิดโรงเรียนนางพยาบาลเพื่อเปิดสอนวิชาการพยาบาลขึ้นเป็นครั้งแรกในกรุงสยาม เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2457

ปีแรกที่เปิดสอน เปิดรับสมัครทั้งปีไม่มีกำหนดปิดรับ มีนักเรียนรวมทั้งสิ้น 26 คน หลักสูตร 1 ปี สอบไล่ปีละ 2 ครั้งต่อมาขยายเป็นหลักสูตร 2 ปี ในปี พ.ศ. 2459 มี หม่อมเจ้ามัณฑารพ กมลาศน์ เป็นผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองโรงเรียนพยาบาลเป็นพระองค์แรก ต่อมามีการแลกเปลี่ยนนักเรียนกับโรงเรียนสูติกรรม โรงพยาบาลศิริราชอยู่หลายรุ่น

  • พ.ศ. 2466 ขยายหลักสูตรเป็น 3 ปีรับนักเรียนมัธยม 3 สอนวิชาผดุงครรภ์เอง
  • พ.ศ. 2471 ขยายหลักสูตรเป็น 3 ปี 6 เดือน รับนักเรียน ม.6 สำเร็จแล้วให้ ประกาศนียบัตรวิชาการพยาบาลและประกาศนียบัตรวิชาการผดุงครรภ์
  • พ.ศ. 2494 ปรับปรุงหลักสูตรและขยายเวลาศึกษาเป็น 4 ปี รับนักเรียน ม.6 เรียนวิชาการพยาบาล 3 ปี และวิชาการผดุงครรภ์และอนามัย 1 ปี
  • พ.ศ. 2507 ปรับปรุงหลักสูตรรับนักเรียน ม.ศ. 5 สายสามัญหรือเทียบเท่า เรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงวิชาพยาบาลและอนามัย เรียน 3 ปีและ ประกาศนียบัตรผดุงครรภ์เรียนต่ออีก 6 เดือน
  • พ.ศ. 2513 โรงเรียนเปลี่ยนชื่อเป็น "วิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย" ปรับปรุงหลักสูตรเป็นอนุปริญญาพยาบาลและอนามัย มีอาจารย์ คุณอุดม สุภาไตร เป็นอาจารย์ผู้อำนวยการวิทยาลัยฯ คนแรก
  • พ.ศ. 2514 เข้าสมทบเป็นสถาบันวิชาศึกษาชั้นสูงในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[3]
  • พ.ศ. 2521 ปรับปรุงหลักสูตรเป็นพยาบาลศาสตรบัณฑิต ผู้สำเร็จการศึกษา รับพระราชทานปริญญาบัตรจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • พ.ศ. 2532 สภากาชาดไทยได้มีประกาศสภากาชาดไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 37) ให้วิทยาลัยพยาบาลฯ มีฐานะเป็นสำนักหนึ่งของสภากาชาดไทย พร้อมทั้งปรับปรุงโครงสร้างองค์กรการบริหารงานบุคคลและการบริหารงาน วิชาการ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2532 โดยมีรองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ทองจันทร์ หงส์ลดารมภ์ เป็นรักษาการผู้อำนวยการวิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย และ ผ.ศ.ชุลีพร เชาวน์เมธากิจ เป็นผู้อำนวยการวิทยาลัยพยาบาลคนแรกจาก ระบบการสรรหา
  • พ.ศ. 2536 เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรการพยาบาลเฉพาะทาง 2 สาขา วิชา คือ สาขาวิชาการพยาบาลผู้สูงอายุ และสาขาวิชาการพยาบาลผู้ติดเชื้อไวรัสเอดส์และผู้ป่วยเอดส์ ต่อมาเปิดสอนเพิ่มเติมอีกหลายหลักสูตร
  • พ.ศ. 2543 ดำเนินการโครงการติดตั้งระบบประกันคุณภาพการศึกษา
  • พ.ศ. 2544 เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรการพยาบาลเฉพาะทางสาขาวิชาการพยาบาลเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ เพิ่มอีก 1 สาขา
  • พ.ศ. 2559 เปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรีและได้เปลี่ยนชื่อเป็น "สถาบันการพยาบาลศรีสวรินทิรา สภากาชาดไทย" เพื่อเป็นพระอนุสรณ์แด่ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เนื่องในโอกาสครบรอบ 150 ปีวันพระราชสมภพ [4]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๘, เล่ม ๑๔๑ ตอนที่ ๕๙ ก หน้า ๔๐, ๓๐ กันยายน ๒๕๖๗
  2. สถิติอุดมศึกษา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
  3. รราชกิจจานุเบกษา. “พระราชกฤษฎีการับวิทยาลัยพยาบาล สภากาชาดไทย เข้าสมทบเป็นสถาบันวิชาการชั้นสูงในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๑๔.” ราชกิจจานุเบกษา. 14 กันยายน 2514. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2514/A/098/610.PDF (22 พฤษภาคม 2559 ที่เข้าถึง).
  4. พระราชบัญญัติสถาบันการพยาบาลศรีสวรินทิรา สภากาชาดไทย พ.ศ. ๒๕๕๙ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๓ ตอน ๑๐๙ ก หน้า ๓ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๙

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]