พระที่นั่งบวรบริวัติ
พระที่นั่งบวรบริวัติ เป็นพระที่นั่งภายในพระบวรราชวังซึ่งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้สร้างขึ้น แต่พระองค์เสด็จสวรรคตเสียก่อน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดฯ ให้สร้างพระที่นั่งต่อจนเสร็จ ปัจจุบัน พระที่นั่งองค์นี้ได้รื้อลงแล้ว
ประวัติ
[แก้]พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างพระที่นั่งขึ้นเพื่อใช้เป็นสถานที่เสด็จออกประพาสฝ่ายใน แต่พระองค์เสด็จสวรรคตก่อนที่พระที่นั่งจะสร้างเสร็จ ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดฯ ให้สร้างต่อจนแล้วเสร็จ ศาลาและสวนของพระที่นั่งองค์นี้สร้างเป็นแบบจีนทั้งหมด มีบริเวณติดต่อกับพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ซึ่งสร้างเป็นแบบตึกฝรั่ง มีประตูและกำแพงกั้นระหว่างพระที่นั่งทั้ง 2 โดยเป็นพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวที่จะทรงแบ่งบริเวณพระที่นั่งเป็นแบบจีนและแบบฝรั่งออกจากกัน
พระที่นั่งบวรบริวัติเป็นเก๋งจีนมี 2 ชั้น ยาว 5 ห้อง โดยชั้นบนนั้นมีห้องพระบรรทม 1 ห้อง และห้องที่ประทับ 1 ห้อง ส่วนชั้นล่างเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอที่ตามเสด็จ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมาประทับ ณ พระที่นั่งแห่งนี้ พระองค์ไม่โปรดฯ เนื่องจากพระที่นั่งหันหน้ารับแดดจึงร้อนมาก ดังนั้น พระองค์จึงโปรดฯ ให้สร้างพระที่นั่งสาโรชรัตนประพาสขึ้น
ในสมัยกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ พระองค์เสด็จมาประทับที่ชั้นล่างของพระที่นั่งบวรบริวัติ จนกระทั่ง การก่อสร้างพระที่นั่งสาโรชรัตนประพาสแล้วเสร็จ พระองค์จึงเสด็จไปประทับ ณ พระที่นั่งแห่งนั้น แต่พระที่นั่งบวรบริวัติบริเวณชั้นล่างก็ยังใช้เป็นห้องสมุดและเป็นที่เสด็จออกฝ่ายในเรื่อยมา
ภายหลังการเสด็จทิวงคตของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้พระที่นั่งบวรบริวัติเป็นที่ประทับของพระองค์เจ้าหญิงวงจันทร์พระธิดาในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้ใช้พระที่นั่งองค์นี้เป็นส่วนหนึ่งของกกองการสังคีต กรมศิลปากร และเมื่อปี พ.ศ. 2505 พระที่นั่งองค์นี้ก็ถูกรื้อลง เนื่องจากอยู่ในสภาพที่ทรุดโทรมมาก
อ้างอิง
[แก้]- แน่งน้อย ศักดิ์ศรี. พระราชวังและวังในกรุงเทพฯ พ.ศ. 2325-2525. [ม.ป.ท.] : โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2525.
- สุนิสา มั่นคง. วังหน้า รัตนโกสินทร์. [ม.ป.ท.] : สำนักพิมพ์มติชน, 2543. ISBN 974-322-030-5