พระมหากษัตริย์ไทย

หน้าถูกกึ่งป้องกัน
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรไทย
ธงประจำพระอิสริยยศ
อยู่ในราชสมบัติ
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
ตั้งแต่ 13 ตุลาคม 2559
รายละเอียด
รัชทายาทตำแหน่งว่าง
กษัตริย์องค์แรกพ่อขุนศรีอินทราทิตย์
สถาปนาเมื่อพ.ศ. 1792
ที่ประทับพระบรมมหาราชวัง

พระมหากษัตริย์ไทย เป็นประมุขของประเทศไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันตามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และประชาธิปไตย ถึงแม้ว่าพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์จะลดลงหลังจากการปฏิวัติเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 และถูกจำกัดโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แต่สถาบันพระมหากษัตริย์ก็ยังคงได้รับความเคารพนับถือจากประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 กับทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับว่า พระมหากษัตริย์ "ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้" นอกจากนั้น พระมหากษัตริย์ยังทรงได้รับความคุ้มครองด้วยกฎหมายอาญา ทำให้การวิพากษ์วิจารณ์พระองค์เป็นความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์

พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐ ทรงใช้อำนาจอธิปไตยผ่านคณะรัฐมนตรี รัฐสภา และศาล ทรงเป็นจอมทัพไทย พุทธมามกะ และอัครศาสนูปถัมภก มีพระราชอำนาจสถาปนาและพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์กับฐานันดรศักดิ์ พระราชทานอภัยโทษ ประกาศสงครามและสงบศึก รวมตลอดถึงพระราชอำนาจอื่น ๆ ซึ่งจะทรงใช้ได้ก็แต่โดยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้ ยกเว้นพระราชอำนาจบางประการที่ทรงใช้ได้ตามพระราชอัธยาศัย คือ ตั้งและถอดองคมนตรีกับบรรดาข้าราชการในพระองค์

พระมหากษัตริย์ไทยแห่งราชวงศ์จักรี และเป็นประมุขราชวงศ์จักรี มีที่ประทับอย่างเป็นทางการคือพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร

พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันคือ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงตอบรับการขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2559 แต่ในทางนิตินัยถือว่าพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559[1]

รัชทายาทของพระมหากษัตริย์ไทยมีตำแหน่งเรียกว่าสยามมกุฎราชกุมาร การสืบพระราชสันติวงศ์ของพระมหากษัตริย์เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 โดยมีลักษณะเป็นการโอนจากบิดาสู่บุตรตามหลักบุตรคนหัวปีเฉพาะที่เป็นชาย แต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรฉบับปัจจุบันเปิดให้เสนอพระนามพระราชธิดาขึ้นสืบราชบัลลังก์ได้ ในกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงตั้งรัชทายาทไว้[2][3] [4]

ประวัติ

กำเนิด

รูปแบบการปกครองแบบราชาธิปไตยของประเทศไทยได้พัฒนาขึ้นมาตลอด 800 ปี ภายใต้การปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่สามารถรวบรวมดินแดนจนเป็นปึกแผ่นเป็นอาณาจักรสุโขทัย โดยมีพ่อขุนศรีอินทราทิตย์เป็นปฐมกษัตริย์ แนวคิดการปกครองแบบราชาธิปไตยสมัยแรกเริ่มตั้งอยู่บนพื้นฐานของศาสนาฮินดู (รับเข้ามาจากจักรวรรดิขะแมร์) ที่ถือว่าวรรณะกษัตริย์มีอำนาจทางทหาร และหลักความเชื่อแบบเถรวาท ที่ถือพระมหากษัตริย์เป็น "ธรรมราชา" หลังจากที่พระพุทธศาสนาเข้ามาในประเทศไทยในราวคริสต์ศตวรรษที่ 6 อันเป็นแนวคิดที่ว่าพระมหากษัตริย์ควรจะปกครองประชาชนโดยธรรม

สมัยกรุงสุโขทัย มีการปกครองแบบพ่อปกครองลูก พระมหากษัตริย์จะมีพระนามขึ้นต้นว่า "พ่อขุน" มีความใกล้ชิดระหว่างกษัตริย์กับประชาชนมาก หลังจากรัชกาลพ่อขุนรามคำแหงมหาราชแล้ว พระมหากษัตริย์สุโขทัยมีพระนามขึ้นต้นว่า "พญา" เพื่อยกฐานะกษัตริย์ให้สูงขึ้น ในรัชกาลพระมหาธรรมราชาที่ 1 พระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์เฟื่องฟูมาก จึงมีแนวคิดธรรมราชาตามคติพุทธขึ้นมา ทำให้พระนามขึ้นต้นของพระมหากษัตริย์ตั้งแต่รัชกาลพญาลิไทเรียกว่า "พระมหาธรรมราชา"

ตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เรียกพระมหากษัตริย์ว่าพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงเรียกว่าพระเจ้ากรุงสยาม[5] สถานะของพระมหากษัตริย์ในยุคนี้ได้รับคติ "เทวราชา" จากศาสนาฮินดู กล่าวคือพระมหากษัตริย์ทรงเป็นเทพเจ้าอวตารมาเพื่อปกครองมวลมนุษย์ ดังเห็นได้จากการใช้คำนำหน้าพระนามว่า "สมเด็จพระเจ้า"

ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ

ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2475 กลุ่มนักศึกษาซึ่งได้รับการศึกษาแบบตะวันตกและนายทหารเรียก "ผู้ก่อการ" ได้ปฏิวัติยึดอำนาจและเรียกร้องให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ชาวสยาม ในเดือนธันวาคมปีนั้นจึงพระราชทานรัฐธรรมนูญเปลี่ยนรูปแบบการปกครองมาสู่ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ บทบาทของพระมหากษัตริย์ก็เหลือเพียงประมุขแห่งรัฐเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น โดยทรงใช้พระราชอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ผ่านรัฐสภา นายกรัฐมนตรี และศาล

ในปี พ.ศ. 2478 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวสละราชสมบัติ หลังทรงไม่ลงรอยกับรัฐบาลที่เป็นอำนาจนิยมมากขึ้น พระองค์ทรงประทับในสหราชอาณาจักรจนสวรรคต พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทรทรงสืบราชสันตติวงศ์ ขณะนั้นพระองค์มีพระชนมายุ 10 พรรษาและเสด็จอยู่ต่างประเทศในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จึงมีการแต่งตั้งสภาผู้สำเร็จราชการแทน ในช่วงนั้น บทบาทและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ถูกยึดโดยรัฐบาลฟาสซิสต์จอมพลแปลก พิบูลสงคราม ผู้นำสยามเข้ากับฝ่ายอักษะระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อสงครามยุติ จอมพลแปลกถูกถอดออกและพระมหากษัตริย์เสด็จนิวัติประเทศ ระหว่างสงคราม พระญาติหลายพระองค์ของพระมหากษัตริย์เป็นสมาชิกขบวนการเสรีไทย ซึ่งต่อต้านการยึดครองของต่างชาติระหว่างสงครามและช่วยกู้ฐานะของประเทศไทยหลังสงคราม

หลังพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทรเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2489 สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งขณะนั้นทรงพระชนมายุ 19 พรรษา กลายเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลถัดมา พระองค์มีปฐมบรมราชโองการดังนี้ "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม"

เริ่มเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2543 บทบาทของพระมหากษัตริย์ไทยถูกนักวิชาการ สื่อ ผู้สังเกตการณ์และนักประเพณีนิยมคัดค้านเพิ่มขึ้น และเมื่อผู้สนใจนิยมประชาธิปไตยที่มีการศึกษาเริ่มแสดงออกซึ่งสิทธิคำพูดของเขา หลายคนถือว่าชุดกฎหมายและมาตรการเกี่ยวข้องกับความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ในประเทศไทยซึ่งมุ่งคุ้มครองพระมหากษัตริย์และราชวงศ์เป็นอุปสรรคต่อเสรีภาพการแสดงออก มีการจับกุม การสืบสวนอาญาและจำคุกหลายครั้งโดยอาศัยกฎหมายเหล่านี้ ในปี พ.ศ. 2548 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระราชดำรัสว่า สามารถวิจารณ์พระองค์ได้หากสร้างสรรค์และไม่มีแรงจูงใจทางการเมือง

กรมราชเลขานุการในพระองค์และสภาองคมนตรีไทยสนับสนุนภาระหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ โดยปรึกษากับนายกรัฐมนตรี พระราชวังและพระราชทรัพย์ของพระมหากษัตริย์มีสำนักพระราชวังและสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นผู้จัดการตามลำดับ หน่วยงานเหล่านี้ไม่ถือเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลไทย และพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งพนักงานทั้งหมด[6]

บทบาทในการเมืองไทย

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยมีพระราชหัตถเลขาใจความว่า ควรถือพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปอยู่เหนือการเมือง "โดยเฉพาะการไม่เข้าไปเป็นฝักฝ่ายต่อสู้แข่งขัน รณรงค์ทางการเมือง อันอาจจะนำมาซึ่งการโจมตี ติเตียน และกระทบต่อความสงบเรียบร้อยสมัครสมานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับราษฎร" ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยว่า พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระราชโอรส พระราชธิดา ไม่มีหน้าที่ต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เพราะการไปใช้สิทธิเลือกตั้งจะก่อให้เกิดความขัดแย้งและไม่สอดคล้องกับหลักการการดำรงอยู่เหนือการเมือง[7] ในปี 2562 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร (พระราชอิสริยยศในขณะนั้น) ทรงมีพระราชโองการ เรื่อง สถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ความโดยสรุปว่า การนำพระบรมราชวงศ์ทุกพระองค์ แม้จะทรงกราบถวายบังคมลาออกจากฐานันดรศักดิ์ไปแล้ว มาเกี่ยวข้องกับระบบการเมือง ไม่ว่าจะโดยทางใดก็ตาม เป็นการกระทำที่ขัดต่อโบราณราชประเพณี ขนบธรรมเนียม และวัฒนธรรมของชาติ ถือเป็นการกระทำที่มิบังควรไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง[8][9]

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  1. 2559/A/102/1.PDF ประกาศสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เรื่อง อัญเชิญองค์พระรัชทายาทขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์, ราชกิจจานุเบกษา, สืบค้นวันที่ 1/12/พ.ศ. 2559
  2. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550, ราชกิจจานุเบกษา, สืบค้นวันที่ 11/1/2560
  3. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557, ราชกิจจานุเบกษา, สืบค้นวันที่ 11/1/2560
  4. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560, ราชกิจจานุเบกษา, สืบค้นวันที่ 30/5/2561
  5. ""สยาม" ถูกใช้เรียกชื่อประเทศเป็นทางการสมัยรัชกาลที่ 4". ศิลปวัฒนธรรม. 6 กรกฎาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 25 สิงหาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. "Thailand The King – Flags, Maps, Economy, History, Climate, Natural Resources, Current Issues, International Agreements, Population, Social Statistics, Political System". Photius.com. 28 December 1972. สืบค้นเมื่อ 5 May 2012.
  7. "ไทยรักษาชาติ : สรุปคำวินิจฉัยศาล รธน. สั่งยุบ ทษช. "เซาะกร่อนบ่อนทำลาย" สถาบันพระมหากษัตริย์". บีบีซีไทย. 7 มีนาคม 2019. สืบค้นเมื่อ 11-03-2019. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  8. "Thailand's king condemns bid by sister to become PM". BBC. กรุงเทพมหานคร. 2019-02-08. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-02-08. สืบค้นเมื่อ 2019-02-08.
  9. "ประกาศ สถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย" (PDF) (Press release). Bangkok: ราชกิจจานุเบกษา. 2019-02-08. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-02-09. สืบค้นเมื่อ 2019-02-08.

แหล่งข้อมูลอื่น

งานวิชาการ