พระบรมมหาราชวัง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระบรมมหาราชวัง
ภาพขบวนเรือพระราชพิธี ในงานประชุมเอเปค 2003
แผนที่
ชื่อเดิมพระราชวังพระนคร
ชื่ออื่นวังหลวง
ข้อมูลทั่วไป
สถานะทรัพย์สินในพระองค์[1]
ประเภทพระราชวัง
สถาปัตยกรรมไทย, อื่น ๆ
ที่ตั้งแขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร
เมือง กรุงเทพมหานคร
ประเทศ ไทย
เริ่มสร้าง6 พฤษภาคม พ.ศ. 2325
พิธีเปิด13 มิถุนายน พ.ศ. 2325
เจ้าของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
ข้อมูลทางเทคนิค
พื้นที่152 ไร่ 2 งาน
เว็บไซต์
ชื่อที่ขึ้นทะเบียนพระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
เป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานคร
เลขอ้างอิง0005574

พระบรมมหาราชวัง เป็นพระราชวังที่ประทับของพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรไทยในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งอยู่ที่แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร แม้ปัจจุบันจะไม่เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์แล้ว แต่พระบรมมหาราชวังก็ยังคงถูกใช้ในงานพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ ทุกปีจนถึงปัจจุบัน และยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศไทย โดยมีผู้เข้าเยี่ยมชมในปี พ.ศ. 2549 ถึง 8,995,000 คน[2]

ประวัติ[แก้]

พระบรมมหาราชวังช่วงสมัยรัชกาลที่ 5

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี พระองค์ทรงย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรีมายังตำบลบางกอกซึ่งตั้งอยู่บริเวณฝั่งตรงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังหลวงขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางการปกครองประเทศ และเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ในราชวงศ์จักรี การก่อสร้างพระราชวังหลวงเริ่มขึ้นพร้อมกับการสร้างพระนครเมื่อ พ.ศ. 2325 โดยสร้างขึ้นในบริเวณที่เคยเป็นที่อยู่ของพระยาราชาเศรษฐีและชาวจีนทั้งหลาย ดังนั้น พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปอยู่สถานที่แห่งใหม่ตั้งแต่คลองใต้วัดสามปลื้มจนถึงคลองเหนือวัดสามเพ็ง เริ่มดำเนินการในวันที่ 22 เมษายน หลังพระราชพิธียกเสาหลักเมือง 1 วัน และเริ่มก่อสร้างพระบรมมหาราชวังในวันที่ 6 พฤษภาคม[3] ก่อนจะมีการเฉลิมพระราชมณเฑียรในวันที่ 13 มิถุนายน แต่ขณะนั้นพระราชมนเฑียรสร้างด้วยเครื่องไม้และสร้างเสาระเนียดรายรอบพระราชวัง เพื่อประกอบพระราชพิธีปราบดาภิเษก

ต่อมาในปี พ.ศ. 2326 พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชมนเทียร พระมหาปราสาท เปลี่ยนเสาระเนียดจากเครื่องไม้เป็นก่อกำแพงอิฐ สร้างประตูรายรอบพระบรมมหาราชวัง ตลอดจนสร้างพระอารามในพระราชวังหลวงคือวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) เมื่อสร้างพระราชนิเวศน์มนเฑียรเป็นการถาวรแล้วโปรดเกล้าฯ ให้มีการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเต็มตามแบบแผนราชประเพณีอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2328

พระบรมมหาราชวังได้มีการก่อสร้างเพิ่มเติมขยายอาณาเขตและบูรณปฏิสังขรณ์มาในทุกรัชกาล ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ พระราชอนุชา ขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงบัญญัติให้เรียกพระราชวังหลวงว่า "พระบรมมหาราชวัง" นั่นคือ ทรงบัญญัติให้ใช้คำว่า "บรม" สำหรับฝ่ายวังหลวง และ “บวร” สำหรับฝ่ายวังหน้า พระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้าจึงเรียกว่า "พระบวรราชวัง" เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว พระราชวังหลวงก็ยังคงใช้ว่า "พระบรมมหาราชวัง" มาจนกระทั่งปัจจุบัน

ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง เครื่องบินจากฝ่ายสัมพันธมิตรเข้าทิ้งระเบิดโจมตีสถานที่อันเป็นจุดยุทธศาสตร์อันรวมถึงพระบรมมหาราชวัง โดยเมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2487[4] มีลูกระเบิดมาตกในเขตพระบรมมหาราชวังข้าง ๆ พระพุทธรัตนสถาน ทำให้โครงสร้างหลังคาได้รับความเสียหาย[5]

ปัจจุบันพระบรมมหาราชวังมิได้เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีแล้ว เนื่องจากมีสิ่งปลูกสร้างอยู่อย่างแออัด ทำให้ขวางทางลม ในฤดูร้อน ที่ประทับในพระบรมมหาราชวังจึงร้อนจัด ทำให้พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ประชวรกันอยู่เสมอ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายที่ประทับถาวรไปอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือระหว่างคลองผดุงกรุงเกษมกับคลองสามเสน คือพระราชวังดุสิต[6] และเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีมาจนถึงปัจจุบัน

ที่ตั้งและอาณาเขต[แก้]

พระบรมมหาราชวัง ถ.หน้าพระลาน เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

หลังจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างราชธานีแห่งใหม่แล้วก็โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระบรมมหาราชวังไว้ด้วย ที่ตรงบริเวณพระบรมมหาราชวังในปัจจุบันนี้แต่เดิมเป็นชุมชนชาวจีน พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้ชาวจีนเหล่านี้อพยพไปตั้งถิ่นฐานใหม่ที่บริเวณสำเพ็งในปัจจุบัน ในปัจจุบันพระบรมมหาราชวังตั้งอยู่ที่แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร มีอาณาเข

ติดต่อกับสถานที่สำคัญเรียงตามเข็มนาฬิกาดังนี้

พื้นที่ของพระบรมมหาราชวังในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเมื่อแรกสร้าง มีเนื้อที่ทั้งหมด 132 ไร่ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขยายเขตพื้นที่ออกไปเป็น 152 ไร่ 2 งาน จนถึงปัจจุบัน แผนผังของพระบรมมหาราชวังได้ยึดถือแบบของพระราชวังหลวงสมัยกรุงศรีอยุธยา คือสร้างติดกับแม่น้ำ หันหน้าไปทางทิศเหนือ โดยมีแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ทางทิศตะวันตก ให้กำแพงเมืองด้านข้างแม่น้ำเป็นกำแพงพระบรมมหาราชวังชั้นนอก และมีวัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นพระอารามหลวงในพระราชวังตามแบบวัดพระศรีสรรเพชญ์ของกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออก

พระบรมมหาราชวังจากหอประชุมกองทัพเรือ

เขตพระราชฐาน[แก้]

พระบรมมหาราชวังสามารถแบ่งพื้นที่ออกเป็นบริเวณวัดพระศรีรัตนศาสดารามและเขตพระราชฐานอันเป็นพื้นที่สำหรับเป็นที่ประทับและบริหารราชการแผ่นดินของพระมหากษัตริย์ โดยเขตพระราชฐานสามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่[7]

เขตพระราชฐานชั้นหน้า[แก้]

เขตพระราชฐานชั้นหน้า นับตั้งแต่ประตูวิเศษไชยศรีถึงประตูพิมานไชยศรี (ไม่นับรวมบริเวณวัดพระศรีรัตนศาสดาราม) รวมทั้ง บริเวณรอบนอกกำแพงชั้นในของพระบรมมหาราชวัง เป็นที่ตั้งของหน่วยราชการต่าง ๆ และที่ทำการของทหารรักษาพระราชวัง เช่น สำนักพระราชวัง กรมราชเลขานุการในพระองค์ เป็นต้น

เขตพระราชฐานชั้นกลาง เป็นที่ประดิษฐานของ พระที่นั่งบุษบกมาลามหาจักรพรรดิพิมาน พระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ ในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยสูรยพิมาน พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท

เขตพระราชฐานชั้นกลาง นับตั้งแต่ประตูพิมานไชยศรีถึงประตูสนามราชกิจ เป็นที่ตั้งของปราสาทราชมณเฑียรทั้งสถาปัตยกรรมไทยและตะวันตก ใช้ประกอบพระราชพิธีสำคัญ ๆ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีฉัตรมงคล ประกอบไปด้วย

พระมหามณเฑียร เป็นหมู่พระที่นั่งที่สร้างขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เพื่อทรงใช้เป็นที่ประทับและเป็นพระราชพิธีมณฑลในพระราชพิธีปราบดาภิเษก ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นกลางและชั้นใน ปัจจุบัน ใช้เป็นพระราชพิธีมณฑลสำหรับประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกและพระราชพิธีสำคัญอื่น ๆ ในพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ในราชวงศ์จักรีสืบเนื่องกันมา โดยพระที่นั่งที่สำคัญของพระมหามณเฑียร ได้แก่ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระที่นั่งไพศาลทักษิณ และพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยสูรยพิมาน

หมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อใช้เป็นสถานที่ออกว่าราชการและเป็นที่ประทับส่วนพระองค์ ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นกลางและชั้นใน เดิมประกอบด้วยหมู่พระที่นั่ง 11 องค์ ปัจจุบัน พระที่นั่งในหมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทอยู่ในสภาพที่ชำรุดจนเกินกว่าการบูรณะได้จึงมีการรื้อพระที่นั่งลงหลายองค์ อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งขึ้นใหม่บนสถานที่เดิม พระที่นั่งที่สำคัญของหมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ได้แก่ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ พระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ และพระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร

หมู่พระมหาปราสาท เป็นหมู่พระที่นั่งที่สร้างขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญและเป็นพระราชมณเฑียรที่ประทับ ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นกลางและชั้นใน ปัจจุบัน หมู่พระมหาปราสาทใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญ อาทิ พระราชพิธีฉัตรมงคล รวมทั้ง เป็นสถานที่สำหรับสรงน้ำพระบรมศพและประดิษฐานพระบรมศพของของพระบรมราชวงศ์ชั้นสูง พระที่นั่งที่สำคัญ ได้แก่ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระที่นั่งพิมานรัตยา พระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท และพระที่นั่งราชกรัณยสภา

สวนศิวาลัย เป็นสวนภายในพระบรมมหาราชวัง ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออก ในอดีตเคยเป็นที่ตั้งของพระอภิเนาว์นิเวศน์อันเป็นพระราชมณเฑียรที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตราบจนเสด็จสวรรคต แต่พระราชมณเฑียรดังกล่าวเกิดการชำรุดทรุดโทรมจนยากต่อการบูรณะซ่อมแซม ดังนั้น จึงจำต้องรื้อถอนไปเกือบหมดสิ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปัจจุบัน สวนศิวาลัยและบริเวณใกล้เคียงมีพระที่นั่งที่สำคัญตั้งอยู่ ได้แก่ พระพุทธรัตนสถาน พระที่นั่งมหิศรปราสาท พระที่นั่งบรมพิมาน และพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท

เขตพระราชฐานชั้นใน[แก้]

เขตพระราชฐานชั้นใน นับตั้งแต่ประตูสนามราชกิจจนถึงแถวเต๊งทางทิศใต้ เป็นเขตสำหรับผู้หญิงล้วน ผู้ชายที่อายุ 13 ปีขึ้นไปห้ามเข้า (ยกเว้นองค์พระมหากษัตริย์) หากจะเข้าก็ต้องมีโขลนกำกับดูแล (โขลน คือ ตำรวจหญิงที่คอยกำกับดูแล ความเรียบร้อยในเขตพระราชฐานชั้นใน) เป็นที่ตั้งของพระตำหนัก ตำหนัก เรือน ของพระมเหสี พระราชเทวี พระชายา พระราชธิดา เจ้าจอมมารดา เจ้าจอม ข้าราชบริพารและข้าราชการฝ่ายใน

การใช้งาน[แก้]

พระบรมมหาราชวังได้ใช้เป็นที่ประทับและศูนย์กลางการปกครองของพระมหากษัตริย์สมัยรัตนโกสินทร์มาตลอด จนถึงกลางรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประทับเพียงครั้งคราว ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ได้เสด็จประทับ ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง กระทั่งเสด็จสวรรคต หลังจากนั้นจนถึงปัจจุบัน มิได้มีพระมหากษัตริย์เสด็จมาประทับในพระบรมมหาราชวังเป็นการถาวรอีก ปัจจุบันพระที่นั่งบรมพิมาน เป็นเขตพระราชฐานและที่ประทับส่วนพระองค์ใน ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ส่วนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาประทับบ้างเป็นครั้งคราว เช่น เวลาซ่อมพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน หรือเวลามีการพระราชพิธี เป็นต้น พระบรมมหาราชวังใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ ตามพระราชประเพณี, เป็นที่รับแขกเมือง และพระราชอาคันตุกะ รวมทั้งเป็นที่ตั้งพระบรมศพและพระศพของพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง ส่วนบริเวณเขตพระราชฐานชั้นนอกได้ใช้เป็นที่ตั้งของสถานที่ราชการ เช่น สำนักพระราชวัง, สำนักราชเลขาธิการ และสำนักงานราชบัณฑิตยสภา และเขตพระราชฐานชั้นในก็มิได้เป็นที่อยู่อาศัยของเจ้านายฝ่ายในอีกต่อไป แต่ยังคงเป็นที่ทำการและที่พำนักของข้าราชการสำนักพระราชวังในฝ่ายพระราชฐานชั้นในบางส่วน ซึ่งล้วนเป็นสตรีทั้งสิ้น

แผนที่[แก้]

แผนที่ภายในพระบรมมหาราชวัง
  1. วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
  2. อาคารที่ทำการสำนักพระราชวัง
  3. พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
  4. ศาลาลูกขุนใน
  5. ศาลาสหทัยสมาคม
  6. พิพิธภัณฑ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
  7. ศาลาเครื่องราชอิสริยยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเหรียญกษาปณ์
  8. พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย
  9. พระที่นั่งไพศาลทักษิณ
  10. พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน
  11. พระที่นั่งดุสิตาภิรมย์
  12. พระที่นั่งราชฤดี
  13. พระที่นั่งสนามจันทร์
  14. หอศาสตราคม
  15. หอพระสุราลัยพิมาน
  16. หอพระธาตุมณเฑียร
  17. พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
  18. พระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์
  19. พระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ
  20. พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร
  21. พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
  22. พระที่นั่งพิมานรัตยา
  23. พระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท
  24. พระที่นั่งราชกรัณยสภา
  25. ศาลาเปลื้องเครื่อง
  26. เขาไกรลาสจำลอง
  27. สวนศิวาลัย
  28. พระที่นั่งบรมพิมาน
  29. พระที่นั่งมหิศรปราสาท
  30. พระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท
  31. พระที่นั่งสีตลาภิรมย์
  32. พระพุทธรัตนสถาน
  33. พระที่นั่งไชยชุมพล
  34. พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท
  35. เขตพระราชฐานชั้นใน

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "พระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. ๒๕๖๑" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 2 November 2018. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2018-11-23. สืบค้นเมื่อ 26 September 2021.
  2. Global Market Information Database, Tourist Attractions - World, 10 Apr 2008
  3. หงส์วิวัฒน์ 2003, p. 7
  4. วัลลี นวลหอม. "พัฒนาการของบางกอกฝั่งตะวันตก พ.ศ. 2398 - 2488" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร. p. 165.
  5. "ภาพหายาก ระเบิดลงในพระบรมมหาราชวัง สมัยสงครามโลกครั้งที่2".
  6. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความเรื่องสวนดุสิต, เล่ม 15, ตอน 50, 12 มีนาคม พ.ศ. 2441, หน้า 543
  7. กาญจนา นาคสกุล, เขตพระราชฐานในพระบรมมหาราชวัง, เข้าถึงวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2554

บรรณานุกรม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

พิกัดภูมิศาสตร์: 13°45′N 100°30′E / 13.750°N 100.500°E / 13.750; 100.500