สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1
สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 | |
---|---|
พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 | |
พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา | |
ครองราชย์ | 12 มีนาคม พ.ศ. 1893 – 1912 (19 ปี 0 วัน) |
ก่อนหน้า | สถาปนาอาณาจักร |
ถัดไป | สมเด็จพระราเมศวร |
พระราชสมภพ | 3 เมษายน พ.ศ. 1857 |
สวรรคต | พ.ศ. 1912 (55 พรรษา) |
มเหสี | ไม่ปรากฏพระนาม (พระกนิษฐาในสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1) |
พระราชบุตร | สมเด็จพระราเมศวร |
ราชวงศ์ | อู่ทอง |
พระราชบิดา | สมเด็จพระเจ้าบรมราชา (โดยสันนิษฐาน) |
สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1[1] หรือ พระเจ้าอู่ทอง (3 เมษายน พ.ศ. 1857 – พ.ศ. 1912) เป็นปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรอยุธยา[2]: 222 ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 1893 ถึง พ.ศ. 1912 ทรงพระนามว่าพระเจ้าอู่ทองก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. 1893 มีหลายทฤษฎีเกี่ยวกับภูมิหลังของพระเจ้าอู่ทอง รวมทั้งอาจเป็นเชื้อสายของพญามังราย
พระปรมาภิไธย
- เจ้าวรเชษฐกุมาร หรือพระวรเชษฐ (ในพระราชพงศาวดารเหนือ)[3]
- สมเด็จพระรามาธิบดี (หลังจากขึ้นครองราชย์)
- พระเจ้าอู่ทอง (กษัตริย์ผู้ครองเมืองอู่ทองแคว้นสุพรรณภูมิ)
- สมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสินทร บรมมหาจักรพรรดิศรราชาธิราช (ในโองการแช่งน้ำ)
- สมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสุนทรบรมจักรพัตราธิราช (ในกฎหมายลักษณะอาญาราษฎร์)
- สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสุรินทร บรมจักรพรรดิศร บวรมหาธรรมิกราชาธิราช (ในกฎหมายลักษณะอาญาหลวง)
- สมเด็จบรมบาทพระเจ้ามหาจักรพรรดิราชาธิราชรามาธิบดี ศรีสินทรนรินทรบรมพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว (พระไอยการลักษณะกู้หนี้ มหาศักราช ๑๒๗๘ ปีชวด (พ.ศ. 1901))[4]
พระราชประวัติ
จดหมายเหตุโหรระบุว่าพระเจ้าอู่ทองรามาธิบดีเสด็จพระราชสมภพวันจันทร์ ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 5 ปีขาล จ.ศ. 676 (ตรงกับวันจันทร์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 1857)[5] ได้ทรงสถาปนาเมืองหลวงขึ้นในบริเวณที่หนองโสนเมื่อ จ.ศ. 712 ปีขาล โทศก วันศุกร์ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 5 เวลา 3 นาฬิกา 9 บาท ตรงกับวันศุกร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 1893[6] หรือ 12 มีนาคม พ.ศ. 1893 ตามปฏิทินไทยสากลที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน[5] เมื่อครองราชย์ได้รับเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสุนทรบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว[7] ถึงปีระกา พ.ศ. 1912 เสด็จสวรรคต อยู่ในราชสมบัติ 19 ปี[8]
แต่ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าพระองค์พระราชสมภพที่ไหน และมาจากเมืองไหน เอกสารทางประวัติศาสตร์และนักประวัติศาสตร์ทั้งไทยและต่างประเทศขัดแย้งกัน โดยมีข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับที่มาของพระเจ้าอู่ทองสรุปได้ดังนี้[6]
- แนวความคิดที่ 1
จดหมายเหตุลาลูแบร์ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ ระบุว่าพระเจ้าอู่ทองอพยพมาจากเชียงแสน
- แนวความคิดที่ 2
จดหมายเหตุวันวลิตระบุว่าทรงอพยพมาจากเมืองเพชรบุรี
- แนวความคิดที่ 3
ชินกาลมาลีปกรณ์และพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ว่าพระเจ้าอู่ทองมาจากละโว้
- ตามหลักฐานและโบราณคดี
ทฤษฎีเกี่ยวกับที่มาของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ในแนวคิดที่ 4 5 และ 6 สามารถผนวกรวมกันได้ กล่าวคือ เมื่อพิจารณาตำนานทั้งหลายแล้ว เจ้าชายวรเชษฐ์ เป็นพระโอรสในพระเจ้าบรมราชา[9][10] กษัตริย์แห่งอาณาจักรละโว้ (แนวความคิดที่ 6) ต่อมาพระราชชนกโปรดให้ไปครองเมืองพริบพรี (แนวความคิดที่ 4) และหลังจากพระราชชนกเสด็จสวรรคตแล้ว ทรงกลับมาครองเมืองอโยธยา (แนวความคิดที่ 5) จากนั้นจึงเกิดโรคระบาด จึงทรงย้ายที่ตั้งเมืองมายังตำแหน่งปัจจุบัน[11][12]
พระราชกรณียกิจ
การสถาปนากรุงศรีอยุธยา
สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีเมื่อวันศุกร์ ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 5 ปีขาล จุลศักราช 712 ตรงกับวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 1893 ชีพ่อพราหมณ์ถวายพระนามว่า สมเด็จพระรามาธิบดี แล้วโปรดให้ขุนหลวงพะงั่ว ซึ่งเป็นพระเชษฐาของพระมเหสีเป็น สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า ไปครองเมืองสุพรรณบุรี ส่วนพระราเมศวร รัชทายาทให้ไปครองเมืองลพบุรี
การสงครามกับเขมร
ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 พระองค์ทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับแว่นแคว้นต่าง ๆ มากมาย แม้กระทั่ง ขอม ซึ่งก็เป็นมาด้วยดีจนกระทั่งกษัตริย์ขอมสวรรคต เนื่องจากการปฏิวัติขอมของนายแตงหวาน ชนชั้นแรงงานได้ยึดอำนาจจากชนชั้นปกครอง [13] และครองเมืองแทนซึ่งรู้จักในนาม พระบาทตระซ็อกประแอม หรือ (เขมร: ត្រសក់ផ្អែម) หรือพระบาทสมเด็จพระศรีสุริโยพันธุ์ที่ 1 (ព្រះបាទស្រីសុរិយោពណ៌ទី១) [14]ซึ่งพระราชนัดดานาม พระบรมลำพงศ์ ทรงขึ้นครองราชย์ ซึ่งพระบรมลำพงศ์ก็แปรพักตร์ไม่เป็นไมตรีดังแต่ก่อน สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 จึงให้สมเด็จพระราเมศวรยกทัพไปตีกัมพูชา และให้สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพะงั่ว) ทรงยกทัพไปช่วย เพื่อเป็นการล้างแค้นให้กับพระสหาย พระเจ้าชัยวรมันที่ 9 จึงสามารถตีเมืองนครธมแตกได้ พระบรมลำพงศ์สวรรคตในศึกครั้งนี้ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 จึงแต่งตั้ง พระราชโอรสเป็นกษัตริย์ปกครองอังกอร์ .. จนกระทั่งเมื่อน้องชายของพระบรมลำพงศ์ซึ่งไปลี้ภัยในประเทศลาวได้ยึดเมืองกลับคืนมาและได้สวมมงกุฎที่นั่นในนามพระเจ้าศรยวงศ์ที่ 1 [15][16]
ตรากฎหมาย
สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ทรงประกาศใช้กฎหมายถึง 10 ฉบับ ในรัชสมัยของพระองค์ ได้แก่
- พระราชบัญญัติลักษณะพยาน
- พระราชบัญญัติลักษณะอาญาหลวง
- พระราชบัญญัติลักษณะรับฟ้อง
- พระราชบัญญัติลักษณะลักพา
- พระราชบัญญัติลักษณะอาญาราษฎร์
- พระราชบัญญัติลักษณ์โจร
- พระราชบัญญัติเบ็ดเสร็จว่าด้วยที่ดิน
- พระราชบัญญัติลักษณะผัวเมีย
- พระราชบัญญัติลักษณะโจรว่าด้วยโจร
ในประวัติศาสตร์บางแหล่งบอกว่ามีมากกว่านี้ แต่เท่าที่หาหลักฐานได้ มีเพียงเท่านี้เท่านั้น
การศาสนา
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สร้างวัดต่าง ๆ เช่น วัดพุทไธศวรรย์ (สร้างปี พ.ศ. 1876) วัดป่าแก้ว (สร้างปี พ.ศ. 1900) และวัดพระราม (สร้างปี พ.ศ. 1912)
การสงครามกับสุโขทัย
รัชกาลของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) แห่งกรุงศรีอยุธยานั้นคาบเกี่บวกับรัชสมัยของ พระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไท) แห่งกรุงสุโขทัย ช่วงนั้นเป็นช่วงที่สุโขทัยมิอาจต้านทานความแข็งแกร่งของอยุธยาได้ แม้ว่าพระมหาธรรมราชาลิไท จะเสด็จไปประทับที่สองแคว (พิษณุโลก) เพื่อเตรียมรับศึกอยุธยาแล้วก็ตาม
แต่สุดท้ายพระมหาธรรมราชาลิไทก็ได้เจรจาประนีประนอมยอมให้กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีคู่กับสุโขทัย และทั้งสองนครนี้ก็เป็นไมตรีต่อกันมาจนตลอดรัชกาลของพระองค์
การค้าขาย และสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ
ในด้านไมตรีกับต่างประเทศในสมัยเมื่อสร้างกรุงศรีอยุธยานั้น ฝรั่งกับญี่ปุ่นยังไม่มีมาค้าขาย แต่การไปมาค้าขายกับเมืองจีน, แขก, จาม, ชวา, มลายู ตลอดจนอินเดีย, เปอร์เซีย และ ลังกานั้นไปถึงกันมานานแล้ว
สำหรับการค้าขายกับจีนนั้น ราชวงศ์อู่ทองของไทย ตรงกับราชวงศ์หมิงของจีน พระเจ้าหงอู่ แห่งราชวงศ์หมิงเมื่อทราบว่ากรุงศรีอยุธยาตั้งเป็นอิสรภาพก็แต่งให้ หลุย จงจุ่น เป็นราชทูตเข้ามาเจริญพระราชไมตรีถึงกรุงศรีอยุธยา พระองค์จึงแต่งให้ราชทูตออกไปเมืองจีนพร้อมกับราชทูตจีน เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับจีนในคราวนั้นด้วย
พระโอรส
- สมเด็จพระราเมศวร พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 2 แห่งกรุงศรีอยุธยา
อ้างอิง
- เชิงอรรถ
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, รายนามแลพระนามผู้ที่ทำลับแลไฟ ทรงพระราชอุทิศในพระเจ้าแผ่นดิน ในพระราชกุศลบรรจบรอบเถลิงถวัลยราชสมบัติ ครบ ๒๕ ปี, เล่ม ๑๐ ตอนที่ ๓๐ หน้า ๓๑๙, ๒๒ ตุลาคม ๑๑๒
- ↑ Coedès, George (1968). Walter F. Vella (บ.ก.). The Indianized States of Southeast Asia. trans.Susan Brown Cowing. University of Hawaii Press. ISBN 978-0-8248-0368-1.
- ↑ คณะกรรมการอำนวยการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี. (2542). "พระราชพงศาวดารเหนือ (เรื่องพระบรมราชา)," ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม ๑. จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกเนื่องในมหามงคลสมัยฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี พุทธศักราช ๒๕๓๙. กรุงเทพฯ: กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. หน้า 125. ISBN 974-419-215-1
- ↑ แบรดลีย์, แดน บีช. (2439). หนังสือเรื่อง กฎหมายเมืองไทย เล่ม 1. พระนคร: โรงพิมพ์หมอบรัดเลย์. หน้า 205.
- ↑ 5.0 5.1 การปรับแก้เทียบศักราช และ การอธิบายความ พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ, หน้า 21
- ↑ 6.0 6.1 นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย, หน้า 49
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 38
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 41
- ↑ คณะกรรมการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา. (2513). อนุสรณ์สมเด็จพระเจ้าอู่ทองรามาธิบดีศรีสินทรบรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัว. ที่ระลึกเนื่องในอภิลักขิตมงคลสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระราชอนุสาวรีย์พระเจ้าอู่ทองรามาธิบดีที่ ๑ และอยุธยามหาปราสาท วันที่ ๒๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๑๓. พระนคร: ศิริมิตรการพิมพ์. หน้า 116. "เนื้อความเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นห่างจาก พ.ศ. ๑๘๘๕ มาเพียง ๓-๔ ปี มั่นใจว่าสมเด็จพระมหาจักรพัตราธิราชในที่นี้คือพระเจ้าบรมราชาสมเด็จพระรามาธิบดีผู้ราชบุตรก็คือ พระวรเชษฐ และได้เป็นกษัตริย์ ใน พ.ศ. ๑๘๘๗ เป็นแน่แท้"
- ↑ มานิต วัลลิโภดม, ตรี อมาตยกุล และไลออนส์, เอลิซาเบธ. (2510). ศิลปสมัยอู่ทอง ศิลปสมัยอยุธยา ศิลปสมัยรัตนโกสินทร์. พระนคร: กรมศิลปากร. หน้า 30.
- ↑ ทวิช จิตรสมบูรณ์, บ.ก. (13 กุมภาพันธ์ 2554). "พระเจ้าอู่ทองมาจากนครวัดในเขมร (หลักฐานเพิ่มเติมครั้งที่ ๓)". ผู้จัดการออนไลน์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 มีนาคม 2556.
- ↑ อณาจักรอยุธยา คือ กลุ่มคนกลุ่มไหนเป็นผู้ก่อตั้งอณาจักร จากพันทิปดอตคอม
- ↑ Zhou, Daguan; Harris, Peter; Zhou, Daguan (2007). A record of Cambodia: the land and its people (1. publ ed.). Chiang Mai: Silkworm Books. ISBN 978-974-9511-24-4.
- ↑ Khin, Sok (1988). Chroniques royales du Cambodge: de 1417 à 1595. Collection de textes et documents sur l'Indochine. Paris: Ecole française d'Extrême-Orient diff. Adrien-Maisonneuve. ISBN 978-2-85539-537-1.
- ↑ ภักดีคำ, ศานติ (2011). "เขมรรบไทย". มติชน. p. 272.
- ↑ Coedès, George; Coedès, George (1996). The Indianized states of Southeast Asia. Honolulu: East-West Center Pr. ISBN 978-0-8248-0368-1.
- บรรณานุกรม
- จิตร ภูมิศักดิ์. ข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา. ดวงกมล : กรุงเทพฯ, 2524. ISBN 9742103429
- มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา. นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา, 2554. 264 หน้า. ISBN 978-616-7308-25-8
- พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553. 800 หน้า. ISBN 978-616-7146-08-9
ดูเพิ่ม
ก่อนหน้า | สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
— | พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา ราชวงศ์อู่ทอง (พ.ศ. 1893-1912) |
สมเด็จพระราเมศวร (พ.ศ. 1912-1913) |