สมเด็จพระศรีสุธรรมราชา
สมเด็จพระศรีสุธรรมราชา | |
---|---|
สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 7 | |
พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา | |
ครองราชย์ | พ.ศ. 2199 (2 เดือน 20 วัน)[1] |
ก่อนหน้า | สมเด็จเจ้าฟ้าไชย |
ถัดไป | สมเด็จพระนารายณ์มหาราช |
พระมหาอุปราช | สมเด็จพระนารายณ์ |
สมุหนายก | เจ้าพระยาอภัยราชา (ชื่น) |
พระราชสมภพ | พ.ศ. 2145 อาณาจักรอยุธยา |
สวรรคต | พ.ศ. 2199 (54 พรรษา) วัดกระซ้าย กรุงศรีอยุธยา อาณาจักรอยุธยา |
ราชวงศ์ | ปราสาททอง |
พระราชบิดา | ออกญาศรีธรรมาธิราช |
ถูกกล่าวหา | ปราศจากหิริโอตตัปปะ |
รับโทษ | สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ |
สมเด็จพระศรีสุธรรมราชาธิราช หรือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 7 (พ.ศ. 2145 –พ.ศ. 2199) เป็นพระเจ้ากรุงศรีอยุธยารัชกาลที่ 26 และเป็นรัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์ปราสาททอง ทรงครองราชย์ในปี พ.ศ. 2199 เป็นพระอนุชาในสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง โดยบางแห่งกล่าวว่าเป็นบุตรของมหาดเล็ก พี่ชายของนางอิน พระมารดาของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง[2]
พระราชประวัติ
[แก้]ก่อนครองราชย์
[แก้]สมเด็จพระศรีสุธรรมราชาธิราช พระราชสมภพเมื่อปี พ.ศ. 2145 เป็นพระอนุชาในสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เมื่อสมเด็จพระเจ้าปราสาททองปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยานั้น สมเด็จพระเจ้าปราสาททองตรัสว่า "น้องเราคนนี้น้ำใจกักขฬะหยาบช้า มิได้มีหิริโอตัปปะ จะให้เป็นอุปราชรักษาแผ่นดินต่างพระเนตรพระกรรณมิได้ ให้เป็นแต่เจ้าพระ ชื่อ พระศรีสุธรรมราชา" พร้อมกันนี้โปรดให้พระศรีสุธรรมราชาตั้งบ้านหลวงอยู่ที่ริมวัดสุธาวาส[3]
ขึ้นครองราชย์
[แก้]ภายหลังการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เจ้าฟ้าไชย พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเสด็จขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อจากพระราชบิดา แต่สมเด็จเจ้าฟ้าไชยทรงครองราชย์ได้เพียง 9 เดือน พระนารายณ์ พระอนุชาต่างพระมารดาในสมเด็จเจ้าฟ้าไชย ก็ส่งคนมาติดต่อกับพระศรีสุธรรมราชาเพื่อให้ชิงราชสมบัติ เมื่อถึงเวลาค่ำของวันที่ทั้งสองพระองค์ตกลงกันแล้ว พระนารายณ์ได้พาพระราชกัลยาณี พระขนิษฐาในพระองค์ลอบหนีออกจากพระราชวังทางประตูตัดสระแก้วเพื่อเสด็จไปหาพระศรีสุธรรมราชา หลังจากนั้น พระศรีสุธรรมราชาและพระนารายณ์จึงได้ยกกำลังพลเข้ามาในพระราชวัง จับกุมสมเด็จเจ้าฟ้าไชยและนำพระองค์ไปสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ ณ วัดโคกพระยา[4] พระศรีสุธรรมราชาก็ได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ พร้อมกับทรงแต่งตั้งพระนารายณ์ราชนัดดาเป็นพระมหาอุปราช โดยให้เสด็จไปประทับ ณ พระราชวังบวรสถานมงคล
ถูกชิงราชสมบัติ
[แก้]หลังจากครองราชสมบัติได้ 2 เดือนเศษ สมเด็จพระศรีสุธรรมราชาธิราชทอดพระเนตรเห็นพระราชกัลยาณีแล้วมีพระทัยเสน่หา ถึงกับให้พระราชกัลยาณีเสด็จขึ้นไปหาที่ห้องด้วยหมายจะร่วมสังวาส แต่พระราชกัลยาณีหนีลงมาที่พระตำหนักแล้วบอกพระสนม พระสนมจึงให้พระราชกัลยาณีซ่อนให้ตู้พระสมุด หามออกไปส่งพระราชวังบวรสถานมงคล เมื่อถึงแล้วพระราชกัลยาณีจึงเข้าเฝ้าพระนารายณ์ ทรงพระกันแสงและทูลเล่าเหตุการณ์ทั้งหมด พระนารายณ์ทรงทราบก็ทรงโทมนัสน้อยพระทัยตรัสว่า
อนิจจา พระเจ้าอาว์เรานี้ คิดว่าสมเด็จพระบิตุราชสวรรคตแล้ว ยังแต่พระเจ้าอาว์ก็เหมือนหนึ่งพระบรมราชบิดายังอยู่ จะได้ปกป้องพระราชวงศานุวงศ์สืบไป ควรหรือมาเป็นได้ดังนี้ พระองค์ปราศจากหิริโอตตัปปะแล้ว ไหนจะครองสมบัติเป็นยุติธรรมเล่า น่าที่จะร้อนอกสมณชีพราหมณ์อาณาประชาราษฎรไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินเป็นแท้ จะละไว้มิได้ ด้วยพระองค์ก่อแล้วจำจะสานตามเถิด จะเสี่ยงเอาบารมีเป็นที่พึ่ง
พระนารายณ์รับสั่งเรียกขุนนางเข้ามาแล้วตรัสเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขุนนางเหล่านั้นก็เข้าร่วมด้วย[5]
สวรรคต
[แก้]พระนารายณ์ได้รับการสนับสนุนจากพระยาเสนาภิมุข พระยาไชยาสุระ ทหารญี่ปุ่น 40 นาย รวมทั้งชาวมุสลิมจากชาวเปอร์เซีย การต่อสู้ยึดอำนาจเกิดขึ้นค่อนข้างรุนแรงในตอนเย็นวันหนึ่งในปี พ.ศ. 2199 จนถึงเช้าของวันรุ่งขึ้น ไพร่พลของทั้งสองฝ่ายล้มตายลงเป็นจำนวนมาก ทั้งสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาและพระนารายณ์ต่างได้รับบาดเจ็บจากกระสุนปืน สมเด็จพระศรีสุธรรมราชาสู้ไม่ได้จึงถอยหนีไปวังหลังแต่ถูกพระนารายณ์จับกุมตัวและนำไปสำเร็จโทษที่วัดกระซ้าย (โดยพระองค์ไม่ได้ถูกสำเร็จโทษที่วัดโคกพระยา เนื่องจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเกรงว่าพระศรีสุธรรมราชาจะรอดจากการถูกสำเร็จโทษ)[ต้องการอ้างอิง] พระศรีสุธรรมราชาครองราชสมบัติได้เพียง 2 เดือน 20 วัน สิริพระชนมายุ 56 พรรษา[1]
อ้างอิง
[แก้]- เชิงอรรถ
- บรรณานุกรม
- มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา. นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา, 2554. 264 หน้า. ISBN 978-616-7308-25-8
- พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553. 800 หน้า. ISBN 978-616-7146-08-9
- วุฒิชัย มูลศิลป์, สมเด็จพระศรีสุธรรมราชา สารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่มที่ ๒๖ หน้า ๑๖๘๒๘
- พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา พระนคร : ศิวพร, ๒๕๑๑
- ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๘๒ เรื่อง พระราชพงศาวดารกรุงสยาม จากต้นฉบับของบริติชมิวเซียม กรุงลอนดอน กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๓๗
- Cushman, Richard D, (Trans). The Royal Chronicles of Ayutthaya. Bangkok : The Siam Societey, ๒๐๐๐
ดูเพิ่ม
[แก้]ก่อนหน้า | สมเด็จพระศรีสุธรรมราชา | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
สมเด็จเจ้าฟ้าไชย (พ.ศ. 2199) |
พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา (ราชวงศ์ปราสาททอง) (พ.ศ. 2199) |
สมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2199 — พ.ศ. 2231) |