ข้ามไปเนื้อหา

ประมุขแห่งรัฐ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ประมุขแห่งรัฐ (อังกฤษ: Head of state) เป็นคำที่ใช้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายระหว่างประเทศ รัฐศาสตร์และพิธีการทูตเมื่อหมายถึงข้าราชการ (official) ที่ดำรงตำแหน่งสูงสุดในรัฐเอกราชหนึ่ง ๆ และมีอำนาจเด็ดขาดหรือจำกัดที่จะปฏิบัติเป็นผู้แทนสาธารณะสูงสุด (chief public representative) ของรัฐ[1] ประมุขแห่งรัฐในประเทศส่วนใหญ่เป็นบุคคลธรรมดาที่ดำรงตำแหน่ง หากในบางประเทศ คณะบุคคลอยู่ในตำแหน่งประมุขแห่งรัฐ เช่น สภาสหพันธ์สวิตเซอร์แลนด์ ประธานาธิบดีบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา และผู้ครองนครร่วม (Captains Regent) ซานมารีโน

คำว่า "ประมุขแห่งรัฐ" มักใช้เพื่อแยกความแตกต่างจากคำว่า "หัวหน้ารัฐบาล" ยกตัวอย่าง ในอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ข้อ 7 และอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและลงโทษอาชญากรรมที่กระทำต่อบุคคลที่ได้รับความคุ้มครองระหว่างประเทศ รวมทั้งตัวแทนทางทูต ข้อ 1 เช่น ระบบรัฐสภาอย่างสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือและสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี พระมหากษัตริย์และประธานาธิบดีได้รับการยอมรับเป็นประมุขแห่งรัฐในสองประเทศนี้ตามลำดับ ขณะที่นายกรัฐมนตรีได้รับการยอมรับเป็นหัวหน้ารัฐบาล อย่างไรก็ดี ในสาธารณรัฐที่มีระบบประธานาธิบดี เช่น สหรัฐอเมริกาและสหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล ประธานาธิบดีได้รับการยอมรับเป็นทั้งประมุขแห่งรัฐและหัวหน้ารัฐบาล ซึ่งบุคคลที่เป็นทั้งประมุขแห่งรัฐและหัวหน้ารัฐบาลยังอาจเกิดได้ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชและบางครั้งเช่นเดียวกับระบอบเผด็จการอื่น ๆ

บทบาทของประมุขแห่งรัฐโดยทั่วไป รวมทั้งการใช้อำนาจทางการเมือง และหน้าที่ ถูกกำหนดในรัฐธรรมนูญและกฎหมายของประเทศนั้น ๆ อนุสัญญาเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางทูตปฏิบัติภายใต้ข้อสันนิษฐานว่า หัวหน้าคณะทูต (คือ เอกอัครราชทูต เอกอัครรัฐทูต หรือเอกอัครสมณทูต) ของประเทศผู้ส่งถูกถือว่าเป็นของประมุขแห่งรัฐรัฐผู้รับ มักคิดกันว่าประมุขแห่งรัฐเป็น "ผู้นำ" อย่างเป็นทางการของรัฐชาติหนึ่ง ๆ ปัจจุบัน หลายประเทศคาดหวังให้ประมุขแห่งรัฐของตนรวมค่านิยมของชาติในแบบนิยมที่คล้ายกัน

ในขณะที่กำลังพัฒนารัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสฉบับปัจจุบัน (1958) ชาร์ล เดอ โกล อดีตประธานาธิบดีฝรั่งเศส กล่าวว่าประมุขรัฐควรมี "จิตวิญญาณของชาติ" (l'esprit de la nation).[2]

รูปแบบ

[แก้]

แต่ละประเทศมีรูปแบบของประมุขแห่งรัฐที่แตกต่างกัน ขึ้นกับรัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศได้ระบุไว้ แบ่งได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้

ระบอบรัฐสภา

[แก้]
แผนที่ความแตกต่างของระบบรัฐสภา
  สาธารณรัฐระบบรัฐสภา ประธานาธิบดีที่ไม่มีอำนาจในการปกครอง
  สาธารณรัฐระบบรัฐสภา โดยฝ่ายบริหารประธานาธิบดีขึ้นอยู่กับสภานิติบัญญัติ
  ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์ที่ไม่มีอำนาจในการปกครอง

ระบอบรัฐสภามีความแตกต่างในรายละเอียดตามแต่ละประเทศ ในบางประเทศ ประมุขแห่งรัฐสามารถให้คำแนะนำ ให้กับคณะรัฐบาลได้โดยไม่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ

ประธานาธิบดีที่ไม่มีอำนาจในการปกครอง

[แก้]

ประธานาธิบดีจะไม่มีอำนาจในการปกครองต่อรัฐบาล เป็นเพียงสัญลักษณ์ทางการเมือง และศูนย์รวมจิตใจของประชาชน มีบทบาทในทางพิธีการเท่านั้น ส่วนนายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการปกครองประเทศ

ประเทศที่ใช้ระบอบสาธารณรัฐระบบรัฐสภาได้แก่ เยอรมนี อิตาลี อินเดีย ออสเตรีย ฮังการี อิรัก อิสราเอล ปากีสถาน สิงคโปร์ ไอร์แลนด์ ไอซ์แลนด์ ฟินแลนด์ กรีซ เซอร์เบีย เช็กเกีย บัลแกเรีย เนปาล บังกลาเทศ เอธิโอเปีย ซูรินาม เป็นต้น

พระมหากษัตริย์ที่ไม่มีอำนาจในการปกครอง

[แก้]

ตามระบอบรัฐสภา พระมหากษัตริย์อาจมีบทบาทเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดของประเทศเฉพาะในนาม เช่น รัฐบาลของสหราชอาณาจักร ถูกเรียกว่าเป็นรัฐบาลของสมเด็จพระราชินี ไม่ใช่รัฐสภา ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ผู้ใช้อำนาจเหล่านั้นคือนายกรัฐมนตรี ซึ่งรัฐบาลอยู่ใต้อำนาจของสภานิติบัญญัติ แทนที่จะเป็นประมุขแห่งรัฐ

ประเทศที่ใช้ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญได้แก่ ไทย สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น กัมพูชา มาเลเซีย สเปน สวีเดน นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม เดนมาร์ก แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ลักเซมเบิร์ก ลิกเตนสไตน์ โมนาโก อันดอร์รา เป็นต้น

ระบอบกึ่งประธานาธิบดี

[แก้]

ระบอบกึ่งประธานาธิบดีเป็นการผสมผสานระหว่างระบอบประธานาธิบดีกับระบอบรัฐสภาเข้าด้วยกัน รัฐบาลอยู่ใต้อำนาจของทั้งประธานาธิบดีและสภานิติบัญญัติ ตัวอย่างเช่น ฝรั่งเศส (ในยุคสาธารณรัฐที่ห้า) ประธานาธิบดีมีสิทธิ์แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี แต่นายกรัฐมนตรีเองต้องได้รับเสียงข้างมากจากสภานิติบัญญัติด้วยเช่นกัน

ประเทศที่ใช้ระบอบระบอบกึ่งประธานาธิบดีได้แก่ ฝรั่งเศส รัสเซีย อียิปต์ มองโกเลีย ศรีลังกา โรมาเนีย ยูเครน โปรตุเกส แอลจีเรีย เป็นต้น

ระบอบประธานาธิบดี

[แก้]

ระบอบประธานาธิบดีคือระบอบที่ตั้งให้ประมุขแห่งรัฐมีอำนาจสูงสุดอย่างเต็มที่ คณะรัฐบาลอยู่ใต้อำนาจของประมุขแห่งรัฐ เช่น สหรัฐ ประธานาธิบดีมีอำนาจในการแต่งตั้งหรือถอดถอนคณะรัฐบาล ในรัฐธรรมนูญของบางประเทศอาจให้มีตำแหน่งนายกรัฐมนตรีควบคู่ไปกับประธานาธิบดีได้ แต่ส่วนมากนายกรัฐมนตรีในระบอบประธานาธิบดีจะไม่มีอำนาจเท่ากับในระบอบรัฐสภา

ประเทศที่ใช้ระบอบประธานาธิบดีได้แก่ สหรัฐ บราซิล เม็กซิโก เกาหลีใต้ ตุรกี อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อาร์เจนตินา อิหร่าน ซูดาน เป็นต้น

รัฐพรรคการเมืองเดียว

[แก้]

ระบอบรัฐพรรคการเมืองเดียว ภายใต้ลัทธิมากซ์ มักใช้โดยรัฐคอมมิวนิสต์ รัฐบาลอยู่ใต้อำนาจของเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐ เช่น จีน เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์มีอำนาจในการแต่งตั้งหรือถอดถอนคณะรัฐบาล โดยเลขาธิการพรรคมีสิทธิแต่งตั้งทั้งประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรี

ประเทศที่ใช้ระบอบรัฐพรรคการเมืองเดียว (คอมมิวนิสต์) ได้แก่ จีน คิวบา เวียดนาม ลาว เป็นต้น

บทบาท

[แก้]

บทบาทของประมุขแห่งรัฐแตกต่างกันตามแต่ละประเทศ แต่สามารถแบ่งได้เป็นประเภทใหญ่ๆ ที่พบบ่อยดังนี้

  • เป็นสัญลักษณ์ ศูนย์รวมจิตใจของประเทศ งานด้านพิธีกรรม เช่น ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง
  • บทบาทด้านการทูต เช่น การแต่งตั้งเอกอัครราชทูต และรับทราบการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตของประเทศอื่น
  • อำนาจการบริหารสูงสุด
  • อำนาจในการแต่งตั้งรัฐบาล รัฐสภา
  • อำนาจในการออกกฎหมาย เช่น ประมุขแห่งรัฐต้องลงนามก่อน กฎหมายจึงจะมีผลบังคับใช้
  • อำนาจในการให้อภัยโทษ
  • เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด
  • อำนาจในการเรียกประชุม หรือยุบสภานิติบัญญัติ
  • อื่นๆ เช่น อำนาจในการแต่งตั้งขุนนางตามบรรดาศักดิ์ เป็นต้น

ผู้สำเร็จราชการ (ราชอาณาจักรเครือจักรภพ)

[แก้]

(ซ้าย)​ ลอร์ดทวีดสมูร์ เป็นผู้สำเร็จราชการแคนาดา ระหว่างปี 1935 ถึง 1940;
(ขวา)​ เซอร์พอลลีอัส มาเทน เป็นผู้สำเร็จราชการปาปัวนิวกินี ระหว่างปี 2004 ถึง 2010

ในราชอาณาจักรเครือจักรภพซึ่งดูแลโดยสหราชอาณาจักร ผู้สำเร็จราชการได้รับการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ โดยผู้สำเร็จราชการเป็นผู้ให้คำแนะนำต่อนายกรัฐมนตรี

บ้านพักทางราชการ

[แก้]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Foakes, pp. 110–11 "[The head of state] being an embodiment of the State itself or representatitve of its international persona."
  2. Kubicek, Paul (2015). European Politics. Routledge. pp. 154–56, 163. ISBN 978-1-317-34853-5.