ขุนวรวงศาธิราช

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ขุนวรวงศาธิราช
พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา
(พิพาท)
ครองราชย์พ.ศ. 2091 (42 วัน)
ราชาภิเษกพ.ศ. 2091
ก่อนหน้าสมเด็จพระยอดฟ้า
ถัดไปสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
พระมหาอุปราชมหาอุปราช (จัน)
พระราชสมภพพ.ศ. 2046
สวรรคตพ.ศ. 2091 (45 พรรษา)
คู่อภิเษกนางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์
พระราชบุตรพระธิดาไม่ปรากฏพระนาม 1 พระองค์

ขุนวรวงศาธิราช เป็นพระมหากษัตริย์ไทยในสมัยอาณาจักรอยุธยา นักประวัติศาสตร์ไทยบางท่านไม่นับว่าพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์เพราะถือว่าเป็นกบฏสมคบกับนางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์แย่งชิงราชบัลลังก์จากสมเด็จพระยอดฟ้า อย่างไรก็ตาม ในพงศาวดารได้ระบุว่าพระองค์ได้ผ่านพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

พระราชประวัติ[แก้]

ขุนวรวงศาธิราชเสด็จพระราชสมภพเมื่อวันจันทร์ ในตระกูลอำมาตย์ (หรือพราหมณ์[1]) พระนามเดิมว่า บุญศรี[2] เดิมมีตำแหน่งเป็น พันบุตรศรีเทพ ผู้เฝ้าหอพระข้างหน้า[3] มีหน้าที่เป็นผู้กระทำพิธีการต่าง ๆ (ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาโดยสังเขปของเยเรเมียส ฟาน ฟลีต ระบุว่าเป็นหมอเวทมนตร์[4]) รวมถึงขับเสภากล่อมสมเด็จพระไชยราชาธิราช ให้บรรทมด้วย จึงสามารถเข้านอกออกในเขตพระราชฐานได้[1]

บางทฤษฎีเชื่อว่าพระองค์เป็นบุตรหรือมีเชื้อสายสืบทอดมาจากเจ้าเมืองศรีเทพอันเป็นเมืองลูกหลวงสมัยราชวงศ์อู่ทองครองกรุงศรีอยุธยา หรือสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์อู่ทอง[1]

การพบกับนางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์[แก้]

วันหนึ่งในรัชสมัยสมเด็จพระยอดฟ้า นางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ซึ่งเป็นพระราชชนนีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้เสด็จไปพระที่นั่งพิมานรัถยาหอพระข้างหน้า ทอดพระเนตรเห็นพันบุตรศรีเทพก็เกิดมีความรักใคร่ จึงสั่งให้สาวใช้เอาเมี่ยงหมากห่อผ้าไปพระราชทานให้ พันบุตรศรีเทพก็เข้าใจว่าพระนางมีใจรักจึงเอาดอกจำปาให้สาวใช้นำไปถวาย ท้าวศรีสุดาจันทร์ก็ยิ่งมีความกำหนัดในตัวพันบุตรศรีเทพ[3]

การเลื่อนบรรดาศักดิ์[แก้]

ต่อมานางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ได้ให้พระยาราชภักดีเลื่อนพันบุตรศรีเทพเป็น ขุนชินราช (ในคำให้การชาวกรุงเก่าเรียกว่า ขุนเชียรราช) ผู้รักษาหอพระข้างใน ส่วนขุนชินราชคนเดิมให้ไปเป็นพันบุตรศรีเทพ จากนั้นขุนชินราชก็ลักลอบเป็นชู้กับท้าวศรีสุดาจันทร์เป็นเวลานาน[3]

ท้าวศรีสุดาจันทร์คิดจะแย่งชิงราชบัลลังก์ให้กับขุนชินราช จึงให้พระยาราชภักดีเลื่อนบรรดาศักดิ์ขุนชินราชเป็น ขุนวรวงศาธิราช เพื่อเป็นการเพิ่มอำนาจ นอกจากนั้นยังให้ปลูกจวนอยู่ริมศาลาสารบัญชีกับจวนสำหรับขุนวรวงศาธิราชว่าราชการอยู่ที่ประตูดินริมต้นหมัน ให้พิจารณาเลขสังกัดสมพรรค์ แล้วให้เตียงอันเป็นพระราชอาสน์ให้ขุนวรวงศาธิราชนั่งเพื่อให้ขุนนางทั้งหลายมีความยำเกรง

เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ พระยามหาเสนาได้พูดกับพระยาราชภักดีว่า"เมื่อแผ่นดินเป็นทุรยศฉะนี้ เราจะคิดประการใด" แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ทรงทราบจึงให้พระยามหาเสนามาเข้าเฝ้าที่ประตูดิน จนเวลาค่ำพระยามหาเสนากลับออกไป มีผู้มาแทงพระยามหาเสนาตาย ก่อนตายพระยามหาเสนากล่าวว่า "เมื่อเราเป็นดั่งนี้แล้ว ผู้อยู่ภายหลังจะเป็นประการใดเล่า"[3]

การขึ้นครองราชย์[แก้]

ใน พ.ศ. 2091 นางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ทรงอ้างว่าพระยอดฟ้ายังทรงพระเยาว์ หัวเมืองฝ่ายเหนือก็ไม่เป็นปกติจึงปรึกษากับขุนนางว่าจะให้ขุนวรวงศาธิราชว่าราชการแผ่นดินจนกว่าพระยอดฟ้าจะทรงเจริญพระชนมายุ จึงทำพิธีราชาภิเษกขุนวรวงศาธิราชเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาและสถาปนานายจัน น้องชายขุนวรวงศาธิราชอยู่บ้านมหาโลก ขึ้นเป็นพระมหาอุปราช[3]

เมื่อขุนวรวงศาธิราชได้ครองราชบัลลังก์ก็สมคบกับแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์นำพระยอดฟ้าไปสำเร็จโทษที่วัดโคกพระยา เมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 8 ตรงกับวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2091[5] ปีจอ จ.ศ. 910 (พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศว่าตรงกับปีฉลู พ.ศ. 2072[3]) ส่วนพระศรีศิลป์ พระราชโอรสพระองค์เล็กในสมเด็จพระไชยราชาธิราชที่ประสูติแต่ท้าวศรีสุดาจันทร์นั้นไม่ได้นำไปสำเร็จโทษแต่ให้เลี้ยงไว้

การล้มล้างราชบัลลังก์[แก้]

การครองราชบัลลังก์ของขุนวรวงศาธิราชนั้น ไม่เป็นที่เห็นชอบของขุนนางในราชสำนักและพระญาติวงศ์บางส่วน เพราะขุนวรวงศาธิราชทรงขึ้นครองบัลลังก์โดยไม่ชอบธรรมจึงมีขุนนางบางคนรวมตัวกันเพื่อล้มล้างราชบัลลังก์ ได้แก่ ขุนพิเรนทรเทพ เจ้านายเชื้อสายราชวงศ์พระร่วง ขุนอินทรเทพ หมื่นราชเสน่หา (ในราชการ) และหลวงศรียศบ้านลานตากฟ้า

ทั้งสี่ร่วมกันวางแผนลอบปลงพระชนม์ จนโอกาสมาถึงเมื่อกรมการเมืองลพบุรีกราบทูลขุนวรวงศาธิราชว่า มีช้างเผือกเชือกหนึ่งที่ลพบุรี ขุนวรวงศาธิราชรับสั่งว่าจะไปจับแต่ต่อมาเปลี่ยนพระทัยให้กรมการเมืองลพบุรีไปจับแทน หลังจากนั้น 7 วันช้างเผือกเข้ามาทางวัดแม่นางปลื้มเข้าเพนียดวัดซองพระองค์จึงรับสั่งว่าหนนี้จะเสด็จไปจับเอง

ขุนพิเรนทรเทพสั่งให้หมื่นราชเสน่หา (นอกราชการ) ไปดักยิงอุปราชจันน้องขุนวรวงศาธิราชตายที่ท่าเสื่อระหว่างขี่ช้างไปเพนียด จากนั้น ขุนพิเรนทรเทพได้เรียกพระยาพิชัยกับพระยาสวรรคโลก ข้าราชการเมืองเหนือลงมาร่วมมือในการก่อการครั้งนี้ด้วย

ขุนวรวงศาธิราชประทับนั่งเรือพระที่นั่งไปกับแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์และพระธิดา (บางตำราว่าถูกสำเร็จโทษ) ที่เกิดด้วยกันและพระศรีศิลป์ ดังนั้น ขุนวรวงศาธิราชจึงทรงถูกลอบปลงพระชนม์ (บ้างก็ว่าถูกสำเร็จโทษ) ที่คลองสระบัว ข้างคลองปลาหมอโดยขุนพิเรนทรเทพกับสมัครพรรคพวก (ในบันทึกของเจอเรมิส วันวลิต บอกว่าถูกลอบยิงด้วยปืนที่ข้างประตูวัง ) พร้อมท้าวศรีสุดาจันทร์และพระธิดา พระบรมศพนั้นถูกนำไปเสียบประจานไว้ที่วัดแร้ง โดยในฉบับพระราชหัตถเลขา บอกว่าของขุนวรวงศาธิราช โดนฆ่า และโยนศพให้สุนัขกิน[3] พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศว่าทรงครองราชย์ได้ 5 เดือน แต่คำให้การชาวกรุงเก่าว่า 2 ปี สวรรคตเมื่อพระชนมายุได้ 22 พรรษา[2]

พระราชกรณียกิจ[แก้]

  • ข้าราชการหัวเมืองเหนือทั้ง 7 มีความกระด้างกระเดื่องต่อขุนวรวงศาธิราช จึงให้สมุหนายกมีหมายเรียกข้าราชการหัวเมืองเหนือลงมาที่กรุงศรีอยุธยา
  • เมื่อขุนวรวงศาธิราชได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ก็ให้เอาพงศาวดารเก่า ๆ เผาไฟเสียบ้าง ด้วยเหตุนี้พงศาวดารเก่า ๆ จึงขาดเป็นตอน ๆ [2]

ในวัฒนธรรมสมัยนิยม[แก้]

มีนักแสดงผู้รับบท ขุนวรวงศาธิราช ได้แก่

อ้างอิง[แก้]

เชิงอรรถ
  1. 1.0 1.1 1.2 เทปสนทนาเรื่อง กำเนิดอยุธยาและวาระสุดท้ายสุริโยทัย, "คุยกันจันทร์ถึงศุกร์ กับ วีระ ธีรภัทร" โดย วีระ ธีรภัทร และ ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ทางตรินิตี้เรดิโอ F.M. 97.00 Mhz
  2. 2.0 2.1 2.2 คำให้การชาวกรุงเก่า, พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553, หน้า 492-496
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 3.6 พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) , นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553, หน้า 64-7
  4. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับเยเรเมียส ฟาน ฟลีต, หน้า 42
  5. มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา (2554). นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย (PDF). กรุงเทพฯ: มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา. p. 98. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-03-04. สืบค้นเมื่อ 2015-07-04.
บรรณานุกรม

ดูเพิ่ม[แก้]

ก่อนหน้า ขุนวรวงศาธิราช ถัดไป
สมเด็จพระยอดฟ้า
(พ.ศ. 2089 — พ.ศ. 2091)

พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา
((พ.ศ. 2091)
(บางแห่งไม่นับว่าทรงเป็นกษัตริย์) )
สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
(พ.ศ. 2091 — พ.ศ. 2111)